โรคต้อกระจก
ต้อกระจก (Cataract) เป็นภาวะที่แก้วตาภายในลูกตาเสื่อมลงจนมีลักษณะขุ่นขาวจากปกติที่มีลักษณะโปร่งใสเหมือนกระจก เมื่อแก้วตาขุ่นขาวก็จะมีลักษณะทึบแสง ทำให้บดบังแสงที่จะผ่านเข้าไปในตา แสงจึงส่งผ่านเข้าสู่ลูกตาไปรวมตัวที่จอประสาทตาหรือเรตินาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดอาการสายตาฝ้าฟางหรือสายตามัวคล้ายหมอกบัง
หมายเหตุ : แก้วตา หรือ เลนส์ตา (Lens) เป็นเลนส์นูนใสที่อยู่หลังม่านตา มีลักษณะเหมือนเลนส์นูนทั่วไปทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งด้านหน้าจะแบนกว่าด้านหลัง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 9 มิลลิเมตร และมีความหนาประมาณ 5 มิลลิเมตร
แก้วตามีหน้าที่ร่วมกับกระจกตาในการหักเหแสงจากวัตถุให้ตกโฟกัสที่จอประสาทตา (Retina) จึงทำให้เกิดการมองเห็น อีกทั้งแก้วตายังสามารถเปลี่ยนกำลังการหักเหได้ด้วยตัวเองเพื่อให้สามารถโฟกัสภาพในระยะต่าง ๆ ได้ชัดขึ้น ทำให้มองเห็นได้ชัดทั้งในระยะไกลและระยะใกล้ ด้วยความสำคัญนี้เอง ธรรมชาติจึงสร้างแก้วตาให้มาอยู่ในที่ที่ปลอดภัย โดยอยู่ตรงใจกลางของดวงตาเพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายได้โดยง่าย
สาเหตุของต้อกระจก
ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 80% ต้อกระจกจะเกิดจากภาวะเสื่อมตามวัยหรือจากวัยชรา โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจะเป็นต้อกระจกกันแทบทุกราย แต่อาจจะเป็นมากหรือน้อยแตกต่างกันไป เรียกว่า “ต้อกระจกในผู้สูงอายุ” (Senile cataract) และในส่วนน้อยอีกประมาณ 20% อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จากวัยชรา เช่น
- เป็นต้อกระจกมาแต่กำเนิด ได้แก่ ต้อกระจกในเด็กทารกที่เกิดจากแม่ซึ่งเป็นหัดเยอรมันในช่วงระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์, ต้อกระจกในเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการหรือขาดอาหาร และต้อกระจกแต่กำเนิดชนิดกรรมพันธุ์ที่ไม่ทราบสาเหตุ
- เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือนที่ตาอย่างแรง (โดยเฉพาะในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว) เช่น การเล่นกีฬาบางประเภท อาทิ โดนลูกเทนนิสพุ่งเข้าตา โดนลูกขนไก่, การประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเชื่อมโลหะโดยไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตา, การเกิดอุบัติเหตุถูกของมีคมทิ่มแทง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์แล้วถูกกระจกทิ่มแทงในตา หรือมีเศษเหล็กกระเด็นเข้าตาในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ แม้ว่าจะให้การรักษาอุบัติเหตุระยะต้นถูกต้องแล้วก็ตาม แต่อาจเป็นต้อกระจกได้ในอีก 2-3 ปีต่อมา
- โรคประจำตัวในวัยกลางคน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ โรคขาดสารอาหาร ก็มักจะเกิดต้อกระจกก่อนวัยได้
- เกิดจากความผิดปกติของตาหรือเป็นโรคเกี่ยวกับตา เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ
- เกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น การใช้ยาลดความอ้วนบางชนิด การใช้ยาหยอดตาที่เข้าสเตียรอยด์หรือกินยาสเตียรอยด์นาน ๆ (เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ซึ่งเป็นยาที่นิยมใช้รักษาโรคเรื้อรังต่าง ๆ อย่างโรคภูมิแพ้ โรคหืด โรคไต โรคข้อ ถ้าผู้ป่วยได้รับยาในกลุ่มนี้อยู่เป็นประจำ ควรพึงระลึกไว้เสมอว่าตนก็อาจเป็นต้อกระจกก่อนวัยอันควรได้ เพราะมีผู้ป่วยอยู่จำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคภูมิแพ้และซื้อยามารับประทานเอง พอนาน ๆ เข้าตาก็เริ่มมัวลงเรื่อย ๆ จากการเป็นโรคต้อกระจก แต่หากหยุดใช้ยาดังกล่าว แม้ว่าต้อที่เป็นแล้วจะไม่หายไป แต่ก็ช่วยระงับไม่ให้โรคลุกลามเร็วขึ้นได้)
- เกิดจากการถูกรังสีที่บริเวณตาเป็นเวลานาน (เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งที่เบ้าตาและรักษาด้วยรังสีบ่อย ๆ) หรือถูกแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เช่นกัน
- เกิดจากการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์จัด อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าปกติ
อาการของต้อกระจก
- ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตาค่อย ๆ มัวลงเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดงแต่อย่างใด ในระยะเริ่มแรกจะรู้สึกว่ามีอาการตามัวเหมือนมีหมอกบัง มองเห็นในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง หรือถูกแสงสว่างจะรู้สึกว่าตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ หรือเห็นภาพซ้อน (เพราะแก้วตามักจะขุ่นขาวเฉพาะบริเวณตรงกลาง เมื่อมองในที่มืดรูม่านตาจะขยายและเปิดทางให้แสงผ่านเข้าแก้วตาส่วนรอบนอกที่ยังใสอยู่ได้เป็นปกติ จึงทำให้เห็นภาพได้ชัดในที่มืด แต่ถ้ามองในที่สว่างรูม่านตาจะหดแคบลง จึงทำให้แสงสว่างผ่านเฉพาะแก้วตาบริเวณตรงกลางที่ขุ่นขาว จึงทำให้พร่ามัว)
- ผู้ป่วยบางรายอาจสังเกตว่าการมองเห็นของตนเองนั้นผิดไปจากเดิม เช่น มองเห็นจุดอยู่หน้าตา, มองเห็นแสงไฟเป็นแสงกระจาย, อาจมองเห็นภาพเป็นสีเหลือง, มองเห็นแสงไฟเป็น 2 ดวงซ้อนกัน หรือมองเห็นพระจันทร์สองดวงหรือหลายดวง แม้จะดูด้วยตาข้างเดียวแต่ก็ยังเห็นภาพซ้อนกัน ทั้งนี้เป็นเพราะแก้วตาที่ขุ่นมัวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการหักเหของแสงไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่ประสาทตาจึงไม่รวมเป็นจุดเดียว
- ผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแว่นตาบ่อย เพราะการมองเห็นในระยะใกล้ดีขึ้นหรือไม่ต้องใส่แว่นตาเพื่ออ่านหนังสือ ซึ่งในผู้สูงอายุที่อ่านหนังและต้องใช้แว่นสายตาช่วยเป็นปกติอยู่แล้ว แต่อยู่ ๆ กลับพบว่าสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น หากเกิดอาการแบบนี้อย่าเพิ่งดีใจไปและคิดว่าสายตาจะดีขึ้นเองนะครับ เพราะนั่นเป็นอาการเริ่มต้นของการเสื่อมของแก้วตา (โรคต้อกระจกในระยะแรก) พอแก้วตาเริ่มขุ่นก็จะทำให้การหักเหของแสงเปลี่ยนไป ผู้สูงอายุจึงกลับมาเป็นคนสายตาสั้นเมื่อแก่ (Secondary myopia) ดังนั้นถ้าพบอาการเช่นนี้ ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจดูว่าเริ่มเป็นต้อกระจกแล้วหรือไม่
- ผู้ป่วยที่เป็นมาก ๆ อาจมีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะร่วมด้วย
- อาการตามัวจะเริ่มเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ กินเวลาเป็นแรมเดือนแรมปี จนในที่สุดเมื่อแก้วตาขุ่นขาวจนหมดหรือที่เรียกว่า “ต้อสุก” ก็จะมองไม่เห็น (เห็นเป็นฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตา) สำหรับในผู้สูงอายุมักจะเป็นต้อกระจกที่ตาทั้ง 2 ข้าง แต่จะสุกไม่พร้อมกัน
การวินิจฉัยต้อกระจก
เมื่อตรวจดูตาจะพบว่าแก้วตามีลักษณะขุ่นขาว เมื่อใช้ไฟส่องผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตาพร่า เมื่อใช้เครื่องส่องตา (Ophthalmoscope) ตรวจดูจะไม่พบปฏิกิริยาสะท้อนสีแดง (Red reflex)
- อาการตามัวยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ นอกจากต้อกระจก ซึ่งแพทย์จะซักถามอาการและตรวจดูให้แน่ชัดว่าไม่ใช่เกิดจากภาวะร้ายแรงอย่างเช่น ต้อหิน
- ต้อกระจกที่พบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยหรือในช่วงวัยกลางคน อาจมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานหรือโรคอื่น ๆ ได้ ถ้าพบอาการดังกล่าว แนะนำว่าผู้ป่วยควรไปตรวจที่โรงพยาบาล
ภาวะแทรกซ้อนของต้อกระจก
- เมื่อต้อสุกและไม่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้ตาบอดสนิท
- ในบางรายแก้วตาอาจบวมหรือหลุดลอยไปอุดกั้นทางระบายของเหลวในลูกตา ทำให้เกิดความดันภายในลูกตาสูงขึ้น จนกลายเป็นต้อหินได้
- ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาอย่างรุนแรง
วิธีรักษาต้อกระจก
- อย่างแรกคือไม่ต้องตกใจ เพราะต้อกระจกไม่ใช่โรคร้ายแรง ส่วนใหญ่จะค่อยเป็นค่อยไป หากสงสัยว่าตนเองเริ่มเป็นต้อกระจก ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด เพราะอาการตามัวอาจเกิดจากต้อหินซึ่งร้ายแรงกว่าต้อกระจกหลายเท่าก็เป็นได้
- เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นต้อกระจกแล้ว แพทย์จะนัดหมายมาเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่า (การรักษาต้อกระจกมีเพียงวิธีเดียว คือ การผ่าตัดเอาแก้วตาที่ขุ่นออก เนื่องจากไม่มียาที่ใช้กินหรือหยอดตาใด ๆ ที่จะช่วยแก้อาการของต้อกระจกได้ แม้ว่ายาจากหลาย ๆ บริษัทจะอ้างว่าสามารถช่วยชะลอต้อกระจกได้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าช่วยชะลอต้อกระจกได้จริง และในที่สุดผู้ป่วยก็ยังคงต้องได้รับการผ่าตัดอยู่ดี)
- ควรผ่าตัดต้อกระจกเมื่อไหร่ ? : โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะทำการผ่าตัดต้อกระจกให้เมื่อผู้ป่วยสายตามัวจนดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่สะดวกหรือเป็นอุปสรรค เช่น การทำงานที่ต้องใช้สายตา การขับรถเดินทาง การอ่านหนังสือ เป็นต้น หรือในผู้ป่วยที่ต้อกระจุกขุ่นมากจนทำให้ไม่สามารถตรวจจอประสาท เช่น ในผู้ป่วยเบาหวาน หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น เป็นต้อหิน ส่วนในทารกที่เป็นต้อกระจกมาตั้งแต่กำเนิดนั้น แพทย์อาจทำการผ่าตัดให้เมื่ออายุได้ประมาณ 6 เดือน เพื่อป้องกันมิให้ประสาทตาเสื่อม (แต่ถ้าต้อกระจกยังเป็นน้อย ใช้แว่นสายตาก็ยังพอดำเนินชีวิตประจำวันได้ก็ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เพราะขึ้นชื่อว่าผ่าตัดแม้จะใช้เครื่องมือที่ดีที่สุดก็ตาม แต่ก็คงหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนไม่ได้ทั้งหมด (แม้ว่าจะลดลงก็ตาม) และเราก็มีดวงตาแค่ 2 ข้าง จึงไม่ควรเสี่ยงหากไม่จำเป็น)
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดต้อกระจกได้ (แม้การผ่าตัดในปัจจุบันจะมีข้อดีอยู่มาก แต่ก็มีข้อห้ามหรือเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับผู้ป่วยบางคนได้) :
- ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตาดำ เช่น ม่านตาขยายไม่ได้เต็มที่ จึงบดบังการมองเห็นของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด
- ผู้ป่วยต้อกระจกที่มีเนื้อเยื่อยึดแก้วตาอ่อนแอผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งการผ่าตัดอาจทำให้แก้วตาตกลงไปในส่วนล่างของตา ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง
ตามมา เช่น วุ้นตาอักเสบรุนแรง หรือจอประสาทตาเสียหาย จนถึงขั้นทำให้สูญเสียสายตาได้ - ต้อสุกมากหรือสุกจัด เพราะจะสลายต้อกระจกได้ยาก ต้องเพิ่มกำลังคลื่นเสียงจนอาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออื่น ๆ ในดวงตาที่อยู่ใกล้เคียงได้
- ก่อนการผ่าตัดต้อกระจก : ก่อนผ่าตัดแพทย์จะทำการตรวจตาอย่างละเอียด รวมทั้งวัดความดันตาและตรวจประสาทตาเพื่อให้แน่ใจว่ายังปกติดีอยู่หรือไม่ ถ้าประสาทตายังดีอยู่ หลังการผ่าตัดจะทำให้มองเห็นได้ดี แต่ถ้าประสาทตาเสียแล้ว การผ่าตัดจะไม่ช่วยให้ตามองเห็นได้ดีขึ้น นอกจากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายทั่ว ๆ ไปเพื่อดูว่ามีโรคอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคในระหว่างหรือหลังการผ่าตัดหรือไม่ เช่น ตากุ้งยิง ถุงน้ำตาอักเสบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคปอด เพราะถ้าเป็นโรคดังกล่าวก็จำเป็นต้องรักษาให้หายดีก่อนแล้วจึงค่อยทำการผ่าตัดต้อกระจก (ผู้เป็นเบาหวานสามารถผ่าตัดต้อกระจกได้ แต่ต้องควบคุมอาการของโรคให้ดีก่อน เพื่อที่แผลผ่าตัดจะได้ไม่มีการอักเสบติดเชื้อ อันจะทำให้การผ่าตัดนั้นไม่ได้ผล)
- วิธีการผ่าตัดต้อกระจกแบบมาตรฐาน : ในปัจจุบันจักษุแพทย์นิยมทำการผ่าตัดต้อกระจกโดยวิธีสลายต้อด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (Phacoemulsification) ไปสลายต้อกระจกให้มีขนาดเล็กลงเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วถูกดูดออก จากนั้นแพทย์จะใส่เลนส์เทียมเข้าไปแทนในถุงหุ้มเลนส์เดิม (เลนส์เทียมสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต) ซึ่งวิธีนี้จะไม่ต้องรอจนต้อสุกแบบวิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเก่าที่อาจทำให้ถุงหุ้มเลนส์เสื่อมจนใช้งานไม่ได้ แพทย์จึงนิยมทำการผ่าตัดต้อกระจกให้ในระยะที่เริ่มเป็นได้ไม่นาน นอกจากนี้แผลผ่าตัดก็มีขนาดเล็กมาก จึงไม่ต้องเย็บแผล ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล และไม่ต้องตัดแว่นใส่เวลามองไกล แต่เวลาอ่านหนังสือมักต้องใช้แว่นอ่านหนังสือเช่นเดียวกับผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีทั่วไป เพราะเลนส์เทียมจะขาดความยืดหยุ่นแบบเลนส์ของผู้ที่มีอายุมาก จึงทำให้ไม่สามารถปรับเลนส์ตา (Accommodation) ให้มองชัดในระยะใกล้ ๆ ได้ ซึ่งแพทย์จะให้รอประมาณ 1-2 เดือนหลังการผ่าตัด จนกว่าสายตาจะเริ่มเข้าที่แล้วจึงค่อยให้ไปวัดสายตาเพื่อตัดแว่นอ่านหนังสือ (การผ่าตัดต้อกระจกแบบเก่าจะต้องเปิดแผลกว้าง แล้วนำแก้วตาที่ขุ่นพร้อมถุงหุ้มออกทั้งนั้น ผู้ป่วยจะต้องนอนพักในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน 5-7 วัน หลังจากการรักษาแล้วจำเป็นจะต้องตัดแว่นใส่เพื่อปรับสายตาให้มองเห็นได้ทั้งการมองไกลและมองใกล้)
- ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจก : วิธีผ่าตัดสลายต้อกระจกจะทำหลังจากการให้ยาระงับความเจ็บปวด ซึ่งอาจทำได้โดยการดมยาสลบ (ในกรณีที่ผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือ) ฉีดยาเฉพาะที่ หรือเพียงใช้วิธีการหยอดยาชา ทั้งนี้ขึ้นอยู่ดุลยพินิจของแพทย์ โดยการผ่าตัดนั้นจะเริ่มจากตัวเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงจะส่งผ่านพลังงานไปยังเครื่องมือซึ่งเป็นท่อเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 มิลลิเมตร และเริ่มด้วยการฉีกปลอกหุ้มแก้วตาออกเป็นช่องเพื่อใส่เครื่องมือให้ปลายเครื่องมือสัมผัสกับแก้วตา เมื่อปล่อยพลังงานออกมาก็จะช่วยสลายต้อออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยสลับกับการดูดเอาเศษแก้วตาออกมาจนกว่าจะหมด ส่วนที่เหลือจะเป็นปลอกหุ้มแก้วตาที่เปิดฝาไว้ แล้วจึงสอดแก้วตาเทียมลงไปแทนที่ ซึ่งแก้วตาเทียมที่ใช้นี้อาจเป็นอย่างแข็งที่ทำจากพลาสติก หรือเป็นอย่างนิ่ม (แก้วตาชนิดพับได้) ที่ทำจากซิลิโคนหรืออะคริลิกก็ได้ และในกรณีที่ผู้ป่วยมีสายตาผิดปกติอยู่ด้วยแล้ว อาจเลือกกำลังโฟกัสของแก้วตาเทียมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องพึ่งเลนส์แว่นตาหรือใช้คอนแทคเลนส์ ส่วนภาพที่ได้จากการฝังเลนส์แก้วตาเทียมก็ใกล้เคียงกับของจริงที่สุด ผู้ป่วยจึงปรับตัวได้ง่าย และสามารถมองเห็นได้ทันทีหลังการผ่าตัด ซึ่งในระยะยาวแก้วตาเทียมอาจถูกกว่าการตัดแว่นหรือใช้คอนแทคเลนส์ที่ต้องเปลี่ยนอยู่บ่อย ๆ (โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยที่ไม่เหมาะกับการฝังแก้วตาเทียม คือ ผู้ป่วยเบาหวานที่เบาหวานทำลายจอตาไปมากแล้ว เพราะตาเสียการมองเห็นถาวรไปแล้ว, ผู้ป่วยที่มีต้อหินร่วมด้วยและควบคุมต้อหินยังไม่ดี เพราะจะทำให้ต้อหินเลวร้ายลง และในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี เพราะตาของเด็กยังต้องเจริญเติบโตไปเรื่อย ๆ และสายตาก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน)
- วิธีการผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่ล่าสุด : เทคโนโลยีแบบใหม่ที่ว่านี้คือ “การผ่าตัดต้อกระจกและฝังเลนส์เทียมโดยใช้เลเซอร์” (Femtosecond laser) ซึ่งจะเป็นการใช้เลเซอร์เข้ามาช่วยในการผ่าตัด ทำให้แพทย์สามารถเปิดแผลได้อย่างแม่นยำ สามารถเปิดถุงหุ้มเลนส์ให้มีขนาดตามความต้องการ และตัดแบ่งเลนส์ต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กลงได้ก่อนที่จะใช้เครื่องมือมาตรฐานในการสลายต้อ นั่นก็คือการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (Phacoemulsification) ดูดเอาเลนส์ต้อกระจกที่ทำให้สลายไปบางส่วนแล้วออกมา เครื่องเลเซอร์ชนิดนี้จะใช้คอมพิวเตอร์ในการควบคุมการทำงานและอาศัยเทคโนโลยี 3 มิติในการสแกน จึงทำให้สามารถคำนวณการตัดเนื้อเยื่อได้อย่างถูกต้อง ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วและช่วยลดโอกาสการติดเชื้อหรือการเกิดสายตาเอียงหลังการผ่าตัดได้ดี โดยกลุ่มที่เหมาะสำหรับการใช้เทคโนโลยีแบบใหม่นี้คือ ผู้ที่ต้องการให้การรักษามีความแม่นยำสูงและมีความบอบช้ำของดวงตาน้อยที่สุด เมื่อแผลมีความบอบช้ำน้อยจึงทำให้โอกาสในการติดเชื้อหลังการผ่าตัดลดลงต่ำกว่าการใช้วิธีมาตรฐานแบบเดิม นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพิเศษต่าง ๆ เช่น เลนส์แก้วตาเทียมที่สามารถมองเห็นได้ชัดทั้งในระยะไกลและระยะใกล้ เนื่องจากการวางตำแหน่งเลนส์แก้วตาเทียมให้อยู่ตรงกลางจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพของเลนส์แก้วตาเทียมดีมากขึ้น
- ผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกควรหลีกเลี่ยงการไปรักษาตามแบบพื้นบ้าน เพราะกลัวการผ่าตัดหรือกลัวเสียค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งหมอเหล่านี้ (ที่ไม่ใช่แพทย์จริง ๆ) มักจะทำการเดาะแก้วตา (Couching) โดยการใช้เข็มดันแก้วตาให้หลุดไปด้านหลังของลูกตา จึงทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาและมองเห็นแสงสว่างได้ในทันที เมื่อใส่แว่นก็จะทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น แต่การรักษาแบบนี้ไม่ช้าก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ต้อหิน เลือดออกในวุ้นลูกตา หรือประสาทตาเสื่อมจนทำให้ตาบอดอย่างถาวร
- การดูแลหลังผ่าต้อกระจก ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- ในเย็นวันผ่าตัด ผู้ป่วยควรนอนพักให้มากที่สุด และขึ้นเดินเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น การลุกไปเข้าห้องน้ำ
- ในวัดถัดไปหลังจากนั้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก การยกของหนักหรือกระเทือนมาก การออกกำลังกายอย่างหนัก รวมถึงการไอหรือจามแรง ๆ เป็นเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายดี ส่วนการทำงานเบา ๆ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ ดูทีวี อ่านหนังสือ สามารถทำได้ตามปกติ
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและใช้ยาต่าง ๆ ให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง ส่วนยาประจำตัวที่ใช้อยู่เดิมก็สามารถกินได้ตามปกติ
- ห้ามให้น้ำเข้าตาประมาณ 4 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัด หรือจนกว่าแพทย์อนุญาต) โดยควรใช้วิธีเช็ดหน้าโดยใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดบิดให้แห้งแทนการล้างด้วยน้ำ (แผลในดวงตาเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาได้ ผู้ป่วยจึงต้องรักษาความสะอาดบริเวณรอบ ๆ ตาและใบหน้าอยู่เสมอ)
- ห้ามขยี้ตาข้างที่ทำการผ่าตัดประมาณ 4 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัด หรือจนกว่าแพทย์อนุญาต) ผู้ป่วยควรใช้ที่ครอบตาพลาสติกปิดตาเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานอน เพื่อป้องกันการเผลอเอามือไปขยี้ตา ส่วนในเวลากลางวันอาจใส่แว่นตาแทนการใส่ที่ครอบตาแทนก็ได้ ถ้ารู้สึกรำคาญ
- สวมแว่นตากันแดดทุกครั้งเมื่อออกไปในที่แสงจ้า
- ควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง จนกว่าแผลจะหายดีและปลอดภัยแล้ว แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดตามาก (กินยาแก้ปวดแล้วอาการไม่ดีขึ้น), ตาแดงมากขึ้น, มีขี้ตาสีเหลือง, เผลอขยี้ตา, ตามองไม่เห็น หรือตาข้างที่ผ่าเคยชัดกลับมัวลงอีก, คลื่นไส้อาเจียน, มีอุบัติเหตุกับตาข้างที่ผ่าตัด, มีอาการไอจามรุนแรง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ผลการรักษาต้อกระจกด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสายตาให้กลับมามองเห็นได้เหมือนคนปกติทั่วไป และตาข้างที่เคยผ่าตัดแล้วจะไม่กลับมาเป็นต้อกระจกซ้ำอีก โดยภาพที่ได้จากการฝังเลนส์แก้วตาเทียมจะมีความใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด ผู้ป่วยจึงปรับตัวได้ง่าย แต่ถ้าหลังจากผ่าตัดแล้วตาข้างนั้นเกิดมีอาการตามัวขึ้นอีก ก็มักจะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ต้อหิน จอตาเสื่อม ถุงหุ้มเลนส์ขุ่น เป็นต้น
วิธีป้องกันต้อกระจก
โรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็ม 100% เพราะเป็นโรคที่เสื่อมตามวัย แต่เราสามารถป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกก่อนวัยอันควรและชะลอให้โรคนี้เกิดช้าลงได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาเข้าสเตียรอยด์หรือกินยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ รวมไปถึงการใช้ยาลดความอ้วนบางชนิด
- หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา โดยระวังอย่าให้ดวงตาถูกกระทบกระแทก ผู้ที่ทำงานที่มีโอกาสเสี่ยงต่อดวงตาควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่อดวงตา
- ควรสวมแว่นกัดแดดเมื่ออยู่กลางแจ้งท่ามกลางแสงแดดจ้า เพื่อช่วยกรองแสงอัลตราไวโอเลต และไม่มองจ้องดวงอาทิตย์โดยตรง
- พักสายตาเป็นระยะหากต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน
- งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์จัด
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอสูง ๆ เช่น แคร์รอต ฟักทอง มะเขือเทศ มะละกอสุก กล้วย เป็นต้น
- การใช้ยาหยอดตาทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้
- ควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปควรตรวจเป็นประจำทุกปี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจักษุแพทย์มักแนะนำให้ทุกคนควรไปตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปีเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพทั่วไป โดยสามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่เมื่อมีอายุประมาณ 18 ปี แต่ถ้ามีอาการก็สามารถไปพบแพทย์ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ และหลังจากนั้นความถี่ในการตรวจจะขึ้นอยู่กับจักษุแพทย์แนะนำ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ต้อหิน (Glaucoma) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคต้อหิน 5 วิธี !!
- ต้อลม (Pinguecula) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคต้อลม 6 วิธี !!
- ต้อเนื้อ (Pterygium) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคต้อเนื้อ 5 วิธี !!
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ต้อกระจก (Cataract)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 950-952.
- หาหมอดอทคอม. “ต้อกระจก (Cataract)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [01 เม.ย. 2016].
- คณะกรรมการฐานข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “โรคต้อกระจก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [02 เม.ย. 2016].
ภาพประกอบ : www.striveforgoodhealth.com, www.firmoo.com, newsnetwork.mayoclinic.org, eyecareneworleans.com, www.floridaeyeclinic.com, www.neovisioneyecenters.com, www.parkhillsurgerycenter.com, www.williamsoneyeinstitute.com, www.rsb.org.au
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)