20 ข้อห้ามสําหรับคนท้อง & ข้อควรระวังสำหรับคนท้อง !!

ข้อห้ามคนท้อง

ในระหว่างการตั้งครรภ์สิ่งที่คุณแม่ควรนึกถึงเป็นอันดับแรกคือ “เรื่องความปลอดภัย” คุณแม่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังอีกหลายเท่าและดูแลตัวเองให้มากเป็นพิเศษ เพราะสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่ต่าง ๆ อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวคุณแม่เองและกับลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยสิ่งที่คุณแม่ควรระวังหรือละเว้นและเตรียมป้องกันอันตรายต่าง ๆ นั้น มีดังนี้

  1. อันตรายรอบตัว งานที่คุณแม่คิดว่าเป็นงานง่าย ๆ เช่น การถูพื้น ขัดพื้นห้องน้ำ อาจทำให้คุณแม่ลื่นล้มได้ หรือแม้แต่เครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ซึ่งคุณแม่ไม่ควรดื่ม หรือคุณพ่อที่ชอบสูบบุหรี่พ่นควันโขมง เหล่านี้ล้วนแต่เป็นอันตรายภายในบ้านที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงและต้องเพิ่มความระมัดระวัง
    • สารเคมีอันตราย ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เครื่องใช้อยู่หลายชนิดที่มีสารเคมี เช่น ประเภทสารระเหย ได้แก่ น้ำยาล้างเล็บ น้ำยาขัดห้องน้ำ แลกเกอร์ สีทาบ้าน ฯลฯ เป็นสิ่งที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่ทารกกำลังสร้างอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ถ้ามีสารเคมีจากภายนอกเข้าไปรบกวน จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ได้, ประเภทสเปรย์ฉีด ได้แก่ น้ำยาขัดเฟอร์นิเจอร์ โฟมใส่ผม ยาฉีดยุง ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เวลาฉีดจะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายและมองไม่เห็น เมื่อคุณแม่หายใจเข้าไปก็จะเป็นอันตรายกับตัวเองและลูกน้อยได้ คุณแม่จึงควรเปลี่ยนจากแบบสเปรย์มาใช้แบบเจลหรือเป็นครีมทาจะดีกว่า
    • สารเคมีที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น สี ตะกั่ว ปรอท ไวนิล น้ำยาซักแห้ง และตัวทำละลายต่าง ๆ
    • การทำความสะอาดมูลแมว มูลแมวมีส่วนประกอบของ Toxoplasmosis ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดความผิดปกติในการคลอดบุตรได้ โดย Toxoplasmosis จะเป็นเชื้อปรสิตชนิดหนึ่งที่มีแมวเป็นพาหะนำโรค ถ้าในบ้านคุณเลี้ยงแมวอยู่ ก็ควรจะอยู่ให้ห่างมูลแมวและมอบหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ให้คนอื่นแทน
    • รังสีจากโทรทัศน์ มีคุณแม่หลายคนที่มักเกิดความกังวลในขณะที่ตั้งครรภ์ ด้วยกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ โทรทัศน์ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คุณแม่หลาย ๆ คนคาใจอยู่ แต่โทรทัศน์ในปัจจุบันจะไม่มีการแผ่รังสีเหมือนโทรทัศน์ในสมัยก่อนแล้ว จึงไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยแต่อย่างใด
    • ความร้อน แทบจะไม่มีใครเชื่อเลยว่าความร้อนนั้นสามารถส่งผลกับลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากคุณแม่ไม่สบายก็ควรรีบกินยาลดไข้โดยเร็ว (ใช้ได้เฉพาะยาพาราเซตามอลเท่านั้น) หรือคุณแม่ที่ชอบไปอบตัว อบเซาน่า หรือแช่น้ำวน ก็ควรจะหยุดกิจกรรมเหล่านี้ออกไปชั่วคราวก่อน
    • สถานที่อันตราย เช่น สถานที่ที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่, บริเวณที่มีการแผ่รังสี, บริเวณที่มีสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคอาศัยอยู่, บริเวณที่มีของเสียทุกชนิดและทุกประเภทจากโรงงานอุตสาหกรรม
    • สำหรับคุณแม่ที่เป็นแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ หรือวิสัญญี ควรหลีกเลี่ยงการสูดดมยาสลบ
  2. ความเครียด อาการเครียดในระยะสั้นอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ และปวดหลัง ถ้าหากปล่อยให้เครียดนาน ๆ จะทำให้ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง เกิดความดันโลหิตสูง และเกิดโรคหัวใจตามมาได้ นอกจากนี้ยังมีวิจัยที่พบว่าความเครียดทางใจหรือความเครียดที่เกี่ยวข้องกับสภาวะทางจิตใจและสิ่งแวดล้อมทางสังคม นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมต่อคุณแม่แล้ว ยังอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางกายภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้อีกด้วย โดยเด็กที่คลอดจากแม่ที่มีความเครียดสูง มักจะคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ และอาจต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เป็นกรณีพิเศษเพื่อให้เด็กกลับมามีสุขภาพที่สมบูรณ์ หากคุณแม่มีความเครียดไม่ว่าจะทางใดก็ตาม ก็ควรจะหาวิธีจัดการกับความเครียดดังกล่าว เพราะคุณแม่ที่เครียดเพียงเล็กน้อยและปรับตัวได้ดี ก็จะไม่มีผลเสียต่อการตั้งครรภ์ครับ
  3. เวลานอนเรื่องสำคัญ คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรนอนดึก และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง เพราะมีงานวิจัยพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่นอนน้อยกว่าวันละ 5 ชั่วโมงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ เช่น ความดันโลหิตสูงที่เป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์
  4. ท่านอนกับคุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์จะเริ่มรู้สึกว่า ท่านอนที่เคยนอนสบาย ๆ กลับไม่สามารถนอนได้เหมือนเคย ในระยะตั้งครรภ์อ่อน ๆ ก็คงไม่เป็นอะไร คุณแม่จะนอนหงาย นอนคว่ำ นอนตะแคงก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าท้องใหญ่มากขึ้นหรือในช่วงใกล้คลอด การนอนคว่ำก็อาจทำให้ท้องค้ำตัวคุณแม่ จะนอนหงายก็ไม่ได้เพราะจะหายใจได้ไม่สะดวก เพราะขนาดท้องที่ใหญ่มากขึ้นจะไปกดตรงกะบังลม ส่วนท่านอนที่ดีที่สุดของคุณแม่ท้องใหญ่ ๆ คือ ท่านอนตะแคง จะตะแคงซ้ายหรือขวาก็ได้ตามที่ถนัด เพราะการนอนตะแคงมดลูกที่มีขนาดใหญ่จะไม่ไปกดทับเส้นเลือดใหญ่ที่อยู่ด้านหลัง จึงทำให้คุณแม่หายใจได้สะดวก เลือดลมไหลเวียนได้ดี คุณแม่จึงนอนหลับได้สบายมากขึ้น
  5. การใช้ยากับลูกในครรภ์ ถ้าคุณแม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องใช้ยาในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด คุณแม่ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น และต้องบอกคุณหมอด้วยทุกครั้งว่า กำลังตั้งครรภ์อยู่และบอกอายุครรภ์ด้วยทุกครั้ง แต่หากคุณแม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ยาเป็นการเร่งด่วน ควรอ่านเอกสารกำกับยาให้ชัดเจนก่อนใช้ทุกครั้งว่าไม่มีข้อห้ามใช้สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากยาที่ผลิตออกมาขายตามท้องตลาดทั่วไป ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่ายาชนิดนั้นจะปลอดภัยกับคุณแม่และลูกในครรภ์ เพราะยาสามัญประจำบ้านหลายชนิดก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ คุณแม่จึงควรใช้ยาเท่าที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง ส่วนยาที่คุณแม่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยและไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์จะมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น คือ ยาพาราเซตามอล (แก้ปวดและลดไข้) ที่คุณแม่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย ส่วนยาแอสไพรินนั้นห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด, ยาคลอเฟนิรามีน (แก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน ๆ), ยาเพนิซิลลินและแอมพิซิลลิน (เป็นยาปฏิชีวนะ) และผงเกลือแร่ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ 30 ยาที่คนท้องห้ามกิน & คนท้องห้ามกินยาอะไรบ้าง ??
  6. อาหารการกินกับหญิงตั้งครรภ์ โดยทั่วไปแล้วอาหารที่กินอยู่เป็นประจำจะไม่มีข้อห้ามอะไรสำหรับคุณแม่ครับ เพียงแต่คุณแม่ควรจะงดเว้นอาหารที่ทานแล้วจะเป็นโทษต่อร่างกายและอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารรสจัด (เผ็ดจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด หรืออาหารที่ใช้เครื่องปรุงแต่งมาก), อาหารที่ก่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อน (อาหารประเภทไขมันสูง อาหารที่มีรสจัด อาหารจำพวกแป้งที่ต้องอุ่นซ้ำ น้ำอัดลม ชา กาแฟ ฯลฯ), อาหารที่ทานแล้วท้องผูก (เพราะท้องผูกกับคนท้องเป็นของคู่กัน จะทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคริดสีดวงทวารได้ง่ายมาก), อาหารที่เพิ่มน้ำหนักแต่ไม่ให้คุณค่า (ไม่ได้ห้ามครับ แต่ควรจะหลีกเลี่ยงไว้เป็นดี เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ได้), อาหารที่เป็นพิษหรืออาหารที่คุณแม่เคยกินแล้วแพ้, อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารค้างแช่แข็ง และอาหารที่เก็บรักษาได้นาน, อาหารที่ปรุงไม่สุก (เช่น ไข่ดิบ เนื้อหรือปลาดิบ ซูชิ อาหารทะเลสด หอยนางรม ปลาแซลมอนรมควัน สเต๊ก), ผลไม้บางอย่าง เช่น มะม่วงดิบ (ย่อยได้ยาก ทำให้คุณแม่เกิดอาการแน่นท้อง) ทุเรียน (ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ได้มาก ทำให้จุกเสียดแน่นท้อง), ผลไม้รสหวานจัดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นลำไย เงาะ มะม่วงสุก มะละกอสุก น้อยหน่า อินทผลัม น้ำมะพร้าว ฯลฯ (อาจทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานและมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ถ้าลดปริมาณได้หรือนาน ๆ กินทีก็ไม่เป็นอะไรครับ), ตับ (ทานได้บ้าง แต่ไม่ควรทานในปริมาณมากและทานทุกวัน เพราะตับมีวิตามินเออยู่มาก ซึ่งมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์), ปลาบางชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลาฉลาม หูฉลาม ปลากระโทงแทง (มีสารปรอทอยู่มาก อาจทำอันตรายต่อระบบประสาทที่กำลังพัฒนาของลูกน้อยได้ ส่วนปลาทูน่าก็มีสารปรอทอยู่เช่นกัน เพียงแต่คุณแม่ควรจำกัดปริมาณในการรับประทานไว้ไม่ให้เกิน 2 ชิ้นต่อสัปดาห์), ผงชูรส (ไม่ได้ห้ามรับประทานครับ เพียงแต่ควรลดปริมาณหรือหลีกเลี่ยง แล้วหันมารับประทานอาหารที่มีโยชน์แทนจะดีกว่า), อาหารที่ใส่เกลือมาก ๆ (อาจทำให้เกิดอาการบวมและเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ), แป้งกรอบหรือผงกรอบ (ส่วนมากจะมีสารบอแรกซ์), ยาจีนหรือยาหม้อ (เพราะยังไม่มีการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่ามีประโยชน์หรือมีอันตรายมากน้อยเพียงใด อีกทั้งตำรับยาหรือส่วนผสมก็ไม่ค่อยแน่นอน บางอย่างก็มีราคาแพง และอาจไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป), เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม โอเลี้ยง (กาเฟอีนอาจก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลหรือความตึงเครียดได้), เครื่องดื่มชูกำลัง, ชาดอกคำฝอย (มีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัวซึ่งเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อย), เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาดครับ) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ 17 อาหารที่คนท้องห้ามกิน & คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง ??
  7. การสูบบุหรี่ เป็นอีกสิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรงดเว้นอย่างเด็ดขาด เพราะสารนิโคติน (Nicotine) ในบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะทำให้เด็กมีอาการสมาธิสั้น อีกทั้งการสูบบุหรี่มากยังทำให้คุณแม่มีโอกาสแท้งและคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น ลูกที่ออกมามักตัวเล็ก น้ำหนักน้อย หัวใจเต้นเร็วกว่าเด็กปกติ บางครั้งอาจทำให้เกิดความพิการที่รุนแรงได้
  8. ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คุณแม่ไม่ควรคลุกคลีกับผู้ป่วยติดเชื้อ แม้แต่คนในบ้าน รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงอย่างหมาและแมว ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดหรือสถานที่ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อ เพราะอาจทำให้คุณแม่มีโอกาสติดเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้หวัดที่เป็นโรคที่คนเรามักจะป่วยกันได้ง่าย ๆ หากคุณแม่ไม่สบายเป็นไข้ตัวร้อน อย่าปล่อยทิ้งไว้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา แม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่เป็นอันตรายกับลูกน้อยในครรภ์ก็ตาม ยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรระมัดระวังตัวเองให้มาก อย่าเข้าไปใกล้กับผู้ป่วยที่มีไข้สูง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีผื่นออกตามร่างกาย โดยโรคอื่น ๆ ที่คุณแม่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อนั้นจะมีโรคอีสุกอีใส (ถ้าคุณแม่ยังไม่เคยเป็นมาก่อน อาจมีโอกาสเป็นได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ และอาจเป็นสาเหตุทำให้ลูกน้อยในครรภ์ผิดปกติตั้งแต่กำเนิดได้), โรคคางทูม (แม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่มีผลอะไรนักและไม่มีความเสี่ยงต่อการพิการของลูกน้อย แต่ถ้าบังเอิญในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่เกิดเป็นคางทูมขึ้นมา คุณหมอจะไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนคางทูมในระยะนี้ครับ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้) และพยายามอย่าให้สุนัขกัด เพราะสุนัขอาจมีโรคพิษสุนัขบ้า หรือถ้าคุณแม่มีลูกเล็กที่ต้องคลุกคลีเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด เมื่อลูกป่วย คุณแม่ก็อาจได้รับเชื้อไปด้วย สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เคยทำงานอยู่ใกล้กับสารพิษหรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง มีมลพิษมาก คุณแม่ควรปรึกษากับเจ้านายเพื่อขอโยกย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่การงานไปก่อนชั่วคราว เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนในกรณีที่คุณแม่มีโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ลางานหรือหยุดงาน เพื่อที่คุณแม่จะได้พักผ่อนมากที่สุด
    • หัดเยอรมันกับลูกน้อยในครรภ์ หัดเยอรมันเป็นเหมือนฝันร้ายสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน โดยหัดเยอรมันนั้นเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ทางลมหายใจ ละอองไอ และน้ำลาย หากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นหัดเยอรมันในช่วงอายุครรภ์ 3-4 เดือนแรก จะทำให้ลูกน้อยในครรภ์พิการโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อความไม่ประมาท คุณแม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันไว้ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าคุณแม่จะได้รับเชื้อมาจากไหน
    • การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์จากฝ่ายสามี จากรายงานทางการแพทย์พบว่า สามีจะนอกใจภรรยามากที่สุดในช่วงการตั้งครรภ์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อคุณแม่และลูกจากการติดเชื้อได้ เช่น เชื้อ HIV เชื้อหนองใน เชื้อเริม และซิฟิลิส ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อความพิการและสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่จึงไม่ควรละเลยในการให้ความสุขกับสามี เพราะในระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่สามารถมีเพศสัมพันธ์กับคุณพ่อได้ตามปกติ
  9. การแต่งตัวกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ในส่วนของเสื้อผ้า คุณแม่ตั้งครรภ์ควรสวมชุดที่ใส่สบาย เนื้อผ้าไม่อับลม อาจจะหลวมเล็กน้อย ไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่รัดรูปหรือรัดเอวมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไหลกลับจากขาได้ช้าหรือน้อยลง อาจทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้มากขึ้น ในส่วนของชุดชั้นในนั้นควรจะใช้ยกทรงที่มีขนาดพอเหมาะกับเต้านม คุณแม่อาจจะต้องเปลี่ยนบ่อยตามขนาด และควรใช้ชนิดเสริมด้านล่างอีกเล็กน้อย เพราะเต้านมมักจะใหญ่และถ่วงน้ำหนักลง เสื้อชั้นในที่ดีควรทำจากผ้าฝ้ายล้วน จะทำให้ไม่ร้อนอบอ้าว และควรเลือกชนิดที่มีปลายทรงแหลมหรือมีที่ว่างมากพอสำหรับหัวนมจะได้ไม่ถูกกด เพื่อป้องกันหัวนมบอด ส่วนข้อแนะนำในเรื่องกางเกงในนั้น พวกที่ทำจากใยสังเคราะห์ไม่เหมาะสมที่จะใช้ เนื่องจากไม่ช่วยซับเหงื่อและระดูขาวให้ระเหยไปได้ ทำให้บริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย กางเกงในที่ดีจะต้องทำจากผ้าฝ้ายบางเบา เพราะจะช่วยดูดซึมเหงื่อได้ดี นอกจากนี้ยังต้องเปลี่ยนให้มีขนาดพอดีกับรูปร่างที่โตขึ้นด้วย อย่าทนใส่กางเกงในที่คับจนทำให้รู้สึกอึดอัด และสำหรับการสวมใส่รองเท้า คุณแม่ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณน่อง ต้นขา เอว และหลัง เกิดวามตึงเครียดและมีอาการปวดตามมาได้ อีกทั้งรองเท้าส้นสูงยังทำให้จุดศูนย์ถ่วงของคุณแม่ตั้งครรภ์เสียสมดุลอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มและแท้งบุตรได้
  1. การอาบน้ำของคุณแม่ตั้งครรภ์ ในเรื่องการอาบน้ำนี้มีความเชื่อมาตั้งแต่โบราณว่า ห้ามอาบน้ำในเวลากลางคืน เพราะเชื่อว่าจะมีน้ำคร่ำเยอะและเป็นอันตรายต่อลูกในท้อง แต่ในความจริงแล้วในสมัยนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้กัน ห้องน้ำก็ไม่มี จะอาบน้ำแต่ละทีก็ต้องลงจากเรือนไปอาบที่พื้น เวลากลางคืนมืด ๆ อาจทำให้คุณแม่ลื่นหกล้มหรือถูกแมลงสัตว์กัดต่อยได้ แต่ต่างจากสมัยนี้ที่มีไฟฟ้าใช้กันอย่างทั่วถึง จะอาบน้ำกันเวลาไหนก็ได้ จึงไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใดครับ อย่างไรก็ดี ผมก็ขอแนะนำเรื่องการอาบน้ำว่า ควรอาบในช่วงเช้าและเย็น แต่ระวังอย่าฟอกสบู่มากนัก เพราะจะทำให้ผิวแห้งและเกิดปัญหาผิวพรรณตามมา, ไม่ควรลงแช่ในน้ำคลองหรือน้ำสกปรก เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อบริเวณช่องคลอดได้, การอาบน้ำโดยการนั่งแช่ในอ่างอาบน้ำนั้นสามารถทำได้ เพียงแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ควรจะงด เพราะอ่างน้ำอาจลื่น ทำให้คุณแม่เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ๆ ไม่ใช่เพราะจะทำให้น้ำเข้าช่องคลอดหรือเกิดการอักเสบอย่างที่เข้าใจผิดกัน, การว่ายน้ำในสระว่ายน้ำสามารถทำได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องระวังอย่าให้เป็นตะคริวจมน้ำก็พอครับ (ถ้าตั้งครรภ์แก่ ๆ หน่อยก็ขอแนะนำให้เลิกว่ายน้ำแล้วหันไปออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นจะเหมาะกว่าครับ)
  2. การออกกำลังกายกับคุณแม่ตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่การออกกำลังกายพอประมาณวันละหลาย ๆ ครั้ง จะดีกว่าการออกกำลังกายอย่างหักโหมเพียงครั้งเดียว เพราะในขณะตั้งครรภ์นั้นคุณแม่จะเหนื่อยง่าย ควรออกกำลังกายง่าย ๆ เพียงเพื่อให้ผ่อนคลายสบายตัวก็พอแล้ว ถ้ารู้สึกว่าเหนื่อยเกินไปในขณะออกกำลังกาย ปวดกล้ามเนื้อ หรือเป็นตะคริว คุณแม่ก็อย่าได้ฝืนทนนะครับ ควรจะหยุดพักในทันที สำหรับการออกกำลังกายโดยการเล่นกีฬานั้น คุณแม่สามารถเล่นกีฬาได้แทบทุกประเภท แต่จะต้องไม่รุนแรงหักโหมจนทำให้เกิดอันตราย เช่น การเดินหรือการเดินเร็ว (เป็นการออกกำลังกายที่ง่ายและวิเศษที่สุดสำหรับคุณแม่ เพียงเริ่มจากการใช้เวลาเดินช่วงละ 5-10 นาที แล้วเพิ่มเวลามากขึ้น เมื่อร่างกายเริ่มชินแล้วก็สามารถออกกำลังกายได้อย่างเต็มที่วันละ 30 นาที), การขี่จักรยาน, การเล่นกอล์ฟ, การเต้นแอโรบิก (ถ้าหากคุณแม่เคยเต้นมาก่อนอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่ควรหักโหมหรือเต้นในจังหวะที่เร็วเกินไป), โยคะ (ช่วยให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นและผ่อนคลายได้ดี แถมยังช่วยลดความเจ็บปวดในการคลอดได้อีกด้วย), ว่ายน้ำ (เป็นกีฬาที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ ช่วยทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายทุกส่วนมีความแข็งแรง), เต้นรำ (แต่ไม่ควรเต้นรำในจังหวะฉวัดเฉวียน เพราะจะทำให้เหนื่อยและเกิดอันตรายได้), การทำงานบ้าน (เช่น การหุงหาอาหาร ซักเสื้อผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน ก็เป็นการออกกำลังกายที่ดีทีเดียวเพราะได้งานด้วย) เป็นต้น ส่วนกีฬาที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น เล่นสเกต, ขี่ม้า, วิ่งจ็อกกิ้ง, วิ่งเร็ว, ซิตอัพ, สะพานหก, บาสเกตบอล, กระโดดเชือก, เทนนิส, การปีนป่ายที่สูง ฯลฯ รวมไปถึงงานบ้านที่ต้องระวังอันตรายในเรื่องของการลื่นหกล้ม คุณแม่จึงไม่ควรขึ้นบันไดสูง ๆ หรือเดินขึ้นตึกสูง ๆ หลายชั้นรวดเดียว ถ้าครรภ์แก่ขึ้นก็ควรจะระวังในเรื่องของการยกของหนักหรือเอื้อมมือหยิบของจากที่สูง ๆ ซึ่งอาจจะทำให้หกล้มได้ง่าย เหล่านี้ขอห้ามอย่างเด็ดขาดครับ
    ข้อควรระวังสำหรับคนท้อง
  3. การทำงานกับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี รังสี หรือมีความเสี่ยงต่ออันตรายใด ๆ ที่ตัวเองไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ เพราะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์การเจริญเติบโตของลูกน้อยนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับคุณแม่ที่ต้องยืนทำงานหรือนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ จะไม่มีผลต่อเจ้าตัวน้อยครับ นอกเสียจากความเครียดและอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คุณแม่ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง เปลี่ยนท่านั่งหรือยืดเส้นยืดสายบ่อย ๆ ไม่ยืนหรือนั่งตลอดทั้งวัน เพื่อช่วยทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้นและลดอาการปวดหลัง แขน และขา ส่วนอุปกรณ์ในสำนักงานที่คุณแม่ควรระวังเป็นพิเศษ คือ เครื่องถ่ายเอกสาร เพราะตัวเครื่องจะมีรังสีเอกซเรย์แผ่ออกมาด้วย รวมถึงผงถ่านคาร์บอนที่ฟุ้งกระจายอยู่ในห้อง ถ้าคุณแม่ต้องทำงานอยู่กับเครื่องถ่ายเอกสารติดต่อกันนาน ๆ อาจจะเป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่เองและกับลูกน้อยได้ ส่วนมลพิษในสถานที่ทำงาน การถ่ายเทของอากาศที่ไม่ดีพอ ควันบุหรี่ ก็อาจทำให้คุณแม่มีปัญหาเรื่องของระบบทางเดินหายใจ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และเบื่ออาหารได้ นอกจากนี้คุณแม่ยังควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนักอย่างหักโหม ให้หาโอกาสพักบ้างเป็นช่วง ๆ ซึ่งคุณหมอส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้คุณแม่ลาพักงานเมื่ออายุครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ เพราะในช่วงหลัง ๆ ของการตั้งครรภ์ ร่างกายในส่วนต่าง ๆ ของคุณแม่จะต้องทำงานหนักขึ้น กระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ และข้อต่อต่าง ๆ ก็ต้องทำงานหนักขึ้นด้วย การหยุดพักผ่อนให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก
  4. การเดินทางกับหญิงตั้งครรภ์ โดยปกติคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถเดินทางไปไหนไกล ๆ หรือไปท่องเที่ยวได้ตามปกติ เพราะการเดินทางไม่มีผลต่อการแท้งและการคลอดก่อนกำหนดแต่อย่างใด แต่ควรเป็นห่วงสำหรับคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องในช่วงระยะแรก ๆ เพราะอาจทำให้อ่อนเพลียและวิงเวียนศีรษะจนอาจเกิดอันตราย (ส่วนช่วงใกล้คลอดก็เป็นอันตรายเช่นกันครับ) รวมไปถึงคุณแม่ที่เคยมีประวัติการทำแท้งหรือเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดมาก่อน ก็ให้ระมัดระวังเพิ่มขึ้นและไม่ควรเดินทางไปไหนไกล ๆ จากบ้านมากนัก
    • การเดินทางด้วยการนั่งรถ หากคุณแม่ต้องเดินทางไกลเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้คุณแม่ปวดเมื่อยได้ คุณแม่อาจบริหารเท้าซึ่งจะช่วยลดความปวดเมื่อยลงได้บ้าง แต่ถ้าคุณแม่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วยทุกครั้ง ให้คุณพ่อเป็นคนขับรถให้เสมอ เพราะขนาดท้องที่ใหญ่มากขึ้นอาจไปค้ำกับพวงมาลัยหรือถ้าเกิดอุบัติเหตุก็อาจทำให้ท้องไปกระแทกกับพวงมาลัย และเมื่อรู้สึกเมื่อยล้าก็ควรจะหยุดพักบ้างระหว่างการเดินทางด้วยการลงมาเดินยืดเส้นยืดสายบ้าง สำหรับการซ้อนมอเตอร์ไซค์ก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกันครับ เพราะจะส่งผลกระทบกระเทือนกับลูกในครรภ์ได้ แถมยังต้องระวังอุบัติเหตุและอันตรายต่าง ๆ รอบทิศทาง และอาจทำให้มดลูกต้องมีการเกร็งตัวบ่อย ๆ
    • การเดินทางด้วยรถไฟ จะเป็นการเดินทางที่สะดวกสบาย เมื่อมีอาการปวดเมื่อย คุณแม่ก็สามารถลุกเดินไปไหนได้บ้าง แต่ควรจะหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถไฟในช่วงเทศกาล เนื่องจากมีผู้คนแออัด จะทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบาย อึดอัด เหน็ดเหนื่อย และมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อได้
    • การเดินทางด้วยเครื่องบิน สายการบินส่วนใหญ่มักจะไม่อนุญาตให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์มากกว่า 7 เดือนขึ้นไปโดยสารบนเครื่องบิน ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นและมีใบรับรองแพทย์เท่านั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงของความดันภายในห้องโดยสารอาจมีอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ หากคุณแม่โดยสารเครื่องบินในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ก็ควรจะเลือกบริเวณที่นั่งแถวหน้าหรือบริเวณปีกของเครื่องบินที่จะมีการสั่นน้อยที่สุด และห้ามโดยเด็ดขาดสำหรับการนั่งเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กที่ไม่มีการปรับความดันภายในห้องโดยสาร
    • การเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ใช่ข้อห้ามแต่อย่างใดครับ แต่คุณแม่ควรจัดเตรียมยาไปให้พร้อมด้วยเสมอ หากมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยจะได้ช่วยตัวเองได้ และคุณแม่ควรระวังในเรื่องของอาหารการกินให้มากเป็นพิเศษ เลือกเอาที่แน่ใจว่าสะอาดปลอดภัยและดื่มน้ำสะอาดที่บรรจุขวดจะปลอดภัยที่สุด (อาจมีบางประเทศที่บังคับให้คุณแม่ฉีดวัคซีนก่อน คุณแม่ต้องดูด้วยว่าเป็นวัคซีนประเภทใด เพราะวัคซีนบางชนิดอาจมีผลต่อคุณแม่และลูกน้อยได้)
    • การเดินทางไปท่องเที่ยวของคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่ควรเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ไม่มีลักษณะผจญภัยผาดโผนมากจนเกินไป, ควรเตรียมจองที่พักเอาไว้ให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางเสมอ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา, ในระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่ไม่ควรใช้เวลาในการท่องเที่ยวยาวนานเกินไป ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกเที่ยวใกล้บ้านจะดีที่สุด, เมื่อต้องเดินทางเป็นเวลานานโดยใช้รถไฟหรือเครื่องบิน ถ้าคุณแม่เป็นคนหลับยาก ก็ควรจะจัดเตรียมผ้าปิดตา หมอน หรือเครื่องอุดหูไว้ด้วยเสมอ, ควรพกลูกอมที่มีรสหวานหรือบ๊วยติดกระเป๋าไว้เสมอในขณะเดินทาง เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันอาการน้ำตาลในเลือดต่ำแล้ว ยังช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ด้วย, ช่วงเดินทางคุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ใช่กินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์เพื่อเพิ่มความอร่อยเพียงอย่างเดียว
  5. เพศสัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ โดยไม่มีอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์แต่อย่างใด เพราะในการตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน การหดเกร็งของมดลูกในขณะที่ถึงจุดสุดยอดจะไม่มีอันตรายทั้งต่อแม่และลูกน้อย (แถมยังช่วยให้มดลูกเตรียมพร้อมสำหรับการเจ็บครรภ์ได้ดีขึ้นอีกด้วย) แต่ก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 1 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด เพราะในช่วงนี้คุณแม่จะรู้สึกอึดอัดแน่นท้องมากและเพื่อเป็นการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ในส่วนของท่าร่วมเพศนั้น คุณพ่อและคุณแม่ควรจะมีเพศสัมพันธ์กันในท่าปกติและหลีกเลี่ยงการกดทับน้ำหนักตัวบนหน้าท้องและเต้านมของคุณแม่ เช่น ท่าคุกเข่าและท่าตะแคงที่คุณพ่ออยู่ด้านหลัง ท่านั่งที่คุณแม่นั่งอยู่บนตัก ส่วนท่าที่คุณแม่อยู่ข้างบน จะเหมาะกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ประมาณ 4-6 เดือน เพราะขนาดของหน้าท้องยังไม่ขยายใหญ่มากจนเกินไป (ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หากคุณแม่ยังไม่พร้อมหรือไม่มีอารมณ์ร่วม ส่วนฝ่ายคุณพ่อควรจะกระทำอย่างนุ่มนวลและอ่อนโยน ไม่หักโหมหรือรุนแรงจนเกินไป) แต่ในกรณีดังต่อไปนี้อาจเป็นเหตุให้ต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ คือ ในกรณีที่หมอสั่งห้ามด้วยเหตุผลทางการแพทย์บางประการ, ในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ และเคยมีการแท้งบุตรมาก่อน หรือมีอาการน่าสงสัยว่าจะเกิดการแท้งในครรภ์นี้ เพื่อเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่เกิดการแท้งซ้ำจนกว่าทารกในครรภ์จะเติบโตแข็งแรงเพียงพอแล้ว, คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด, ในกรณีที่สงสัยหรือพบว่ามีภาวะรกเกาะต่ำ, คุณแม่พบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด, ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ และคุณแม่เคยมีประวัติเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด, ห้ามมีเพศสัมพันธ์ในกรณีที่มีน้ำเดินหรือมูกเลือดออกมามาก ซึ่งอาจบ่งบอกว่าคุณแม่กำลังจะคลอดในไม่ช้า การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้จะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายเข้าสู่โพรงมดลูกได้
  6. ห้ามสวนล้างช่องคลอดเพื่อทำความสะอาด แต่ควรจะทำความสะอาดเฉพาะอวัยวะเพศภายนอกเท่านั้น เพราะในช่องคลอดนั้นมีแบคทีเรียซึ่งคอยป้องกันมิให้เชื้ออื่นเข้าไปในช่องคลอด โดยมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ถ้าคุณแม่สวนล้างช่องคลอดอยู่บ่อย ๆ โดยการใช้น้ำยาต่าง ๆ ที่ขายกันอยู่ทั่วไป นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว บางครั้งยังอาจเป็นอันตรายอีกด้วย เพราะผนังช่องคลอดนั้นจะมีเนื้อเยื่อที่ละเอียดอ่อนนุ่ม การใช้น้ำยาต่าง ๆ จึงทำให้เกิดแผลได้ง่าย อีกทั้งน้ำยายังไปทำลายแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ทำให้น้ำในช่องคลอดเปลี่ยนฤทธิ์เป็นด่าง เชื้อโรคอื่น ๆ ที่เข้าก็จะเจริญเติบโตหรือติดต่อเข้าไปได้โดยง่าย
  7. ห้ามลดน้ำหนักและอดอาหาร หากคุณแม่ไม่มีข้อจำกัดทางการแพทย์ว่าต้องจำกัดอาหาร ก็ควรจะรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ และเพียงพอกับความต้องการในแต่ละวันของร่างกาย เพราะจากงานวิจัยพบว่า คุณแม่ที่อดอาหารในขณะตั้งครรภ์ ทารกจะมีอัตราคลอดก่อนกำหนดสูงและสมองพิการ เนื่องจากในอาหาร 5 หมู่มีสารอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุงสมองของทารก เช่น โฟเลตที่ได้จากผักและผลไม้ รวมถึงวิตามินต่าง ๆ ที่ช่วยในการสร้างอวัยวะสำคัญ ส่วนคุณแม่ที่กลัวความอ้วน หลังการคลอดแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก็ช่วยลดน้ำหนักได้บ้างแล้วครับ
  8. ความงามกับหญิงตั้งครรภ์ การเสริมความงามบางอย่าง คุณแม่ก็สามารถทำได้ตามปกติครับ แต่บางอย่างก็ไม่สามารถทำได้
    • การทาเล็บ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องทาครับ เพราะในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่จะมีอาการหลายอย่างเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น อาการตัวซีดที่เป็นอีกหนึ่งอย่างที่คุณหมอจะต้องตรวจดู ซึ่งนอกจากจะตรวจดูจากหน้า ริมฝีปาก ลิ้น มือ เท้า หรืออวัยวะอื่น ๆ ที่สามารถมองเห็นได้แล้ว ก็ต้องตรวจดูจากสีของเล็บด้วยว่าซีดหรือมีเลือดฝาดหรือไม่
    • การทำสีผม ในปัจจุบันยังไม่มีการทดลองในระยะยาวเพื่อยืนยันว่าการทำสีผมในระหว่างการตั้งครรภ์จะมีความปลอดภัยหรือไม่ แต่มีคุณแม่จำนวนหนึ่งที่ทำสีผมในขณะตั้งครรภ์ก็ไม่พบว่ามีความผิดปกติแต่อย่างใด และจากการทดลองกับสัตว์ นักวิจัยได้ใช้สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ย้อมสีผมในปริมาณมากกว่าที่แนะนำให้ใช้ในคนมากถึง 100 เท่า ก็ยังไม่พบความผิดปกติอะไรของพัฒนาการของตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง แต่หากคุณแม่ต้องการจะทำสีผม ควรทำหลังจากผ่านช่วง 3 เดือนแรกไปแล้ว เพราะหนังศีรษะสามารถซึมซับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายและขับออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะได้ แต่เนื่องจากร่างกายสามารถซึมซับสารเคมีเหล่านี้ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่มีอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์แต่อย่างใด แต่ทางที่ดีที่สุดควรจะหลีกเลี่ยงไว้ก่อนจะดีกว่าครับ
    • การสวมแหวน ถ้าคุณแม่ยังใส่แหวนในขณะตั้งครรภ์อยู่ ขอแนะนำให้ถอดเก็บเอาไว้ก่อนครับ เพราะคุณแม่เกือบทุกคนมักมีอาการบวมเกิดขึ้น เมื่อบวมมาก ๆ แหวนที่ใส่อยู่ก็จะถอดออกไม่ได้ ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ไม่สะดวกครับ
    • การสัก ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์คุณแม่ควรงดเว้นเอาไว้ก่อนจะดีกว่าครับ เพราะอาจเกิดการติดเชื้อในระหว่างการสักได้
    • เลเซอร์รักษาผิวพรรณ แม้ว่าการใช้เลเซอร์รักษาผิวจะไม่มีอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ เนื่องจากเป็นเพียงวิธีการรักษาภายนอกเท่านั้น และความรุนแรงของแสงเลเซอร์ก็มีไม่มากพอที่จะทำอันตรายได้ แต่ถ้าคุณแม่ทำเลเซอร์ในช่วงนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะไม่เป็นเหมือนที่คาดหวังไว้ เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์บางคนจะมีผิวคล้ำขึ้นในช่วงตั้งครรภ์เป็นปกติอยู่แล้ว และจะหายไปเองหลังการคลอด ผมจึงแนะนำว่าให้ทำหลังการคลอดแล้วจะดีกว่าครับ
    • เลเซอร์กำจัดขนถาวร การแวกซ์ขนดูจะมีความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์มากกว่าการกำจัดขนด้วยการใช้เลเซอร์ที่อาจมีความเสี่ยง เนื่องจากสารเคมีจากเลเซอร์อาจทะลุผ่านผิวหนังทำให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองได้ แม้ว่าผลกระทบที่เป็นอันตรายอื่น ๆ ยังไม่ถูกค้นพบ แต่เลเซอร์ที่ใช้สำหรับการกำจัดขนก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งต้องห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์ รวมไปถึงคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรด้วย
    • การฉีดโบท็อกซ์ (Botox) ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ระบุว่าการฉีดโบท็อกซ์จะก่อให้เกิดอันตรายกับคุณแม่และลูกในครรภ์ แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ก็แนะนำว่าผู้หญิงตั้งครรภ์หรือผู้หญิงที่กำลังวางแผนจะมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนได้รับการฉีดโบท็อกซ์
    • ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) คุณแม่ไม่ควรใช้ เพราะสารในกลุ่มของ BHA (Beta Hydroxy Acids) คือ กรดซาลิไซลิกที่ถูกออกแบบมาให้สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังและมีคุณสมบัติทำให้ผิวลอกได้ คุณแม่ควรตอบสอบฉลากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวอย่างโทนเนอร์หรือคลีนเซอร์ที่ใช้อยู่ด้วยว่ามีส่วนของกรดซาลิไซลิกหรือ BHA หรือไม่ ถ้ามีควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ส่วนยากินรักษาสิวทุกชนิดก็ห้ามเช่นกันครับ
    • ศัลยกรรมเพิ่มขนาดทรวงอก จากการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่ผ่านการเพิ่มขนาดหน้าอกอาจประสบปัญหามีน้ำนมไม่เพียงพอมากกว่าปกติถึง 3 เท่า ดังนั้นการทำศัลยกรรมในระหว่างการตั้งครรภ์จึงไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับว่าที่คุณแม่มือใหม่ เนื่องจากการใช้ยาชาหรือยาสลบอาจมีผลกระทบหรือทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อลูกน้อยในครรภ์ได้
    • การนวดในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถนวดเพื่อเป็นการผ่อนคลายร่างกายได้ แต่ควรจะรอให้พ้นระยะเวลา 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ไปก่อน หลังจากผ่าน 3 เดือนไปแล้วก็ยังต้องระมัดระวังในเรื่องของวิธีการนวดและตำแหน่งที่ผู้นวดจะนวดด้วย จึงทำให้ร้านสปาส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีการนวดก่อนคลอด เนื่องจากไม่สามารถรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นคุณแม่ควรเลือกร้านสปาที่ผู้ประกอบการมีใบอนุญาตนวดก่อนคลอดเพื่อหลีกเลี่ยงการแท้งบุตร
  9. ปัญหาผิวที่พบในช่วงตั้งครรภ์ เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวพรรณของคุณแม่ที่พบได้บ่อย คือ ผิวคล้ำ โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ ซอกคอ รอบหัวนม ขาหนีบ และมีเส้นสีดำกลางท้อง ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมน คุณแม่อย่าพยายามไปขัดถูนะครับ เพราะขัดถูไปเท่าไรก็คงไม่ออก ต้องรอหลังคลอดเสร็จเท่านั้น ตรงไหนที่เคยมีสีคล้ำ ๆ ก็จะค่อย ๆ จางลงไปเอง, ปัญหาฝ้า นอกจากจะเกิดจากฮอร์โมนแล้ว แสงแดดก็ยังเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดฝ้าได้เช่นกัน คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด ถ้าต้องเดินกลางแดดควรทาครีมกันแดดและกางร่มอยู่เสมอ, ปัญหาสิว เรื่องนี้ก็คงต้องรอหลังคลอดอย่างเดียวครับ อย่างบางคนก่อนตั้งครรภ์ไม่เคยมีสิวเลย พอตั้งครรภ์กลับมีสิวผุดขึ้นมา หรือบางคนที่แต่เดิมเคยเป็นสิวอยู่ก่อน แต่พอตั้งครรภ์แล้วกลับเป็นสิวน้อยลงก็มี ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนเดิมที่ไม่สมดุลกลับมาสมดุลมากขึ้นเมื่อตั้งครรภ์นั่นเอง
  10. ไม่ควรดื่มนมเกินวันละ 2 แก้ว คุณแม่หลาย ๆ คนพยายามดื่มนมเพื่อบำรุงครรภ์มากเกินความจำเป็น แม้ตามหลักโภชนาการแล้วคุณแม่ควรจะดื่มนมบำรุงครรภ์เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่ทารกจะดึงแคลเซียมจากคุณแม่ไปใช้มากขึ้น ทำให้คุณแม่สูญเสียแคลเซียมในร่างกายมากกว่าปกติ แต่การดื่มนมวัววันละ 1 แก้ว หรือนมถั่วเหลืองวันละ 2 แก้วก็เพียงพออย่างมากแล้ว เพราะจากงานวิจัยนั้นพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ดื่มนมมากเกินความจำเป็น จะทำให้ทารกมีความเสี่ยงต่อการแพ้ได้ง่าย เช่น การแพ้โปรตีนในนมวัว
  11. ห้ามผิดนัดฝากครรภ์ คุณแม่บางคนอาจสงสัยว่า เหตุใดคุณหมอต้องนัดตรวจครรภ์หลายครั้ง ในเมื่อสุขภาพของคุณแม่ก็ยังคงปกติดี คุณแม่บางคนไปตรวจเพียงครั้งเดียว พอเห็นว่าตัวเองไม่เป็นอะไรก็เลยไม่ไปอีก หรือบางคนก็ไม่ไปฝากครรภ์เลย มาโรงพยาบาลอีกตอนเจ็บท้องใกล้จะคลอด เพราะมีความเชื่อผิด ๆ ที่คิดว่าถ้าไม่มีอาการผิดปกติก็ไม่ต้องมาฝากครรภ์ก็ได้ แต่เชื่อไหมครับว่าความผิดปกติหลาย ๆ อย่างมักเกิดขึ้นได้เสมอหลังจากตั้งครรภ์ไปแล้วหลายเดือน และบางอย่างคุณแม่ก็ไม่สามารถรับรู้เองได้ หรือบางทีไปให้หมอตรวจเพียง 1-2 ครั้ง หมอก็อาจจะยังวินิจฉัยไม่ได้เช่นกันว่าคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ปลอดภัยดีหรือไม่ ดังนั้นการตรวจครรภ์แต่ละครั้งจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าคุณหมอตรวจพบสิ่งผิดปกติก็จะได้รักษาหรือหาทางแก้ไขได้ทันท่วงที อย่าไปคิดว่าพบหมอแล้วไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้นเลย เพราะการตรวจของคุณหมอจะเป็นการป้องกันปัญหาไว้ก่อนที่จะเกิด แต่สำหรับในกรณีที่ไม่สามารถไปตรวจตามที่นัดได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะติดธุระสำคัญหรือมีเหตุจำเป็นอื่น ๆ ถ้าทำธุระเสร็จแล้วก็ให้รีบไปหาหมอทันที อย่ารอให้เลยวันนัดไปเป็นเดือน ๆ เนื่องจากการตรวจแต่ละครั้งจะเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการตรวจดูความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น

ข้อห้ามคนท้องตามความเชื่อโบราณ

ข้อห้ามตามความเชื่อกับหญิงตั้งครรภ์ อย่างที่ทราบกันว่าความเชื่อที่มีมาแต่โบราณหลาย ๆ เรื่องเป็นกุศโลบายที่ช่วยป้องกันสิ่งไม่ดีไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเราด้วย โดยเฉพาะกับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ก็มีหลายสิ่งที่คนโบราณมักจะเตือนหรือห้ามไม่ให้ทำ เพราะเชื่อว่าจะส่งผลต่อคุณแม่และลูกน้อยได้ ซึ่งความเชื่อที่ว่านั้นมีดังนี้ครับ

  1. ห้ามไปงานศพ ด้วยเชื่อว่าจะทำให้วิญญาณเร่ร่อนตามกลับบ้านมาด้วย แต่น่าจะเป็นกุศโลบายที่ไม่ต้องการให้คุณแม่ไปงานที่มีบรรยากาศโศกเศร้าเสียใจมากกว่า เพราะจะทำให้คุณแม่เกิดอาการเครียดได้
  2. ห้ามด่าหรือสาปแช่งผู้อื่น ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ลูกตัวเองได้รับผลกรรมนั้นแทน แต่ความจริงแล้วที่ห้ามก็เพราะไม่อยากให้คุณแม่มีสุขภาพจิตที่ไม่ดีมากกว่าครับ
  3. ห้ามแหงนหน้ามองพระจันทร์ ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ลูกตาเหล่ แต่ความจริงแล้วน่าจะเป็นกุศโลบายเพื่อป้องกันไม่ให้คุณแม่เกิดอาการหน้ามืดและหกล้ม
  4. ห้ามทำบาป เช่น การฆ่าสัตว์ ตกปลา ฯลฯ เพราะกลัวว่าจะทำให้จิตใจของคุณแม่ไม่สบายและส่งผลทำให้ลูกไม่แข็งแรงได้
  5. ห้ามอาบน้ำตอนดึก ด้วยเชื่อว่าจะทำให้มีน้ำคร่ำเยอะ แต่ความจริงแล้วน่าจะมาจากการกลัวคุณแม่เกิดอันตรายหรือลื่นล้มในห้องน้ำ หรือจากสัตว์ร้ายที่มีพิษที่ชอบแอบอยู่ในห้องน้ำ
  6. ห้ามซื้อของใช้เด็กอ่อน โดยเชื่อว่าถ้าซื้อมาตั้งไว้ที่บ้านก่อนที่เด็กจะคลอด เด็กอาจจะไม่ได้เกิด เพราะมีวิญญาณอิจฉาและจะมาพรากเด็กไปไม่ให้เด็กเกิด แต่ถ้าพูดถึงตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว การซื้อของมาไว้นานเกินไป อาจทำให้มีฝุ่นจับหรือเกิดเชื้อรา ซึ่งอาจมีผลต่อสุขภาพของเด็กแรกเกิดได้
  7. ห้ามเจาะ ทุบ ขุด ตัด เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เพราะเชื่อว่าวิญญาณหรือขวัญของเด็กที่มาเกิดอาจสถิตอยู่ในบ้าน แต่ความจริงแล้วคงไม่อยากให้คุณแม่ได้รับอันตรายมากกว่าครับ
  8. ห้ามกินของเผ็ดร้อน เพราะเชื่อว่าอาหารเผ็ดร้อนจะไปรดหัวเด็ก ทำให้เด็กแสบร้อนตามไปด้วย แต่ความจริงแล้วอาหารรสจัดจะทำให้คุณแม่มีโอกาสเกิดอาการท้องอืดแน่นเฟ้อ
  9. ห้ามกินหัวปลี เพราะเชื่อว่ายางจากหัวปลีจะทำให้คลอดลูกได้ยาก บ้างก็เชื่อว่ารกจะเปลี่ยนรูปร่างไปมีปลายแหลมเหมือนหัวปลี ตอนคลอดรกก็จะไม่ยอมออกมาและจะวกกลับขึ้นไปใหม่ แต่สมัยนี้เราคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าอาหารไม่มีทางเปลี่ยนรูปทรงของทารกได้อย่างแน่นอน
  10. ห้ามกินผักเครือเถา เพราะเชื่อว่าจะทำให้คลอดลูกได้ยาก โดยจะมีวิธีแก้เคล็ดด้วยการเด็ดมือของผักพวกนี้ก่อน แต่จริง ๆ แล้วไม่เกี่ยวกันเลยครับ ถ้าคุณแม่ชอบก็สามารถทานได้ตามปกติ แถมยังช่วยในเรื่องการขับถ่ายป้องกันท้องผูกได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
  11. ห้ามกินหอย คนโบราณกลัวว่าถ้ากินแล้วจะเป็นลางร้ายทำให้เด็กติดแน่นในท้อง คลอดไม่ออก คล้าย ๆ กับหอยที่ติดแน่นอยู่ในเปลือก แต่ความจริงแล้ว ของสดทุกชนิดคุณแม่ก็ไม่ควรกินอยู่แล้วครับ
  12. ห้ามกินเนื้อวัว คนล้านนามีความเชื่อว่าถ้าคนท้องกินเนื้อวัว เนื้อตัวของเด็กที่คลอดออกมาจะเต็มไปด้วยไขมันและล้างออกยาก แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดแค่ว่ามันเป็นอาหารที่ย่อยได้ยาก ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดท้องผูกและริดสีดวงทวาร
  13. ห้ามกินไข่ต่อ ไข่แตน เพราะเชื่อกันว่าถ้าคนท้องกินเข้าไปลูกจะเกิดมาซนจัด ชอบต่อย หรือมีอารมณ์ร้ายเหมือนตัวต่อ
  14. ห้ามกินกล้วยและทุเรียน เพราะเชื่อว่าเด็กที่เกิดมาตัวจะสกปรก มีแป้งเกาะเต็มตัวตอนคลอด เรื่องนี้ถ้าพูดกันตามความจริงก็คงจะไม่อยากให้คุณแม่อ้วนขึ้นเท่านั้นเองครับ
  15. ห้ามกินกล้วยน้ำว้า เชื่อว่าจะทำให้เด็กตัวใหญ่คลอดลำบาก เพราะในสมัยก่อนนั้นจะใช้หมอตำแยทำคลอด ถ้าเด็กตัวใหญ่มากก็ทำให้คลอดได้ยากและเป็นอันตราย ข้อนี้ถ้าพูดกันตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วน่าจะเป็นเพราะกล้วยน้ำว่านั้นมีคุณค่าทางอาหารสูง จึงไม่แปลกที่เด็กจะได้รับการบำรุงจนสมบูรณ์และตัวใหญ่
  16. ห้ามกิน ฯลฯ เช่น กินผลไม้แฝด เช่น กล้วย มะปรางที่มีผลติดกันเป็นพวง ๆ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ได้ลูกแฝด, ห้ามกินผักแว่น เพราะเชื่อว่าจะทำให้คลอดลูกได้ยากเหมือนกับรากที่ยึดติดกับโคลนของผักแว่น, ห้ามกินเห็ดแดง เห็ดชนิดนี้เมื่อนำมาแกงจะมียางลื่นมาก ที่ห้ามกินก็เพราะเชื่อว่าลูกที่เกิดมาจะเป็นโรคเรื้อน, ห้ามกินอาหารที่มีสีดำ เช่น เฉาก๊วย โอเลี้ยง เพราะเชื่อว่าจะทำให้ลูกที่เกิดมามีผิวขาว, ห้ามกินไข่ด้านหรือไข่ที่แม่ไก่ฟักแล้วไม่ออกเป็นตัว เพราะเชื่อว่าเด็กที่เกิดมาจะดื้อด้านเหมือนไข่, ห้ามกินเนื้อสัตว์และไข่ (ถ้าเชื่อและทำตามนั้นลูกที่คลอดออกมาคงตัวเล็กนิดเดียว เพราะขาดโปรตีนซึ่งเป็นอาหารหลักที่ช่วยในการเจริญเติบโต), ห้ามกินไส้ปลา เพราะเชื่อว่าจะทำให้เอ็นหรือเส้นเลือดขอดเหมือนไส้ปลา ฯลฯ ส่วนเหตุผลในแง่วิทยาศาสตร์ที่ห้ามเช่นนั้นผมก็ไม่ทราบจริง ๆ ครับ 🙂
  17. ส่วนความเชื่อในช่วงการคลอดก็มีเช่นกันครับ เช่น การดื่มน้ำมนต์จะช่วยทำให้ไม่เจ็บครรภ์และคลอดได้ง่าย (แล้วแต่ใครจะเชื่อนะครับ เพียงแต่น้ำมนต์ควรจะเป็นน้ำที่สะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้คุณแม่เกิดอาการท้องเสียในภายหลัง), เวลาคลอดต้องเปิดหน้าต่าง ไขตู้ลิ้นชักเปิดให้หมด ห้ามนั่งคาประตูหรือขวางบัน เพื่อเป็นการแก้เคล็ดให้คลอดง่าย
  18. ผ่าคลอดตามค่านิยม มีความเชื่อที่ว่าการผ่าตัดทำคลอดดีกว่าการคลอดเองตามธรรมชาติ เพราะคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ที่เลือกวิธีการผ่าตัดมักจะดูฤกษ์ยามกันมาอย่างดีแล้วว่าถ้าคลอดวันนี้จะเรียนเก่ง มีวาสดี เป็นคนมีอำนาจ มีชื่อเสียงโด่งดัง ฯลฯ แต่ฤกษ์ที่ดีของบางคนนั้นก็ยังไม่ถึงกำหนดคลอดเลยด้วยซ้ำ บ้างก็เป็นฤกษ์ที่ต้องคลอดในช่วงดึก เช่น ตี 2 ตี 3 ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถอำนวยความสะดวกได้ดีพอ ก็อาจทำให้การคลอดเกิดปัญหาขึ้นตามมาได้ หรืออีกกรณีหนึ่งที่คุณแม่บางคนก็มีความกังวลในเรื่องช่องคลอดที่อาจมีความหย่อนยานจากการคลอด แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใดครับ เพราะแพทย์สามารถผ่าตัดแก้ไขดึงกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอดได้ในช่วงหลังการคลอด อีกทั้งการคลอดโดยวิธีการผ่าตัดจะทำก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น เช่น ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ ทารกตัวใหญ่ รกเกาะต่ำ หรือทารกมีการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ในความเป็นจริงแล้วการคลอดโดยการผ่าตัดจะมีอันตรายมากกว่าการคลอดเองตามธรรมชาติ เพราะคุณแม่จะเสี่ยงต่อการดมยาสลบ เสียเลือดมาก อาจเกิดพังผืดในช่องท้อง และเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่สำหรับการคลอดเองคุณแม่จะฟื้นตัวได้เร็ว เสียเลือดน้อย และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)
  2. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)

ภาพประกอบ : Bigstock

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด