30 ยาที่คนท้องห้ามกิน & คนท้องห้ามกินยาอะไรบ้าง ??

การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์

หลังจากที่มีการใช้ยา “ทาลิโดไมด์” (Thalidomide) หรือที่รู้จักกันในชื่อทาลาไม (Thalamid®) ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ท้องชนิดหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน แล้วพบว่ายาชนิดนี้ส่งผลทำให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิด แขนขากุด จึงทำให้วงการแพทย์ตื่นตัวในเรื่องการใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลครับ เพราะในปัจจุบันนี้ไม่มีการผลิตและจำหน่ายยาทาลิโดไมด์นี้แล้ว อีกทั้งยาแก้แพ้ท้องที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันนั้นก็มีความปลอดภัยสูงมากและแพทย์จะไม่ยอมใช้ยาใหม่ ๆ กับหญิงตั้งครรภ์โดยเด็ดขาด จนกว่าจะมีการพิสูจน์อย่างแน่ชัดแล้วว่ามีความปลอดภัยกับหญิงตั้งครรภ์จริง ๆ

โดยทั่วไปแล้วความพิการของลูกอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่ โรคทางพันธุกรรม, โรคบางอย่าง เช่น หัดเยอรมัน, ถูกแสงเอกซเรย์มาก ๆ นาน ๆ และมาจากการใช้ยาบางชนิด ในส่วนของการใช้ยานั้นอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะในระยะที่ตั้งครรภ์ใหม่ ๆ ทารกจะมีการเจริญเติบโตและสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยหลังจากการปฏิสนธิประมาณ 18 วัน หัวใจและระบบประสาทของทารกจะเริ่มเจริญเติบโต สร้างแขนขาและตาหลังการปฏิสนธิ 24 วัน และสร้างอวัยวะเพศหลังจากการปฏิสนธิ 37 วัน ซึ่งในระยะที่กล่าวมานี้ หากมียาหรือสารบางชนิดไปกระทบกระเทือนต่อการแบ่งเซลล์ ก็จะทำให้อวัยวะนั้น ๆ มีความผิดปกติหรือหยุดการเจริญเติบโตได้ ซึ่งจะผิดปกติมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับระยะของการตั้งครรภ์และปริมาณของยาหรือสารที่ได้รับ (สารในที่นี้รวมถึงสารเคมี สุรา นิโคตินจากบุหรี่ และอื่น ๆ ด้วย)

เมื่อคุณแม่ใช้ยาจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ด้วย เพราะยาในกระแสเลือดของคุณแม่จะซึมผ่านรกเข้าสู่กระแสเลือดของทารกในครรภ์ เช่นเดียวกับน้ำ สารอาหาร และออกซิเจนที่ทารกได้รับทางสายสะดือ ดังนั้น ยาจึงส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้โดยขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ อายุของทารกในครรภ์ และชนิด/ขนาดของยาที่คุณแม่รับประทาน ยาบางชนิดนอกจากจะมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ในระยะ 3-4 เดือนแรกแล้ว ยังอาจมีผลต่อทารกในระยะใกล้คลอด หรือมีผลต่อการแข็งตัวของเลือดในระหว่างการคลอดได้ด้วย โดยยาที่คุณแม่ได้รับจะส่งผลต่อทารกในช่วงต่าง ๆ ของการตั้งครรภ์แตกต่างกันไป คือ

  • ระยะปฏิสนธิ ส่งผลให้ไม่ปฏิสนธิหรือแท้งบุตร
  • ระยะ 1-2 สัปดาห์แรก (ระยะเอ็มบริโอก่อนฝังตัว) ส่งผลให้เซลล์ลดลงและทำให้แท้งบุตร
  • ระยะ 2-8 สัปดาห์ (ระยะสร้างอวัยวะต่าง ๆ) ส่งผลให้ทารกพิการแต่กำเนิด, เกิดมะเร็งในภายหลัง, ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
  • ระยะ 3-9 เดือน ส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย, การเจริญเติบโตของศีรษะและระบบประสาทผิดปกติ, อวัยวะเพศภายนอกมีความผิดปกติ

องค์การอาหารและยาได้แบ่งระดับของยาเป็น A, B, C, D และ X เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยากับกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ ไว้ดังนี้

  • ระดับ A จากการศึกษาในคนพบว่าไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • ระดับ B จากการศึกษาในสัตว์ทดลองไม่พบว่ามีอันตรายต่อลูกสัตว์ในครรภ์ แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาในคน หรือมีข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ามีผลกระทบต่อลูกในครรภ์ของสัตว์ แต่จากการศึกษาในคนพบว่าไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด
  • ระดับ C จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ามีผลกระทบต่อลูกสัตว์ในครรภ์ แต่ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาในคน หรือยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทั้งในคนและในสัตว์ทดลอง
  • ระดับ D จากการศึกษาในคนพบว่ามีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ แต่มีประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยา จึงยังเป็นที่ยอมรับได้อยู่
  • ระดับ X จากการศึกษาในคนพบว่ามีอันตรายต่อทารกในครรภ์

การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์

ยาที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์

ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า ยาบางชนิดอาจมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่จึงไม่ควรซื้อยาใด ๆ มากินเองโดยเด็ดขาด แม้จะเป็นยาสามัญประจำบ้านก็ตาม เพราะยาทุกชนิดรวมถึงยาสามัญประจำบ้านหลายชนิดก็อาจทำให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ คุณแม่จึงควรใช้ยาเท่าที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง ถ้ามีปัญหาการเจ็บป่วยควรรีบไปพบแพทย์จะดีที่สุด คราวนี้เรามาดูกันดีกว่าครับว่ามียาอะไรบ้างที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หรือมีผลต่อการคลอดและหลังการคลอด โดยจะขอยกตัวอย่างยาที่เป็นอันตรายแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ดังต่อไปนี้ครับ

  1. ยาปฏิชีวนะและยาแก้อักเสบ เช่น เตตร้าไซคลิน (Tetracycline) เป็นยาปฏิชีวนะและรักษาสิว จะส่งผลต่อการสร้างกระดูกและฟันของลูก ถ้าใช้ในหญิงตั้งครรภ์ระหว่าง 6-8 เดือน หลังจากใช้ยานี้จะมีผลไปจับแคลเซียมที่กระดูกและฟันของเด็กทารก ทำให้เด็กมีกระดูกและฟันไม่สมบูรณ์ ฟันเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลไปตลอดชีวิต และยังทำให้การเจริญของกระดูกและสมองผิดปกติไปด้วย นอกจากนี้ถ้าใช้ในปริมาณที่สูงมาก จะเกิดการทำลายตับของคุณแม่อย่างรุนแรงและคุณแม่อาจเสียชีวิตได้, สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) เป็นยาที่อาจทำให้ลูกหูตึงหรือหูหนวกได้, คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) เป็นยาที่จะกดการทำงานของไขกระดูกที่สร้างเม็ดเลือด ทำให้เม็ดเลือดจาง เด็กที่เกิดมามักจะตัวเขียว ซีด ท้องป่อง อาจจะช็อกและเสียชีวิตได้, คลอโรควิน (Chloroquin) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรียหรือไข้จับสั่น ซึ่งตัวยาอาจทำให้คุณแม่แท้งบุตรได้, ควินิน (Quinine) อาจทำให้เกิดการแท้งบุตร มีพิษต่อหู และหูอาจหนวกในเด็กแรกคลอด, เพนิซิลลิน (Penicillins) และแอมพิซิลลิน (Ampicillin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ค่อนข้างมีความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นผู้ที่มีอาการแพ้ยาในกลุ่มนี้เท่านั้น เนื่องจากมีการแพ้ยาชนิดนี้สูงเป็นอันดับหนึ่ง จึงควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติแพ้ยาในกลุ่มนี้ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งในบางคนอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต, ยาแก้อักเสบ เป็นยาที่คุณแม่มักหาซื้อมารับประทานเองบ่อยมาก บางทีมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยหรือเป็นหวัดก็ซื้อมาใช้กันแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทราบเลยว่าที่จริงแล้วมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะไข้หวัดส่วนใหญ่นั้นจะเกิดจากเชื้อไวรัสที่ยาแก้อักเสบใช้ไม่ได้ผล การกินยาแก้อักเสบบ่อย ๆ นอกจากจะเสียเงินแล้วยังอาจทำให้ดื้อยาอีกด้วย ส่วนสุภาพสตรีไม่ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม ถ้าใช้ยานี้บ่อย ๆ จะทำให้ช่องคลอดเกิดการอักเสบจากเชื้อรา โดยจะมีอาการตกขาวและคันช่องคลอด, ไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) มีผลทำให้ตับของแม่อักเสบ คุณแม่มีอาการซีด มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และนอนไม่หลับ, ยาปฏิชีวนะในกลุ่มอะมิโนไกลโคโซด์ (Aminoglycoside) เช่น สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin), กานามัยซิน (Kanamycin), เจนตามัยซิน (Gentamicin), ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) เป็นยาที่ทำให้ประสาทเกี่ยวกับการได้ยินเสียไปบางส่วนหรืออาจรุนแรงถึงขนาดทำให้เด็กแรกเกิดหูหนวกได้ ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ใช้ยาเหล่านี้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด อาจทำให้ทารกคลอดออกมาแล้วตัวเหลืองได้
  2. ยาแก้ปวด ลดไข้ เช่น แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ถ้าคุณแม่กินในช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงการแท้งบุตรได้ถึง 5-6 เท่า อาจส่งผลรบกวนการแข็งตัวของเลือดและเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ ถ้ากินยามใกล้คลอดอาจจะไปยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดของทารกในครรภ์ ทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้ นอกจากนี้ยาแอสไพริน (รวมถึงยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) ยังมีผลทำให้คุณแม่คลอดเกินกำหนดและคลอดยากขึ้นอีกด้วย, เออร์โกตามีน (Ergotamine) มีคุณแม่หลายคนที่ก่อนตั้งครรภ์มักมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวหรือไมเกรน แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วคุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดศีรษะในกลุ่มเออร์โกตามีน เพราะยาในกลุ่มนี้จะทำให้มดลูกบีบตัว อาจทำให้แท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้, ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ถ้าคุณแม่รับประทานเข้าไปในช่วงเริ่มตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรเป็น 5-6 เท่า และหากใช้ติดต่อกันนาน ๆ เกิน 1 สัปดาห์ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 เท่า, นาโพรเซน (Naproxen) เป็นยาเม็ดบรรเทาปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ มีผลทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดเหมือนแอสไพริน จึงไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์
  3. ยาแก้คัน แก้แพ้ เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) นอกจากแก้คัน แก้แพ้แล้ว ยังช่วยลดน้ำมูก ถ้าใช้เพียงชั่วคราวอาจจะไม่ส่งผลต่อคุณแม่มากนัก แต่ถ้าใช้ติดต่อกันไปนาน ๆ จะทำให้มีเกล็ดเลือดต่ำ ลูกที่เกิดมาอาจมีอาการเลือดไหลผิดปกติ และยาแก้แพ้บางชนิดก็อาจทำให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ด้วย
  4. ยาแก้ไข้หวัด มักจะประกอบด้วย ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอลและยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูก โดยทั่วไปก็ไม่มีอันตรายอะไรมากครับ เพียงแต่ถ้าต้องใช้เป็นเวลานาน ๆ ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เป็นดีที่สุด คุณแม่จึงไม่ควรซื้อยาชุดแก้หวัดที่มีขายตามร้านขายยา เพราะบางทีอาจมียาแก้อักเสบบางอย่างและสเตียรอยด์ปนมาด้วย
  5. ยาแก้ไอ ถ้าเป็นยาแก้ไอชนิดที่มีไอโอดีน คุณแม่ไม่ควรใช้เลย เพราะอาจทำให้ทารกเกิดอาการคอพอกและมีอาการผิดปกติทางสมองได้
  6. ยานอนหลับและยากล่อมประสาท ถ้าเป็นยาตามที่แพทย์สั่งก็คงไม่เป็นอะไร แต่คุณแม่ไม่ควรซื้อยาประเภทนี้มาใช้เองเมื่อนอนไม่หลับ เพราะถ้าใช้ยาในปริมาณมาก ๆ จนเกิดการติดยา ลูกที่เกิดมาอาจมีอาการหายใจไม่ปกติ เคลื่อนไหวได้ช้า มีอาการคล้ายคนติดยา และชักกระตุกได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติในตัวเด็กอีกด้วย ส่วนยานอนหลับชนิดเมโปรบาเมท (Meprobamate) จะมีผลทำให้เด็กเจริญเติบโตช้า ถ้าให้ในระยะใกล้คลอดจะกดการหายใจของเด็กแรกเกิด (ส่วนนี้ไม่ยืนยัน), ส่วนไดอะซีแพม (Diazepam) ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด เด็กแรกเกิดจะมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตัวเย็น และอาจแสดงถึงอาการขาดยาหลังคลอดได้
  7. ยารักษาเบาหวาน ถ้าเป็นยาฉีดแบบอินซูลินก็ใช้ได้ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นแบบชนิดรับประทานอาจจะส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดของทารกต่ำ และเคยมีรายงานว่า ยากลุ่มนี้ทำให้ทารกพิการ คุณแม่ที่เป็นเบาหวานแพทย์จะเปลี่ยนจากยาเม็ดรับประทานเป็นยาฉีดอินซูลินแทน นอกจากจะไม่เป็นอันตรายแล้วยังช่วยควบคุมเบาหวานได้ดีกว่าด้วย ส่วนยารักษาเบาหวานชนิดคลอร์โปรปาไมด์ (Chlorpropamide) จะมีผลทำให้เด็กแรกเกิดมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
  8. ยารักษาโรคความดันโลหิต เช่น รีเซอร์พีน (Reserpine) ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด จะทำให้เด็กแรกเกิดมีอาการคัดจมูก ตัวเย็น ตัวอ่อนปวกเปียก และหัวใจเต้นช้า
  9. ยารักษามะเร็ง เป็นยาที่อาจเป็นพิษต่อทารกได้ ทำให้เกิดปากแหว่ง เพดานโหว่ และผิดรูปผิดร่างได้
  10. ยาขยายหลอดลม เช่น อะมิโนฟิลลีน (Aminophylline), ทีโอฟิลลีน (Theophylline) อาจทำให้เด็กแรกเกิดมีภาวะหัวใจเต้นเร็ว ร้องกวน ตัวสั่น และอาเจียนได้ โดยอาการมักจะปรากฏในช่วง 6-48 ชั่วโมง หลังการคลอด
  11. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น เฟนินไดโอน (Phenindione), อินดานิดิโอน (Indanidione) และคูมาริน (Coumarin) ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ เพราะอาจทำให้ลูกเกิดความพิการ เช่น การเจริญของจมูกน้อยลง นอกจากนี้ยังอาจทำให้เด็กในครรภ์หรือเด็กแรกคลอดมีเลือดออกในระหว่างการคลอดได้อีกด้วย
  12. ยาแก้อาเจียนหรือยาแก้แพ้ท้อง ยาประเภทนี้ควรให้คุณหมอเป็นผู้สั่งยา คุณแม่ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง เพราะยาแก้อาเจียนบางชนิดอาจทำให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ ซึ่งยาแก้แพ้ท้องที่ใช้กันปลอดภัยที่สูติแพทย์มักจะจ่ายให้คุณแม่รับประทานจะประกอบไปด้วย ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) และวิตามินบี 6 (Vitamin B6) เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งในและต่างประเทศยังไม่พบว่ายานี้ก่อให้เกิดความพิการต่อทารกแต่อย่างใด
  13. ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร (Antacids) ในยาลดกรดชนิดที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) มาก ถ้าคุณแม่ใช้ยานี้ในขนาดสูง ๆ ติดต่อกันเป็นประจำ อาจทำให้คุณแม่เกิดอาการท้องเสีย และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ด้วย ทำให้เด็กแรกเกิดมีปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมในเลือดสูงจนเกิดอาการชักกระตุก
  14. ยาถ่ายพยาธิปิเปอร์ราซีน (Piperazine) และยาต้านสารฮีสตามีนไซคลิซีน (Cyclizine) แม้ว่ายังไม่มีรายงานในคน แต่ก็พบว่าทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดในหนูทดลอง เพราะฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ในหญิงตั้งครรภ์
  15. ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เช่น ฟูโรซีไมด์ (Furosemide) มีชื่อทางการค้าว่า ลาซิกซ์ (Lasix) ที่ใช้ขับน้ำส่วนเกินจากร่างกาย มีผลทำให้เลือดของทารกผิดปกติ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก (ในสัตว์ทดลองพบว่าทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะเส้นเลือดและหัวใจ), ยาไธอาไซด์ (Thiazide diuretics) อาจมีผลทำให้เด็กแรกเกิดมีเกล็ดเลือดน้อยลง
  16. ยารักษาต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เช่น โพพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil) อาจส่งผลทำให้เกิดคอพอกเป็นพิษได้
  17. ยารักษาสิว หรือยาในกลุ่มกรดวิตามินเอชนิดรับประทาน ที่มีชื่อสามัญทางยาว่า ไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) หรือ เรติโนอิกแอซิด (Retinoic acid) และมีชื่อทางการค้าว่า แอคโนทิน (Acnotin®), โรคแอคคิวเทน (Roaccutane®), ไอโซเทน (Isotane®) เป็นยากินที่ใช้รักษาสิวหัวช้างและสิวชนิดรุนแรง เป็นยาที่มีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิด และแม้ว่าทารกที่คลอดออกมาจะดูปกติก็ตาม แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะพบความบกพร่องทางสมองได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่กินยาชนิดนี้อยู่จะต้องคุมกำเนิดก่อนรับประทานยาอย่างน้อย 3 เดือน และต้องหยุดยาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน ถึง 1 ปี ก่อนจึงจะตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย ส่วนในหญิงให้นมบุตรก็ไม่ควรรับประทานยาชนิดนี้เช่นกัน
  18. ยาฮอร์โมนเพศ เป็นยาที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศและการสืบพันธุ์ของทารกให้ผิดปกติ ส่วนยาฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ไดเอธิลสติลเบสตรอล (Diethylstilbestrol) หากแม่ได้รับยานี้เพื่อป้องกันการแท้งในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ลูกที่เป็นผู้หญิงเมื่อโตขึ้นจนอายุ 13-24 ปี จะมีโอกาสเป็นเนื้องอก และมะเร็งปากมดลูกและช่องคลอดเพิ่มมากขึ้น
  19. ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด อาจพบความพิการของหลอดเลือดใหญ่และแขนขากุดในทารกได้มากกว่าปกติเล็กน้อย
  20. ยากันชัก เช่น เฟนิโทอิน (Phenytoin), คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine), ไดแลนติน (Dilantin), ไฮแดนโทอิน (Hydantoin) เป็นยาที่อาจทำให้เกิดความพิการแก่ทารกในครรภ์ ทารกจะเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจช้ากว่าปกติ มีความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า เช่น ตาห่าง จมูกแบน หนังตาตก รวมทั้งแขน ขา โดยเฉพาะเล็บและปลายนิ้วฝ่อ ส่งผลผิดปกติต่อหัวใจ และปัญญาอ่อนได้ ซึ่ง 30% ของแม่ที่กินยาเหล่านี้ ลูกจะมีอาการดังกล่าว ส่วนยากันชักชนิดฟีโนบาร์บิทาล (Phenobarbital) และบาร์บิทูเรต (Barbiturate) ถ้าคุณแม่กินยานี้ในขนาดสูงในระยะใกล้คลอดมักจะทำให้เด็กในครรภ์หายใจได้ไม่สะดวก เพราะยานี้มีผลไปกดศูนย์การหายใจ นอกจากนี้ยังมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด และอาจทำให้เลือดออกในเด็กแรกเกิด
  21. ยาชาเฉพาะที่ (Local anesthetics) การใช้ยาชาพวกนี้มากเกินไป พบว่า 25% ของเด็กแรกคลอดจะมีหัวใจเต้นช้าลง และอาจมีผลทำให้เด็กในครรภ์เกิดหัวใจเต้นช้า หรือเด็กแรกคลอดหยุดหายใจหรือมีอาการชัก
  22. ยาสเตียรอยด์ทุกชนิด (Steroid) เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone), เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone), กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) ทำให้โอกาสการแท้งบุตรเพิ่มมากขึ้น การเจริญเติบโตที่ไม่ดีของทารกในขณะที่ในครรภ์ หรือเด็กในครรภ์มีความพิการแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ และยาสเตียรอยด์บางชนิดยังมีผลทำให้ทารกเพศหญิงมีลักษณะของเพศชายอีกด้วย
  23. วัคซีนที่ทำจากเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิต (Lived Virus Vaccine) แต่อ่อนแรง เช่น วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ คางทูม หัด และหัดเยอรมัน แม้จะพบว่ามีอันตรายต่อลูกน้อย หญิงที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์จะต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนเหล่านี้ โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันและวัคซีนบางอย่างที่อาจทำให้มีโอกาสแท้งสูงขึ้น หรืออาจทำให้เด็กเกิดอาการ Congenital Rubella Syndrome คือ มีลิ้นหัวใจรั่ว ตาบอด หูหนวก
  24. ยาแอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium Chloride) เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะเกลือคลอไรด์ในร่างกายต่ำ รักษาภาวะร่างกายเป็นด่างผิดปกติ ช่วยละลายเสมหะและเป็นยาแก้ไอ ถ้าคุณแม่ใช้ในปริมาณมากและใช้ในระยะใกล้คลอด เด็กแรกเกิดจะมีภาวะในร่างกายเป็นกรด
  25. ยาบรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) เป็นยาน้ำที่ใช้รักษาอาการคัดจมูก บรรเทาหวัด ฯลฯ ถ้าคุณแม่กินยานี้ในระยะ 3 เดือนแรก อาจทำให้เด็กในครรภ์พิการได้
  26. ยาคลอโรควิน (Chloroquine) มีข้อบ่งใช้ในหลาย ๆ โรค ทำให้แท้งบุตรบ่อยขึ้น มีผลต่อสมองและประสาทหูของทารกในครรภ์
  27. ไอโอดีน (Radioactive I131) ถ้าให้หญิงมีครรภ์ใช้เกิน 14 สัปดาห์ สารนี้จะไปสะสมอยู่ในต่อมไทรอยด์ของลูก ทำให้เกิดภาวะขาดสารไทรอยด์
  28. ไอโอไดด์ (Iodides) ซึ่งมักผสมอยู่ในพวกยาแก้ไอ ขับเสมหะ หากใช้หลังตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ อาจเกิดคอพอก มีการเจริญเติบโตของสมองทารกช้า และบางครั้งคอพอกอาจใหญ่มากจนกดหลอดลมหรือหลอดอาหารได้
  29. วิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินเอและวิตามินบี ถ้าใช้ในปริมาณมากจะเกิดความพิการของไต ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ระบบประสาทแต่กำเนิดได้ จึงไม่ควรได้รับมากกว่าจำนวนที่แพทย์สั่ง, วิตามินซี ถ้าได้รับมากเกินไป อาจทำให้เด็กในครรภ์คลอดออกมาเป็นโรคเลือดออกตามไรฟันได้ ในบางรายอาจทำให้เด็กในครรภ์มีโอกาสพิการตั้งแต่กำเนิด, วิตามินดี ถ้าคุณแม่ได้รับมากเกินไป จะทำให้เกิดความผิดปกติในระบบหลอดเลือดของทารก และอาจทำให้ทารกปัญญาอ่อนได้, วิตามินเค โดยเฉพาะวิตามินเค 3 เช่น มานาดีน (Manadine) ถ้าให้ก่อนคลอดจะเกิดเลือดออกในเด็กแรกคลอดได้ ทำให้เด็กเกิดอาการซีดและเหลืองมาก
  30. สารเสพติดและสารพิษอื่น ๆ เช่น ยาบ้าหรือแอมเฟตามีน (Amphetamine) ซึ่งเป็นยากระตุ้นประสาท มีผลข้างเคียงทำให้ทารกในครรภ์มีโอกาสพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด, ยาแอลเอสดี (Lysergic acid diethylamide – LSD) เป็นสารเสพติดที่สกัดจากเชื้อราที่อยู่บนข้าวไรย์ มีฤทธิ์กล่อมประสาท ส่งผลทำให้เกิดการแท้งบุตรได้, เฮโรอีน มอร์ฟีน แม่ที่ติดยาชนิดนี้จะมีโอกาสแท้งบุตรได้ง่าย ลูกออกมาตัวเล็กและมีอาจมีอาการขาดยา คือ กระวนกระวาย อาเจียน มือเท้าสั่น ชัก ร้องเสียงแหลม, สารนิโคติน (Nicotine) ในบุหรี่ การที่คุณแม่ได้รับสารนิโคตินจากยาสูบ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะทำให้เด็กมีอาการสมาธิสั้น อีกทั้งการสูบบุหรี่มากยังทำให้คุณแม่มีโอกาสแท้งและคลอดกำหนดมากขึ้น ลูกที่ออกมามักตัวเล็ก น้ำหนักน้อย หัวใจเต้นเร็วกว่าเด็กปกติ บางครั้งอาจทำให้เกิดความพิการที่รุนแรงได้, การดื่มแอลกอฮอล์หรือแม่ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง จะทำให้เกิดการแท้งบุตรได้มาก เด็กในครรภ์อาจมีความพิการของศีรษะ หน้า แขน ขา หัวใจ มีการเจริญเติบโตในครรภ์ช้าผิดปกติ อาจทำให้เป็นเด็กปัญญาอ่อน และเด็กมีโอกาสเสียชีวิตในระหว่างการคลอดเพิ่มขึ้น, กาเฟอีน (Caffeine) ในชา กาแฟ น้ำอัดลม แม้ยังไม่มีข้อกำหนดอย่างบ่งชัด แต่มีข้อแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือยาที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เนื่องจากคุณแม่ที่ได้รับกาเฟอีนในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ และคลอดลูกก่อนกำหนดได้, สารปรอท ที่ได้รับจากอาหาร อาจทำให้เกิดการแท้งบุตร ลูกเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอดเพิ่มมากขึ้น หรือเกิดมามีความพิการทางสมองหรือโรคทางสมองอื่น ๆ

หมายเหตุ : สำหรับคุณแม่ที่รับประทานยาสตรีขับเลือดโดยไม่ทราบว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น หากไม่ได้รับประทานในปริมาณมาก ก็อาจจะไม่มีผลอะไรกับลูกในครรภ์ครับ

ยาที่ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์

ส่วนใหญ่แล้วยาที่ใช้ได้กับหญิงตั้งครรภ์จะเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มักมีอยู่ในตู้ยาประจำบ้าน ซึ่งถ้าเกิดการเจ็บป่วยไม่รุนแรงก็สามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้นได้ ซึ่งยาที่มีการใช้บำบัดอาการเจ็บป่วยไม่สบายของหญิงตั้งครรภ์ที่มีการใช้อยู่บ้างตามอาการของโรคที่พบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้

  1. ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรืออะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เป็นยาแก้ปวดและยาลดไข้ที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ เพราะยังไม่มีรายงานว่าทำให้ลูกเกิดความพิการหรือผิดปกติแต่อย่างใด แต่ถ้าใช้มากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อตับและไต ในผู้ใหญ่ให้ใช้ได้ในขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดหรือมีไข้
  2. ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) เป็นยาลดน้ำมูก แก้แพ้ แก้คัน ผู้ใหญ่ให้ใช้ในขนาดเม็ดละ 4 มิลลิกรัม ครั้งละ 1/2-1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็น เมื่อใช้ยานี้อาจทำให้คุณแม่ง่วงซึม จึงเหมาะสำหรับกินตอนก่อนนอน ถ้าจำเป็นต้องใช้ในเวลาทำงานก็ควรระวังเรื่องการง่วงนอน เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะงานที่ทำอยู่กับเครื่องจักรหรือต้องขับขี่ยานพาหนะ แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วว่ายานี้ถ้าใช้เพียงชั่วคราวก็อาจจะไม่ส่งผลต่อคุณแม่มากนัก แต่ถ้าใช้ติดต่อกันไปนาน ๆ จะทำให้มีเกล็ดเลือดต่ำ ลูกที่เกิดมาอาจมีอาการเลือดไหลผิดปกติได้
  3. ยาเพนิซิลลิน (Penicillins) และแอมพิซิลลิน (Ampicillin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ค่อนข้างมีความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นผู้ที่มีอาการแพ้ยาเท่านั้น
  4. ผงเกลือแร่ เป็นอีกหนึ่งยาสามัญที่สามารถใช้เพื่อทดแทนการสูญเสียเกลือแร่ ในกรณีที่คุณแม่ท้องเสีย ท้องเดิน หรืออุจจาระร่วง แต่ยาชนิดนี้ไม่ได้ส่งผลต่อสาเหตุโดยตรงของโรคท้องเสีย โดยเฉพาะท้องเสียชนิดที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย (มักถ่ายบ่อย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีไข้ ตัวร้อน และมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย) ซึ่งถ้ามีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคท้องเสียชนิดติดเชื้อแบคทีเรียหรือรุนแรง ถ้าคุณแม่ได้น้ำเกลือแร่แล้วยังไม่มีอาการดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม การใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลกับทารกในครรภ์ได้ ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิด ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ หรือเป็นการใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร ถ้าคุณแม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาด้วยตัวเอง ก็ควรอ่านเอกสารกำกับยาให้ชัดเจนก่อน เพราะมียาหลายชนิดที่ระบุว่า “หญิงมีครรภ์ห้ามใช้” หากคุณแม่มีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา ก็สามารถปรึกษาเภสัชกรใกล้บ้านเพื่อขอรับคำแนะนำในเบื้องต้นได้

การดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์โดยไม่ใช้ยา

หากมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย คุณแม่สามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยา ดังนี้

  • ปวดศีรษะ : ให้คุณแม่ใช้ถุงน้ำแข็งประคบบริเวณท้ายทอยประมาณ 15-20 นาที แล้วหลับตาพักนิ่ง ๆ
  • ปวดหลัง : ให้คุณแม่อาบน้ำอุ่นจัด ใช้ความร้อนประคบบริเวณที่ปวดวันละ 3-4 ครั้ง นาน 20 นาที
  • เป็นไข้ : ให้คุณแม่อาบน้ำอุ่นและเช็ดตัว ด้วยการใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นบิดหมาด ๆ แล้วเช็ดตามใบหน้าและข้อพับ
  • เป็นหวัด : ให้ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ จากวันละ 6-8 แก้ว เพิ่มเป็นวันละ 8-10 แก้ว
  • เจ็บคอ : ให้กลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ ประมาณ 5 นาที ทุก ๆ 2 ชั่วโมง
  • ท้องเสีย : ควรดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำขิงแก่ ๆ
  • มีอาการคัน : ให้ใช้ครีมหรือโลชั่นทาหลังอาบน้ำและทาระหว่างวันด้วย เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ซึ่งอาจช่วยลดอาการคันลงได้บ้าง

บอกแพทย์ด้วยว่ากำลังตั้งครรภ์

ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ และเกิดเจ็บป่วยอย่างกะทันหัน แต่การจะพบแพทย์ที่ฝากครรภ์ไว้ก็ไม่ทันเสียแล้ว คุณแม่อาจจะไปพบแพทย์ที่อยู่ใกล้ไว้ก่อน ในกรณีนี้คุณแม่จะต้องบอกแพทย์ด้วยว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่และควรบอกด้วยว่าคุณแม่มีอายุครรภ์เท่าไร เพราะถ้าตั้งครรภ์อ่อน ๆ แพทย์อาจไม่สามารถสังเกตหรือรู้ได้หากคุณแม่ไม่บอกเอง เมื่อแพทย์รู้ว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์จะได้ระมัดระวังในการให้ยาที่จะไม่มีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ และที่สำคัญอย่าลืมถามชื่อยาด้วยทุกครั้งนะครับ

ยาบำรุงครรภ์คุณแม่ทานได้

คุณแม่บางคนกลัวว่าการรับประทานยาบำรุงครรภ์นั้นจะทำให้ตัวเองอ้วน บ้างก็กลัวว่าทารกในครรภ์จะอ้วนเกินไป ทำให้คลอดลูกได้ลำบาก ก็เลยไม่ยอมกินยาบำรุงตามที่หมอสั่ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างมากเลยครับ เพราะยาบำรุงครรภ์ที่หมอจ่ายมานั้นจะประกอบด้วยวิตามินรวมหรือวิตามินบีรวม ธาตุเหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน รวมทั้งแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อทานเข้าไปแล้วอาจทำให้เรอออกมามีกลิ่นบ้าง และทำให้อุจจาระออกมาเป็นสีดำ แต่ก็ไม่ต้องตกใจครับ เพราะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด

อีกทั้งยาบำรุงเหล่านี้ก็ไม่ทำให้คุณแม่อ้วนขึ้นด้วย (ขึ้นอยู่กับอาหารที่รับประทานเข้าไปมากกว่า) แต่จะทำให้ร่างกายของคุณแม่แข็งแรงมีความทนทานต่อการคลอดลูก ร่างกายจะเตรียมเลือดไว้ให้เพียงพอเผื่อตกเลือด ดังนั้น ถ้าต้องการให้คุณแม่และลูกในครรภ์แข็งแรง คลอดลูกได้ง่าย คุณแม่ก็ควรจะกินยาบำรุงที่หมอให้มาอย่างสม่ำเสมอนะครับ

สรุปแล้วการใช้ยาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่โปรดระลึกไว้เสมอว่า ไม่ควรจะซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด พยายามใช้ยาให้น้อยที่สุด รับประทานเฉพาะเท่าที่หมอสั่ง ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็ให้ถือคติที่ว่า “ต้องใช้ยาอย่างระมัดระวังเพื่อสุขภาพของตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์” นอกจากนี้ในระหว่างให้นมบุตรคุณแม่ก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของการใช้ยาด้วยเช่นกัน เพราะยาหลายชนิดจะถูกขับออกมาทางน้ำนมได้ ทำให้ทารกได้รับยานั้นไปด้วยทางน้ำนมของคุณแม่

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “อาหารการกินสำหรับคุณแม่”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ).  หน้า 127-134.
  2. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  “ยากับลูกในครรภ์”.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์).  หน้า 104-105.
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 317 คอลัมน์ : ล้านคำถามเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกร.  “การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์”.  (ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [23 พ.ย. 2015].
  4. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.  “ยาที่ทำให้ทารกในครรภ์พิการ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.fda.moph.go.th.  [23 พ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.mamashealth.com, www.cbsnews.com, www.invitra.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด