การแท้งลูก : สาเหตุการแท้ง & อาการแท้งบุตร & การรักษา ฯลฯ

การแท้งบุตร

การแท้งบุตร หรือ การแท้งลูก (Miscarriage) หมายถึง การสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ซึ่งตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ถูกขับออกมาก่อนตั้งครรภ์ได้ 28 สัปดาห์* ถือเป็นภาวะผิดปกติอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้ประมาณ 10-15% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด โดยการแท้งนั้นอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ได้ 2-3 สัปดาห์ไปจนถึง 28 สัปดาห์ แต่การแท้งมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่คุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 4-20 สัปดาห์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 13 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์)

ในประเทศไทยจะใช้เกณฑ์การตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์เป็นเกณฑ์การแท้ง ส่วนองค์การอนามัยโลกจะใช้เกณฑ์น้อยกว่า 22 สัปดาห์ และสำหรับในยุโรปหรือในสหรัฐอเมริกาจะใช้เกณฑ์การแท้งเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 สัปดาห์ ส่วนการที่เกณฑ์อายุครรภ์วินิจฉัยการแท้งต่างกันนั้น เป็นเพราะว่าความสามารถในการเลี้ยงทารกให้มีชีวิตรอดมีความแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโรงพยาบาลที่มีแพทย์และมีอุปกรณ์ในการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดอย่างสมบูรณ์ก็สามารถเลี้ยงดูทารกที่คลอดได้ตั้งแต่อายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ โรงพยาบาลบางแห่งจึงใช้เกณฑ์อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ถือเป็นการแท้ง และหากคลอดเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ จะถือเป็นการคลอดก่อนกำหนด ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอีกแบบหนึ่ง

การแท้งบุตรเองโดยธรรมชาติ ในภาษาอังกฤษมักจะใช้คำว่า “Miscarriage” ส่วนคำว่า “Abortion” ที่เห็นใช้กันอยู่บ่อยนั้น ๆ ในความหมายที่แท้จริงแล้วจะหมายถึง “การที่ต้องชักนำให้เกิดการแท้งหรือสื่อถึงนัยของการทำแท้งที่ผิดกฎหมาย” แต่ในประเทศไทยนั้นจะใช้ทั้ง 2 คำนี้ในการสื่อถึงการแท้งเองตามธรรมชาติ ส่วนการทำแท้งที่ผิดกฎหมายนั้นจะใช้คำว่า “Il-legal abortion” ครับ

สาเหตุของการแท้ง

คุณแม่หลายคนมักตั้งคำถามว่า “ทำไมจึงเกิดการแท้งบุตรได้ ทั้ง ๆ ที่อยากมีลูกและพยายามระมัดระวังทุกอย่างแล้ว ?” ซึ่งสาเหตุของการแท้งบุตรนั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายสาเหตุ ดังนี้

  1. การแท้งบุตรที่เกิดจากทารก ประมาณ 60% หรือประมาณ 3 ใน 4 ของการแท้งทั้งหมดมักเกิดจากความผิดปกติของทารกเป็นหลัก (ความผิดปกติทางด้านโครโมโซม) ซึ่งทารกอาจไม่เจริญเติบโตเลย ไข่ที่ถูกผสมแล้วไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปเป็นตัวเด็กได้ ซึ่งมักพบเป็นลักษณะที่เรียกว่า “ไข่ฝ่อ” (Blighted ovum) ภายในโพรงมดลูกมีรกถุงน้ำคร่ำ การตรวจปัสสาวะพบว่ายังให้ผลบวก แสดงว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นแล้วแต่ไม่มีตัวทารก เพราะมีแต่รกเท่านั้นที่เจริญเติบโตได้ต่อไปสักระยะหนึ่งแล้วคุณแม่จึงมีเลือดออก หรือทารกอาจมีความพิการบางอย่างก็เลยถูกขับออกมาเองตามกลไกธรรมชาติ ก่อนที่จะปล่อยให้มีเด็กพิการเกิดขึ้น
  2. การแท้งที่เกิดจากคุณแม่ การแท้งที่เกิดจากความผิดปกติของคุณแม่มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน เช่น
    • คุณแม่มีอายุมากกว่า 35 ปี หรือมีอายุน้อยกว่า 15 ปี จากข้อมูลพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากจะมีความเสี่ยงที่จะแท้งบุตรได้มากกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อย
    • เคยมีการแท้งบุตรมาก่อน
    • เคยมีการขูดมดลูกจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งทำให้ตัวอ่อนที่ฝังตัวไม่สามารถเจริญเติบโตได้
    • คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือติดยาเสพติด
    • คุณแม่ที่มีสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วยเรื้อรังหรือมีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนัก และมีความเครียดสูง ก็จะทำให้แท้งบุตรได้ง่ายขึ้น
    • มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเอสแอลอี (SLE) โรคพีซีโอเอส (PCOS) โรคภูมิแพ้ตัวเอง (Lupus) หรือโรคติดเชื้อต่าง ๆ (เช่น หัด หัดเยอรมัน มาลาเรีย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
    • มีความผิดปกติเกี่ยวกับการสร้างฮอร์โมนจากรังไข่ ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงตัวอ่อนได้นานพอ โดยพบว่าคุณแม่ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนต่ำ เมื่อฮอร์โมนน้อยเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะมีสภาพไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ตัวอ่อนจึงไม่สามารถเจริญเติบโตได้และทำให้มีการแท้งเกิดขึ้น
    • มีภาวะหมู่เลือดของคุณแม่และทารกเข้ากันไม่ได้ (Rh incompatability)
    • ปากมดลูกฉีกขาดมากจากการคลอดครั้งก่อนหรือจากการทำแท้งที่ไม่ถูกวิธี จึงทำให้ปากมดลูกไม่แข็งแรงและปิดไม่สนิท จึงเกิดการแท้งได้ง่าย
    • มดลูกมีความผิดปกติ เช่น มีความผิดปกติของมดลูกแต่กำเนิดหรือมดลูกมีรูปร่างผิดปกติ, ในโพรงมดลูกมีก้อนเนื้องอกหรือมีผนังกั้นในโพรงมดลูก
    • เกิดจากการอักเสบในช่องคลอดและมดลูก การติดเชื้อในร่างกายหรืออุ้งเชิงกราน หรือการอักเสบทั่วร่างกายอย่างรุนแรง มีไข้สูง จนทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตและแท้งออกมา
    • เกิดจากการติดเชื้ออย่างรุนแรงจากมารดาและเชื้อโรคได้เคลื่อนผ่านรกไปถึงทารก จนเป็นสาเหตุทำให้ทารกเสียชีวิตและแท้งในเวลาต่อมา
    • การได้รับสารหรือจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาไข้มาลาเรียในกลุ่มควินิน อาจทำให้แท้งได้เพราะมีฤทธิ์ทำให้มดลูกบีบตัว, ยารักษาโรคมะเร็งหรือการได้รับสารตะกั่ว มีผลทำให้ทารกเสียชีวิตและแท้งได้, การได้รับสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเวลานาน ๆ ไม่ว่าจะสูดดมหรือสัมผัส ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดการแท้งได้เช่นกัน
    • การตั้งใจกินยาขับหรือให้คนทำแท้ง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการแท้ง แต่ยาขับเลือดที่ขายตามท้องตลาดที่บางรายไปซื้อมากินเพื่อให้แท้งนั้นส่วนใหญ่แล้วจะไม่ทำให้แท้งได้ครับ
    • คุณแม่ขาดสารอาหารมาก ๆ โดยเฉพาะการขาดกรดโฟลิกและวิตามินซี ซึ่งจะทำให้คุณแม่แท้งบุตรได้ง่าย
    • การได้รับอุบัติเหตุ ทำให้มดลูกได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เช่น หกล้ม เดินชนมุมโต๊ะ ถูกกระแทกบริเวณท้องน้อย ฯลฯ ก็อาจทำให้เกิดการแท้งได้เช่นกัน
    • การทำงานหรือการออกกำลังกาย ไม่ใช่เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่แท้งบุตรเสมอไป ยกเว้นในกรณีที่คุณแม่เคยแท้งบุตรมาก่อน ก็ควรทำงานเบา ๆ เลี่ยงการทำงานหนัก และงดการออกกำลังกายครับ
  3. การแท้งที่เกิดจากคุณพ่อ เช่น กลุ่มเลือดมีปัญหาหรืออสุจิของคุณพ่อผิดปกติ
  4. ไม่พบสาเหตุ ในบางรายอาจหาสาเหตุไม่ได้หรือไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนของการแท้งบุตร ซึ่งก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่พบได้บ่อย

แท้งลูก

โอกาสในการแท้งบุตร

  • สตรีวัยเจริญพันธุ์มีโอกาสแท้งบุตรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10-25% เมื่อมีอายุมากขึ้นความเสี่ยงต่อการแท้งก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
  • สตรีตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 35 ปี มีโอกาสแท้งบุตร 15%
  • สตรีตั้งครรภ์อายุ 35-45 ปี มีโอกาสแท้งบุตร 20-35%
  • สตรีตั้งครรภ์อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป มีโอกาสแท้งบุตร 50%
  • สตรีที่เคยแท้งบุตรมาก่อน มีโอกาสแท้งบุตรซ้ำ 25%

ชนิดของการแท้งบุตร

คุณแม่แท้งบุตรประมาณ 95% จะมีเลือดออกทางช่องคลอดและมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย อาการแท้งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่บางคนอาจสังเกตเห็นว่ามีส่วนของชิ้นเนื้อคล้ายพุงปลาหลุดปนออกมาจากช่องคลอดด้วย

  1. การแท้งคุกคาม (Threatened abortion) เป็นภาวะใกล้แท้ง พบได้ประมาณ 10% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด และครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้จะมีอาการแท้งตามมา (ส่วนอีกครึ่งคุณแม่จะตั้งครรภ์ต่อไปได้) คุณแม่จะมีเลือดออกไม่มากทางช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอยโดยที่ปากมดลูกยังปิดอยู่ และมีอาการปวดท้องน้อยหรืออาจไม่มีอาการปวดท้อง จึงทำให้คุณแม่สับสนได้ว่าเป็นประจำเดือน
  2. การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable abortion) คุณแม่จะมีเลือดออกทางช่องคลอด มีอาการปวดท้องน้อยมากขึ้น และปากมดลูกเปิดแล้ว เนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูก บางครั้งก็มีการแตกของถุงน้ำคร่ำร่วมด้วย เมื่อปากมดลูกเปิดออกแล้ว จะไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้และตัวอ่อนก็จะแท้งออกมาเอง หรือหากมาพบแพทย์ แพทย์อาจทำการดูดเอาทารกออกมาเพื่อให้เป็นการแท้งโดยสมบูรณ์
  3. การแท้งเป็นนิจ หรือ การแท้งเป็นอาจิณ หรือ การแท้งซ้ำ (Recurrent miscarriage, Habitual abortion, Recurrent pregnancy loss – RPL) เป็นการแท้งติดต่อกันเกิน 3 ครั้งขึ้นไปในช่วงอายุครรภ์ใกล้เคียงกัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากปากมดลูกปิดไม่สนิท (Cervical incompetence), การขาดฮอร์โมนเพศ, ความผิดปกติของโครโมโซม
  4. การแท้งโดยสมบูรณ์ (Complete abortion) เป็นการแท้งทารกและรกออกมาทั้งหมดโดยสมบูรณ์ (เมื่อตรวจอัลตราซาวนด์จะไม่พบตัวอ่อน) ตามธรรมชาติแล้วการแท้งมักจะสิ้นสุดด้วยตัวเอง ร่างกายจะขับทารกและรกที่อยู่ในโพรงมดลูกออกมาจนหมด คุณแม่จะมีอาการปวดท้องและมีเลือดออกมาจนหยุดไปเอง (มีชิ้นเนื้อหลุดออกมาแล้วมีเลือดออกลดลง) จึงไม่จำเป็นต้องขูดมดลูก
  5. การแท้งไม่สมบูรณ์ (Incomplete abortion) เป็นการแท้งออกมาเพียงบางส่วนของทารกหรือของรกและยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เหลือค้างอยู่ในโพรงมดลูก ซึ่งการแท้งชนิดนี้จะทำให้มดลูกบีบตัวได้ไม่ดี คุณแม่จึงมีอาการปวดท้องน้อยมากและมีเลือดออกทางช่องคลอดมากจนทำให้ช็อกได้ แพทย์จะให้น้ำเกลือหรือให้เลือดทดแทน แล้วทำการขูดมดลูกเอาส่วนที่เหลือออกมาให้หมด เพื่อให้เลือดหยุดไหลโดยเร็วที่สุด และป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูก หลังจากนั้นมดลูกจะบีบตัวได้ดีขึ้นและเลือดก็จะหยุดไปเอง
  6. การแท้งค้าง (Missed abortion) เป็นการแท้งที่ทารกในครรภ์เสียชีวิตนานกว่า 8 สัปดาห์ในครรภ์แล้ว แต่คุณแม่ยังไม่ทราบว่าแท้ง เพราะตัวอ่อนยังไม่ถูกขับออกมา และอาจทราบได้จากการตรวจอัลตราซาวนด์ ตัวอ่อนและเนื้อรกที่ตายจะค้างอยู่ในโพรงมดลูกโดยที่คุณแม่ไม่แสดงอาการใด ๆ นานนับเดือนก่อนที่จะแท้งออกมา ซึ่งในช่วงที่เกิดการแท้งค้าง อาการต่าง ๆ ของการตั้งครรภ์จะหายไป และจะมีการแท้งบุตรตามมาในภายหลัง คุณแม่ตั้งครรภ์จะให้ประวัติว่าเคยมีอาการของการตั้งครรภ์และมดลูกมีขนาดโตขึ้น แล้วต่อมาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้หายไป และสังเกตว่ามดลูกมีขนาดเล็กลง (ในบางรายอาจมีแคลเซียมมาห่อหุ้มทารกที่เสียชีวิตจนกลายเป็นก้อนหินปูนค้างอยู่ในโพรงมดลูกตลอดไปเลยก็ได้ ถ้าทิ้งไว้ก็ไม่เป็นอันตราย แต่คุณแม่จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก)
  7. การแท้งติดเชื้อ (Septic abortion) เป็นการแท้งร่วมกับมีการอักเสบติดเชื้อ ทำให้คุณแม่มีไข้ ปวดท้อง และมีเลือดออกทางช่องคลอด

การแท้งบุตร

อาการของการแท้งบุตร

อาการเริ่มแรกของการแท้งบุตร คือ การมีเลือดออกทางช่องคลอด ส่วนใหญ่จะมีเลือดออกเล็ก ๆ น้อย ๆ พอเปื้อนผ้าก่อน ต่อมาจะออกมากขึ้นคล้าย ๆ กับประจำเดือน บางคนพอนอนพักผ่อน งดทำงานหนัก เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ เลือดก็จะหยุดไหลไปได้เองและไม่เกิดการแท้ง แต่บางคนอาจจะมีเลือดออกมาตั้งแต่แรกและมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงเป็นพัก ๆ คล้ายกับการปวดประจำเดือน หรือบางคนที่เคยคลอดบุตรมาแล้วก็อาจรู้สึกเหมือนการปวดท้องคลอด ซึ่งถ้ามีอาการเช่นนี้ก็แสดงว่าเป็นแท้งชนิดที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

สำหรับอาการเตือนที่บ่งบอกว่าอาจมีการแท้งเกิดขึ้นนั้น ได้แก่ การมีเลือดหรือมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด, มีอาการปวดท้องน้อย, มีอาการปวดหลัง (มากกว่าที่เคยเป็น), น้ำหนักตัวลด, รู้สึกว่ามดลูกแข็งตัวหรือบีบตัวบ่อย, รู้สึกท้องมีขนาดเล็กลงหรือไม่โตขึ้นเลย และอาการที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์หายไป (เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ตึงคัดเต้านม) เป็นต้น

เลือดออกทางช่องคลอดควรทำอย่างไรดี ?

คุณแม่ไม่ควรนิ่งเฉยหากพบมีเลือดออกทางช่องคลอดในระหว่างการตั้งครรภ์ ปวดท้องน้อยมากกว่าปกติ หรือบางครั้งอาจมีน้ำใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ปัสสาวะ และกลั้นไม่อยู่ เพราะอาจเป็นสาเหตุของความผิดปกติต่าง ๆ เช่น ภาวะใกล้แท้ง ซึ่งจำเป็นต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ในทันที เพราะภาวะเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์นั้นพบได้ประมาณ 1 ใน 4 ของการตั้งครรภ์หมด และในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งยังสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ตามปกติจนครบกำหนดคลอด ในขณะตั้งครรภ์ถ้าคุณแม่มีเลือดออกทางช่องคลอดควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  • ติดต่อแพทย์ที่ฝากครรภ์ในทันทีเพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งแพทย์อาจตรวจด้วยการอัลตราซาวนด์ว่ายังมีทารกอยู่ในโพรงมดลูกหรือไม่ ถ้ามีแล้วเห็นหัวใจเต้นอยู่หรือไม่ หรือเป็นท้องนอกมดลูก ถ้ายังพบว่าท้องในโพรงมดลูกและหัวใจยังเต้นดีอยู่ก็คงสบายใจได้
  • ในรายที่ปกติโดยทั่วไปแล้วเลือดออกไม่มาก แพทย์จะให้นอนพักให้สบาย ๆ ในท่ายกขาและสะโพกให้สูงขึ้น หยุดทำงาน งดออกกำลังกาย และเว้นการมีเพศสัมพันธ์
  • ห้ามรับประทานยาใด ๆ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ แต่สำหรับคุณแม่ที่มีความกังวลใจหรือนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ แพทย์จะสั่งยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับให้ด้วย ถ้าการตั้งครรภ์ครั้งนี้ยังคงดำเนินต่อไป ยานี้ก็ไม่มีผลต่อลูกในครรภ์แต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรไปหาซื้อยาใด ๆ มากินเอง
  • ควรมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด เผื่อมีภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินเกิดขึ้น
  • หากมีก้อนเลือดหลุดออกมาทางช่องคลอด ควรเก็บเอาไว้ให้หมอดูด้วย
  • ในกรณีที่มีการแท้งเกิดขึ้นแล้ว หากเป็นการแท้งเองตามธรรมชาติและแท้งออกมาโดยสมบูรณ์ ผู้ป่วยจะมีเลือดออกทางช่องคลอดแต่ออกไม่มากประมาณ 2-3 วัน แล้วเลือดจะหยุดไหลไปเอง ไม่มีอาการปวดท้องและไม่มีไข้ แต่หากเป็นการแท้งไม่สมบูรณ์ มีการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีเลือดออกทางช่องคลอดนานเกิน 7 วัน (บางครั้งอาจมีเลือดออกมาก) และมีอาการปวดท้องตลอดเวลา ถ้ามีอาการลักษณะนี้ควรรีบไปพบแพทย์

แท้งบุตร

การวินิจฉัยการแท้งของแพทย์

  • สอบถามประวัติ เช่น ประวัติการขาดประจำเดือน อาการที่แสดงถึงการตั้งครรภ์ อาการผิดปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้อง
    ตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิตเพื่อดูว่าชีพจรปกติดีหรือไม่, คลำบริเวณท้องว่ามีอาการหรือกดเจ็บบริเวณใดบ้าง คลำมดลูกเพื่อประเมินอายุครรภ์ คลำดูว่ามีก้อนผิดปกติหรือไม่ เป็นต้น
  • ตรวจปัสสาวะ จะเป็นการทดสอบการตั้งครรภ์โดยใช้แถบตรวจ (Urine pregnancy test) ซึ่งเป็นการตรวจที่สะดวกรวดเร็วและมีความแม่นยำสูง สามารถตรวจได้เลยตั้งแต่ประจำเดือนเกินกำหนดที่จะมาเพียง 1 วัน แต่มีข้อควรระวังคือ แม้ว่าทารกจะแท้งไปแล้วในเวลาไม่นาน การตรวจก็ยังคงให้ผลบวกว่ามีการตั้งครรภ์อยู่ เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายยังไม่หมดไป ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์หลังการแท้งจึงจะตรวจได้ผลเป็นลบ (ไม่ตั้งครรภ์)
  • ตรวจภายใน เป็นการตรวจที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยโรคและให้การรักษาที่ถูกต้อง การตรวจภายในจะช่วยประเมินการเปิดปิดของปากมดลูก ขนาดมดลูกตามอายุครรภ์ ในกรณีที่เป็นการแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือเป็นการแท้งไม่สมบูรณ์ ปากมดลูกจะเปิด แต่ถ้าเป็นการแท้งคุกคาม ปากมดลูกจะปิด
  • ตรวจอัลตราซาวนด์ หากคุณแม่มีอายุครรภ์น้อย การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์จะเป็นการตรวจผ่านทางช่องคลอด ซึ่งจะทำให้เห็นทารกในครรภ์ได้ชัดกว่าการตรวจทางหน้าท้อง หรือการตั้งครรภ์ที่เป็นท้องลมที่มีเฉพาะถุงการตั้งครรภ์แต่ไม่มีตัวทารก หรือใช้ตรวจในกรณีที่สงสัยว่ามีการแท้งค้าง แท้งไม่สมบูรณ์ หรือมีประวัติการตั้งครรภ์ มีเลือดออก แต่หากอายุครรภ์มากก็สามารถตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องได้
  • ตรวจเลือด เป็นการตรวจเพื่อดูฮอร์โมนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในสตรีตั้งครรภ์บางราย มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้เวลาในการตรวจนาน จะตรวจเฉพาะในสตรีตั้งครรภ์บางรายที่สงสัยว่าเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก หรือตรวจในกรณีที่มีการตั้งครรภ์อายุครรภ์อ่อนมากที่ยังไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด

การรักษาการแท้งบุตร

เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นและมีเลือดออกทางช่องคลอด และแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าพบว่าทารกยังปกติดีและคุณแม่เองก็มีอาการไม่มาก (ยังไม่มีตัวอ่อนหลุดออกมาให้เห็น เลือดออกไม่มาก ปวดท้องไม่มาก) แพทย์จะอนุญาตให้คุณแม่กลับบ้านได้ โดยแนะนำให้คุณแม่นอนพักอยู่นิ่ง ๆ ยกขาและสะโพกให้สูงไว้ หยุดทำงาน งดออกกำลังกาย และเว้นการมีเพศสัมพันธ์ (อาจใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดได้) หลังจากนี้ถ้าเลือดหยุดไหลและไม่มีอาการปวดท้องน้อยแล้วก็เป็นไปได้สูงว่าการตั้งครรภ์ครั้งนี้จะดำเนินต่อไปได้ตามปกติจนครบกำหนดคลอด แต่หากมีเลือดออกทางช่องคลอดมาก ปวดท้องมาก และมีตัวอ่อนหลุดออกมาให้เห็น แสดงว่ามีการแท้งเกิดขึ้นแล้ว ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล คุณแม่ก็จะต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ ดังนี้

  • ถ้ามีตัวอ่อนหลุดออกมาแล้ว ผู้ป่วยหายปวดท้อง และเลือดออกน้อยลงแพทย์จะให้นอนพัก ถ้ามีอาการซีดแพทย์จะให้ยาบำรุงเลือด แต่ถ้ายังมีเลือดออกมาอยู่เรื่อย ๆ ก็จะฉีดยาบีบมดลูกให้
  • ในกรณีที่เป็นการแท้งบุตรครั้งแรกโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถเฝ้ารอดูอาการในครรภ์ต่อไปได้ แต่หากแท้ง 2 ครั้ง แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุ และให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ
  • ในกรณีที่เป็นการแท้งคุกคาม ซึ่งเป็นอาการที่แสดงว่ากำลังจะแท้ง หากคุณแม่มาพบแพทย์ได้ทันเวลาและอาการยังไม่รุนแรงมากนัก ประมาณ 50% ก็สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้โดยที่แพทย์จะต้องดูแลเป็นพิเศษ แพทย์อาจให้ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนฉีดเข้ากล้ามเนื้อจนกว่าเลือดจะหยุด อาจต้องเย็บปากมดลูก หรืออาจต้องให้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดการบีบตัวของมดลูก และให้คุณแม่นอนพักในโรงพยาบาลชั่วระยะเวลาหนึ่ง
  • ในกรณีของการแท้งแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แพทย์ต้องขูดมดลูกหรือให้ยากระตุ้นการบีบตัวของมดลูก
  • ในกรณีของการแท้งเป็นนิจ หากเป็นสาเหตุมาจากตัวมดลูก เช่น มีเนื้องอก การผ่าตัดมดลูกก็เป็นวิธีรักษาที่จะทำให้คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ แต่หากเป็นความผิดปกติจากพันธุกรรมหรือฮอร์โมนระห่างการตั้งครรภ์แพทย์จะต้องสาเหตุและวิธีป้องกันในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ส่วนการติดเชื้อบางอย่างที่ไม่ปรากฏอาการ รวมทั้งภาวะขาดอาหารและโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคไต ก็อาจทำให้เกิดการแท้งได้ ดังนั้นจึงควรรักษาให้ดีก่อนการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
  • ในกรณีของการแท้งไม่สมบูรณ์ คุณแม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อทำการขูดมดลูก เนื่องจากยังมีสิ่งตกค้างอยู่ในโพรงมดลูกซึ่งจะทำให้คุณแม่มีเลือดออกมาก ถ้าเสียเลือดมาก แพทย์จะให้เลือดเป็นการทดแทน
  • ในกรณีของการแท้งค้าง ซึ่งตรวจพบว่าทารกในครรภ์ได้เสียชีวิตได้ ถ้าคุณแม่ยังไม่แท้งเองภายในเวลาอันสมควร แพทย์อาจต้องขูดมดลูกเพื่อนำสิ่งตกค้างออกมา และ/หรือให้ยากระตุ้นบีบตัวของมดลูก เพราะถ้าปล่อยไว้นานเกินกว่า 1 เดือน อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากเลือดไม่แข็งตัวได้ ซึ่งจะทำให้มีเลือดออก เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล มีจุดจ้ำเลือดตามผิวหนังทั่วตัว ถ้ามีบาดแผลแล้วเลือดจะหยุดไหลยาก แพทย์จึงต้องทำการรักษาภาวะเลือดแข็งตัวช้าผิดปกตินี้ก่อนแล้วจึงค่อยนำทารกออกมา
  • หากมีภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท และมีการแท้งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ แพทย์จะทำการเย็บปากมดลูก หรือถ้าหากมีเนื้องอกในโพรงมดลูกที่อาจทำให้เกิดการแท้งซ้ำได้ แพทย์จะตัดเนื้องอกนั้นออก โดยวิธี Hysteroscopic myomectomy
  • หากมีภาวะขาดฮอร์โมนเพศ เช่น โปรเจสเตอโรน (Progesterone) แพทย์จะให้ฮอร์โมนเสริม
  • สำหรับการแท้งอันเนื่องมาจากภูมิต้านทานในร่างกายของแม่มีปฏิกิริยาต่อลูกในครรภ์ เช่น มีกลุ่มเลือด Rh ที่ไม่เข้ากันกับลูก ถ้าคุณแม่ทราบล่วงหน้าและได้ฉีดวัคซีนป้องกันการสร้างภูมิต้านทานดังกล่าวหลังการคลอดในครรภ์แรกทันทีก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ทารกในครรภ์ต่อไปได้รับอันตราย

ภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งบุตร

หากเป็นการแท้งเองตามธรรมชาติและแท้งออกมาโดยสมบูรณ์ ไม่ได้ถูกขูดมดลูก ไม่มีการติดเชื้อ มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียง เพราะหลังจากแท้งแล้วจะมีเลือดออกทางช่องคลอดประมาณ 2-3 วัน แล้วเลือดจะหยุดไหลไปเอง แต่หากเป็นการแท้งที่ไม่สมบูรณ์ ต้องได้รับการขูดมดลูก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  • เสียเลือดมาก เกิดภาวะซีด โลหิตจาง อาจทำให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้
  • เกิดการติดเชื้อ จะสังเกตได้ว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอยนานเกิน 7 วัน หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น มีอาการปวดท้อง แต่หากเป็นการติดเชื้อรุนแรงก็อาจทำให้ช็อกได้และมีอาการไข้ นอกจากนี้ในบางรายยังอาจเกิดการติดเชื้อจนกลายเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบและอาจกลายเป็นหมันได้ด้วย
  • ในรายที่ต้องขูดมดลูก มดลูกอาจทะลุจากการขูดมดลูก หรือมดลูกอาจถูกขูดไม่หมด จึงมีเศษรกเหลือค้างอยู่ ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดมาก
  • ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวจากการขูดมดลูก อาจทำให้มีบุตรยากขึ้นในอนาคต หรือทำให้เกิดการแท้งง่ายในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
  • ในรายที่ทำแท้งกันเองโดยใช้เครื่องมือหรือสารสกปรก มดลูกอาจเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงได้ และอาจกลายเป็นโลหิตเป็นพิษและเสียชีวิตได้

การขูดมดลูก

สำหรับรายที่รักษาแล้วยังมีอาการปวดท้องและมีเลือดออกมากขึ้น อาจมีเลือดก้อนใหญ่ออกมาจากช่องคลอด หรือมีชิ้นเนื้อหลุดออกมาด้วย ซึ่งอาจจะเป็นส่วนของรกหรือตัวเด็กก็ได้ แสดงว่าแท้งแล้ว ควรรีบไปหาหมอทันทีและเก็บชิ้นเนื้อใส่ถุงพลาสติกไปให้หมอดูด้วยนะครับ เพื่อหมอจะได้ตรวจภายในดูว่ารกและตัวเด็กออกมาหมดหรือยัง ถ้าออกหมดแล้วหมอจะให้นอนพักที่โรงพยาบาลในเวลาไม่นานนักก็อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ถ้ารกและตัวเด็กยังออกมาไม่หมด เพราะยังมีส่วนใดส่วนหนึ่งตกค้างอยู่ภายในโพรงมดลูก ก็จำเป็นต้องรักษาโดยการขูดมดลูกครับ (หมอจะฉีดยาชาหรือยาแก้ปวดเฉพาะที่ก่อนจะทำการขูดมดลูกหรือให้ดมยาสลบแล้วแต่กรณี) เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ตกเลือดมาก บางคนช็อกไปเลยก็มี หรือถ้าปล่อยไว้หลายวันก็อาจเกิดการอักเสบในโพรงมดลูกได้ โอกาสที่จะมีลูกอีกในครรภ์ต่อไปก็ยากขึ้น บางรายโชคร้ายหน่อยก็ลงท้ายด้วยการต้องตัดมดลูกทิ้งเพราะมดลูกเน่าเป็นหนอง

เมื่อขูดมดลูกเสร็จแล้ว ถ้าหากท้องไม่โตนัก เสียเลือดไม่มาก และไม่มีอาการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย เมื่อยาแก้ปวดหมดฤทธิ์หรือฟื้นจากยาสลบแล้ว หมอมักจะให้กลับบ้านได้เลย แต่ถ้าเสียเลือดมาก มดลูกโต หรือมีอาการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย หมอก็จะให้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนกว่าจะเรียบร้อยดี

หลังจากที่ขูดมดลูกไปแล้ว ไม่ควรจะตั้งครรภ์ในทันที แต่ควรจะเว้นให้มีประจำเดือนมาประมาณ 3 เดือนก่อน เพราะในช่วงนี้ผนังมดลูกจะบางมากเกินไป ถ้ามีการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเกิดขึ้นจะทำให้รกฝังตัวในผนังมดลูกลึกเกินไป เมื่อคลอดแล้วจะมีรกค้าง รกติดแน่นไม่ลอกตัว อาจจะต้องดมยาเพื่อล้วงรกหรืออาจต้องได้รับการผ่าตัด อย่างไรก็ดี หลังจากขูดมดลูกไปได้ 3 เดือนแล้วทุกอย่างก็เหมือนเดิมครับ

วิธีป้องกันการแท้งบุตร

เนื่องจากการแท้งบุตรส่วนใหญ่มักเป็นการคัดเลือกทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง ในกรณีที่ทารกผิดปกติจะมีการแท้งเกิดขึ้น ซึ่งทารกไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ จะไม่สามารถป้องกันการแท้งได้ครับ แต่สำหรับการแท้งที่หาสาเหตุและสามารถรักษาได้ เช่น เกิดภาวะปากมดลูกเปิด ก็รักษาด้วยการเย็บปากมดลูกเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์, ขาดฮอร์โมนเพศก็ให้ฮอร์โมนเสริม ฯลฯ ก็สามารถป้องกันการแท้งได้ครับ แต่ถ้าไม่พบสาเหตุก็จะทำให้การป้องกันการแท้งเป็นไปได้ยาก ส่วนวิธีการป้องกันการแท้งโดยทั่วไปแล้วแพทย์จะแนะนำว่า

  1. ให้รีบไปฝากครรภ์ในทันทีตั้งแต่รู้ว่ากำลังตั้งครรภ์
  2. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้มาก ๆ
  3. รักษาสุขภาพจิตให้ดี ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส หลีกเลี่ยงความเครียด
  4. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  5. หลักเลี่ยงการทำงานหนัก ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำ
  6. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน โดยเฉพาะผักและผลไม้ควรจะรับประทานให้มากเป็นพิเศษ
  7. ไม่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
  8. รับประทานกรดโฟลิกก่อนตั้งครรภ์ (วิตามินบี 9)
  9. งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ
  10. หากมีความผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

ยากันแท้ง

ยากันแท้งที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นจะเป็นฮอร์โมนพวกโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์หรือยาอื่นในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งจะมีทั้งชนิดฉีดและชนิดเม็ดรับประทาน เป็นยาที่มีประโยชน์สำหรับผู้แท้งบุตรที่มีสาเหตุมาจากการขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเท่านั้น แต่สำหรับคนแท้งทั่วไปจะไม่ค่อยพบภาวะนี้ครับ ในส่วนของวิธีการใช้ยานั้นจะใช้เพื่อป้องกันก่อนจะมีการแท้งเกิดขึ้นในรายที่มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อนเป็นหลัก (ใช้ก่อนที่จะมีเลือดออก) แต่ถ้าเริ่มใช้เมื่อมีเลือดออกแล้วก็อาจจะได้ผลไม่เต็มที่นัก นอกจากว่าจะช่วยทางด้านจิตใจของคุณแม่เสียมากกว่า คือ คุณแม่รู้สึกว่าหมอได้รับการรักษาแล้ว (ส่วนหมอเองก็รู้สึกว่าได้ให้การรักษาคนไข้แล้วเช่นกัน)

แต่เชื่อไหมครับว่าวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการแท้ง คือ การได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอและได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างทะนุถนอมจากคนใกล้ชิดโดยเฉพาะจากสามี หรือที่ฝรั่งเรียกว่า T.L.C (Tender Loving Care) ซึ่งจะช่วยได้มากเลยครับ เมื่อคุณแม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอและได้รับยาจากหมอแล้ว เลือดก็จะหยุดได้เอง คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ตามปกติ และไม่ต้องเป็นกังวลครับว่าลูกในครรภ์จะเกิดความผิดปกติ เพราะกลุ่มที่เลือดหยุดไหลได้เองมักจะเกิดมาจากสาเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ (คุณแม่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนใช้ยากันแท้ง ไม่ควรไปหาซื้อยาทุกชนิดมาใช้เองโดยเด็ดขาด)

แท้งลูกมีโอกาสเกิดซ้ำได้หรือไม่ ?

คุณแม่บางคนแม้จะระมัดระวังและดูแลตัวเองเป็นอย่างดี รวมถึงไปฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ แถมได้รับการรักษาแล้วก็ยังแท้งอีก แสดงว่ามีสาเหตุมาจากความผิดปกติของทารกอย่างที่กล่าวไว้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ คุณแม่ก็อย่าเสียใจไปนะครับ ขอให้คิดว่าก็ยังดีกว่าปล่อยให้ท้องต่อไปแล้วคลอดเด็กพิการออกมา ซึ่งจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียใจมากขึ้นไปอีก ขอให้คุณแม่ทำใจให้สบาย พักผ่อนร่างกายให้แข็งแรง ระหว่างนี้ก็ให้คุมกำเนิดไปก่อนประมาณ 3 เดือน เพื่อรอให้อวัยวะภายในแข็งแรงดี ถึงตอนนั้นคุณแม่หลายคนคงเกิดความไม่มั่นใจและกลัวว่าจะแท้งอีก ผมขอตอบเลยครับว่าส่วนใหญ่จะไม่เกิดซ้ำอีก แต่หลังจากแท้งประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็ควรไปตรวจตามที่แพทย์นัดด้วย เพื่อจะได้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งผิดปกติหลงเหลืออยู่จนเป็นอุปสรรคในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป

แต่สำหรับผู้ที่แท้งตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป (แท้งเป็นนิจ) ก็อย่านิ่งนอนใจนะครับ ควรจะได้รับการตรวจหาสาเหตุตั้งแต่ที่ยังไม่ท้อง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจร่างกายหรือการตรวจภายในเพื่อดูว่ายังมีโรคบางอย่างอยู่หรือไม่ ต้องได้รับการตรวจเลือด ถ่ายภาพเอกซเรย์ ตรวจอัลตราซาวนด์ หรือส่องกล้องเข้าไปตรวจในโพรงมดลูกเพื่อดูความผิดปกติ เช่น มีผนังกั้นมดลูกหรือปากมดลูกขยายผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีก็จะได้รีบรักษาให้หายก่อนที่จะตั้งครรภ์ครั้งต่อไปครับ

คำแนะนำเกี่ยวกับการแท้งบุตร

  • การทำแท้งกันเองเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างมาก เพราะอาจติดเชื้ออักเสบถึงตายได้ หากมีปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้องต่อไป
  • ผู้ที่เคยแท้งเองมาก่อนจะมีโอกาสแท้งได้ในครรภ์ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเคยแท้งติดต่อกันตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ดังนั้น การตั้งครรภ์ครั้งต่อไป คุณแม่ควรรีบไปฝากครรภ์เสียแต่เนิ่น ๆ และพักผ่อนให้มาก ๆ ส่วนผู้ที่เคยแท้งติดต่อกัน 3 ครั้งขึ้นไป (แท้งเป็นนิจ) ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของมดลูกหรือทารกในครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขก่อนที่จะตั้งครรภ์ต่อไป
  • ประจำเดือนหลังการแท้งบุตรจะกลับมาค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการแท้งที่เกิดขึ้นในขณะที่อายุครรภ์ยังน้อย ๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในรอบเดือนถัดมามักจะมีประจำเดือนมาเลย หากไม่ได้ทำหัตถการต่าง ๆ เช่น การขูดมดลูก
  • หลังการแท้งคุณแม่ควรเริ่มคุมกำเนิดโดยเร็ว คือ 2 สัปดาห์หลังการแท้ง เนื่องจากจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้เร็วกว่าหลังการคลอดบุตรตามปกติ ส่วนวิธีการคุมกำเนิดก็ทำได้เกือบทุกวิธีครับ เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด, การฉีดยาคุมกำเนิด, การใส่ห่วงอนามัย (หากไม่มีการติดเชื้อ), การใช้ถุงยางอนามัย ฯลฯ
  • ควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังการแท้งหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าต้องมีการขูดมดลูกหรือเกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูก ให้งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรือจนกว่าอาการต่าง ๆ จะหายเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ก็พบว่าการตกไข่สามารถเกิดขึ้นได้ใน 2 สัปดาห์หลังการแท้ง ดังนั้นหากต้องการมีเพศสัมพันธ์และยังไม่อยากตั้งครรภ์ก็ควรหาวิธีคุมกำเนิดด้วยครับ
  • การที่จะกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกหลังจากแท้งบุตร จะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการแท้งและการรักษาหรือการทำหัตถการ เช่น หากมีการแท้งสมบูรณ์ ไม่ได้มีการขูดมดลูก ก็สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้เลย (แต่แพทย์บางท่านแนะนำว่าควรเว้นช่วงการตั้งครรภ์ไปก่อนประมาณ 1-3 เดือน), ถ้ามีการขูดมดลูก แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่เว้นช่วงการตั้งครรภ์ครั้งใหม่ไปอีก 3 เดือน, หากเป็นการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกที่ต้องผ่าผ่านผนังมดลูกเข้าไป จะทำให้มีแผลที่กล้ามเนื้อมดลูก แพทย์จะแนะนำให้เว้นช่วงการตั้งครรภ์ครั้งใหม่ไปอีก 6-12 เดือน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  “การแท้ง”.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)”.  หน้า 160-161.
  2. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “แท้งบุตร”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)”.  หน้า 176-180.
  3. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “แท้งบุตร (Abortion)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 904-905.
  4. หาหมอดอทคอม.  “การแท้งบุตร (Miscarriage)”.  (รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [21 ธ.ค. 2015].
  5. Siamhealth.  “การแท้งบุตร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [22 ธ.ค. 2015].

ภาพประกอบ : infofru.com, medchrome.com, www.wikihow.com (by Wikivisual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด