หนาด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนาดใหญ่ 46 ข้อ !

หนาดใหญ่

หนาดใหญ่ ชื่อสามัญ Ngai Camphor Tree[1], Camphor Tree[2]

หนาดใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Blumea balsamifera (L.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baccharis salvia Lour., Blumea grandis DC.[2]) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[4]

สมุนไพรหนาดใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนาด (จันทบุรี), คำพอง หนาดหลวง (ภาคเหนือ), ใบหลม ผักชีช้าง พิมเสน หนาดใหญ่ (ภาคกลาง), แน พ็อบกวา (กะเหรี่ยง-แม่ฮองสอน), จะบอ (มลายู-ปัตตานี), เพาะจี่แบ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ส้างหยิ้ง (ม้ง), อิ่มบั้วะ (เมี่ยน), เก๊าล้อม (ลั้วะ), ด่อละอู้ (ปะหล่อง), ตั้งโฮงเซ้า ไต่ฮวงไหง่ ไหง่หนับเฮียง (จีน), ต้าเฟิงไอ๋ ไอ๋น่าเซียง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[6]

หมายเหตุ : ต้นหนาดชนิดนี้เป็นคนละชนิดกับต้นหนาดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pluchea polygonata (DC.) Gagnep.

ลักษณะของหนาดใหญ่

  • ต้นหนาดใหญ่ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ล้มลุกที่มีอายุได้หลายปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 0.5-4 เมตร ลำต้นตั้งตรง เนื้อไม้เป็นแก่นแข็ง เปลือกต้นเรียบเป็นสีเขียวอมขาว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมเทา แตกกิ่งก้านมาก มีขนปุกปุยสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนขึ้นปกคลุมและมีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือผล เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่มักพบขึ้นตามที่รกร้าง ทุ่งนา หรือตามหุบเขาทั่วไป[1],[2],[3]

ต้นหนาดใหญ่

หนาดใหญ่

  • ใบหนาดใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมีติ่งหนาม โคนใบสอบหรือเรียวแหลมเล็กน้อย ส่วนขอบใบหยักเป็นซี่ใหญ่ ไม่เท่ากัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-17 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบมีขนทั้งสองด้าน ก้านใบสั้นหรือไม่มี[1],[2],[3]

ใบหนาดใหญ่

ใบหนาด

  • ดอกหนาดใหญ่ ดอกเป็นช่อกระจุกแน่น ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงขนาดใหญ่ที่บริเวณปลายกิ่งหรือซอกใบ ช่อดอกมีขนาดโตไม่เท่ากัน โดยมีขนาดกว้างประมาณ 6-30 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-50 เซนติเมตร ชั้นใบประดับยาวกว่าดอกย่อย ลักษณะของดอกย่อยมีขนาดเล็กสีเหลือง ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีกลีบดอกติดกันเป็นหลอดยาวได้ถึง 6 มิลลิเมตร ปลายกลีบเมื่อบานจะแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ กลีบดอกอ่อนเป็นสีเหลือง เมื่อแก่แล้วกลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีขาว โคนดอกมีกลีบเลี้ยงลักษณะเป็นเส้นฝอยปลายแหลมหุ้มอยู่ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ยื่นออกมาจากใจกลางดอก และดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร[1],[2],[3],[4]

ดอกหนาดใหญ่

  • ผลหนาดใหญ่ ผลเป็นผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร สีน้ำตาล โค้งงอเล็กน้อย มีลักษณะเป็นเส้นเล็ก ๆ 5-10 เส้น ส่วนบนเป็นขนสีขาว ๆ ปกคลุม[1],[2],[3],[4]
  • พิมเสน (พิมเสนหนาด) คือส่วนที่สกัดได้จากใบและยอดอ่อนด้วยไอน้ำ ซึ่งจะได้น้ำมันหอม ทำให้เย็น พิมเสนก็จะตกผลึก แล้วกรองแยกเอาผลึกพิมเสนมาใช้ประมาณ 0.15-0.3 กรัม นำมาป่นให้เป็นผงละเอียด หรือนำไปทำเป็นยาเม็ดกิน[1]

สรรพคุณของหนาดใหญ่

  1. ใบและยอดอ่อนใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาบำรุงกำลัง (ใบ)[1],[2],[4]
  2. ใบใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)[4]
  3. ชาวไทล้อจะใช้ใบนำมาสับแล้วตากให้แห้ง ใช้เข้ายาห่มตำรับไทลื้อ บำรุงร่างกายและผิวพรรณ (ใบ)[6]
  4. ใบใช้เป็นยาบำรุงหลังคลอดบุตรของสตรี (ใบ)[4] ใช้เป็นส่วนผสมในยาต้มให้สตรีหลังคลอดอาบเพื่อช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว (ยาต้มประกอบไปด้วย ใบหนาด ไพล ราชาวดีป่า เปล้าหลวง และอูนป่า)[6]
  5. รากสดใช้ต้มเอาน้ำกิน จะช่วยทำให้การหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น (ราก)[1],[2],[4]
  6. ใบและรากมีรสเผ็ดขมเล็กน้อย เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม กระเพาะ และลำไส้ ใช้เป็นยาฟอกเลือดทำให้ร่างกายอบอุ่น ปะสะเลือด ช่วยขับลมชื้นในร่างกาย (ใบและราก)[3]
  7. ใช้เป็นยาลดความดันโลหิต (ใบ, ทั้งต้น)[4]
  1. ช่วยระงับประสาท (ใบ, ทั้งต้น)[4]
  2. ใช้เป็นยาแก้อหิวาตกโรค (ทั้งต้น)[4]
  3. ในกัมพูชา จะใช้ใบนำมาตำร่วมกับใบขัดมอญ (Sida rhombifolia L.) พอกศีรษะแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[7]
  4. ช่วยแก้ตาเป็นต้อ (พิมเสน)[7]
  5. ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงจมูก (โรคติดเชื้อที่เกิดในจมูก ทำให้หายใจติดขัด มีฝีหนองในจมูก โพรงจมูกอักเสบ) ด้วยการใช้ใบสดนำมาหั่นให้เป็นฝอยเหมือนยาเส้น ตากแดดให้พอหมาด มวนกับยาฉุนแล้วใช้สูบ (ใบ)[1],[4],[7]
  6. ใบนำมาขยี้แล้วใช้ยัดจมูกเวลาเลือดกำเดาไหล จะช่วยทำให้เลือดหยุดไหลได้ (ใบ)[6]
  7. หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้ลำต้นและใบหนาดใหญ่ เข้ายากับใบมะขามและใบเป้าใหญ่ นำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย (ต้นและใบ)[4]
  8. ใบและยอดอ่อนใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[1],[2],[4] ส่วนทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ลมแดด (ทั้งต้น)[4] ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ต้นนำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการไข้ (ต้น)[6] ในซาราวัค จะใช้ใบนำมาต้มรวมกับเทียนดำ หัวหอมเล็ก หรือบดกับเกลือกินเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[7]
  9. ชาวม้งจะใช้ยอดอ่อนนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปตุ๋นใส่ไข่ ใช้กินเป็นยารักษาโรคไข้มาลาเรีย (ยอดอ่อน)[6]
  10. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้หวัด (ราก, ใบและราก)[3],[4]
  11. ช่วยขับเหงื่อ (ใบ)[1],[2],[4] ในอินโดจีนจะใช้ใบร่วมกับต้นตะไคร้ นำมาต้มให้เดือดใช้อบตัวช่วยขับเหงื่อ (ใบ)[7]
  12. ช่วยขับเสมหะ (ต้น, ใบ)[1],[2],[4]
  13. ใบใช้เป็นยารักษาโรคหืด[2] ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้ใบนำมาบดผสมกับแก่นก้ามปู การบูร ต้นข่อย และพิมเสน แล้วมวนด้วยใบตองแห้งสูบรักษาโรคหืด เนื่องจากใบมีสาร cryptomeridion ที่มีฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น กล้ามเนื้อหลอดลม (ใบ)[4]
  14. ใช้แก้อาการเจ็บหน้าอก ชาวลั้วะจะนำใบมานวดที่หน้าอกแก้อาการเจ็บหน้าอก ถ้าไม่หายจะนำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม (ต้น, ใบ, ทั้งต้น)[4],[6]
  15. ช่วยแก้ลมขึ้นจุกเสียดแน่นเฟ้อ (ใบ[1],[4], รากและใบ[3])
  16. ช่วยในการขับลมในลำไส้ (ราก, ใบ, พิมเสน)[1],[2],[4]
  17. รากใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องร่วง (ราก)[1],[2],[4] ส่วนใบใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องร่วง แก้บิด (ใบ)[1],[2],[4],[7] พิมเสนใช้กินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง ท้องร่วง (พิมเสน)[1],[4]
  18. ใบและยอดอ่อนนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาขับพยาธิ (ใบ)[1],[4] ส่วนทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (ทั้งต้น)[4]
  19. ช่วยขับประจำเดือน (ใบ)[4] ใช้เป็นยาแก้มุตกิด ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ (ใบ[4],รากและใบ[3] ในชวาจะใช้น้ำคั้นหรือน้ำต้มจากใบหรือจากราก นำมากินเป็นยาแก้ประจำเดือนออกมากผิดปกติ (ใบ, ราก)[7]
  20. ใบใช้เป็นส่วนผสมในยาสมุนไพรอาบเพื่อรักษาอาการผิดเดือนสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตร โดยใช้ใบหนาดร่วมกับใบเปล้าหลวง และใบหมากป่า ส่วนชาวลั้วะจะใช้รากนำมาต้มในน้ำผสมกับรากเปล้าหลวง ใช้เป็นยาห่มรักษาอาการผิดเดือน (ราก, ใบ)[6]
  21. ชาวเมี่ยนจะใช้ใบหนาดอ่อนนำมาต้มกับน้ำร่วมกับ ใบช่าน ใบเดื่อฮาก ใบก้านเหลือง ใบฝ่าแป้ง ว่านน้ำเล็ก เครือไฮ่มวย ต้นถ้าทางเมีย ต้นสามร้อยยอด ลำต้นป้วงเดียตม ให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟอาบเพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น (ถ้าหาไม่ครบก็ให้ใช้เท่าที่หาได้) (ใบ)[6]
  22. ตำรับยาแก้ปวดประจำเดือน ให้ใช้รากหนาด 30 กรัม และเอี๊ยะบ๊อเช่า 18 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน (ราก)[3]
  23. ในประเทศจีนจะใช้ใบหนาดใหญ่ เป็นยาทำให้แท้ง (ใบ)[4]
  24. ตำรับยาแก้เริมบริเวณผิวหนัง ด้วยการใช้ใบหนาด 20 กรัม, ขู่เซินจื่อ 20 กรัม, โด่ไม่รู้ล้ม 20 กรัม, จิงเจี้ย 20 กรัม, เมล็ดพุดตาน 15 กรัม, ไป๋เสี้ยนผี 30 กรัม, และใบสายน้ำผึ้ง 30 กรัม นำมารวมกันต้มเอาน้ำชะล้างแผล (ใบ)[3]
  25. ใบใช้ตำร่วมกับใบกระท่อม ใบเพกา และใบยอ ใช้เป็นยาพอกแก้ม้ามโต (ใบ)[7]
  26. พิมเสนใช้ภายนอกด้วยการนำผงมาโรยใส่แผล จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น ช่วยรักษาแผลอักเสบ แก้กลากเกลื้อน และแผลฟกช้ำ (พิมเสน)[1],[4],[7]
  27. ใบใช้ภายนอก นำมาตำพอกแผลจะช่วยห้ามเลือดได้ หรือจะนำใบมาบดให้เป็นผงละเอียดผสมกับเหล้า ใช้พอกหรือทารักษาแผลสด แผลฟกช้ำจากการหกล้มหรือถูกกระทบกระแทก แผลฝีหนอง ฝีบวมอักเสบ แก้กลากเกลื้อน (ใบ)[1],[2],[4],[7] น้ำคั้นจากใบหรือผงใบแห้งใช้ทาแผลจะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น (ใบ)[7]
  28. ยาพื้นบ้านนครราชสีมา จะใช้ใบหนาดใหญ่เป็นยารักษาโรคเรื้อน โดยนำใบมาตำให้ละเอียด ใส่ด่างทับทิมและน้ำพอประมาณ แล้วนำมาปิดบริเวณที่เป็นแผล (ใบ)[4]
  29. ชาวกัมพูชาจะใช้ใบเป็นยาพอกแก้หิด (ใบ)[7]
  30. ใบใช้ผสมในน้ำอาบสมุนไพรหลังคลอด ช่วยบำรุงผิวหนังให้ชุ่มชื้น และช่วยแก้หิด (ใบ)[4]
  31. รากใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้บวม แก้อาการปวดข้อ รวมถึงแผลฟกช้ำ (ราก)[1],[2],[4] ส่วนใบให้นำมาบดเป็นผงละเอียดผสมกับเหล้า ใช้พอกหรือทาเป็นยาแก้ปวดข้อ แก้บวม แก้ปวดหลัง ปวดเอว (ใบ)[1],[2],[7] ตำรับยาแก้บวมเจ็บ ปวดข้อ อีกวิธีหนึ่งระบุให้ใช้ใบหรือยอดอ่อนสด ใบละหุ่งสด รากว่านน้ำเล็กสด (Acorus gramineus Soland.) อย่างละเท่ากัน พอประมาณ นำมาต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น (ใบ)[7]
  32. ตำรับยาแก้ปวดข้อ ไขข้ออักเสบเนื่องจากลมชื้น ให้ใช้รากหนาด 30 กรัม, เถาหีบลมเทศ 30 กรัม, เหลี่ยงเมี่ยนเจิน 6 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน หรือใช้ดองกับเหล้ากินก็ได้ (ราก)[3] ส่วนใบก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคไขข้ออักเสบเช่นกัน (ใบ)[4]
  33. รากและใบใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดข้ออันเนื่องมาจากลมชื้น แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายหลังจากคลอดบุตรของสตรี (รากและใบ)[1],[3] รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดเมื่อยหลังการคลอดบุตร (ราก)[1],[4]
  34. ช่วยแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ (ใบ)[4]
  35. แก้ปวดเอ็นและกระดูก (ใบ)[7]
  36. การแพทย์แผนไทยจะใช้ใบหนาดในสูตรยาอบสมุนไพร ซึ่งมีสรรพคุณแก้โรคผิวหนังพุพอง น้ำเหลืองเสีย โดยตัวอย่างสมุนไพรแห้งที่นำมาใช้ในการอบ ได้แก่ ใบหนาด ใบมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย ใบพลับพลึง ยอดผักบุ้ง การบูร ขมิ้นชั้น ต้นตะไคร้ และหัวไพล โดยเป็นสูตรช่วยบำรุงผิวพรรณ บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย วิงเวียนศีรษะ และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต (ใบ)[5]

วิธีการใช้ : การใช้ตาม [1] ส่วนของราก ให้ใช้รากสดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนใบและยอดอ่อนให้ใช้แบบแห้งครั้งละประมาณ 10-18 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน[1] ส่วนการใช้ตาม [3] ใบและราก ให้ใช้แบบแห้ง ครั้งละ 20-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน ถ้าใช้ภายนอกให้ใช้ยาสดตำพอกแผลหรือต้มเอาน้ำล้างแผลตามที่ต้องการ[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหนาดใหญ่

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ blumealactone, borneol, flavanone, quercetin, xanthoxylin[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า สารที่พบคือน้ำมันหอมระเหย ในน้ำมันหอมระเหยพบสาร Cineole, Borneol, Di-methyl ether of phloroacetophenone, Limonene นอกจากนี้ยังพบสารจำพวก Amino acid, Erysimin, Flavonoid glycoside, Hyperin เป็นต้น
  • หนาดใหญ่มีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเซลล์ ยับยั้งการหลั่งของฮีสตามีน ยับยั้งเอนไซม์ ขับปัสสาวะ ฆ่าปลา[2]
  • สารสกัดจากใบหนาดใหญ่ เมื่อนำมาฉีดเข้ากับสัตว์ทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต ขยายหลอดลม ทำให้กล้ามเนื้อลายหดตัว และช่วยยับยั้ง Sympathetic nerve แต่ถ้านำมาฉีดให้กับคนจะพบว่าสามารถแก้ความดันโลหิตสูง อาการนอนไม่หลับ กระวนกระวายใจได้ และยังพบว่ามีฤทธิ์ขับปัสสาวะได้อีกด้วย[1],[3]
  • น้ำที่ต้มได้จากใบและรากหนาดใหญ่ ในความเข้มข้น 1% จะมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะได้ และจากการทดลอง เมื่อนำมาเปรียบเทียบฤทธิ์ในการขับปัสสาวะของน้ำต้มจากกาเฟอีนและใบชา พบว่าหนาดจะมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะอ่อนกว่าเล็กน้อย[3]
  • เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศจีน สารสกัดหนาดใหญ่ถูกนำมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดตีบและไขมันในเลือดสูงได้[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศจีน ได้พบว่าสารผสมจากหนาดใหญ่นั้น ถูกใช้ในการรักษาโรคลิ้นหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันสูง โรคหลอดเลือดตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจวาย ในปริมาณ 5:1000 มิลลิกรัม[2]

ประโยชน์ของหนาดใหญ่

  • หนาดใหญ่นอกจากจะใช้เป็นยาพื้นบ้านแล้วยังใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพิมเสนอีกด้วย โดยพิมเสนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็ได้มาจากการนำใบหนาดมาสกัดและผลิตเป็นผลึกของพิมเสนนั่นเอง[3]
  • คนเมืองจะใช้ใบหนาดเป็นที่ประพรมน้ำมนต์เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายร่วมกับกิ่งพุทรา[6]
  • ในด้านของความเชื่อ ชาวฟิลิปปินส์เชื่อว่า ถ้านำใบหนาดติดตัวไว้จะช่วยทำให้ปลอดจากภยันตรายต่าง ๆ ชาวมาเลเซียถือกันว่าจะช่วยป้องกันตัวได้ในขณะออกล่าช้างป่า ส่วนในบ้านเรานั้นเชื่อว่าใบหนาดช่วยป้องกันผีได้ สาเหตุคงสืบเนื่องมาจากในนิยายเรื่อง อีนากพระโขนง ที่มีข้อความว่า “ผัวเข้าดงหนาดเมียจะขาดใจตาย
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หนาดใหญ่”.  หน้า 813-815.
  2. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “หนาดใหญ่”  หน้า 192.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หนาดใหญ่”.  หน้า 610.
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “หนาดใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [30 ก.ย. 2014].
  5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “หนาด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [30 ก.ย. 2014].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “หนาดใหญ่, หนาดหลวง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [30 ก.ย. 2014].
  7. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 17 คอลัมน์ : อื่น ๆ.  (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ).  “หนาดใหญ่และผักหนาม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [30 ก.ย. 2014].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด