หนาด
หนาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Pluchea polygonata (DC.) Gagnep. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Inula polygonata DC.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]
สมุนไพรหนาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สาบแร้งขาว (นครราชสีมา), หนาดเหลี่ยม (น่าน), หนาด (ชัยภูมิ) เป็นต้น[1]
หมายเหตุ : ต้นหนาดในบทความนี้เป็นคนละชนิดกับหนาดใหญ่ หรือ หนาดหลวง (Blumea balsamifera (L.) DC.)
ลักษณะของต้นหนาด
- ต้นหนาด จัดเป็นไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นได้ประมาณ 1 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ขึ้นเดี่ยว ๆ หรือแตกกิ่งแผ่เป็นครีบ 4 ครีบ[1]
- ใบหนาด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ใบมีขนยาวสีขาวแกมเทาทั้งสองด้าน[1]
- ดอกหนาด ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเป็นสีม่วง[1]
- ผลหนาด ผลเป็นผลแห้งไม่แตก มีขนละเอียดนุ่มยาวคล้ายเส้นไหม[1]
สรรพคุณของหนาด
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากหนาด ผสมกับรากหนาดคำ รากกระดูกไก่ นำมาฝนกับน้ำกินเป็นยาแก้ผิดเดือน ผิดสาบ รักษาอาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติของสตรี (ราก)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หนาด”. หน้า 131.
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)