วิตามินดี
วิตามินดี (Vitamin D) หรือเรียกอีกอย่างว่า “แคลซิเฟอรอล” (Calciferol) คือ วิตามินที่ละลายในไขมันซึ่งผิวหนังของเราสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เมื่อได้รับแสงแดด อย่างไรก็ตาม เรายังสามารถได้รับวิตามินดีจากอาหารตามธรรมชาติ เช่น ในปลาที่มีไขมันมาก เห็ด รวมถึงวิตามินดีในรูปแบบของอาหารเสริม เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายมีระดับวิตามินดีในเลือดที่เพียงพอ (ประมาณ 90% ของวิตามินดีในร่างกายถูกสังเคราะห์ขึ้นจากแสงแดด และที่เหลืออีก 10% เท่านั้นที่มาจากการรับประทานอาหาร)
การเสริมวิตามินดีอาจเกี่ยวข้องกับประโยชน์หลายอย่างตั้งแต่สุขภาพกระดูกและฟัน การทำงานของภูมิคุ้มกัน ความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ ที่ลดลง ไปจนถึงช่วยปรับปรุงเรื่องอารมณ์ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าประโยชน์เกือบทั้งหมดจะจำกัดอยู่ในเฉพาะที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ และการเสริมในวิตามินดีในระดับที่เพียงพอมักให้ประโยชน์มากกว่าเสริมในปริมาณมาก
แม้ประเทศไทยจะเป็นเมืองแดด แต่จากการสำรวจกลับพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ขาดวิตามินดี โดยในเด็กและผู้สูงอายุจะมีอัตราการขาดวิตามินดีประมาณ 33%, ในผู้หญิงคือ 43% และในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมากที่สุดคือ 93% (ในขณะที่ผู้ชายจะมีอัตราการขาดวิตามินดีเพียง 14%)
ส่วนการขาดวิตามินดีอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยที่ทำให้ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดน้อยลง เช่น การใช้ครีมกันแดด ทำงานกลางคืน อาศัยอยู่แต่ในบ้าน การทำงานในเมืองใหญ่ มีสีผิวคล้ำ ฯลฯ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการได้รับวิตามินดีจากแหล่งอื่นอย่างอาหารหรืออาหารเสริมจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนต่างมีความกังวลเรื่องผิวคล้ำเสียและกลัวการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง (1)
วิตามินดีเป็นหนึ่งในวิตามินที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุด เพราะมันไม่ใช่วิตามินดีจริง ๆ แต่เป็นฮอร์โมน ซึ่งหมายความว่าร่างกายของเราจะเปลี่ยนเป็นฮอร์โมน นอกจากนี้วิตามินดียังมีสสารที่แตกต่างกันถึง 5 ชนิด แต่มีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ ได้แก่ วิตามินดี3 (Cholecalciferol) และวิตามินดี2 (Ergocalciferol)
โดยสรุปแล้ววิตามินดีเป็นฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการมีสุขภาพโดยรวมที่ดี คนส่วนใหญ่อาจขาดวิตามินดีได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน การได้รับวิตามินดีในปริมาณที่เหมาะสมอาจมีประโยชน์มากกว่าการเสริมในปริมาณมาก
วิตามิน D2 และ D3 ต่างกันอย่างไร?
วิตามินดี2 และวิตามินดี3 เป็นสองรูปแบบที่มีความสำคัญต่อมนุษย์มากที่สุด โดยวิตามินดี2 จะได้มาจากพืช (เห็ด) ส่วนวิตามินดี3 จะได้มาจากสัตว์เป็นหลัก หรือร่างกายของเราสามารถสร้างขึ้นเองได้เมื่อผิวหนังสัมผัสกับแสงแดด ทั้งวิตามินดี2 และดี3 ไม่ว่าจะได้รับจากอาหารหรืออาหารเสริมจำเป็นต้องมีการแปลงในตับและไตของเราก่อนที่ร่างกายจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้
- วิตามินดี2 (Vitamin D2) หรือที่เรียกว่า เออร์โกแคลซิเฟอรอล (Ergocalciferol) พบได้ตามธรรมชาติในเห็ดที่ได้รับแสงแดด (เห็ดไมตาเกะเป็นหนึ่งในแหล่งวิตามินดี 2 ที่ดีที่สุดที่ 786 IU ต่อถ้วย) ในกระบวนการผลิตวิตามินดี2 จะมีราคาถูกกว่าวิตามินดี3 จึงเป็นอีกรูปแบบที่พบได้บ่อยพอ ๆ กับวิตามินดี3
- วิตามินดี3 (Vitamin D3) หรือที่เรียกว่า คอเลแคลซิเฟอรอล (Cholecalciferol) สร้างขึ้นเมื่อคอเลสเตอรอลในผิวหนังของเราสัมผัสกับแสงแดด และพบได้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยจากอาหารที่มาจากสัตว์บางชนิด เช่น ปลาที่มีไขมันสูง ตับ เนื้อวัว ชีส ไข่แดง สำหรับวิตามินดี3 ในรูปแบบอาหารเสริมจะทำมาจากการสกัดคอเลสเตอรอลจากลาโนลินที่ได้จากขนแกะ แล้วนำไปทำปฏิกิริยาทางเคมีเพื่อให้ได้ 7-dehydrocholesterol จากนั้นจึงทำการฉายรังสีเพื่อสร้าง D3 หรือ Cholecalciferol (มีวิตามินดี3 อีกแบบที่สกัดจากไลเคน สำหรับผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ)
สำหรับอาหารเสริมวิตามินดี แนะนำให้เลือกซื้ออาหารเสริมวิตามินดี3 (Cholecalciferol) เนื่องจากมีศักยภาพมากกว่าวิตามินดี2 สามารถจับกับตัวรับวิตามินดีได้ดี และยังดูดซึมได้ดีกว่าและเปลี่ยนเป็น Active D ที่ร่างกายสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงได้ง่ายกว่า (2)
แนะนำให้เสริม วิตามินดี3 (Cholecalciferol) แทนการเสริมวิตามินดี2 (Ergocalciferol) เนื่องจากวิตามินดี3 มีแนวโน้มว่าจะช่วยเพิ่มระดับวิตามินดีในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของวิตามินดี
ต่อไปนี้คือประโยชน์ของวิตามินดีในทางแพทย์ที่อาจเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ทุกการศึกษาจะให้ผลลัพธ์สอดคล้องกัน และประโยชน์ส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพดังกล่าว
1. กระดูกแข็งแรง วิตามินดีส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้และรักษาระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดให้เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างแร่ธาตุในกระดูกให้แข็งแรง (3) และการขาดวิตามินดีในระยะยาวอาจก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ได้ ผู้ใหญ่ทุกคนจึงควรได้รับวิตามินดีและแคลเซียมจากอาหารอย่างเพียงพอและจากอาหารเสริมหากจำเป็น ส่วนผู้สูงอายุควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความต้องการและความจำเป็นในการเสริมสารอาหารทั้งสองนี้ เพื่อรักษาสุขภาพกระดูกและป้องกันหรือรักษาโรคกระดูกพรุน (1)
สำหรับทารกและวัยเด็กซึ่งเป็นช่วงที่กระดูกเติบโตอย่างรวดเร็ว ในวัยนี้จึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินดีในปริมาณที่เพียงพอเช่นกัน เพราะการขาดวิตามินดีเรื้อรังในเด็กอาจทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน (Rickets) ทำให้กระดูกและข้อต่อมีรูปร่างผิดปกติหรือขาโก่งเนื่องจากกระดูกอ่อนตัว (4) เช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ที่การขาดวิตามินดีเรื้อรังจะทำให้เกิดภาวะกระดูกอ่อนในผู้ใหญ่ (Osteomalacia)
อย่างไรก็ตาม การเสริมวิตามินดีอาจมีผลต่อกระดูกอย่างจำกัดเฉพาะในผู้ขาดวิตามินดี การรักษาระดับวิตามินดีในเลือดให้อยู่ที่ระดับใกล้เคียง 24 ng/mL พบว่าให้ประโยชน์มากที่สุดในการลดความเสี่ยงของกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังหักในผู้สูงอายุ และความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นหากร่างกายมีระดับวิตามินดีน้อยหรือมากจนเกินไป
- ในผู้ใหญ่ ไม่ใช่ทุกการศึกษาจะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการเสริมวิตามินดีในการช่วยลดความเสี่ยงต่อกระดูกหัก อย่างการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้ข้อสรุปว่าการเสริมวิตามินดีทุกวันในกลุ่มคนวัยกลางคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปและมีสุขภาพดี เป็นเวลา 5.3 ปี ไม่มีผลในการช่วยลดความเสี่ยงต่อกระดูกหักเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (5) ส่วนตัวอย่างการศึกษาที่พบว่าได้ผล คือ การเสริมวิตามินดี 800IU หรือมากกว่า อาจช่วยป้องกันกระดูกสันหลังและสะโพกหักในคนอายุ 65 ปีขึ้นไป (6) โดยพบว่าอัตราการหักของกระดูกสะโพกลดลง 30% ในผู้ที่ทานวิตามินดี 792-2,000 IU เทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับหรือได้รับในปริมาณน้อย และการศึกษายังชี้ให้เห็นว่า ระดับวิตามินดีในเลือดที่สูงกว่า 24 ng/mL มีประโยชน์มากที่สุดในการลดความเสี่ยงของกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังหัก และการรับประทานบ่อย ๆ เป็นรายวันหรือสัปดาห์มีประโยชน์มากกว่าการเสริมทุกปี ในทำนองเดียวกัน การศึกษาในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 70-97 ปีที่ซิดนีย์ พบว่ากลุ่มที่มีระดับวิตามินดี 24-29 ng/mL จะมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกหักได้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีระดับต่ำกว่า 14.4 ng/mL และสูงกว่า 29.2 ng/mL ที่จะมีโอกาสเกิดกระดูกหัก 3.5 และ 2.7 เท่าตามลำดับ ซึ่งข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่อวิตามินดีในร่างกายน้อยหรือมากเกินไป (7)
- ในผู้หญิงสูงอายุ/สตรีวัยหมดประจำเดือน พบว่าการเสริมวิตามินดีร่วมกับแคลเซียมสามารถช่วยลดการสูญเสียมวลกระดูกและป้องกันโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือนได้ รวมถึงยังช่วยรักษาการคงตัวของฟันในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม หากระดับวิตามินดีในเลือดใกล้เคียงหรือสูงกว่า 20 ng/mL การเสริมวิตามินดีจะไม่มีประโยชน์ต่อกระดูกอีกต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นในการศึกษาที่ควบคุมด้วยยาหลอกในกลุ่มสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีระดับวิตามินดีเฉลี่ย 20-30 ng/mL ที่การเสริมวิตามินดี3 วันละ 4,000 IU เป็นเวลา 6 เดือน ไม่มีผลช่วยลดการสูญเสียของมวลกระดูก (8) หรือในการศึกษาในผู้หญิงสูงอายุที่มีอายุเฉลี่ย 67 ปี ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดเพียงพอ และการเสริมวันละ 400-4,800 IU ไม่มีผลช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (9) ทำนองเดียวกับการศึกษาในวิสคอนซินที่พบว่าการเสริมวิตามินดีทั้งในขนาดต่ำกว่าและสูงกว่า 800IU ไม่มีผลต่อความหนาแน่นของกระดูก และยังไม่ส่งผลดีต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ มวลกล้ามเนื้อ หรือการช่วยลดโอกาสการหกล้ม (10)
- ในเด็กทารก การศึกษาใหม่ ๆ พบว่าเด็กที่เสริมวิตามินดี 400IU ทุกวันจนถึงอายุ 4 เดือน แม้จะมีระดับวิตามินดีในเลือดสูงกว่าเด็กที่ได้รับยาหลอก แต่ก็ไม่พบการเพิ่มขึ้นปริมาณแร่ธาตุในกระดูกหรือช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก แม้ว่าทารกเหล่านั้นจะมีภาวะขาดวิตามินดีอย่างมากก็ตาม (ต่ำกว่า 10 ng/mL) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าประโยชน์ของวิตามินดีอาจมีผลต่อการสร้างแร่ธาตุในกระดูกอย่างจำกัดในเด็กทารก (11)
- ในเด็กอายุ 9-13 ปี พบว่าการเสริมแคลเซียมและวิตามินดีเป็นประจำ สามารถช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกและความแข็งแรงของกระดูกได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (12) สอดคล้องกับการศึกษาในเด็กหญิงอายุ 10-17 ปี ที่การเสริมวิตามินดีเป็นเวลา 1 ปี ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกส่วนสะโพกได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ผลด้านนี้ไม่พบในเด็กผู้ชายวัยเดียวกัน (13)
- ในผู้ที่มีกระดูกหักและขาดวิตามินดีอย่างรุนแรง การศึกษาในผู้ชายอายุ 44 ปีที่กระดูกต้นขาหักและไม่สามารถรักษาให้หายได้หลังจากผ่านไปเป็นเวลา 4 ปี และมีภาวะขาดวิตามินดีรุนแรง พบว่าการรักษาด้วยการฉีดวิตามินดี 50,000 IU ทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 6 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้รับประทานวิตามินดีวันละ 400 IU ร่วมกับแคลเซียม 500 มก. สามารถช่วยรักษาภาวะกระดูกหักได้ในเวลา 8 ปีหลังการเสริมวิตามินดี (14)
- การศึกษาในหญิงวัยหมดประจำเดือน 232 คนในประเทศจีน พบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 10 ng/mL จะมีความสัมพันธ์กับความเสื่อมของหมอนรองกระดูกและอาการปวดหลังส่วนล่างที่รุนแรงกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับ 30 ng/mL (15)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : สรุปประโยชน์ของแคลเซียม (Calcium) จากงานวิจัย !
2. ดีต่อภูมิคุ้มกัน วิตามินดีช่วยควบคุมการดูดซึมของแคลเซียมและฟอสฟอรัสและอำนวยความสะดวกในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันตามปกติ (1) การศึกษาในหลอดทดลองชี้ให้เห็นว่าวิตามินดีมีผลเชิงบวกต่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของเซลล์มนุษย์ (16) การเสริมวิตามินดีอย่างเพียงพอจึงอาจส่งผลดีต่อทำงานของภูมิคุ้มกัน
- วิตามินดีมีบทบาทสำคัญในการทำงานของภูมิคุ้มกัน การศึกษาพบความเชื่อมโยงระหว่างการขาดวิตามินดีในระยะยาวกับการเกิดโรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) ที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความเชื่อมโยง (16, 17)
3. ลดการติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคหวัด และไข้หวัดใหญ่ งานวิจัยบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าวิตามินดีอาจมีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อทางเดินหายใจในผู้ที่ร่างกายขาดวิตามินดี
- การวิเคราะห์การศึกษาจำนวน 25 เรื่องเกี่ยวกับวิตามินดีเพื่อป้องกันโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ ได้ข้อสรุปว่าการเสริมวิตามินดีในขนาดปานกลางทุกวันสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันในผู้ที่ร่างกายขาดวิตามินดีมากได้ (ระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 10 ng/mL) โดยพบว่าช่วยลดการติดเชื้อได้ถึง 42% ส่วนผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดมากกว่า 10 ng/mL ความเสี่ยงในการลดการติดเชื้อจะลดลงเหลือ 25% (18)
- การศึกษาอื่น ๆ ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีและร่างกายไม่ได้ขาดวิตามินดี พบว่าการเสริมวิตามินดีในปริมาณมาก ๆ ต่อเดือน (60,000 – 100,000 IU) ไม่ได้ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเมื่อเทียบกับยาหลอก (19, 20)
- การศึกษาในผู้สูงอายุที่มีอายุเฉลี่ย 67 ปี และ 64% มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ (น้อยกว่า 20 ng/mL) พบว่าการเสริมวิตามินดีเฉลี่ยวันละ 2,000 IU เป็นเวลา 1 ปี (มีระดับวิตามินดีเฉลี่ย 34 ng/mL) จะมีแนวโน้มมากขึ้นถึง 48% ที่จะเกิดโรคการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน มากกว่าผู้ที่ไม่ได้วิตามินดีเพียง 400 IU ต่อวัน (มีระดับวิตามินดีเฉลี่ย 24 ng/mL) และยังพบว่าการติดเชื้อจะคงอยู่นานกว่าในผู้กลุ่มผู้ที่ได้รับวิตามินดีสูง (7 วัน เทียบกับ 5 วันในกลุ่มที่ได้รับปริมาณน้อย) สรุปคือ เสริมมากไปก็ไม่ดี (21)
4. โควิด-19 (COVID-19) การศึกษาส่วนใหญ่ (แต่ไม่ทั้งหมด) เชื่อมโยงกับระดับวิตามินดีที่เพียงพอในผู้ที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 ที่จะมีความรุนแรงของโรคที่น้อยกว่า การเข้าห้อง ICU และความต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจ และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่ลดลง หรือในผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำ (20 ng/mL หรือต่ำกว่า) การเสริมวิตามินดีในระดับปานกลางอาจช่วยลดการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่การให้ในขนาดที่สูงมากเพียงครั้งเดียวกลับไม่ได้ช่วย และดูเหมือนจะเพิ่มความเสี่ยงแทน
- การศึกษาหลายชิ้นเชื่อมโยงกับระดับวิตามินดีที่ต่ำกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของการติดเชื้อ COVID-19 (22, 23) การศึกษาในเม็กซิโกกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 302 คน (ไม่มีประวัติเป็นโรคโควิด-19 และจำนวน 64% มีภาวะขาดวิตามินดี) พบว่าการเสริมวิตามินดี3 วันละ 4,000 IU เป็นเวลา 30 วัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 77% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และลดความเสี่ยงได้ 80% ในคนที่ร่างกายขาดวิตามินดี (24) อย่างไรก็ตาม แม้การเสริมวิตามินดีอาจช่วยป้องกันโควิด-19 ในผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ แต่ก็ไม่อาจช่วยป้องกันในผู้ที่ได้รับวัคซีนหรือผู้ที่มีระดับวิตามินดีเพียงพอ (25)
- ระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 20 ng/mL มีความสัมพันธ์กับอาการระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงมากขึ้น และ/หรือมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจาก COVID-19 มากขึ้น (26, 27) อย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินดีในขนาดสูงเฉลี่ยวันละ 1,800 IU ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ (28) และระดับวิตามินดีที่สูงเกินอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ดังการศึกษาในปี 2022 ในกลุ่มคน 472 คนที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคโควิด-19 พบว่าความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตใน 28 วันจะเพิ่มขึ้น 137% ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 10 ng/mL และเพิ่มขึ้น 365% ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีที่ 40 ng/mL เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีระดับวิตามินดีในเลือดพอดีระหว่าง 20-30 ng/mL (29)
- มีหลักฐานที่หลากหลายว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคโควิด-19 จะได้รับประโยชน์จากการเสริมวิตามินดีหรือไม่ โดยการศึกษาที่พบว่ามีประโยชน์ เช่น การศึกษาในเบลเยียมที่ผู้ป่วยโควิด-19 ขาดวิตามินดี และการเสริมวิตามินดีช่วยลดระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลจาก 8 วันเหลือ 4 วัน และช่วยลดระยะเวลาการให้ออกซิเจนเสริมลง 42% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่ไม่พบความแตกต่างของระยะเวลาที่เป็นไข้หรือจำนวนการเข้าห้อง ICU หรือระยะเวลาที่อยู่ในห้อง ICI หรือช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลง (30) ส่วนการศึกษาที่ไม่พบประโยชน์ เช่น การศึกษาในรัฐยูทาห์ที่การให้วิตามินดีแก่ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 134 คนที่มีระดับวิตามินดีเฉลี่ย 37 ng/mL ไม่ได้ช่วยลดระยะเวลาที่อาการจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับยาหลอก (31) สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่การให้วิตามินดีเพียงครั้งเดียว 100,000 IU หรือ 200,000 IU ไม่ได้ช่วยลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล ความเสี่ยงในการเข้าห้อง ICU หรือการเสียชีวิตในผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ (32, 33)
5. โรคมะเร็ง สำหรับมะเร็งทุกชนิด โดยทั่วไปมีข้อสรุปว่าการเสริมวิตามินดีในผู้ที่มีระดับวิตามินดีเพียงพออยู่แล้วไม่ได้ช่วยลดอุบัติการณ์โดยรวมการของการเกิดมะเร็ง แต่การเสริมวิตามินดีอาจช่วยลดการลุกลามของเนื้องอกและการเสียชีวิตได้ในบางคนที่ป่วยเป็นมะเร็งอยู่ และการเสริมวิตามินดีในปริมาณมากน้อยครั้ง ดูเหมือนจะไม่เกิดเป็นประโยชน์เหมือนการเสริมเป็นรายวันในปริมาณน้อยลง (34) อย่างไรก็ตาม การรักษาระดับวิตามินดีในเลือดให้อยู่ในระดับเพียงพอหรือสูงกว่า 20 ng/mL (แต่ไม่สูงมาก) อาจช่วยความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้ (1)
- มะเร็งทุกชนิด การศึกษาในกลุ่มผู้ที่มีสุขภาพดีอายุเฉลี่ย 75 ปี จำนวน 2,157 คน ที่ไม่มีประวัติเป็นมะเร็ง โดย 40.7% มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 20 ng/mL พบว่าการเสริมวิตามินดี 3 วันละ 2,000 IU ช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งระยะลุกลามได้ 24% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และหากฝึกความแข็งแรง เสริมโอเมก้า 3 ร่วมด้วยจะลดความเสี่ยงได้ถึง 61% (35) และยังมีรายงานที่ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้หญิงที่มีระดับวิตามินดีมากกว่า 40 ng/mL เมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับต่ำกว่า 20 ng/mL จะมีความสัมพันธ์กับการความเสี่ยงของมะเร็งที่ลุกลามที่ลดลง 65% ยกเว้นมะเร็งผิวหนัง (36) อย่างไรก็ตาม ตรงข้ามกับการศึกษาในชาวอเมริกันที่มีอายุมากจำนวน 25,871 คน (ส่วนใหญ่มีระดับวิตามินดีในเลือดเพียงพอ) ที่ได้รับวิตามินดีวันละ 2,000 IU เป็นเวลา 5.3 ปี ไม่พบว่าช่วยลดการลุกลามของมะเร็งและการเสียชีวิตจากมะเร็งเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (37) ส่วนการวิเคราะห์การทดลอง 13 เรื่องที่รวมทั้งผู้ที่ขาดและไม่ขาดวิตามินดี (อยู่ในช่วง 15-33 ng/mL) แสดงให้เห็นว่าการเสริมวิตามินดีตั้งแต่วันละ 400-20,000 IU ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเมื่อติดตามผลเป็นเวลา 3-19 ปี และสอดคล้องกับการศึกษาอื่นที่ไม่พบการลดลงของการเกิดโรคมะเร็งเมื่อเสริมวิตามินดีในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีระดับวิตามินดีสูงอยู่แล้ว (38)
- มะเร็งเต้านม การศึกษาผู้หญิง 1,666 คน (อายุเฉลี่ย 59 ปี) ที่เป็นมะเร็งเต้านมพบว่ากลุ่มผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดสูงจะมีอัตราการรอดชีวิตโดยรวมสูงสุดเมื่อติดตามผลเป็นเวลา 7 ปี โดยอัตราการเสียชีวิตจะเป็น 19% ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 17 ng/mL ต่อ 14% ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีสูงกว่า และจากการคำนวณในกลุ่มผู้ที่มีระดับวิตามินดี 17-25 ng/mL และมากกว่า 25 ng/mL จะมีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่าที่ 22% และ 28% ตามลำดับ (39) ทำนองเดียวกับการศึกษาทางคลินิก 5 ชิ้นที่พบว่าผู้หญิงที่มีระดับวิตามินดีในเลือดสูงในขณะที่วินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมจะมีโอกาสรอดชีวิตมากเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำสุด (40) อย่างไรก็ตาม การศึกษาในผู้หญิงวัย 80 ที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลามที่มีระดับวิตามินดีในเลือดเพียงพอ พบว่าการเสริมวิตามินดี3 ในขนาดสูง (40,000 IU) ทุกวันเป็นเวลา 2-6 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ไม่ได้ช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเนื้องอกเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก อีกทั้งกลุ่มที่ได้รับวิตามินดียังรู้สึกเหนื่อยล้ามากกว่าด้วย (41)
- มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ การศึกษาในสเปนพบว่าระดับวิตามินดีในเลือดที่ต่ำมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และเมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับวิตามินดี 30 ng/mL ขึ้นไป ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น 63% ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือด 15-20 ng/mL, เพิ่มขึ้น 67% ในผู้ที่มีระดับ 10-15 ng/mL และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 83% ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 10 ng/mL (42)
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก พบว่าระดับวิตามินดีที่สูง สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงในระดับปานกลางของเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (43) โดยจากการทบทวนการศึกษาจำนวน 17 ชิ้นเปรียบเทียบความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก พบว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือด 20-25 ng/mL ความเสี่ยงจะสูงขึ้น 31% ในผู้ที่มีระดับต่ำกว่า 12 ng/mL แต่ความเสี่ยงจะลดลง 19% ในผู้ที่มีระดับ 30-35 ng/mL และลดลง 27% ในผู้ที่มีระดับ 35-40 ng/mL (44) ตรงกันข้ามกับการศึกษาขนาดใหญ่เป็นเวลาปีในสหรัฐอเมริกา (อาสาสมัครส่วนใหญ่มีระดับวิตามินดีเพียงพอ) ที่พบว่าการเสริมวิตามินดี 3 วันละ 1,000 IU และ/หรือแคลเซียม 1,200 มก. ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกที่ลำไส้ใหญ่และทวารหนักในระยะก่อนเป็นมะเร็ง (45)
- มะเร็งตับอ่อน การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าวิตามินดีอาจยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับอ่อนได้ และการทบทวนการศึกษาขนาดใหญ่ 5 ชิ้นสรุปได้ว่าระดับวิตามินดีในเลือดที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับอ่อนที่ลดลง และเมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับวิตามินดีน้อยกว่า 20 ng/mL ความเสี่ยงจะลดลง 25% ในผู้ที่มีระดับวิตามินดี 20-29 ng/mL และลดลง 29% ในกลุ่มผู้ที่มีระดับสูงกว่า 30 ng/mL (46)
- มะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่าวิตามินดีช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากในการศึกษาในห้องปฏิบัติการได้ การศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างระดับวิตามินดีกับความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก ตัวอย่างเช่น การศึกษาขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่พบว่าทั้งระดับวิตามินดีในเลือดที่ต่ำและสูงต่างมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยผู้วิจัยแนะนำว่าช่วง 23-29 ng/mL คือช่วงที่เหมาะสมสำหรับการป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก (47) สอดคล้องกับอีกการศึกษาในผู้ชายอายุ 40-79 ปีที่เข้ารับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก แล้วพบว่าในผู้ที่ระดับวิตามินดีที่ต่ำกว่า 20 ng/mL มีความสัมพันธ์กับโอกาสที่การตรวจจะพบมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น (48)
- มะเร็งผิวหนัง การศึกษาในผู้ที่เป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) ที่เพิ่งตัดเอาเนื้อร้ายออก พบว่าไม่มีความแตกต่างในการรอดชีวิตทั้งในกลุ่มที่เสริมและไม่เสริมวิตามินดีในช่วง 3 ปี (เสริมในขนาดสูงครั้งละ 100,000 IU ทุก 50 วัน) แม้ในช่วงก่อนเริ่มการรักษาผู้ป่วยจะมีระดับวิตามินดี 18 ng/mL หรือต่ำกว่าก็ตาม (49)
6. โรคเบาหวาน การรักษาระดับวิตามินดีในเลือดให้เพียงพออย่างน้อย 25 ng/mL อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2, ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบุคคลที่มีวิตามินดีเพียงพอ (1)
- ระดับวิตามินดีในเลือดที่สูงขึ้นจนถึงระดับหนึ่งสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ลดลง โดยการศึกษาในคน 2,000 คน พบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดี 24-31 ng/mL มีความเสี่ยงต่ำสุดที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในขณะที่ผู้ที่มีระดับระหว่าง 17-24 ng/mL จะมีความเสี่ยงมากกว่า 2.5 เท่า และความเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 3.5 เท่าในผู้ที่มีระดับต่ำกว่า 17 ng/mL นอกจากนี้ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดที่สูงกว่า 31 ng/mL ยังพบว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้นด้วยเล็กน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีระดับ 24-31 ng/mL (50)
- การศึกษาในคนอ้วนที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 20 ng/mL มีแนวโน้มที่จะดื้อต่ออินซูลินมากกว่าคนอ้วนที่ร่างกายมีระดับวิตามินดีเพียงพอถึง 12 เท่า (51) นอกจากนี้ การศึกษาในผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน ยังพบว่าระดับวิตามินดีในเลือดอย่างน้อย 26 ng/mL ดูเหมือนจะจำเป็นต่อการเผาผลาญกลูโคสในร่างกาย และในผู้ที่มีวิตามินดีระดับนี้ยังมีระดับไขมันในร่างกาย กลูโคสในเลือด อินซูลิน และไตรกลีเซอไรด์น้อยกว่าผู้หญิงที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำด้วย (52) สอดคล้องกับอีกการศึกษาในผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ (10 ng/mL) แต่ยังไม่ได้เป็นเบาหวาน พบว่าการเสริมวิตามินดี3 10,000 IU 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 6 เดือน ช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้เล็กน้อยจากค่าเฉลี่ย 2.63 เหลือ 2.4 และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารได้เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (53) อย่างไรก็ตาม การทดลองที่ควบคุมด้วยยาหลอกในผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและมีวิตามินดีในเลือดต่ำ กลับพบว่าการเสริมวิตามินดีวันละ 3,000 IU เป็นเวลา 6 เดือน ไม่ได้ช่วยให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือการทำงานของอินซูลินดีขึ้น (54)
- การศึกษาในญี่ปุ่นในผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำเฉลี่ย 13 ng/mL พบว่ากลุ่มที่ได้รับวิตามินดี3 วันละ 420 IU เป็นเวลา 1 ปี มีผลช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารจากค่าเฉลี่ย 88.3 เป็น 85.3 mg/dL และคะแนน HOMA-IR ที่ใช้วัดความดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินก็ลดลงจาก 1.17 เป็น 0.84 (55)
- การวิจัยเชิงสังเกตได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างระดับวิตามินดีในเลือดที่เพียงพอกับความเสี่ยงที่ลดลงของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (56) ส่วนการศึกษาขนาดใหญ่ที่ควบคุมด้วยยาหลอกเป็นเวลา 2.5 ปี ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและมีระดับวิตามินดีในเลือดเพียงพอ พบว่าการได้รับวิตามินดีวันละ 4,000 IU ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ในกลุ่มย่อยที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 12 ng/mL กลับพบว่ามีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกถึง 62% (57)
- การศึกษาในผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำมาก (เฉลี่ย 10 ng/mL) พบว่าการรับประทานวิตามินดี3 หลังอาหารเช้า เฉลี่ยวันละประมาณ 2,140 IU เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้ความไวต่ออินซูลินดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (58)
- การศึกษาในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีระดับวิตามินดีเพียงพอ (20 ng/mL ขึ้นไป) พบว่าการเสริมวิตามินดีอาจไม่มีประโยชน์ และไม่ได้ช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น (59, 60) ในขณะที่การศึกษาในผู้เป็นโรคนี้ที่มีอาการปลายประสาทอักเสบร่วมด้วย แต่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ (เฉลี่ย 15 ng/mL) พบว่าการเสริมวิตามินดีวันละ 5,000 IU เป็นเวลา 8 สัปดาห์นอกเหนือจากการรักษาด้วยยามาตรฐาน ช่วยลดความเจ็บปวดโดยรวมเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยามาตรฐานเพียงอย่างเดียว (61)
- ในโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การเสริมวิตามินดีและแคลเซียมร่วมกัน อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้หญิงที่เป็นโรคนี้ โดยการศึกษาพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ เมื่อได้รับแคลเซียมวันละ 1,000 มก. ร่วมกับวิตามินดี3 50,000 IU ในช่วงเริ่มต้น และอีก 50,000 IU ในสัปดาห์ที่ 3 มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ และมีระดับอินซูลินในเลือดลดลงและเพิ่มความไวต่ออินซูลิน (62)
7. โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิต และคอเลสเตอรอล การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกี่ยวข้องกับระดับวิตามินดีในเลือดที่ลดลง การให้เสริมวิตามินดีขนาดปานกลาง 600-1,000 IU ในผู้ที่ขาดวิตามินดี (ต่ำกว่า 15-20 ng/mL) แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิต คอเลสเตอรอล และความแข็งแรงของหลอดเลือดที่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่การเสริมในขนาดที่สูงขึ้น เช่น 2,000 IU พบว่าให้ประโยชน์น้อยกว่าและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
- การศึกษาเชิงสังเกตพบความสัมพันธ์ระหว่างระดับวิตามินดีที่สูงขึ้นและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) และการเสียชีวิตที่ลดลง ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์การศึกษาเชิงสังเกต 34 เรื่องที่ติดตามผู้เข้าร่วม 180,667 คน (อายุเฉลี่ยมากกว่า 50 ปี) เป็นเวลา 1.3-32 ปี ผลการวิจัยพบว่าระดับวิตามินดีในเลือดมีความสัมพันธ์ผกผันกับจำนวนการเกิดโรค CVD ทั้งหมด (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง) และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต (63) สอดคล้องกับการศึกษาที่พบว่าระดับวิตามินดีที่ต่ำเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าการขาดวิตามินดีก่อให้เกิดโรคเหล่านี้หรือเพียงแค่บ่งบอกถึงสุขภาพที่ไม่ดีเมื่อเกิดโรคเรื้อรังดังกล่าว (64)
- การศึกษาในผู้ชายที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 15 ng/mL พบว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีระดับวิตามินดี 30 ng/mL หรือสูงกว่า ทำนองเดียวกับการศึกษาที่ใช้เวลา 6 ปี ในผู้ใหญ่ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 30 ng/mL จะมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ และโรคเบาหวาน มากกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีที่สูงกว่านี้ (65) หรือการศึกษาที่ติดตามผู้ชายและผู้หญิงจำนวน 230,000 คน (อายุเฉลี่ย 48 ปี) เป็นเวลา 5 ปี พบว่าความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดจะสูงขึ้น 35% ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 15 ng/mL (66)
- การขาดวิตามินดีเชื่อมโยงกับความดันโลหิตสูงในเด็กและวัยรุ่น โดยการศึกษาในปี 2018 พบว่าระดับวิตามินดีในเลือดมีความสัมพันธ์กับดัชนีความแข็งของหลอดเลือดแดง (67)
- การศึกษาในผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่ได้ขาดวิตามินดีที่ได้รับวิตามินดีวันละ 2,000 IU เป็นเวลาเฉลี่ย 5.3 ปี พบว่าไม่มีการลดลงของการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (68) ทำนองเดียวกับการศึกษาในอังกฤษที่การเสริมวิตามินดีวันละ 2,000-4,000 IU เป็นเวลา 1 ปีในผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่มีผลที่มีนัยสำคัญของต่อความดันโลหิต การแข็งตัวของหลอดเลือดแดง หรือการทำงานของหัวใจ (69) ในทางกลับกัน การศึกษาขนาดใหญ่ก่อนหน้านี้ 2 งานที่แสดงให้เห็นว่าผู้ชายที่ได้รับวิตามินดีวันละ 600 IU ขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่า 16% ในช่วงเวลาประมาณ 20 ปี เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับรับวิตามินดีน้อยกว่าวันละ 100 IU แต่ไม่พบประโยชน์แบบเดียวกันในกลุ่มผู้หญิง (70)
- แม้ระดับวิตามินดีที่ต่ำมักเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตที่สูงขึ้น แต่จากการทบทวนอย่างครอบคลุมของการทดลอง 46 ชิ้น สรุปได้ว่าวิตามินดีไม่มีผลในการลดความดันโลหิตและไม่ควรใช้เป็นยาลดความดันโลหิต เช่น การศึกษาในปี 2013 ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงที่การเสริมวิตามินดี3 เฉลี่ยวันละ 1,100 IU เป็นเวลา 1 ปี ไม่มีผลต่อความดันโลหิต สุขภาพหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงระดับคอเลสเตอรอล (71)
- การศึกษาในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีน้ำหนักตัวเกินและเป็นโรคอ้วน พบว่าการเสริมวิตามินดี3 วันละ 1,000 IU เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เพิ่มขึ้น 7% อย่างไรก็ตาม คอเลสเตอรอลรวมก็เพิ่มขึ้น 1.7% และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มขึ้น 4% แต่ที่น่าสนใจคือ ไขมันในร่างกายลดลงถึง 9.6% แม้น้ำหนักตัวจะไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม (72) ส่วนการศึกษาที่ใหญ่ขึ้นและนานขึ้นเป็นเวลา 2 ปี ในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับวิตามินดี3 วันละ 400 IU และแคลเซียมคาร์บอเนต 1,000 มก. พบค่า LDL ลดลง 4.5 mg/dL แต่ไม่มีผลต่อคอเลสตอรอลรวม HDL และไตรกลีเซอไรด์ (73)
- การศึกษาขนาดเล็กในวัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วน (ส่วนใหญ่ร่างกายไม่ได้ขาดวิตามินดี) ที่ได้รับวิตามินดี3 เฉลี่ยวันละ 3,333 IU เป็นเวลา 3 เดือน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของหลอดเลือดและระดับอินซูลินและกลูโคส แต่พบการเพิ่มขึ้นของไตรกลีเซอไรด์ 32% และคอเลสเตอรอลรวม 9% (74) หรือในการศึกษาขนาดใหญ่ที่ควบคุมด้วยยาหลอกในผู้สูงอายุที่การให้วิตามินดี3 เดือนละ 100,000 IU เป็นเวลา 3 ปี พบว่าอุบัติการณ์เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดไม่ได้ลดลง แม้จะในผู้ที่มีขาดวิตามินดีก็ตาม (75) อย่างไรก็ตาม การศึกษาเป็นเวลา 16 สัปดาห์ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินและขาดวิตามินดี (เฉลี่ย 15 ng/mL) พบว่าการได้รับวิตามินดีในขนาดสูง 60,000 หรือ 120,000 IU เดือนละครั้ง ช่วยลดการแข็งตัวของหลอดเลือดประมาณ 8-10% ในขณะที่การให้ในขนาดที่ต่ำกว่าหรือ 18,000 IU ต่อเดือนไม่พบผลกระทบดังกล่าว (76)
8. โรคภูมิแพ้ (Allergies) ระดับวิตามินดีในเลือดที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ที่ลดลงในเด็กและวัยรุ่น โดยจากการทบทวนข้อมูลการศึกษารวมกว่า 6,000 คน พบว่าเด็กและวัยรุ่นที่มีระดับวิตามินดีในเลือดน้อยกว่า 15 ng/mL จะพบอาการแพ้จากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ได้บ่อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีระดับวิตามินดีในเลือด 30 ng/mL หรือมากกว่า (77) ส่วนการศึกษาอื่น ๆ ได้แก่
- การศึกษาแบบปกปิดสองทาง (Double-blind) ในผู้ชายและผู้หญิง 68 คน (อายุเฉลี่ย 29 ปี) ในอิหร่านที่เป็นโรคภูมิแพ้ตามฤดูกาล (โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้) ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ (เฉลี่ย14.4 ng/mL) พบว่าผู้ที่รับประทานวิตามินดี3 เพียงครั้งเดียวในขนาด 50,000 IU ต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2 เดือน นอกเหนือจากยาต้านฮิสตามีน (Cetirizine) พบว่าผู้ป่วยมีอาการคันจมูก จาม และน้ำมูกไหลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับยาต้านฮิสตามีนเพียงอย่างเดียว (78)
- การเสริมวิตามินดีในระหว่างการตั้งครรภ์และเสริมให้ทารก พบว่าช่วยลดความเสี่ยงของอาการแพ้ไรฝุ่นและลดการไปพบแพทย์ในช่วงวัยเด็ก (79)
- The American Academy of Allergy Asthma and Immunology (AAAAI) ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของการได้รับวิตามินดีต่ำและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการแพ้ ตัวอย่างเช่น เด็กที่อาศัยอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรจะมีอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคภูมิแพ้น้อยกว่า (80)
9. โรคหอบหืด (Asthma) การเสริมวิตามินดีในระดับปานกลางอาจทำให้อาการของโรคหอบหืดในเด็กดีขึ้นและในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืดที่ไม่สามารถควบคุมได้ และการเสริมวิตามินดีก่อนคลอดอาจลดความเสี่ยงต่อโรคหอบหืดในเด็กได้ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์นี้ดูเหมือนจะจำกัดเฉพาะผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำมาก (น้อยกว่า 10 ng/mL) โดยมีรายละเอียดการศึกษาดังนี้
- การเสริมวิตามินดีช่วยลดอัตราการกำเริบของโรคหอบหืดในผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ แต่มีผลเฉพาะในผู้ที่มี ระดับวิตามินดีต่ำมากเท่านั้น คือ น้อยกว่า 10 ng/mL และไม่พบประโยชน์ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีสูงกว่านี้ (81)
- การศึกษาขนาดเล็กที่ไม่ได้ควบคุมด้วยยาหลอกในผู้ที่เป็นโรคหืดอายุ 65 ปีขึ้นไป พบว่าการเสริมวิตามินดี3 วันละ 2,000 IU เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ช่วยให้อาการของโรคหอบหืดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (82) ขัดแย้งกับการศึกษาทางคลินิกในปี 2014 ที่พบว่าการเสริมวิตามินดีในขนาดสูง (วันละ 4,000 IU) ไม่ได้ช่วยลดอาการกำเริบและเพิ่มความสำเร็จในการรักษาในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืดเรื้อรังและมีภาวะขาดวิตามินดี (83)
- การศึกษาในประเทศญี่ปุ่นในกลุ่มเด็กนักเรียนที่เป็นโรคหอบหืด พบว่าการเสริมวิตามินดีวันละ 800 IU เป็นเวลาสองเดือน ทำให้การควบคุมโรคหอบหืดดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าการให้ยาหลอก (84) ในทางตรงข้าม การศึกษาที่ควบคุมด้วยยาหลอกในเด็ก 192 คนที่เป็นโรคหอบหืด พบว่าการเสริมวิตามินดีในปริมาณที่สูงมาก (วันละ 4,000 IU) เป็นเวลา 48 สัปดาห์ ไม่ได้ลดจำนวนวันก่อนที่จะเกิดอาการกำเริบครั้งต่อไป หรือช่วยลดการใช้ยาสูดพ่นสเตียรอยด์ (85)
- การทบทวนการศึกษาในปี 2016 รวม 7 เรื่อง พบว่าการเสริมวิตามินดีโดยเฉลี่ยวันละ 900 IU ช่วยลดอาการกำเริบโดยเฉลี่ยที่ต้องใช้ยาสูดพ่นลงจาก 0.44 เป็น 0.22 และช่วยลดความเสี่ยงในการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเมื่อเกิดอาการขอวโรคหอบหืดลงจาก 6% เป็น 3% (86)
- การศึกษาในสหรัฐอเมริกากับหญิงตั้งครรภ์ 806 คนที่ขาดวิตามินดีและมีระดับวิตามินดีต่ำ พบว่าการเสริมวิตามินดี3 วันละ 400 IU ตั้งแต่อายุครรภ์ 10-18 สัปดาห์ต่อเนื่องไปจนกระทั่งคลอด พบว่าโอกาสที่เด็กจะเป็นโรคหอบหืดในช่วงในช่วง 6 ปีแรกของชีวิตต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก (87)
10. ลดการอักเสบ การศึกษาในชาวอเมริกันหลายพันคนพบว่าการเพิ่มระดับวิตามินดีในเลือดให้อยู่ในระดับไม่เกิน 21 ng/mL อาจช่วยลดการอักเสบในร่างกายได้ โดยพบว่า C-reactive protein (CRP) ซึ่งเป็นโปรตีนที่บ่งชี้การอักเสบมีระดับที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ในระดับที่เกินกว่า 21 ng/mL พบว่าไม่เกิดประโยชน์ (88) สอดคล้องกับการศึกษาที่พบว่าการได้รับวิตามินดีในปริมาณ 30,000 IU ต่อเดือน และ 60,000 IU ต่อเดือน ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของตัวบ่งชี้การอักเสบ (89) และดูเหมือนว่าประโยชน์ช่วยลดการอักเสบจะมีผลชัดเจนในผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 8 ng/mL แต่อาจไม่มีประโยชน์ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีเพียงพออยู่แล้ว (90)
11. อาจสนับสนุนการลดน้ำหนัก การศึกษาเชิงสังเกตพบว่าน้ำหนักตัวที่มากขึ้นสัมพันธ์กับระดับวิตามินดีที่ลดลง และผู้ที่เป็นโรคอ้วนมักมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ อย่างไรก็ตาม การทดลองทางคลินิกในปัจจุบันยังไม่สนับสนุนแนวคิดที่ว่าการเสริมวิตามินดีจะช่วยลดน้ำหนักได้ (1, 91)
- การเสริมวิตามินในผู้ที่เป็นโรคอ้วนที่มีภาวะขาดวิตามินดีร่วมกับการวางแผนการกินเพื่อช่วยลดน้ำหนักโดยควบคุมปริมาณพลังงานที่บริโภคเข้าไปในร่างกาย มีผลช่วยลดน้ำหนักและมวลไขมันได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก (91) และการศึกษาที่พบว่าการเสริมแคลเซียมร่วมกับวิตามินดีเสริมทุกวันจะช่วยลดน้ำหนักได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก (92)
- การศึกษาส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่าวิตามินดีไม่มีบาทในการควบคุมน้ำหนัก เช่น การศึกษาในผู้ชายและหญิงที่มีสุขภาพแข็งแรงที่พบว่าการเพิ่มระดับวิตามินดีในเลือดจาก 13 เป็น 24 ng/mL มีผลทำให้มวลกล้ามเนื้อไม่รวมไขมันเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ปอนด์ แต่ไม่ได้ช่วยลดค่าดัชนีมวลกายหรือมวลไขมันในร่างกาย (93) ทำนองเดียวกับการศึกษาเป็นระยะเวลา 12 เดือนที่พบว่าการเสริมวิตามินดี3 ไม่มีผลต่อน้ำหนักหรือมวลไขมันในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วนที่ควบคุมอาหารและออกกำลังกายแบบแอโรบิก 5 วันต่อสัปดาห์ (94)
12. โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) บางหลักฐานพบว่าการเสริมวิตามินดีจะช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นในผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ เช่น การศึกษาในทหารผ่านศึกษาที่มีอาการปวดเรื้อรังและที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำที่พบว่าการเสริมวิตามินดีช่วยให้นอนหลับเร็วขึ้นโดยเฉลี่ย 10 นาที และเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับประมาณ 30 นาที อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่ได้มีการควบคุมและไม่ทราบว่าผลการนอนหลับที่ดีขึ้นมาจากอาหารเสริมหรือเนื่องจากอาการปวดเรื้อรังที่ลดลงตามเวลา (95) ส่วนการศึกษาที่ขัดแย้งกัน เช่น งานวิจัยที่ชี้ว่าการเสริมวิตามินดีในปริมาณสูงอาจรบกวนการผลิตเมลาโทนิน การศึกษาที่พบว่าระดับวิตามินดีในเลือดที่มากกว่า 32 ng/mL อาจทำให้คุณภาพการนอนหลับแย่ลง หรือการศึกษาควบคุมด้วยยาหลอกในนอร์เวย์ในคนจำนวน 189 คนที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำเฉลี่ย 14 ng/mL ที่พบว่าการเพิ่มระดับเป็น 34 ng/mL ด้วยการเสริมวิตามินดี3 ไม่ได้ช่วยเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับหรืออาการนอนหลับ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (96)
13. ภาวะซึมเศร้าและอารมณ์ ระดับวิตามินดีที่ต่ำกว่า 20 ng/mL และการบริโภควิตามินดีที่ลดลง (น้อยกว่า 100 IU) มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงและความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าในบางกรณี (97, 98) อย่างไรก็ตาม การเสริมวิตามินดีไม่ได้แสดงให้เห็นว่าช่วยคนส่วนใหญ่ที่มีภาวะซึมเศร้า หรือในแม้แต่คนที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำก็ตาม นอกจากนี้ การได้รับวิตามินดีมากเกินไปอาจทำให้อาการซึมเศร้าแย่ลงได้ โดยมีการศึกษาที่สำคัญดังนี้
- การทบทวนอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์การศึกษาเชิงสังเกต 14 เรื่อง ซึ่งรวมผู้ใหญ่ทั้งหมด 31,424 คน พบความสัมพันธ์ระหว่างระดับวิตามินดีต่ำกับภาวะซึมเศร้า (99) ระดับวิตามินดีที่ต่ำอาจทำให้อาการของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia), อาการวิตกกังวล (Anxiety) และภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงขึ้น (100) และการทบทวนการศึกษารวม 25 การทดลองที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 7,534 คน พบว่าในผู้ที่มีอารมณ์ด้านลบที่ได้รับวิตามินดีเสริมพบว่ามีอาการดีขึ้น และอาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าที่ขาดวิตามินดีได้ (101) อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์การทดลอง 9 เรื่อง ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นผู้ใหญ่รวม 4,923 คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะซึมเศร้า พบว่าอาการไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังการเสริมวิตามินดี (102)
- ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีเพียงพอ (20 ng/mL หรือมากกว่า) การศึกษาพบว่าการเสริมวิตามินดีไม่ได้ช่วยลดการเกิดภาวะซึมเศร้า (103, 104) ส่วนการศึกษาในออสเตรเลียในผู้สูงอายุ 20,487 คน (อายุเฉลี่ย 69 ปี) พบว่าการเสริมวิตามินดี3 เดือนละ 60,000 IU เป็นเวลา 5 ปี ไม่มีประโยชน์ต่อภาวะซึมเศร้า และในกลุ่มคนที่มีระดับวิตามินดีเพียงพอแต่ไม่ได้รับยาต้านอาการซึมเศร้า ยังพบว่าการเสริมวิตามินดีอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้ต้านอาการซึมเศร้ามากขึ้นด้วย 10% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (105)
- การศึกษานำร่องในสหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ชี้ให้เห็นว่าการเสริมวิตามินดี2 ในขนาดสูงสัปดาห์ละ 50,000 IU ช่วยให้ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรงมีอารมณ์ดีขึ้นอย่างนัยสำคัญ (106) สอดคล้องกับการศึกษาในอิหร่านในคนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อยถึงปานกลางและมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ พบว่าการเสริมวิตามินดี3 วันละ 4,000 IU เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยลดอาการซึมเศร้าลงได้เฉลี่ย 27.5% ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่อาการลดลงเพียง 10.8% (107) อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำ แต่ไม่ได้มีโรคเบาหวาน อย่างการศึกษาในเดนมาร์กในคนที่เป็นโรคซึมเศร้าพบว่าการเสริมวิตามินดีวันละ 2,800 IU เป็นเวลา 6 เดือน ไม่ได้ช่วยลดภาวะซึมเศร้า แม้กับผู้ที่ขาดวิตามินดีมากก็ตาม (108) สอดคล้องกับการศึกษาในเนเธอร์แลนด์ในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าปานกลางและมีระดับวิตามินดีค่อนข้างต่ำ (18 ng/mL) ที่การเสริมวิตามินดีวันละ 1,200 IU ก็ไม่พบประโยชน์เช่นกัน (109)
14. โรคอัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อม ความจำเสื่อม และการทำงานของสมองที่ลดลง โดยสรุปแล้วการรักษาระดับวิตามินดีในเลือดไว้อย่างน้อย 20 ng/mL อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ได้ และการเสริมวิตามินดีในขนาดปานกลางดูเหมือนจะช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองในผู้สูงอายุที่ขาดวิตามินดีและมีความบกพร่องทางสติปัญญาได้เล็กน้อย แต่ในขนาดสูงไม่ได้ช่วยอะไร และการเสริมวิตามินดีก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มการทำงานของสมองในผู้ใหญ่ที่ไม่ได้มีความบกพร่องทางสติปัญญา
- การศึกษาติดตามผลในผู้สูงอายุ 1,658 คนในสหรัฐอเมริกาเป็นระยะเวลาเฉลี่ย 5.6 ปี พบว่าความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์จะเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 20 ng/mL โดยเมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับวิตามินดี 20 ng/mL ขึ้นไป ผู้ที่มีระดับวิตามินดี 10-20 ng/mL จะมีโอกาสเกิดมีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์มากกว่า 53% และ 69% ตามลำดับ และในผู้ที่มีระดับต่ำกว่า 10 ng/mL จะมีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์มากกว่า 125% และ 122% ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังพบว่าระดับที่สูงกว่า 20 ng/mL ไม่น่าจะช่วยลดความเสี่ยงได้อีก (110)
- การศึกษาในฝรั่งเศสในกลุ่มผู้หญิงอายุ 75 ปีขึ้นไป พบว่าการได้รับวิตามินดีจากอาหารในปริมาณมากเฉลี่ยวันละ 444 IU จะมีโอกาสน้อยลงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ (น้อยกว่า 77% เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ได้รับวิตามินดีน้อย) (111) ทำนองเดียวกับการศึกษาในผู้มีสุขภาพดีอายุเฉลี่ย 73 ปีที่ติดตามผลเป็นเวลา 11.4 ปี พบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 20 ng/mL จะมีความเสี่ยงเพิ่มเป็น 3 เท่าต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ ผู้ที่มีระดับต่ำกว่า 10 ng/mL การทํางานของสมองยังเสื่อมถอยลงอีกด้วย (112)
- การศึกษาในผู้ใหญ่เป็นระยะเวลาเฉลี่ย 4.8 ปี พบว่าอัตราการการทำงานของสมอง เช่น ความจำ ทักษะด้านความคิด (ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์) ลดลงในกลุ่มผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 20 ng/mL (113)
- การทดลองทางคลินิกเป็นเวลา 12 เดือนในประเทศจีนกับผู้สูงอายุ 181 คนที่มีภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (MCI) พบว่าการเสริมวิตามินดีวันละ 400 IU พร้อมอาหารหรือหลังอาหาร ส่งผลให้การทำงานสมองเรื่องการรับรู้ดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (114) สอดคล้องกับการศึกษาในผู้สูงอายุเช่นกันที่พบว่าการเสริมวิตามินดีวันละ 800IU เป็นเวลา 12 เดือน ช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานของสมองโดยรวมให้ดีขึ้น 1.81% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่ลดลง 3.28% (115) อย่างไรก็ตาม การทดลองในผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเล็กน้อยที่ส่วนใหญ่มีระดับวิตามินดีเพียงพออยู่แล้ว ไม่พบประโยชน์ของการเสริมวิตามินดีในขนาดสูง 10,000 IU สามครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 6 เดือน (116) และการเสริมในขนาดสูงเป็นเวลา 4 เดือนไม่ได้พบประโยชน์ในด้านนี้ในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำเฉลี่ย 13.6 ng/mL เช่นกัน (117) หรือการให้ขนาด 60,000 IU ต่อเดือน เป็นเวลา 5 ปี แก่ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและมีระดับวิตามินดีในเลือดเพียงพอ 20 ng/mL ขึ้นไป ไม่ได้ช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองด้านความรู้ความเข้าใจหรือช่วยชะลอความบกพร่องทางสติปัญญาเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก (118)
15. โรคพาร์กินสัน การศึกษาในประเทศฟินแลนด์ชี้ให้เห็นว่าระดับวิตามินดีที่สูงขึ้นสามารถช่วยป้องกันโรคพาร์กินสันได้ โดยผู้ที่มีระดับวิตามินดีสูงหรือมากกว่า 20 ng/mL จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสันต่ำกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 10 ng/mL ถึง 65% (119)
16. ภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ (Frailty) การศึกษาพบว่าระดับวิตามินดีในเลือดที่ต่ำหรือสูงนั้นสัมพันธ์กับเกิดภาวะเปราะบาง โดยการศึกษาในผู้หญิงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีระดับวิตามินดีในเลือดระหว่าง 20-29.9 ng/mL จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น 47% ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 15 ng/mL, เพิ่มขึ้น 24% ในผู้ที่มีระดับต่ำกว่า 20 ng/mL และเสี่ยงเพิ่มขึ้น 32% ในผู้ที่มีระดับสูงกว่า 29.9 ng/mL (120) ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Institute of Medicine ที่ระบุว่าวิตามินดีระดับ 20 ng/mL ถือเป็นระดับที่เพียงพอและระดับที่สูงกว่า 30 ng/mL อาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงบางประการ (121) โปรดทราบว่าการเสริมวิตามินดีในขนาดสูงในผู้สูงอายุที่ไม่ได้ขาดวิตามินดี ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ (122)
17. โรคออทิสติกสเปกตรัม (ASD) ระดับวิตามินดีในเลือดที่ต่ำมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดโรคออทิสติกสเปกตรัม โดยการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการเสริมวิตามินดีแก่เด็กที่เป็นโรคออทิสติกสเปกตรัมและร่างกายขาดวิตามินดีอาจช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้ แต่ไม่มีหลักฐานว่าการเสริมวิตามินดีจะมีประโยชน์ต่อเด็กที่เป็นโรคนี้แต่ร่างกายไม่ได้ขาดวิตามินดี
- การศึกษาในเนเธอร์แลนด์พบว่าเด็กที่คุณแม่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 10 ng/mL ในระหว่างการตั้งครรภ์ มีแนวโน้มที่เด็กที่คลอดออกมาจะเป็นออทิสติกเมื่ออายุ 6 ขวบ เพิ่มขึ้น 3.8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีคุณแม่ตั้งครรภ์มีระดับวิตามินดีที่เพียงพอ (20 ng/mL) (123) สอดคล้องกับการศึกษาในจีนที่พบว่าเด็กทารกที่มีระดับวิตามินดีต่ำมาก เมื่อแรกเกิดจะมีแนวโน้มเป็นโรคออทิสติกสเปกตรัมเมื่ออายุ 3 ขวบได้มากกว่าเด็กที่มีระดับวิตามินดีปานกลาง (7 ng/mL เทียบกับ 16 ng/mL ในเด็กที่ไม่ใช่ออทิสติก) และมีการคาดการณ์ว่าความเสี่ยงจะน้อยที่สุดเมื่อเด็กมีระดับวิตามินดีในเลือดอยู่ที่ 19.2 g/mL (124)
- การรักษาเด็กที่เป็นโรคออทิสติกสเปกตรัมในอียิปต์ (อายุ 3 ถึง 10 ปี) ด้วยการเสริมวิตามินดีในขนาดสูงวันละ 5,000 IU ในรูปแบบหยด เป็นเวลา 4 เดือน ส่งผลให้อาการของโรคลดลง ในขณะที่เด็กที่ได้รับยาหลอกไม่มีการเปลี่ยนแปลง (125) สอดคล้องกับการศึกษาในอิหร่านกับเด็ก 43 คนที่เป็นโรคออทิสติกสเปกตรัม (อายุเฉลี่ย 9 ปี) ซึ่งส่วนใหญ่ขาดวิตามินดี พบว่าการให้เสริมวิตามินดีวันละ 300 IU (สูงสุด 6,000 IU/วัน) เป็นเวลา 15 สัปดาห์ ช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม การเสริมวิตามินดีไม่ได้ช่วยปรับปรุงพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น สมาธิสั้น หงุดหงิด พูดจาไม่เหมาะสม หรือชอบเก็บตัว (126)
18. เสริมทักษะการวางแผน การวางกลยุทธ์ และการรับรู้ การศึกษาในนอร์เวย์ที่ศึกษาในวัยรุ่นที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 20 ng/mL พบว่าทำคะแนนแบบทดสอบที่ใช้ประเมินผลการทำงานของผู้บริหาร (Tower of Hanoi และ Tower of London test) ได้แย่กว่า และยังพบว่าการเสริมวิตามินดี3 วันละ 1,520 IU เป็นเวลา 3 เดือน สามารถช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานที่เกี่ยวกับการบริหารได้ (127) ส่วนการศึกษาในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน 42 คนที่เป็นโรคอ้วนพบว่าการเสริมวิตามินดีวันละ 2,000 IU ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการมองเห็น ความจำในการทำงาน และการเรียนรู้ที่ดีขึ้น (ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับในขนาดน้อย 600 IU และกลุ่มที่ได้รับในขนาดสูง 4,000 IU และดูเหมือนกลุ่มหลังที่ได้รับในขนาดสูงจะมีปฏิกิริยาการตอบสนองที่ช้าลงด้วย) (128)
19. ปวดศีรษะ/ไมเกรน ระดับวิตามินดีในเลือดที่ต่ำกว่า 20 ng/mL มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจะเกิดอาการปวดศีรษะได้บ่อยและมีอาการไมเกรนเพิ่มขึ้น โดยการศึกษาในกลุ่มชายวัยกลางคนจำนวน 2,601 คนในฟินแลนด์ พบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำที่สุด (ต่ำกว่า 12 ng/mL) มีแนวโน้มที่จะมีอาการปวดศีรษะบ่อยกว่าผู้ที่มีระดับเลือดสูงกว่าถึง 2 เท่า (129) ส่วนอีกการศึกษาในเกาหลี ในคนจำนวน 157 คนที่เป็นไมเกรน พบว่าอาการปวดหัวเกิดขึ้นได้ในคนที่ขาดวิตามินดี (ต่ำกว่า 20 ng/mL) บ่อยกว่าในคนที่ไม่ขาดถึงวิตามินดีถึง 20% (130)
20. โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute otitis media) การศึกษาในเด็กอายุ 1-5 ปีที่มีประวัติการติดเชื้อที่หูซ้ำ ๆ เด็กที่มีระดับวิตามินดีในเลือดสูงจะมีความเสี่ยงลดลงที่จะเกิดโรคนี้ และการศึกษายังพบว่าการให้วิตามินดีวันละ 1,000 IU เป็นเวลา 4 เดือน ทำให้ระดับวิตามินดีเพิ่มขึ้นจาก 26 ng/mL เป็น 37 ng/mL และมีความเสี่ยงลดลงอย่างเห็นได้ชัดที่จะเกิดการติดเชื้อในหูหรือเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (131)
21. การสูญเสียการได้ยินในผู้สูงอายุ การวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุจำนวน 1,123 คน (อายุเฉลี่ย 76 ปี) พบว่าระดับวิตามินดีที่ต่ำอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดประสาทหูเสื่อมตามอายุ (AHL) (132)
22. โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS) แม้การวิจัยจะชี้ให้เห็นว่าการขาดวิตามินดีเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ (133) แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าการเสริมวิตามินดีจะช่วยลดความเสี่ยงได้ โดยการทบทวนขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) สรุปได้ว่าในผู้ที่มีสุขภาพดีนั้น ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภควิตามินดีกับการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค MS (134)
- การศึกษาในฟินแลนด์พบว่าการที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 12.02 ng/mL ในระหว่างการตั้งครรภ์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค MS ในเด็กสูงกว่า 90% เมื่อเทียบกับคุณแม่ที่มีระดับวิตามินดีอยู่ในระหว่าง 12.02-20.03 ng/mL (135)
- ระดับวิตามินดีในเลือดที่ต่ำสัมพันธ์กับการกลับมาเป็นซ้ำของโรค MS (136, 137)
- การเสริมวิตามินดีอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยารักษาโรค MS หรือยา Interferon ß-1b ได้ (138) อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองทางคลินิกหลายชิ้นที่ตรวจผลของการเสริมวิตามินดีต่อความก้าวหน้าของโรคและอัตราการกำเริบของโรคในผู้ที่เป็นโรค MS ซ้ำและมีระดับวิตามินดีต่ำที่ได้รับการรักษาด้วยยา Interferon ß-1a หรือ Interferon ß-1b กลับไม่พบประโยชน์ (139, 140, 141)
23. โรคเหงือกอักเสบ (Periodontal disease) เนื่องจากวิตามินดีมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพกระดูกและภูมิคุ้มกัน จึงมีการสันนิษฐานว่าการขาดวิตามินดีอาจนำไปสู่โรคเหงือกอักเสบหรือโรคปริทันต์ (การติดเชื้อและการอักเสบของเหงือกและกระดูกรอบฟัน) และการรักษาการขาดวิตามินดีอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ โดยมีรายงานเกี่ยวกับผู้ที่เป็นโรคเหงือกอักเสบชนิดรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาและมีระดับวิตามินดีต่ำ พบว่าการเพิ่มระดับวิตามินดีในเลือดก่อนให้การรักษาสามารถช่วยให้ทันตแพทย์สามารถรักษาโรคนี้ได้ (142)
24. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) การศึกษาที่ควบคุมด้วยยาหลอกในผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวน 240 คน พบว่าการรับประทานวิตามินดี3 (ประมาณวันละ 2,000 IU) ช่วยลดอาการกำเริบในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีประโยชน์ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีเพียงพออยู่แล้ว (143) สอดคล้องกับการศึกษาอื่น เช่น การศึกษาในเบลเยียมที่พบว่าการเสริมวิตามินดี (100,000 IU ทุก 4 สัปดาห์) ช่วยลดการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่เฉพาะในผู้ป่วยที่เริ่มมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 10 ng/mL (144) และการศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์ในกลุ่มผู้สูงอายุจำนวน 775 คน ที่เป็นโรค COPD และโรคหอบหืด พบว่าการเสริมวิตามินดี3 ไม่ได้ช่วยลดความการกำเริบของโรค ยกเว้นในคนที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 10 ng/mL (145)
25. โรคโครห์น (Crohn’s disease) การวิจัยบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่เป็นโรคโครห์นมักมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ และระดับวิตามินดีที่ต่ำอาจเกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค (146) โดยการศึกษาขนาดเล็กในกลุ่มคนที่เป็นโรคนี้ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางและมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ พบว่าการเพิ่มระดับวิตามินดีในเลือดจากค่าเฉลี่ย 16 เป็น 40 ng/mL ในระยะเวลา 24 สัปดาห์ ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง (ประเมินความรุนแรงโดยใช้ดัชนี CDAI ที่ลดลงจาก 230 เหลือ 118 คะแนน) (147)
26. โรคไขมันพอกตับ (NAFLD) ระดับวิตามินดีที่ต่ำสัมพันธ์กับการเกิดโรคไขมันพอกตับ ซึ่งอาจนำไปสู่การอักเสบ แผลเป็นในเนื้อตับ และโรคตับแข็ง (148) การศึกษาเบื้องต้นในผู้ที่เป็นโรคไขมันพอกตับจำนวน 40 คน และมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ (เฉลี่ย 11.8 ng/mL) พบว่าเมื่อให้วิตามินดี3 ปริมาณ 20,000 IU ต่อสัปดาห์ (ประมาณวันละ 2,857 IU) ไขมันที่ตับลดลงประมาณ 5% หลังจากผ่านไปเพียง 4 สัปดาห์ (149)
27. ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) การศึกษาแบบสุ่มในกลุ่มสตรีที่มีน้ำหนักตัวเกิน 58 คน (อายุเฉลี่ย 24 ปี) ที่มีภาวะขาดวิตามินดีและ PCOS พบว่าการรับประทานวิตามินดี3 50,000 IU สัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ มีระดับฮอร์โมนพาราไธรอยด์และเทสโทสเตอโรนลดลง ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน SHBG ลดความรุนแรงของอาการขนดก มีปริมาณรังไข่เพิ่มขึ้น และทำให้รอบเดือนปกติสม่ำเสมอมากขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้อาจหมายถึงสุขภาพการเจริญพันธุ์ที่ดีขึ้น (150)
28. เนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids) การศึกษาของผู้หญิงอายุ 35-49 ปี พบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีสูงกว่า 20 ng/mL มีโอกาสเป็นเนื้องอกในมดลูกต่ำกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำถึง 32% และในทำนองเดียวกัน ยังพบว่าผู้หญิงที่ได้รับแสงแดดอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อวันจะมีโอกาสเกิดเนื้องอกน้อยกว่าผู้หญิงที่ได้รับแสงแดดน้อยกว่าถึง 40% (151)
29. ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (OAB) การศึกษาพบว่าระดับวิตามินดีที่ต่ำมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการเกิดภาวะ OAB (152) เช่นเดียวกับการศึกษาขนาดเล็กในจอร์แดนที่พบว่าผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดีอย่างรุนแรง (ต่ำกว่า 10 ng/mL) มีแนวโน้มที่จะมีอาการกระเพาะปัสสาวะไวเกินมากกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีสูงกว่า 30 ng/mL และการให้วิตามินดีสัปดาห์ละ 50,000 IU เป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ ช่วยให้ผู้ป่วย OAB มีอาการดีขึ้น (153) ในขณะที่การศึกษาอื่นในผู้ที่มีระดับวิตามินดีเพียงพอพบว่าการเสริมวิตามินดีช่วยลดอาการปัสสาวะเล็ด (UUI) ได้ไม่ต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (154)
30. กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) การศึกษาเล็ก ๆ ในผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนและมีระดับวิตามินดีในเลือดเฉลี่ย 27 ng/mL พบว่าการให้วิตามินดี3 ปริมาณสูงเพียงครั้งเดียว (300,000 IU) ช่วยลดอาการปวดในช่วงสองรอบประจำเดือนถัดไปได้ 41% ส่วนอีกการศึกษาในกลุ่มวัยรุ่นที่ขาดวิตามินดีอย่างมาก (ต่ำกว่า 10 ng/mL) ที่มีอาการทางอารมณ์รุนแรงที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการ PMS พบว่าการเสริมวิตามินดีในขนาดสูง (เริ่มต้น 200,000 IU แล้วตามด้วย 25,000 I.U. ทุก 2 สัปดาห์) เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ช่วยลดความรู้สึกหงุดหงิดลงจาก 130 เหลือ 70, ร้องไห้ง่าย ลดจาก 41 เหลือ 30, และความรู้สึกเศร้า ลดจาก 51 เหลือ 31 ในขณะที่ไม่พบความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (155)
31. ดีต่อการตั้งครรภ์ การศึกษาพบว่าระดับวิตามินดีที่เพียงพอและ “พอดี” ในระหว่างตั้งครรภ์มีความสัมพันธ์กับการเติบโตของทารกที่ดีขึ้นและลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ รวมถึงยังช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของคุณแม่ ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกและลดความบกพร่องของฟันในเด็ก อย่างไรก็ตาม วิตามินดีในปริมาณที่สูงขึ้นดูเหมือนว่าจะไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด การติดเชื้อหรือการเข้าห้องอภิบาลของทารกแรกเกิดที่เกิดภาวะวิกฤต (NICU) หรือทำให้พัฒนาการทางการเคลื่อนไหวหรือสติปัญญาของเด็กดีขึ้น โดยการศึกษาที่เกี่ยวข้องมีดังนี้
- ระดับวิตามินดีในเลือดของหญิงตั้งครรภ์มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของทารก โดยพบว่าน้ำหนักแรกเกิดและเส้นรอบศีรษะของทารกจะเพิ่มขึ้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีระดับวิตามินดี 15 ng/mL ขึ้นไป (156)
- การศึกษาในผู้หญิง 8,468 คนในประเทศจีน พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดปกติ คือ 20-30 ng/mL มีโอกาสที่จะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์น้อยกว่าที่มีระดับวิตามินดีในเลือดที่ต่ำกว่า 20 ng/mL (9.73% ต่อ 12% ตามลำดับ) (157)
- การเสริมวิตามินดีในปริมาณที่สูงมากกับหญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับวิตามินดีปกติอยู่แล้ว (60,000 IU เพียงครั้งเดียว) และหญิงตั้งครรภ์ที่ร่างกายขาดวิตามินดี (ระดับน้อยกว่า 10 ng/mL) เดือนละ 120,000 IU พบว่ามีโอกาส 44% ที่จะมีอาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ และ/หรือเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ตรงกันข้ามกับอีกหญิงตั้งครรภ์อีกกลุ่มที่ไม่ได้รับวิตามินดีที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าเพียง 20.3% (ผู้วิจัยแนะนำว่าควรให้วิตามินดีในขนาดต่ำและให้ทุกวันจะดีกว่าการให้ในขนาดที่สูงมากเป็นรายครั้ง) (158)
- การศึกษาในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 392 คน ในสหรัฐฯ ที่ร่างกายมีระดับวิตามินดีเพียงพอ พบว่าการเสริมวิตามินดีวันละ 3,000 IU ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำ การเข้าห้อง NICU การหายใจลำบากหรือการติดเชื้อของทารก เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เสริมแต่วิตามินดี อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าในกลุ่มที่เสริมมีโอกาสสูญเสียการตั้งครรภ์น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่เสริม (159)
- การศึกษาที่พบว่าเด็กเมื่ออายุ 6 ขวบที่คุณแม่ได้รับวิตามินดีในปริมาณสูงจะมีความหนาแน่นของกระดูกมากกว่าและมีความเสี่ยงที่จะเกิดความบกพร่องของเคลือบฟันน้อยกว่ากลุ่มเด็กที่คุณแม่ได้รับวิตามินดีเพียง 400 IU (160, 161)
32. หมดประจำเดือนเร็ว การได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอจากอาหารมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของการหมดประจำเดือนเร็วก่อนอายุ 45 ปี โดยการศึกษาในผู้หญิงมากกว่า 80,000 คน พบว่าผู้หญิงที่ได้รับวิตามินดีจากอาหารสูง (528 IU ต่อวัน) มีความเสี่ยงน้อยกว่า 17% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวิตามินดีจากอาหารน้อย (148 IU ต่อวัน) อย่างไรก็ตาม การได้รับวิตามินจากอาหารเสริมไม่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลง (162)
33. โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย การศึกษาในกลุ่มผู้ชาย 111 คนที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศและมีระดับวิตามินดีต่ำ (เฉลี่ย 14 ng/mL) เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่า กลุ่มที่รับประทานยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Tadalafil) ร่วมกับวิตามินดี3 4,000 IU มีการแข็งตัวของอวัยวะเพศและความต้องการทางเพศมากขึ้น (163) สอดคล้องกับการศึกษาในจีนที่พบว่า การเสริมวิตามินดี3 ร่วมกับไวอากร้า ช่วยปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศได้ดีกว่าที่ได้รับยาไวอากร้าเพียงอย่างเดียว (39% ต่อ 16%) (164)
34. กล้ามเนื้อและความแข็งแรง การเสริมวิตามินดีปานกลาง (วันละ 800-1,000 IU ต่อวัน) อาจช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงในผู้สูงอายุที่มีวิตามินดีในระดับต่ำ แต่ดูเหมือนจะไม่พบประโยชน์ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีเพียงพออยู่แล้ว และวิตามินดีในปริมาณที่สูงขึ้นอาจส่งผลเสียต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ ส่วนในผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยกว่า ผลของการเสริมวิตามินดีก็อาจจะได้ผลเฉพาะในผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำเท่านั้น
- การศึกษาในผู้สูงอายุที่ขาดวิตามินดี (เฉลี่ย 15 ng/mL) และมีประวัติการหกล้ม พบว่าการเสริมวิตามินดีวันละ 1,000 IU มีสัมพันธ์กับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนล่างที่เพิ่มขึ้น 25.3% (165) สอดคล้องกับการศึกษาที่พบว่าการเสริมวิตามินดีวันละ 800 IU ในผู้สูงอายุที่ขาดวิตามินดี ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในทางตรงข้าม การเสริมวิตามินดีในปริมาณมากเพียงครั้งเดียว (300,000 IU) กลับไม่พบการเปลี่ยนแปลงของความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (166) และงานวิจัยอื่น ๆ ได้รายงานถึงผลเสียของการเสริมวิตามินดีในขนาดสูง เช่น การศึกษาในเดนมาร์กที่พบว่าการเสริมวิตามินดี3 วันละ 2,800 IU เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้ความแข็งแรงลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (167) หรือการศึกษาในผู้สูงอายุที่มีระดับวิตามินดีเพียงพออยู่แล้วที่พบว่าการเสริมวิตามินดีวันละ 2,000-4,000 IU ไม่มีผลต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแต่อย่างใด (168) หรือการเสริมในขนาดต่ำวันละ 800 IU หรือสูงวันละ 1,667 IU เป็นเวลา 17 สัปดาห์ ก็ไม่พบว่าช่วยเพิ่มความแข็งแรงได้อย่างมีนัยสำคัญในผู้ที่มีระดับวิตามินดีเพียงพออยู่แล้ว (169) นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่พบว่าการเสริมวิตามินดี3 วันละ 2,000 IU แสดงให้เห็นว่าความแข็งแรงของขาลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (170)
- การทบทวนการศึกษาทางคลินิกรวม 7 ฉบับ ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุ 18-40 ปีที่มีระดับวิตามินดีต่ำ (เฉลี่ย 12.3 ng /mL) พบว่าการเสริมวิตามินดีในขนาดสูงวันละ 2,000 IU เป็นเวลา 1-6 เดือน มีผลช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและขา (171) อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกการศึกษาจะพบประโยชน์ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ เพราะมีการศึกษาที่ควบคุมด้วยยาหลอก (อายุเฉลี่ย 44 ปี) ที่พบว่าวิตามินดีไม่มีผลช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แม้จะพบว่ามวลกล้ามเนื้อไม่รวมไขมันจะเพิ่มขึ้น 1 ปอนด์ก็ตาม (172) สอดคล้องกับการศึกษาในกลุ่มชาย 39 คน (อายุเฉลี่ย 23 ปี) ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ (เฉลี่ย 14 ng/mL) ที่เริ่มเข้าโปรแกรมฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ พบว่าการรับประทานวิตามินดี3 วันละ 8,000 IU เป็นเวลา 3 เดือน ไม่ได้ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหรือมวลกล้ามเนื้อไม่รวมไขมัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้การฝึกร่วมกับยาหลอก ซึ่งผู้วิจัยระบุว่ามันอาจเกิดประโยชน์เฉพาะผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดีอย่างรุนแรงเท่านั้น (น้อยกว่า 10 ng/mL) (173)
35. ลดอาการปวดหลัง การศึกษาในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวเกินและเป็นโรคอ้วนในออสเตรเลียที่มีอาการปวดหลังและขาดวิตามินดี พบว่าการเสริมวิตามินดีในขนาดสูง (เริ่มต้น 100,000 IU ตามด้วย 4,000 IU ต่อวัน เป็นเวลา 16 สัปดาห์) ช่วยลดอาการปวดหลังในกลุ่มผู้ขาดวิตามินดีอย่างรุนแรง (ต่ำกว่า 12 ng/mL) ได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีผลในผู้ที่มีระดับวิตามินดีสูงกว่า 12 ng/mL (174)
36. ลดการหกล้มในผู้สูงอายุ การเสริมวิตามินดีในปริมาณปานกลางเพื่อแก้ไขระดับวิตามินดีในเลือดที่ไม่เพียงพอ อาจช่วยเพิ่มความสมดุลและลดความเสี่ยงของการหกล้มในผู้สูงอายุที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำได้ แต่ปริมาณที่สูงเกินอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มในผู้สูงอายุ
- การศึกษาในผู้หญิงที่มีระดับวิตามินดีไม่เพียงพอ (น้อยกว่า 20 ng/mL) ที่แบ่งการทดลองออกเป็นหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มที่ได้รับวิตามินดีวันละ 400 ไปจนถึง 4,800 IU และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก การศึกษาพบว่าในช่วง 1 ปี กลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีอัตราการหกล้ม 58% ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับวิตามินดี 1,600-3,200 IU มีอัตราการหกล้มน้อยสุดคือ 30% ส่วนกลุ่มที่ได้รับวิตามินดีต่ำหรือสูงกว่านี้ไม่ได้ช่วยลดอัตราการหกล้มน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกแต่อย่างใด โดยผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือด 32-38 ng/mL จะมีอัตราการหกล้มต่ำสุด (21%) ในขณะที่อัตราการหกล้มจะสูงมาก (72%) ในกลุ่มที่มีระดับวิตามินดีในเลือดสูงเกินไป คือ 38-47 ng/mL (175) สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่พบว่าระดับวิตามินดีที่สูงมากเกินไป (44.2 ng/mL) ดูเหมือนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มและกระดูกหักในผู้สูงอายุแทน (176) นอกจากนี้ การเสริมวิตามินดีไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงในหารหกล้มของผู้สูงอายุที่มีระดับวิตามินดีในเลือดเพียงพออยู่แล้ว (177)
- การศึกษาในผู้สูงอายุที่มีระดับวิตามินดีเพียงพอ พบว่าการเสริมวิตามินดีวันะ 1,000, 2,000 หรือ 4,000 IU (ระดับวิตามินดีเพิ่มขึ้นจาก 22 เป็น 32, 35 และ 48 ng/mL ตามลำดับ) จะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น 87% ที่จะหกล้มอย่างรุนแรง, เพิ่มขึ้น 166% ที่จะหกล้มเป็นครั้งแรก และเสี่ยงเพิ่มขึ้น 148% ที่การหกล้มทำให้ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวิตามินดีเพียงวันละ 200 IU (เพิ่มเป็นระดับ 27 ng/mL) (178, 179) สอดคล้องกับการศึกษาในผู้หญิงสูงวัยที่มีความเสี่ยงต่อหกล้มและกระดูกหักที่มีระดับวิตามินดีเพียงพอ พบว่าการเสริมวิตามินในขนาดสูงปีละ 500,000 IU จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม 31% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกในช่วง 3 เดือนแรก (180)
37. โรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า (BPPV) มีสมมติฐานว่าการขาดวิตามินดีอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค BPPV เนื่องจากการศึกษาในอังกฤษพบว่าโรคนี้จะพบได้บ่อยในช่วงเดือนที่ร่างกายได้รับวิตามินดีต่ำ หรือการศึกษาในโปรตุเกสในคนที่มีประวัติเป็นโรคนี้ การเสริมวิตามินดีวันละ 5,000 IU (ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 20 ng/mL) หรือวันละ 800 IU (ในผู้ที่มีระดับสูงกว่า 20 ng/mL) ในช่วง 12 เดือน พบว่าไม่มีใครเกิดอาการ BPPV ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับวิตามินดีแต่ละคนเกิดอาการประมาณ 1-3 ครั้ง ซึ่งหลักฐานนี้บ่งชี้ว่าวิตามินดีอาจช่วงป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค BPPV ได้ (181) สอดคล้องกับอีกการศึกษาในกลุ่มทดลองที่มีขนาดใหญ่กว่าที่พบว่าการเสริมวิตามินดี 400 IU และแคลเซียมคาร์บอเนต 500 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 เดือน มีโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของ BPPV ต่ำกว่า 24% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (182)
38. ภาวะทนการอยู่ในท่ายืนไม่ได้ (Orthostatic intolerance) เป็นภาวะที่ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลมขณะยืน โดยบางการศึกษาในผู้มีภาวะนี้และขาดวิตามินดี พบว่าการเสริมวิตามินดีวันละ 2,000-5,000 IU เป็นเวลา 2 เดือน สามารถช่วยระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะสามารถทนต่อการยืนได้ประมาณ 15 นาที อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่มีกลุ่มควบคุม จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการเสริมวิตามินดีจะมีประโยชน์ต่อภาวะนี้หรือไม่ (183) และยังขัดแย้งกับอีกการศึกษาในผู้สูงอายุที่พบว่าการเสริมวิตามินดีไม่ได้ช่วยลดอาการของภาวะดังกล่าว (184)
39. โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นภาวะที่มีอาการปวดเรื้อรังตามกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนทั่วร่างกาย โดยการศึกษาบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แนะนำว่าการเสริมวิตามินดีอาจช่วยให้อาการของโรคนี้ดีขึ้น โดยมีการศึกษาที่พบว่าการเพิ่มระดับวิตามินในเลือดจากค่าเฉลี่ย 19 ng/mL เป็นประมาณ 50 ng/mL มีความสัมพันธ์กับอาการปวดของโรคที่ลดลงเล็กน้อย (ลดลง 20 จุดจากระดับ 100 จุด) (185) แต่ก็มีการศึกษาในกลุ่มคนที่เป็นโรคนี้แต่มีระดับวิตามินดีในเลือดปกติก็ไม่พบว่าการเสริมวิตามินดี3 สัปดาห์ละ 50,000 IU เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ไม่ได้ช่วยให้อาการต่าง ๆ ของโรคดีขึ้นแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (186)
40. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ระดับวิตามินดีที่ต่ำมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่สูงขึ้น และอาจเกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการลุกลามของโรคอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้น และการรับประทานวิตามินดีให้พอประมาณอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้
- การศึกษาในประเทศจีนพบว่าระดับเฉลี่ยของวิตามินดีของผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อยู่ที่ 17.2 ng/mL ในขณะที่กลุ่มควบคุมที่ไม่เป็นโรคอยู่ที่ 23.2 ng/mL โดยในบรรดาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ ระดับวิตามินดีที่ลดลงมีความสัมพันธ์กับอัตราการเกิดข้อบวม ข้ออ่อน ปวดข้อ และข้อแข็งในตอนเช้า รวมทั้งโรคกระดูกพรุนและโรคกระดูกพรุน (187)
- การศึกษาในฝรั่งเศสในกลุ่มผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ระยะแรกจำนวน 643 คน พบว่าความรุนแรงของโรคมากขึ้นในผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดี (น้อยกว่า 10 ng/mL) เมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับวิตามินดีที่สูงกว่า และการขาดวิตามินดียังสัมพันธ์กับโอกาสการเกิดความพิการที่มากขึ้นด้วย (188)
41. โรคลมพิษ (Urticaria) การศึกษา 12 สัปดาห์ที่ควบคุมด้วยยาหลอกในกลุ่มผู้ป่วยลมพิษเรื้อรัง 120 คนในอินเดียที่ขาดวิตามินดี (เฉลี่ย 14 ng/mL) พบว่าการเสริมรับวิตามินดี3 ปริมาณ 60,000 IU ทุกสองสัปดาห์ (เฉลี่ยวันละ 4,286 IU) ช่วยลดความรุนแรงของโรคและระดับของสารไซโตไคน์ในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ (189)
42. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) การศึกษาพบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดมากกว่า 20 ng/mL จะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ ในขณะที่ระดับที่สูงกว่า 30 ng/mL ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ (190) สอดคล้องกับการศึกษาในประเทศอียิปต์ในกลุ่มคนที่เป็นโรคนี้ชนิดรุนแรงจำนวน 86 คน พบว่าการรับประทานวิตามินดี3 วันละ 1,600 IU เป็นเวลา 3 เดือน นอกเหนือจากการทาครีมไฮโดรคอร์ติโซน 1% วันละ 2 ครั้ง ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับการใช้ครีมไฮโดรคอร์ติโซนเพียงอย่างเดียว (191)
43. ผู้ใช้ยาสแตติน (Statin) ในผู้ที่ใช้ยากลุ่มสแตตินเพื่อลดคอเลสเตอรอล การรักษาระดับวิตามินดีในเลือดให้เพียงพอด้วยการเสริมวิตามินดีอาจมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น
- อาจช่วยเสริมประสิทธิภาพของยาสแตติน โดยอาจมีผลช่วยลดคอเลสเตอรอลรวม ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) จึงอาจใช้เป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้ (192)
- การใช้ยาสแตตินอาจลดของประสิทธิภาพการออกกำลังกายได้ และการเสริมวิตามินดีอย่างเพียงพอร่วมด้วยอาจช่วยลดผลกระทบในเรื่องนี้ได้ (193)
- ร่างกายจำเป็นต้องใช้วิตามินดีมากขึ้นเมื่อคุณรับประทานยาสแตติน เพราะจากการศึกษาการให้วิตามินดีแก่ผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำ พบว่าในผู้ที่ใช้ยาสแตตินจะมีระดับวิตามินดีในเลือดเพิ่มขึ้นน้อยกว่าผู้ที่ไม่ใช้ยาสแตตินประมาณ 21.4% ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำแนะนำให้เสริมวิตามินดีในปริมาณที่สูงขึ้นกว่าปกติเล็กน้อยในกลุ่มผู้ใช้ยาสแตติน (194)
44. ลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวม จากการทบทวนการศึกษาได้ข้อสรุปว่า การเสริมวิตามินดี3 อาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมของผู้สูงอายุได้อย่างมีนัยสำคัญถึง 11% (ในขณะที่วิตามินดี2 ไม่มีผล) และยังพบว่าประมาณ 13% ของการเสียชีวิตทั้งหมดอาจมีสาเหตุมาจากระดับวิตามินดีที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (195) ส่วนการศึกษาอื่น ๆ ได้แก่
- การศึกษาติดตามผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีกว่า 300,000 คน เป็นเวลาเฉลี่ย 8.9 ปี พบว่าความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงเวลานั้นจะลดลงเมื่อระดับวิตามินดีในเลือดเพิ่มขึ้นเป็น 24 ng/mL (หรือ 19 ng/mL สำหรับการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง) (196)
- การศึกษาติดตามในชายชาวยุโรปจำนวน 1,970 คน (อายุ 40-79 ปี) เป็นเวลาเฉลี่ย 12.3 ปี พบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำมากหรือน้อยกว่า 9.3 ng/mL จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 83% เมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับระดับวิตามินดีสูง (197)
- การวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ป่วย 3,509 รายที่ฟื้นตัวจากการผ่าตัดที่ไม่เกี่ยวกับหัวใจ พบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดสูงจะมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงหลังการผ่าตัด รวมถึงการเสียชีวิต โดยเมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่า 13 ng/mL ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจะลดลงเหลือ 65% ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือด 13-20 ng/mL, ลดลงเหลือ 53% ในผู้ที่มีระดับ 20-27 ng/mL และลดลงเหลือ 44% ในผู้ที่มีระดับ 27-36 ng/mL แต่ที่น่าสนใจคือ ในผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดสูงกว่า 36 ng/mL โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจะไม่ได้ลดลงไปมากกว่านี้และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 49% แทน (198)
อาหารเสริมวิตามินดีเกี่ยวข้องกับประโยชน์หลายอย่าง แต่ดูเหมือนประโยชน์ส่วนใหญ่จะจำกัดเฉพาะในผู้ที่ร่างกายขาดวิตามินดี ในคนส่วนใหญ่การเสริมวิตามินดีจากอาหารเสริมอาจไม่จำเป็น และการเสริมในขนาดที่สูงมากอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย
หมายเหตุ : 40 IU (หน่วยสากล) = 1 mcg (ไมโครกรัม) หรือ 400 IU = 10 mcg
ข้อควรรู้และคำแนะนำ
- ต้องออกแดดกี่นาที ? : การออกแดดประมาณ 10-15 นาที หรืออย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์โดยไม่ทาครีมกันแดดก็เพียงพอที่ร่างกายจะได้รับวิตามินดีแล้ว
- แหล่งที่มาของวิตามินดี 2 ได้แก่: เห็ด, อาหารเสริมวิตามินดี2 และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวิตามินดี2 (เช่น อาหารเช้าซีเรียลสูตรสำหรับทารก มาการีน น้ำส้ม นม)
- แหล่งที่มาของวิตามินดี 3 ได้แก่: แสงแดด, เนย, ชีส, ไข่แดง, ตับ, ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอน ปลาทูน่า และน้ำมันปลา, อาหารเสริมวิตามินดี3, อาหารเสริมวิตามินดี3 ที่ทำจากไลเคน (สำหรับผู้ทานมังสวิรัติ), และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวิตามินดี3 (เช่น อาหารเช้าซีเรียลสูตรสำหรับทารก มาการีน น้ำส้ม นม)
- อาหารให้ที่ให้วิตามินดีสูง (เรียงจากมากไปน้อย) ได้แก่ น้ำมันตับปลา, ปลาเทราต์, ปลาแซลมอน, เห็ดขาวดิบ, นม, นมถั่วเหลือง, นมอัลมอนด์, นมข้าวโอ๊ต, ซีเรียล, ปลาซาร์ดีน
- ปริมาณที่แนะนำต่อวัน : สำหรับคนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 1-70 ปี (รวมถึงหญิงตั้งครรภ์และหญิงนมบุตร) คือ วันละ 600 IU (15 mcg) และวันละ 800 IU (20 mcg) สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ส่วนการรับประทานเพื่อป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป คือ วันละ 800-1,000 IU พร้อมอาหารเสริมแคลเซียม (1)
- รูปแบบอาหารเสริมวิตามินดี : แนะนำให้เลือกซื้อวิตามินดี3 (Cholecalciferol) แทนวิตามินดี2 (Ergocalciferol) เนื่องจากวิตามินดี3 มีแนวโน้มที่จะช่วยเพิ่มระดับวิตามินดีในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
- ขนาดที่แนะนำ : ขนาดที่แนะนำโดยทั่วไปต่อวันสำหรับวิตามินดีในรูปแบบอาหารเสริมคือวันละ 400-600 IU สำหรับการเสริมวิตามินดี3 ที่สูงขึ้นในระดับปานกลาง คือ วันละ 1,000–2,000 IU ก็ถือว่าเพียงพอต่อความต้องการสำหรับคนส่วนใหญ่และ ส่วนขนาดสูงสุดที่ยอมรับได้ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คือ วันละ 4,000 IU ไม่ควรเกินจากนี้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
- คำแนะนำในการรับประทาน : ควรรับประทานอาหารเสริมวิตามินดีพร้อมกับมื้ออาหารที่มีไขมันเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึม เนื่องจากวิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน
- ผู้ที่มีแนวโน้มขาดวิตามินดี : แม้ร่างกายจะสามารถสร้างวิตามินดีเองได้ แต่บางคนก็มีแนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีได้มากกว่าคนอื่น ๆ ได้แก่ :
- ขาดการได้รับแสงแดด เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่เมืองหรือพื้นที่ที่มีมลพิษสูง ผู้ที่ทำงานกลางคืน พนักงานออฟฟิศ
- หลีกเลี่ยงแสงแดดหรือใช้ครีมกันแดด เพราะกลัวเรื่องผิวเสียหรือเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง
- สีผิว เพราะเม็ดสีในผิวหนังจะเป็นลดความสามารถในการดูดซับรังสี UVB จากดวงอาทิตย์ ทำให้คนผิวคล้ำหรือผิวดำจะได้รับวิตามินดีจากแสงแดดน้อยกว่าคนผิวขาวอย่างมาก
- ผู้สูงอายุ เพราะความสามารถของผิวหนังในการสังเคราะห์วิตามินดีจะลดลงตามอายุ ประกอบกับผู้สูงอายุมักใช้เวลาอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน เพราะระดับไขมันในร่างกายที่สูงจะจำกัดความสามารถของร่างกายในการดูดซึมวิตามินดีจากผิวหนัง (วิตามินดีจำนวนมากจะถูกขังอยู่ในเนื้อเยื่อไขมันมากกว่าที่จะนำไปใช้ในเลือด)
- ศาสนาหรือวัฒนธรรม เช่น ผู้หญิงที่สวมฮิญาบในศาสนาอิสลามที่ต้องสวมผ้าคลุมศีรษะ อาจทำให้ไม่ได้รับแสงแดดเพียงพอที่ผิวหนังจะสร้างวิตามินดีได้
- อื่น ๆ เช่น ผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลานานหรือเกิดจากแม่ที่ขาดวิตามินดี, ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการดูดซึมไขมัน, ผู้ที่ทำบายพาสกระเพาะอาหาร, ผู้ที่เป็นโรคคลั่งผอม, ผู้ที่เป็นโรคตับหรือโรคไตเรื้อรัง, ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการสังเคราะห์หรือการเสื่อมสลายของวิตามินดี (เช่น Carbamazepine, Efavirenz, Phenobarbital, Phenytoin, Primidone, Rifampin)
- อาการของการขาดวิตามินดี : คนส่วนใหญ่ที่มีภาวะขาดวิตามินดีมักจะไม่มีอาการแสดง และอาการของการวิตามินดีในช่วงแรกก็มักไม่ชัดเจน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตัวเองขาดวิตามินดี จนกระทั่งไปตรวจสุขภาพหรือแพทย์สั่งให้ตรวจเลือดเพื่อหาระดับวิตามินดี สำหรับอาการที่อาจพบได้ คือ อาการเหนื่อยล้า ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกระดูก ปวดข้อหรือข้อฝืด กระดูกเปราะบางหรือเกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุ โรคกระดูกอ่อน หรือโรคกระดูกพรุน เกิดการติดเชื้อได้บ่อย (เช่น หวัดหรือไข้หวัดใหญ่) มีภาวะซึมเศร้า ผมร่วง สุขภาพช่องปากไม่ดี บาดแผลที่ผิวหนังใช้เวลานานในการรักษา (199)
- นอกจากนี้ หากการขาดวิตามินดียังไม่ได้รับการแก้ไขหรือวิตามินดีในเลือดต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดโรคหรืออาการหรือภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น โรคทางระบบประสาทหรือเกิดความบกพร่องทางความจำและความคิดในผู้สูงอายุ, ภาวะเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด, ปัญหาภูมิต้านทานผิดปกติหรือเกิดการติดเชื้อ, ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์, โรคมะเร็งบางชนิด รวมทั้งเต้านม ต่อมลูกหมาก และลำไส้ใหญ่, โรคไต, โรคหอบหืดรุนแรงในเด็ก หรือเพิ่มความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ เป็นต้น
- การตรวจของแพทย์ : แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะขาดวิตามินดีได้จากการตรวจเลือด หากคุณมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ แพทย์มักจะแนะนำให้รับประทานวิตามินดีเสริม และอาจสั่งตรวจเอกซ์เรย์เพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของกระดูกร่วมด้วย
ผลเสีย/ผลข้างเคียงวิตามินดี
การเสริมวิตามินดีในรูปแบบอาหารเสริมในขนาดสูงเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดผลเสียหรือผลข้างเคียงได้ ตัวอย่างเช่น
- การเสริมวิตามินดี 3 ขนาด 60,000 IU เดือนละครั้งเป็นเวลา 5 ปี มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุที่เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (200)
- ระดับวิตามินดีในเลือดที่สูงเกิน (46 ng/mL) พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เมื่อเทียบกับระดับ 30 ng/mL (201)
- ระดับวิตามินดีในเลือดที่สูงกว่า 36 ng/mL จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 13% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีระดับ 20-36 ng/mL (202)
- วิตามินดีในปริมาณสูง (เฉลี่ยวันละ 4,370 IU) อาจลดการผลิตเมลาโทนินในร่างกาย ในขณะที่ผู้ได้รับขนาดในต่ำวันละ 800 IU ต่อวัน การผลิตเมลาโทนินไม่ได้ลดลง (203) สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่พบว่าการเสริมวิตามินดีวันละ 2,000 IU เป็นเวลา 12 เดือน ทำให้คุณภาพการนอนหลับแย่ลง (204)
- การเสริมวิตามินดีในปริมาณสูงวันละ 2,800 IU เป็นเวลา 8 สัปดาห์ แก่ผู้ที่ร่างกายไม่ได้ขาดวิตามินดี อาจเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลรวมและระดับไตรกลีเซอไรด์ได้เล็กน้อย (205)
- การเสริมวิตามินดีในปริมาณสูง (96,000-120,000 IU) ทุก 2 เดือน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เมื่อเทียบกับการได้รับปริมาณต่ำ (400 IU) ทุกวัน (21)
- การเสริมวิตามินดีมากเกินไป เช่น ปริมาณ 50,000 IU ต่อสัปดาห์ขึ้นไป และ/หรือทำให้มีระดับวิตามินดีในเลือดมากกว่า 50 ng/mL อาจทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง และเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น ท้องผูก ปวดศีรษะ หงุดหงิด สับสน อ่อนแรง ปวดแขนขา เบื่ออาหาร (206)
สรุปเรื่องวิตามินดี
วิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันซึ่งผิวหนังของเราจะสังเคราะห์ขึ้นเมื่อได้รับแสงแดด และยังพบได้ในอาหารตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในปลาที่มีไขมันมากและเห็ด การเสริมวิตามินดีอาจเกี่ยวข้องกับคุณประโยชน์มากมาย เช่น สุขภาพภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น สุขภาพกระดูกและฟัน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ฯลฯ การเสริมวิตามินดี3 เป็นทางเลือกที่ดีกว่าวิตามินดี2 ขนาดวิตามินดีที่แนะนำต่อวันควรอยู่ในช่วง 400-800 IU และสูงสุดไม่เกินวันละ 4,000 IU ทั้งนี้ขนาดอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และเงื่อนไขทางการแพทย์ เนื่องจากปริมาณวิตามินดีที่สูงมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาได้
เอกสารอ้างอิง
- National Institutes of Health (NIH). “VITAMIN D”. (2023)
- The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. “Vitamin D2 is much less effective than vitamin D3 in humans”. (2004)
- National Library of Medicine. “Calcium and Phosphate Homeostasis”. (2023)
- Kidney International Reports. “An Overview of Rickets in Children”. (2020)
- The New England Journal of Medicine. “Supplemental Vitamin D and Incident Fractures in Midlife and Older Adults”. (2022)
- The New England Journal of Medicine. “A Pooled Analysis of Vitamin D Dose Requirements for Fracture Prevention”. (2012)
- Journal of Bone and Mineral Research. “U-shaped association between serum 25-hydroxyvitamin D and fracture risk in older men: results from the prospective population-based CHAMP study”. (2014)
- The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. “Calcium and vitamin d supplementation in postmenopausal women”. (2013)
- Journal of Internal Medicine. “Effect of increasing doses of vitamin D on bone mineral density and serum N-terminal telopeptide in elderly women: a randomized controlled trial”. (2018)
- JAMA Internal Medicine. “Treatment of Vitamin D Insufficiency in Postmenopausal Women A Randomized Clinical Trial”. (2015)
- Journal of Bone and Mineral Research. “Effect of Oral Vitamin D3 Supplementation in Exclusively Breastfed Newborns: Prospective, Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled Trial”. (2022)
- Osteoporosis International. “Calcium and vitamin-D supplementation on bone structural properties in peripubertal female identical twins: a randomised controlled trial”. (2011)
- Bone. “Effect of vitamin D replacement on hip structural geometry in adolescents: a randomized controlled trial”. (2013)
- Nutrition. “The importance of vitamin D in treatment of fracture non-union: A case report”. (2021)
- Menopause. “Does vitamin D status influence lumbar disc degeneration and low back pain in postmenopausal women? A retrospective single-center study”. (2020)
- Nutrients. “Vitamin D’s Effect on Immune Function”. (2020)
- Nutrients. “Vitamin D: Nutrient, Hormone, and Immunomodulator”. (2018)
- The BMJ. “Vitamin D supplementation to prevent acute respiratory tract infections: systematic review and meta-analysis of individual participant data”. (2017)
- JAMA Network. “Effect of Vitamin D3 Supplementation on Upper Respiratory Tract Infections in Healthy Adults The VIDARIS Randomized Controlled Trial”. (2012)
- The Lancet Diabetes & Endocrinology. “The effect of vitamin D supplementation on acute respiratory tract infection in older Australian adults: an analysis of data from the D-Health Trial”. (2021)
- Thorax. “Double-blind randomised controlled trial of vitamin D3 supplementation for the prevention of acute respiratory infection in older adults and their carers (ViDiFlu)”. (2015)
- The FEBS Journal. “Low plasma 25(OH) vitamin D level is associated with increased risk of COVID-19 infection: an Israeli population-based study”. (2020)
- JAMA Network Open. “Association of Vitamin D Levels, Race/Ethnicity, and Clinical Characteristics With COVID-19 Test Results”. (2021)
- Archives of Medical Research. “Efficacy and Safety of Vitamin D Supplementation to Prevent COVID-19 in Frontline Healthcare Workers. A Randomized Clinical Trial”. (2022)
- The BMJ. “Effect of a test-and-treat approach to vitamin D supplementation on risk of all cause acute respiratory tract infection and covid-19: phase 3 randomised controlled trial (CORONAVIT)”. (2022)
- Mayo Clinic Proceedings. “Vitamin D Status Is Associated With In-Hospital Mortality and Mechanical Ventilation: A Cohort of COVID-19 Hospitalized Patients”. (2021)
- PLOS ONE. “Pre-infection 25-hydroxyvitamin D3 levels and association with severity of COVID-19 illness”. (2022)
- Nutrition. “Vitamin D supplementation and outcomes in coronavirus disease 2019 (COVID-19) patients from the outbreak area of Lombardy, Italy”. (2021)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Vitamin D, vitamin D—binding protein, free vitamin D and COVID-19 mortality in hospitalized patients”. (2022)
- Nutrition. “Positive Effects of Vitamin D Supplementation in Patients Hospitalized for COVID-19: A Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled Trial”. (2022)
- medRxiv. “Results From the REsCue Trial: A Randomized Controlled Trial with Extended-Release Calcifediol in Symptomatic Outpatients with COVID-19”. (2022)
- BMC Medicine. “A single-oral bolus of 100,000 IU of cholecalciferol at hospital admission did not improve outcomes in the COVID-19 disease: the COVID-VIT-D—a randomised multicentre international clinical trial”. (2022)
- medRxiv. “https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2020.11.16.20232397v1”. (2020)
- British Journal of Cancer. “Vitamin D supplementation and total cancer incidence and mortality by daily vs. infrequent large-bolus dosing strategies: a meta-analysis of randomised controlled trials”. (2022)
- Front. “Combined Vitamin D, Omega-3 Fatty Acids, and a Simple Home Exercise Program May Reduce Cancer Risk Among Active Adults Aged 70 and Older: A Randomized Clinical Trial”. (2022)
- PLOS ONE. “Serum 25-Hydroxyvitamin D Concentrations ≥40 ng/ml Are Associated with >65% Lower Cancer Risk: Pooled Analysis of Randomized Trial and Prospective Cohort Study”. (2016)
- The New England Journal of Medicine. “Vitamin D Supplements and Prevention of Cancer and Cardiovascular Disease”. (2019)
- JAMA Network. “Effect of Vitamin D and Calcium Supplementation on Cancer Incidence in Older Women A Randomized Clinical Trial”. (2017)
- JAMA Oncology. “Association of Serum Level of Vitamin D at Diagnosis With Breast Cancer Survival A Case-Cohort Analysis in the Pathways Study”. (2017)
- ANTICANCER RESEARCH. “Meta-analysis of Vitamin D Sufficiency for Improving Survival of Patients with Breast Cancer”. (2014)
- Breast Cancer Research and Treatment. “Randomized window of opportunity trial evaluating high-dose vitamin D in breast cancer patients”. (2019)
- Journal of the National Cancer Institute. “Plasma 25-Hydroxyvitamin D3 and Bladder Cancer Risk According to Tumor Stage and FGFR3 Status: A Mechanism-Based Epidemiological Study”. (2012)
- Journal of Clinical Oncology. “Association between vitamin D and risk of colorectal cancer: a systematic review of prospective studies”. (2011)
- Journal of the National Cancer Institute. “Circulating Vitamin D and Colorectal Cancer Risk: An International Pooling Project of 17 Cohorts”. (2018)
- The New England Journal of Medicine. “A Trial of Calcium and Vitamin D for the Prevention of Colorectal Adenomas”. (2015)
- Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention. “Plasma 25-hydroxyvitamin D and risk of pancreatic cancer”. (2012)
- Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention. “Plasma Vitamin D and Prostate Cancer Risk: Results from the Selenium and Vitamin E Cancer Prevention Trial”. (2014)
- Clinical Cancer Research. “Vitamin D Deficiency Predicts Prostate Biopsy Outcomes”. (2014)
- Nutrients. “Vitamin D Supplementation and Disease-Free Survival in Stage II Melanoma: A Randomized Placebo Controlled Trial”. (2021)
- Diabetologia. “Lower prediagnostic serum 25-hydroxyvitamin D concentration is associated with higher risk of insulin-requiring diabetes: a nested case-control study”. (2012)
- Diabetes Care. “Joint effects of obesity and vitamin D insufficiency on insulin resistance and type 2 diabetes: results from the NHANES 2001-2006”. (2012)
- The Journal of Nutrition. “Evidence for Threshold Effects of 25-Hydroxyvitamin D on Glucose Tolerance and Insulin Resistance in Black and White Obese Postmenopausal Women”. (2014)
- The journal of nutrition, health & aging. “Effect of Vitamin D Treatment on Glucose Homeostasis and Metabolism in Lebanese Older Adults: A Randomized Controlled Trial”. (2018)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Effect of vitamin D3 supplementation on insulin resistance and β-cell function in prediabetes: a double-blind, randomized, placebo-controlled trial”. (2019)
- Nutrition Research. “Vitamin D supplementation reduces insulin resistance in Japanese adults: a secondary analysis of a double-blind, randomized, placebo-controlled trial”. (2016)
- European Journal of Clinical Nutrition. “Vitamin D and type 2 diabetes: a systematic review”. (2011)
- The New England Journal of Medicine. “Vitamin D Supplementation and Prevention of Type 2 Diabetes”. (2019)
- Cureus Journal of Medical Science. “Effect of Vitamin D3 Supplementation on Insulin Sensitivity in Prediabetes With Hypovitaminosis D: A Randomized Placebo-Controlled Trial”. (2020)
- European Journal of Clinical Nutrition. “Vitamin D and type 2 diabetes: a systematic review”. (2011)
- Journal of the Endocrine Society. “Vitamin D Supplementation in Patients With Type 2 Diabetes: The Vitamin D for Established Type 2 Diabetes (DDM2) Study”. (2018)
- Neuropathic Pain. “The Benefits of Add-on Therapy of Vitamin D 5000 IU to the Vitamin D Levels and Symptoms in Diabetic Neuropathy Patients: A Randomized Clinical Trial”. (2021)
- Diabetologia. “Effects of calcium-vitamin D co-supplementation on glycaemic control, inflammation and oxidative stress in gestational diabetes: a randomised placebo-controlled trial”. (2014)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Serum 25-hydroxyvitamin D and the risk of cardiovascular disease: dose-response meta-analysis of prospective studies”. (2017)
- Journal of Endocrinological Investigation. “Vitamin D status and cardiovascular outcome”. (2019)
- American Journal of Cardiology. “Vitamin D deficiency and supplementation and relation to cardiovascular health”. (2012)
- Circulation. “Abstract 18102: Threshold Effect of Vitamin D Deficiency on Cardiovascular Outcomes: Below What Level of 25(OH) Vitamin D is Cardiovascular Risk Really Increased?”. (2015)
- Journal of Hypertension. “VITAMIN D AND BLOOD PRESSURE PARAMETERS IN CHILDREN AND ADOLESCENTS WITH ARTERIAL HYPERTENSION”. (2018)
- The New England Journal of Medicine. “Vitamin D Supplements and Prevention of Cancer and Cardiovascular Disease”. (2019)
- Journal of the American Heart Association. “Effects of Vitamin D on Blood Pressure, Arterial Stiffness, and Cardiac Function in Older People After 1 Year: BEST-D (Biochemical Efficacy and Safety Trial of Vitamin D)”. (2017)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Vitamin D intake and risk of cardiovascular disease in US men and women”. (2011)
- JAMA Internal Medicine. “Cholecalciferol Treatment to Reduce Blood Pressure in Older Patients With Isolated Systolic Hypertension The VitDISH Randomized Controlled Trial”. (2013)
- Cambridge University Press. “Vitamin D3 and the risk of CVD in overweight and obese women: a randomised controlled trial”. (2012)
- Menopause. “Calcium/vitamin D supplementation, serum 25-hydroxyvitamin D concentrations, and cholesterol profiles in the Women’s Health Initiative calcium/vitamin D randomized trial”. (2014)
- Pediatric Obesity. “Effect of vitamin D3 treatment on endothelial function in obese adolescents”. (2015)
- JAMA Cardiology. “Effect of Monthly High-Dose Vitamin D Supplementation on Cardiovascular Disease in the Vitamin D Assessment Study A Randomized Clinical Trial”. (2017)
- PLOS ONE. “Dose responses of vitamin D3 supplementation on arterial stiffness in overweight African Americans with vitamin D deficiency: A placebo controlled randomized trial”. (2017)
- FOOD, DRUG, INSECT STING ALLERGY, AND ANAPHYLAXIS. “Vitamin D levels and food and environmental allergies in the United States: Results from the National Health and Nutrition Examination Survey 2005-2006”. (2011)
- European Archives of Oto-Rhino-Laryngology. “Therapeutic effect of vitamin D supplementation on allergic rhinitis”. (2019)
- Allergy. “Vitamin D supplementation during pregnancy and infancy reduces aeroallergen sensitization: a randomized controlled trial”. (2016)
- AAAAI. “Vitamin D and Food Allergy”. (2020)
- The Lancet Respiratory Medicine. “Vitamin D supplementation to prevent asthma exacerbations: a systematic review and meta-analysis of individual participant data”. (2017)
- Allergy, Asthma & Clinical Immunology. “Asthma in the elderly: a study of the role of vitamin D”. (2014)
- JAMA Network. “Effect of Vitamin D3 on Asthma Treatment Failures in Adults With Symptomatic Asthma and Lower Vitamin D Levels The VIDA Randomized Clinical Trial”. (2014)
- Allergy. “Improved control of childhood asthma with low-dose, short-term vitamin D supplementation: a randomized, double-blind, placebo-controlled trial”. (2016)
- JAMA Network. “Effect of Vitamin D3 Supplementation on Severe Asthma Exacerbations in Children With Asthma and Low Vitamin D Levels The VDKA Randomized Clinical Trial”. (2020)
- Cochrane Librar. “Vitamin D for the management of asthma”. (2016)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “The Impact of Baseline 25-Hydroxyvitamin D Level and Gestational Age on Prenatal Vitamin D Supplementation to Prevent Offspring Asthma or Recurrent Wheezing”. (2023)
- American Journal of Cardiology. “Relation between serum 25-hydroxyvitamin D and C-reactive protein in asymptomatic adults (from the continuous National Health and Nutrition Examination Survey 2001 to 2006)”. (2012)
- British Journal of Nutrition. “Effect of vitamin D supplementation on selected inflammatory biomarkers in older adults: a secondary analysis of data from a randomised, placebo-controlled trial”. (2015)
- PNAS. “Vitamin D accelerates resolution of inflammatory responses during tuberculosis treatment”. (2012)
- Clinical Endocrinology. “Effect of vitamin D supplementation along with weight loss diet on meta-inflammation and fat mass in obese subjects with vitamin D deficiency: A double-blind placebo-controlled randomized clinical trial”. (2019)
- Cambridge University Press. “Calcium plus vitamin D supplementation and fat mass loss in female very low-calcium consumers: potential link with a calcium-specific appetite control”. (2008)
- Annals of Nutrition and Metabolism. “Effect of Vitamin D Supplementation on Body Composition and Physical Fitness in Healthy Adults: A Double-Blind, Randomized Controlled Trial”. (2019)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Vitamin D3 supplementation during weight loss: a double-blind randomized controlled trial”. (2014)
- Current Pharmaceutical Design. “Vitamin D and Sleep Regulation: Is there a Role for Vitamin D?”. (2020)
- Sleep Medicine: X. “No improvement of sleep from vitamin D supplementation: insights from a randomized controlled trial”. (2021)
- The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. “Serum 25-hydroxyvitamin D and depressive symptoms in older women and men”. (2010)
- .The American Journal of Clinical Nutrition “Vitamin D intake from foods and supplements and depressive symptoms in a diverse population of older women”. (2011)
- The British Journal of Psychiatry. “Vitamin D deficiency and depression in adults: systematic review and meta-analysis”. (2013)
- Pain Medicine. “Fibromyalgia Symptom Severity and Psychosocial Outcomes in Fibromyalgia Patients with Hypovitaminosis D: A Prospective Questionnaire Study”. (2020)
- Depression and Anxiety. “The effect of vitamin D supplement on negative emotions: A systematic review and meta-analysis”. (2020)
- Nutrition. “Vitamin D supplementation to reduce depression in adults: meta-analysis of randomized controlled trials”. (2015)
- Cambridge University Press. “Effect of vitamin D supplementation on depressive symptoms and psychological wellbeing in healthy adult women: a double-blind randomised controlled clinical trial”. (2018)
- JAMA Network. “Effect of Long-term Vitamin D3 Supplementation vs Placebo on Risk of Depression or Clinically Relevant Depressive Symptoms and on Change in Mood Scores A Randomized Clinical Trial”. (2020)
- International Journal of Geriatric Psychiatry. “Effect of vitamin D supplementation on depression in older Australian adults”. (2022)
- American Diabetes Association. “Vitamin D Supplementation Decreases Severity of Pain Symptoms among Women with Type 2 Diabetes and Comorbid Depression: Results from the Sunshine Study”.
- Diabetes & Metabolic Syndrome: Clinical Research & Reviews. “Effects of vitamin D supplementation on depressive symptoms in type 2 diabetes mellitus patients: Randomized placebo-controlled double-blind clinical trial”. (2019)
- BMC Research Notes. “Vitamin D3 supplementation and treatment outcomes in patients with depression (D3-vit-dep)”. (2019)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Vitamin D supplementation for the prevention of depression and poor physical function in older persons: the D-Vitaal study, a randomized clinical trial”. (2019)
- Neurology. “Vitamin D and the risk of dementia and Alzheimer disease”. (2014)
- The Journals of Gerontology: Series A. “Higher Vitamin D Dietary Intake Is Associated With Lower Risk of Alzheimer’s Disease: A 7-Year Follow-up”. (2012)
- Alzheimer’s & Dementia. “Associations of lower vitamin D concentrations with cognitive decline and long-term risk of dementia and Alzheimer’s disease in older adults”. (2017)
- JAMA Neurology. “Vitamin D Status and Rates of Cognitive Decline in a Multiethnic Cohort of Older Adults”. (2015)
- Journal of Neurology, Neurosurgery, and Psychiatry. “Effects of vitamin D3 supplementation on cognition and blood lipids: a 12-month randomised, double-blind, placebo-controlled trial”. (2018)
- Journal of Alzheimer’s Disease. “Vitamin D Supplementation Improves Cognitive Function Through Reducing Oxidative Stress Regulated by Telomere Length in Older Adults with Mild Cognitive Impairment: A 12-Month Randomized Controlled Trial”. (2020)
- Alzheimer’s & dementia: the journal of the Alzheimer’s Association. “The SYNERGIC Trial: A Randomized Controlled Trial Assessing Multimodal Interventions to Improve Cognition in Mild Cognitive Impairment in Older Adults”. (2022)
- Journal of the Neurological Sciences. “Vitamin D supplementation has no effect on cognitive performance after four months in mid-aged and older subjects”. (2019)
- Journal of the American Geriatrics Society. “Vitamin D supplementation and cognition-Results from analyses of the D-Health trial”. (2023)
- Archives of Neurology. “Serum vitamin D and the risk of Parkinson’s disease”. (2011)
- The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. “Circulating 25-hydroxyvitamin D levels and frailty status in older women”. (2010)
- National Academies Press. “Dietary Reference Intakes for Calcium and Vitamin D”. (2011)
- JAMA Network Open.. “Effect of Vitamin D3 and Omega-3 Fatty Acid Supplementation on Risk of Frailty An Ancillary Study of a Randomized Clinical Trial”. (2022)
- Molecular Psychiatry. “Gestational vitamin D deficiency and autism-related traits: the Generation R Study”. (2018)
- Journal of Bone and Mineral Research. “Relationship Between Neonatal Vitamin D at Birth and Risk of Autism Spectrum Disorders: the NBSIB Study”. (2018)
- Journal of Child Psychology and Psychiatry. “Randomized controlled trial of vitamin D supplementation in children with autism spectrum disorder”. (2018)
- Nutrition. “Effects of vitamin D supplementation on core symptoms, serum serotonin, and interleukin-6 in children with autism spectrum disorders: A randomized clinical trial”. (2020)
- Scandinavian Journal of Psychology. “Linking vitamin D status, executive functioning and self-perceived mental health in adolescents through multivariate analysis: A randomized double-blind placebo control trial”. (2017)
- The Journals of Gerontology: Series A. “Three Doses of Vitamin D and Cognitive Outcomes in Older Women: A Double-Blind Randomized Controlled Trial”. (2020)
- Scientific Reports. “Low serum 25-hydroxyvitamin D is associated with higher risk of frequent headache in middle-aged and older men”. (2017)
- Journal of Clinical Neurology. “Effect of Vitamin D Deficiency on the Frequency of Headaches in Migraine”. (2018)
- The Pediatric Infectious Disease Journal. “Vitamin D supplementation reduces the risk of acute otitis media in otitis-prone children”. (2013)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Low vitamin D status is associated with hearing loss in the elderly: a cross-sectional study”. (2021)
- Neurology and Therapy. “Vitamin D and Multiple Sclerosis: A Comprehensive Review”. (2018)
- FDA. “FDA Denies Qualified Health Claim Petition for Intake of Vitamin D to Reduce the Risk of Multiple Sclerosis in Healthy People”. (2017)
- JAMA Neurology. “Vitamin D Status During Pregnancy and Risk of Multiple Sclerosis in Offspring of Women in the Finnish Maternity Cohort”. (2016)
- Annals of Neurology. “Vitamin D status predicts new brain magnetic resonance imaging activity in multiple sclerosis”. (2012)
- JAMA Neurology. “Association of Vitamin D Levels With Multiple Sclerosis Activity and Progression in Patients Receiving Interferon Beta-1b”. (2015)
- Neurology Neuroimmunology & Neuroinflammation. “Vitamin D enhances responses to interferon-β in MS”. (2019)
- Neurology. “Randomized trial of daily high-dose vitamin D3 in patients with RRMS receiving subcutaneous interferon β-1a”. (2019)
- Neurology Neuroimmunology & Neuroinflammation. “Cholecalciferol in relapsing-remitting MS: A randomized clinical trial (CHOLINE)”. (2019)
- eClinicalMedicine. “High-dose vitamin D3 supplementation in relapsing-remitting multiple sclerosis: a randomised clinical trial”. (2023)
- Case Reports in Dentistry. “Severe, Treatment-Refractory Periodontitis and Vitamin D Deficiency: A Multidisciplinary Case Report”. (2022)
- The Lancet Respiratory Medicine. “Vitamin D3 supplementation in patients with chronic obstructive pulmonary disease (ViDiCO): a multicentre, double-blind, randomised controlled trial”. (2015)
- Annals of Internal Medicine. “High doses of vitamin D to reduce exacerbations in chronic obstructive pulmonary disease: a randomized trial”. (2012)
- Nutrients. “Effect of Monthly Vitamin D Supplementation on Preventing Exacerbations of Asthma or Chronic Obstructive Pulmonary Disease in Older Adults: Post Hoc Analysis of a Randomized Controlled Trial”. (2021)
- Current Opinion in Clinical Nutrition & Metabolic Care. “Micronutrient deficiencies in inflammatory bowel disease”. (2015)
- Clinical and Translational Gastroenterology. “Therapeutic Effect of Vitamin D Supplementation in a Pilot Study of Crohn’s Patients”. (2013)
- Alimentary Pharmacology & Therapeutics. “Meta-analysis: vitamin D and non-alcoholic fatty liver disease”. (2013)
- Journal of Gastrointestinal and Liver Diseases. “Effect of Short-Term Vitamin D Correction on Hepatic Steatosis as Quantified by Controlled Attenuation Parameter (CAP)”. (2016)
- Clinical Nutrition. “Androgens and hirsutism score of overweight women with polycystic ovary syndrome improved after vitamin D treatment: A randomized placebo controlled clinical trial”. (2021)
- Epidemiology. “Vitamin d and the risk of uterine fibroids”. (2013)
- BJU International. “Impact of serum 25-OH vitamin D level on lower urinary tract symptoms in men: a step towards reducing overactive bladder”. (2018)
- Neurourology and Urodynamics. “Overactive bladder and associated psychological symptoms: A possible link to vitamin D and calcium”. (2019)
- Journal of the American Geriatrics Society. “Comparing Vitamin D Supplementation Versus Placebo for Urgency Urinary Incontinence: A Pilot Study”. (2019)
- Journal of Pediatric and Adolescent Gynecology. “Vitamin D Supplementation for Premenstrual Syndrome-Related Mood Disorders in Adolescents with Severe Hypovitaminosis D”. (2016)
- The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. “Maternal serum 25-hydroxyvitamin D and measures of newborn and placental weight in a U.S. multicenter cohort study”. (2013)
- Nutrition & Metabolism. “Sufficience serum vitamin D before 20 weeks of pregnancy reduces the risk of gestational diabetes mellitus”. (2020)
- Clinical Endocrinology. “Supplementation of vitamin D in pregnancy and its correlation with feto-maternal outcome”. (2015)
- American Journal of Obstetrics and Gynecology. “143 Does vitamin d prophylaxis prevent adverse neonatal outcomes?”. (2021)
- JAMA Pediatrics. “Association of High-Dose Vitamin D Supplementation During Pregnancy With the Risk of Enamel Defects in Offspring A 6-Year Follow-up of a Randomized Clinical Trial”. (2019)
- JAMA Pediatrics. “Maternal Vitamin D and Offspring Bone Mineral Parameters and Growth”. (2020)
- The American Journal of Clinical Nutrition. “Vitamin D and calcium intake and risk of early menopause”. (2017)
- Urologia Internationalis. “Whether Adding Vitamin D to Tadalafil 5 mg Treatment Is Useful in Patients with Erectile Dysfunction and Vitamin D Deficiency?”. (2021)
- Journal of Men’s Health. “Treating erectile dysfunction with sildenafil alone versus combined with vitamin D3 in patients with low serum 25-hydroxy vitamin D3: a prospective randomized controlled open trial”. (2023)
- Osteoporosis International. “Effect of vitamin D supplementation alone on muscle function in postmenopausal women: a randomized, double-blind, placebo-controlled clinical trial”. (2015)
- BMC Endocrine Disorders. “The effects of single high-dose or daily low-dosage oral colecalciferol treatment on vitamin D levels and muscle strength in postmenopausal women”. (2018)
- Calcified Tissue International. “Effects of Vitamin D3 Supplementation on Muscle Strength, Mass, and Physical Performance in Women with Vitamin D Insufficiency: A Randomized Placebo-Controlled Trial”. (2018)
- Clinical Endocrinology. “The effect of high-dose vitamin D supplementation on muscular function and quality of life in postmenopausal women-A randomized controlled trial”. (2017)
- Redox Biology. “The influence of vitamin D supplementation and strength training on health biomarkers and chromosomal damage in community-dwelling older adults”. (2023)
- Journal of the American Geriatrics Society. “Effects of Vitamin D3 Supplementation on Lean Mass, Muscle Strength, and Bone Mineral Density During Weight Loss: A Double-Blind Randomized Controlled Trial”. (2016)
- Journal of Science and Medicine in Sport. “Effects of vitamin D supplementation on upper and lower body muscle strength levels in healthy individuals. A systematic review with meta-analysis”. (2015)
- Annals of Nutrition and Metabolism. “Effect of Vitamin D Supplementation on Body Composition and Physical Fitness in Healthy Adults: A Double-Blind, Randomized Controlled Trial”. (2019)
- European Journal of Applied Physiology. “Vitamin D supplementation does not enhance resistance training-induced gains in muscle strength and lean body mass in vitamin D deficient young men”. (2021)
- The Journal of Steroid Biochemistry and Molecular Biology. “Vitamin D supplementation may improve back pain disability in vitamin D deficient and overweight or obese adults”. (2019)
- The Journal of Steroid Biochemistry and Molecular Biology. “Medium doses of daily vitamin D decrease falls and higher doses of daily vitamin D3 increase falls: A randomized clinical trial”. (2017)
- JAMA Internal Medicine. “Monthly High-Dose Vitamin D Treatment for the Prevention of Functional Decline A Randomized Clinical Trial”. (2016)
- JAMA Internal Medicine. “Exercise and Vitamin D in Fall Prevention Among Older Women A Randomized Clinical Trial”. (2015)
- Annals of Internal Medicine. “The Effects of Four Doses of Vitamin D Supplements on Falls in Older Adults : A Response-Adaptive, Randomized Clinical Trial”. (2021)
- Journal of the American Geriatrics Society. “The effects of vitamin D supplementation on types of falls”. (2021)
- JAMA Network. “Annual High-Dose Oral Vitamin D and Falls and Fractures in Older Women A Randomized Controlled Trial”. (2010)
- Hearing, Balance and Communication. “Vitamin D deficiency and benign paroxysmal positioning vertigo”. (2019)
- Neurology. “Prevention of benign paroxysmal positional vertigo with vitamin D supplementation A randomized trial”. (2020)
- Hypertension. “Abstract P198: Vitamin D Supplementation Improves Autonomic Response To Head Up Tilt In Adolescents Suffering From Orthostatic Intolerance”. (2020)
- Circulation. “Abstract P125: The Effects Of Vitamin D Supplementation On Orthostatic Hypotension: Results From STURDY”. (2021)
- PAIN. “Effects of vitamin D on patients with fibromyalgia syndrome: A randomized placebo-controlled trial”. (2014)
- Clinical Rheumatology. “Efficacy and safety of weekly vitamin D3 in patients with fibromyalgia: 12-week, double-blind, randomized, controlled placebo trial”. (2021)
- Rheumatology. “Associations between serum 25-hydroxyvitamin D and disease activity, inflammatory cytokines and bone loss in patients with rheumatoid arthritis”. (2014)
- The Journal of Rheumatology. “Association Between Vitamin D Deficiency and Disease Activity, Disability, and Radiographic Progression in Early Rheumatoid Arthritis: The ESPOIR Cohort”. (2020)
- Clinica Chimica Acta. “Effect of vitamin D supplementation on clinical outcome and biochemical profile in South Indian population with vitamin D-deficient chronic urticarial – A randomized double-blind placebo controlled trial”. (2020)
- International Journal of Dermatology. “Oral vitamin D3 5000 IU/day as an adjuvant in the treatment of atopic dermatitis: a randomized control trial”. (2018)
- Pharmacology Research & Perspectives. “The impact of vitamin D supplementation as an adjuvant therapy on clinical outcomes in patients with severe atopic dermatitis: A randomized controlled trial”. (2020)
- Clinical Nutrition. “Effects of vitamin D on plasma lipid profiles in statin-treated patients with hypercholesterolemia: A randomized placebo-controlled trial”. (2015)
- Journal of Diabetes. “Vitamin D supplementation improves simvastatin-mediated decline in exercise performance: A randomized double-blind placebo-controlled study”. (2017)
- Journal of the American Geriatrics Society. “Statin Use and 25-Hydroxyvitamin D Blood Level Response to Vitamin D Treatment of Older Adults”. (2017)
- The BMJ. “Vitamin D and risk of cause specific death: systematic review and meta-analysis of observational cohort and randomised intervention studies”. (2014)
- The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. “Vitamin D Status and Risk of All-Cause and Cause-Specific Mortality in a Large Cohort: Results From the UK Biobank”. (2020)
- Endocrine Abstracts. “Free 25-hydroxyvitamin D, but not free 1.25-dihydroxyvitamin D, predicts all-cause mortality in ageing men”. (2020)
- Anesthesia & Analgesia. “The association of serum vitamin D concentration with serious complications after noncardiac surgery”. (2014)
- National Library of Medicine. “Vitamin D Deficiency”. (2023)
- Nutrition, Metabolism and Cardiovascular Diseases. “Vitamin D supplementation and adverse skeletal and non-skeletal outcomes in individuals at increased cardiovascular risk: Results from the International Polycap Study (TIPS)-3 randomized controlled trial”. (2023)
- The Lancet Diabetes & Endocrinology. “The D-Health Trial: a randomised controlled trial of the effect of vitamin D on mortality”. (2022)
- The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. “Vitamin D levels for preventing acute coronary syndrome and mortality: evidence of a nonlinear association”. (2013)
- Brain, Behavior, and Immunity. “The influence of vitamin D supplementation on melatonin status in patients with multiple sclerosis”. (2013)
- Preventive Medicine. “Repletion of vitamin D associated with deterioration of sleep quality among postmenopausal women”. (2016)
- Journal of Clinical Lipidology. “Vitamin D supplementation and lipoprotein metabolism: A randomized controlled trial”. (2018)
- Mayo Clinic Proceedings. “Changing Incidence of Serum 25-Hydroxyvitamin D Values Above 50 ng/mL: A 10-Year Population-Based Study”. (2015)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2023