ฟันผุ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคฟันผุ (แมงกินฟัน) 5 วิธี !!

ฟันผุ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคฟันผุ (แมงกินฟัน) 5 วิธี !!

โรคฟันผุ

ฟันผุ (Tooth decay, Dental caries) หรือบ้างก็เรียกว่า “แมงกินฟัน“, “ฟันเป็นแมง“, “ฟันเป็นรู” หรือ “ฟันเป็นโพรง” เป็นโรคที่พบได้บ่อยประมาณ 80% ของคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ชอบกินของหวานหรือน้ำตาลและไม่ได้แปรงฟันให้สะอาด

สถานการณ์ฟันผุของคนไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะจากการสำรวจคุณภาพช่องปากของคนไทยเมื่อปี พ.ศ.2550 พบว่าเด็กอายุ 3 ขวบ ประมาณ 66% ฟันเริ่มผุแล้ว คือฟันน้ำนมยังขึ้นมาไม่นานก็เริ่มผุ จากนั้นพอเริ่มโตขึ้นอายุได้ประมาณ 5-6 ขวบ จะพบฟันผุได้มากขึ้นเป็น 82% แต่พอเริ่มโตขึ้นมาหน่อยหรืออยู่ในช่วงวัยรุ่น จำนวนผู้ที่เป็นโรคฟันผุจะลดน้อยลงอย่างมาก เพราะในวัยนี้จะเริ่มมีการใส่ใจไปพบหมอฟันหรือเพื่อดัดฟัน จึงทำให้ใกล้ชิดกับหมอมากขึ้น ส่วนพ่อแม่ก็คอยกระตุ้นเตือนให้แปรงฟันให้สะอาดอยู่บ่อย ๆ แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือในผู้ใหญ่วัยทำงานที่มีอายุ 30 กว่าปีนิด ๆ พบว่าประมาณ 86% มีปัญหาฟันผุกันแทบทั้งนั้น รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องฟันโยก โรคเหงือกร่น ซึ่งเฉลี่ยแล้วสูญเสียฟันไปถึง 4 ซี่ต่อคน และจวบจนย่างเข้าวัยชราหรือเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป 90% พบว่ามีการสูญเสียฟัน ในบางรายฟันเกือบหมดปาก หากเฉลี่ยแล้วก็ประมาณ 14 ซี่ต่อคน

เด็กฟันผุ

สาเหตุของฟันผุ

ฟันผุเกิดจากการมีเศษอาหารไปค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือมีน้ำตาลจากอาหารที่กินค้างคาอยู่ในปากและสัมผัสกับฟันอยู่เป็นเวลานาน จึงทำให้เชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อ “Streptococcus mutans” (สเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์) ซึ่งเป็นเชื้อที่อยู่บนแผ่นคราบฟัน* เกิดกระบวนการย่อยสลายเศษอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลให้กลายเป็นกรดแลคติก (Lactic) ที่มีฤทธิ์ในการสลายแร่ธาตุซึ่งเป็นโครงสร้างของฟันจนทำให้ฟันผุกร่อนไปทีละน้อยจากชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าไปในเนื้อฟัน จนทะลุถึงชั้นโพรงประสาทฟัน (Pulp) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดฟัน หรือฟันอักเสบเป็นหนอง

การสลายแร่ธาตุของฟันนี้จะทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุจากตัวฟัน ซึ่งเป็นกระบวนการเริ่มต้นของโรคฟันผุ โดยปกติแล้วฟันที่เริ่มผุจะสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ เพราะน้ำลายในช่องปากจะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสระหว่างชั้นผิวเคลือบฟันกับแร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำลายตลอดเวลา โดยจะมีทั้งการสูญเสียแร่ธาตุจากฟัน (Demineralization) และการคืนกลับแร่ธาตุสู่ฟัน (Remineralization) อย่างสมดุล ซึ่งในสภาวะที่สภาพน้ำลายค่อนข้างเป็นกลาง จะไม่มีการสูญเสียแร่ธาตุออกจากผิวฟัน แต่ในสภาวะที่จุลินทรีย์มีการย่อยสลายเศษอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ก็จะเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมของน้ำลายให้เป็นกรดที่สามารถกัดกร่อนผิวฟัน ทำให้สูญเสียแร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสออกจากตัวฟันไปยังน้ำลายมากกว่าการได้รับกลับคืนมา ซึ่งถ้าเกิดสภาวะนี้ขึ้นบ่อย ๆ ก็จะทำให้ฟันผุได้ง่าย

เมื่อค่าความเป็นกรดบนพื้นผิวฟันหรือน้ำลายลดลงต่ำกว่าระดับค่าวิกฤติ (critical pH) ที่ pH เท่ากับ 5.2-5.5 เช่น จากการดื่มน้ำอัดลมบางชนิดที่มีค่าความเป็นกรด 2.3 การสูญเสียแร่ธาตุจากตัวฟันจะเกิดได้เร็วกว่าการคืนกลับแร่ธาตุสู่ตัวฟัน มีผลทำให้ขาดทุนสุทธิของโครงสร้างแร่ธาตุบนพื้นผิวฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือบูรณะเชื้อแบคทีเรียก็จะลุกลามเข้าสู่เนื้อฟันและเข้าสู่โพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดอาการอักเสบโพรงประสาทฟัน (Pulpitis) จนก่อให้เกิดอาการปวด บวม และการอักเสบอาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อโดยรอบรากฟัน หรือลุกลามต่อไปยังเหงือก และกระดูกขากรรไกร เกิดเป็นหนอง และ/หรือเกิดการอักเสบที่รุนแรงจนก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเป็นสาเหตุของเยื่อบุหัวใจอักเสบได้

ฟันเป็นแมง

แมงกินฟัน

ฟันผุเกิดจาก

หมายเหตุ : แผ่นคราบฟัน หรือ แผ่นคราบจุลินทรีย์ (Dental plaque) เป็นแผ่นคราบบาง ๆ ที่เกาะอยู่ตามซอกฟัน คอฟัน และร่องฟัน ซึ่งประกอบไปด้วยเมือกเหนียวของน้ำลายและเชื้อโรคหลายชนิด ถ้าไม่ได้รับการทำความสะอาด ปล่อยให้แผ่นคราบฟันสะสมพอกหนาขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นสาเหตุของฟันผุและเหงือกอักเสบได้

สมการที่ง่ายต่อความเข้าใจของโรคฟันผุก็คือ อาหารที่ติดอยู่กับฟัน + แบคทีเรียในช่องปาก = ฟันผุ

ปัจจัยที่ทำให้ฟันผุ

คนเราในแต่ละวัยและต่างคนกันจะมีความเสี่ยงต่อโรคฟันผุแตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

  • แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคฟันผุ (Cariogenic bacteria) แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดฝันผุในระยะเริ่มแรก คือกลุ่มของ Mutans streptococci (มิวแทนส์ สเตร็ปโตค็อกไซ) โดยมีซีโรไทป์ที่ทำให้เกิดฟันผุในคน คือ Streptococcus mutans (สเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์) และ Streptococcus sobrinus (สเตรปโตคอคคัส โซบรินัส) ซึ่งจากการตรวจเชื้อที่แยกได้จากแผ่นคราบฟันในกลุ่มเด็กที่มีฟันผุจะพบเชื้อกลุ่ม Mutans streptococci ประมาณ 30-50% ของปริมาณเชื้อทั้งหมด ส่วนเด็กที่มีฟันผุลุกลามจะพบเชื้อ Streptococcus mutans เป็นจำนวน 100 เท่าของเด็กที่ไม่มีฟันผุ เมื่อรอยฟันผุมีการดำเนินโรคไปได้ระดับหนึ่งแล้วก็จะมีแบคทีเรียอีกชนิดเข้ามามีบทบาทในการเกิดฟันผุในชั้นเนื้อฟัน คือ Lactobacillus (แลคโตบาสิลัส) ซึ่งเด็กที่พบเชื้อ Mutans streptococci และ Lactobacillus จะมีฟันผุมากกว่าเด็กที่ไม่พบเชื้อทั้ง 2 ชนิด ส่วนแหล่งที่มาของเชื้อในกลุ่ม Mutans streptococci ในเด็กที่สำคัญที่สุดคือแม่ของเด็กทารก โดยจะมีน้ำลายเป็นพาหะสำคัญในการส่งผ่านเชื้อไปสู่เด็กจากการสัมผัสโดยตรง เช่น การกอดจูบ หรือโดยทางอ้อมผ่านทางการปนเปื้อนน้ำลายที่มีเชื้ออยู่ เช่น การใช้ช้อนร่วมกัน การใช้แปรงสีฟันหรือยาสีฟันร่วมกัน เป็นต้น ดังนั้นการลดปริมาณของเชื้อในน้ำลาย คุณแม่ควรดูแลรักษาฟันที่ผุและทำความสะอาดช่องปากให้ถูกวิธีอยู่เสมอ ซึ่งอาจจะช่วยลดการส่งผ่านเชื้อดังกล่าวไปสู่ลูกได้
  • อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) น้ำตาลส่วนใหญ่ที่เราได้รับในแต่ละวัน ได้แก่ น้ำตาลซูโครส กลูโคส แลคโตส และฟรุกโตสนั้น แบคทีเรียสามารถนำไปใช้ในการสร้างกรดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาลซูโครสจะมีบทบาทในการทำให้ฟันผุได้สูงกว่าน้ำตาลชนิดอื่น ๆ อย่างไรก็ตามน้ำตาลฟรุกโตสก็มีผลทำให้เกิดกรดได้ใกล้เคียงกับน้ำตาลซูโครส ส่วนน้ำตาลแลคโตสที่มีอยู่ในนมแม่และนมวัวในปริมาณที่มากพอก็สามารถทำให้เกิดฟันผุได้เช่นกัน (ส่วนอาหารที่รสเปรี้ยวบางชนิดที่มีค่าความเป็นกรดต่ำก็ทำให้ฟันผุได้ง่ายด้วยเช่นกัน)
  • ความถี่ในการรับประทานอาหาร การได้รับน้ำตาลเข้าสู่ช่องปากบ่อย ๆ เช่น เด็กดูดนมขวดนาน ๆ ผู้ที่ชอบรับประทานขนมจุบจิบ เป็นต้น จะส่งผลให้ระดับภาวะความเป็นกรดคงที่ตลอดเวลาทำให้เกิดการสลายแร่ธาตุจากผิวเคลือบฟันมากกว่าการคืนกลับแร่ธาตุสู่ตัวฟัน
  • ลักษณะของอาหารที่รับประทาน อาหารที่มีองค์ประกอบของแป้งหรือน้ำตาลที่มีลักษณะเหนียวติดฟันหรือค้างอยู่ในช่องปากได้นาน เช่น ลูกอม ทอฟฟี่ จะส่งผลให้เกิดกรดในช่องปากได้เป็นเวลานาน แต่ในทางกลับกันอาหารที่มีลักษณะหยาบหรือมีไฟเบอร์สูงจะช่วยทำความสะอาดฟันได้ดี
  • น้ำลาย มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเกิดโรคฟันผุ เพราะน้ำลายสามารถช่วยในการชะล้างช่องปาก, เป็นตัวกลางช่วยลดการยึดเกาะและการเจริญเติบโตของแบคทีเรียกับผิวเคลือบฟัน, เป็นโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบในน้ำลายสามารถต่อต้านแบคทีเรียได้ (เช่น Agglutinin, Lysozyme, Lactoferin, Peroxidase), น้ำลายมีส่วนประกอบของระบบคุ้มกันที่มีบทบาทต่อการเกิดฟันผุ คือ secretory immunoglobulin A ซึ่งมีหน้าที่ยับยั้งการยึดเกาะและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ของแบคทีเรีย และ immunoglobulin G ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่พบในร่องเหงือก ที่จะช่วยเม็ดเลือดขาวในการกลืน Mutans streptococci, น้ำลายมี Sialin ซึ่งเป็นโปรตีนที่ถูกเผาผลาญโดยแบคทีเรียทำให้เกิดแอมโมเนียและโพลีอามีน ซึ่งมีคุณสมบัติในการเพิ่มค่า pH ของแผ่นคราบฟัน และสุดท้ายที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือน้ำลายสามารถช่วยปรับสภาพความเป็นกรดในช่องปากโดยสารบัฟเฟอร์ที่มีอยู่ในน้ำลาย ซึ่งปริมาณการไหลและคุณสมบัติบัฟเฟอร์ของน้ำลายสามารถช่วยลดสภาพความเป็นกรดที่เกิดขึ้นในช่องปากได้ แต่การที่มีแป้งหรือน้ำตาลอยู่ในช่องปากเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เกิดความเป็นกรดในช่องปากได้ เช่น เด็กดูดนมขวดหรือนมแม่จนหลับไปโดยที่ขวดนมหรือเต้านมยังค้างอยู่ในปาก และตื่นมาดูดต่อเรื่อย ๆ ย่อมเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดฟันผุได้ เพราะในขณะหลับ การไหลของน้ำลายจะน้อยลง น้ำตาลแลคโตสในนมที่ค้างอยู่ในปากจะเป็นอาหารที่เหมาะสมของแบคทีเรีย จึงทำให้เกิดฟันผุลุกลามโดยเริ่มตั้งแต่ฟันหน้าบน ฟันกรามบน และฟันกรามล่าง ส่วนฟันหน้าล่างมักจะไม่ผุเพราะมีลิ้นและริมฝีปากล่างบังอยู่ ซึ่งฟันผุในลักษณะนี้เราเรียกว่า “ฟันผุจากขวดนม” (Nursing bottle caries)
  • ปัจจัยเกี่ยวกับฟัน ได้แก่ ลักษณะรูปร่างของฟันแต่ละซี่ (เช่น ฟันเป็นร่องหลุมลึก ฟันที่มีสัมผัสด้านประชิดฟันกว้างและแบน เป็นต้น), ฟันที่อยู่ในตำแหน่งผิดไปจากปกติ ทำให้เกิดการซ้อนเกไม่เป็นระเบียบ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสะสมของแผ่นคราบฟันได้ง่าย และทำความสะอาดได้ยาก, ฟันขาดแคลเซียมหรือแร่ธาตุอื่น ๆ ในขณะที่ฟันกำลังสร้างตัวเอง มีผลให้ฟันมีความต้านทานต่อกรดน้อย ทำให้การสลายของเคลือบฟันเกิดได้ง่ายขึ้น, ฟันที่ขึ้นสู่ช่องปากใหม่ ซึ่งจะยังอยู่ในระยะสุดท้ายของการสะสมแร่ธาตุและเสริมสร้างความแข็งแรง จึงเป็นช่วงที่ง่ายต่อการเกิดโรคฟันผุ เป็นต้น
  • ระยะเวลา การเกิดโรคฟันผุจะต้องอาศัยระยะเวลาในการเกิดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยระยะเวลาที่อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลสัมผัสกับฟัน ยิ่งมีการสัมผัสมากและนานก็ส่งผลให้เกิดภาวะความเป็นกรดมากในแผ่นคราบฟันและเกิดการสลายแร่ธาตุของผิวเคลือบฟันอย่างต่อเนื่อง ส่วนช่วงของระยะเวลาก็มีผลในการเกิดโรคได้เช่นกัน กล่าวคือ ถ้าฟันมีการสัมผัสกับอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลในช่วงที่มีการหลั่งของน้ำลายน้อยก็จะส่งผลให้การผุลุกลามมากยิ่งขึ้น เช่น การที่เด็กดูดนมตอนหลับ การรับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลแล้วไม่แปรงฟันให้สะอาดก่อนเข้านอน เป็นต้น
  • นอกเหนือจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว แม้ว่าฟันผุจะพบได้ในเด็กเป็นส่วนใหญ่ แต่ในผู้ใหญ่ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อฟันผุได้จากอาการปากแห้งเนื่องจากไม่ค่อยมีน้ำลายได้เช่นกัน ซึ่งอาการปากแห้งนั้นก็มีสาเหตุมาจากอาการป่วยหรือมีโรคประจำตัว (เช่น โรคเบาหวาน โรคเบาจืด), การใช้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้แพ้ ยาแก้โรคซึมเศร้า, การรักษาด้วยการฉายแสงหรือจากการใช้เคมีบำบัด, การสูบบุหรี่ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดทั้งฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ เป็นต้น

อาการฟันผุ

  • ฟันผุระยะที่ 1 เป็นระยะที่กรดเริ่มทำลายชั้นเคลือบฟัน (Enamel) ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวด แต่จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ชั้นเคลือบฟัน โดยกรดจะเริ่มไปทำลายชั้นเคลือบฟันให้เปลี่ยนจากสีขาวใสมันวาวเป็นสีขุ่นขาวเล็ก ๆ บริเวณผิวเรียบของฟันหรือหลุมร่องฟัน
  • ฟันผุระยะที่ 2 เป็นระยะที่กรดเริ่มกัดกร่อนลึกลงไปถึงชั้นเนื้อฟัน (Dentin) ทำให้เป็นรอยสีเทาดำหรือสีน้ำตาล เห็นรูผุ มีเศษอาหารติดอยู่ และการผุจะลุกลามไปเร็วกว่าในระยะที่ 1 เนื่องจากชั้นเนื้อฟันจะมีความแข็งแรงน้อยกว่าชั้นเคลือบฟัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเสียวฟันเมื่อรับประทานของหวานจัด ของเย็นจัด หรือร้อนจัด
  • ฟันผุระยะที่ 3 เป็นระยะรุนแรงขึ้น มีการทำลายลึกถึงชั้นโพรงประสาทฟัน (Pulp) มีการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน ทำให้มีอาการปวด โดยอาจจะปวดตลอดเวลาหรือปวดเป็นฟัก ๆ รวมถึงมีเศษอาหารไปติดอยู่ในโพรง ทำให้เกิดกลิ่นปากตามมาได้
  • ฟันผุระยะที่ 4 ถ้าผู้ป่วยทนเจ็บปวดจากการอักเสบจนผ่านเข้าสู่ระยะนี้ เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันจะถูกทำลายลุกลามไปที่ปลายรากฟัน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บ ๆ หาย ๆ เป็นช่วง ๆ เกิดฝีหนองบริเวณปลายราก มีอาการบวมหรือมีฝีทะลุมาที่เหงือก ฟันโยก และเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและระบบน้ำเหลืองของร่างกายได้

โรคฟันผุ

อาการฟันผุ

ข้อควรรู้ ! : ในรายที่ฟันผุยังไม่เป็นรูสามารถกลับคืนมาสู่ปกติได้ แต่หากกลายเป็นรูก็จะคงรูปตลอดไป และหากไม่รักษาก็จะมีอาการปวดฟันจนกระทั่งฟันร่วง

ภาวะแทรกซ้อนของฟันผุ

  • ในรายที่ฟันผุไม่มาก โดยทั่วไปมักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง แต่ในรายที่ฟันผุมาก มีอาการปวดฟันหรือการอักเสบบ่อย ๆ ก็อาจทำให้รับประทานอาหารไม่ได้ ทำให้ร่างกายได้รับอาหารไม่เพียงพอ หรืออาจทำให้เกิดการอักเสบในช่องปากเกิดขึ้น เช่น คออักเสบ ทอนซิลอักเสบ เป็นต้น
  • ในรายที่รากฟันเป็นหนองอาจทำให้เชื้อโรคลุกลามกลายเป็นไซนัสอักเสบโลหิตเป็นพิษได้
  • อาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงของเนื้อเยื่อบริเวณขากรรไกรและใต้ลิ้นที่เรียกว่า “ลุดวิกส์แองไจนา” (Ludwig’s angina) จนทำให้เกิดอาการบวมบริเวณใต้คางและขากรรไกรทั้งสองข้าง ผิวหนังออกสีน้ำตาล มีลักษณะแข็งเป็นดานและกดเจ็บ เนื้อเยื่อใต้ลิ้นที่บวมจะดันลิ้นขึ้นข้างบนและไปข้างหลัง ผู้ป่วยมักมีอาการเป็นไข้ร่วมด้วย ถ้าเป็นรุนแรงผู้ป่วยก็จะมีอาการอ้าปาก กลืน และพูดได้ลำบาก และอาจทำให้หายใจลำบาก จนอาจเสียชีวิตจากภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจหรือโลหิตเป็นพิษได้ด้วย

การวินิจฉัยโรคฟันผุ

ทันตแพทย์จะตรวจหาฟันผุได้จากการมองด้วยกระจกส่องปากและใช้เครื่องมือตรวจหารอยผุ และในบางรายอาจต้องใช้วิธีการถ่ายภาพรังสีเอกซ์ (X-RAY) ร่วมด้วย เพื่อให้สามารถตรวจพบฟันผุในตำแหน่งที่ตามองไม่เห็น เช่น ตามซอกฟันหรือใต้ขอบวัสดุอุดฟันเดิม และยังบอกได้ถึงการลุกลามของโรคฟันผุได้ด้วย (ทันตแพทย์มักตรวจพบว่ามีฟันผุเป็นรู ในบางรายอาจพบรากฟันอักเสบเป็นหนอง แก้มบวมปูด อาจมีไข้ขึ้น หรือต่อมน้ำเหลืองในบริเวณคอบวมและปวดร่วมด้วย)

อาการปวดฟันนอกจากจะมีสาเหตุมาจากฟันผุแล้ว ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น

  • ฟันคุด (Impacted tooth) ซึ่งเป็นอาการที่ฟันกรามซี่ในสุดหรือซี่สุดท้ายโผล่ขึ้นมาไม่ได้ (โดยเฉพาะกับฟันกรามล่างซี่ในสุดทั้งสองข้าง) เนื่องจากขากรรไกรของคนเราเล็กลง ฟันซี่นี้ปกติจะขึ้นตอนอายุประมาณ 17-25 ปี เมื่อขึ้นได้ไม่สุด ก็จะทำให้ในบริเวณนั้นมีซอกให้อาหารติดค้างจนเป็นเหตุให้บางครั้งมีการอักเสบและปวดตรงบริเวณรอบ ๆ ฟันซี่นั้นได้ และในบางรายยังอาจมีไข้ขึ้น
  • โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal neuralgia) เป็นอาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติของประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งเลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะ โดยยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด พบได้มากในผู้ที่มีอายุ 40-50 ปี และพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดเหมือนถูกมีดแทงหรือถูกเข็มร้อน ๆ ทิ่มแทง หรือเหมือนถูกไฟช็อตที่บริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งนานครั้งละ 10-30 วินาที และอาจปวดมากในขณะพูด เคี้ยว ล้างหน้า หรือสัมผัสถูก ทำให้อาจมีอาการเหมือนการปวดฟันได้ ดังนั้น ถ้าพบคนในวัยนี้มีอาการปวดฟันแล้วแต่ตรวจไม่พบว่ามีอาการฟันผุหรือเหงือกอักเสบ ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์ทางระบบประสาทเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย (ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า แพทย์จะให้ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) ในการรักษา)

วิธีรักษาฟันผุ

  • เมื่อฟันผุ แนะนำว่าควรไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการอุดฟันหรือถอนฟันตามแต่กรณีไป (ขึ้นอยู่กับความลึกและโครงสร้างของฟันว่าถูกทำลายไปมากน้อยแค่ไหน) ซึ่งการรักษาโรคฟันผุโดยส่วนใหญ่แล้วทันตแพทย์จะใช้วิธีกำจัดเนื้อฟันที่ผุออก และอุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันชนิดต่าง ๆ เช่น วัสดุอุดอะมัลกัม (Dental amalgam) หรือวัสดุอุดเรซินคอมโพสิต (Resin composite)
    การรักษาฟันผุแต่ถ้าฟันผุขนาดใหญ่ที่ผุลึกเข้าไปถึงโพรงประสาทฟัน มีการอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน (Pulpitis) ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาคลองรากฟันก่อนที่จะอุดฟันหรือทำครอบฟัน แต่ถ้าโรคลุกลามไปมากก็จำเป็นต้องถอนฟันออก
    • ฟันผุระยะที่ 1 เป็นระยะที่กรดเริ่มทำลายชั้นเคลือบฟัน (Enamel) ให้เปลี่ยนจากสีขาวใสมันวาวเป็นสีขุ่นขาวเล็ก ๆ ที่ผิวฟันหรือหลุมร่องฟัน ในระยะนี้การหมั่นแปรงฟันให้สะอาดอย่างถูกวิธี และใช้ฟลูออไรด์ทาเฉพาะที่เพื่อช่วยคืนกลับแร่ธาตุสู่ฟัน จะสามารถยับยั้งการลุกลามของโรคฟันผุได้
    • ฟันผุระยะที่ 2 เป็นระยะที่กรดเริ่มกัดกร่อนลึกลงไปถึงชั้นเนื้อฟัน (Dentin) ทำให้เป็นเป็นรอยสีเทาดำหรือสีน้ำตาล เห็นรูผุ มีเศษอาหารติดอยู่ ในระยะนี้จำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาด้วยการอุดฟัน (ในกรณีที่วัสดุอุดฟันแตก ควรรีบไปรับการอุดฟันใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุต่อ)
    • ฟันผุระยะที่ 3 เป็นระยะรุนแรงขึ้น มีการทำลายลึกถึงชั้นโพรงประสาทฟัน (Pulp) จนเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน และมีเศษอาหารไปติดอยู่ในโพรง เมื่อฟันทะลุถึงชั้นโพรงประสาทฟันแล้ว การอุดฟันตามปกติจะทำไม่ได้ แต่ต้องรักษาคลองรากฟันก่อน (หากมีการติดเชื้ออาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะก่อนการรักษาคลองรากฟัน)
    • ฟันผุระยะที่ 4 ถ้าผู้ป่วยทนเจ็บปวดจากการอักเสบจนผ่านเข้าสู่ระยะนี้ เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันจะถูกทำลายลุกลามไปที่ปลายรากฟัน การรักษาจึงจำเป็นต้องถอนฟันซี่นั้นออก และหลังจากการถอนฟัน ควรต้องใส่ฟันเทียมทดแทนด้วยเพื่อการบดเคี้ยวและป้องกันฟันข้างเคียงไม่ให้ล้มเอียง และรวมถึงเพื่อความสวยงามด้วย
  • เมื่อมีอาการปวดให้กินยาแก้ปวดเพื่อระงับอาการชั่วคราว แต่ถ้ามีอาการอักเสบหรือเป็นหนอง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ส่วนผู้ที่มีกลิ่นปากไม่หาย ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันและเหงือก
  • สมุนไพรรักษาฟันผุ (จากฐานข้อมูลสมุนไพรในเว็บไซต์) มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ได้แก่
    • กระต่ายจันทร์ (Centipeda minima (L.) A.Braun & Asch.) ใช้ส่วนของลำต้นนำมาตำให้ละเอียดแล้วทำเป็นยาพอก
    • กำลังพญาเสือโคร่ง (Betula alnoides Buch.-Ham. ex D.Don) ตามข้อมูลระบุให้ใช้เปลือกต้นนำมาถากออกเป็นแผ่น แล้วนำไปเผาไฟ จากนั้นเอาผงที่ได้มาทาบริเวณที่เป็น
    • แจง (Maerua siamensis (Kurz) Pax) ส่วนของใบมีสรรพคุณช่วยแก้ฟันผุ
    • ผักคราดหัวแหวน (Acmella oleracea (L.) R.K.Jansen) ให้ใช้ดอกนำมาตำกับเกลือแล้วนำมาอมหรือกัดไว้ หรือจะใช้ดอกนำมาตำผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อย จากนั้นชุบด้วยสำลีแล้วนำมาอุดที่รูฟัน
    • พิกุล (Mimusops elengi L.) ให้ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำเกลือ ใช้อมเพื่อฆ่าแมงกินฟันที่ทำให้ฟันผุ
    • มะเขือยาว (Solanum melongena L.) ให้ใช้ดอกแห้งหรือดอกสดนำมาเผาให้เป็นเถ้าแล้วบดให้ละเอียด ใช้ทาบริเวณที่เป็น
    • โมกมัน (Wrightia arborea (Dennst.) Mabb.) ตามตำราสมุนไพรระบุว่าส่วนของผลมีรสเมา มีสรรพคุณเป็นยาแก้ฟันผุได้ แต่ไม่ได้ระบุวิธีใช้เอาไว้
    • ยางนา (Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don) ให้ใช้น้ำมันยางจากต้นนำมาผสมกับเมล็ดกุยช่าย (Allium tuberosum Rottler ex Spreng.) แล้วคั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด ใช้เป็นยาอุดฟันแก้ฟันผุ
    • นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ยับยั้งฟันผุได้อีกเช่น ส้มกุ้ง (Embelia ribes Burm.f.), สารสกัดด้วยเอทานอลจากรากของโกฐกระดูก (Aucklandia lappa DC.), รากชะเอมเทศ (Glycyrrhiza glabra L.), คำฝอย (Carthamus tinctorius L.)

วิธีป้องกันฟันผุ

การป้องกันการเกิดฟันผุมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุสูง เช่น ในเด็กเล็ก หรือผู้ที่มีภาวะปากแห้งจากน้ำลายน้อย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราสามารถป้องกันฟันผุได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ในคนทั่วไปเราสามารถป้องกันฟันผุด้วยตนเองได้ โดยการหมั่นสังเกตมองฟันด้วยตาเปล่า เพื่อตรวจหาบริเวณที่ผิวฟันเป็นรู ผิวฟันมีการเปลี่ยนเป็นสีดำ ร่วมกับการมีอาการปวดฟัน
  • รับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล (คาร์โบไฮเดรต) ให้น้อยลง โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้งอย่างเช่นมันฝรั่งทอด ของขบเคี้ยว ถึงแม้จะไม่มีน้ำตาล แต่ก็เป็นบ่อเกิดทำให้เกิดฟันผุได้เช่นกัน ถ้าเปรียบเทียบกับช็อกโกแลตแล้ว มันฝรั่งยังอาจทำให้ฟันผุได้ง่ายกว่าอีกด้วย เพราะบางคนเคี้ยวเพลิน โดยคิดไปเองว่าเค็ม ๆ กรอบ ๆ ไม่มีน้ำตาล ไม่น่าจะทำให้ฟันผุ แต่ความจริงแล้วตรงกันข้ามเลย
  • หลีกเลี่ยงหรือลดความถี่ของการอมหรือจิบของกินที่มีน้ำตาล รวมถึงขนมหวานที่เหนียวหนึบติดฟันได้ง่าย เช่น ลูกอม ทอฟฟี่ น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำผลไม้ นม ของหวาน ผลไม้อบแห้ง เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันอยู่ในสภาวะที่เป็นกรดเป็นเวลานาน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้ลองใช้วิธีหาอาหารชนิดอื่นที่มีฤทธิ์เป็นด่างมาละลายฤทธิ์เป็นกรด เช่น ทานช็อกโกแลตที่มีถั่วหรืออัลมอนด์เป็นส่วนผสมแทนการทานช็อกโกแลตเพียงอย่างเดียว หรือทานก๋วยเตี๋ยวก็ใส่น้ำตาลแค่ 1 ช้อน ในก๋วยเตี๋ยวจะมีหมู ไก่ หรือปลา ซึ่งเป็นด่างที่ช่วยลดความเป็นกรด มีถั่วงอกหรือผักบุ้งที่ช่วยขัดฟันและมีน้ำที่ช่วยเจือจางความเป็นกรด เป็นต้น
  • พยายามรับประทานอาหารเฉพาะมื้อหลักแทนการรับประทานอาหารว่างบ่อย ๆ เพื่อช่วยลดจำนวนครั้งที่ฟันจะผลิตกรดที่ย่อยอาหารออกมา
  • แปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งในตอนเช้าและก่อนนอน หรือถ้าเป็นไปได้แปรงทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร ซึ่งรวมถึงหลังอาหารมื้อเที่ยงด้วย เพื่อช่วยทำความสะอาดในพื้นที่ที่ทำความสะอาดได้ยาก เช่น พื้นผิวร่องฟัน ซอกฟัน และพื้นที่ใต้เหงือก
  • ควรใช้ไหมขัดฟัน (Dental floss silk) ขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง เพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟันที่ขนของแปรงสีฟันเข้าไปไม่ถึง ด้วยการเอาเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ออกจากซอกฟัน
  • หลังรับประทานอาหารทุกครั้งควรบ้วนปากในทันที
  • ควรใช้ฟลูออไรด์ ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หรือยาเม็ดที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ (Fluoride) ถ้าใช้ชนิดกิน ควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงขนาดและวิธีการใช้ เพราะถ้าใช้มากเกินไปอาจทำให้ฟันตกกระ หรือถ้ากินในขนาดสูงมาก ๆ อาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ โดยฟลูออไรด์นี้จะช่วยเสริมสร้างผิวเคลือบฟันให้แข็งแรง แต่จะได้ผลดีสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 14 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ในวัยที่ฟันกำลังเจริญเติบโต
  • สำหรับเด็กไม่ควรดูดนมจากขวดหรือดูดนมแม่จนหลับ เพราะจะทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย
  • การเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของ Xylitol จะช่วยลดการเกิดฟันผุได้ เนื่องจากสารชนิดนี้สามารถยับยั้งการใช้น้ำตาลของเชื้อแบคทีเรีย
  • หมั่นไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันเป็นประจำทุก 6-12 เดือน เพื่อจะได้ตรวจพบฟันผุตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ที่มักไม่มีอาการอะไรและรักษาให้หายก่อนที่โรคจะลุกลามมากขึ้น รวมไปถึงการตรวจช่องปาก ขูดหินปูน และทำความสะอาดฟัน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคฟันผุ ช่วยป้องกันและยับยั้งปัญหาในช่องปากและฟันอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น (โดยทั่วไปทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ทุกคนมาตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก 6 เดือน หรืออาจบ่อยกว่านี้ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ เช่น ทุก ๆ 3 เดือนครั้งในรายที่มีความเสี่ยง)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ปวดฟัน ฟันผุ (Dental caries/Tooth decay)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 563-564.
  2. หาหมอดอทคอม.  “ฟันผุ (Dental caries)”.  (รศ.ทพ.เชวงเกียรติ แสงศิรินาวิน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [21 เม.ย. 2016].
  3. การประชุมวิชาการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ประจําปี 2558 โรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร.  “การเกิดฟันผุในเด็ก”.  (ทพญ.พันทิพา ลาภปริสุทธิ).

ภาพประกอบ : qsota.com, www.teethrelief.org.uk, www.dailyhealthneeds.com, www.nucleuscatalog.com, blog.allheals.com, pediatricdentalspecialist.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด