ปวดฟัน อาการ สาเหตุ และการรักษาอาการปวดฟัน 36 วิธี !!

ปวดฟัน อาการ สาเหตุ และการรักษาอาการปวดฟัน 36 วิธี !!
ปวดฟัน อาการ สาเหตุ และการรักษาอาการปวดฟัน 36 วิธี !!

ปวดฟัน

ปวดฟัน (Toothache) หมายถึง อาการปวดรอบฟันหรือขากรรไกร ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากสภาพฟันผุ ฟันคุด ฟันแตก ฟันสึก เหงือกอักเสบ หรือกระดูกรอบฟันอักเสบ นอกจากนี้อาการปวดฟันยังอาจเป็นอาการปวดจากโรคอื่น ๆ แล้วปวดร้าวส่งต่อมาที่ฟัน ส่งผลให้ดูเหมือนปวดฟัน เช่น จากโรคไซนัสอักเสบ โรคทางหู และโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยอาการปวดฟันนี้จะไม่สามารถหายไปเองได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ต้นเหตุโดยทันตแพทย์ แต่ก็สามารถบรรเทาอาการให้ปวดน้อยลงได้ในช่วงระยะหนึ่งก่อนที่จะไปพบทันตแพทย์

สาเหตุของอาการปวดฟัน

  • ฟันผุ เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการปวดฟัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเสียวฟันเวลาดื่มน้ำร้อนหรือน้ำเย็น บางครั้งอาจรู้สึกปวดฟันขึ้นมาได้ขณะเคี้ยวอาหาร เนื่องจากมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ในรูที่ผุนั้น
  • ฟันคุด เกิดจากการที่ฟันกรามซี่ในสุดขึ้นไม่ตรงที่และอาจเอียงไปดันฟันข้างเคียงทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ อีกทั้งบริเวณเหล่านี้มักทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง จึงทำให้มีเศษอาหารไปตกค้างอยู่จนอาจเกิดหนองรอบ ๆ ฟันคุดได้
  • ฟันร้าวหรือฟันแตก ทำให้ความเย็นหรือความร้อนส่งถึงโพรงประสาทฟันและทำให้เกิดอาการปวดฟันได้
  • ฟันสึก ทำให้เกิดอาการเสียวฟันเป็นครั้งคราว ถ้าสึกมากๆ ก็อาจทำให้ฟันตายได้ ถ้าฟันสึกจนถึงชั้นโพรงประสาทฟันก็จะทำให้ฟันตาย มีอาการปวด และอาจต้องถอนฟันในที่สุด
  • เศษอาหารติดฟัน กรณีฟันห่าง ฟันโยก ฟันผุด้านข้างเป็นรูใหญ่ หรือมีช่องว่างระหว่างฟัน เศษอาหารที่เข้าไปอัดอยู่ตรงช่องว่างเหล่านี้จะกดให้เหงือกช้ำ กลายเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย จึงทำให้มีอาการปวดเหงือกและฟันตามมา
  • การปวดฟันอันเนื่องมาจากฟันขึ้นในวัยเด็ก ซึ่งในขณะฟันขึ้นอาจมีเหงือกอักเสบร่วมด้วย แต่อาการปวดนี้จะหายไปเองเมื่อฟันโผล่พ้นเหงือกแล้ว
  • การนอนกัดฟัน เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีผลทำให้ฟันสึกหรือสารเคลือบฟันถูกทำลายไป
  • ฟันได้รับบาดเจ็บจากการกระแทก
  • โรคเหงือกอักเสบและปริทันต์อักเสบ ส่งผลทำให้เหงือกในบริเวณนั้นแดงช้ำกว่าบริเวณอื่น ๆ มักมีสาเหตุมาจากคราบหินปูน ทำให้เหงือกอักเสบบวมและปวดที่ฟันได้ โดยผู้ป่วยมักมีอาการปวดหนึบ ๆ หรือปวดรำคาญ ร่วมกับแปรงฟันมีเลือดออก และถ้าเป็นมาก ๆ ฟันจะโยก
  • การอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน ส่วนใหญ่มักเป็นผลจากฟันที่ผุลึกมากจนกระทั่งทะลุโพรงประสาทฟัน และอาจพบได้ในฟันสึก ฟันร้าว หรือแตกลึกถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบและเกิดการติดเชื้อของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดฟันขึ้นมาได้โดยไม่ต้องมีสิ่งใดมากระตุ้น และจะมีอาการปวดฟันมากและปวดอยู่นาน
  • ปลายรากฟันอักเสบเป็นหนอง ถ้าการอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันเป็นอยู่นาน โรคอาจลุกลามไปที่ปลายรากฟันจนทำให้เกิดการติดเชื้อและเป็นหนองบริเวณปลายรากฟัน ทำให้เกิดอาการบวมของเหงือกบริเวณฟันที่ติดเชื้อและเกิดอาการปวดฟันได้
  • โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal neuralgia) เป็นอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบของประสาทสมองเส้นที่ 5 ที่เลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะ ซึ่งอาจทำให้มีอาการเหมือนการปวดฟันได้
  • อาการปวดจากโรคอื่น ๆ แล้วปวดร้าวส่งต่อมาที่ฟัน เช่น จากโรคไซนัสอักเสบ โรคทางหู และโรคหลอดเลือดหัวใจ

อาการปวดฟัน

อาการปวดฟันมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทหลัก ๆ โดยประเภทแรกเป็นการปวดฟันแบบเสียวจี๊ด ๆ เวลากินของเย็น ของหวาน หรือเมื่อตอนเคี้ยวอาหาร และอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อหยุดกินอาหารดังกล่าวภายในไม่กี่นาที ซึ่งลักษณะของอาการปวดเช่นนี้มักเกิดจากฟันผุหรือฟันบิ่นจนถึงเนื้อฟันชั้นใน จึงทำให้ความเย็นหรือแรงจากการเคี้ยวอาหารมีโอกาสกระตุ้นเส้นประสาทที่อยู่ในโพรงประสาทใต้เนื้อฟันได้มากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดความรู้สึกเสียวฟันทุกครั้งเมื่อกินอาหาร

ส่วนอาการปวดฟันอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งจะมีความรุนแรงกว่า คือ การปวดเป็นจังหวะ ตุ้บ ๆ ซึ่งอาจปวดโดยอยู่เฉย ๆ ก็ปวด หรืออาจปวดมากขึ้นเวลากินของเย็นหรือของร้อน หรือเวลาเคี้ยวอาหาร และอาการปวดนี้จะไม่หายไปแม้จะเลิกกินอาหารเหล่านี้แล้วก็ตาม ซึ่งอาการปวดแบบนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารประเภทดังกล่าวพร้อมกับการรับประทานยาแก้ปวด

ปวดฟันทําไงดี
IMAGE SOURCE : Csaba Deli

การวินิจฉัยอาการปวดฟัน

การวินิจฉัยหาตำแหน่งของอาการปวดฟันที่เป็นสาเหตุ ทันตแพทย์สามารถทำได้โดยการเริ่มสอบถามผู้ป่วยว่ามีอาการที่ฟันซี่ใด ปวดเวลาใด เคาะฟันเจ็บหรือไม่ อาหารชนิดใดรับประทานแล้วปวดฟัน ความไวต่ออุณหภูมิความร้อนหรือความเย็นของน้ำและอาหาร มีอาการปวดมากน้อยเพียงใด ลักษณะการปวดเป็นแบบปวดตุบ ๆ หรือปวดจี๊ด ๆ แล้วทันตแพทย์จะตรวจดูในช่องปากและฟันของผู้ป่วยเพื่อดูว่ามีอาการบวมหรือไม่ ตรวจหารอยแยกของฟันและของขอบวัสดุอุดฟัน (ถ้าอุดฟันไว้) เพื่อดูว่ามีฟันร้าวหรือไม่ นอกจากนี้ทันตแพทย์อาจถ่ายเอกซเรย์เพื่อช่วยหาหลักฐานของการสลายตัวของกระดูกฟัก ความผิดปกติระหว่างซี่ฟัน หรือฟันแตก

แต่บางครั้งสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดฟันอาจไม่ได้เกิดจากฟันหรือขากรรไกรก็ได้ แต่อาจเป็นความปวดที่มาจากอวัยวะอื่นที่ผู้ป่วยรับรู้ว่าปวดบริเวณฟัน ซึ่งการวินิจฉัยหาตำแหน่งของอาการปวดฟันที่เป็นสาเหตุนั้น ทันตแพทย์อาจร่วมกันกับแพทย์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยถึงโรคที่อาจเป็นสาเหตุ ซึ่งจะช่วยให้การวินิจฉัยโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดฟันเป็นไปได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

เมื่อมีอาการปวดฟันควรทำอย่างไร

เมื่อมีอาการปวดฟันเกิดขึ้น ควรรีบไปพบทันตแพทย์ อย่าเข้าใจผิด คิดว่าปวดฟันจะไม่ทำให้เสียชีวิต เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อจนเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ เช่น มีไข้ มีอาการปวดฟันรุนแรงมากขึ้น เหงือกหรือช่องปากบวม ซึ่งจะทำให้การรักษายากขึ้นหรืออาจจำเป็นต้องถอนฟัน นอกจากนี้การอักเสบติดเชื้อยังอาจส่งผลต่อการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะอื่น ๆ จากการที่เชื้อโรคแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด เช่น โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ

อาการปวดฟันส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคฟันผุ ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันที เชื้ออาจแพร่กระจายไปยังปลายรากฟันเข้าไซนัสก่อให้เกิดไซนัสอักเสบ และแพร่กระจายไปในกระแสเลือดทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ยากต่อการรักษา
ดังนั้น เมื่อเริ่มมีอาการปวดฟันเกิดขึ้น จึงควรรีบไปพบทันตแพทย์เสมอภายใน 1-2 วัน และควรระลึกไว้เสมอว่าการหาวิธีแก้ปวดต่าง ๆ เช่น การรับประทานยาแก้ปวด ฯลฯ จะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่ใช่การรักษาที่สาเหตุ

วิธีแก้ปวดฟัน

การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวดฟันว่ามาจากสาเหตุใด ดังนี้

  • การระงับอาการปวดฟันชั่วคราวมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น
    1. การทำความสะอาดเศษอาหารที่ติดฟัน เป็นวิธีแรก ๆ ที่ควรทำก่อนจะใช้วิธีบรรเทาอาการปวดอื่น ๆ โดยควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดเศษอาหารที่ติดตามซอกฟันทั้งสองด้านในบริเวณที่มีอาการปวดอย่างระมัดระวัง จากนั้นให้บ้วนปากและกลั้วปากด้วยน้ำอุ่นเพื่อให้เศษอาหารหลุดออก เสร็จแล้วจึงบ้วนน้ำทิ้ง
    2. งดสิ่งกระตุ้นที่มีผลทำให้ปวดฟันหรือทำให้ประสาทฟันบาดเจ็บมากขึ้น เช่น การรับประทานของเย็นจัด (น้ำแข็ง ไอศกรีม), การรับประทานของร้อนจัด (น้ำร้อน ชาร้อน กาแฟร้อน อาหารร้อน ๆ), การรับประทานอาหารที่มีรสหวานจัดหรือเปรี้ยวจัด เป็นต้น
    3. หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกบริเวณที่มีอาการปวดฟัน จนกว่าอาการปวดฟันอีกด้านจะหายไป เพราะอาการปวดฟันจะเป็นมากขึ้น ถ้าฟันซี่นั้น ๆ ถูกกระแทกบ่อย ๆ วิธีการง่าย ๆ ก็คือ การรับประทานอาหารที่ไม่ต้องใช้แรงเคี้ยว เช่น อาหารนิ่ม ๆ ไม่ควรเคี้ยวอาหารแข็ง ๆ หรือเหนียว ๆ ที่ต้องใช้แรงบดเคี้ยวมาก หรือให้เลี่ยงไปเคี้ยวอาหารอีกด้านหนึ่งของช่องปากแทน
    4. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ เป็นวิธีที่ช่วยกำจัดแบคทีเรียและบรรเทาอาการปวดได้ (เกลือไม่ได้มีฤทธิ์ในการรักษาแต่จะช่วยกำจัดแบคทีเรียและทำให้เหงือกที่บวมรอบ ๆ ฟันซี่ที่ปวดชุ่มชื้นขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้) โดยให้ผสมเกลือ 1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร) กับน้ำอุ่น 250 มิลลิลิตร ใช้อมกลั้วปากประมาณ 30 วินาทีแล้วบ้วนออก (สามารถทำซ้ำได้ตามความต้องการ)
    5. บ้วนปากด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) ที่มีความเข้มข้น 3% สักพัก ซึ่งจะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการฟันผุได้
    6. การรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol), แอสไพริน (Aspirin) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยลดอาการปวดจนกว่าจะไปพบทันตแพทย์ได้ ซึ่งโดยปกติจะรับประทานยาแก้ปวดครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง (ควรอ่านวิธีใช้ยาจากฉลากเพื่อรับประทานยาในปริมาณที่เหมาะสม) สำหรับยาแอสไพรินชนิดผงหรือเม็ดหรือยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ อย่าใส่ลงไปในรูฟันผุหรือบริเวณที่ปวดโดยตรง เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันแล้วความเป็นกรดอาจทำให้แก้มและเหงือกบริเวณใกล้เคียงเป็นแผลได้ด้วย
    7. ยาบรรเทาอาการปวดเฉพาะที่ ซึ่งเป็นยาทาที่ใช้เฉพาะที่บนฟันหรือเหงือกที่มีอาการปวด โดยตัวยาที่สำคัญคือ เบนโซเคน (Benzocaine) ซึ่งเป็นยาชาเฉพาะที่ ใช้ลดอาการเจ็บปวดอย่างเช่น ปวดจากแผลในปาก บรรเทาอาการปวดฟัน ปวดเหงือก แต่ยานี้ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และไม่ควรใช้ยาเกินขนาดที่แนะนำบนฉลาก
    8. การประคบเย็น เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ โดยเป็นการใช้ความเย็นเพื่อทำให้บริเวณที่ประคบเกิดอาการชา (อุณหภูมิที่ลดต่ำลงจะลดปริมาณเลือดที่ไหลออกมา เมื่อไหลน้อยลงอาการปวดบริเวณนั้นก็น้อยลงด้วยเช่นกัน) ส่วนวิธีการก็คือให้ใช้น้ำแข็งก้อนห่อด้วยผ้าบาง ๆ แล้วนำมาประคบบริเวณกรามข้างที่มีอาการปวดฟันประมาณ 10-15 นาที แล้วหยุดพัก จากนั้นให้ประคบต่อตามความจำเป็น โดยให้ตรวจดูว่าบริเวณที่ปวดหายเป็นปกติหรือยังก่อนที่จะประคบอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้
    9. การประคบร้อน ถ้ามีฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟันและเป็นหนองปลายรากฟัน และมีอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด การใช้ความร้อนประคบบริเวณที่บวมจากภายนอกช่องปากนอกจากจะช่วยลดอาการปวดฟันได้ดีแล้ว ยังช่วยระบายหนองได้ดีขึ้นอีกด้วย
    10. การกดจุดแก้ปวดฟัน เป็นวิธีที่ช่วยระงับอาการปวดฟันได้ชั่วคราวเหมือนการรับประทานยาแก้ปวด (ดูได้ในหัวข้อด้านล่าง)
    11. อุดฟันชั่วคราว คุณอาจลองอุดโพรงหรือช่องในฟันที่ทำให้เกิดอาการปวดได้ด้วยตัวเอง โดยการใช้หมากฝรั่งหรือขี้ผึ้งสำหรับฟันจนกว่าจะไปพบทันตแพทย์ หรือตามร้านขายยาก็มีชุดอุดฟันชั่วคราวขาย (ทำมาจากซิงค์ออกไซด์หรือส่วนประกอบที่คล้ายกัน) ซึ่งมันจะช่วยลดแรงกดที่กระทบฟันและอยู่ได้นานถึง 2 สัปดาห์

      ยาแก้ปวดฟัน
      IMAGE SOURCE : www.wikihow.com

    12. แอลกอฮอล์ ให้ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์แรง ๆ อย่างวอดก้า บรั่นดี วิสกี้ และเหล้ายิน ซึ่งจะมีฤทธิ์ทำให้บริเวณที่ถูกสัมผัสชาและช่วยบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว ส่วนวิธีการใช้ให้จุ่มสำลีสะอาดในเครื่องดื่มแล้วนำไปประคบกับฟันบริเวณที่ปวด หรืออาจจิบวิสกี้เพียงเล็กน้อยและอมเครื่องดื่มไว้ในข้างแก้มที่มีอาการปวด
    13. ใช้ถุงชาประคบบริเวณที่ปวด เช่น ชาดำที่มีสารแทนนินที่ช่วยลดอาการบวม หรือชาสมุนไพรเปปเปอร์มินต์ที่มีฤทธิ์อ่อนๆ ทำให้รู้สึกชาและบรรเทาอาการปวดได้เช่นกัน ส่วนวิธีการใช้ให้นำถุงชาไปอุ่นในไมโครเวฟ โดยใส่ไว้ในถ้วยที่มีน้ำประมาณ 30 วินาที เพื่ออุ่นถุงชา จากนั้นบีบน้ำที่ชุ่มออก แล้ววางถุงชาบนบริเวณที่มีอาการปวดฟันหรือเหงือกและกัดเบา ๆ จนกว่าอาการปวดจะทุเลาลงไป
    14. ทิงเจอร์มดยอบ (Myrrh) มดยอบเป็นยางไม้ที่ออกมาจากต้นไม้มีหนามบางชนิดและใช้เป็นส่วนผสมในการทำของบางอย่าง เช่น กำยาน น้ำหอม และยา ซึ่งมีฤทธิ์ในการสมานแผล ลดอาการบวม และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงมีการใช้ทิงเจอร์มดยอบบรรเทาอาการปวดฟันมานานแล้ว โดยวิธีการใช้ให้ต้มผงมดยอบ 1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร) กับน้ำ 2 ถ้วย (500 มิลลิลิตร) ในหม้อใบเล็กประมาณ 30 นาที แล้วกรองเอาแต่น้ำปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นให้ผสมน้ำที่ได้ 1 ช้อนชา กับน้ำครึ่งถ้วย (125 มิลลิลิตร) แล้วนำมาบ้วนปากวันละ 5-6 ครั้ง
    15. ยาทาหยางเหมย (Bayberry) เปลือกรากหยางเหมยเชื่อว่าเป็นยาปฏิชีวนะจากธรรมชาติ และมีสารแทนนินกับฟลาโวนอยด์ เมื่อนำหยางเหมย (บด) มาผสมกับน้ำส้มสายชูจนเป็นเนื้อครีมแล้วนำมาทาจะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันและสร้างความแข็งแรงให้เหงือกได้ ส่วนวิธีการทำยานั้นให้นำเปลือกหยางเหมยมาบดให้ได้ปริมาณที่หนาจากก้นภาชนะประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำไปผสมกับน้ำส้มสายชู 1/4 ช้อนชา (1.25 มิลลิลิตร) เพื่อให้ได้เป็นเนื้อครีมเหนียว เสร็จแล้วจึงให้นำไปทาบริเวณที่ปวดในช่องปากโดยตรงและทิ้งไว้จนกว่าอาการปวดจะลดลง แล้วบ้วนปากด้วยน้ำอุ่น
    16. กานพลู (Syzygium aromaticum (L.) Merr. & L.M.Perry) เป็นสมุนไพรแก้ปวดฟันที่นิยมใช้มาตั้งแต่อดีต เพราะมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการชาและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สำหรับกานพลูทั้งดอก ให้นำมาเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟัน หรือจะนำดอกมาตำให้พอแหลกผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อยพอแฉะ แล้วใช้สำลีชุบจิ้มหรืออุดฟันที่ปวด ส่วนน้ำมันดอกกานพลู ให้ใช้ประมาณ 4-5 หยด แล้วใช้สำลีพันไม้จุ่มน้ำมันจิ้มในรูฟันที่ปวด ซึ่งจะช่วยทำให้อาการปวดทุเลาลงได้
    17. ข่อย (Streblus asper Lour.) ให้ใช้กิ่งสด 5-6 นิ้วฟุต นำมาหั่นต้มใส่เกลือเคี่ยวให้งวด เหลือน้ำครึ่งเดียว ใช้อมเช้าและเย็น จะช่วยทำให้ฟันทน ไม่ปวดฟัน
    18. ดาวเรือง (Tagetes erecta L.) ใช้ช่อดอกแห้ง 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน
    19. ผักชี (Coriandrum sativum L.) ให้ใช้เมล็ดนำมาต้มกับน้ำ ใช้อมบ้วนปากบ่อย ๆ เป็นยาแก้ปวดฟัน ปากเจ็บ
    20. ผักคราดหัวแหวน (Acmella oleracea (L.) R.K.Jansen) ต้นสดใช้ตำพอกหรือเอาน้ำทาถู โดยใช้ต้นสด 1 ต้น นำมาตำให้ละเอียด เติมเกลือ 10 เม็ด คั้นเอาน้ำ ใช้สำลีพันไม้ชุบน้ำยาจิ้มลงในซอกฟัน จะช่วยทำให้หายปวดฟันได้
    21. หัวหอม (Allium ascalonicum L.) เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียและช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ชั่วคราว โดยให้นำหัวหอมมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วแปะไว้ที่ฟันตรงซี่ที่มีอาการปวด
    22. สมุนไพรแก้ปวดฟันอื่น ๆ เช่น กุยช่าย (นำเมล็ดมาคั่วให้เกรียมดำ บดให้ละเอียด ละลายน้ำมันยางแล้วชุบสำลียัดในฟันที่เป็นรูโพรงทิ้งไว้ 1 คืน), ผักบุ้งนา (ใช้รากสด 10 กรัม ตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำส้มสายชู ใช้อมประมาณ 5 นาที แล้วบ้วนออกด้วยน้ำสะอาด), มะระ (รากสดมาตำให้แหลก ใช้พอกฟันซี่ที่ปวด), ว่านหางจระเข้ (หั่นว่านเป็นชิ้น ๆ ความยาว 2-3 เซนติเมตร ใช้เหน็บไว้ที่ซอกฟัน แล้วใช้ฟันขบให้อยู่บริเวณที่มีอาการปวด), น้ำมันกระเทียม (ใช้สำลีชุบแล้วนำมาทาบริเวณที่มีอาการปวดฟัน), ใบชา (นำใบชาแห้งไปแช่ในน้ำร้อน 20 นาที แล้วรอจนกว่าน้ำชาจะอุ่น จากนั้นให้นำมาบ้วนปากบ่อย ๆ แล้วบ้วนด้วยน้ำสะอาดตาม จะช่วยลดอาการปวดฟันได้), มะอึก, ลำโพงดอกขาว ฯลฯ

      สมุนไพรแก้ปวดฟัน
      สมุนไพรแก้ปวดฟัน : กานพลู, ข่อย, ดาวเรือง, ผักชี, ผักคราดหัวแหวน, หัวหอม

  • นัดพบทันตแพทย์ วิธีบรรเทาอาการปวดฟันข้างต้นไม่ใช่การรักษาอย่างถาวร ถ้าอาการปวดฟันยังไม่หาย หลังปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวแล้ว หรือโดยเฉพาะเมื่อมีอาการบวม เป็นหนอง หรือมีไข้ร่วมด้วย ก็แสดงว่าอาจเกิดจากสาเหตุสำคัญที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจัง
    1. ถ้าฟันผุหรือวัสดุอุดฟันหลุด ทันตแพทย์จะทำการรักษาโดยการอุดฟันให้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ฟันผุ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคฟันผุ (แมงกินฟัน) 5 วิธี !!)
    2. ถ้าฟันผุรุนแรงหรือเสียหายไปถึงรากฟัน ฟันเสียหายแต่ยังไม่หลุด เนื้อเยื่อฟันอักเสบ ฟันสึกจากการเสียดสี ฟันร้าว หรือฟันเกิดการติดเชื้อที่รุนแรง ในบางกรณีการรักษาโดยการอุดฟันอาจไม่เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีครอบฟันแทน
    3. การรักษาคลองรากฟัน เป็นการรักษารากฟันและเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อบริเวณปลายรากฟัน หรือเกิดจากการแตก ร้าว หรือผุ ลึกลงไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาท ซึ่งการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีจะช่วยให้ผู้ป่วยยังคงสามารถเก็บฟันซี่นั้นต่อไปได้โดยไม่ต้องถูกถอนทิ้งไปเหมือนในอดีต หลังจากโพรงรากฟันได้รับการฆ่าเชื้อ ทันตแพทย์จะทำการอุดปิดโพรงรากฟันเพื่อป้องกันการกลับมาของเชื้อโรค จากนั้นทันตแพทย์อาจแนะนำการฟอกสีฟัน อุดฟัน ใส่เดือยฟัน และครอบฟันตามความเหมาะสม
    4. ถ้าฟันคุด ทันตแพทย์จะทำการรักษาโดยการถอนฟันซี่นั้นออก เพราะการขึ้นของฟันคุดนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีในการเคี้ยวอาหารเลย แถมยังทำให้อาการปวดรุนแรงหรือติดเชื้อได้ถ้าไม่ถอนฟันคุดที่เป็นสาเหตุออก
    5. ถ้าฟันสึกทำให้เสียวฟัน ทันตแพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนชนิดของแปรงสีฟันและยาสีฟัน หรือใช้ยาทาลดอาการเสียวฟัน หรือทำการอุดฟัน
    6. ถ้ามีอาการอักเสบของเหงือกและมีการสูญเสียของกระดูกที่ล้อมรอบฟัน ทันตแพทย์จะให้การรักษาโดยการขูดหินปูน การเกลารากฟัน และอาจทำศัลยกรรมร่วมด้วย
    7. ถ้ามีการอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันหรือปลายรากฟันอักเสบเป็นหนอง ทันตแพทย์จะให้การรักษา ด้วยการรักษาคลองรากฟัน หรือถอนฟัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของเนื้อฟันที่เหลืออยู่โดยต้องให้ทันตแพทย์ประเมินการรักษาอีกครั้ง
    8. ถ้าอาการปวดฟันเกิดจากเหงือกร่น แพทย์จะแนะนำการดูแลรักษาเหงือกให้อย่างถูกวิธี เพราะบางครั้งการที่เหงือกร่นอาจเกิดจากการดูแลฟันที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือดูแลไม่เพียงพอ ซึ่งทันตแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ไหมขัดฟัน ใช้แปรงสีฟันขนแปรงนุ่ม หรือใช้ยาสีฟันอย่างเซ็นโซดายน์เพื่อช่วยลดอาการเสียวฟัน แต่ในกรณีที่รุนแรง ทันตแพทย์อาจส่งต่อไปให้ศัลยแพทย์ช่องปากเพื่อทำการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ โดยการนำเนื้อเยื่อจากเพดานปากไปปลูกถ่ายตรงเหงือกที่เสียหาย
    9. ถ้าอาการเสียวฟันเกิดจากการที่เคลือบฟันหลุด อาจต้องใช้ยาระงับอาการเสียวฟันซึ่งเป็นยาเฉพาะที่ (สั่งโดยแพทย์หรือเภสัชกร) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดอาการเสียวที่เกิดจากเส้นประสาทในฟัน เมื่ออาการเสียวฟันจากเส้นประสาทลดลง อาการปวดก็จะลดลงด้วยเช่นกัน
    10. ถ้าอาการปวดฟันมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียในเนื้อฟันหรือรากฟัน (มักมีสาเหตุมาจากการอักเสบเนื่องจากฟันผุหรือการบาดเจ็บ) ทำให้มีอาการเหงือกบวม หรือเป็นหนองร่วมด้วย จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันทีด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะก่อนที่การติดเชื้อจะทำให้ฟันเสียหรือลุกลามไปจุดอื่น โดยยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้ ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) ซึ่งการใช้ยากลุ่มนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ
    11. การปวดฟันอันเนื่องมาจากฟันขึ้นในเด็ก โดยทั่วไปอาการปวดจะหายไปเองเมื่อฟันโผล่พ้นเหงือกแล้ว แต่ถ้าเจ็บมากก็ให้บ้วนน้ำเกลือบ่อย ๆ และรับประทานยาแก้ปวดสำหรับเด็ก ซึ่งอาการเจ็บปวดมักจะทุเลาและหายไปเองภายใน 2-3 วัน
    12. ถ้าเป็นผู้ป่วยที่นอนกัดฟัน ทันตแพทย์จะมีวิธีการโดยใส่เครื่องมือเอาไว้ป้องกันการกัดฟันเวลานอน
    13. ถ้าอาการปวดฟันเกิดจากโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า ทันตแพทย์จะให้โดยการให้ยารับประทาน (ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine)) หรือส่งต่อไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญ
    14. สำหรับอาการปวดฟันที่มีสาเหตุมาจากอวัยวะหรือโรคอื่น ๆ ทันตแพทย์จะส่งต่อไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญสาขาอื่นเพื่อให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

การรักษาทางทันตกรรมได้ทันเวลาในขณะที่เริ่มรู้สึกปวดฟันและยังไม่มีการติดเชื้อจะได้ผลค่อนข้างดี เช่น การอุดฟัน การรักษาคลองรากฟัน หรือการรักษาเหงือก แต่ถ้ามีการติดเชื้อรุนแรงและเชื้อได้แพร่กระจายไปยังไซนัสหรือกระดูกขากรรไกร หรือเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ก็จะทำให้การรักษายากขึ้น และอาจจำเป็นต้องถอนฟันออกไป

กดจุดแก้ปวดฟัน

  1. จุดเหอกู่ ให้คว่ำฝ่ามือลง นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้แนบชิดติดกัน โดยจุดเหอกู่จะอยู่ตรงจุดสูงสุดของกล้ามเนื้อที่นูนขึ้นมาระหว่างนิ้วทั้งสอง (การหาจุดกดอีกวิธีคือให้กางหัวแม่มือและนิ้วชี้ออก แล้วให้ใช้นิ้วหัวแม่มืออีกข้าง (ตรงรอยแบ่งข้อหัวแม่มือข้อแรก) ทาบลงบนกลางง่ามมือ) แล้วให้ใช้นิ้วหัวแม่มือข้างหนึ่งกดอีกข้างหนึ่ง (ในกรณีที่กดตัวเอง) หรือให้คนอื่นกดให้ โดยใช้หัวแม่มือกดจุดทั้งสองพร้อม ๆ กัน (ใช้ในกรณีปวดฟันบน ถ้าปวดด้านซ้ายให้กดจุดเหอกู่ที่มือขวา ถ้าปวดด้านขวาให้กดจุดเหอกู่ที่มือด้านซ้าย)

    กดจุดแก้ปวดฟัน
    IMAGE SOURCE : www.doctor.or.th

  2. จุดเจี๋ยเชอ ให้กัดฟันทั้งสองข้าง โดยจุดเจี๋ยเชอจะอยู่ตรงรอยนูนขึ้นของกล้ามเนื้อตรงแก้มทั้งสองข้าง แล้วให้ใช้หัวแม่มือกดและคลึงเบา ๆ บนจุดเจี๋ยเชอ (การกดจุดในตำแหน่งนี้ใช้ในกรณีที่ปวดฟันล่าง ถ้าปวดด้านใดก็ให้กดด้านนั้น)

    วิธีรักษาอาการปวดฟัน
    IMAGE SOURCE : www.doctor.or.th

  3. จุดหยาท้ง จะอยู่ในตำแหน่งระหว่างนิ้วที่ 3 และ 4 บนฝ่ามือ ใต้ง่ามนิ้วประมาณ 1 นิ้ว แล้วให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกดและคลึงเบา ๆ บนจุดหยาท้ง (การกดจุดในตำแหน่งนี้ให้ใช้กดเมื่อปวดทั้งฟันบนและฟันล่าง หรือปวดเฉพาะฟันบนหรือฟันล่าง และถ้าปวดด้านใดก็กดบนมือด้านนั้น)

    วิธีบรรเทาอาการปวดฟัน
    IMAGE SOURCE : www.doctor.or.th

โปรดทราบว่าการกดจุดระงับอาการปวดฟันนี้สามารถระงับอาการปวดฟันได้ชั่วคราวเท่านั้น (เหมือนการรับประทานยาแก้ปวด) และควรได้รับการรักษาที่ต้นเหตุ

วิธีป้องกันอาการปวดฟัน

การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการปวดฟัน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันผุ (สาเหตุส่วนใหญ่ของการปวดฟัน) คือ

  1. การแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรับประทานอาหารและขนมขบเคี้ยว (ควรพกแปรงสีฟันติดกระเป๋าไว้เสมอ เพื่อที่จะได้แปรงฟันได้ทุกที่ แต่หากไม่สามารถแปรงฟันได้ อย่างน้อยก็ควรบ้วนปากบ้างก็ยังดี)
  2. ควรใช้ไหมขัดฟัน (Dental floss silk) ขัดฟันวันละครั้ง เพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟันที่ขนของแปรงสีฟันเข้าไปไม่ถึง และเพื่อช่วยป้องกันโรคเหงือกอักเสบ โดยการเอาเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ที่ติดค้างอยู่ในซอกฟันออกมา
  3. ควรใช้ฟลูออไรด์ ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หรือยาเม็ดที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ถ้าใช้ชนิดกินควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงขนาดและวิธีการใช้ เพราะถ้าใช้มากเกินไปอาจทำให้ฟันตกกระ หรือถ้ากินในขนาดสูงมาก ๆ อาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ โดยฟลูออไรด์นี้จะช่วยเสริมสร้างผิวเคลือบฟันให้แข็งแรง แต่จะได้ผลดีสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 14 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ในวัยที่ฟันกำลังเจริญเติบโต
  4. รับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล (คาร์โบไฮเดรต) ให้น้อยลง เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ผสมน้ำตาล ชาหวาน กาแฟใส่น้ำตาล อาหารขยะ ลูกกวาด ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้งอย่างเช่นมันฝรั่งทอด ของขบเคี้ยว ที่ถึงแม้จะไม่มีน้ำตาล แต่ก็เป็นบ่อเกิดทำให้เกิดฟันผุได้เช่นกัน เพราะถ้าเปรียบเทียบกับช็อกโกแลตแล้ว มันฝรั่งยังอาจทำให้ฟันผุได้ง่ายกว่า เพราะบางคนเคี้ยวเพลิน โดยคิดไปเองว่าเค็ม ๆ กรอบ ๆ ไม่มีน้ำตาล ไม่น่าจะทำให้ฟันผุ แต่ความจริงแล้วกลับตรงกันข้ามเลย
  5. พยายามรับประทานอาหารเฉพาะมื้อหลักแทนการรับประทานอาหารว่างบ่อย ๆ เพื่อช่วยลดจำนวนครั้งที่ฟันจะผลิตกรดที่ย่อยอาหารออกมา
  6. ควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยเป็นประจำทุก 6 เดือนเพื่อตรวจสุขภาพและทำความสะอาดฟัน
  7. ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์เป็นครั้งแรกก่อนที่เด็กจะมีอาการปวดฟันหรือพาไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่เด็กเริ่มมีฟันขึ้น และผู้ปกครองควรช่วยเด็กแปรงฟันด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยลดโอกาสการเกิดฟันผุและอาการปวดฟันในเด็กได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการสอนให้เด็กรู้จักการดูแลฟันและควรไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

วิธีทําให้หายปวดฟัน
IMAGE SOURCE : netdoctor.cdnds.net

เอกสารอ้างอิง
  1. หาหมอดอทคอม.  “ปวดฟัน (Toothache)”.  (รศ.ทพ.เชวงเกียรติ แสงศิรินาวิน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [05 ส.ค. 2016].
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 6 คอลัมน์ : ฟันดีมีสุข.  “โอ๊ย! ปวดฟัน”.  (ทพ.สิทธิชัย ขุนทองแก้ว).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [06 ส.ค. 2016].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 35 คอลัมน์: การแพทย์ตะวันออก.  “กดจุดแก้ปวดฟัน”.  (วิทิต วัณนาวิบูล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [06 ส.ค. 2016].
  4. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กลุ่มยาแก้ปวดฟัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [07 ส.ค. 2016].
  5. wikiHow.  “วิธีการบรรเทาอาการปวดฟัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikihow.com.  [07 ส.ค. 2016].
  6. นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 191

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด