ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) อาการ สาเหตุ การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ 7 วิธี !!

ทอนซิลอักเสบ

ทอนซิลอักเสบ หรือ ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อของทอนซิลซึ่งเป็นต่อมคู่ข้างซ้ายและขวา (เป็นต่อมน้ำเหลืองในลำคอที่อยู่ด้านข้างใกล้กับโคนลิ้น มีหน้าที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ลำคอ เช่น จากอาหาร น้ำดื่ม และการหายใจ จัดเป็นเนื้อเยื่อที่ไม่สำคัญ สามารถตัดออกได้เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะยังมีต่อมน้ำเหลืองในช่องคออีกมากที่ทำหน้าที่นี้แทนได้) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอเป็นสำคัญ ส่วน “คออักเสบ” (Pharyngitis) นั้น มักใช้เรียกภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อในลำคอที่อยู่บริเวณหลังช่องปากเข้าไป ซึ่งบางครั้งภาวะทั้งสองนี้อาจเกิดขึ้นพร้อมกันได้

โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งมีทั้งกลุ่มโรคติดเชื้อและกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อ ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงการอักเสบจากโรคติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “เบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ” (Group A beta-hemolytic streptococcus) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีเนส” (Streptococcus pyogenes) ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้

การอักเสบของทอนซิล สามารถพบได้ทั้งการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน ซึ่งมักมีอาการรุนแรงกว่า แต่รักษาให้หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ และการอักเสบเรื้อรังที่เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งจะมีอาการแต่ละครั้งน้อยกว่าชนิดเฉียบพลัน ซึ่งนิยามของทอนซิลอักเสบเรื้อรัง คือ ทอนซิลอักเสบเกิดขึ้นอย่างน้อย 7 ครั้งใน 1 ปีที่ผ่านมา หรืออย่างน้อย 5 ครั้งทุกปีติดต่อกันใน 2 ปีที่ผ่านมา หรืออย่างน้อย 3 ครั้งทุกปีติดต่อกันใน 3 ปีที่ผ่านมา (ทอนซิลอักเสบเฉียบพลันหากเป็นบ่อย ๆ ทอนซิลจะโตขึ้น แล้วเปลี่ยนสภาพเป็นแบบเรื้อรัง และอาจมีการอักเสบอย่างเฉียบพลันแบบเป็น ๆ หาย ๆ ได้ ซึ่งการที่ทอนซิลโตขึ้นนี้จะทำให้เกิดร่องหรือซอก ซึ่งจะทำให้มีเศษอาหารเข้าไปตกค้างได้ง่าย และอาจทำให้เกิดการอักเสบยืดเยื้อออกไป)

เบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ
IMAGE SOURCE : emedicine.medscape.com

ทอนซิลอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบได้บ่อยในเด็กอายุก่อน 10 ปี (เพราะหลังจาก 10 ปีไปแล้ว ต่อมทอนซิลจะทำงานน้อยลงหรือไม่ทำงานเลย) และในผู้ที่อายุน้อยกว่า 20 ปีก็ยังอาจเป็นโรคนี้กันได้อยู่ แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยพบในผู้ใหญ่วัยกลางคนไปแล้ว ส่วนโอกาสในการเกิดทั้งในเพศชายและเพศหญิงมีเท่ากัน (ในเด็กก่อนวัยเรียนมักเกิดจากเชื้อไวรัส และติดต่อกันได้ง่าย เพราะไม่รู้จักป้องกัน ส่วนในเด็กโตและผู้ใหญ่มักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย)

สาเหตุทอนซิลอักเสบ

ส่วนใหญ่ประมาณ 70-80% เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งเชื้อไวรัสอื่น ๆ อีกหลายชนิด มีบางส่วนประมาณ 15-20% เกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด และอีกประมาณ 5% เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งมักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)

เชื้อจะมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อกันได้โดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือติดต่อโดยการสัมผัสมือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น แก้วน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดหน้า) หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อแบบเดียวกับในโรคไข้หวัดทั่วไปและในโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อนิ้วมือที่แปดเปื้อนเชื้อสัมผัสกับปากหรือจมูก เชื้อก็จะเข้าไปในคอหอยและทอนซิล

สำหรับเชื้อแบคทีเรียที่สำคัญ คือ เบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (Group A beta-hemolytic streptococcus – GABHS) ที่ก่อให้เกิดทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง (Exudative tonsillitis) ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี และอาจพบได้บ้างประปรายเป็นครั้งคราวในผู้ใหญ่ แต่จะพบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี โรคนี้อาจติดต่อในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน เช่น ในบ้าน ที่ทำงาน หอพัก โรงเรียน เป็นต้น

ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) คือ ประมาณ 2-7 วัน แต่ถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดดังกล่าวอาจสั้นเพียง 12 ชั่วโมง

ต่อมทอนซิลอักเสบ
IMAGE SOURCE : fortworthent.net (รูปซ้ายคือทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนรูปขวาคือทอนซิลอักเสบจากเชื้อไวรัส)

อาการทอนซิลอักเสบ

  • ทอนซิลอักเสบจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่จะไม่เจ็บมากขึ้นตอนกลืน อาจมีอาการหวัด ไอ คัดจมูก มีน้ำมูกใสแต่ไม่มาก เสียงแหบ มีไข้ไม่สูงมาก ปวดศีรษะเล็กน้อย ตาแดง (เยื่อตาขาวอักเสบ) และบางรายอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย
    • ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีไข้หรือไม่ก็ได้ ทอนซิลทั้งสองข้างอาจโตเล็กน้อย ซึ่งมักจะมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน
  • ทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียเบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอมากจนกลืนน้ำและอาหารได้ลำบาก ร่วมกับมีอาการไข้สูงมากกว่า 38.3 องศาเซลเซียสเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีกลิ่นปาก และอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หู (เพราะการอักเสบของคอมักส่งผลถึงการอักเสบของหู เนื่องจากเป็นอวัยวะที่ติดต่อถึงกันได้จากหูชั้นกลางซึ่งมีท่อเช่ือมต่อกับลำคอ) บางรายอาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนร่วมด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ หรือตาแดงแบบการติดเชื้อจากเชื้อไวรัส
    • ทอนซิลทั้งสองข้างมีลักษณะบวมโต สีแดงจัด และมักมีแผ่นหรือจุดหนองขาว ๆ เหลือง ๆ ติดอยู่บนทอนซิล ซึ่งเขี่ยออกง่าย นอกจากนี้ยังอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอด้านหน้าหรือใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ

อาการทอนซิลอักเสบ
IMAGE SOURCE : www.bestdoctor.co.in

อาการต่อมทอนซิลอักเสบ
IMAGE SOURCE : afairgo.net

ทอนซิลอักเสบ
IMAGE SOURCE : healthnbodytips.com

ต่อมทอนซิลโต
IMAGE SOURCE : en.wikipedia.org (by Michaelbladon)

ภาวะแทรกซ้อนของทอนซิลอักเสบ

  • ทอนซิลอักเสบจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา (ซึ่งมักไม่ร้ายแรง) ส่วนผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น
  • ทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียเบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ โดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะที่ถูกกับโรค อาการมักจะทุเลาลงหลังกินไปได้ประมาณ 48-72 ชั่วโมง แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือรับประทานยาไม่ครบก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนี้
    1. เชื้ออาจลุกลามเข้าไปยังบริเวณใกล้เคียงทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีที่ทอนซิล (Peritonsillar abscess) ซึ่งอาจโตจนทำให้ผู้ป่วยกลืนลำบากหรือหายใจลำบาก
    2. เชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือดแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ทำให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน กระดูกอักเสบเป็นหนอง (Osteimyelitis)
    3. ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (Autoimmune reaction) กล่าวคือ ภายหลังจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดดังกล่าว ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อขึ้นมา แล้วไปก่อปฏิกิริยาต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง คือ ไข้รูมาติก (มีการอักเสบของข้อและหัวใจ หากปล่อยให้เป็นเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจพิการและหัวใจวายได้) และหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (มีไข้ บวม ปัสสาวะมีสีแดง และอาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้) ซึ่งโรคแทรกซ้อนเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังทอนซิลอักเสบได้ประมาณ 1-4 สัปดาห์ สำหรับไข้รูมาติกจะมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 0.3-3% ของผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง

การวินิจฉัยทอนซิลอักเสบ

แพทย์สามารถวินิจฉัยทอนซิลอักเสบได้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจในคอเพื่อดูต่อมทอนซิล ตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองที่คอ และอาจมีการตรวจเลือดหรือตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์

การแยกโรค

อาการไข้และเจ็บคอ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย ดังนี้

  • ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้ มีน้ำมูกใส ส่วนอาการเจ็บคอจะพบในช่วง 1-2 วันแรก โดยจะเป็นเพียงเล็กน้อยคล้าย ๆ กับอาการคอแห้งผาก ส่วนทอนซิลมักจะไม่โตหรือโตเพียงเล็กน้อย มีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน
  • แผลร้อนใน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก พูดลำบาก และอาจมีไข้ร่วมด้วย การตรวจดูในคอจะพบแผลตื้น ๆ ตรงบริเวณคอหอย ส่วนทอนซิลมักจะไม่โต และอาการเจ็บคอจะเป็นอยู่ประมาณ 5-10 วัน ก็จะทุเลาไปได้เอง
  • คอตีบ เป็นโรคที่ร้ายแรงที่ต้องรีบรักษา ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอ ไอเสียงแหบ หายใจลำบาก ตัวเขียว การตรวจดูในคอจะพบแผ่นหนองสีขาวปนเทาติดอยู่ที่บริเวณผนังคอหอยและทอนซิล

วิธีรักษาทอนซิลอักเสบ

  1. การดูแลตนเองในเบื้องต้นเมื่อทอนซิลอักเสบ เมื่อมีอาการไข้และเจ็บคอ ควรตรวจดูคอโดยการอ้าปากกว้าง ๆ แล้วใช้ไฟฉายส่องดูภายในลำคอ แต่ถ้าตรวจดูด้วยตนเองให้ใช้กระจกส่อง ถ้ามั่นใจว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส (เช่น มีน้ำมูกใส เจ็บคอเล็กน้อย ทอนซิลไม่โตหรือโตเพียงเล็กน้อยและแดงไม่ชัดเจน) ก็ให้การดูแลตัวเองในเบื้องต้นดังนี้
    • ควรหยุดงาน หยุดเรียน จนกว่าไข้จะลดลงอย่างน้อย 1 วัน เพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่ และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
    • ควรพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอและดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลว
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อรุนแรง และลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
    • ถ้ามีอาการเจ็บคอให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป นม น้ำหวาน เป็นต้น (โจ๊กหรือข้าวต้มที่ไม่ควรร้อนจนเกินไป) และอาจดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มเย็น ๆ หรืออมก้อนน้ำแข็งเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ
    • ทำความสะอาดคอบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ด้วยการแปรงฟัน หรือกลั้วคอด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือหลังอาหารทุกมื้อ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีเศษอาหารไปตกค้างในช่องปากและลำคอ จนทำให้ทอนซิลอักเสบมากขึ้น
    • ควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อรักษาความสะอาดของช่องปากและเพื่อให้ช่องปากชุ่มชื้น โดยน้ำเกลือที่ใช้อาจใช้เป็นน้ำเกลือโรงพยาบาล (นอร์มัลซาไลน์/Normal saline) หรือเป็นน้ำเกลือผสมเองก็ได้ (ให้ผสมเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 5 มิลลิลิตร ในน้ำอุ่น 1 แก้ว)
    • สำหรับน้ำยาบ้วนปากอาจช่วยลดปริมาณของเชื้อแบคทีเรียลงได้บ้าง (ชั่วคราว) ในรายที่มีการอักเสบติดเชื้อบริเวณลำคอ และน้ำยาบ้วนปากบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาลดการอักเสบหรือยาชา ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บคอได้ แต่ควรเลือกใช้ชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือมีน้อยที่สุด เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อเยื่อบุช่องปาก ส่วนน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของกรดควรหลีกเลี่ยง เพราะจะทำให้ผิวฟันกร่อน เคลือบฟันบางลง และเกิดอาการเสียวฟันตามมาได้ ถ้าใช้แล้วรู้สึกว่ามีอาการเจ็บคอหรือระคายคอมากขึ้นก็ไม่ควรใช้ และก่อนใช้ต้องดูส่วนผสมและวิธีใช้ให้ดีก่อน แล้วใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ ระยะเวลานานพอควร ถ้าเป็นแบบเข้มข้นควรเจือจางก่อน (ถ้ารู้สึกว่ายุ่งยากไปก็ใช้แค่น้ำเกลือบ้วนปากก็ดีมากแล้วครับ แถมประหยัดและปลอดภัยด้วย)
    • อมยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
    • การรักษาแบบทางเลือกอื่น ๆ (ต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่เป็นอันตราย และไม่แนะนำให้เด็กทำตาม) ได้แก่ พาเพอินซึ่งเป็นสารสกัดจากมะละกอที่ช่วยลดอาการทอนซิลอักเสบ, สมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่ช่วยลดไข้และอาการเจ็บคอ เป็นต้น
    • ถ้ามีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็น และรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นครั้งคราว (หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจเกิดการแพ้ยาและเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ได้)
    • ผู้ป่วยควรแยกของใช้ส่วนตัวโดยเฉพาะแก้วน้ำ ช้อน จาน ชามออกจากผู้อื่น และควรใช้ช้อนกลางเสมอ และอย่าอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นจนกว่าจะรับประทานยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง จึงจะไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น
    • งดการใช้เสียงชั่วคราว
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดหรือรสจัด
    • อยู่ห่างจากสิ่งที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองที่อาจทำให้อาการของต่อมทอนซิลแย่ลง เช่น อากาศแห้ง อุปกรณ์ทำความสะอาดต่าง ๆ ควันบุหรี่ เป็นต้น รวมถึงการใช้เครื่องควบคุมความชื้นในอากาศเพื่อทำให้ห้องมีความชื้นที่เหมาะสม
    • ทอนซิลอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่หากเกิดอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ควรปรึกษาแพทย์ ได้แก่ มีไข้เกิน 4 วัน, มีอาการมากกว่า 4 วัน โดยที่อาการยังไม่ดีขึ้นเลยแม้จะให้การดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้ว, มีอาการรุนแรง (เช่น รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้เนื่องจากอาการปวดหรือหายใจลำบาก), มีไข้สูง, มีจุดหนองที่ทอนซิล, ต่อมน้ำเหลืองโตและกดเจ็บ หรือเมื่อมีความวิตกกังวลในอาการที่เป็นอยู่หรือไม่มั่นใจในการดูแลตนเอง

      วิธีรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ
      การดูแลตนเองในเบื้องต้นเมื่อทอนซิลอักเสบ

  2. ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีลักษณะอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ
    • ทอลซิลทั้งสองข้างบวมแดงมากหรือพบแผ่นหรือจุดหนองบนทอนซิล
    • ทอลซิลโตเพียงข้างเดียว เพราะอาการของโรคมะเร็งทอนซิลหรือโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของทอนซิล
    • หายใจหอบหรือหายใจลำบาก
    • รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อยจากอาการเจ็บคอมากจนกลืนหรือพูดลำบาก (ในเด็กเล็กจะมีอาการน้ำลายไหล เพราะกลืนน้ำลายไม่ได้)
    • มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวต่อเนื่องกันเกิน 24 ชั่วโมง
    • มีไข้สูงร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอด้านหน้าหรือใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ เพราะมักเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ซึ่งไม่สามารถรักษาหายได้จากการดูแลตนเอง
    • มีผื่นขึ้นตามตัว
    • มีการเปลี่ยนแปลงของเสียง
    • เมื่อดูแลรักษาตนเองในเบื้องต้นแล้วไข้ยังไม่ลงภายใน 2-3 วัน หรือเมื่ออาการต่าง ๆ เลวลงหรือไม่ดีขึ้นภายหลังการดูแลตนเองได้ 1-2 วัน
  1. ในรายที่ทอนซิลอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัส (ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการทอนซิลทั้งสองข้างแดงไม่มาก และมักมีอาการน้ำมูกใส ไอ ตาแดง เสียงแหบ และอาจมีอาการท้องเดินร่วมด้วย) แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการ เช่น ให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ (พาราเซตามอล) ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด โดยไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ (เพราะยาปฏิชีวนะมีไว้ใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้) ซึ่งผู้ป่วยมักจะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
  2. ในรายแพทย์ที่มั่นใจว่าทอนซิลอักเสบเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (สังเกตได้จากอาการไข้สูงร่วมกับทอนซิลทั้งสองข้างบวมแดงจัดและมีแผ่นหรือจุดหนอง มีต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอด้านหน้าหรือใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ และไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ ตาแดง) แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการร่วมไปกับการให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V) หรืออะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) แต่ถ้าผู้ป่วยแพ้ยานี้ แพทย์จะให้ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) แทน โดยจะลองให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะดังกล่าวดูสัก 3 วัน (เพราะโดยปกติแล้วอาการมักจะทุเลาลงหลังรับประทานยาปฏิชีวนะไปได้ประมาณ 24-72 ชั่วโมง) ถ้าอาการดีขึ้นให้รับประทานต่อเนื่องไปจนครบ 10 วัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะไข้รูมาติกและหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน
    • แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน หรือรับประทานยาไม่ได้ หรือสงสัยว่ามีโรคแทรกซ้อนรุนแรง หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยอาจต้องตรวจเลือด เพาะเชื้อ เอกซเรย์ ฯลฯ เพื่อหาสาเหตุแล้วรับการรักษาไปตามสาเหตุหรือภาวะที่พบ เช่น
      1. ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียน รับประทานยาไม่ได้ หรือไม่มั่นใจว่าจะรับประทานยาได้ครบ 10 วัน และผู้ป่วยไม่มีประวัติการแพ้ยาเพนิซิลลิน แพทย์อาจฉีดยาเบนซาทีนเพนิซิลลิน (Benzathine penicillin) เข้ากล้ามเพียงครั้งเดียวให้ในขนาด 600,000 ยูนิต สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักน้อยกว่าหรือเท่ากับ 27 กิโลกรัม หรือในขนาด 1,200,000 ยูนิต สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 27 กิโลกรัม ส่วนในรายที่รับประทานยาได้ แพทย์อาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพียง 5 วัน เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav), อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin), คลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) เป็นต้น
      2. ถ้าพบว่าเชื้อดื้อต่อยาเพนิซิลลิน แพทย์อาจเปลี่ยนไปให้ยากลุ่มอื่นแทน เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav), เซฟาดรอกซิล (Cefadroxil) เป็นต้น
      3. ถ้าเป็นฝีที่ทอนซิล (Peritonsillar abscess) การรักษาอาจต้องทำการผ่าหรือเจาะเอาหนองออก
      4. การผ่าตัดทอนซิล (Tonsillectomy) แพทย์อาจพิจารณาให้การผ่าตัดในกรณี 1) ก้อนทอนซิลโตมากจนอุดกั้นทางเดินหายใจจนต้องหายใจทางปากช่วยเสมอ หรือก่อให้เกิดอาการนอนกรนหรือโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ, 2) เป็นทอนซิลอักเสบเรื้อรังที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือเกิดการอักเสบปีละหลาย ๆ ครั้ง หลายปีติดต่อกันจนทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เช่น ต้องเสียการเสียงาน หรือหยุดเรียนบ่อย ๆ, 3) เป็นฝีที่ทอนซิล (Peritonsillar abscess), 4) มีกลิ่นปากจากทอนซิลอักเสบเรื้อรัง, 5) เป็นทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส, 6) ทอนซิลโตเพียงข้างเดียวซึ่งอาจเป็นอาการของโรคมะเร็งทอนซิล หรือในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งของทอนซิลโดยตรง หรือมีมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ซึ่งแพทย์หาตำแหน่งของมะเร็งต้นเหตุไม่เจอ และสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งที่มาจากทอนซิล

        การผ่าตัดต่อมทอนซิล
        IMAGE SOURCE : www.hcf.com.au, www.youtube.com (by drbrichards)

    • ในปัจจุบันการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องมักจะได้ผลดีในการรักษาโรค โอกาสที่จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทอนซิล (Tonsillectomy) จึงลดน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก
    • ผู้ป่วยต้องรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด แม้ว่าหลังจากรับประทานยาปฏิชีวนะไป 2-3 วันแล้วอาการจะดีขึ้นก็ตาม เพราะหากไม่รับประทานยาให้ครบนอกจากจะทำให้โรคกำเริบได้บ่อยแล้วยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ด้วย ได้แก่ ไข้รูมาติก และหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งแม้จะพบได้น้อยแต่ก็เป็นภาวะที่มีอันตรายร้ายแรง
  3. ในรายที่ยังไม่มั่นใจว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ เช่น มีเพียงแผ่นหรือจุดหนองบนทอนซิล (ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิดก็ได้) โดยที่อาการอื่น ๆ ไม่ชัด อาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม
    • ในปัจจุบันมีการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียเบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอจากบริเวณทอนซิลและคอหอย ซึ่งสามารถทราบผลได้ในไม่กี่นาที เรียกว่า “Rapid strep test” ถ้าให้ผลบวกก็ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา แต่ถ้าให้ผลลบอาจต้องทำการเพาะเชื้อ ซึ่งจะทราบผลได้ภายใน 1-2 วัน
  4. หากมีอาการไม่มาก ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะแม้ว่าการอักเสบจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายจะจัดการฆ่าเชื้อได้เอง (แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง เจ็บคอมาก มีไข้สูง เป็นมาแล้ว 2-3 วันอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีโรคเรื้อรังที่ทำให้ภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ที่ตัดม้าม ฯลฯ จะต้องรีบรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ)
  5. ในรายที่เกิดจากเชื้อรา การรักษาหลักคือให้ยาฆ่าเชื้อรา นอกจากนั้นคือการรักษาไปตามอาการ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับทอนซิลอักเสบ

  • อาการเจ็บคอ คอหอยอักเสบ ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสและโรคไม่ติดเชื้อ เช่น โรคภูมิแพ้ การระคายเคือง โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะแต่อย่างใด แพทย์จะซักถามผู้ป่วยอย่างละเอียดและตรวจดูคอหอยทุกรายเพื่อแยกแยะสาเหตุให้ชัดเจน และจะให้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วยก็ต่อเมื่อมั่นใจแล้วว่าทอนซิลอักเสบนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอเท่านั้น หากไม่มั่นใจก็จะส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี Rapid strep test, การเพาะเชื้อ เป็นต้น
  • บางคนเมื่อหายดีแล้วอาการก็อาจกำเริบได้เป็นครั้งคราวเมื่อร่างกายอ่อนแอ เช่น เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ป่วยหรือไม่สบาย เป็นต้น

วิธีป้องกันทอนซิลอักเสบ

  • รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบหรือคออักเสบ (หรือผู้ป่วยที่มีไข้ เจ็บคอ) ระวังอย่าให้ผู้ป่วยไอหรือจามรด และไม่ใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย ส่วนผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการไอหรือจามรดใส่ผู้อื่น
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่อยู่เสมอ (โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ) เพื่อชะล้างเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 410-413.
  2. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เจ็บคอจัง….ทอนซิลอักเสบ”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [06 ม.ค. 2017].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [06 ม.ค. 2017].
  4. Siamhealth.  “ต่อมทอนซิลอักเสบ tonsillitis”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [07 ม.ค. 2017].
  5. wikiHow.  “วิธีการรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikihow.com.  [07 ม.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด