คออักเสบ (Pharyngitis) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

คออักเสบ

คออักเสบ หรือ คอหอยอักเสบ (Pharyngitis) เป็นภาวะการอักเสบของเนื้อเยื่อในลำคอที่อยู่บริเวณหลังช่องปากเข้าไปมีการอักเสบ บวม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอเป็นสำคัญ และเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งมีทั้งกลุ่มโรคติดเชื้อและกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อ แต่สาเหตุที่พบบ่อย ๆ จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่

คออักเสบเป็นภาวะติดเชื้อที่พบได้บ่อยมาก สามารถพบเกิดได้ในทุกช่วงอายุ แต่ในเด็กจะพบได้บ่อยกว่าในผู้ใหญ่ ความรุนแรงของโรคมักมีไม่มาก และสามารถหายได้เองภายในไม่กี่วันถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่ถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้มีอาการนานกว่า
คออักเสบอาจจะแบ่งเป็นคออักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute pharyngitis) ซึ่งมักจะหายได้ภายใน 3-7 วัน และคออักเสบแบบเรื้อรัง (Chronic pharyngitis) ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการหลายสัปดาห์

สาเหตุของคออักเสบ

ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสประมาณ 70-80% (Viral pharyngitis) รองลงมาเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียประมาณ 15-20% Bacterial pharyngitis) และอีกประมาณ 5% เกิดจากการติดเชื้อราซึ่งมักพบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยเอดส์ เป็นต้น

โดยเชื้อไวรัสส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Rhinovirus, Adenovirus และ Coronavirus อาการส่วนใหญ่จะคล้าย ๆ กันและเป็นไม่มากนัก (เชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ ที่อาจพบได้ คือ Influenza, Coxsackie A, Cytomegalovirus, Herpes simplex, EBV) ส่วนเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่พบได้มากที่สุดและมีความสำคัญ คือ กลุ่มสเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus spp.) โดยเฉพาะเบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (Group A beta-hemolytic streptococcus) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีเนส” (Streptococcus pyogenes) และเชื้อแบคทีเรียที่พบได้รองลงมา คือ เชื้อหนองใน (Gonorrhea), เชื้อหนองในเทียม (Chlamydia), เชื้อคอตีบ (Diphtheria)

เชื้อจะมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย สามารถติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือโดยการสัมผัสกับมือผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อแบบเดียวกับไข้หวัด ส่วนระยะเวลาการแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ทั้งก่อนเกิดอาการและหลังเกิดอาการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ

อาการของคออักเสบ

บริเวณที่เป็นคออักเสบจะอยู่พื้นที่ระหว่างหลังโพรงจมูกกับกล่องเสียง เมื่อเชื้อเข้ามาจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นและทำลายเซลล์จนเกิดการอักเสบ โดยถ้าเป็นเชื้อไวรัสมักจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-3 วัน แต่ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-5 วัน

  • ในรายที่คออักเสบจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่จะไม่เจ็บตอนกลืน ผนังคอหอยอาจมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน ร่วมกับมีอาการหวัด น้ำมูกใสไหล ไอ เสียงแหบ มีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะเล็กน้อย ตาแดง บางรายอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย
  • ในรายที่คออักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอมากจนกลืนน้ำและอาหารลำบาก ผนังคอหอยหรือเพดานอ่อนมีลักษณะแดงจัดและบวม มีจุดหนองที่คอหอย มักจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ หรือตาแดงแบบการอักเสบจากไวรัส แต่จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และอาจพบต่อมน้ำเหลืองโต บางรายอาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของคออักเสบ

  • ในรายที่คออักเสบเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อน จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อยมาก และภาวะแทรกซ้อนมักเกิดจากการที่มีการติดเชื้อของแบคทีเรียร่วมด้วย
  • ในรายที่คออักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะในกลุ่มสเตรปโตค็อกคัส สามารถแบ่งภาวะแทรกซ้อนออกได้เป็น
    1. ภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหนอง ซึ่งมักเกิดจากการที่เชื้อโรคลุกลามเข้าไปยังบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ฝีรอบต่อมทอนซิล ฝีข้างคอหอย ฝีที่ผนังคอหอย ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ
    2. ภาวะแทรกซ้อนที่ไม่เกี่ยวกับหนอง ซึ่งเกิดเนื่องจากการที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อขึ้นมา แล้วไปก่อปฏิกิริยาต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง ได้แก่ ไข้รูมาติก โรคหัวใจรูมาติก ไตอักเสบ เป็นต้น

การวินิจฉัยคออักเสบ

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากลักษณะทางคลินิก เช่น ประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจดูในลำคอ การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองลำคอ และอาจร่วมกับการตรวจทางหูคอจมูก แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจย้อมเชื้อและ/หรือเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่ง เสมหะ หรือจากลำคอ, การตรวจเลือดซีบีซี (CBC), การตรวจปัสสาวะ, การตรวจเลือดเพื่อดูสารก่อภูมิต้านทานโรคติดเชื้อต่าง ๆ, การเอกซเรย์ภาพปอดในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไอมากร่วมกับมีเสมหะมาก เป็นต้น

วิธีรักษาคออักเสบ

แนวทางสำคัญในการรักษาคออักเสบ คือ การรักษาไปตามสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

  • การปฏิบัติตนเมื่อคออักเสบ ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองในเบื้องต้นดังนี้
    1. ควรหยุดงาน หยุดเรียน จนกว่าไข้จะลดลงแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
    2. ควรแยกของใช้ส่วนตัวโดยเฉพาะแก้วน้ำ ช้อน จาน ชามออกจากผู้อื่น และเวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูกเสมอ
    3. รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อรุนแรง และลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
    4. พักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม (ควรเป็นน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำพออุ่น และอาจเป็นน้ำผึ้งผสมน้ำมะนาวอุ่น ๆ แต่ถ้ามีอาการเจ็บมากอาจจิบน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มเย็น ๆ หรืออมก้อนน้ำแข็งเพื่อช่วยลดอาการเจ็บคอได้)
    5. รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป นม น้ำหวาน เป็นต้น (โจ๊กหรือข้าวต้มที่ไม่ควรร้อนจนเกินไป) โดยรับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่ให้บ่อยขึ้น
    6. กลั้วคอด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อรักษาความสะอาดของช่องปากและเพื่อให้ช่องปากชุ่มชื้น โดยน้ำเกลือที่ใช้ อาจใช้เป็นน้ำเกลือโรงพยาบาล (นอร์มัลซาไลน์/Normal saline) หรือเป็นน้ำเกลือผสมเองก็ได้ (ให้ผสมเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 5 มิลลิลิตร ในน้ำอุ่น 1 แก้ว)
    7. งดการใช้เสียง งดการสูบบุหรี่และงดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
    8. ถ้ามีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็น และรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นครั้งคราวเมื่อมีไข้หรือเจ็บคอมาก (หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจเกิดการแพ้ยาและเกิดโรคเรย์ซินโดรมได้)
    9. อมยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
    10. เพิ่มความชื้นในอากาศด้วยเครื่องเพิ่มความชื้นเพื่อช่วยลดอาการเจ็บคอ
    11. ถ้ามีอาการน้ำมูกหรือเสมหะเป็นสีเหลืองเขียว ปวดหู หูอื้อ มีไข้สูง หายใจหอบเหนื่อย หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ หรืออาการคออักเสบเป็นอยู่นานเกิน 7 วัน หรือเมื่อดูแลตนเองตามวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
    12. ถ้าได้พบแพทย์แล้วควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และรับประทานยาต่าง ๆ ที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองแม้อาการจะดีขึ้น และไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ
    13. ควรรีบกลับไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ เลวลง (เช่น เจ็บคอมากขึ้นจนกลืนไม่ได้), ยังมีไข้สูงหรือกลับมามีไข้ หรือมีอาการเจ็บคออีก หลังจากอาการเดิมดีขึ้นแล้ว, ยังคงมีเสียงแหบหลังอาการต่าง ๆ ดีขึ้นแล้ว (อาจเป็นอาการของโรคมะเร็งกล่องเสียงในผู้สูงอายุ), รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย, มีผื่นขึ้นตามมาหลังจากมีไข้หรือหลังไข้ลง, มีน้ำมูกหรือเสมหะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเหลืองหรือยังคงมีน้ำมูกหรือเสมหะเรื้อรังหลังจากอาการต่าง ๆ หายแล้ว (เป็นอาการของไซนัสอักเสบเรื้อรัง) หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่
  • ในรายที่คออักเสบเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แพทย์จะให้การรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น เช่น ให้ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อน ๆ กลั้วคอด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ ให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด และการให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย เป็นต้น จนกว่าอาการจะหายดีเอง ซึ่งโดยทั่วไปโรคจะหายเองภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนยาปฏิชีวนะไม่จำเป็นต้องใช้ (เพราะยาปฏิชีวนะมีไว้ใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้)
  • ในรายที่แพทย์มั่นใจว่าคออักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย* แพทย์จะให้การรักษาประคับประคองตามอาการดังกล่าวร่วมไปกับการให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) หรือยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) และผู้ป่วยต้องรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าหลังจากรับประทานยาปฏิชีวนะไป 2-3 วันแล้วอาการจะดีขึ้นก็ตาม เพราะหากไม่รับประทานยาให้ครบ นอกจากจะทำให้โรคกำเริบได้บ่อยแล้วยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ด้วย
  • ในรายที่คออักเสบเกิดจากการติดเชื้อรา แพทย์จะให้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งจะใช้ยาชนิดใดก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อรา เช่น ให้ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราแคนดิดา (Candida) เป็นต้น


หมายเหตุ : อาการเจ็บคอ คอหอยอักเสบ ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสและโรคไม่ติดเชื้อ เช่น โรคภูมิแพ้ การระคายเคือง โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น ซึ่งการรักษาจะต้องรักษาที่สาเหตุและผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะแต่อย่างใด ซึ่งแพทย์จะซักถามผู้ป่วยอย่างละเอียดและตรวจดูคอหอยทุกรายเพื่อแยกแยะสาเหตุให้ชัดเจน และจะให้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วยก็ต่อเมื่อมั่นใจแล้วว่าทอนซิลอักเสบนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น

วิธีป้องกันคออักเสบ

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หรือผู้ที่เป็นโรคหวัดหรือคออักเสบ ลดการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรล้างมือหลังจากสัมผัส อย่าเอามือไปสัมผัสหรือถูกับจมูก
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อต่าง ๆ
  • รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อต่าง ๆ ตั้งแต่วัยเด็ก เช่น วัคซีนโรคไอกรน โรคหัด โรคคอตีบ เป็นต้น และในผู้ใหญ่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “คอหอยอักเสบ (Pharyngitis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 410-413.
  2. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ.  “คออักเสบ (Acute Pharyngitis)”.  (นพ.วิรชัช สนั่นศิลป์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com.  [09 ม.ค. 2017].
  3. Siamhealth.  “คออักเสบ Pharyngitis”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [10 ม.ค. 2017].
  4. หาหมอดอทคอม.  “เจ็บคอ (Sore throat) คออักเสบ คอหอยอักเสบ (Pharyngitis)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [10 ม.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด