Uric acid
การตรวจกรดยูริกในเลือด หรือ การตรวจวัดค่า Uric acid ในเลือด (Uric acid Test) คือ การตรวจวัดปริมาณของกรดยูริกในเลือดเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคเกาต์ ติดตามการรักษาโรคเกาต์ รวมทั้งผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี และยังเป็นการตรวจที่อาจใช้เป็นสัญญาณบ่งชี้สุขภาพของไตอย่างหนึ่งได้ด้วย
กรดยูริก (Uric acid) คือ สารประกอบชีวเคมี ซึ่งถือว่าเป็นสารของเสียที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีสารพิวรีน (Purine) เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย โดยอาหารที่มีสารพิวรีนสูงนั้น ได้แก่ เนื้อแดงของวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ฯลฯ เมื่อเรากินเข้าไปแล้วจะถูกร่างกายย่อยสลายเป็นกรดยูริก (Uric acid) ซึ่งนับเป็นของเสียที่ไตจะขับทิ้งออกจากร่างกายทางปัสสาวะประมาณ 75% ส่วนอีก 25% ที่เหลือจะถูกขับออกทางลำไส้ปนออกมากับกากอาหาร
กรดยูริกในเลือดนี้หากมีการสร้างและกำจัดออกได้ตามปกติก็จะไม่มีผลอะไรต่อร่างกาย แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการสร้างมีปัญหา คือ สร้างกรดยูกริกมากเกินไป (Over- production) หรือมีการกำจัดกรดยูริกออกจากร่างกายได้น้อยเกินไป (Decreased excretion) ก็จะทำให้ระดับของกรดยูริก (Uric acid) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากสูงเป็นเวลานานมันก็จะตกผลึกจับตัวกันเป็นของแข็งและกลายเป็นคริสตัล (Crystals) แทรกอยู่ในช่องว่างระหว่างข้อต่อและกระดูก ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดร้าวตามข้อกระดูกต่าง ๆ หรือที่เรียกว่าโรคเกาต์ (Gout) นั่นเอง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง “โรคเกาต์”)
วัตถุประสงค์การตรวจ Uric acid
การตรวจกรดยูริกในเลือดมีวัตถุประสงค์ คือ การตรวจเพื่อให้ทราบว่าในเลือดมีกรดยูริก (Uric acid) สูงถึงระดับที่อาจอยู่ในอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์หรือไม่ เนื่องจากหากปล่อยให้มีค่าสูงเกินกว่าปกติไปนาน ๆ ย่อมมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดร้าวตามข้อกระดูกต่าง ๆ ได้
นอกจากนี้ การตรวจกรดยูริกในเลือดยังเป็นการตรวจเพื่อให้ทราบว่าไตอยู่ในสภาวะปกติหรือมีโรคของไตเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ได้ด้วย หรือแปลความในอีกความหมายหนึ่งก็คือ ระดับของกรดยูริกอาจใช้เป็นสัญญาณบ่งชี้สุขภาพของไตได้ (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “การตรวจการทำงานของไต”)
โดยทั่วไปแพทย์มักจะพิจารณาสั่งตรวจเมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยมีกรดยูริกในเลือดสูงหรือมีอาการแสดงของโรคเกาต์ (เช่น ปวดตามข้อกระดูกต่าง ๆ ซึ่งที่พบบ่อยเรียงจากมากไปน้อยก็คือ นิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วเท้าอื่น ๆ ข้อเท้า ส้นเท้า ฝ่าเท้า หัวเข่า นิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก และกระดูกสันหลัง โดยจะมีอาการปวดเหมือนเข็มแทง บวม ผิวหนังออกสีแดง เมื่อเอามือสัมผัสจะรู้สึกอุ่นที่มือ และข้อกระดูกตรงส่วนนั้นจะแข็งตัวและขยับเขยื้อนได้ยาก) หรือสั่งตรวจเพื่อติดตามการรักษาโรคเกาต์ รวมถึงในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีด้วย
ค่าปกติของ Uric acid
ค่าปกติของกรดยูริกในเลือดให้ยึดถือตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดถือตามค่าทั่วไป ดังนี้
- ค่าปกติของ Uric acid ในผู้ชาย คือ 4.0 – 8.5 mg/dL
- ค่าปกติของ Uric acid ในผู้หญิง คือ 2.7 – 7.3 mg/dL
- ค่าปกติของ Uric acid ในเด็ก คือ 2.5 – 5.5 mg/dL
- ค่าวิกฤติของ Uric acid คือ มากกว่า 12 mg/dL
กรดยูริกในเลือดอาจเพิ่มค่าสูงขึ้นผิดปกติได้จากการบริโภคอาหารที่มีสารพิวรีนสูงมากเกินไป, การที่ร่างกายสร้างกรดยูริกเพิ่มสูงขึ้นเอง, การที่ไตขับกรดยูริกออกทางน้ำปัสสาวะได้น้อยกว่าปกติ รวมถึงการที่ร่างกายกำลังเผชิญกับสภาวะล่อแหลมจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น วิธีชีวิตที่สุ่มเสี่ยง (การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การไม่บำบัดสภาวะความดันโลหิตสูง ฯลฯ), การมีโรคที่บั่นทอนสุขภาพ (เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง), การใช้ยารักษาโรคบางขนิด, พันธุกรรม (มีคนในครอบครัวเป็นโรคเกาต์มาก่อน), เพศ (เพศชายเสี่ยงมากกว่า) และอายุ (ผู้ชายเริ่มที่ 40-50 ปี ส่วนผู้หญิงมักเริ่มภายหลังหมดประจำเดือน)
ค่า Uric acid ที่ต่ำกว่าปกติ
ค่า Uric acid ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- อาจเกิดจากโรควิลสัน (Wilson’s disease) ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายได้เก็บสะสมธาตุทองแดงไว้มากเกินจำเป็นจนเกิดพิษต่อไต ทำให้ไตปล่อยทิ้งบรรดาสารชีวเคมีไปกับน้ำปัสสาวะ รวมทั้งกรดยูริกอย่างไร้เหตุผลและไร้การควบคุม จึงทำให้ค่ากรดยูริก (Uric acid) ในเลือดเหลือต่ำผิดปกติ
- อาจเกิดจากกลุ่มอาการแฟนโคนีซินโดรม (Fanconi’s syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่ไตมีความผิดปกติบกพร่อง มักเกิดจากพันธุกรรม หรือเกิดจากการกินยารักษาโรคอื่นแล้วมีผลข้างเคียงในระดับที่สร้างความเสียหายต่อไต จึงทำให้ไตหมดสภาพที่จะดูดซึมกลับบรรดาสารชีวเคมีสำคัญคืนเอามาให้ร่างกายได้ใช้อีก โดยตัวอย่างสารที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้และไม่สมควรปล่อยทิ้งไปกับปัสสาวะก็เช่น กรดอะมิโน สารฟอสเฟต สารไบคาร์บอเนต รวมทั้งกรดยูริก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ค่ากรดยูริก (Uric acid) ในเลือดมีระดับต่ำผิดปกติ
- อาจเกิดจากอาการที่ฮอร์โมนยับยั้งการปล่อยทิ้งน้ำได้หลั่งออกมามากอย่างไม่เหมาะสม (SIADH) เป็นผลทำให้ไตถูกยับยั้งให้มีการปล่อยทิ้งน้ำออกมาเป็นปัสสาวะ จึงมีผลต่อเนื่องทำให้ร่างกายเกิดอาการบวมน้ำ แล้วทำให้ความเข้มข้นของเลือดลดลง จึงทำให้ค่ากรดยูริก (Uric acid) ซึ่งนับปริมาณกันด้วยน้ำหนักเป็นมิลลิกรัมต่อปริมาตรเลือด 1 เดซิลิตร จึงพลอยลดค่าต่ำลงอย่างผิดปกติตามไปด้วย
- อาจเกิดจากการตั้งใจแรงกล้าที่จะลดค่ากรดยูริก (Uric acid) ลงมาให้ได้ ด้วยการบริโภคแต่อาหารที่มีสารพิวรีน (Purine) ต่ำที่สุด เช่น การเปลี่ยนมากินอาหารมังสวิรัติ ในการนี้จึงเป็นผลทำให้ค่ากรดยูริกในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
- อาจเกิดจากยารักษาโรคบางชนิด ยาบางชนิดอาจมีผลทำให้ค่ากรดยูริกในเลือดที่ตรวจพบสำแดงค่าต่ำผิดปกติกว่าที่จะเป็นได้ เช่น กลุ่มยาโคลไฟเบรต (Clofibrate) ที่ใช้ลดไขมันในเลือด, กลุ่มยาเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ใช้ทดแทนในสตรีในวัยหมดประจำเดือน, กลุ่มยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ที่ใช้ละลายลิ่มเลือดหรือทำให้เลือดใส, น้ำตาลกลูโคสที่ใช้ทดแทนอาหารในผู้ป่วยที่มีปัญหาการบริโภคทางปาก ฯลฯ
ค่า Uric acid ที่สูงกว่าปกติ
ค่า Uric acid ที่สูงกว่าปกติ สามารถแยกได้เป็น 2 กรณี คือ
- กรณีที่ไตมีสภาพปกติดี คือ ได้มีการสร้างกรดยูริกเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้นอย่างผิดปกติ แม้ไตยังมีสภาพปกติดี แต่ก็ขับทิ้งกรดยูริกออกทางปัสสาวะได้ไม่ทัน จึงทำให้ตรวจพบค่ากรดยูริกในเลือด (Uric acid) สูงกว่าปกติ โดยอาจแสดงผลได้ว่า
- อาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีน (Purine) มากเกินไป โดยอาหารที่มีสารพิวรีนสูงที่ควรลดหรือหลีกเลี่ยง คือ เนื้อสัตว์บกที่มีสีแดง (เนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อกวาง ฯลฯ), เนื้อที่ได้มาจากการล่า (เนื้อกระต่าย เก้ง แย้ กบ กะปอม ฯลฯ), เครื่องในสัตว์ทุกชนิด (โดยเฉพาะส่วนที่เป็นตับ), สัตว์น้ำและอาหารทะเล (หอย ปู กุ้ง ปลาแมคเคอเรล ปลาซาดีน ปลาเทราท์ ปลาแฮริง ไข่ปลาคาร์เวียร์ ซึ่งหมายรวมทั้งปลาสดและทั้งปลาที่อยู่ในกระป๋อง), อาหารและเครื่องที่ใช้ยีสต์เป็นส่วนประกอบ (เบียร์ ไวน์ มาร์ไมท์ หรือขนมปัง), บรรดาเห็ดทั้งหลาย, บรรดาผักจำพวกหน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำดอก กระถิน ชะอม ดอกสะเดา ยอดแค ยอดผัก และบรรดาถั่วทั้งหลาย (ส่วนอาหารที่มีสารพิวรีนต่ำที่แนะนำให้รับประทานเป็นประจำ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต แป้ง ไข่ เต้าหู้ นมพร่องไขมัน โยเกิร์ต เนย ช็อกโกแลต ชา กาแฟ ผักที่ไม่ใช่ยอดอ่อน หัวกะหล่ำ ผลไม้สดทุกชนิดผ ธัญพืช เป็นต้น)
- อาจเกิดจากความผิดปกติของการสร้างสารพิวรีนในร่างกาย โดยที่สารประกอบพิวรีนนับเป็นองค์ประกอบประมาณครึ่งหนึ่งของ DNA ถ้ามีความผิดปกติใด ๆ ของตับในการเผาผลาญพิวรีนเกิดขึ้น ก็อาจทำให้การสร้างเซลล์ใหม่ขาดวัตถุดิบจนถึงขั้นผิดเพี้ยนและโอกาสที่จะเกิดเซลล์กลายพันธุ์และกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ ด้วยเหตุนี้ หากตรวจพบค่ากรดยูริกในเลือดมีระดับสูงมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ไตยังเป็นปกติ ก็ควรนึกถึงการแพร่กระจายของมะเร็งว่าอาจเกิดจากมะเร็งไขกระดูก (Multiple myeloma) หรืออาจเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ด้วย
- อาจเกิดจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตกสลาย (Hemolysis) จึงทำให้กรดนิวคลิอิก (Nucleic acid) หลุดออกสู่กระแสเลือดและเปลี่ยนเป็นกรดยูริก จึงมีผลทำให้ค่ากรดยูริกในเลือดสูงขึ้น
- อาจเกิดจากสาเหตุใด ๆ ที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis) เพราะกรดยูริกจะเป็นผลผลิตสุดท้ายของการสลายที่ล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ค่ากรดยูริกในเลือดสูงขึ้น เช่น การกินยากลุ่มสแตติน (Statins) ซึ่งเป็นยาลดคอเลสเตอรอล ซึ่งจะมีผลข้างเคียงที่อาจทำให้ผู้กินยาเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลายได้ โดยสิ่งที่สลายซึ่งลอยอยู่ในเลือดนั้นก็เป็นพิษต่อไต และส่วนหนึ่งนั้นก็คือกรดยูริก (Uric acid)
- อาจเกิดความเป็นพิษจากสารตะกั่ว (Lead poisoning) จากการได้รับสารตะกั่วเป็นเวลานานจนมีผลไปทำลายตับ
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคอ้วน โรคสะเก็ดเงิน ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ภาวะ Hypertriglyceridemia
- กรณีที่ไตมีปัญหา และมิได้กินอาหารที่มีสารพิวรีนสูง (Purine) แต่ระดับค่ากรดยูริก (Uric acid) ในเลือดก็ยังสูง อาจแสดงได้ผลได้ว่า
- อาจเกิดจากโรคไตเรื้อรัง (Chronic renal disease) ซึ่งเป็นเหตุทำให้ขับของเสียต่าง ๆ รวมทั้งกรดยูริกออกจากร่างกายได้น้อยลง จึงทำให้กรดยูริก (Uric acid) สะสมในอยู่ในกระแสเลือดจนมีระดับที่สูงขึ้นกว่าปกติ
- ร่างกายอาจกำลังย่างเข้าสู่โรคไตวาย (Renal failure) ซึ่งจะมีผลทำให้กรวยไตกรองของเสียออกสู่ปัสสาวะได้น้อยลงตามลำดับ แล้วมีผลต่อเนื่องทำให้บรรดาของเสียต่าง ๆ รวมทั้งกรดยูริกเกิดท่วมท้นหรือคับคั่งในเลือดหรือมีค่าสูงขึ้นผิดปกติ (ค่ากรดยูริกที่สูงขึ้นผิดปกตินั้น อาจใช้เป็นตัวช่วยบ่งชี้ความผิดปกติของไตอย่างหนึ่งได้)
- อาจเกิดจากการมีนิ่วในไต (Nephrolithiasis) ซึ่งหมายถึงนิ่วที่ไปขัดขวางการไหลของปัสสาวะที่ผ่านท่อภายในไตเอง หรือนิ่วที่ขัดขวางการไหลผ่านท่อปัสสาวะจากไตลงมาสู่กระเพาะปัสสาวะ เมื่อน้ำปัสสาวะไหลได้ไม่สะดวกก็จะมีผลมากพอที่จะทำให้ไตขับทิ้งสารของเสียทั้งหลายออกทางน้ำปัสสาวะได้ไม่สะดวก จึงทำให้สารของเสียรวมทั้งกรดยูริกเกิดการคับคั่งมีระดับสูงขึ้นในเลือด (ค่ากรดยูริกที่สูงขึ้นผิดปกติในเลือดนั้น อาจช่วยบ่งชี้ว่ากำลังมีโรคนิ่วในไตได้ด้วย)
- อาจเกิดจากโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) เพราะแอลกอฮอล์จะไปเร่งตับให้ส่งของเสียรวมทั้งกรดยูริกเข้าสู่กระแสเลือดจนปิดกั้นกรวยไต ทำให้ไตขับทิ้งออกจากร่างกายไม่ทัน เป็นผลทำให้กรดยูริก (Uric acid) ในเลือดมีค่าสูงเกินปกติ
- อาจเกิดจากสภาวะความเป็นกรดจากโรคเบาหวาน (Diabetic acidosis) หรือจากการอดอาหาร (Starvation acidosis) เนื่องจากน้ำตาลจากเบาหวานหรือสารคีโตน (Ketone) จากการอดอาหารจะไปปิดช่องทางของกรวยไต ทำให้ลดประสิทธิภาพการขับของเสียออกจากร่างกาย และเป็นผลทำให้กรดยูริก (Uric acid) ในเลือดมีค่าสูงเกินปกติ
- อาจเกิดจากภาวะไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism) ด้วยเหตุที่ต่อมไทรอยด์มีบทบาทในการควบคุมการเผาผลาญอาหาร เมื่อมันลดบทบาทลงก็จะทำให้ร่างกายเผาผลาญอาหารเกินความจำเป็น มีผลทำให้น้ำหนักร่างกายเพิ่มขึ้นและเกิดความผิดปกติอีกหลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่เกี่ยวกับกรดยูริกก็คือ มันจะเพิ่มระดับมากขึ้นในกระแสเลือด
- อาจเกิดจากครรภ์เป็นพิษหรือโรคพิษแห่งครรภ์ (Toxemia of pregnancy) เรื่องนี้นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หากได้ไปตรวจเลือดด้วยเหตุผลใดก็ตามแล้วบังเอิญพบว่าค่ากรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ ให้รีบปรึกษาฟมอสูตินรีแพทย์โดยด่วนที่สุด
- อาจเกิดจากการได้รับยารักษาโรคบางชนิด ยาบางชนิดอาจมีผลทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสำแดงค่าสูงเกินความจริงได้ เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin), ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin), ยาขับปัสสาวะ (Thiazide), ยารักษาโรคพาร์กินสัน (Levodopa), ยารักษาวัณโรค (Ethambutol), กรดนิโคตินิก (Nicotinic acid), วิตามินซี, รวมถึงแอลกอฮอล์ ฯลฯ
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคอ้วน, โรคความดันโลหิตสูง, ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ, ภาวะขาดน้ำ ฯลฯ
ข้อควรรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจ Uric acid
- ควรงดอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ก่อนเจาะเลือดตรวจกรดยูริก (Uric acid)
- ควรหาสาเหตุที่เป็นไปได้ข้างต้นที่ทำให้กรดยูริก (Uric acid) ในเลือดสูงขึ้น พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น ๆ โดยเฉพาะการลดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูงดังที่กล่าวไป เป็นต้น พร้อมไปกับการพบแพทย์เพื่อประเมินภาวะของโรคและหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ หากท่านท่านใช้ยาหรือสมุนไพรชนิดใดอยู่ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินว่ายาเหล่านั้นมีผลอย่างใดหรือไม่
- ผู้ที่ปล่อยให้มีค่ากรดยูริกสูงกว่าปกติเป็นเวลานานจะได้ชื่อว่าเป็น “โรคกรดยูริกสูง” (Hyperuricemia)
- ค่าผลกรดยูริก (Uric acid) เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น มิสามารถระบุชี้ชัดได้จากตัวท่านเองหากไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ เพราะในการวินิจฉัยโรคเกาต์จะต้องมีการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะการจาะดูดน้ำจากข้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ซึ่งเป็นการตรวจที่แน่นอนกว่า
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)