การตรวจการทำงานของไต (BUN, Creatinine, Creatinine clearance, eGFR)

การตรวจการทำงานของไต

การตรวจการทำงานของไต (ภาษาอังกฤษ : Renal function test) คือ การตรวจดูสมรรถภาพการทำงานของไตได้จากการตรวจเลือดและการตรวจปัสสาวะ* ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วจะประกอบไปด้วยการตรวจ BUN, Creatinine และ eGFR ทั้งนี้ก็เพื่อดูว่าไตสามารถทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือดขับทิ้งปัสสาวะได้เป็นปกติหรือไม่

หมายเหตุ : ไตเป็นอวัยวะคู่ที่ตั้งอยู่ใกล้กระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอวทั้งด้านซ้ายและขวา มีหน้าที่ในการขับทิ้งของเสียออกจากร่างกาย, รักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย, รักษาสมดุลของสภาวะความเป็นกรด-ด่าง, ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ, ผลิตฮอร์โมนสำคัญ ๆ เพื่อการดำรงชีวิตได้เป็นปกติของร่างกายมนุษย์

สาเหตุสำคัญที่อาจทำให้ไตทำหน้าที่บกพร่องหรือส่งผลก่อให้เกิดโรคไตที่สำคัญและท่านสามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, ยารักษาโรคที่ใช้ผิดขนาดหรือนานเกินไป, เหตุใด ๆ ที่มากระทบกระเทือนต่อไตโดยตรง (จากอุบัติเหตุต่าง ๆ และจากกีฬาบางชนิด เช่น เทควันโด มวยไทย ฟุตบอล), สารพิษต่าง ๆ (น้ำแร่ น้ำบ่อ น้ำหมัก ฯลฯ ที่ถูกอ้างว่าเป็นสมุนไพร แต่ไม่ผ่านการรับรอง) เป็นต้น (เพราะฉะนั้น หากท่านเป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงก็ต้องควบคุมให้ได้ ใช้ยารักษาโรคอย่างถูกต้องตามความจำเป็นด้วยความระมัดระวัง ระวังการเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนและระวังการเกิดอุบัติเหตุ และหากกินยาหรือสมุนไพรใด ๆ อยู่โดยไม่สมควรก็ควรหยุดโดยทันที เหล่านี้ก็จะช่วยปกป้องไตให้มีสุขภาพแข็งแรงและอยู่กับท่านไปอีกนานตราบเท่าที่ท่านยังมีลมหายใจได้)

ประสิทธิภาพการทำงานของไต

ธรรมชาติได้สร้างไตที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อช่วยสนับสนุนร่างกายให้อยู่อย่างปกติสุขตลอดช่วงชีวิต ซึ่งในทางการแพทย์

% ประสิทธิภาพการทำงานของไตที่ยังเหลืออยู่ของไต|อาจบ่งชี้สภาวะไตและสุขภาพทั่วไป
100%|ไตทั้ง 2 ข้างยังแข็งแรงดี
60-70%|เจ้าของไตอาจยังไม่รู้สึกตัว
< 25%|สุขภาพทั่วไปเริ่มทรุดหนัก
10-15%|ต้องฟอกเลือดด้วยไตเทียม หรือต้องผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่

หมายเหตุ : จากตัวเลขจะแสดงให้เห็นว่า ไตเป็นอวัยวะที่สำรองศักยภาพในการทำหน้าที่ได้สูงมาก แม้ในระดับที่ไตได้สูญเสียประสิทธิภาพการทำงานไปแล้วถึง 30-40% ไตก็ยังสามารถทำหน้าที่ได้เหมือนคนปกติทั่วไป เจ้าของร่างกายจึงอาจจะยังไม่รู้ตัวหากไม่ได้สังเกตอย่างจริงจัง (ทั้ง ๆ ที่ ขณะเวลานั้นท่านอาจกำลังตกอยู่ในช่วงอันตรายร้ายแรงจนน่าเป็นห่วงจากโรคไตเรื้อรังก็ได้) ด้วยเหตุนี้ การตรวจเลือดเพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของไตสำหรับเตือนตนเอง จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ควรกระทำ

BUN

BUN หรือ Blood Urea Nitrogen (ไนโตรเจนจากสารยูเรียที่มีอยู่ในกระแสเลือด) คือ การตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณยูเรีย (บ้างก็เรียกว่า “การตรวจหาค่าบียูเอ็น”) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อตรวจดูการทำงานของไต ช่วยประเมินผล และช่วยติดตามผลการรักษาในโรคไต

ยูเรีย (Urea) คือ สารประกอบของของเสียอันเป็นผลผลิตสุดท้ายจากการเผาผลาญอาหารโปรตีนที่ตับ ทั้งนี้ ในชั้นต้นสารของเสียก็คือไนโตรเจน (Nitrogen) ซึ่งอยู่ในรูปของแอมโมเนีย (NH3 : ตัวการทำให้น้ำปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น) และต่อจากแอมโมเนียจึงสร้างเป็นสารยูเรีย (Urea) เพื่อให้ไตสามารถขับออกมาได้กับน้ำปัสสาวะ (Urine) ได้ แต่หากไตเริ่มบกพร่องหรือทำงานหนักมาช้านาน (เช่น เพราะกินเนื้อสัตว์มาอย่างไม่ยับยั้ง) ก็ย่อมเหลือสารยูเรียและไนโตรเจนจำนวนมากคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือด จนตรวจค่า BUN ได้สูงผิดปกติ (ผู้ที่มีค่า BUN สูง ๆ นี้ ในทางการแพทย์จะเรียกว่า “Azotemia”)

อย่างไรก็ตาม ค่า BUN มิใช่ค่าปัจจัยชี้ขาดที่ใช้แสดงความสมบูรณ์ของไต แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งซึ่งจำเป็นที่จะใช้บ่งชี้ร่วมกับผลการตรวจเลือดตัวอื่น ๆ เช่น ค่า Creatinine, ค่า Creatinine clearance

  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ BUN คือ
    • เพื่อตรวจว่าไตยังทำหน้าที่ได้เป็นปกติดีอยู่หรือไม่
    • ตรวจเมื่อแพทย์สงสัยว่าท่านจะเป็นโรคไต
    • เพื่อติดตามการทำงานของไตหรือเพื่อดูว่าโรคไตที่เป็นอยู่ก่อนแล้วดีขึ้นหรือแย่ลง
    • เพื่อติดตามผลการรักษาว่าไตฟื้นตัวได้ดีเพียงใด
    • เพื่อตรวจสอบว่าอาการขาดน้ำ (Dehydration) ดีขึ้นหรือไม่
  • ข้อบ่งชี้ในการตรวจ BUN
    • ตรวจสุขภาพทั่วไปหรือตรวจสุขภาพตามระยะเวลา
    • มีอาการเหนื่อยอ่อน เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ
    • มีอาการบวมน้ำบริเวณขอบตา ใบหน้า ต้นขา ข้อเท้า หลังเท้า
    • ปัสสาวะมีลักษณะเป็นฟองมากผิดปกติ หรือมีเลือดปน หรือมีสีคล้ายกาแฟ
    • ถ่ายปัสสาวะในแต่ละครั้งออกมาได้น้อยกว่าปกติ
    • มีความผิดปกติเกี่ยวกับการถ่ายปัสสาวะในด้านอื่น ๆ เช่น รู้สึกแสบร้อย ถ่ายปัสสาวะบ่อย
    • มีอาการปวดหลังตรงบั้นเอวใกล้เคียงกับตำแหน่งของไต
    • อาจตรวจหาค่า BUN ในผู้ใดก็ตามที่รู้สึกกระสับกระส่าย ไม่มีความปกติสุข โดยยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ทั้งนี้ก็เพื่อตรวจสอบดูว่าไตยังเป็นปกติดีหรือไม่
  • ค่าปกติของ BUN ให้ยึดตามค่าที่แสดงไว้ในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่าปกติทั่วไปของ BUN ในผู้ใหญ่ คือ 10 – 20 mg/dL
    • ค่าปกติทั่วไปของ BUN ในเด็ก คือ 5-18 mg/dL
  • ค่า BUN ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจบริโภคอาหารประเภทโปรตีนน้อยเกินไป
    • อาจกำลังอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ หรือกำลังขาดแคลนอาหาร เช่น อยู่ใต้ตึกถล่ม
    • กลไกการดูดซึมอาหารอาจเกิดความบกพร่อง
    • ตับอาจกำลังมีเหตุร้ายแรงหรือกำลังมีโรคสำคัญ
    • อาจมีปริมาณน้ำในร่างกายมากเกินไป (Overhydrated)
    • อาจเกิดจากยารักษาโรคบางชนิดในประเภทยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol), ยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin)
  • ค่า BUN ที่สูงกว่าปกติ อาจบ่งบอกได้ว่าไตกำลังเสียหายหรือตกอยู่ในอันตรายจากเหตุสำคัญหรือโรคร้ายแรง จึงทำให้ไตทำหน้าที่ไม่ได้ โดยค่า BUN ที่สูงขึ้นอย่างผิดปกตินี้อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจบริโภคอาหารประเภทโปรตีนมากเกินไป
    • อาจเกิดจากการขาดน้ำ (Dehydration) หรือดื่มน้ำน้อยผิดปกติ
    • อาจเกิดจากการออกกำลังกายอย่างหักโหมจนเกินไป
    • การทำงานของไตอาจผิดปกติ โดยอาจเกี่ยวข้องกับภาวะไตเสื่อมเฉียบพลันหรือไตเสื่อมเรื้อรังที่เกิดจากการถูกทำลายด้วยโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงผิดปกติ จึงทำให้ขับทิ้ง Urea Nitrogen ออกทางปัสสาวะไม่ได้หรือไม่หมด จนมีผลต่อเนื่องทำให้คั่งค้างอยู่ในเลือด ค่า BUN จึงมีระดับสูงขึ้น
    • ตับอ่อนอาจหลั่งเอนไซม์ย่อยอาหารบกพร่อง ทำให้เหลือของเสียรวมทั้ง Urea Nitrogen มากกว่าปกติ
    • ท่อปัสสาวะอาจมีการอุดตันหรือถูกปิดกั้นจนไหลได้ไม่สะดวก ซึ่งอาจจะเกิดจากนิ่วในไตหรืออาจมีเนื้องอกมาขัดขวางท่อปัสสาวะ
    • อาจเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว หรือภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
    • อาจเกิดจากภาวะช็อกจากความดันโลหิตต่ำจนเลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ
    • ในช่องทางเดินอาหารอาจมีการตกเลือดโดยไม่รู้ตัว
    • ร่างกายอาจมีแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกขนาดใหญ่
    • อาจเกิดจากการกินยาบางชนิด เช่น อัลโลพูรินอล (Allopurinol), ยากลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside), แอมโฟเทอริซินบี (Amphotericin B), แอสไพริน (Aspirin) ที่กินมากเกินขนาด, แบคซิทราซิน (Bacitracin), คาร์บามาเซปีน (Carbamazepine), เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin), คลอรอลไฮเดรต (Chloral hydrate), ซิสพลาติน (Cisplatin), โคลิสติน (Colistin), ฟูโรซีไมด์ (Furosemide), กัวเนธิดีน (Guanethidine), อินโดเมธาซิน (Indomethacin), เมทิซิลลิน (Methicillin), เมโธเทรกเซท (Methotrexate), เมทิลโดปา (Methyldopa), นีโอมัยซิน (Neomycin), เพนิซิลลามีน (Penicillamine), โพลีมิกซินบี (Polymyxin B), (โพรเบเนซิด Probenecid), โพรพราโนลอล (Propranolol), ไรแฟมพิน (Rifampin), สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone), เตตราซัยคลีน (Tetracycline), ไทอะไซด์ ไดยูเรติก(Thiazide diuretics), ไตรแอมเทอรีน (Triamterene), แวนโคมัยซิน (Vancomycin)
    • ไตอาจเสื่อมลงจากการใช้ยาแผนปัจจุบันที่ซื้อมากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือจากยาที่แพทย์สั่งเพื่อรักษาโรคอื่นแต่ใช้บ่อยหรือใช้เกินขนาด หรือจากยาสมุนไพรประเภทยาผีบอก (ยาทุกชนิดอาจมีผลกระทบต่อไตได้ทั้งสิ้น ส่วนจะน้อยหรือมากก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
  • วิธีปฏิบัติตัวเมื่อตรวจพบ BUN มีค่าสูงผิดปกติ
    1. หาสาเหตุที่ทำให้ค่า BUN สูง และหาทางแก้ไข (ในกรณีที่แก้ได้) เช่น ลดการรับประทานเนื้อสัตว์ ดื่มน้ำให้มากขึ้น รับประทานเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม ฯลฯ แต่หากแก้ไขเบื้องต้นแล้วค่า BUN ยังสูงอยู่ก็ควรปรึกษาแพทย์
    2. ดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคไต
    3. หากมีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต ควรรักษาและติดตามหรือควบคุมโรคให้ดี
    4. แจ้งแพทย์เสมอหากท่านกำลังใช้ยา สมุนไพร อาหารเสริมหรือวิตามินใด ๆ อยู่ เพื่อที่แพทย์จะได้ใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสาเหตุและหาทางแก้ไขหรือรักษาให้เหมาะสมต่อไป
  • คำแนะนำก่อนตรวจ BUN
    • ต้องงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
    • ก่อนเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่า BUN ผู้เข้ารับการตรวจควรงดเว้นหรือลดการบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดงให้น้อยลง มิฉะนั้น อาจทำให้ค่า BUN สูงมากขึ้นจากปกติได้
    • การตรวจอื่นที่อาจช่วยยืนยันความร้ายแรงต่อสุขภาพไตได้ คือ ค่า Creatinine, ค่า Creatinine clearance (เป็นการตรวจพิเศษที่ไม่อยู่ในโปรแกรมตรวจสุขภาพทั่วไป) และค่าอัตราส่วนระหว่าง BUN ต่อ Creatinine ด้วยเหตุนี้ ในการเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานของไต แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจหาค่า Creatinine ไปพร้อมกับ BUN ในวาระเดียวกันด้วยเสมอทุกครั้งไป

Creatinine

Creatinine (ครีอะตินีน) หรือเรียกอย่างย่อ ๆ ว่า “Cr” คือ การตรวจสอบสมรรถภาพการทำงานของไตจากค่าครีอะตินีน โดยค่าครีอะตินีนที่ตรวจได้จะเป็นผลมาจากการออกแรงยืดหดหรือใช้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายในชีวิตประจำวันซึ่งค่อนข้างจะคงที่* ถ้าไตยังทำงานได้ดี มันก็จะขับทิ้งออกทางปัสสาวะและเหลือค้างในกระแสเลือดด้วยปริมาณคงที่ไว้ไม่มากนักจำนวนหนึ่ง Creatinine จึงตกค้างอยู่ในเลือดน้อยและวัดค่าได้น้อยตามไปด้วย แต่ถ้าการทำหน้าที่ของไตเริ่มบกพร่องหรือเสียการทำงาน (เช่น เป็นโรคไตเรื้อรัง) ไตก็จะขับ Creatinine ออกทิ้งไม่ทันกับที่กล้ามเนื้อสร้างออกมา การตรวจค่า Creatinine ในเลือดจึงพบค่าที่สูงขึ้นผิดปกติ

ดังนั้น การตรวจ Creatinine จึงเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีในการคัดกรอง วินิจฉัย ประเมินยการรักษา และติดตามการรักษาโรคไตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดไตเสื่อมต่าง ๆ (เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคไตเรื้อรังได้หากไม่รักษาอย่างเหมาะสม) หรือผู้ที่ได้รับยาบางชนิด ซึ่งจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุของโรคและตรวจประเมินการทำงานของไต

หมายเหตุ : ในขณะที่กล้ามเนื้อมีการใช้พลังงานยืดหรือหดตัวอันเป็นการออกแรงทุกครั้ง (ไม่ว่าจะหนักหรือเบา) ชั้นของกล้ามเนื้อจะหลั่งสาร Creatine phosphate ออกมา (มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า “Creatine”) สารนี้จึงเป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่กล้ามเนื้อต้องออกแรงในการทำกิจวัตรประจำวัน แล้วร่างกายจะใช้วิธีการแตกตัว Creatine เป็นสารตัวใหม่ คือ Creatinine (ครีอะตินีน) ซึ่งจะมีคุณสมบัติที่สามารถลอยได้ในกระแสเลือด เมื่อเลือดไหลเวียนผ่านไปที่ไตเมื่อใด ก็จะทำให้ไตกรอง Creatinine เกือบทั้งหมดออกไปนอกร่างกายทางน้ำปัสสาวะ (ด้วยเหตุนี้ ค่า Creatinine จึงมักจะไม่แตกต่างกันมากนักในแต่ละวัน และในแต่ละบุคคล เพราะค่านี้ไม่เกี่ยวกับอาหารที่กินมากนัก รวมทั้งไม่เกี่ยวกับตับ) ในน้ำปัสสาวะจึงย่อมมี Creatinine มากเป็นธรรมดา

แต่หากพบว่าค่าจากทั้ง 2 แหล่งนี้อยู่ในระดับที่ผิดปกติ คือ Creatinine ในเลือดสูงมากผิดปกติ แต่ Creatinine ในปัสสาวะต่ำมากผิดปกติ ก็ย่อมอาจบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าอาจกำลังเกิดโรคไตขึ้นค่อนข้างแน่นอนแล้ว จึงทำให้ไตกรองของเสียออกมาไม่ได้ในเกณฑ์ปกติและล้นคับคั่งอยู่ในเลือด ซึ่งการนำค่า Creatinine ในเลือด พร้อมกับค่า Creatinine ในน้ำปัสสาวะที่เก็บไว้จากการถ่ายออกมาทั้งวันหรือ 24 ชั่วโมง ประกอบกับการคำนวณในห้องปฏิบัติการ ก็จะทำให้ได้ค่าที่เรียกว่า “ค่าสำรองความสามารถของไตที่เหลือในการกำจัดครีอะตินีน” (Creatinine clearance) ที่แสดงข้อมูลสุขภาพของไตได้อย่างถูกต้องชัดเจนกว่าค่า Creatinine ในเลือดเพียงเดี่ยว ๆ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อด้านล่าง)

  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ Creatinine คือ
    • เพื่อตรวจสอบว่าไตยังทำหน้าที่ได้ตามปกติหรือไม่ และหากมีเหตุสำคัญหรือโรคร้ายแรงภายในไต หรือมีโรคหรือเหตุบกพร่องอื่น ๆ ที่มากระทบต่อเนื่องถึงไตแล้ว ไตของท่านจะยังแข็งแรงพร้อมที่จะรับมือกับเหตุร้ายแรงนั้น ๆ ได้มากน้อยเพียงใด
    • เพื่อใช้เป็นข้อมูลที่ช่วยบ่งชี้เบื้องต้นในเหตุแห่งความร้ายแรงที่เกิดขึ้นที่ไต
    • เพื่อตรวจสอบในกรณีที่เคยมีโรคไตอยู่ก่อนว่า ในขณะนั้นไตมีสุขภาพดีขึ้นหรือแย่ลงเพียงใด
    • เพื่อตรวจสอบกลั่นกรองในกรณีที่ผู้ป่วยต้องกินยารักษาโรคอื่นบางโรคอยู่เป็นประจำนั้น (เช่น ผู้ที่แพทย์สั่งให้กินยาบางขนานไปตลอดชีวิต) ไตได้แสดงความเสียหายไปอย่างใดบ้างหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
  • ค่าปกติของ Creatinine ให้ยึดตามค่าที่แสดงไว้ในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่าปกติทั่วไปของ Creatinine ในผู้ชาย คือ 0.6 – 1.2 mg/dL
    • ค่าปกติทั่วไปของ Creatinine ในผู้หญิง คือ 0.5 – 1.1 mg/dL (ผู้หญิงมักจะมีค่าน้อยกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีกล้ามเนื้อน้อยกว่าผู้ชาย)
    • ค่าปกติทั่วไปของ Creatinine ในวัยรุ่น คือ 0.5 – 1.0 mg/dL
    • ค่าปกติทั่วไปของ Creatinine ในเด็ก คือ 0.3 – 0.7 mg/dL
    • ค่าปกติทั่วไปของ Creatinine ในทารก (อายุ 1 เดือนขึ้นไป) คือ 0.2 – 0.4 mg/dL
    • ค่าปกติทั่วไปของ Creatinine ในทารกแรกเกิด คือ 0.3 – 1.2 mg/dL
    • ค่าวิกฤติของ Creatinine คือ > 4.0 mg/dL
  • ค่า Creatinine ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจบริโภคอาหารประเภทโปรตีนต่ำเกินไป
    • ร่างกายอาจมีมวลกล้ามเนื้อทั่วร่างกายน้อยกว่าปกติอยู่ก่อน เช่น จากโรคกล้ามเนื้อลีบ (Muscular dystrophy), โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดร้ายแรง (Myasthenia gravis) หรืออาจเกิดจากความชราภาพ ฯลฯ
    • อาจเกิดจากอาการอ่อนแรงและไม่ใคร่จะเคลื่อนไหวร่างกาย (Debilitation)
    • อาจเกิดจากการตั้งครรภ์
    • อาจเกิดจากโรคตับชนิดร้าบแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง
  • ค่า Creatinine ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจมีเหตุสำคัญหรือโรคร้ายแรงภายในไต หรือเกิดขึ้นที่ไตโดยตรง
    • อาจมีเหตุสำคัญหรือโรคร้ายแรงจากที่อื่น แต่มีผลกระทบต่อเนื่องมาที่ไตและทำให้ไตเสียหาย เช่น การติดเชื้อจากจุลชีพก่อโรคบางชนิด, การเกิดอาการช็อกจากสาเหตุต่าง ๆ, การเกิดโรคมะเร็งที่อวัยวะอื่น ๆ, การเกิดสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้เลือดไหลผ่านไตมาด้วยปริมาณที่น้อยกว่าปกติมาก
    • ท่อปัสสาวะอาจถูกปิดกั้น เช่น จากนิ่วในไต
    • อาจเกิดจากภาวะขาดน้ำ (Dehydration) จึงทำให้เลือดเข้มข้นมากขึ้น เพราะครีอะตินีนในเลือดนั้นนับขนาดกันด้วย มิลลิกรัมต่อปริมาตรเลือด 1 เดซิลิตร
    • อาจเกิดจากโรคหัวใจวาย (Heart failure) ซึ่งหมายถึง หัวใจเต้นชาลง อ่อนแรงลง โดยมีปริมาตรเลือดจากการปั๊มของหัวใจน้อยลง จึงมีผลทำให้ไตได้รับเลือดที่ผ่านมาให้ไตกรองน้อยลง และมีผลต่อเนื่องทำให้ Creatine คั่งค้างอยู่ในเลือดมากขึ้น
    • อาจเกิดจากการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เช่น สภาวะของโรคกล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis) ซึ่งทำให้ Creatine phosphate ที่แตกตัวอยู่ในรูปของ Creatinine ต้องลอยคับคั่งอยู่ในเลือด
    • อาจเกิดจากสภาพร่างกายใหญ่โตไม่สมส่วน (Acromegaly) เช่น โตเกินวัย หรือโตเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใด หรือสูงผิดปกติ
    • อาจเกิดจากสภาพร่างยักษ์ (Gigantism)
    • อาจเกิดจากครรภ์เป็นพิษ
    • ไตอาจอยู่สภาวะวิกฤติถึงขนาดเป็นอันตรายในระดับที่ทำหน้าที่ต่อไปไม่ได้เหมือนที่เคยกระทำ หากตรวจเลือดพบค่า Creatinine สูงเกินกว่า 4.0 mg/dL
    • อาจกำลังเกิดโรคไตเรื้อรัง (CKD) ถ้าพบค่าทั้ง 3 อย่างนี้สูงกว่าปกติ คือ Creatinine, Urine albumin (อัลบูมินในปัสสาวะ) และความดันโลหิตสูงกว่าระดับปกติ (และถ้าตรวจพบค่า FBS สูงขึ้นผิดปกติมาก ๆ ในคนที่เป็นเบาหวานร่วมด้วย ก็อาจช่วยยืนยันและเร่งรัดให้ภาวะโรคไตเรื้อรังทรุดหนักเลวร้ายลง)
    • นักกีฬาในวันแข่งขันที่ต้องใช้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวออกแรงมากเป็นพิเศษ เช่น นักกีฬายกน้ำหนัก นักกีฬาว่ายน้ำ นักเทนนิส ฯลฯ (หรือแม้แต่กรรมกรแบกหาม) ฉะนั้น ในวันแข่งขันจึงย่อมตรวจพบค่า Creatinine ในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
  • ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนตรวจ Creatinine
    • ควรงดอาหารประเภทเนื้อ 2-3 วันก่อนการตรวจ Creatinine เพราะการกินอาหารประเภทเนื้อแดงอาจทำให้ค่า Creatinine สูงขึ้นได้เล็กน้อย เพราะเนื้อส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อย่อมจะมี Creatinine phosphate แฝงอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง โดยหากยิ่งทำให้สุกด้วยการใช้ความร้อนนาน ๆ อย่างการตุ๋น ก็จะยิ่งทำให้ Creatinine phosphate จากเนื้อสัตว์ออกมาปนอยู่ในอาหารและเพิ่มค่าให้สูงยิ่งขึ้นมากกว่าปกติ
    • ยาบางชนิดอาจมีผลต่อ Creatinine ได้ ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้หยุดยาดังกล่าวก่อนชั่วคราว (ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดยาทุกครั้ง) ซึ่งยาดังกล่าวได้แก่ ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs), ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside), ยารักษาโรคกระเพาะอาหารโอเมพราโซล (Omeprazole), ยาไตรเมโทพริม (Trimethoprim), ยาที่มีผลต่อการทำงานของไต (เช่น เซฟาโลสปอริน (Cephalosporins), ยาเคมีบำบัด
    • ในกรณีที่เหตุร้ายแรงเกิดขึ้นที่ตับ เช่น ตับได้รับสารพิษ ก็ย่อมทำให้ค่า BUN เพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ แต่ในขณะเดียวกันค่า Creatinine อาจจะเพื่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจนอาจสังเกตไม่พบเลยก็ได้ ด้วยเหตุนี้ ในการเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานของไต แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจหาค่า BUN ไปพร้อมกับ Creatinine ในวาระเดียวกันด้วยเสมอทุกครั้งไป (แม้ Creatinine จะเป็นค่าที่แน่นอนกว่า แต่ค่า BUN ก็จำเป็นเช่นกัน)
    • หากผลการตรวจเลือดพบค่า Creatinine มีแนวโน้มค่อย ๆ สูงขึ้น เช่น จากการตรวจเลือดทุก 6 เดือน กรณีอย่างนี้ก็ต้องรีบไปพบและปรึกษาแพทย์
  • ต้องตรวจ Creatinine บ่อยแค่ไหน การตรวจมักขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้พิจารณาว่าจะต้องติดตามการทำงานไตบ่อยแค่ไหน
    • สำหรับการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปก็คือการตรวจปีละครั้ง
    • หากเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต แพทย์จะพิจารณาให้ตรวจถี่ขึ้น
    • สำหรับผู้ที่ได้รับยาที่ส่งผลต่อการทำงานไตหรือผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำแพทย์จะเจาะเลือดตรวจถี่ขึ้น

การตรวจการทํางานของไต
IMAGE SOURCE : 123RF

BUN / Creatinine Ratio

BUN / Creatinine คือ การคำนวณอัตราส่วนระหว่างค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) ต่อ ค่า Creatinine (คำนวณจากค่า BUN หารด้วยค่า Creatinine) ซึ่งได้จากผลการตรวจเลือดในวาระเดียวกัน โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณอัตราส่วนนี้สามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคหรือบ่งชี้โรคเกี่ยวกับไตได้ดีพอสมควร ทั้ง ๆ ที่ยังมิได้ใช้เครื่องมือทางการแพทย์อื่นใดในการตรวจหรือยังมิได้แตะต้องกระทบกระเทือนใด ๆ ต่อไตเลยก็ตาม

  • หลักการคำนวณ ในหลักการคำนวณจะอาศัยคุณลักษณะเฉพาะระหว่างค่า BUN และค่า Creatinine ซึ่งเป็นข้อมูลที่แตกต่างกัน กล่าวคือ
    • ค่า BUN เป็นค่าที่เปลี่ยนแปลงวูบวาบไปตามประเภทอาหารหรือสิ่งที่กินที่สร้างผลกระทบต่อไต (เช่น ยา) รวมทั้งยังแสดงสุขภาพของไตที่เริ่มทำหน้าที่บกพร่อง แต่ BUN เพียงค่าเดียวก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่า ค่าเท่าใดที่จะบ่งชี้ได้ว่าไตกำลังมีปัญหาหรือกำลังเกิดโรคอะไร
    • ค่า Creatinine เป็นค่าที่โดยทั่วไปจะไม่เปลี่ยนแปลงวูบวาบมากนัก ทั้ง ๆ ที่ค่านี้ก็สารชีวเคมีซึ่งไตต้องมีหน้าที่กรองออกจากเลือดเช่นเดียวกับ BUN ด้วยเหตุนี้ ค่า Creatinine จึงถูกใช้เป็นค่ามาตรฐานเทียบเคียงในฐานะเป็นตัวหารของอัตราส่วน จึงทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ช่วยประเมินสุขภาพของไตได้ค่อนข้างแม่นยำอีกค่าหนึ่ง
  • ค่าปกติของ BUN : Creatinine ให้ยึดตามค่าที่แสดงไว้ในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • อัตราส่วนปกติทั่วไปของค่า BUN ต่อ Creatinine คือ 10-20 : 1
    • อัตราส่วนปกติทั่วไปของค่า BUN ต่อ Creatinine ในทารกอายุต่ำกว่า 12 เดือน คือ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 : 1
  • ค่า BUN : Creatinine ที่ต่ำกว่าปกติ (น้อยกว่า 10 : 1) อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจบริโภคอาหารประเภทโปรตีนน้อยเกินไป
    • อาจมีเหตุมาบั่นทอนทำให้มวลกล้ามเนื้อลีบลงจนอาจถึงระดับเป็นโรคกล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis)
    • กล้ามเนื้ออาจเกิดการบาดเจ็บรุนแรง
    • อาจเกิดจากการตั้งครรภ์
    • อาจกำลังเกิดโรคตับที่กำลังเข้าสู่ระยะของโรคตับแข็ง (Cirrhosis) จึงทำให้ตับสร้างสาร Urea Nitrogen ออกมาสู่กระแแสเลือดไม่ได้ เป็นผลทำให้ค่า BUN ในเลือดต่ำลง จึงทำให้อัตราส่วนของทั้งสองค่านี้มีค่าต่ำลงไปด้วย
    • อาจเกิดจากฮอร์โมน Antidiuretic hormone ที่หลังออกมามาเกินไป จึงไปขัดขวางการปล่อยทิ้งน้ำผ่านทางไต ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเกิดอาการอุ้มน้ำเกินสมควร เป็นผลทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “Syndrome of inappropraite antidiuretic hormone” (กลุ่มอาการของการหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะไม่เหมาะสม) ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ค่า BUN เจือจางลง สำแดงค่าต่ำผิดปกติ และทำให้ค่าอัตราส่วนของสองค่านี้ต่ำลง
    • อาจเกิดจากยารักษาโรคบางชนิดในประเภทยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจเป็นเหตุทำให้ค่า BUN ในเลือดลดลงผิดปกติ จึงทำให้อัตราส่วนของทั้งสองค่านี้มีค่าต่ำลงไปด้วย เช่น ยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol), ยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ฯลฯ
  • ค่า BUN : Creatinine ที่สูงกว่าปกติ (มากกว่า 20 : 1) อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจกำลังเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure)
    • อาจกำลังเกิดอาการช็อกหรืออาการขาดน้ำ (Dehydration)
    • อาจมีนิ่วใจไต (Kidney stone) ซึ่งมาปิดกั้นท่อปัสสาวะอยู่
    • อาจกำลังเกิดการตกเลือดในช่องทางเดินอาหารหรือช่อทางเดินหายใจ หากอัตราส่วนของสองค่านี้สูงจากเกณฑ์ปกติขึ้นไปมาก ๆ
    • อาจเกิดจากการกินยารักษาโรคบางชนิดที่ทำให้ค่า BUN สูงขึ้น อีกทั้งยาเหล่านั้นก็ยังเป็นยาที่สร้างพิษแก่ไตโดยตรงด้วย (ไม่มากก็น้อย หรือบางตัวก็เป็นพิษกับไตโดยตรง) เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ที่ใช้แก้อาการปวด, ยาแบคซิทราซิน (Bacitracin) หรือนีโอมัยซิน (Neomycin) ที่ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาเพนิซิลลามีน (Penicillamine) ที่ใช้แก้โรคปวดข้อ ฯลฯ

eGFR

การตรวจหาอัตราการกรองของไต หรืออัตราการกรองของเสียของไต (Estimated glomerular filtration rate : eGFR หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “GFR”) คือ การตรวจหาค่าอัตราการไหลของเลือดผ่านตัวกรองไตในหนึ่งนาที โดยเป็นค่าที่ได้จากการคำนวณ Creatinine เพศ อายุ และเชื้อชาติของผู้รับการตรวจแต่ละคน (ค่า Creatinine ยิ่งสูง จะยิ่งทำให้ GFR มีค่าต่ำ) ในห้องแล็บที่ยังไม่ทันสมัยจะไม่รายงานผลของค่านี้ ถ้าอยากทราบก็สามารถเอาค่าของ Creatinine ที่ได้ไปค้นหา GFR calculator ตามเว็บไซต์ทั่วไปได้ครับ

  • ปัจจุบันนี้วงการโรคไตทั่วโรครวมทั้งสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้เปลี่ยนมาใช้ค่า GFR ในการบอกสถานะของโรคไตแทนค่า Creatinine แล้ว (ในคนปกตินั้นจะมีค่า GFR อยู่ที่ประมาณ 125 มล./นาที แต่ถ้าตรวจพบว่ามีค่าต่ำกว่า 90 ก็ถือว่าไตเริ่มเสื่อมแล้ว) เพราะค่านี้มีประโยชน์อย่างมากในแง่ที่ช่วยแบ่งระดับความรุนแรงของผู้ที่มีระดับ Creatinine ผิดปกติว่ามีความรุนแรงของโรคไตเรื้อรังอยู่ในระยะใด ใน 5 ระยะ กล่าวคือ
    • ระยะที่ 1 ค่า GFR ≥ 90 มล./นาที (หรือ ml/min/1.73 m2) เป็นระยะที่ตรวจพบพยาธิสภาพที่ไตแล้ว (เช่น มีนิ่ว กรวยไตอักเสบ ไตบวม) แต่ไตยังทำงานปกติ
    • ระยะที่ 2 ค่า GFR = 60 – 89 มล./นาที เป็นระยะที่ไตเริ่มทำงานผิดปกติเล็กน้อย
    • ระยะที่ 3 ค่า GFR = 30 – 59 มล./นาที เป็นระยะที่ไตทำงานผิดปกติปานกลาง
    • ระยะที่ 4 ค่า GFR = 15 – 29 มล./นาที เป็นระยะที่ไตทำงานผิดปกติอย่างมาก
    • ระยะที่ 5 ค่า GFR < 15 มล./นาที เป็นระยะสุดท้ายที่ถือว่าไตพังไปแล้วเรียบร้อย (ต้องใช้ไตเทียมล้างไตจึงจะมีชีวิตอยู่ได้)
  • การดูแลตนเองหาก GFR มีค่าต่ำ
    1. ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ไตเสื่อมให้ดี โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
    2. รับประทานอาหารสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามควรแก่สุขภาพ
    3. ใช้ยาอย่างถูกต้อง เหมาะสม และภายใต้คำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
    4. ปรึกษาแพทย์และตรวจติดตามค่า GFR เป็นระยะตามที่แพทย์สั่ง

การคำนวณGFR
IMAGE SOURCE : www.mdcalc.com

Creatinine clearance

การตรวจค่าสำรองความสามารถของไตที่เหลือในการกำจัดครีอะตินีน หรือครีอะตินีนเคลียรานซ์ (Creatinine clearance : CrCl) คือ การตรวจเพื่อประเมินอัตราการกรองของไตเหมือนการตรวจ eGFR แต่จะเป็นการนำค่า Creatinine ที่ได้จากการเจาะเลือด และค่า Creatinine ที่ได้จากการเก็บปัสสาวะที่เก็บรวบรวมทั้งวันหรือ 24 ชั่วโมง มาประกอบกับการคำนวณในห้องปฏิบัติการ หากพบว่าค่าจากทั้ง 2 แหล่งนี้อยู่ในระดับที่ผิดปกติ (Creatinine ในเลือดสูง แต่ Creatinine ในปัสสาวะต่ำ) ก็ย่อมอาจบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่ากำลังเกิดโรคไตขึ้นอย่างแน่นอนแล้ว จึงทำให้ไตกรองของเสียออกมาไม่ได้ในเกณฑ์ปกติและล้นคับคั่งอยู่ในเลือด

อย่างไรก็ตาม การตรวจนี้เป็นการตรวจพิเศษ ในแบบฟอร์มการตรวจเลือดจึงมิได้ระบุค่านี้เอาไว้ เนื่องจากมิใช่เป็นหัวข้อการเจาะเลือดตรวจตามปกติหรือตามระยะเวลา เพราะมีกระบวนการเก็บข้อมูลที่ยุ่งยากกว่าดังกล่าว และมักเป็นการตรวจตามคำสั่งแพทย์

ด้วยเหตุนี้ การตรวจ eGFR จึงเป็นที่นิยมมากกว่าการตรวจ Creatinine clearance เพราะนอกจากจะสะดวกกว่าแล้ว ค่าที่ได้ก็ยังค่อนข้างใกล้เคียงกันอีกด้วย ยกเว้นในบางกรณีที่ค่า eGFR ซึ่งเป็นค่าที่ได้จากการคำนวณนั้นไม่น่าเชื่อถือ เช่น ผู้รับการตรวจมีการเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหาร (เช่น กินมังสวิรัติ หรือมีการเพิ่ม Creatine supplementation) หรือมีการเปลี่ยนของกล้ามเนื้อ (เช่น ขาดอาหาร กล้ามเนื้อลีบ ถูกตัดแขนหรือขา)

  • ค่าปกติของ Creatinine clearance ให้ยึดตามค่าที่แสดงไว้ในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่าปกติของ Creatinine clearance ในผู้ชาย คือ 97 – 137 ml/min หรือ 0.93 – 1.32 ml/sec (หน่วย IU)
    • ค่าปกติของ Creatinine clearance ในผู้หญิง คือ 88 – 128 ml/min หรือ 0.85 – 1.23 ml/sec (หน่วย IU)
  • ค่า Creatinine clearance ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • ไตอาจกำลังมีปัญหา โดยอาจเกิดจากเซลล์ไตเสียหายจากโรคไตเฉียบพลัน โรคไตเรื้อรัง ไตวาย ไตขาดเลือดมาเลี้ยง
    • อาจเกิดจากอายุที่มากขึ้น
    • อาจเกิดจากภาวะขาดน้ำ
    • ท่อปัสสาวะอาจมีการอุดตันหรือถูกปิดกั้นจนไหลได้ไม่สะดวก
    • อาจเกิดจากเลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง
    • อาจเกิดจากภาวะหัวใจวาย
    • อาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics), ไซเมทิดีน (Cimetidine), โปรเคนเอไมด์ (Procainamide) ฯลฯ
    • อาจเกิดจากการเก็บปัสสาวะที่ไม่ถูกต้อง
  • ค่า Creatinine clearance ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากการตั้งครรภ์
    • การออกกำลัง

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด