ไฮออสซีน (Hyoscine) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ไฮออสซีน

ไฮออสซีน (Hyoscine) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า บุสโคพาน (Buscopan) เป็นยารักษาและบรรเทาอาการปวดเกร็งของอวัยวะในช่องท้องที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางเดินอาหารรวมถึงระบบทางเดินปัสสาวะ ถูกจดทะเบียนยาครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1951 ที่ประเทศเยอรมนี และจัดจำหน่ายในปี ค.ศ. 1952 ไฮออสซีนเป็นยาที่ได้รับการยอมรับในการนำมาใช้ในวงการแพทย์อย่างมาก และถูกนำมาใช้ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อยานี้ได้ตามร้านขายยาทั่วไป และมีใช้ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ

ยาไฮออสซีนจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย มีข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้ในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป การใช้ยานี้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

ตัวอย่างยาไฮออสซีน

ยาไฮออสซีน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น แอมโคแพน (Amcopan), แอนตี้สปา (Antispa), บาโคแทน (Bacotan), บัสโคโน (Buscono), บุสโคพาน / บัสโคแพน (Buscopan), บูทิล (Butyl), เซ็นโคแพน (Cencopan), ไฮบูทิล (Hybutyl), ไฮออสซิน บีเอ็ม (Hyoscin BM), Hyoscine liquid (ไฮออสซิน ลิควิด), Hyoscine-N-butylbromide GPO (ไฮออสซิน-เอ็น-บูทิลโบรมายด์ จีพีโอ), ไฮออสแมน (Hyosman), ไฮออสแมน ลิควิด (Hyosman liquid), ไฮออสเมด (Hyosmed), ไฮออสแพน (Hyospan), ไฮออสแทน (Hyostan), ไฮโอซิน (Hyozin), ไฮ-สปา 10 (Hy-Spa 10), คานิน (Kanin), มายสปา (Myspa), สโคพาส (Scopas), สพาสโคแพน (Spascopan), สพาสกอน-เอ็น (Spasgone-H), สพาสโม (Spasmo), ยู-ออสซีน (U-Oscine), ยูออสแพน (Uospan), วาโคแพน (Vacopan), เวสโคโพลามายด์ อินเจ็กชั่น (Vescopolamine Injection) ฯลฯ

รูปแบบยาไฮออสซีน

  • ยาเม็ด ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำเชื่อม ขนาด 5 มิลลิกรัม/ช้อนชา (5 มิลลิลิตร)
  • ยาฉีด 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ยาบุสโคพาน
IMAGE SOURCE : www.ipahealthcare.org, www.valleyvet.com

บุสโคพาน
IMAGE SOURCE : pharmnews.blogspot.com

สรรพคุณของยาไฮออสซีน

  • ใช้เป็นยาแก้อาการปวดเกร็งหรือบิดเกร็ง (Colicky pain) ของอวัยวะในช่องท้อง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่บริเวณกระเพาะอาหารหรือกระเพาะปัสสาวะ เช่น ท้องเดิน ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง (Diarrhea), อาการปวดท้องเนื่องจากนิ่วในน้ำดี (Gallstone), นิ่วในท่อไต (Ureteric stone), โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome – IBS), ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) เป็นต้น[1],[3]
  • ยานี้สามารถใช้เพื่อลดการหลั่งของเหลวในปอดได้[2]

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไฮออสซีน

ตัวยาไฮออสซีนจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการเข้าไปแข่งขันและยับยั้งการทำงานของตัวรับ (Receptor) ที่ชื่อว่า มัสคารินิก (Muscarinic receptors) ทำให้เกิดผลแสดงออกที่ระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทส่วนปลาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายในเกิดการคลายตัว ประกอบกับลดการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงเกิดฤทธิ์ในการรักษาอาการตามสรรพคุณดังกล่าว

เมื่อยาไฮออสซีนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะออกฤทธิ์ได้ภายในประมาณ 10 นาที และมีระยะเวลาในการออกฤทธิ์ประมาณ 2 ชั่วโมง ยานี้จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากร่างกายครึ่งหนึ่งโดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะ

ก่อนใช้ยาไฮออสซีน

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยาไฮออสซีน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาไฮออสซีน (Hyoscine) หรือยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาไฮออสซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาไฮออสซีนร่วมกับยาที่มีฤทธิ์เป็นแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้ซึมเศร้า ยาแก้โรคจิต (เช่น ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine)) เป็นต้น อาจเสริมฤทธิ์ของยาไฮออสซีนได้
    • กาใช้ยาไฮออสซีนร่วมกับยากลุ่มต้านสารสื่อประสาท Acetylcholinesterase inhibitors เช่น โดนีพีซิล (Donepezil), กาแลนทามีน (Galantamine), ไรวาสติกมีน (Rivastigmine), แทครีน (Tacrine) สามารถทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาเหล่านี้ลดลงได้
    • การใช้ยาไฮออสซีนร่วมกับยากลุ่มที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้ซึมเศร้า จะส่งผลให้เกิดอาการกดประสาทหรือกล่อมประสาทมากขึ้น ซึ่งควรต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นหากต้องใช้ยานี้ร่วมกัน
    • การใช้ยาไฮออสซีนร่วมกับยาแก้แพ้และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาจเสริมฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนมากขึ้น จึงไม่ควรใช้ร่วมกัน
  • มีหรือเคยมีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรืออุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้น
  • มีหรือเคยมีประวัติเป็นโรคตับ, โรคไต, โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria), โรคต้อหิน, โรคกระเพาะอาหารหรือมีแผลในลำไส้, โรคต่อมลูกหมากโต, ปัสสาวะไม่ออก, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia gravis), โรคลมชัก
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาไฮออสซีน

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน, โรคต่อมลูกหมากโต, ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ, ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเลือดออกแบบเฉียบพลัน, ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ, โรคไต, โรคหลอดเลือด, ผู้ป่วยที่มีแผลในลำไส้, ผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ออก, ผู้ป่วยที่มีชีพจรเต้นเร็ว (เช่น ภาวะหัวใจวาย ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน)
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในเด็กและผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้ซึมเศร้า ยาแก้แพ้ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

วิธีใช้ยาไฮออสซีน

สำหรับรักษาอาการปวดเกร็งของอวัยวะในช่องท้องที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางเดินอาหารรวมถึงระบบทางเดินปัสสาวะ มีขนาดการรับประทานยา ดังนี้

  • สำหรับยาเม็ด ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 10-20 มิลลิกรัม ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ ¼-½ ช้อนชา, เด็กอายุ 1-4 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ ½-1 ช้อนชา, เด็กอายุ 4-7 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 1-2 ช้อนชา หรือ ½-1 เม็ด และในเด็กอายุ 7-12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 2 ช้อนชา หรือ 1 เม็ด โดยทั้งหมดนี้ให้รับประทานยาเมื่อมีอาการ และรับประทานยาซ้ำได้ทุก ๆ 6-8 ชั่ว โมง (ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง ในผู้ใหญ่ และไม่เกินวันละ 3 ครั้ง ในเด็ก)
  • สำหรับยาฉีด ในผู้ใหญ่ให้ฉีดครั้งละ 1 หลอด ส่วนในเด็กให้ฉีดครั้งละ ¼-½ หลอด โดยการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ หรือผสมน้ำตาลกลูโคสฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ

หมายเหตุ : การใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์

คำแนะนำในการใช้ยาไฮออสซีน

  • สำหรับยาเม็ด โดยทั่วไปให้รับประทานยาวันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น โดยให้กลืนยาทั้งหมด ห้ามบดหรือเคี้ยวเม็ดยา
  • การใช้ยานี้ร่วมกับยาลดกรดอาจลดการดูดซึมของไฮออสซีนได้
  • ให้รับประทานยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามรับประทานยาน้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ผู้ป่วยที่รับประทานยานี้เกินขนาดจะมีอาการรูม่านตาขยาย, ความดันโลหิตสูง, เกิดภาวะกดประสาทส่วนกลาง (เช่น ซึม), หัวใจเต้นเร็ว, การหายใจล้มเหลว (เช่น หายใจเร็ว เบา หรือหายใจลำบาก), ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว (เช่น ตัวเขียว), ค่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ผิดปกติ หากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย ลดไข้ด้วยน้ำแข็งหรือแอลกอฮอล์ (Alcohol sponges) หากมีอาการหนักและรุนแรง แพทย์จะให้ยาไฟโสสติกมีน (Physostigmine) ซึ่งเป็นยากระตุ้นระบบประสาทชนิดหนึ่ง ในขนาด 1-2 มิลลิกรัม โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ และอาจให้ยาซ้ำอีกครั้งหลัง 2 ชั่วโมงจากการให้ยาครั้งแรก

การเก็บรักษายาไฮออสซีน

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ)
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมรับประทานยาไฮออสซีน

โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยาไฮออสซีน สามารถรับประทานยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาไฮออสซีน

ยานี้อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ, วิงเวียน, มึนงง, ง่วงนอน, อ่อนเพลีย, ความจำเสื่อม, ปากแห้ง, กลืนลำบาก, มีอาการหน้าแดง, รูม่านตาขยาย (ตาพร่ามัว), ตาสู้แสงไม่ได้, ปวดกระบอกตา, ตาแดง, การมองเห็นผิดปกติ, ความดันโลหิตต่ำ, ใจสั่น (หัวใจเต้นเร็ว), หัวใจเต้นผิดจังหวะ, คลื่นไส้อาเจียน, ท้องอืด, แน่นอึดอัดในท้อง, ท้องผูก, ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออก หรือเจ็บเวลาปัสสาวะ, บวมน้ำ, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ผิวแห้ง, ผิวหนังขึ้นผื่นจากการแพ้ยา, แพ้แสงแดด, น้ำมูกไหลแน่นจมูก, ซึม, การหายใจล้มเหลว หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นโคม่า

เอกสารอ้างอิง
  1. หาหมอดอทคอม.  “ไฮออสซีน (Hyoscine)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [06 ต.ค. 2016].
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “HYOSCINE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [06 ต.ค. 2016].
  3. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “แอนติสปาสโมดิก (Antispasmodics)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 294.
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  “ไฮออสซีนบิวทิลโบรไมด์ (Hyoscine butylbromide)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [06 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด