ไพร็อกซิแคม
ไพร็อกซิแคม หรือ พิร็อกซิแคม (Piroxicam) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า เฟลดีน (Feldene), ไพร็อกโซน (Piroxone) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวดจำพวกเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดจากโรคข้ออันเนื่องมาจากการอักเสบ
ตัวอย่างยาไพร็อกซิแคม
ยาไพร็อกซิแคม (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น บิวตาซินอน ฟอร์ต (Butacinon Fort), เดซาลิน (Dexalin), เฟลแคม (Felcam), เฟลดีน (Feldene), ฟลามิก (Flamic), ไพร็อกเซน (Piroxen), ไพร็อกโซน (Piroxone), โรซีแคน (Roxycan) ฯลฯ
รูปแบบยาไพร็อกซิแคม
- ยาแคปซูล ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม
- ยาเม็ด ขนาด 20 มิลลิกรัม
- ยาเจล ขนาด 0.5% ขนาด 10 และ 25 มิลลิกรัม
สรรพคุณของยาไพร็อกซิแคม
- ใช้บรรเทาอาการอักเสบและ/หรืออาการปวดจากภาวะการอักเสบของข้อ เช่น โรคปวดข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis), โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis), โรคข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง (Ankylosing spondylitis), โรคเกาต์ (Gout) ชนิดเฉียบพลัน, กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้ออักเสบเฉียบพลัน (Acute musculoskeletal disorder), และลดอาการปวดข้อซึ่งไม่ทราบสาเหตุในเด็ก
- ใช้บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ อาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea) อาการปวดแผลหลังการผ่าตัด หลังการตัดฝีเย็บอันเนื่องมาจากการคลอดบุตร หรือหลังการบาดเจ็บเฉียบพลัน
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไพร็อกซิแคม
ยาไพร็อกซิแคมมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ในร่างกาย ซึ่งเป็นตัวชักนำให้เกิดการอักเสบ โดยจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ไซโคลออกซีจีเนส (Cyclooxygenase) ทั้งชนิด 1 (Cox-1) และชนิด 2 (Cox-2) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสังเคราะห์สารโพรสตาแกลนดิน ยานี้จึงมีสรรพคุณในการต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ช่วยแก้อาการปวด ป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน แต่ในขณะเดียวกันตัวยาก็ไปยับยั้งกลไกการสร้างเมือกปกคลุมเยื่อบุผิวในกระเพาะอาหาร จึงทำให้เยื่อบุผิวกระเพาะอาหารเกิดการระคายเคืองจากน้ำย่อยกลายเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) และกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) ได้ง่าย
ก่อนใช้ยาไพร็อกซิแคม
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไพร็อกซิแคม สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาไพร็อกซิแคม (Piroxicam) ยาแอสไพริน (Aspirin) กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- โรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ รวมถึงยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง อาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่ หรือกำลังจะใช้ เพราะยาไพร็อกซิแคมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
- การรับประทานยาไพร็อกซิแคมร่วมกับยารักษาอาการทางจิต เช่น ยากลุ่มลิเทียม (Lithium sulphate) อาจเพิ่มผลข้างเคียงจากยาทางจิตเวชเพิ่มขึ้น
- การรับประทานยาไพร็อกซิแคมร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น อะซีโนคูมารอล (Acenocoumarol), เฮพาริน (Heparin), วาร์ฟาริน (Warfarin) จะเสริมฤทธิ์กันและก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่าย
- การรับประทานยาไพร็อกซิแคมร่วมกับยาลดความดันโลหิต เช่น อะลาซีพริล (Alacepril), อัลพรีโนลอล (Alprenolol), อะทีโนลอล (Atenolol), แคนดีซาร์แทน (Candesartan), ลอซาร์แทน (Losartan), เมโทโพรลอล (Metoprolol), โอล์มีซาร์แทน (Olmesartan), โพรพราโนลอล (Propranolol) จะทำให้ประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตลดลง และอาจก่อให้เกิดภาวะไตวาย
- การรับประทานยาไพร็อกซิแคมร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้
- มีความผิดปกติของการทำงานของตับหรือไต, เคยมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน (Stroke), โรคเบาหวาน, ภาวะเลือดจาง, ภาวะเลือดไหลง่ายกว่าปกติหรือใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants), ภาวะหอบหืด โดยเฉพาะหอบหืดที่เกิดจากยาแอสไพริน, โรคเอสแอลอี (SLE), โรคหัวใจหรือภาวะที่ระบบไหลเวียนเลือดมีความผิดปกติ, เคยผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass graft surgery) ภายใน 2 สัปดาห์ก่อนใช้ยา, โรคลำไส้อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis), ภาวะแผลในกระเพาะอาหาร, ภาวะแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal ulcer), ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps), เคยมีประวัติการบวมที่มือ แขน น่อง เท้า หรือข้อเท้า, สูบบุหรี่, ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าวันละ 3 แก้ว
- มีการตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
- หากกำลังจะเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟัน ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ผ่าตัดหรือทันตแพทย์ทราบด้วยว่ากำลังใช้ยานี้อยู่
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาไพร็อกซิแคม
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาไพร็อกซิแคม ยาแอสไพริน หรือกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหืด ลมพิษ หวัดภูมิแพ้ ที่เคยมีอาการกำเริบจากการใช้ยาแอสไพรินหรือยาในกลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) หรือมีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร, มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด (เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง), ผู้ที่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ, ผู้ที่มีภาวะตับแข็ง, ผู้ที่มีการทำงานของไตผิดปกติรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ระยะไตรมาสที่ 3 และหญิงให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้และห้ามใช้ยาหมดอายุ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาแอสไพริน (Aspirin) ยาสเตียรอยด์ และแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุและในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสภาวะติดเชื้อ ภูมิแพ้ หอบหืด โรคเลือด โรคตับหรือไต เพราะอาจเพิ่มผลข้างเคียงให้สูงขึ้น
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่าย (โรคเลือด), ผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดความดันโลหิต ยารักษาอาการทางจิต และผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์, ผู้ป่วยตับแข็ง ไตวาย และหัวใจวาย
วิธีใช้ยาไพร็อกซิแคม
- สำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อเสื่อม และโรคข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง ควรเริ่มการรักษาด้วยการให้รับประทานยานี้ในขนาด 20 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรับประทานยาวันละ 20 มิลลิกรัมในวันต่อไป ในขณะที่ป่วยส่วนน้อยอาจรับประทานยาวันละ 10 มิลลิกรัมในวันต่อไป และผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานยาสูงถึงวันละ 30 มิลลิกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- สำหรับโรคปวดข้อรูมาตอยด์ในเด็ก ขนาดยาที่แนะนำควรพิจารณาให้ตามน้ำหนักตัวของเด็ก คือ น้ำหนักตัวต่ำกว่า 15 กิโลกรัม ให้รับประทานวันละ 5 มิลลิกรัม, น้ำหนักตัว 16-25 กิโลกรัม ให้รับประทานวันละ 10 มิลลิกรัม, น้ำหนักตัว 26-45 กิโลกรัม ให้รับประทานวันละ 15 มิลลิกรัม, น้ำหนักตัวเกินกว่า 46 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานวันละ 20 มิลลิกรัม
- สำหรับโรคเกาต์ชนิดเฉียบพลัน ให้รับประทานยาในขนาด 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และให้รับประทานต่อเนื่องต่อไปอีก 4-6 วัน ด้วยขนาดเดียวกัน (ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคเกาต์ที่ต้องใช้เวลาในการรักษายาวนาน)
- สำหรับกล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้ออักเสบเฉียบพลัน ใน 1-2 วันแรก ให้รับประทานยาในขนาด 40 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นให้ลดขนาดลงเหลือวันละ 20 มิลลิกรัม โดยให้ต่อเนื่องกันไปจนครบ 7-14 วัน
- สำหรับรักษาอาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิที่ไม่ทราบสาเหตุ ควรรับประทานยาโดยเร็วที่สุดเมื่ออาการปวดครั้งแรกเริ่มขึ้น โดยขนาดยาที่แนะนำคือวันละ 40 มิลลิกรัมในช่วง 2 วันแรก และหลังจากนั้นให้รับประทานยาวันละ 20 มิลลิกรัมต่อไปอีก 1-3 วัน แล้วแต่ความจำเป็น
- สำหรับอาการปวดหลังการผ่าตัดและการได้รับบาดเจ็บเฉียบพลัน ให้รับประทานยาวันละ 20 มิลลิกรัม ส่วนในรายที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์รวดเร็วยิ่งขึ้น ควรเริ่มให้การรักษาใน 2 วันแรกด้วยขนาดยาวันละ 40 มิลลิกรัม โดยให้ครั้งเดียวหรือแบ่งให้หลายครั้ง และเมื่อรักษาต่อเนื่องกันให้ลดขนาดยาลงเหลือวันละ 20 มิลลิกรัม
หมายเหตุ : โดยทั่วไปการรับประทานยานี้ในผู้ใหญ่ ขนาดที่แนะนำคือวันละ 10-30 มิลลิกรัม ส่วนในเด็กให้รับประทานในขนาด 0.2-0.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง (สูงสุดไม่เกินวันละ 15 มิลลิกรัม) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
คำแนะนำในการใช้ยาไพร็อกซิแคม
- ควรรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกครั้ง โดยให้รับประทานยาพร้อมกับอาหารหรือหลังอาหารในทันทีพร้อมกับดื่มน้ำตาม 1 แก้ว เพื่อช่วยลดอาการไม่สบายท้อง (ระคายเคืองในกระเพาะอาหาร) ที่อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยา
- ให้ใช้ยานี้ตามวิธีที่ระบุไว้บนฉลากยา ไม่ควรใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
- ยาไพร็อกซิแคมจัดเป็นยาอันตรายและมีผลข้างเคียงจากยาสูง ผู้ป่วยจึงไม่ควรซื้อยานี้มารับประทานโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุไว้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ โดยเฉพาะขนาดยาที่ใช้ในเด็กซึ่งจะขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ในกรณีที่จำเป็นต้องรับประทานยานี้ติดต่อกันนาน ๆ ควรรับประทานยาชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เช่น
- รานิทิดีน (Ranitidine) ให้รับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- โอเมพราโซล (Omeprazole) ให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- ไมโซพรอสทอล (Misoprostol) ซึ่งเป็นยาโพรสตาแกลนดินสังเคราะห์ ให้รับประทานครั้งละ 100-200 ไมโครกรัม วันละ 4 ครั้ง
- ยาลดกรด (Antacids) ให้รับประทานครั้งละ 30 มิลลิลิตร วันละ 7 ครั้ง
- ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลการรักษาและคอยสังเกตอาการแสดงที่บ่งบอกว่ามีเลือดออก เช่น การมีเลือดออกตามไรฟัน ขับถ่ายเป็นเลือด อ่อนเพลีย หรือมีอาการแสดงของภาวะตับอักเสบ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งหากพบว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
การเก็บรักษายาไพร็อกซิแคม
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้อง ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ) และเก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง)
- ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ
เมื่อลืมรับประทานยาไพร็อกซิแคม
โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยาไพร็อกซิแคม สามารถรับประทานยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ผลข้างเคียงของยาไพร็อกซิแคม
- ผลข้างเคียงสำคัญของยานี้ คือ ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ อาจทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ และกระเพาะอาหารอักเสบ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออก (อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ) หรือกระเพาะอาหารทะลุได้
- อาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงนอน ซึม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หูอื้อ มีเสียงดังในหู ตามัว มองเห็นภาพไม่ชัด คลื่นไส้ อาเจียน แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องเดิน รู้สึกไม่สบายท้องเล็กน้อย ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แพ้แสงแดดง่าย ผิวซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุหรือมีอาการบวม มีอาการบวมที่หน้า มือ เท้า ข้อเท้า หรือน่อง กลืนลำบากหรือหายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ฯลฯ
- อาจเกิดอาการแพ้ยา เป็นลมพิษ ผื่นคัน หอบหืด กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) ภาวะช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock)
- อาจเกิดภาวะช็อกจากปฏิกิริยาอะนาไฟแล็กทอยด์ (Anaphylactoid) ในผู้ที่ใช้ยานี้เป็นครั้งแรก
- อาจทำให้โรคภูมิแพ้ (เช่น หวัดภูมิแพ้ หืด) กำเริบ
- อาจทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ
- อาจทำให้ตับอักเสบหรือเอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูง
- อาจทำให้ร่างกายคั่งน้ำ (Fluid retention) ทำให้มือเท้าบวม ความดันโลหิตสูงได้ และอาจทำให้ผู้ที่มีภาวะหัวใจวายเกิดอาการกำเริบได้
- ถ้าใช้ยานี้ในขนาดสูง อาจยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือดและทำให้เลือดออกได้
- ถ้าใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาการข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร เช่น ระคายเคืองในกระเพาะอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ยังมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง ภาวะบวมน้ำ มีผลต่อระบบเลือด ระบบการทำงานของตับและไต และอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “ไพร็อกซิแคม (Piroxicam)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 233-234.
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “PIROXICAM”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [18 ก.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ไพโรซิแคม (Piroxicam)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: haamor.com. [18 ก.ย. 2016].
- Drugs.com. “Piroxicam”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com. [19 ก.ย. 2016].
- ThaiRx. “เฟลดีน ชนิดเม็ด 20 มก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : thairx.com. [19 ก.ย. 2016].
- เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ. “คุณหมอสั่งให้ใช้ยา Piroxicam เพื่อแก้ปวดเป็นระยะเวลานาน”. (นศภ.ชวิศา ไชยมงคล, รศ.ดร.โพยม วงศ์ภูวรักษ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th. [19 ก.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)