โรคไตวาย
ไตวาย, ไตล้ม, ไตล้มเหลว หรือไตไม่ทำงาน (ภาษาอังกฤษ : Kidney failure หรือ Renal failure) คือ ภาวะที่เนื้อไตทั้ง 2 ข้างถูกทำลายจนทำงานไม่ได้หรือได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียออกจากเลือดจนไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ (ทำให้เกิดการคั่งจนเป็นพิษต่อร่างกาย) ไม่สามารถควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ต่าง ๆ (โดยเฉพาะโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม และฟอสฟอรัส) และไม่สามารถสร้างฮอร์โมนที่ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูกได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้จะนำไปสู่อาการผิดปกติของอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยการล้างไตหรือปลูกถ่ายไตก็จะทำให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติจนผู้ป่วยไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้
ไตวายเป็นภาวะที่มีอันตรายร้านแรง พบเกิดได้บ่อยในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไตวายเรื้อรังที่จะพบได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากขึ้น เนื่องจากจะมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยต่าง ๆ ที่มีภาวะแทรกซ้อนต่อไต (เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคติดเชื้อ เป็นต้น) หรือมีการใช้ยาที่มีพิษต่อไตมากขึ้น
ชนิดของโรคไตวาย
ภาวะไตวายแบ่งออกเป็น 2 แบบ (Type) ตามสาเหตุและระยะเวลาที่เกิดไตวาย ซึ่งทั้งสองแบบ คือ ไตวายเฉียบพลัน (มีอาการเกิดขึ้นฉับพลันและเป็นอยู่นานเป็นวันและเป็นสัปดาห์) และไตวายเรื้อรัง (ค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อยนานเป็นแรมเดือนแรมปี)
- ไตวายเฉียบพลัน (Acute kidney failure หรือ Acute renal failure) คือ ไตวายที่เกิดจากไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันสองวัน โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยมีโรคของไตมาก่อน และโดยทั่วไปเมื่อได้รับการล้างไตและรักษาที่สาเหตุอย่างทันท่วงที ไตมักจะกลับฟื้นเป็นปกติ แต่ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไตวายซ้ำได้อีก หรือในบางราย ไตจะค่อย ๆ เสื่อมลงกลายเป็นไตวายเรื้อรังได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุและ/หรือการรักษาที่ล่าช้า
- ไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney failure หรือ Chronic renal failure) คือ การสูญเสียการทำงานของไตที่ค่อย ๆ เป็นไปอย่างช้า ๆ และถาวร ช่วงเวลาอาจนานตั้งแต่หลายเดือนไปจนถึงหลายปีจนถึง 10 ปีขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของไตที่เสียไปแล้ว สาเหตุ และการดูแลตนเองของผู้ป่วย) ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จนในที่สุดจะเข้าสู่ภาวะสุดท้ายของของไตวาย (End stage of renal failure) ซึ่งจะสร้างความยุ่งยากในการรักษามากขึ้นจนถึงขั้นต้องล้างไตหรือปลูกถ่ายไตเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ ส่วนในรายที่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องก็จะช่วยชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนออกไปได้ ทั้งนี้ ไตวายเรื้อรังมักมีขนาดของไตเล็กลงจากการมีพังผืดเกิดแทนที่เซลล์ปกติและไม่มีโอกาสที่ไตจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้ นอกจากนั้น ยังมีโอกาสที่จะเกิดไตวายเฉียบพลันซ้ำซ้อนได้ด้วย
สาเหตุของโรคไตวาย
- สาเหตุของไตวายเฉียบพลัน สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งเป็นผลทำให้เซลล์ไตสูญเสียการทำงาน ดังนี้
- เกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงไต เช่น จากภาวะเลือดออกรุนแรงของอวัยวะต่าง ๆ (เช่น จากอุบัติเหตุ), จากภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง (เช่น การกินยาขับปัสสาวะ ท้องเสียรุนแรง หรืออาเจียนมาก ๆ เมื่อเสียน้ำไปมากก็ไม่มีน้ำที่จะไปกรองไต ทำให้ไตไม่สามารถทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียออกไปได้), จากภาวะหัวใจวาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ความดันโหลิตสูงรุนแรง ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก หรือตับวาย (ซึ่งกระทบต่อระบบไหลเวียนเวียนเลือดทั่วร่างกายจนทำให้ไตได้รับเลือดไปไหลเวียนไม่เพียงพอ), จากความดันโลหิตต่ำจากสาเหตุต่าง ๆ (เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด การแพ้ยาหรือแพ้อาหาร), จากภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ (เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ), จากภาวะช็อก (เช่น จากต่อต่อย ผึ้งต่อย งูพิษกัด), จากภาวะเลือดข้นผิดปกติ (เช่น โรคมีเม็ดเลือดแดงสูง), จากความผิดปกติของหลอดเลือดในไต (เช่น หลอดเลือดแดงไตตีบ (Renal artery stenosis) ภาวะมีสิ่งหลุดอุดตันในหลอดเลือดแดงไต (Renal embolism)) เป็นต้น
- เกิดจากโรคของเซลล์ไตโดยตรง เช่น การอักเสบรุนแรงของเซลล์ไตในโรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease), การติดเชื้อรุนแรงของไต, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ลุกลามเข้าไต, การได้รับสารพิษบางชนิดเป็นประจำ (เมื่อสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะพยายามขับออกทางปัสสาวะ จึงทำให้ไตทำงานหนักขึ้น ซึ่งสารพิษบางชนิดอาจทำลายไตจนทำให้เกิดไตวายได้), ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่เป็นพิษต่อไต (เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือนาพรอกเซน) ยาต้านเอซ (ACE Inhibitors) ยาซัลฟา (Sulfa drug) กานามัยซิน (Kanamycin) เจนตามัยซิน (Gentamicin) อะมิคาซิน (Amikacin) ไซโคลสปอริน (Cyclosporin) แอมโฟเทอริซินบี (Amphotericin B) เป็นต้น ซึ่งหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือใช้โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก็อาจทำให้ไตเสื่อมได้), การใช้ยาเกินขนาด (เช่น ยาพาราเซตามอล) และรวมถึงการได้รับอุบัติเหตุโดยตรงที่บริเวณไต ภาวะร่างกายต้านไตใหม่จากการปลูกถ่ายไต ส่วนความเสื่อมของไตตามอายุก็อาจเป็นสาเหตุทำให้ไตเสื่อมได้เช่นกัน
- เกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะตั้งแต่ไตลงมาจนถึงกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ (ส่งผลให้ไตไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้) จากโรคต่าง ๆ เช่น ลิ่มเลือดอุดตันในทางเดินปัสสาวะ โรคต่อมลูกหมากโตที่ทำให้ท่อปัสสาวะแคบลง นิ่วในไต นิ่วในท่อไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ลุกลามเข้าท่อปัสสาวะ (ก้อนมะเร็งเข้าไปขัดขวางทางเดินปัสสาวะจนทำให้ไตไม่สามารถขับปัสสาวะออกมาได้และเกิดภาวะเสื่อมของไตในที่สุด) มะเร็งปากมดลูก ท่อไตถูกผูกโดยความเผอเรอจากการผ่าตัดในช่องท้อง เป็นต้น
- สาเหตุของไตวายเรื้อรัง ส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน (ระดับน้ำตาลในเลือดส่งผลโดยตรงกับไตทำให้ไตเสื่อม) และโรคความดันโลหิตสูง (ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดที่ไหลเวียนเลือดไปที่ไตผิดปกติ หากมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา ก็อาจทำให้ไตเสื่อมได้ในที่สุด) ที่ผู้ป่วยขาดการรักษาอย่างจริงจัง และอาจเกิดจากโรคไตเรื้อรัง เช่น หน่วยไตอักเสบ กรวยไตอักเสบ โรคไตเนโฟติก นิ่วในไต หรือโรคถุงน้ำในไต (Polycystic kidney disease) ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ถุงน้ำค่อย ๆ โตขึ้นจนเบียดเนื้อไตที่ปกติและทำให้ไตทำหน้าที่ผิดปกติจนเกิดภาวะไตวายเรื้อรังในที่สุด
- ส่วนผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันทุกวันนานเป็นแรมปีก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังตามมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาพาราเซตามอล และกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก) ที่ใช้รักษาอาการปวดข้อ
- นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากโรคเกาต์ ภาวะยูริกในเลือดสูง ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง โรคเอดส์ โรคเอสแอลอี พิษจากสารตะกั่วหรือแคดเมียม พิษจากยาบางชนิด (เช่น ยาต้านมะเร็ง ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแก้ปวดลดไข้เฟนาซีติน ยาลิเทียม ยาไซโคลสปอริน เป็นต้น
อาการของโรคไตวาย
- อาการไตวายเฉียบพลัน อาการที่เด่นชัด คือ มีปริมาณปัสสาวะต่อวันออกน้อยกว่า 400-450 มิลลิลิตร หรือไม่มีปัสสาวะออกเลย (ไม่มีอาการปวดปัสสาวะ และสวนปัสสาวะก็ไม่มีปัสสาวะออกมามากกว่านี้) ต่อมาไม่นานผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวดหลังบริเวณชายโครง หายใจถี่ ทั้งนี้บางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย หรือในกรณีที่อาการรุนแรงหรือหากปล่อยไว้ไม่รักษาผู้ป่วยอาจมีอาการซึม ชัก หรือหมดสติเข้าสู่ภาวะโคม่าแบบเฉียบพลันได้
- ผู้ป่วยอาจมีประวัติการใช้ยาหรือมีอาการเจ็บป่วยนำมาก่อน เช่น ไข้ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ งูกัด ต่อต่อย ตกเลือด ภาวะช็อกจากสาเหตุต่าง ๆ เป็นต้น
- อาการไตวายเรื้อรัง อาการจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่มีอาการให้สังเกตได้ชัดเจน และมักพบได้จากการตรวจเลือด (พบระดับยูเรียไนโตรเจนและระดับครีตินีนในเลือดสูง) ในขณะที่มาตรวจเช็กสุขภาพหรือมาพบแพทย์ด้วยโรคอื่น ๆ โดยอาการของไตวายเรื้อรังจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว แต่อาการจะค่อย ๆ แสดงออกมาเป็นระยะ ๆ ซึ่งไตวายเรื้อรังจะแบ่งออกเป็น 5 ระยะตามระดับของค่าประเมินอัตราการกรองของไต (Epidermal growth factor receptor : eGFR) ซึ่งเป็นค่าที่ประมาณว่าในแต่ละนาทีไตสามารถกรองของเสียออกจากเลือดได้เท่าไหร่ โดยในคนทั่วไปจะมีค่านี้อยู่ประมาณ 90-100 มิลลิลิตร/นาที โดยระยะของไตวายนั้นมีดังนี้
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ยังไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัดเจน แต่ทราบได้จากการตรวจทางพยาธิวิทยา เช่น การตรวจเลือด การตรวจค่าประเมินอัตราการกรองของไต (eGFR) ซึ่งในระยะแรกนี้ค่า eGFR จะอยู่ที่ประมาณ 90 มิลลิลิตร/นาที ขึ้นไป แต่อาจพบอาการไตอักเสบหรือภาวะโปรตีนรั่วออกมาปะปนในเลือดหรือในปัสสาวะ
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่อัตราการกรองของไตลดลง แต่ยังไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็นนอกจากการตรวจทางพยาธิวิทยาดังกล่าว ซึ่งค่า eGFR จะเหลือเพียง 60-89 มิลลิลิตร/นาที
- ระยะที่ 3 เป็นระยะที่ยังไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาให้เห็น นอกจากค่า eGFR ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะย่อย คือ ระยะย่อย 3A ซึ่งจะมีค่า eGFR อยู่ที่ 45-59 มิลลิลิตร/นาที และระยะย่อย 3B ซึ่งจะมีค่า eGFR อยู่ที่ 30-44 มิลลิลิตร/นาที
- ระยะที่ 4 อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยจะค่อยแสดงในระยะนี้ นอกจากค่า eGFR จะลดลงเหลือเพียง 15-29 มิลลิลิตร/นาทีแล้ว จะสังเกตว่ามีปัสสาวะออกมากและปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี ปวดศีรษะ ตามัว ท้องเสียบ่อย ชาตามปลายมือปลายเท้า ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ (จากของเสียเป็นสาเหตุทำให้เกิดสารให้สีของผิวหนังเปลี่ยนแปลง) คันตามผิวหนัง (จากของเสียที่คั่งก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง) บางรายอาจมีอาการหอบเหนื่อย สะอึก กล้ามเนื้อเป็นตะคริวบ่อย ใจหวิว ใจสั่น เจ็บหน้าอก มีอาการบวมตามตัว (โดยเฉพาะรอบดวงตา ขา และเท้า) หรือมีเลือดออกตามผิวหนังเป็นจุดแดงจ้ำเขียว หรืออาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด โลหิตจาง หรือรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวตลอดเวลา
- ระยะที่ 5 เป็นระยะสุดท้ายของภาวะไตวาย ค่า eGFR เหลือไม่ถึง 15 มิลลิลิตร/นาที นอกจากผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับระยะที่ 4 แล้ว ยังอาจมีภาวะโลหิตจางที่รุนแรงขึ้น และอาจตรวจพบการเสียสมดุลของแคลเซียม ฟอสเฟต หรือสารอื่น ๆ ที่อยู่ในเลือด นำมาสู่ภาวะกระดูกบางและเปราะหักง่าย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจจะเสียชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไตวาย
- ภาวะแทรกซ้อนของไตวายเฉียบพลัน เนื่องจากไตขับน้ำไม่ได้จะทำให้เกิดการคั่งของน้ำในกระแสเลือด (Hypervolemia) เป็นผลทำให้ความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจวายตามมา
- นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (เนื่องจากไตขับสารนี้ได้น้อยลง), ภาวะเลือดเป็นกรด (เนื่องจากขับกรดที่ได้จากการเผาผลาญโปรตีนได้น้อยลง ทำให้มีอาการหายใจหอบลึก) ซึ่งอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นได้, ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง (เช่น ซึม ชัก หมดสติ) เนื่องจากภาวะยูรีเมีย (Uremia), ภาวะเลือดออกง่ายเนื่องจากเกล็ดเลือดไม่จับตัว (ทำให้เลือดออกง่าย อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด), ภาวะติดเชื้อง่ายและรุนแรงเนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ (อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษตามมาได้), เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) ซึ่งเกิดจากการคั่งของสารยูเรียไนโตรเจน (มากกว่า 100 มก./ดล.) ทำให้มีอาการไข้สูง เจ็บหน้าอก, ไตถูกทำลายภาวรจากการรักษาที่ล่าช้าและอาจกลายเป็นไตวายเรื้อรัง
- ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้นล้วนมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงไม่มากด้วย ได้แก่ ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง, ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (ทำให้เกิดอาการมือจีบเกร็ง เป็นตะคริว), ภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูง, ภาวะยูริกในเลือดสูง, ภาวะซีดเนื่องจากขาดฮอร์โมนอีริโทรพอยเอทิน (Erythropoietin) ซึ่งจะส่งผลทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงได้ไม่ดี
- ภาวะแทรกซ้อนของไตวายเรื้อรัง นอกจากจะพบภาวะแทรกซ้อนแบบเดียวกับไตวายเฉียบพลันแล้ว ยังอาจพบ ปอดอักเสบ, เยื่อหุ้มปอดอักเสบ, ปลายประสาทอักเสบ (ชาตามปลายมือปลายเท้า), โรคกระเพาะ, ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน (Hyperparathyroidsm), ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (เนื่องจากไตขับสารนี้ได้น้อยลง ซึ่งอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นได้), ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (องคชาตไม่แข็งตัว), ต่อมอัณฑะทำงานน้อย, ประจำเดือนผิดปกติหรือประจำเดือนขาด, ภาวะกระดูกพรุน (เมื่อการทำงานของไตลดลงจะทำให้ฮอร์โมนที่ควบคุมปริมาณแคลเซียมในกระดูกลดลงไปด้วย), ภาวะกระดูกอ่อน (Osteomalacia) ทำให้กระดูกแตกหักได้ง่าย เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคไตวาย
แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะไตวายได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน การกินยาต่าง ๆ การใช้ยาสมุนไพร ถิ่นที่อยู่อาศัย อาชีพของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต และอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพไตด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการเจาะเนื้อไตออกพิสูจน์ เพื่อระบุให้แน่ชัดว่าเป็นโรคไตวายหรือไม่ ซึ่งวิธีการตรวจแต่ละวิธีนั้นมีรายละเอียดดังนี้
- การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจเพื่อหาปริมาณของปัสสาวะที่ร่างกายขับออกมาได้ รวมทั้งหาสารไข่ขาว น้ำตาล เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และสารเคมีต่าง ๆ ที่ผิดปกติที่ปนออกมากับปัสสาวะ ขึ้นกับสาเหตุของโรค ซึ่งวิธีนี้จะช่วยบอกได้เบื้องต้นว่าไตยังทำงานได้ดีอยู่หรือไม่
การตรวจเลือด เป็นการตรวจที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการกรองของไต ซึ่งถ้าหากมีภาวะไตวายจะพบระดับยูเรียไนโตรเจน (Blood urea nitrogen : BUN) และระดับครีตินีน (Creatinine : Cr) ในเลือดสูง (ค่ายิ่งสูงมากก็แสดงว่าโรคยิ่งรุนแรง ซึ่งค่าปกติของคนทั่วไประดับยูเรียไนโตรเจนจะอยู่ที่ประมาณ 12-20 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนระดับครีตินีนจะอยู่ที่ประมาณ 0.6-1.2 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้ชาย และประมาณ 0.5-1.1 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้หญิง) รวมทั้งอาจพบการเปลี่ยนแปลงของระดับเกลือแร่ในเลือดผิดจากดุลปกติ (ระดับโพแทสเซียมฟอสเฟตและแมกนีเซียมสูง ระดับแคลเซียมต่ำ ระดับฮีโมโกลบินต่ำ เลือดมีภาวะเป็นกรด) - การตรวจหาค่าประเมินอัตราการกรองของไต (Epidermal growth factor receptor : eGFR) ซึ่งจะเป็นค่าที่แสดงให้เห็นว่าในแต่ละนาทีนั้นไตของเราสามารถกรองเลือดได้เท่าไหร่ โดยวิธีการคำนวณนั้นจะเป็นการนำเอาค่าต่าง ๆ รวมทั้งระดับยูเรียไนโตรเจนและครีตินีน ในเลือดมาคำนวณเพื่อให้ได้ค่าดังกล่าว ซึ่งค่าปกติของคนทั่วไปจะอยู่ที่ 90 มิลลิลิตร/นาทีขึ้นไป
- การตรวจภาพไตด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรืออัลตราซาวนด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจที่แสดงให้เห็นภาพไตของผู้ป่วยซึ่งจะทำให้แพทย์เห็นความผิดปกติของไตและระบบทางเดินปัสสาวะได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น นิ่วในไต ไตทั้งสองข้างฝ่อตัว (โดยเฉพาะในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไตทั้งสองข้างจะมีขนาดน้อยกว่า 10 เซนติเมตร) เป็นต้น ซึ่งโดยปกติแพทย์มักจะใช้ร่วมกับวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การเจาะเนื้อไตออกพิสูจน์ (Renal biopsy) เป็นการผ่าตัดเพื่อนำตัวอย่างชิ้นเนื้อของไตไปตรวจในห้องปฏิบัติการเฉพาะเพื่อดูความผิดปกติ ซึ่งแพทย์อาจจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยบางรายที่ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดจากการตรวจด้วยวิธีอื่นมาก่อน หรือทำเพื่อวินิจฉัยร่วมกับผลตรวจอื่น ๆ และลักษณะทางกายภาพของผู้ป่วย เพื่อวินิจฉัยดูว่าผู้ป่วยมีภาวะไตวายหรือไม่ และถ้ามีอาการไตวาย เป็นไตวายชนิดใด ระยะใด
สิ่งที่ตรวจพบในผู้ป่วยไตวาย
- ไตวายเฉียบพลัน แพทย์อาจตรวจไม่พบอะไร นอกจากอาการของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ความดันต่ำและชีพจรเร็วในผู้ป่วยที่มีภาวะช็อก อาการไข้ในผู้ป่วยมาลาเรียหรือโรคติดเชื้อ อาการดีซ่านในผู้ป่วยโรคตับ เป็นต้น แต่ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจตรวจพบอาการซีด หายใจหอบลึก ความดันโลหิตสูง มือจีบเกร็งหรือเป็นตะคริว หรือใช้เครื่องฟังตรวจปอดแล้วได้ยินเสียงกรอบแกรบ (Crepitation) ส่วนในผู้ป่วยระยะท้าย อาจตรวจพบอาการซึม ชัก หมดสติ
- ไตวายเรื้อรัง เมื่อเป็นโรคในระยะรุนแรงมากแล้วจะตรวจพบอาการซีด ความดันโลหิตสูง ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ จุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง ในผู้ป่วยบางรายอาจตรวจพบอาการเท้าบวม (กดบุ๋ม) ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ หรือใช้เครื่องฟังตรวจปอดแล้วได้ยินเสียงกรอบแกรบ
การรักษาโรคไตวาย
เนื่องจากภาวะไตวายเป็นอาการที่มีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งไตวายแต่ละชนิดจะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน โดยผู้ป่วยไตวายชนิดเฉียบพลันอาจสามารถรักษาให้หายได้ แต่ไตวายชนิดเรื้อรังมักจะต้องรักษาอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไตหรือต้องล้างไตไปตลอดชีวิต โดยจะมีแนวทางรักษาที่แตกต่างกันดังนี้
การรักษาไตวายเฉียบพลัน หากสงสัยว่าเป็นไตวายเฉียบพลัน ควรรีบนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว แล้วแพทย์จะให้การรักษาโดยการ
- การรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของไตวายเฉียบพลัน ไตวายเฉียบพลันเป็นอาการไตวายที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นวิธีการรักษาหลัก ๆ จึงเป็นการรักษาที่ต้นเหตุซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย (ผู้ป่วยจะต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล) เช่น การแก้ไขภาวะช็อก, การรักษาภาวะขาดน้ำเมื่อสาเหตุมาจากภาวะขาดน้ำ, การหยุดให้ยาที่ทำให้ไตวาย, การหลีกเลี่ยงสารพิษที่ทำอันตรายต่อไต, การจำกัดปริมาณของน้ำ โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม และโปรตีน, การฉีดยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์ (Furosemide), การผ่าตัดนิ่วออกเมื่อมีนิ่วไปอุดตัน, การให้ยาโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate) เพื่อแก้ไขภาวะเลือดเป็นกรด, การรักษาโรคภูมิต้านตนเองเมื่อสาเหตุมาจากโรคนี้, การให้เลือดเมื่อสาเหตุมาจากการเสียเลือดอย่างรุนแรง เป็นต้น
- การใช้ยาแก้ไขไตวายเฉียบพลัน เคยมีความพยายามในการนำยาต่าง ๆ หลายชนิดมาใช้ในการรักษาภาวะนี้ (เพื่อทำให้การงานทำงานของไตดีขึ้นหรือช่วยเพิ่มปริมาณของปัสสาวะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของสารกระตุ้นหลอดเลือดและยาขับปัสสาวะ) แม้จะมีสารหรือยาเป็นจำนวนมากที่เป็นที่ยอมรับว่าให้ผลดีกับภาวะไตวายเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง แต่ก็ได้ผลเมื่อใช้ในการป้องกันเป็นส่วนใหญ่ และมียาบางอย่างเท่านั้นที่ให้ผลในการรักษาเมื่อเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันแล้ว แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งกว่าว่าแม้ยาจะได้ผลดีในสัตว์ทดลอง แต่เมื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยจริง ๆ แล้วผลการรักษากลับไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ดังนั้นการใช้ยารักษาภาวะนี้จึงยังไม่มีการรักษาใดที่ได้ผลแน่นอน
- การรักษาประคับประคองตามอาการและรักษาโรคแทรกซ้อน หากไตไม่ฟื้นตัวหลังจากการรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุและลองใช้ยาตามข้อ 2 แล้ว การรักษาต่อไปจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ การให้ยาบรรเทาอาการคัน การทำกายภาพบำบัดในกรณีที่เป็นตะคริวบ่อยหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
- การล้างไต (Dialysis) เมื่อการทำงานของไตลดลงจนไตไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากเลือดได้ แพทย์จะใช้วิธีการล้างไตเพื่อกำจัดของเสียที่อยู่ภายในเลือดแทน ซึ่งวิธีการรักษานี้จะช่วยไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิต (ในช่วงการรักษาผู้ป่วยอาจต้องล้างไตไปจนกว่าการทำงานของไตจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และอาจแพทย์ทำงานร่วมกับนักโภชนาการเพื่อปรับเปลี่ยนอาหารที่จะไม่ทำให้ไตทำงานหนักจนเกินไป) และถ้าหากล้างไตได้ผล ระดับของเสียในร่างกายที่สะสมอยู่จะเริ่มลดลงอยู่ในภาวะที่เป็นปกติ วิธีการรักษานี้จึงเป็นการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันที่รักษาด้วยวิธีประคับคองแล้วไม่ได้ผล ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ควรได้รับการรักษาด้วยการล้างไตทุกราย ยกเว้นในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันที่พบร่วมกับโรคมะเร็งหรือโรคเรื้อรังระยะสุดท้าย และในผู้ป่วยซึ่งมีข้อห้ามในการฟอกเลือด
- ผลการรักษาไตวายเฉียบพลันจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ ถ้าเกิดจากการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ พิษจากยาบางชนิด โรคติดเชื้อ ภาวะช็อกจากปริมาตรของเลือดลดลง หากรักษาได้อย่างตรงจุดก็อาจรักษาให้หายขาดและกลับสู่ภาวะปกติได้ในระยะเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ภาวะไตวายเฉียบพลันก็มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ผู้ป่วยจึงมีโอกาสเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ค่อนข้างสูง และในผู้ป่วยบางรายที่ไตเสียหายร้ายแรง อาการไตวายอาจเปลี่ยนจากไตวายเฉียบพลันเป็นไตวายเรื้อรังได้ ซึ่งในกรณีนี้ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยถึงระยะของไตวายและวางแผนในการรักษาใหม่อีกครั้ง
การรักษาไตวายเรื้อรัง หากสงสัยว่าเป็นไตวายเรื้อรัง ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรืออัลตราซาวนด์ หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ และบางรายอาจต้องทำการเจาะเก็บเนื้อเยื่อจากไตเพื่อส่งตรวจด้วย โดยการรักษาอาการไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไต แต่ในระหว่างการรอปลูกถ่ายไตจะต้องมีการรักษาเพื่อประคับประคองอาการไปก่อนด้วยการใช้ยาเพื่อรักษาหรือควบคุมไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะทำให้ไตยิ่งทำงานแย่ลง (เช่น การใช้ยาเพื่อรักษาสมดุลกรดด่างในร่างกาย) ร่วมไปกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงของผู้ป่วยเบาหวาน หรือควบคุมระดับความดันโลหิตสูง และปริมาณไขมันในเลือด เป็นต้น โดยการรักษานั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ ๆ ตามระยะของโรคด้วย คือ ไตวายระยะที่ 1-3 (เป็นระยะที่ยังไม่ต้องทำการรักษา แต่จำเป็นต้องมาพบแพทย์เพื่อตรวจดูค่าประเมินอัตราการกรองของไต ซึ่งแพทย์อาจนัดมาตรวจทุก 3 เดือน หรืออาจนัดมาตรวจถี่ขึ้นเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดถ้าค่าประเมินอัตราการกรองของไตลดลงมากขึ้น) และไตวายระยะที่ 4-5 (เป็นระยะที่ไตทำงานลดลงอย่างมาก ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาหลาย ๆ วิธีร่วมกันเพื่อประคับประคองอาการให้อยู่ในระดับคงที่เพื่อรอการปลูกถ่ายไต รวมทั้งการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ร่วมด้วย) สำหรับวิธีการรักษาต่าง ๆ นั้นจะแบ่งออกเป็น
- การรักษาที่สาเหตุ ถ้าผู้ป่วยมีสาเหตุชัดเจน แพทย์จะให้การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ให้ยาควบคุมโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ผ่าตัดนิ่วในไต เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องรักษาภาวะผิดปกติต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากภาวะไตวายด้วย เช่น
- ถ้ามีความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย แพทย์จะให้ยารักษาภาวะเหล่านี้
- ถ้ามีระดับฟอสเฟตในเลือดสูงหรือภาวะเป็นกรด แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
- ถ้ามีอาการบวม แพทย์จะให้ยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์ (Furosemide)
- ถ้ามีภาวะซีด อาจจำเป็นต้องให้เลือด และในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจสั่งให้ฉีดฮอร์โมนอีริโทรพอยเอทิน (Erythropoietin) เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (แต่ยานี้มีราคาแพง และอาจทำให้ความดันโลหิตสูงได้)
- ให้จำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม โดยจะคำนวณจากปริมาณปัสสาวะต่อวันบวกกับน้ำที่เสียไปทางอื่น (ประมาณวันละ 800 มิลลิลิตร) เช่น ถ้าผู้ป่วยมีปัสสาวะวันละ 700 มิลลิลิตร น้ำที่ควรได้รับจะเท่ากับ 700 + 800 รวมเป็น 1,500 มิลลิลิตร เป็นต้น
- ให้จำกัดปริมาณโซเดียมที่กิน ถ้าผู้ป่วยมอาการบวมหรือมีปัสสาวะน้อยกว่าวันละ 800 มิลลิลิตร แพทย์จะให้งดอาหารเค็ม งดการใช้เครื่องปรุงต่าง ๆ (เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสทุกชนิด) ผงชูรส สารกันบูด น้ำพริก กะปิ ปลาร้า ของดอง หนำเลี๊ยบ อาหารที่ใส่ผงฟู (เช่น ขนมปังสาลี) อาหารกระป๋อง
- ให้จำกัดปริมาณโพแทสเซียมที่กิน ถ้าผู้ป่วยมีปัสสาวะน้อยกว่าวันละ 800 มิลลิลิตร แพทย์จะให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือโพแทสเซียมสูง เช่น ผลไม้แห้ง ส้ม มะขาม มะเขือเทศ มะละกอ น้ำมะพร้าว สะตอ ถั่ว มันทอด หอย เครื่องในสัตว์ เป็นต้น ส่วนยาที่ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง เช่น อะมิโลไรด์ (Amiloride), ไตรแอมเทรีน (Triamterene), สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone), ยาต้านเอซ (ACE Inhibitors) เป็นต้น แพทย์ก็จะให้หลีกเลี่ยงการใช้ด้วยเช่นกัน
- ให้จำกัดปริมาณแมกนีเซียมที่กิน ด้วยการงดยาลดกรดที่มีเกลือแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
- ให้จำกัดปริมาณโปรตีนที่กินไม่เกินวันละ 40 กรัม (เนื้อสัตว์ 1 ขีด, นมสด 1 ถ้วย, ไข่ไก่ 1 ฟอง จะมีโปรตีนประมาณ 23 กรัม, 8 กรัม และ 6-8 กรัม ตามลำดับ) และกินข้าว ผักผลไม้ และเมล็ดธัญพืชให้มากขึ้น
- การล้างไต (Dialysis) สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อระยะท้าย (มักมีระดับยูเรียไนโตรเจนและระดับครีอะตินีนในเลือดสูงเกิน 100 และ 10 มก./ดล. ตามลำดับ) การรักษาด้วยยาจะไม่ได้ผล ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยฟอกล้างของเสียหรือล้างไต ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี โดยแต่ละวิธีจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี (สามารถออกกำลังกาย ทำงาน และมีเพศสัมพันธ์ได้เหมือนคนปกติ) และมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ซึ่งบางรายอาจอยู่ได้นานเกิน 10 ปีขึ้นไป แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างแพงอยู่ ทั้งนี้การจะเลือกล้างไตด้วยวิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก เพราะการล้างไตจะมีผลข้างเคียงหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตต่ำ เวียนศีรษะ หน้ามืด อาเจียน อีกทั้งการล้างไตบางวิธีอาจไม่เหมาะกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยอีกด้วย ดังนั้น จึงต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและตัดสินใจว่าการล้างไตแบบใดจะเหมาะกับผู้ป่วยมากที่สุด) คือ
- การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (Peritoneal dialysis) คือ การล้างไตโดยใช้วิธีการเจาะผนังหน้าท้อง เป็นวิธีการขจัดของเสียทางช่องท้องที่ถูกนำมาใช้เมื่อไตเสียถาวรแล้วต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดไป ซึ่งวิธีนี้จะอาศัยเนื้อเยื่อที่บริเวณช่องท้องในการช่วยกรองของเสียออกจากเลือดแทนไตร่วมกับการใช้น้ำยาล้างไต (การใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องจะใส่ทางสายพลาสติกที่แพทย์ได้ทำการผ่าตัดฝังไว้ในช่อง) จากนั้นระบบไหลเวียนของเลือดจะทำให้ของเสียและน้ำส่วนเกินออกมาอยู่ในถุงที่อยู่บริเวณหน้าท้อง ซึ่งการล้างไตทางช่องท้องนี้จะแบ่งย่อยออกเป็น 3 วิธี คือ
- การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องชนิดซีเอพีดี (Continuous ambulatory peritoneal dialysis : CAPD) เป็นวิธีการการล้างไตทางช่องท้องที่นิยมมากที่สุด วิธีนี้แพทย์สามารถฝึกให้ผู้ป่วยทำเองได้ที่บ้าน จึงนับว่าสะดวก อีกทั้งในขณะที่ล้างไตผู้ป่วยก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยผู้ป่วยหรือญาติจะต้องเป็นผู้ทำการปล่อยน้ำยาล้างไตเข้าแช่ไว้ในช่องท้องประมาณ 4-6 ชั่วโมง แล้วจึงปล่อยน้ำยาออกจากช่องท้อง แล้วทำซ้ำ ๆ กัน (เปลี่ยนถุงน้ำยา) ประมาณวันละ 3-4 ครั้ง ทุก ๆ วันตลอดไป ส่วนน้ำยาถุงสุดท้ายก่อนนอนมักจะแช่ไว้ตลอดคืน จึงไม่รบกวนการนอนของผู้ป่วย แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาเปลี่ยนสายน้ำยาที่ใช่ฟอกล้างของเสียทุก 1 เดือน ผู้ป่วยสามารถทำงานและปฏิบัติภารกิจได้เหมือนคนปกติ
- การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องชนิดซีซีพีดี (Continuous cycle-assisted peritoneal dialysis : CCPD) เป็นการล้างไตทางช่องท้อง โดยใช้เครื่องอัตโนมัติในการปล่อยน้ำยาเข้าออกช่องท้องในขณะที่ผู้ป่วยนอนหลับ โดยทำคืนละประมาณ 3-5 ครั้ง และจะทำในช่วงเวลากลางวันอีก 1 ครั้ง คือ จะแช่น้ำยาล้างไตไว้ตลอดกลางวัน หรืออาจจะทำเพิ่มเป็น 2 ครั้งในช่วงเวลากลางวัน ถ้าต้องการเพิ่มการขจัดของเสียและลดภาวะน้ำเกินจากร่างกาย
- การล้างไตผ่านทางช่องท้องแบบผสมซีอีพีดีกับซีซีพีดี (CAPD และ CCPD) เป็นการล้างไตทางช่องท้องทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน มักทำให้กรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมากหรือมีผนังหน้าท้องที่มีประสิทธิภาพการกรองของเสียต่ำ
- การล้างไตโดยการฟอกเลือด (Hemodialysis) หรือที่นิยมเรียกว่า “การล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม” หรือ “การทำไตเทียม” ซึ่งในขั้นแรกแพทย์จะทำการผ่าตัดสร้างเส้นเลือดเชื่อมต่อระหว่างเครื่องกับหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงเพื่อให้เลือดหมุนเวียนเข้าไปในเครื่องและถูกฟอกให้สะอาดก่อนที่จะหมุนเวียนกลับเข้าสู่ร่างกาย (หลักการคือให้ของเสียจากเลือดซึมผ่านตัวกรองมายังน้ำยาที่เรียกว่า “ไดอะไลซิส” โดยตัวกรองจะมีลักษณะเป็นท่อนกลมคล้ายกระบอกไม้ไผ่ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ซึ่งในตัวกรองที่เล็กแค่นี้จะประกอบไปด้วยหลอดเล็ก ๆ นับหมื่นหลอดอยู่ข้างในที่จะเป็นทางเดินของเลือดผู้ป่วย และหลอดทั้งหมดจะจุ่มในน้ำยาไดอะไลซิส ซึ่งจะวิ่งผ่านหลอดเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา) โดยที่ผู้ป่วยจะต้องมาทำที่โรงพยาบาลประมาณสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 3-4 ชั่วโมง
- การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (Peritoneal dialysis) คือ การล้างไตโดยใช้วิธีการเจาะผนังหน้าท้อง เป็นวิธีการขจัดของเสียทางช่องท้องที่ถูกนำมาใช้เมื่อไตเสียถาวรแล้วต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดไป ซึ่งวิธีนี้จะอาศัยเนื้อเยื่อที่บริเวณช่องท้องในการช่วยกรองของเสียออกจากเลือดแทนไตร่วมกับการใช้น้ำยาล้างไต (การใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องจะใส่ทางสายพลาสติกที่แพทย์ได้ทำการผ่าตัดฝังไว้ในช่อง) จากนั้นระบบไหลเวียนของเลือดจะทำให้ของเสียและน้ำส่วนเกินออกมาอยู่ในถุงที่อยู่บริเวณหน้าท้อง ซึ่งการล้างไตทางช่องท้องนี้จะแบ่งย่อยออกเป็น 3 วิธี คือ
- การปลูกถ่ายไต (Kidney transplantation หรือ Renal transplantation) ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้ายบางราย แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งวิธีนี้นับว่าเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน (แต่การรักษาวิธีนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่และมีมากกว่าวิธีอื่น ๆ) เพราะถ้าการปลูกถ่ายไตได้ผลดีก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติและมีอายุได้ยืนยาวขึ้นนานเกิน 10-20 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายไตก็เป็นวิธีการรักษาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนหลายประการ มีราคาแพง และจะต้องหาไตจากญาติสายตรงหรือผู้บริจาคที่มีไตเข้ากับเนื้อเยื่อของผู้ป่วยได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งปริมาณของไตที่ได้รับการบริจาคก็ยังมีน้อยกว่าผู้ที่รอรับการบริจาค ผู้ป่วยจึงอาจต้องทำการล้างไตต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหาไตที่เข้ากันได้ (แม้จะได้รับการล้างไตแล้ว แต่อาการของไตวายเรื้อรังจะยังไม่หายไป ซึ่งผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเท่านั้น) นอกจากนั้น ภายหลังการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยจะต้องกินยากดภูมิคุ้มกันทุกวันไปตลอดเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านไตใหม่
- ความหมายของการปลูกถ่ายไต คือ การนำไตของผู้อื่นที่เข้าได้กับผู้ป่วยมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย (ไม่ใช่เอาไตผู้ป่วยออกแล้วเอาไตผู้อื่นมาใส่แทน) การผ่าตัดจะทำโดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วย แล้วต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วย และต่อท่อไตใหม่เข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย การปลูกถ่ายไตนี้จะใช้ไตเพียงข้างเดียวก็พอ ถ้าร่างกายรับไตใหม่ได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไตที่ได้รับใหม่จะทำงานได้ดี แต่ผู้ป่วยจะต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตและจtต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดไป เพราะหากขาดยาร่างกายจะต่อต้านไตใหม่และทำให้ไตเสียหรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ (ในภาวะปกติร่างกายของคนเราจะมีกลไกสร้างภูมิคุ้มต้านทานสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่รุกล้ำเข้ามาในร่างกาย ฉะนั้นเมื่อนำอวัยวะของคนหนึ่งมาให้อีกคนหนึ่งจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะเนื้อเยื่อแตกต่างกัน และร่างกายจะพยายามขจัดอวัยวะที่ไม่ใช่ของตนออกไป แต่ในปัจจุบันแพทย์สามารถนำอวัยวะของผู้อื่นที่มีเนื้อเยื่อใกล้เคียงกันมาให้กันได้ โดยใช้ยากดภูมิคุ้มกัน)
- ผู้ป่วยจะได้รับยากดภูมิคุ้มทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด โดยยาที่ใช้คือ เพรดนิโซโลน (Prednisolone) และไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ในบางกรณีอาจให้ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) ด้วย และถ้าร่างกายไม่ยอมรับไตใหม่อาจต้องให้ยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่นซึ่งมีราคาแพงร่วมด้วย ถ้าร่างกายรับไตได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยอาจออกจากโรงพยาบาลได้หลังผ่าตัดประมาณ 7 วัน แต่ถ้าร่างกายไม่รับไตหรือไตใหม่ไม่ทำงาน ผู้ป่วยจะต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานานเพื่อรับการรักษาด้วยการฟอกเลือด การตรวจต่าง ๆ รวมทั้งการตรวจเนื้อไต และอาจต้องเพิ่มขนาดหรือชนิดของยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอาจถึงหนึ่งแสนบาทหรือมากกว่า
- ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ ร่างกายไม่รับไตใหม่, โรคของไตเดิมที่อาจกับไตใหม่ได้, ผลข้างเคียงจากยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น พิษต่อตับ ไต ระบบประสาท ตา), เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย (ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันจะทำให้เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย)
- ผู้ป่วยที่มีคุณสมบัติจะได้รับการปลูกถ่ายไต ในการปลูกถ่ายไตแพทย์จะพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่าผู้ป่วยเหมาะสมที่จะรับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่ รวมทั้งต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้ผู้ป่วยด้วย มิฉะนั้นผลการรักษาจะไม่ดีและในบางครั้งอาจเสียชีวิตได้
- มีอายุไม่เกิน 55 ปี เพราะถ้ามีอายุมาก การผ่าตัดจะไม่ค่อยได้ผลดีเนื่องจากหลอดเลือดแข็ง
- มีความมุ่งมั่นในการรักษาสุขภาพให้ดี มีจิตใจหนักแน่นมั่นคง และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกินยาอย่างเคร่งครัด (เพราะหลังผ่าตัดอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง ผู้ป่วยจึงต้องพร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจากประสบการณ์ในการรักษาที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยที่มีกำลังใจดีและรักษาใจของตนได้ดี ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใดผลการรักษามักจะดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี แม้ว่าโรคที่เป็นอยู่จะรุนแรงหรือแม้จะทุพพลภาพก็ตาม)
- ไม่มีโรคของอวัยวะที่สำคัญอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดและการใช้ยาสลบได้
- ไม่เป็นโรคติดเชื้อ เพราะหลังจากการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยจะต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคติดเชื้อลุกลามรุนแรงได้
- สำหรับในผู้ป่วยเบาหวานนั้นจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษทั้งก่อนการผ่าตัด ขณะการผ่าตัด และหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายไตทุกระยะ
- หลังการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยจะต้องมารับการตรวจรักษาตามที่แพทย์นัดอย่างเคร่งครัด ต้องมาตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะทุก 2-4 สัปดาห์ (เพื่อติดตามการทำงานของไต ภาวะแทรกซ้อน ระดับยา และพิษจากยา) รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ (ทั้งยากดภูมิคุ้มกันและยาสำหรับโรคอื่น ๆ ที่อาจมีร่วมด้วย เพื่อไม่ให้ไตใหม่ถูกทำลาย) และถ้ามีอาการผิดปกติหรือมีไข้จะต้องรีบไปพบแพทย์ผู้ให้การรักษาในทันที
- ความหมายของการปลูกถ่ายไต คือ การนำไตของผู้อื่นที่เข้าได้กับผู้ป่วยมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย (ไม่ใช่เอาไตผู้ป่วยออกแล้วเอาไตผู้อื่นมาใส่แทน) การผ่าตัดจะทำโดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วย แล้วต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วย และต่อท่อไตใหม่เข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย การปลูกถ่ายไตนี้จะใช้ไตเพียงข้างเดียวก็พอ ถ้าร่างกายรับไตใหม่ได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไตที่ได้รับใหม่จะทำงานได้ดี แต่ผู้ป่วยจะต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตและจtต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดไป เพราะหากขาดยาร่างกายจะต่อต้านไตใหม่และทำให้ไตเสียหรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ (ในภาวะปกติร่างกายของคนเราจะมีกลไกสร้างภูมิคุ้มต้านทานสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่รุกล้ำเข้ามาในร่างกาย ฉะนั้นเมื่อนำอวัยวะของคนหนึ่งมาให้อีกคนหนึ่งจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะเนื้อเยื่อแตกต่างกัน และร่างกายจะพยายามขจัดอวัยวะที่ไม่ใช่ของตนออกไป แต่ในปัจจุบันแพทย์สามารถนำอวัยวะของผู้อื่นที่มีเนื้อเยื่อใกล้เคียงกันมาให้กันได้ โดยใช้ยากดภูมิคุ้มกัน)
เนื่องจากการปลูกถ่ายไตเป็นวิธีการรักษาภาวะไตวายเรื้อรังระยะท้ายที่ดีที่สุดในปัจจุบัน เราจึงควรช่วยกันรณรงค์ให้คนทั่วไปหันมาบริจาคไตกันให้มากขึ้น เพื่อจะได้มีไตบริจาคช่วยเหลือให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นคนปกติ
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไตวาย
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้ออาการ ควรรีบไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาล เพราะในช่วงที่มีอาการไตวาย การรักษาจะเป็นการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจึงต้องอยู่ในการดูแลรักษาจาแพทย์และพยาบาล และเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและถูกต้อง ซึ่งโดยทั่วไป คือ
- รักษาหรือควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุหรือเป็นปัจจัยเสี่ยง
- กินยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง และไม่ขาดยา (การใช้ยาเองอย่างผิด ๆ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงไม่ควรปรับขนาดยาเอง หรือซื้อยาใด ๆ มากินเอง เพราะมียาหลายชนิดที่เป็นพิษต่อไต หรือการใช้ยาบางชนิดอาจต้องปรับลดขนาดลงจากที่ใช้ในคนปกติ รวมทั้งไม่ควรกินยาหม้อหรือยาต้มที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เพราะยาเหล่านั้นอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง)
- จำกัดน้ำดื่มและควบคุมประเภทอาหารตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยชะลอการเสื่อมของไต โดยเฉพาะอาหารเค็ม (เกลือโซเดียม/เกลือแกง) และเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง (เนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุของการเกิดโรคดังกล่าว เช่น การระวังการกินยา สมุนไพร อาหาร หรือเห็ดแปลก ๆ
- หมั่นเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี โดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ เพราะผู้ป่วยโรคไตวายมักติดเชื้อได้ง่ายและเมื่อติดเชื้อแล้วมักจะเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง
- ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิมหรือเมื่ออาการต่าง ๆ เลวลง
- ผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตผ่านทางหน้าท้อง (Peritoneal dialysis) ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หรืออาหารที่มีฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
- อาจต้องจำกัดการบริโภคอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหรือดื่มน้ำให้อยู่ในปริมารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ทั้งนี้ปริมาณของน้ำและอาหารนั้นจะมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ทึกครั้ง
- ควรคำนึงถึงน้ำหนักที่จะยกว่าหนักเกินไปหรือไม่ ให้เลือกยกของที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด ส่วนเวลาจะยกของให้กางขาออกเก้าเท้าไปข้างหน้าหนึ่งเท้า ให้ย่อเข่าแทนการก้ม อย่ายกของและบิดเอว และอย่ายกของจากชั้นที่สูง
- ผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตโดยการฟอกเลือด (Hemodialysis) ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ก่อนการฟอกเลือด ผู้ป่วยควรแต่งกายให้เรียบร้อย รักษาความสะอาดของร่างกายให้ดี ตัดเล็บมือและเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ และควรงดการกินยาลดความดันโลหิตก่อนฟอกเลือดประมาณ 4-6 ชั่วโมง ถ้ามีการเสียเลือดมาก เช่น อาเจียนเป็นเลือด มีประจำเดือน อุจจาระดำ ให้แจ้งแพทย์ก่อนฟอกเลือดทุกครั้ง
- ในขณะที่ทำการฟอกเลือด แขนข้างที่กำลังฟอกเลือดให้อยู่นิ่ง ๆ เตรียมอาหารมารับประทานขณะฟอกเลือด ถ้ามีอาการใจสั่น เวียนศีรษะ ควรแจ้งพยาบาลผู้ดูแลให้ทราบในทันที
- หลังการฟอกเลือด ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ จำกัดอาหารและน้ำดื่มตามที่แพทย์แนะนำ เน้นอาหารประเภทโปรตีนจากเนื้อปลาแทนจากถั่วและผัก เลือกอาหารที่มีโพแทสเซียมไม่สูงและไม่ต่ำไปเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อหัวใจ งดอาหารเค็มและอาหารที่มีฟอสเฟตสูง รวมทั้งให้ระวังการถูกกระแทกแรง ๆ เพราะจะทำให้เกิดช้ำได้
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ควรติดต่อกับแพทย์อย่าได้ขาด ควรกินยา ควบคุมอาหาร และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีอายุยืนยาว
การป้องกันโรคไตวาย
ไตวายเป็นภาวะที่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่อร่างกายและอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถ้าเป็นเรื้อรังก็มักจะมีความยุ่งยากและสิ้นเปลืองในการรักษา แต่เราสามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดภาวะนี้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลเสียต่อไตในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งที่สำคัญ คือ
- ควรตรวจเช็กสุขภาพดูว่าเป็นโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ โดยเฉพาะกับโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ฯลฯ ถ้าเป็นจะต้องรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องจนสามารถควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต และกรดยูกริกในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อจะได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นไตวายแทรกซ้อน
- เมื่อเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ (เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต) จะต้องทำการรักษาให้หายขาด
- เมื่อป่วยเป็นโรคติดเชื้อ งูพิษกัด หรือท้องเสีย จะต้องรีบรักษาให้หาย อย่าปล่อยไว้จนเกิดภาวะช็อก เพราะอาจมีผลทำให้ไตวายตามมาได้
- พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อไต (เช่น ยาแก้ปวดหรือยาแก้ปวดข้อที่ไม่ควรกินติดต่อกันเป็นเวลานาน) ไม่กินยาอย่างพร่ำเพรื่อ ถ้าจะซื้อยามากินเองควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ และระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีเลือดไปเลี้ยงไตไม่ดี เช่น ในผู้ป่วยโรคตับแข็ง โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดแดงไตตีบ ภาวะช็อกจากปริมาตรของเลือดลดลง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเหมาะสม ลดหรือหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม (ไม่ควรรับประทานเกลือเกินวันละ 6 กรัม) ไม่กินอาหารมากเกินไป (เพราะอาจทำให้เกิดสิ่งผิดปกติในร่างกายจากการขับถ่ายได้) ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที) นอกจากนั้นคือการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี โดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ วันหนึ่งควรดื่มให้ได้ประมาณ 7-8 แก้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับของสารก่อนิ่วในปัสสาวะสูงเกินไป อย่ากลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ระวังอย่าให้ท้องผูก และพยายามดูแลทำความสะอาดหลังการปัสสาวะ/อุจจาระทุกครั้ง
- ระมัดระวังในการใช้สมุนไพรหรือการกินเห็ดที่ไม่รู้จัก
- ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่อาจก่อให้เกิดการเสียเลือดรุนแรง
- ตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ เพื่อคัดกรองการทำงานของไตโดยการตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี และเมื่อพบความผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
- เมื่อตรวจพบโรคไตตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ให้ทำการรักษาก่อนที่จะเกิดภาวะไตวาย (ไม่จำเป็นต้องหายาบำรุงไตมารับประทาน ถ้ามีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ภาวะไตวาย (Renal failure)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 845-849.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 387 คอลัมน์ : สารานุกรมทันโรค. “ไตวายเรื้อรัง”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [26 มิ.ย. 2017].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 85 คอลัมน์ : คุยกันทางวิทยุ. “ภาวะไตวาย”. (นพ.วิชนารถ เพรชบุตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [27 มิ.ย. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [28 มิ.ย. 2017].
- พบแพทย์. “ไตวาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com. [29 มิ.ย. 2017].
- นิสิตทันตแพทยศาสตร์ ปี1. “ไตวาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : g7dent54.blogspot.com. [30 มิ.ย. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)