ไดโคลฟีแนค
ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า บูฟีแนค (Bufenac), ไดฟีลีน (Difelene), โดซาแนค (Dosanac) หรือโวลทาเรน อีมัลเจล (Voltaren emulgel) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวดจำพวกเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และเป็นยาที่ใช้บ่อยตัวหนึ่งในบ้านเรา โดยมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ปวดศีรษะไมเกรน อาการปวดข้ออักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้อเสื่อมชนิดรุนแรง ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น[1]
หมายเหตุ : ยานี้ไม่ได้ใช้รักษาข้ออักเสบ เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นเท่านั้น[8]
ตัวอย่างยาไดโคลฟีแนค
ยาไดโคลฟีแนค (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น แอมมิโวทารา (Ammi–Votara), แอมมิแนค (Amminac), แอนทีแนค (Antenac), อาร์คลอแนค (Arclonac), บูฟีแนค (Bufenac), คาทาแฟลม (Cataflam), คาทาแนค (Catanac), เซนซีแนค (Cencenac), ชินโคลนา-50 (Chinclona-50), ชินโคลแนค (Chinclonac-25), โคลเฟคเจล (Clofec gel), โคโวแนค (Covonac), ดีแฟลม (D–Flam), ดีแมค (Demac), ดีแมคเจล (Demac gel), ไดโคล เอสอาร์ 100 (Diclo SR 100), ไดโคลฟีแนค ที.โอ. (Diclofenac T.O.), ไดโคลเฟล็กซ์ (Dicloflex), ไดโคลเจล (Diclogel), ไดโคลเจสิค (Diclogesic), ไดโคลเซียน (Diclosian), ไดฟาเรน (Difaren), ไดฟีลีน (Difelene), ไดฟีลีนเจล (Difelene gel), ไดฟีแนค (Difenac), ไดฟีโน (Difeno), ไดเฟนสิก (Difensic), ไดแนค (Dinac), โดโลนิว เอสอาร์ 100 (Dolonil SR 100), โดซาแนค (Dosanac), โดซาแนคเจล (Dosanac gel), ฟีแนค (Fenac), ฟีนาเคน (Fenacaine), ฟีนาซิล (Fenacil), เฟลคซีเจล (Flexy gel), อินเฟลมมา-50 (Inflamma-50), อินฟลาแนค (Inflanac), ไคลเซน (Klyzen), เลสแฟลม (Lesflam), แมนฟีแนค (Manfenac), มาซาเรน (Masaren), ไมฟีแนค (Myfenax), ไมโอแนค (Myonac), ไมโอแนคเจล (Myonac gel), เอ็น-เซน เจล (N-ZEN gel), เอ็น-เซน แทบ (N-ZEN tab), ออสทาเรน (Ostaren), ออสทาเรนครีม (Ostaren cream), ออสทาเรนชนิดฉีด (Ostaren Injection), ไพ-นอเรน (Pai–Noren), ไพนีลีฟ (Painelief), รีมีแธน (Remethan), รีมีแธนเจล (Remethan gel), รูมานอล ครีมาเจล (Rhumanol creamagel), เซฟแนค (Sefnac), เซฟแนคเจล (Sefnac gel), ทาร์เจน (Tarjen), ทาร์จีนา (Tarjena), ยูนิเรน (Uniren), วี-เธอร์เลน พาตาร์ (V-Therlen Patar), วาซาเลน (Vasalen), วีแนค (Veenac), เวนทาโรน (Ventarone), เวสโคแนค (Vesconac), เวสโคแนคชนิดฉีด (Vesconac Injection), โวลเฟน (Volfen), โวลแนค (Volnac), โวลทาแนค (Voltanac), โวลทาเรน (Voltaren), โวลทาเรน อีมัลเจล (Voltaren emulgel), โวลทาเรน ออฟธา (Voltaren ophtha), โวเรน (Voren), โวทาเมด (Votamed) ฯลฯ
รูปแบบยาไดโคลฟีแนค
- ยาเม็ด ขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม
- ยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน ขนาด 75, 100 และ 150 มิลลิกรัม
- ยาน้ำเชื่อม ขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)
- ยาฉีด ขนาด 75 มิลลิกรัม/หลอด (3 มิลลิลิตร)
- ยาเหน็บทวารหนัก ขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม
- ยาเจลสำหรับทา
หมายเหตุ : ไดโคลฟีแนคในรูปแบบของยาเม็ดจะมีอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบ คือ ยาเม็ด (Tablet), ยาเม็ดเคลือบ (Coated tablet), ยาเม็ดเคลือบชนิดละลายในลำไส้ (Enteric-coated tablet) และยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน (Extended-release tablet)
สรรพคุณของไดโคลฟีแนค
- ใช้เป็นยาแก้ปวดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง[1],[6]
- ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน (Migraine), ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea), ปวดฟัน, อาการปวดและอักเสบในโรคกระดูก, อาการปวดนิ่วในท่อไต, อาการปวดนิ่วในไตและนิ่วในถุงน้ำดี, อาการปวดหลังการผ่าตัดและคลอดบุตร, อาการปวดเฉียบพลันด้วยสาเหตุถูกกระแทก, อาการกดเจ็บ, อาการปวดและอักเสบจากการได้รับบาดเจ็บ[1],[3],[5],[6],[7]
- ใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบจากภาวะข้ออักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis), โรคข้อเสื่อมชนิดรุนแรง (Osteoarthritis), โรคข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง (Ankylosing spondylitis), การอักเสบของถุงเล็ก ๆ ที่บรรจุน้ำไขข้อ (Bursitis), โรคเกาต์ระยะเฉียบพลัน (Gout)[1],[8]
- ใช้เป็นยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เช่น เส้นเอ็นอักเสบ (Tendinitis), ข้อเคล็ดข้อแพลง (Sprain) เป็นต้น[8]
- ในปัจจุบันยานี้ได้ถูกพัฒนาเป็นยาทาในรูปแบบเจล (Gel) ซึ่งมีไว้สำหรับใช้ทาเพื่อบรรเทาอาการปวด บวม อักเสบจากข้อเสื่อม และจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อ เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อหลังจากการเล่นกีฬาหรือจากการทำงานหนัก[3],[7]
- นอกจากนี้ยาไดโคลฟีแนคยังใช้เป็นยาลดไข้ได้ด้วย[3]
- ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร[4]
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดโคลฟีแนค
ยาไดโคลฟีแนคมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ในร่างกาย ซึ่งเป็นตัวชักนำให้เกิดการอักเสบ โดยจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ไซโคลออกซีจีเนส (Cyclooxygenase) ทั้งชนิด 1 (Cox-1) และชนิด 2 (Cox-2) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสังเคราะห์สารโพรสตาแกลนดิน ยานี้จึงมีสรรพคุณในการต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อต่าง ๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอักเสบของข้อต่อกระดูก เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจ) ช่วยแก้อาการปวด ลดไข้ ป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน แต่ในขณะเดียวกันตัวยาก็ไปยับยั้งกลไกการสร้างเมือกปกคลุมเยื่อบุผิวในกระเพาะอาหาร จึงทำให้เยื่อบุผิวกระเพาะอาหารเกิดการระคายเคืองจากน้ำย่อยกลายเป็นโรคแผลเพ็ปติก (แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น) และกระเพาะอาหารอักเสบได้ง่าย[1]
ก่อนใช้ยาไดโคลฟีแนค
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไดโคลฟีแนค สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ยาแอสไพริน (Aspirin) ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งการแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร สารกันเสีย หรือสี และอาการจากการแพ้ยาหรือสารดังกล่าว เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น[2],[3]
- โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาไดโคลฟีแนคอาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (ในบางกรณีจะไม่สามารถใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาร่วมกันได้เลย แต่บางกรณีก็อาจจำเป็นต้องใช้ยา 2 ชนิดนั้นร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาเกิดขึ้นได้ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ให้มากขึ้น)[2],[3],[8] เช่น
- การรับประทานยาไดโคลฟีแนคร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น แอบซิไซแมบ (Abciximab), ไดคูมารอล (Dicumarol), เฮพาริน (Heparin), วาร์ฟาริน (Warfarin) ตัวยาจะเสริมฤทธิ์กันและก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่าย
- การรับประทานยาไดโคลฟีแนคร่วมกับยารักษาโรคหัวใจ (Digitalis) เช่น ไดจอกซิน (Digoxin) จะทำให้การออกฤทธิ์ของยารักษาโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นจนอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ โดยอาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไส้ อาเจียน มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
- การรับประทานยาไดโคลฟีแนคร่วมกับยาลดความดันโลหิต เช่น อะทีโนลอล (Atenolol), แคนดีซาร์แทน (Candesartan), ลอซาร์แทน (Losartan), เมโทโพรลอล (Metoprolol), โพรพราโนลอล (Propranolol) จะทำให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตของยาเหล่านี้ลดลง
- การรับประทานยาไดโคลฟีแนคร่วมกับยารักษาอาการทางจิตเวช เช่น ลิเทียม (Lithium) อาจเพิ่มผลข้างเคียงของยาทางจิตเวชให้สูงขึ้น
- การรับประทานยาไดโคลฟีแนคร่วมกับยาลดกรดยูริกโพรเบเนซิด (Probenecid) จะทำให้ระดับของยาไดโคลฟีแนคสูงขึ้นและมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น
- การรับประทานยาไดโคลฟีแนคร่วมกับยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) อาจทำให้ระดับของยาทั้ง 2 ตัวในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- การรับประทานยาไดโคลฟีแนคร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้มากขึ้น
- ยาอื่น ๆ ที่อาจมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยา ได้แก่ ยาต้านมะเร็งเมโธเทรกเซท (Methotrexate), ยากดภูมิต้านทานไซโคลสปอริน (Cyclosporine), ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (เช่น อะมิคาซิน (Amikacin) เซฟาโลสปอริน (Cephalospolin) ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) อีน็อกซาซิน (Enoxacin) เจนตามัยซิน (Gentamicin) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ลีโวฟล็อกซาซิน (Levofloxacin) นอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin) สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) เป็นต้น), ยาต้านเชื้อราฟลูโคนาโซล (Fluconazole), ยาขับปัสสาวะ (Diuretics drugs), ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE inhibitors (เช่น อีนาลาพริล (Enalapril) รามิพริล (Ramipril) เป็นต้น), ยารักษาอาการชักกรดวาลโปรอิก (Valproic acid)
- หากกำลังได้รับคำแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำหรือน้ำตาลต่ำ เนื่องจากยาบางประเภทอาจมีส่วนประกอบของโซเดียมและน้ำตาล
- เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 65 ปี ผู้ที่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าวันละ 3 แก้ว หรือผู้ที่สูบบุหรี่
- การมีอาการหรือเป็นโรคเหล่านี้ ได้แก่ มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้ (เช่น มีภาวะเลือดออก), มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้, ลำไส้ใหญ่อักเสบ ลำไส้เล็กอักเสบ ถุงที่ผนังอวัยวะอักเสบ, ติดเชื้อไวรัส (เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส), มีหรือเคยมีการคั่งของของเหลวในร่างกาย (เช่น มีการบวมที่มือ แขน น่อง เท้า หรือข้อเท้า), มีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ, ปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำ, เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke), เป็นโรคตับ, เป็นหรือเคยเป็นโรคไต, เป็นนิ่วในไตหรือเคยมีนิ่วในไต, มีปัญหาเรื่องโรคหลอดเลือด หรือโรคหัวใจ หรือมีภาวะที่ระบบการไหลเวียนเลือดมีความผิดปกติ, มีหรือเคยมีประวัติเลือดออกง่ายกว่าปกติ, โรคโลหิตจาง, โรคหลอดเลือดขมับอักเสบ (Temporal arteritis), โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, โรคหอบหืด (โดยเฉพาะหอบหืดที่เกิดจากยาแอสไพริน), โรคลมชัก, โรคภูมิแพ้, โรคเอสแอลอี, โรคในช่องปาก (Dental disease), มีปัญหาทางจิต, โรคพาร์กินสัน, ริดสีดวงจมูก, มีแผลหรือฝ้าขาวในปาก (อาจบอกถึงอาการข้างเคียงจากการใช้ยาที่รุนแรง), โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria), ระคายเคืองทวารหนักหรือมีเลือดออกจากทวารหนัก, เป็นริดสีดวงทวาร, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หลายข้อ, ทำศัลยกรรมปลูกถ่ายหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี (Coronary bypass graft surgery) มาแล้วภายใน 2 อาทิตย์ก่อนใช้ยา[2],[4],[5],[8]
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้[3]
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาไดโคลฟีแนค
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพราะจะทำให้เกิดอาการแพ้ยาที่รุนแรง เช่น ตาบวม หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ การหายใจผิดปกติ มีเสียงหวีด เป็นลม ผิวหน้าเปลี่ยนสี ผิวหนังมีตุ่มบวม ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรให้ผู้อื่นนำส่งโรงพยาบาล (ไม่ควรขับรถมาเองและควรทำร่างกายให้อบอุ่นโดยการยกเท้าให้สูงกว่าศีรษะ)[2]
- ห้ามรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือแอสไพริน (Aspirin) ร่วมกับยาไดโคลฟีแนค มากกว่า 2-3 วัน และห้ามรับประทานร่วมกับยาคีโตโรแลค (Ketorolac) ในขณะที่กำลังรับประทานยานี้อยู่ ยกเว้นแพทย์จะสั่งและไปพบแพทย์ตามนัด[8]
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังเป็นโรคแผลเพ็ปติก (แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น)[1], ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจมาใหม่ ๆ[3], ผู้ที่เป็นไข้เลือดออก
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหืด ลมพิษ หวัดภูมิแพ้ ที่เคยมีอาการกำเริบจากการใช้ยาแอสไพรินหรือยาในกลุ่มนี้[1]
- ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และหญิงตั้งครรภ์ระยะไตรมาสที่ 2-3[1],[8] เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์ที่คลอดออกมามีความผิดปกติของหัวใจหรือระบบการไหลเวียนของเลือดได้ อีกทั้งการใช้ยานี้ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ยังมีผลยืดอายุครรภ์ ทำให้การคลอดยืดออกไปหรือทำให้เกิดปัญหาในระหว่างการคลอดได้ (ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ยาบรรเทาปวด ควรเลือกใช้ยาพาราเซตามอลก่อนเป็นอันดับแรก)[2]
- ห้ามใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตร เนื่องจากยานี้สามารถผ่านออกมาทางน้ำนมได้ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยานี้ให้หยุดการให้นมบุตร[2]
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้และห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
- ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี เพราะยังไม่ทราบถึงประสิทธิผลและความปลอดภัย[1]
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไดโคลฟีแนคร่วมกับยาแอสไพริน, ยาสเตียรอยด์ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแผลเพ็ปติกได้[1]
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาฉีดไดโคลฟีแนคโดยไม่จำเป็น เช่น การนำมาให้ฉีดเพื่อบรรเทาอาการปวดทั่วไป ปวดเมื่อย ปวดข้อที่ไม่รุนแรง เพราะจะเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่ร้ายแรง ได้แก่ ภาวะหลอดลมเกร็ง (Bronchospasm), ภาวะช็อกจากการแพ้ยา (Anaphylactic shock), ภาวะช็อกจากปฏิกิริยาอะนาไฟแล็กทอยด์ (Anaphylactoid) และการติดเชื้อของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น (Myofasciitis) ตรงบริเวณที่ฉีดยา ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นกลายเป็นโลหิตเป็นพิษและเป็นอันตรายได้[1]
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่าย (โรคเลือด) และผู้ป่วยใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants)[1]
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยตับแข็ง ไตวาย หัวใจวาย[1] ความดันโลหิตสูง และผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุจะมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงจากยาและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะมากกว่าคนวัยหนุ่มสาว โดยอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในผู้สูงอายุคือ สับสน มีอาการบวมที่หน้า เท้าหรือน่อง เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ปริมาณของปัสสาวะลดลงอย่างฉับพลัน เป็นต้น[2]
- ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการสับสน มึนงง วิงเวียนศีรษะ หาวนอน รู้สึกหวิว ๆ กระปรี้กระเปร่าน้อยกว่าปกติ เฉื่อยชา หรือเป็นลม และอาจทำให้การมองเห็นพร่าเลือนหรือผิดปกติได้ ดังนั้นในขณะที่ใช้ยานี้อยู่จึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรต่าง ๆ เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้[1],[8]
วิธีใช้ยาไดโคลฟีแนค
- สำหรับอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง (Pain) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง[1],[6]
- สำหรับอาการปวดศีรษะไมเกรน (Migraine) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียวเมื่อมีอาการ[6]
- สำหรับอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง[1],[6]
- สำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาวันละ 150-200 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง (สูงสุดไม่เกินวันละ 225 มิลลิกรัม) หลังจากได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจแล้ว ควรลดขนาดยาให้เหลือขนาดยาต่ำสุดที่ยังสามารถควบคุมอาการได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะให้รับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง[1],[2],[6]
- สำหรับโรคข้อเสื่อมชนิดรุนแรง (Osteoarthritis) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาวันละ 100-150 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 2-3 ครั้ง (สูงสุดไม่เกินวันละ 150 มิลลิกรัม) หลังจากได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจแล้ว ควรลดขนาดยาให้เหลือขนาดยาต่ำสุดที่ยังสามารถควบคุมอาการได้[1],[2],[6]
- สำหรับโรคข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง (Ankylosing spondylitis) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาวันละ 100-125 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง (สูงสุดไม่เกินวันละ 125 มิลลิกรัม) หลังจากได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจแล้ว ควรลดขนาดยาให้เหลือขนาดยาต่ำสุดที่ยังสามารถควบคุมอาการได้[1],[2],[6]
- สำหรับโรคเกาต์ระยะเฉียบพลัน (Gout) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งแรกในขนาด 75-100 มิลลิกรัม ต่อไปให้รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง จนกว่าอาการจะทุเลา[1]
- สำหรับอาการปวดนิ่วในท่อไต (Ureteric stone) ในผู้ใหญ่ ให้ใช้ยาชนิดฉีด ฉีดเข้ากล้ามครั้งละ 1 หลอด (75 มิลลิกรัม)[1]
- สำหรับการใช้ยาทาเฉพาะที่ในการรักษาอาการปวด บวม อักเสบจากข้อเสื่อม และจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อ ให้ทายาประมาณ 2-4 กรัม (พอเพียงสำหรับพื้นที่ผิวหนังประมาณ 400-800 ตารางเซนติเมตร) โดยให้ทายาวันละ 3-4 ครั้ง ทาให้ทั่วบริเวณที่มีอาการอักเสบ แล้วนวดยาเบา ๆ และควรล้างมือภายหลังจากการทายาเสร็จแล้ว[7]
หมายเหตุ : ขนาดยาที่ใช้รับประทานดังกล่าวเป็นขนาดของการใช้ยาเม็ด (Tablet), ยาเม็ดเคลือบ (Coated tablet) และยาเม็ดเคลือบชนิดละลายในลำไส้ (Enteric-coated tablet) ไม่ใช่ขนาดของยาเม็ดชนิดที่ออกฤทธิ์นาน (Extended-release tablet)
คำแนะนำในการใช้ยาไดโคลฟีแนค
- ให้รับประทานยานี้พร้อมกับน้ำ 1 แก้ว (ให้กลืนยาทั้งเม็ด ห้ามหักแบ่งหรือเคี้ยวเม็ดยา) โดยควรรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที และให้ดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อลดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร ไม่ควรนอนลงหลังจากรับประทานยาประมาณ 15-30 นาที เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหารส่วนต้นได้ (เช่น หลอดอาหาร) ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อการกลืน[2]
- เมื่อรับประทานยานี้แล้วควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่รับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ยาแก้ปวดหรือยารักษาไข้หวัดที่มีส่วนผสมของยากลุ่มเอ็นเสด และควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า ๆ[5] (การรับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 2 ชนิดหรือมากกว่า 2 ชนิดร่วมกัน อาจทำให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น ส่วนการใช้ยาพาราเซตามอล แอสไพริน หรือคีโตโรแลค ในขณะที่รับประทานยานี้ก็อาจทำให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับจำนวนยาที่รับประทานในแต่ละวัน และขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่รับประทานยาร่วมกัน)
- ยาไดโคลฟีแนคจัดเป็นยาอันตรายและมีผลข้างเคียงมาก ผู้ป่วยจึงไม่ควรซื้อยานี้มารับประทานเอง อีกทั้งขนาดที่ใช้ในเด็กและผู้ใหญ่ในแต่ละอาการก็มีขนาดแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำในการใช้ยานี้จากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
- ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด รับประทานยาให้ตรงเวลาทุกครั้ง และห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
- การใช้ยานี้ในเด็กจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากมีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาไดโคลฟีแนคในเด็กน้อย
- ไม่ควรซื้อยานี้มารักษาตนเองเป็นเวลานานเกินกว่า 1 สัปดาห์ หากต้องใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- ในกรณีที่จำเป็นต้องรับประทานยานี้ติดต่อกันนาน ๆ ควรไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังการใช้ยา[8] และควรรับประทานยาชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อป้องกันการเกิดแผลเพ็ปติก[1] เช่น
- รานิทิดีน (Ranitidine) ให้รับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- โอเมพราโซล (Omeprazole) ให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- ไมโซพรอสทอล (Misoprostol) ซึ่งเป็นยาโพรสตาแกลนดินสังเคราะห์ ให้รับประทานครั้งละ 100-200 ไมโครกรัม วันละ 4 ครั้ง
- ยาลดกรด (Antacids) ให้รับประทานครั้งละ 30 มิลลิลิตร วันละ 7 ครั้ง
- หากกำลังจะได้รับการผ่าตัด (รวมทั้งการผ่าตัดในช่องปาก) ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่ เพราะยาอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง และมีโอกาสเกิดเลือดออกในระหว่างและหลังการผ่าตัดเพิ่มขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจจำเป็นต้องหยุดรับประทานยานี้ชั่วคราวหรือเปลี่ยนไปใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ตัวอื่น ที่ทำให้เกิดเลือดออกน้อยกว่าแทน
- หากใช้ยานี้แล้วมีอาการปวดท้องหรือปวดเกร็งท้องมาก, เจ็บท้องหรือปวดแสบร้อนในท้อง, ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ, คลื่นไส้รุนแรงหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน, แสบยอดอก, อาหารไม่ย่อย หรืออาเจียนมีเลือดปนหรือมีสีคล้ายกาแฟ ให้หยุดใช้ยาและรีบปรึกษาแพทย์[8]
- ในระหว่างการใช้ยาไดโคลฟีแนคหากเกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ร่วมกับการเกิดผื่น ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที[8]
การเก็บรักษายาไดโคลฟีแนค
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
- ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน ไม่ให้อยู่ในที่มีอุณหภูมิร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ช่องแช่แข็งของตู้เย็น) เพราะความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้
- ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว
เมื่อลืมรับประทานยาไดโคลฟีแนค
หากลืมรับประทานยาไดโคลฟีแนค ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ
ผลข้างเคียงของยาไดโคลฟีแนค
- ผลข้างเคียงสำคัญของยานี้ คือ อาจทำให้เกิดโรคแผลเพ็ปติก (Peptic ulcer) และกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออก (อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ) หรือกระเพาะอาหารทะลุได้[1]
- อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ตามัว เสียงดังในหู คลื่นไส้ อาเจียน ง่วง ซึม อ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องเดิน ตับอักเสบหรือเอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูง โรคภูมิแพ้กำเริบ เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ[1]
- อาจทำให้ร่างกายคั่งน้ำ (Fluid retention) ทำให้มือเท้าบวม ความดันโลหิตสูงได้ และอาจทำให้ผู้ที่มีภาวะหัวใจวายเกิดอาการกำเริบได้[1]
- อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้ หากใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน[1] นอกจากนี้การใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งรวมถึงยาไดโคลฟีแนค จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ยาเป็นเวลานาน และยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย[5]
- ถ้าใช้ยานี้ในขนาดสูง อาจยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดออกได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่าย (โรคเลือด) และผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด[1]
- อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยา เป็นลมพิษ ผื่นคัน หอบหืด กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) ภาวะช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock)[1]
- อาจเกิดภาวะช็อกจากปฏิกิริยาอะนาไฟแล็กทอยด์ (Anaphylactoid) ในผู้ที่ใช้ยานี้เป็นครั้งแรก[1]
- อาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) แม้ว่าจะพบได้น้อยมากแต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติแพ้ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจเร็วมากและผิดปกติ อ้าปากหายใจหอบ หายใจเข้ามีเสียงหวีด หรือเป็นลม อาการเตือนอื่น ๆ เช่น สีผิวของใบหน้าเปลี่ยนแปลง ชีพจรเต้นเร็วและผิดปกติ ผิวหนังบวมมีลักษณะคล้ายรังผึ้ง และหนังตาหรือรอบ ๆ ตาบวมหรือพอง ถ้ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ต้องรีบได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน[8]
- ผู้ป่วยบางรายที่ใช้ยาไดโคลฟีแนคอาจไวต่อแสงมากกว่าปกติ ซึ่งการสัมผัสแสงแดดเพียงไม่นานก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดผิวหนังไหม้เกรียมผิดปกติ เกิดถุงน้ำใต้ผิวหนัง เกิดผื่น แดง คัน หรือสีซีดจางลงได้ (ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง โดยเฉพาะแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-15.00 น. สวมเสื้อผ้าปกปิดผิวหนัง และหมั่นทาครีมกันแดดเป็นประจำ โดยเฉพาะในรายที่มีผิวบอบบาง)[8]
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยาได้เอง แต่หากมีอาการดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะเล็กน้อยถึงปานกลาง, วิงเวียนศีรษะ, เซื่องซึมหรือง่วงนอน, รู้สึกหวิว ๆ, แสบยอดอก, อาหารไม่ย่อย, คลื่นไส้หรืออาเจียน, ปวดเกร็งหรือไม่สบายท้องหรือกระเพาะอาหารในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนอาการที่พบได้น้อย[2],[8] ได้แก่
- กระวนกระวาย, ควบคุมตัวเองไม่ได้, สั่น, กระตุก, มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ, ระคายเคืองทวารหนัก (โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาในรูปแบบเหน็บทวาร)
- หน้าแดง, รู้สึกเหมือนไม่สบาย, ตาทนแสงไม่ได้, ปากแห้ง ระคายเคืองหรือเจ็บ, ผิวหนังไวต่อแสงแดด, เหงื่อออกมากขึ้น, หัวใจเต้นเร็วหรือแรง
- การรับรสเปลี่ยนไปหรือรู้สึกขมปาก, ไม่อยากอาหาร, มีลมในกระเพาะอาหาร, ท้องผูก
- น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ, มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนแรงผิดปกติโดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย
- ผลข้างเคียงที่ควรไปพบแพทย์ทันที อาการที่พบได้บ่อย คือ มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง ส่วนอาการที่พบได้น้อยมีหลากหลายอาการ[8] ได้แก่
- ปวดศีรษะรุนแรง, ปวดหัวตุบ ๆ, สับสน หลงลืม มีอาการซึมเศร้าหรือมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง, ประสาทหลอน มองเห็น ได้ยิน หรือรู้สึกถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง, คอหรือหลังแข็ง
- ปวดตา ระคายเคืองตา ตาแห้ง ตาแดงและบวม, ตาพร่าหรือมีปัญหาด้านการมองเห็น
- การได้ยินลดลงหรือมีความผิดปกติในเรื่องการได้ยินอื่น ๆ เช่น ได้ยินเสียงกริ่งหรือเสียงหึ่ง ๆ ในหู
- ความดันโลหิตสูง, ระคายเคืองลิ้น, อุจจาระมีสีซีดลง
- รู้สึกเหมือนร้อนไหม้ภายในลำคอ หน้าอก และกระเพาะอาหาร, กลืนลำบาก, มีอาการไอ
- ปวดกระเพาะปัสสาวะ, ปัสสาวะมีเลือดปนหรือมีสีขุ่น หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะลำบาก ปวดแสบเวลาปัสสาวะ ปริมาณปัสสาวะมากขึ้นหรือน้อยลงมากผิดปกติ เป็นต้น
- มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดมากผิดปกติโดยไม่มีสาเหตุ
- มีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้าผิดปกติ, ตัวเหลืองตาเหลือง
- ผิวหนังมีอาการคันหรือบวมคล้ายรังผึ้ง รวมทั้งมีความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผิวหนัง เช่น มีถุงน้ำแดง สีเปลี่ยนแปลงไป ตึง ปวดแสบปวดร้อน ผิวหนังซีด หนาตัว หรือมีรอยแผลเป็น
- มีเลือดไหลหรือเจ็บฝีปาก, มีเลือดไหลจากการถูกมีดบาด หรือรอยถลอกที่นานเกินผิดปกติ
- เล็บมีสีซีดลงหรือเล็บแยก, ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ปวดหลังด้านล่างหรือด้านข้างอย่างรุนแรง, มือเท้าไม่มีความรู้สึก รู้สึกเหมือนเข็มจิ้ม ปวดหรืออ่อนแรง, ท้องส่วนบน กระเพาะอาหาร ตึงและ/หรือบวม, ลิ้นและปากบวม, ต่อมบวมและเจ็บ โดยเฉพาะต่อมที่คอ, กระหายน้ำอย่างต่อเนื่อง, พูดลำบาก, น้ำมูกไหลหรือจามโดยไม่มีสาเหตุ
- ผลข้างเคียงที่ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที (พบได้น้อย)[8] ได้แก่
- คลื่นไส้, แสบยอดอกและหรือมีอาการอาหารไม่ย่อยรุนแรงและต่อเนื่อง, ปวดท้อง, ปวดเกร็งท้อง, ปวดแสบปวดร้อนในท้องอย่างรุนแรง, อุจจาระมีเลือดปนหรือมีสีดำ
- อาการชัก, มีไข้และมีหรือไม่มีอาการหนาวสั่น
- มีจุดแดงคล้ายหัวเข็มหมุดที่ผิวหนัง, เจ็บ ปวด หรือมีจุดสีขาวที่ริมฝีปากหรือในปาก
- ความดันโลหิตสูงขึ้น, อาเจียนมีเลือดปนหรือมีสีคล้ายกาแฟ, มีเลือดไหลออกจากจมูกโดยไม่ทราบสาเหตุ, มีเลือดออกหรือเกิดจ้ำเลือดที่ผิดปกติ
- ผลข้างเคียงที่ควรหยุดใช้ยาและได้รับการช่วยเหลือจากแผนกฉุกเฉินในทันที (พบได้น้อยมาก) ได้แก่ มีอาการบวมคล้ายรังผึ้งบริเวณใบหน้าขนาดใหญ่, เปลือกตา รอบตา ปาก และลิ้นบวม, หายใจเร็วหรือหายใจผิดปกติ, หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ, หายใจสั้น, หายใจลำบาก, หายใจมีเสียงหวีด, แน่นหน้าอก, เป็นลม[8]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “ไดโคลฟีแนค (Diclofenac)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 232-233.
- ฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ยาที่มีจำหน่ายในประเทศไทย เพื่อประชาชน, เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ. “Diclofenac, ไดโคลฟีแนค”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th. [22 ต.ค. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ไดโคลฟีแนค (Diclofenac)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [22 ต.ค. 2016].
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “DICLOFENAC”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [22 ต.ค. 2016].
- Siamhealth. “Diclofenac”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [22 ต.ค. 2016].
- Drugs.com. “Diclofenac”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com. [22 ต.ค. 2016].
- ร้านขายยาปัณณ์ยา. “Voltaren Emulgel 10g โวลทาเรน อิมัลเจล 10 กรัม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : punyarx.com. [22 ต.ค. 2016].
- เด็กสาสุขออนไลน์. “ไดโคลฟีแนค (Diclofenac)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : deksasukh.blogspot.com. [22 ต.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)