ไดเมนไฮดริเนต
ไดเมนไฮดริเนต หรือ ไดเมนไฮดริเนท (Dimenhydrinate) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า ดรามามีน (Dramamine), ไดมิน (Dimin), ไดโมเนท (Dimonate) หรือ นาวาเมด (Navamed) โดยเป็นอนุพันธ์ของไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้ (Antihistamine) ที่ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันและรักษาอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน จากการเมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน (Motion sickness) และใช้รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การแพ้ท้อง อาการบ้านหมุน (Vertigo) ฯลฯ โดยผลข้างเคียงจากยานี้ที่พบได้บ่อย คือ อาการง่วงนอน มึนงง อย่างไรก็ตาม ยาไดเมนไฮดริเนตยังเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ เพราะเป็นยาที่มีราคาถูกและหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป
ตัวอย่างยาไดเมนไฮดริเนต
ยาไดเมนไฮดริเนต (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น เดนิม (Denim), ไดเมนไฮดริเนต เอ.เอน.เอช (Dimenhydrinate A.N.H.), ไดเมนไฮดริเนต เอเซียน ยูเนียน (Dimenhydrinate Asian Union), ไดเมนไฮดริเนต จีพีโอ (Dimenhydrinate GPO), ไดเมนไฮดริเนต เมดิซิน โปรดักส์ (Dimenhydrinate Medicine Products), ไดเมนไฮดริเนต ฟาร์มา สแควร์ (Dimenhydrinate Pharma Square), ไดเมนไฮดริเนต พิคโค (Dimenhydrinate Picco), ไดเมนไฮดริเนต ปัจจุบัน (Dimenhydrinate Putchubun), ไดเมนไฮดริเนต ที แมน (Dimenhydrinate T Man), ไดเมนไฮดริเนต ที.โอ. (Dimenhydrinate T.O.), ไดเมไนน์ (Dimenine), ไดเมโน (Dimeno), ไดเมเซียน (Dimesian), ไดมิน (Dimin), ไดโมเนท (Dimonate), ไดโวมิท (Divomit), ดรามามีน (Dramamine), ดรามายน์ (Dramine), กราวอล (Gravol), เค.บี. ดรามายน์ (K.B. Dramine), โมทิแวน (Motivan), นอซามีน (Nausamine), นาวาเมด (Navamed), นาวามิน (Navamin), โรไซน์ (Roxine), โวเมน (Vomen) ฯลฯ
รูปแบบยาไดเมนไฮดริเนต
- ยาเม็ด ขนาด 50 มิลลิกรัม
- ยาน้ำ ขนาด 15 มิลลิกรัม ในยา 5 มิลลิลิตร
- ยาเหน็บทวาร ขนาด 50 มิลลิกรัม
- ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
สรรพคุณของยาไดเมนไฮดริเนต
- ใช้ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน จากการเมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน (Motion Sickness)
- ใช้รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน อันเนื่องมาจากการใช้ยา การบำบัดด้วยการช็อตไฟฟ้า การดมยาสลบ การฉายรังสี ศัลยกรรม และการผ่าตัด จากไมเกรน หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน อาการบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า โรคเมเนียส์ รวมถึงอาการแพ้ท้อง
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดเมนไฮดริเนต
ยาไดเมนไฮดริเนตจะออกฤทธิ์ต้านหรือยับยั้งสารที่มีชื่อว่าฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นอาการแพ้ เช่น อาการเมารถ เมาเรือ คลื่นไส้ แต่ยานี้มักจะส่งผลข้างเคียงทำให้มีอาการง่วงนอนและรู้สึกอ่อนเพลียตามมา
ก่อนใช้ยาไดเมนไฮดริเนต
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไดเมนไฮดริเนต สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- การแพ้ยาไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) หรือส่วนผสมอื่นในยานี้ และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง (โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ) รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาไดเมนไฮดริเนตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
- การใช้ยาไดเมนไฮดริเนตร่วมกับการใช้ยาหรือดื่มเครื่องดื่มที่ออกฤทธิ์กดการทำงานของสมองหรือระบบประสาท เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้ซึมเศร้า ยาแก้แพ้หรือแอลกอฮอล์ เพราะอาจเสริมฤทธิ์ยาเหล่านี้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เพิ่มขึ้นได้ เช่น ทำให้เกิดอาการง่วงซึม (อาการง่วงนอนมากเกินปกติ) เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ขาดการควบคุมสติ เป็นต้น
- อาจเสริมฤทธิ์ของยาแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) หรือแอนติสปาสโมดิก (Antispasmodics) ถ้าใช้ร่วมกัน
- มีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
- เป็นหรือเคยเป็นโรคหอบหืดหรือโรคปอดอื่น ๆ , มีการหายใจสั้นหรือหายใจลำบากจากโรค (เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น), มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ, ความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าปกติ, เป็นโรคต้อหิน, เป็นโรคลมชักหรือลมบ้าหมู, เป็นโรคกระเพาะหรือลำไส้, เป็นโรคตับ, มีความผิดปกติในการปัสสาวะเนื่องจากต่อมลูกหมากโตผิดปกติ, เป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria), มีการใส่คอนแทคเลนส์ (เพราะยานี้อาจทำให้นัยน์ตาแห้งและรู้สึกไม่สบายตาในการใช้คอนแทคเลนส์ได้)
- หากกำลังจะเข้ารับการผ่าตัด ทำฟัน หรือเข้ารับการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่ากำลังใช้ยานี้อยู่
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาไดเมนไฮดริเนต
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาไดเมนไฮดริเนต
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอาการหอบหืดกำเริบหรือเป็นโรคหอบหืดชนิดเฉียบพลัน
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงให้นมบุตร เนื่องจากยาสามารถขับออกมาทางน้ำนมได้
- ห้ามใช้ยานี้กับทารกแรกเกิด ทารกที่คลอดก่อนกำหนด
- ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยต้อหิน ต่อมลูกหมากโต ลมบ้าหมู
- ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ
- หญิงตั้งครรภ์สามารถรับประทานยานี้ได้ แต่ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งจ่าย
- ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ยกเว้นในกรณีที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- ในขณะที่รับประทานยาไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือของมีคม เนื่องจากผลข้างเคียงจากยาจะทำให้เกิดอาการง่วงนอน มึนงง
วิธีใช้ยาไดเมนไฮดริเนต
- ยาเม็ด ในผู้ใหญ่ให้รับประทานเมื่อมีอาการครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานวันละ 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยแบ่งให้ 4 ครั้ง หรือให้ตามน้ำหนักตัวของเด็กดังนี้
- น้ำหนักตัว 10-15 กิโลกรัม ให้รับประทานครั้งละ ¼ เม็ด วันละ 4 ครั้ง
- น้ำหนักตัว 16-25 กิโลกรัม ให้รับประทานครั้งละ ½ เม็ด วันละ 4 ครั้ง
- น้ำหนักตัว 26-35 กิโลกรัม ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
- น้ำหนักตัวมากกว่า 35 กิโลกรัม ให้ใช้ในขนาดเท่ากับผู้ใหญ่
- ยาฉีด ในผู้ใหญ่ให้ฉีดครั้งละ 1 มิลลิลิตร (50 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กให้ฉีดตามน้ำหนักตัวดังนี้ (ให้ฉีดเข้ากล้าม หรือผสมในน้ำเกลือ 10 มิลลิลิตร แล้วฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ และซ้ำได้ทุก 6-8 ชั่วโมง)
- น้ำหนักตัว 15 กิโลกรัม ให้ฉีดครั้งละ ¼ มิลลิลิตร
- น้ำหนักตัว 16-25 กิโลกรัม ให้ฉีดครั้งละ ½ มิลลิลิตร
- น้ำหนักตัว 26-35 กิโลกรัม ให้ฉีดครั้งละ 1 มิลลิลิตร
- การใช้สำหรับป้องกันอาการเมารถเมาเรือ ให้รับประทานก่อนขึ้นรถหรือเรือประมาณ 30-60 นาที โดยในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1-3 เม็ด ส่วนในเด็กให้รับประทานครั้งละ ½-1 เม็ด (สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง)
คำแนะนำในการใช้ยาไดเมนไฮดริเนต
- ให้ใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้ในฉลากยาอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
- ไม่ควรรับประทานยานี้เกินวันละ 8 เม็ด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาแก้ซึมเศร้า
- ยานี้อาจทำให้มีอาการง่วงนอน มึนงงได้ ดังนั้น จึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือของมีคมหลังจากรับประทานยา
- หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องการใช้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากมียาบางตัวในกลุ่มนี้อาจทำให้ทารกเกิดวิกลรูปหรือทารกที่คลอดออกมามีความผิดปกติได้
- หากเกิดอาการนอนไม่หลับมากกว่า 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์
การเก็บรักษายาไดเมนไฮดริเนต
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก
- ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้องปกติ ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกชื้นหรือบริเวณที่ถูกแสงแดดโดยตรง และไม่ให้อยู่ในที่อุณหภูมิสูงกว่า 30
- ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ
เมื่อลืมรับประทานยาไดเมนไฮดริเนต
โดยทั่วไปยานี้จะใช้รับประทานเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น การลืมรับประทานยานี้จึงไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่ในกรณีที่แพทย์ให้รับประทานยาเป็นประจำและลืมรับประทานยา ก็ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกได้ และถ้าเป็นเวลาที่ใกล้กับการรับประทานยามื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ผลข้างเคียงของยาไดเมนไฮดริเนต
- อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน มึนงง การมองเห็นผิดปกติหรือสายตาพร่ามัว ตาแห้ง ปากแห้ง จมูกแห้ง คอแห้ง เสมหะเหนียว ความดันโลหิตต่ำ ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ คือ มีอาการวิงเวียนเกิดขึ้นซ้ำหรืออาการแย่ลงกว่าเดิม ง่วงซึม (ง่วงนอนมากเกินผิดปกติ) อ่อนแรงหรือเหนื่อย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ไม่สบายท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก ปัสสาวะคั่ง ผิวหนังแดง ไวต่อแสง น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ผลข้างเคียงรุนแรง เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้นหรือช้าลง เต้นแรง เต้นผิดปกติ หรือเจ็บหน้าอก มองเห็นภาพไม่ชัด สับสน ตื่นเต้น กระสับกระส่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ มีอาการเคลื่อนไหวลำบาก มีปัญหาในการเคลื่อนไหว ได้ยินเสียงกริ่งในหู หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ปัสสาวะลำบากหรือเจ็บในขณะถ่ายปัสสาวะ ลมชัก มีผื่นคันหรือผื่นลมพิษขึ้นอย่างผิดปกติหรือต่อเนื่อง หายใจมีเสียงหวีด (Wheezing)
- อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด คือ ง่วงซึม หน้าแดงและร้อน ม่านตาขยาย ตื่นเต้น กระวนกระวาย กระสับกระส่าย อยู่นิ่งไม่ได้ ประสาทหลอน วิตกกังวล สับสน นอนไม่หลับ ยืนทรงตัวลำบาก พูดและกลืนลำบาก ชัก (โดยเฉพาะในเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ ถ้าใช้ยานี้เกินขนาดมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย กระสับกระส่าย อยู่นิ่งไม่ได้ นอนไม่หลับ)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 291-292.
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “DIMENHYDRINATE”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [15 ก.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ยาไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) ยาดรามามีน (Dramamine)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [15 ก.ย. 2016].
- หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วงและไม่ง่วง รักษาอาการแพ้ได้เหมือนกันจริงหรือ ?”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th. [15 ก.ย. 2016].
- Siamhealth. “Dimenhydrinate”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [15 ก.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)