ไกร
ไกร ชื่อสามัญ Sea Fig, Deciduous Fig
ไกร ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus subpisocarpa Gagnep. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ficus superba var. japonica Miq.)[1], ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า สมุนไพรชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus superba Miq.[2] จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[2]
สมุนไพรไกร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ฮ่าง (ลำปาง), โพไทร (นครราชสีมา), เลียบ ไกร (กรุงเทพฯ), ไทรเลียบ (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น[1],[2],[4]
ลักษณะของไกร
- ต้นไกร จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 8-10 เมตร ทรงพุ่มเป็นรูปไข่ มียางสีขาว เปลือกต้นค่อนข้างเรียบเป็นสีเทา ทุก ๆ ส่วนเกลี้ยงยกเว้นหูใบ มีรากอากาศรัดพันเล็กน้อย พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในจีน ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจะขึ้นอยู่บนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงที่ความสูงประมาณ 150 เมตร[2],[3]
- ใบไกร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี
- แกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมเป็นติ่งหรือเรียวแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-25 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว สีเขียวเข้มและเป็นมัน เส้นแขนงใบมีข้างละ 6-8 เส้น ปลายโค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบเล็ก ยาวได้ประมาณ 8-14 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีแดง หูใบมี 2 อัน ประกบกันหุ้มยอดอ่อน ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม ยาวได้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีขนสั้น ๆ สีเหลืองอ่อน ร่วงได้ง่าย ออกเป็นคู่ตรงง่ามใบ หรือที่ตำแหน่งง่ามใบซึ่งใบร่วงไปแล้ว เมื่อยังอ่อนจะมีขนอ่อน ๆ สั้น ๆ เมื่อแก่แล้วจะเกลี้ยง มีใบประดับซึ่งร่วงง่าย 3 ใบ[2],[3]
- ดอกไกร ดอกเป็นสีเขียวอมเหลือง ออกเป็นช่อรูปร่างคล้ายผล คือ มีแกนกลาง ช่อดอกเจริญแผ่ขยายใหญ่เป็นกระเปาะ มีรูเปิดที่ปลายโอบดอกไว้ ดอกนั้นมีขนาดเล็กเป็นแบบแยกเพศในกระเปาะ โดยดอกเพศผู้จะมีจำนวนน้อยมาก อยู่ใกล้ ๆ กับรูเปิดของช่อดอก ก้านดอกมีขนาดเล็ก กลีบรวมมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ สั้นกว่าเกสรเพศผู้ ก้านเกสรเพศผู้หนา ส่วนดอกเพศเมียจะมีอยู่จำนวนมาก มีกลีบรวมสั้น ๆ อยู่ 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ เกสรเพศเมียยาว จะอยู่ทางด้านข้างของรังไข่ ดอกจะออกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน[2],[3]
- ผลไกร ผลเป็นผลสดแบบมะเดื่อ สีขาวอมชมพู ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแกมรูปไข่กลับ กลมแป้น หรือเป็นรูปหัวใจกลับ ออกเป็นคู่ที่กิ่งเหนือรอยแผลของใบ ผลมีขนาดประมาณ 1.8-2.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว มีจุดสีครีมกระจายอยู่ทั่วผล เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมชมพูมีจุดสีน้ำตาล ที่ปลายมีวงแหวน นูนมีรอยบุ๋ม ภายในมีเมล็ดทรงกลมสีดำอยู่เป็นจำนวนมาก ก้านผลยาวประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร จะออกผลในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน[2],[3]
สรรพคุณของไกร
- ใช้เป็นยาแก้เบาหวาน ในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ.1981 ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากต้นไกรในสัตว์ทดลอง ผลการทดลองพบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1][4]
- ใบใช้เป็นยาแก้ผดผื่นคัน เข้ายาทาฝี แก้ริดสีดวง แก้เมื่อยขบ (ใบ)[4]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคทางปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้ตับพิการ และเป็นยาระบาย (ราก)[4]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องร่วง (เปลือกต้น)[4]
- เนื้อไม้ใช้เป็นยาสมานและคุมธาตุ (เนื้อไม้)[4]
ประโยชน์ของไกร
- ผลสุกใช้รับประทานได้ และเป็นอาหารของนกและสัตว์ต่าง ๆ[4]
- ใบอ่อนสามารถนำมารับประทานเป็นผักได้[4]
- ใช้ปลูกเป็นไม้แคระประดับ[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “เลียบ”. หน้า 137.
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ไกร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [16 ก.ค. 2015].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “ไกรไม้แคระประดับ”. อ้างอิงใน : หนังสือวัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [16 ก.ค. 2015].
- ระบบฐานข้อมูลพรรณไม้ที่เหมาะสมกับระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชน เพื่อลดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยองและพื้นที่ใกล้เคียง ภายใต้โครงการชุมชนอยู่คู่อุตสาหกรรม, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.). “เลียบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : onep-intranet.onep.go.th/plant/. [16 ก.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Cerlin Ng, 潘立傑 LiChieh Pan, 加菲老爺, loupok)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)