ใบระบาด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นใบระบาด 12 ข้อ !

ใบระบาด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นใบระบาด 12 ข้อ !

ใบระบาด

ใบระบาด ชื่อสามัญ Baby Wood Rose, Baby Hawaiian Woodrose, Elephant Climber, Elephant Creeper, Elephant Creeper Silver, Elephant Vine, Silver Morning, Silver Morning Glory, Morning Glory, Wood Rose, Woolly Morning Glory[2],[3],[4]

ใบระบาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Argyreia nervosa (Burm. f.) Bojer (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Argyreia speciosa (L. f.) Sweet, Convolvulus nervosus Burm. f., Convolvulus speciosus L. f., Ipomoea speciosa (L. f.) Pers., Lettsomia nervosa (Burm. f.) Roxb., Rivea nervosa (Burm. f.) Hallier f.) จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)[1]

สมุนไพรใบระบาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เมืองมอน เมืองมอบ (กรุงเทพฯ), ผักระบาด (ภาคกลาง), ใบละบาท ผักระบาท (ไทย) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของใบระบาด

  • ต้นใบระบาด จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยพันต้นไม้อื่น มีความยาวได้ถึง 10 เมตร ตามเถามีขนนุ่มสีขาวขึ้นปกคลุม ทุกส่วนมียางสีขาว[1],[3] เถาอายุน้อยจะนุ่มและอวบน้ำ แต่พอแก่แล้วเถาจะแข็งเป็นไม้ ทอดยาวเหยียดไปได้ไกล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอน ทาบกิ่ง และปักชำ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีอินทรียวัตถุมาก[2]

ต้นใบระบาด

  • ใบใบระบาด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้า มีขนาดกว้างประมาณ 8-25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีขนนุ่มสีขาวขึ้นปกคลุม ตามขอบใบมีขนสีขาว ก้านใบยาวและมีขน[1]

ใบละบาท

  • ดอกใบระบาด ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 3-5 ดอก ก้านช่อแข็ง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีชมพูอมม่วง คล้ายดอกผักบุ้ง มีใบประดับเป็นรูปไข่ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ 6 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายบานออกเป็นรูปปากแตรและหยักเป็นแฉกตื้น ๆ โคนด้านนอกมีขนนุ่ม ตรงกลางดอกข้างในหลอดเป็นสีม่วงเข้ม ดอกมีเกสรอยู่ภายในหลอดดอก เกสรเพศผู้มี 5 อัน มีขนปุกปุยที่โคน และมีรังไข่เกลี้ยงอยู่ประมาณ 4 ช่อง ดอกร่วงได้ง่าย เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ดอกใบระบาด

ดอกใบละบาท

  • ผลใบระบาด ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม สีน้ำตาลอมเหลือง ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายผลมีติ่ง[1] เมล็ด ( white seed coat exterior) มี cyanogenic glycosides[3]

ผลใบระบาด

ผลใบละบาท

เมล็ดใบละบาท

เมล็ดใบระนาด

สรรพคุณของใบระบาด

  1. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)[1],[2]
  2. รากใช้รักษาโรคอ้วนที่เกิดจากการสะสมของไขมัน (ราก)[1],[2]
  3. น้ำคั้นจากใบใช้หยอดหูเป็นยารักษาอาการอักเสบ (ใบ)[1],[2]
  1. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[1],[2]
  2. ช่วยกระตุ้นกำหนัด (ราก)[1],[2]
  3. รากใช้เป็นยาขับน้ำเหลืองเสีย (ราก)[1],[2]
  4. ใบใช้ตำพอกรักษาบาดแผล รักษาอาการอักเสบ (ใบ)[1],[2]
  5. ใบใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 2-3 ใบ นำมาล้างให้สะอาด แล้วตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกัน 3-4 วัน จะเห็นผล (ใบ)[1],[2],[3]
  6. ใบใช้ตำพอกรักษาฝี (ใบ)[1],[2]
  7. รากใช้เป็นยารักษาโรคเท้า แก้โรคไขข้ออักเสบ (ราก)[1],[2]

ขนาดและวิธีใช้ : ใบใช้เฉพาะภายนอก ส่วนรากให้ใช้จำนวนพอประมาณ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา

ข้อควรระวัง : ใบห้ามนำมารับประทาน ถ้าหากรับประทานใบเข้าไปจะทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง มึนงง ตาพร่า ส่วนเมล็ดถ้ารับประทานเข้าไปจะทำให้ประสาทหลอน[3]

ประโยชน์ของใบระบาด

  1. นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน โดยทำเป็นร้านหรือซุ้มเพื่อให้ลำต้นเลื้อยขึ้นไปได้ แต่คนไทยโบราณจะนิยมปลูกไว้ริมรั้วบ้าน เนื่องจากสะดวกต่อการเกาะเลื้อยและแผ่ขยายลำต้นไปได้ไกล[4]
  2. ในเรื่องของความเชื่อคนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นใบระบาด (ต้นใบละบาท) ไว้จะทำให้เกิดความร่ำรวยด้วยเงินตรา หากต้นมีจำนวนใบที่มากขึ้นก็จะทำให้มีเงินเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากการแตกใบ 1 ใบ มีค่าเท่ากับ 1 บาท นอกจากนี้ใต้ใบยังมีสีคล้ายกับเงินที่เคลือบอยู่อีกด้วย และเพิ่มความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นใบระบาดไว้ทางทิศตะวันตก และให้ปลูกในวันอังคาร เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาประโยชน์ทั่วไปทางใบให้ปลูกในวันอังคาร[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ใบระบาด (Bai Rabat)”.  หน้า 168.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ใบละบาท”. หน้า 443-444.
  3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ใบระบาด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [28 พ.ย. 2014].
  4. ไม้ประดับออนไลน์.  “ใบละบาท”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.maipradabonline.com.  [28 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Ruth Chong, Russell Cumming, scott.zona, Andre Benedito)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด