โหราเดือยไก่ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโหราเดือยไก่ 12 ข้อ !

โหราเดือยไก่ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโหราเดือยไก่ 12 ข้อ !

โหราเดือยไก่

โหราเดือยไก่ ชื่อสามัญ Prepared Common Monkshood Daughter Root[2]

โหราเดือยไก่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Aconitum carmichaelii Debeaux จัดอยู่ในวงศ์พวงแก้วกุดั่น (RANUNCULACEAE)[1]

สมุนไพรโหราเดือยไก่ มีชื่อเรียกอื่นว่า ชวนอู อูโถว ฟู่จื่อ หู่จื้อ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2] (ชื่อเครื่องยา Radix Aconiti Lateralis Preparata)[2]

ลักษณะของโหราเดือยไก่

  • ต้นโหราเดือยไก่ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นมีความสูงประมาณ 60-120 เซนติเมตร มีลักษณะต้นตั้งหรือเอียงเล็กน้อย ลำต้นและกิ่งก้านกลม เปลือกต้นเรียบเป็นมัน มีขนเล็กน้อยบริเวณยอดต้น มีหัวอยู่ใต้ดิน ออกเป็นคู่มีรูปร่างคล้ายรูปไข่กลับหรือเป็นรูปกระสวย เปลือกเป็นสีน้ำตาลดำ หัวใต้ดินมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร มีรากแก้วเกาะติดอยู่[1]

ต้นโหราเดือยไก่

รากโหราเดือยไก่

ฟู่จื่อ

  • ใบโหราเดือยไก่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แฉกเว้า แยกออกเป็นแฉก 3 แฉก ขอบใบหยักไม่เท่ากัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-12 เซนติเมตร เนื้อใบแข็ง หลังใบเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า ใบที่บริเวณโคนต้นจะมีก้านใบยาวกว่า[1]

ใบโหราเดือยไก่

  • ดอกโหราเดือยไก่ ออกดอกเป็นช่อบริเวณยอดต้นและตามง่ามใบ ก้านช่อดอกมีขนปกคลุมเล็กน้อย ดอกเป็นสีน้ำเงินอมม่วงและมีขนอ่อนขึ้นปกคลุม กลีบดอกมีลักษณะค่อนข้างกลม มี 5 กลีบ กลีบดอกมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมากและมีเส้นเกสรยาว[1]

ดอกโหราเดือยไก่

รูปดอกโหราเดือยไก่

  • ผลโหราเดือยไก่ ผลมีลักษณะกลมยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร และมีลายเส้นอยู่ที่ผิวของเปลือกผล[1]

ผลโหราเดือยไก่

สรรพคุณของโหราเดือยไก่

  1. หัวโหราเดือยไก่มีรสเผ็ดร้อน มีพิษ เป็นยาร้อน ออกฤทธิ์ต่อม้ามและไต ใช้เป็นยาแก้ลมขึ้นศีรษะทำให้ปวดศีรษะ (หัว)[1]
  2. รากแก้วของโหราเดือยไก่ คนจีนจะเรียกว่า “ฟู่จื่อ” เป็นยาร้อน มีพิษ ใช้เป็นยาบำรุงความอบอุ่นของไต ทำให้ร่างกายอบอุ่น (รากแก้ว)[1]
  3. ใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้อง ปวดกระเพาะ (หัว, รากแก้ว)[1]
  4. ช่วยลดอาการบวมน้ำของโรคไตอักเสบ (รากแก้ว)[1]
  5. ช่วยแก้อาการมือเท้าเย็นชา (รากแก้ว)[1]
  1. ใช้เป็นยาแก้ฝีเย็นทั้งภายในและภายนอก (หัว)[1]
  2. ช่วยแก้อาการฟกช้ำ ปวดบวม และใช้เป็นยาชาเฉพาะที่บริเวณภายนอกได้ (หัว)[1]
  3. หัวใช้เป็นยาขับความเย็นชื้นในร่างกาย ช่วยกระจายลมชื้น แก้ปวดข้อหรือลมจับโปง นิ้วมือนิ้วเท้าเป็นเหน็บชาหรือหงิกงอขยับไม่สะดวก แก้ปวดก้นกบ แก้อัมพฤกษ์ อัมพาต (หัว)[1]
  4. ตำรับยาแก้อาการปวดข้ออันเนื่องมาจากลมชื้นหรือรูมาติซั่ม ปวดขา ปวดเอว ให้ใช้หัวโหราเดือยไก่ที่กำจัดพิษแล้ว 6 กรัม, ห่อซินโฮว 15 กรัม, ตุ๊ยตี่หวง 10 กรัม, โซยหนี่เกี๋ยง 10 กรัม นำมารวมกันแช่ในเหล้า 500 ซีซี เป็นเวลา 2 วัน แล้วนำมารับประทานครั้งละ 5-10 ซีซี วันละ 3 ครั้ง (หัว)[1]
  5. ตำรับยาแก้อาการชาที่บริเวณประสาทใบหน้าหรือบริเวณประสาทผิวหนัง ให้ใช้หัวโหราเดือยไก่ 10 กรัม, โหราข้าวโพด 10 กรัม, แซหนำแซ 10 กรัม, โท่วโซ๊ยซิง 10 กรัม, พริกหาง 4 กรัม และหนังคางคกตากแห้ง 4 กรัม นำมารวมกันบดให้เป็นผง แล้วนำไปแช่ในเหล้า (ใช้เหล้า 70 ดีกรี) 100 ซีซี ใส่เมนทอลและการบูรเล็กน้อย ใช้เป็นยาบริเวณที่มีอาการชาของใบหน้าหรือผิวหนัง (หัว)[1]
  6. สรรพคุณโหราเดือยไก่ตามตำราการแพทย์แผนจีน ระบุว่า หู่จื้อ หรือ รากแขนง มีรสเผ็ดร้อน มีฤทธิ์เสริมหยางให้ระบบหัวใจ ช่วยบำรุงธาตุไฟ กระจายความเย็นที่มาจับ ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหาร แก้มือเท้าเย็น เสริมความแข็งแรงของไต บรรเทาอาการปวด แก้ร่างกายอ่อนแอจากการป่วยเรื้อรัง เหงื่อออกมาก อาเจียนมาก ถ่ายมาก ปวดปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน[2]
  7. บางข้อมูลระบุว่า ใบโหราเดือยไก่ รสเมาเบื่อ มีสรรพคุณขับโลหิตเนื่องจากช้ำใน (ใบ) ส่วนดอกโหราเดือยไก่ รสเมาเบื่อ แก้หอบหืด ทำให้อาเจียน กระจายลมกระจายลังเสมหะ ขับผายลมให้เรอ (ดอก)

ข้อควรระวังในการใช้โหราเดือยไก่

  • สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือพลังหย่อน ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]
  • สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาที่มีพิษ การนำมาใช้เป็นยาจึงควรใช้ยาที่ผ่านกรรมวิธีกำจัดพิษแล้วเท่านั้น และไม่ควรรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด[1]
  • โดยทั่วไปความเป็นพิษของสมุนไพรชนิดนี้จะสูงกว่าขนาดที่รับประทานมาก โดยอาการเป็นพิษจะเกิดขึ้นเมื่อรับประทานในขนาด 15-60 กรัม หรือสาร aconitine 0.2 มิลลิกรัม ความเป็นพิษของโหราเดือยไก่ คือ พิษต่อระบบประสาทและหัวใจ ทำให้แสบร้อนในปาก คลื่นไส้ อาเจียน น้ำลายไหล แขนขาชาหรือชาทั้งตัว วิงเวียนศีรษะ ตาพร่า รูม่านตาขยาย กลัวหนาว ซีด เพ้อ ความดันสูง หัวใจเสียจังหวะ ใจสั่น หัวใจเต้นช้า กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย ช็อก โคม่า และอาจตายได้ทันที[2]

กรรมวิธีการกำจัดพิษโหราเดือยไก่

  • ให้นำหัวโหราเดือยไก่มาล้างให้สะอาด ตากให้แห้ง แล้วนำมาแช่ในน้ำ โดยเปลี่ยนน้ำวันละ 1-2 ครั้ง (ให้แช่น้ำจนกว่าเมื่อนำหัวมาแตะกับลิ้นแล้วไม่มีรสเบื่อเมา) หลังจากนั้นจึงนำหัวมาต้มรวมกับถั่วดำและชะเอม (หัวโหราเดือยไก่ 50 กิโลกรัม ต่อถั่วดำ 5 กิโลกรัม และต่อชะเอม 2.5 กิโลกรัม) โดยต้มจนหัวสุก (เนื้อในหัวเมื่อสุกแล้วจะมีสีน้ำตาลเข้ม) จากนั้นจึงนำหัวที่ได้มาล้างแล้วตากให้แห้ง จึงเก็บไว้ใช้เป็นยาได้[1]
  • นอกจากนี้ยังมีวิธีการกำจัดพิษก่อนนำมาใช้ อีกหลายวิธี เช่น
    • หู่จื้อแช่น้ำเกลือ ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเน่าเสีย และสะดวกในการเก็บรักษา[2]
    • หู่จื้อแว่นสีดำและหู่จื้อแว่นสีขาว ที่ผ่านกรรมวิธีการการกำจัดพิษมาแล้ว สามารถนำมาใช้เข้าตำรับยาได้เลย[2]
    • หู่จื้อคั่ว มีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่ไตเพื่อให้ม้ามฟื้นคืนสู่สภาพปกติ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการหนาวเย็นปวดท้องและทรวงอก มีอาการเจียนและท้องเสีย[2]
    • หู่จื้อจืด มีฤทธิ์แรงในการช่วยเสริมหยางเพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัว ช่วยบรรเทาอาการปวด เหมาะสำหรับผู้ที่หยางพร่องมาก ชีพจรเต้นอ่อน มือเท้าเย็น เกิดอาการบวมน้ำ[2]

ขนาดและวิธีใช้โหราเดือยไก่

  • ให้ใช้ยาแห้งที่ผ่านกรรมวิธีกำจัดพิษแล้วครั้งละ 2-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น ส่วนยาสดให้ใช้เฉพาะภายนอก และห้ามนำมารับประทาน[1]

วิธีแก้พิษโหราเดือยไก่

  • ให้ทำการล้างท้องด้วย 1-2% tannic acid ทำให้อาเจียน ให้ถ่านกัมมันต์ (activate charcoal) ให้น้ำเกลือ และทำการรักษาไปตามอาการ เช่น ให้ยากระตุ้น ทำให้ร่างกายอบอุ่น ให้ออกซิเจน ถ้าหัวใจเต้นช้าหรือเต้นอ่อน ให้ฉีด atropine เข้าทางใต้ผิวหนัง[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโหราเดือยไก่

  • สาร Alkaloids หลายชนิด เช่น Aconitine, Carmichaeline, Chuan-wubase A, Chuan-wu-base B, Hypaconitine, Mesaconitine, Talatisamine เป็นต้น[1]
  • สารสกัดจากโหราเดือยไก่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นหัวใจ โดยในตอนแรกจะทำให้หัวใจเต้นช้าลง ต่อมาจะทำให้หัวใจเริ่มเต้นเร็ว และทำให้หัวใจมีการบีบตัวแรงขึ้น ทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติอย่างเฉียบพลัน แล้วทำให้หัวใจหยุดเต้นในที่สุด[1]
  • เมื่อนำสาร Alkaloids ที่สกัดได้จากโหราเดือยไก่มาฉีดให้หนูทดลองในปริมาณ 0.05 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าสามารถแก้อาการปวดในหนูทดลองได้ ถ้าให้ในปริมาณ 0.1 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัมของหนูทดลอง จึงแสดงว่าสารที่กล่าวมามีฤทธิ์ทำให้ชาและบรรเทาอาการ[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “โหราเดือยไก่”.  หน้า 634.
  2. สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้.  “หู่จื้อ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : tcm.dtam.moph.go.th.  [20 ก.ย. 2014].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด