โสมอเมริกา
โสมอเมริกา ชื่อสามัญ American gingseng, Asiatic gingseng, Redberry[1],[2]
โสมอเมริกา ชื่อวิทยาศาสตร์ Panax quinquefolius L. จัดอยู่ในวงศ์เล็บครุฑ (ARALIACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย ARALIOIDEAE[1] (Panax มาจากคำว่า Panaxis ที่ได้มาจากภาษากรีกโบราณคำว่า “Panacia” ที่แปลว่า “รักษาได้ทุกโรค”)[2]
สมุนไพรโสมอเมริกา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โสมห้านิ้ว, โสมห้าใบ, โสม, โสมเกาหลี, โสมจีน, โสมญี่ปุ่น, ส่วนจีนเรียก “Xi Yang Shen”[1],[2]
ข้อควรรู้ : โสมอเมริกาเป็นโสมคนละชนิดกับโสมเกาหลีหรือโสมจีน ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panax ginseng C.A.Meyer.)[1],[2]
ลักษณะของโสมอเมริกา
- ต้นโสมอเมริกา พบขึ้นครั้งแรกในป่าแถบอเมริกาเหนือ และได้มีการเพาะปลูกครั้งแรกในประเทศอเมริกาเมื่อปลายปี ค.ศ.1800 จัดว่ามีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีอายุเกินกว่า 2 ปี ต้นมีความสูงได้ประมาณ 2-3 ฟุต แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบลำต้น ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ต้นโสมเป็นพืชที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี โดยจะต้องควบคุมในเรื่องของอุณหภูมิ แสงแดด และความชื้นอย่างเหมาะสม มิฉะนั้นรากโสมจะไม่สมบูรณ์ ในสมัยก่อนจะมีปลูกกันในแถบป่าทางเอเชียตะวันตก แต่ในปัจจุบันมีการปลูกมากในอเมริกา แคนาดา เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน[1]
- รากโสมอเมริกา ต้นโสมต้นหนึ่งจะมีรากอยู่ประมาณ 2-3 แฉกขึ้นไป รากนี้จะมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกใหญ่ สีนวล มีขนาดกว้างประมาณ 1-2 นิ้ว และยาวประมาณ 0.5-1.5 ฟุต[1]
- ใบโสมอเมริกา ใบเป็นใบประกอบ ลักษณะใบคล้ายนิ้วมือคน ใบย่อยแผ่ออกไป 3-5 ใบ แผ่นใบเป็นสีเขียว[1]
- ดอกโสมอเมริกา ออกดอกเป็นช่อ โดยจะอยู่ตรงส่วนยอดของต้นหรือตามซอกใบ ดอกเป็นสีขาวอมเขียว[1]
- ผลโสมอเมริกา ผลเมื่อสุกจะเป็นสีแดง[1]
สรรพคุณของโสมอเมริกา
- รากใช้เป็นยากระตุ้นหัวใจและสมอง มีฤทธิ์เป็นยากล่อมประสาท (ราก)[1]
- รากมีสรรพคุณช่วยทำให้ทางเดินโลหิตดีขึ้น (ราก)[1]
- ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด[2]
- ใช้เป็นยาบำรุงปอดสำหรับผู้ที่มีไอแห้ง อันเนื่องมาจากควันพิษของบุหรี่[2]
- ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน[2]
- ช่วยบรรเทาสาเหตุของโรคที่เกี่ยวกับปอด และช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก[2]
- ช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ และช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร[2]
- ช่วยกระตุ้นการขับของเสียออกจากร่างกาย[2]
- ช่วยกระตุ้นการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังตามธรรมชาติ ช่วยรักษาสภาพผิวหนังและป้องกันการเกิดโรคผิวหนัง[2]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาระงับอาการปวด (ราก)[1]
- ช่วยลดผลจากการกระทบกระเทือนที่เกิดขึ้นในผู้สูงวัย[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโสมอเมริกา
- สารสำคัญที่พบ มีไกลโคไซด์ชื่อ ginsenin, pacacen, panaxin, panaxic acid, panaquilon[1]
- จากการทดลองหลายครั้งพบว่า สารประกอบที่มีอยู่ในโสมอเมริกา จะมีฤทธิ์ตัวยามากกว่าโสมเอเชียถึง 2 เท่า โดยเฉพาะตัวยา Rb ที่มีประโยชน์กับสุขภาพ ใช้ได้กับทุกเพศ ทุกวัย เหมาะสำหรับการบำรุงร่างกาย[2]
ประโยชน์ของโสมอเมริกา
- โสมเป็นสมุนไพรที่นิยมใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยประเทศทางตะวันออกมีความเชื่อว่าโสมเป็น “ยาครอบจักรวาล” ที่ช่วยเพิ่มพลัง[3] โดยโสมอเมริกาสามารถลดอาการเมื่อยล้าได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยช่วยเพิ่มระดับพลังงาน บรรเทาความอ่อนเพลียเมื่อยล้าของร่างกาย ทำให้ร่างกายมีการปลดปล่อยพลังงานมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในขณะทำงานหรือออกกำลังกาย ช่วยทำให้ผนังเซลล์ดูดซึมออกซิเจนได้เพิ่มขึ้น มีผลทำให้ขบวนการเผาผลาญในร่างกายมีมากขึ้น ร่างกายจึงปลดปล่อยพลังงานออกมาได้มาก จึงทำให้เหน็ดเหนื่อยช้า มีความทนทานต่อการทำงานหนักมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย ทำให้ใช้เวลาในการฟื้นตัวเป็นไปอย่างรวดเร็วหลังจากออกกำลังกายหรือผ่านสภาวะกดดัน และยังช่วยทำให้คุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรใหม่ ๆ มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น[2],[3]
- ในเมืองจีนมีการขนานนามให้โสมอเมริกาเป็น “พืชสมุนไพรทอง” เนื่องจากโสมอเมริกาเป็นสมุนไพรที่มีช่วยในการบำบัด ให้พลังงานในด้านเย็นโดยธรรมชาติ ช่วยขจัดความร้อนในร่างกาย โดยเฉพาะความร้อนทีเกิดมากในปอดและช่องท้อง จึงช่วยทำให้ปอดชุ่มชื่นขึ้นและปรับสภาพให้ปอดและร่างกายเย็นลง[2]
- ช่วยปรับระบบภายในร่างกายให้เกิดความสมดุล (รักษาความสมดุลของการทำงานของร่างกาย) ช่วยส่งเสริมกำลังการไหลเวียนของของเหลวภายในร่างกาย[2]
- ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร แนะนำว่าให้ใช้โสมอเมริกาเพื่อบรรเทาอาการเครียด เพราะโสมอเมริกามีสรรพคุณช่วยลดความเครียด บรรเทาอาการนอนไม่หลับ มีอิทธิพลต่อการตอบสนองของระบบประสาท ช่วยกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยเพิ่มสมาธิและความสามารถในการเรียนรู้และรับรู้ และช่วยเพิ่มการสะสมของโปรตีนและการทำงานของเส้นประสาทในสมอง[2],[3]
- โสมช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และช่วยต่อต้านสารพิษต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อมได้ดี[3] และช่วยกระตุ้นเซลล์ให้สร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านการติดเชื้อไวรัส ช่วยเพิ่มการผลิตโฮโมนธัยมัส ซึ่งสำคัญต่อการทำหน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายสามารถต้านทานต่อยา แอลกอฮอล์ เคมีบำบัด และสารพิศต่าง ๆ ได้มากขึ้น[2] มีการทดลองในสัตว์ที่พบว่าโสมสามารถช่วยเพิ่มการตอบสนองของภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น 50% มีปฏิกิริยาตอบสนองของเม็ดเลือดขาวต่อสารเคมีสูงขึ้น มีอัตราการทำลายจุลินทรีย์หรืออนุภาคแปลกปลอมต่าง ๆ ของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น จึงทำให้เม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้ร่างกายสามารถต้านทานโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อรา เชื้อไวรัส สารเคมีต่าง ๆ ตลอดจนการช่วยต่อต้านโรคภูมิแพ้หรือโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิด ๆ ต่างได้ดี[3]
- โสมมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะที่ช่วยชะลอความแก่ได้ เป็นที่ทราบกันดีว่าสารอนุมูลอิสระที่เป็นตัวทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ให้เสื่อมสลายลง อันเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของความแก่ ซึ่งโสมสามารถช่วยทำลายอนุมูลอิสระเหล่านี้ได้ จึงช่วยทำให้เนื้อเยื่อเสื่อมช้าลง ประกอบกับคุณสมบัติที่มีอยู่ในโสมที่เป็นตัวช่วยปรับสภาพของร่างกายและจิตใจให้มีความทนทานต่อความกดดันมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลช่วยลดขบวนการของความแก่อีกทางหนึ่ง ดังนั้น โสมจึงสามารถช่วยชะลอความแก่ชราได้[3]
- ใช้ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โดยช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และในบางกรณียังแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนเซลล์มะเร็งให้เป็นเซลล์ซึ่งทำหน้าที่ตามปกติ อีกทั้งยังช่วยชะลอการพัฒนาของโรคเอดส์[3]
- ช่วยปรับสภาพการทำงานทั่วไปของหลอดเลือดหัวใจ ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเส้นเลือด และช่วยลดลายสารพิษค้างในหลอดเลือดหัวใจ[2]
- ช่วยเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดแดง และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคโลหิตจาง[2]
- ช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยควบคุมการสันดาปของกลูโคส ช่วยทำให้ต่อมในตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น ช่วยป้องกันการเกิดอาการมึนชาตามนิ้วมือนิ้วเท้า และการเกิดผลเน่าเปื่อย นอกจากนี้สาร ginsenoside Rb และ ginsenoside Rc ยังออกฤทธิ์คล้ายกับอินซูลิน จึงช่วยลดขนาดการใช้อินซูลินจากภายนอกในการรักษาคนไข้โรคเบาหวานได้อีกด้วย[2],[3]
- ช่วยลดความดันโลหิตสูง[2]
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ช่วยป้องกันไขมันส่วนเกิน โดยลดความกดดันทางด้านกายภาพ ทางเคมี และทางชีวภาพของร่างกาย[2]
- ในสมัยโบราณจะเชื่อกันว่าโสมเป็นตัวกระตุ้นความกำหนัดทางเพศ แต่ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า โสมไม่ได้ทำฮอร์โมนทางเพศเปลี่ยนแปลง แต่การที่โสมสามารถช่วยทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้นและรักษาโรคสมรรถภาพทางเพศเสื่อม เป็นผลมาจากคุณสมบัติที่ทำให้สุขภาพจิตและสมรรถภาพร่างกายที่ดีขึ้น[3] ในเพศชายโสมจะช่วยปรับสภาพร่างกาย ช่วยกระตุ้นต่อมเพศของผู้ชาย จึงช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ลดอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ ส่วนในเพศหญิง โสมจะช่วยปรับสภาพร่างกาย โดยเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิง จึงช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ และช่วยบรรเทาอาการวัยหมดประจำเดือน[2]
- โสมมีประโยชน์ต่อระบบต่อมน้ำเหลืองหรือต่อมในเลือด โดยเฉพาะต่อมใต้สมองและต่อมอะดรีนัล ช่วยป้องกันการขยายตัวจนเกินขอบเขตของต่อมอะดรีนัล[2]
ข้อควรระวังในการใช้โสมอเมริกา
- สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน[2] (เมื่อคลอดลูกอาจจะมีขนมาก)[3]
- ถ้าหากมีอาการตาแดง เกิดผื่นบริเวณผิวหนัง และมีอาการท้องร่วง ควรเลิกรับประทานโสมทันที[2]
- ผู้ที่รับประทานโสมในปริมาณมากติดต่อกันนาน ๆ อาจเกิดอาการที่ประกอบไปด้วยความดันโลหิตสูง มีอาการนอนไม่หลับ มีผื่น และมีอาการท้องร่วง หรือที่เรียกว่า “ginseng abuse syndrome”[3]
- สำหรับผู้ที่หัวใจอ่อน ไม่แนะนำให้กินชาเอี่ยมเซียม หรือน้ำโสมอเมริกันในระยะยาวนานจนเกินไป เพราะประสาทอาจถูกกระตุ้นมากจนเกินไป
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “โสม”. หน้า 791-792.
- “โสมอเมริกา (PANAX QUINQUEFOLIUM)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.geocities.ws/pnc_piyaporn/. [09 ก.ย. 2014].
- งานการพยาบาลผู้ป่วยพิเศษทั่วไป, โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่. “สมุนไพรน่ารู้ เรื่อง โสม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th. [09 ก.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Alan Cressler, pverdonk, Akın Demir, savard fabien, pverdonk)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)