โสน สรรพคุณและประโยชน์ของดอกโสน 15 ! (โสนกินดอก)

โสน สรรพคุณและประโยชน์ของดอกโสน 15 ! (โสนกินดอก)

โสน

โสน ชื่อสามัญ Sesbania, Sesbanea pea[2], Sesbania flowers[3]

โสน ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesbania javanica Miq. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1]

สมุนไพรโสน (อ่านว่า สะ-โหน๋) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักฮองแฮง (ภาคเหนือ), โสนกินดอก โสนหิน โสนดอกเหลือง (ภาคกลาง), สี่ปรีหลา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2]

ข้อควรรู้ ! : ดอกโสนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา[2]

ลักษณะของต้นโสน

  • ต้นโสน มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียจากอินเดียไปทางตะวันออกจนถึงประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุ 1 ปี มีความสูงของต้นได้ประมาณ 1-4 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ เป็นเหลี่ยมหรือมีร่องละเอียดตามความยาวของลำต้น เนื้อไม้อ่อนและกลวง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เติบโตได้ในบริเวณที่มีน้ำขังในดินแถบภาคกลางและดินเหนียว พบขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมักพบขึ้นในพื้นที่ที่มีน้ำขัง แถบลุ่มน้ำ ริมทาง ริมหนองน้ำ คลองบึง หรือลำประดง[1],[2],[3]

ต้นโสน

  • ใบโสน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับบนลำต้น แต่ละช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 10-30 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปกลมหรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 1.2-2.5 มิลลิเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ ที่โคนก้านใบมีหนามแหลมยาว 2 อัน[1],[2]

ใบโสน

  • ดอกโสน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดหรือเป็นช่อกระจุก โดยจะออกตามซอกใบ ซอกกิ่ง และปลายกิ่ง ช่อดอกยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีดอกย่อยประมาณ 5-12 ดอกต่อช่อ ดอกย่อยเป็นสีเหลือง ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ บางครั้งกลีบด้านนอกมีจุดกระสีน้ำตาลหรือสีม่วงแดงกระจายทั่วไป กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว โคนกลีบเชื่อมติดกัน[1],[2] ดอกโสนจะออกดอกมากในช่วงปลายฤดูฝนประมาณช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม[3]

ดอกโสน

โสนกินดอก

  • ผลโสน ผลมีลักษณะเป็นฝักกลมยาวขนาดเล็ก ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะกลายเป็นสีม่วงและสีน้ำตาล พอฝักแก่จะแตกออกเองตามขวางของฝัก ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 18-20 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ดเรียงอยู่ภายใน เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม เป็นมันเงาสีน้ำตาล มีขนาดประมาณ 0.05 เซนติเมตร เมื่อต้นโสนออกดอกและติดเมล็ดแล้วต้นโสนจะค่อย ๆ แห้งเหี่ยวและตายไปในที่สุด[1],[2]

ผลโสน

สรรพคุณของโสน

  1. ดอกโสนมีรสจืด มัน เย็น มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษร้อน ถอนพิษไข้ (ดอก)[2],[4]
  2. รากโสนมีรสจืด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ (ราก)[1]
  3. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาสมานลำไส้ (ดอก)[1]
  4. ใช้แก้อาการปวดมวนท้อง (ดอก)[4]
  5. ต้นโสนมีรสจืด แพทย์แผนโบราณจะนำต้นมาเผาให้เกรียม แล้วนำมาแช่น้ำให้เป็นด่าง ใช้ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น)[1],[4]
  6. ใบใช้ตำเป็นยาพอกแผล ส่วนดอกก็สามารถนำมาปรุงเป็นยาพอกแผลได้เช่นกัน (ใบ)[1],[4]
  7. ใบโสนมีรสจืดเย็น นำมาตำผสมกับดินประสิวและดินสอพอง ใช้เป็นยาพอกแก้ปวดฝี ช่วยถอนพิษ (ใบ)[1]
  8. ดอกใช้เป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ดอก)[3],[4]

ประโยชน์ของต้นโสน

  1. ดอกโสนมีรสออกหวานเล็กน้อย นิยมใช้รับประทานเป็นผักหรือนำมาใช้ประกอบหรือทำอาหารคาวหวานรับประทาน เมนูดอกโสน ที่นิยมกันมาก ได้แก่ ดอกโสนผัด ดอกโสนผัดน้ำมันหอย ดอกโสนผัดไข่ ไข่เจียวดอกโสน ดอกโสนลวกจิ้มกับน้ำพริกกะปิกินกับปลาทู ดอกโสนจิ้มน้ำพริกมะนาว ดอกโสนชุบแป้งทอดกรอบกินกับขนมจีนน้ำพริก ยำดอกโสน ดอกโสนดองน้ำเกลือ แกงส้มดอกโสนกับปลาช่อน ดอกโสนแกงใส่ไข่มดแดง หรือแกงเผ็ดอะไรก็ได้ใส่ดอกโสน แต่ถ้าใช้ประกอบอาหารหวานก็จะมีข้าวเหนียวมูนดอกโสน ขนมดอกโสน ขนมขี้หนู ขนมบัวลอย เป็นต้น[1],[2],[3],[4]
  2. ในทางโภชนาการพบว่า ดอกโสนจะอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่มีส่วนช่วยบำรุงกระดูกและสมอง มีธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงโลหิต มีวิตามินเอที่ช่วยต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 และวิตามินซี อีกพอสมควร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก โดยคุณค่าทางโภชนาการของดอกโสน ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 38 กิโลแคลอรี, ไขมัน 0.5 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 5.9 กรัม, โปรตีน 2.5 กรัม, ใยอาหาร 2.2 กรัม, ความชื้น 87.7 กรัม, วิตามินเอ 3,338 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.13 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.26 มิลลิกรัม, วิตามินซี 51 มิลลิกรัม แคลเซียม 62 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 2.1 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 62 มิลลิกรัม (ข้อมูลจาก : กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)[2],[3]
  3. จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า ดอกโสนมีสารเควอเซทิน ไกลโคไซด์ (Quercetin 3-2 (G)-rhamnosylrutinoside) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญและเป็นสารฟลาโวนอยด์ที่สำคัญ โดยมีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ในเซลล์เพาะเลี้ยงในห้องทดลอง จากการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารชนิดนี้พบว่า เควอเซทินมีฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตายด้วยกระบวนการอะพ็อปโทซิส (apoptosis) ช่วยหยุดยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ช่วยระงับการอักเสบ และช่วยป้องกันอันตรายของเซลล์ปกติต่อความเครียดจากกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ[2]
  4. นอกจากนี้ยังนำมาใช้แต่งสีอาหารได้อีกด้วย โดยจะให้สีเหลือง ซึ่งเป็นสารแคโรทีนอยด์ (caiotenoid) โดยวิธีการเตรียมสีเหลืองจากดอกโสน ก็ให้นำดอกโสนสดที่ล้างสะอาดแล้วมาบดหรือโม่ผสมกับแป้งที่จะใช้ทำขนม จะทำให้ได้แป้งสีเหลืองที่มีกลิ่นหอม แล้วจึงนำแป้งที่ได้ไปใช้ทำขนมต่าง ๆ[4]
  5. เนื้อไม้ของต้นโสนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมได้หลายอย่าง โดยไม้โสนจะใช้ทำเป็นของเล่นเด็กมาตั้งแต่โบราณ ส่วนเยื่อไม้ที่มีลักษณะเบา บาง และเหนียว ก็นำมาประดิษฐ์ทำเป็นดอกไม้ได้อย่างประณีตและงดงาม (ดอกไม้ประดิษฐ์จากต้นโสน หรือ ดอกไม้จากต้นโสน) การใช้ไม้โสนมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้นั้นมีสืบทอดมาตั้งแต่อดีตแล้ว และในปัจจุบันชาวอยุธยาจะใช้เนื้อไม้จากต้นโสน (ชนิดลำต้นใหญ่ คนละชนิดกับโสนกินดอก) มาประดิษฐ์เป็นดอกไม้หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ดอกกุหลาบ ดอกจำปา ดอกมะลิ ฯลฯ เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง[2]
  6. ไม้โสนยังสามารถนำมาใช้เป็นทุ่นหรือเชื้อติดไฟได้ดี[3]
  7. ในปัจจุบันได้มีการนำใบและดอกโสนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ 2 ชนิด คือ ชาดอกโสน และชาจากยอดใบโสน เนื่องจากดอกโสนมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เมื่อนำมาทำชา ก็ได้ชาที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ให้รสชาติอ่อนนุ่ม โดยสามารถทำเองได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง หรือนำไปพัฒนาและผลิตเป็นสินค้าประจำท้องถิ่นก็ได้ โดยชาดอกโสน สามารทำได้โดยการนำดอกโสนไปอบที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วนำมาบรรจุซองในปริมาณ 3 กรัมต่อซอง (ถ้าบดละเอียดจะใช้ 2 กรัมต่อซอง) ส่วนยอดใบโสนนั้นพบว่ามีวิตามินเอสูง ชาที่ได้จะมีกลิ่นหอมเข้มกว่าชาดอกโสน วิธีการทำก็คือให้นำใบมาคั่วไฟกลางครั้งละ 50 กรัม ประมาณ 20 นาที แล้วนำไปอบที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง บรรจุในซองขนาด 3 กรัมต่อซอง (มณีรัตน์ ปัญญพงษ์)
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “โสนกินดอก (Sano Kin Dok)”.  หน้า 311.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 369 คอลัมน์ : บทความพิเศษ.  (รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ).  “ดอกโสนบ้านนา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [05 ต.ค. 2014].
  3. สถาบันการแพทย์แผนไทย.  “โสน : ผักพื้นบ้าน อาหารแบบไทย ๆ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ittm-old.dtam.moph.go.th.  [05 ต.ค. 2014].
  4. รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “โสน”.  บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2547  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th.  [05 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : agri.wu.ac.th, www.jircas.affrc.go.jp, www.thongthailand.com, www.kasetporpeang.com (by FUJI)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด