โสก
โสก ชื่อสามัญ Asoka, Asoke tree, Saraca[4]
โสก ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca indica L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Saraca bijuga Prain)[1],[6] จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1]
สมุนไพรโสก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โสกน้ำ (สุราษฎร์ธานี), ชุมแสงน้ำ (ยะลา), ส้มสุก (ภาคเหนือ), ตะโคลีเต๊าะ (มลายู-ปัตตานี), กาแปะห์ไอย์ (มลายู-ยะลา), อโศก, โศก, อโศกน้ำ, อโศกวัด เป็นต้น[1],[2],[4]
ลักษณะของต้นโสก
- ต้นโสก หรือ ต้นโศก มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศอินเดีย จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่มีความสูงของต้นได้ประมาณ 5-15 เมตร และอาจสูงได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดเป็นรูปทรงกลมพุ่มทึบ แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม ปลายกิ่งห้อยย้อยลู่ลง เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือแตกเป็นร่องตื้นตามยาวและตามขวางของลำต้น ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ชอบดินร่วนที่ระบายน้ำดีและมีความอุดมสมบูรณ์สูง ชอบอยู่ริมน้ำ ต้องการความชื้นสูง มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน ลาว เวียดนามตอนใต้ คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และชวา ในบ้านเราพบได้ทุกภาคของประเทศ โดยจะขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 900 เมตร[1],[2],[3],[4],[6]
- ใบโสก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับ แกนกลางใบยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 1-7 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกปลายใบมนหรือแหลม โคนใบกลม เป็นรูปหัวใจ หรือเป็นรูปลิ่ม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-30 เซนติเมตร แผ่นใบบาง เกลี้ยง ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อนออกเหลือง ก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร[1],[2],[3]
- ดอกโสก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่นตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 10-20 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ส่วนฐานรองดอกยาวประมาณ 0.7-1.6 เซนติเมตร ดอกเป็นสีแสดจนถึงสีแดง กลีบเลี้ยงเป็นหลอดเรียวยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร บริเวณปลายแยกเป็น 4 แฉก ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนาน ปลายมน ยาวประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ไม่มีกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 6-8 อัน เกสรเพศผู้ยาวพ้นจากปากหลอด รังไข่มีขนตามขอบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์[1],[2],[3],[4]
- ผลโสก ผลมีลักษณะเป็นฝักทรงแบน รูปไข่ หรือรูปรีแกมขอบขนาน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-30 เซนติเมตร ปลายฝักเป็นจะงอยสั้น ๆ ก้านฝักยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร เมื่อแก่ฝักจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด เมล็ดโสกมีลักษณะเป็นรูปไข่แบน และฝักจะเกิดจากดอกสมบูรณ์เพศเท่านั้น โดยจะติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม[1],[2],[3],[6]
หมายเหตุ : แต่เดิมพรรณไม้ชนิดนี้จะใช้ชื่อว่า “โศก” หรือ “อโศก” แต่ความหมายมีแต่ความทุกข์ ความเศร้า จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “โสก” แทน และต้นโสก (Saraca indica L.) ที่กล่าวถึงในบทความนี้ ไม่ใช่ต้นเดียวกันกับต้นอโศกของอินเดีย (Asoka tree) ซึ่งเป็นชนิด Saraca asoca (Roxb.) de Wilde ที่ชาวอินเดียนิยมใช้บูชาพระและถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรัก โดยต้นอโศกชนิดนี้จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับต้นโสกหรือโสกน้ำมาก แต่ฝักจะมีขนาดที่เล็กกว่า และมีใบประดับหุ้มที่ก้านดอก[2]
สรรพคุณของโสก
- ดอกโสกมีรสหอมเปรี้ยว มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ (ดอก)[1],[3]
- แพทย์พื้นบ้านในอินเดียจะนิยมใช้เปลือกและราก นำมาปรุงเป็นยาบำรุงโลหิต (เปลือกและราก)[5]
- ดอกใช้เป็นยาแก้ไอ (ดอก)[1],[3]
- ดอกใช้กินเป็นยาขับเสมหะ (ดอก)[1],[3]
ประโยชน์ของโสก
- ใบอ่อนและดอกสามารถนำมาใช้ประกอบอาหาร ทำแกงส้ม ยำ หรือรับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกก็ได้[3] โดยคุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย โปรตีน 2.1 กรัม, ไขมัน 1.7 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 14 กรัม, ใยอาหาร 1.2 กรัม, แคลเซียม 46 มิลลิกรัม, วิตามินซี 14 มิลลิกรัม[6]
- มีบ้างที่มีการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ปลูกตามวัด ปลูกประดับอาคารสถานที่ ปลูกเป็นร่มเงาตามสวนสาธารณะต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อม เพราะมีทรงพุ่มสวย และดอกมีสีสันสวยงาม แต่ควรปลูกไว้ริมน้ำ เพื่อเป็นฉากหลังของพื้นที่หรือให้ร่มเงา แต่จะไม่นิยมปลูกตามบ้าน[4]
- นอกจากนี้ต้นโสกยังเป็นพืชล่อแมลง เช่น ผีเสื้อ เนื่องจากช่อดอกเป็นหลอดคล้ายดอกเข็มทำให้มีน้ำหวานมาก ผีเสื้อจึงมักชอบมากินน้ำหวานจากดอกโสก (อุทยานหลวงราชพฤกษ์)
- ในด้านของความเชื่อนั้น แท้จริงแล้วต้นโสก หรือ “อโศก” จะหมายถึง ความไม่มีโศกเศร้า เป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ไม่โศกเศร้า เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งในทางพุทธศาสนาจะเรียกว่า “ความเมตตา” หาใช่ชื่อว่า “โศก” ที่หมายถึงของโศกเศร้าแต่อย่างใด[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “โสก”. หน้า 186.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “โสก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [06 ต.ค. 2014].
- หนังสือ Flora of Thailand Volume 4 Part 1. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “โสกน้ำ”. หน้า 97.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “โสกน้ำ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th. [06 ต.ค. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 310 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “โศก : สัญลักษณ์ของความรักจากตะวันออก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [06 ต.ค. 2014].
- ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “อโศกน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/. [06 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Sh@ist@, SierraSunrise, Sumaiya Akter Snigdha, snonymous1, Karl Gercens, Christian Defferrard)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)