โรคมือเท้าปาก อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคมือเท้าปาก 8 วิธี !!

โรคมือเท้าปาก

มือเท้าปาก (Hand Foot and Mouth disease – HFMD*) เป็นโรคไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็ก ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งติดต่อได้ง่าย มักมีอาการไม่รุนแรง และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ ในบ้านเรามีรายงานระบุว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากมากขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่จะพบได้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี จึงมักพบการระบาดได้ในโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็ก สำหรับผู้ใหญ่ก็อาจพบว่าเป็นโรคนี้ได้บ้าง แต่จะเป็นการติดเชื้อโดยที่ไม่แสดงอาการ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อได้อยู่

หมายเหตุ : โรคนี้เป็นโรคคนละชนิดกับโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยที่พบได้ในสัตว์กีบคู่ (เช่น โค กระบือ หมู แพะ แกะ) ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่ติดต่อมาสู่คน (หรือจากคนไปสู่สัตว์) ยกเว้นในกรณีที่คนไปสัมผัสคลุกคลีอยู่กับสัตว์ที่ป่วยหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในห้องทดลองเกี่ยวกับโรคในสัตว์เหล่านี้ ที่อาจมีรายงานการติดเชื้อได้บ้าง[2]

โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปีในแถบร้อนชื้น โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่อาจพบได้ในเด็กที่มีอายุมากกว่านี้ก็ได้ ซึ่งจากรายงานสถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศไทย พ.ศ.2557 ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสะสมด้วยโรคมือเท้าปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,317 ราย และมีรายงานการเสียชีวิตเพียง 2 ราย โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2547-2556) มีแนวโน้มการเกิดโรคนี้สูงขึ้นทุกปี ซึ่งในแต่ละปีจะมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม หลังจากนั้นจะมีจำนวนลดลง และเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคนี้อยู่แล้ว (ช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว)[3] ส่วนสถิติในด้านอื่น ๆ ที่เป็นข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.2555 พบว่า[2]

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่า 5 ปีมากที่สุด ตามด้วยกลุ่มอายุ 5-9 ปี และ 10-14 ปี คิดเป็น 242.76, 18.70 และ 2.54 คน ต่อประชากร 1000,000 คนตามลำดับ
  • ในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะพบโรคนี้ได้มากที่สุดในเด็กอายุ 1 ปี รองลงมาคือ 2 และ 3 ปี คิดเป็น 28.18%, 26.11% และ 17.39% ของผู้ป่วยตามลำดับ
  • เด็กชายจะมีโอกาสเป็นมากกว่าเด็กหญิง (ในอัตราส่วน 1 : 0.72)
  • จะพบผู้ป่วยในภาคเหนือมากที่สุด รองลงมาคือภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 26.61, 26.03, 16.58 และ 8.52 คน ต่อประชากร 100,000 คนตามลำดับ

สาเหตุของโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อกลุ่มไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลากหลายสายพันธุ์ (มากกว่า 100 สายพันธุ์) ได้แก่ ค็อกแซคกีเอและบี (Coxsackie A, B), ไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 (Enterovirus 71 – EV71), ไวรัสเอ็คโคไวรัส (Echovirus) สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือการระบาดจากการติดเชื้อไวรัสค็อกแซคกีเอชนิด 16 (Coxsackievirus A 16) ซึ่งอาการมักจะไม่รุนแรง และผู้ป่วยมักจะหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสาเหตุที่พบได้น้อยและมีอาการรุนแรง คือ การติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ (นอกจากนี้ในบางครั้งยังอาจเกิดการระบาดได้จากเชื้อไวรัสค็อกแซคกีเอชนิด 5, 7, 9, 10 และเชื้อไวรัสค็อกแซคกีบีชนิด 2 และ 5 และอาจเกิดเชื้อไวรัสเอ็คโคไวรัสได้บ้าง)

การติดต่อ : โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ ละอองน้ำมูกน้ำลาย หรือน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อโดยทางอ้อมจากการสัมผัสสิ่งของหรือของเล่น สัมผัสพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ ดูดเลียนิ้วมือ รวมถึงจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือของผู้เลี้ยงดูที่ไม่สะอาด เป็นต้น โดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็ก

ระยะฟักตัวของโรค : เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน ผู้ป่วยจึงจะแสดงอาการ

การเป็นซ้ำ : โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก ถ้าเชื้อไวรัสที่ได้รับมาเป็นคนละสายพันธุ์กับที่เคยเกิด เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่ง ๆ อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของไวรัสเอนเทอโรเช่นเดียวกันก็ตาม

อาการของโรคมือเท้าปาก

  • เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการไข้ และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย
  • หลังจากนั้น 1-2 วัน ผู้ป่วยจะมีน้ำมูก เจ็บปาก เจ็บคอ ไม่ยอมดูดนม ไม่อยากรับประทานอาหาร ในเด็กเล็กจะมีน้ำลายยืดมากกว่าปกติ และอาจร้องไห้งอแง เมื่อตรวจดูในช่องปากจะพบว่ามีจุดนูนแดง ๆ หรือมีน้ำใสอยู่ข้างใต้ ขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้น และเหงือก ซึ่งต่อมาจะแตกกลายเป็นแผลตื้น ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร ซึ่งเจ็บมาก ในขณะเดียวกันก็จะมีผื่นขึ้นที่มือและเท้า ในบางรายขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วมือ หรือแก้มก้นด้วย ซึ่งในตอนแรกจะขึ้นเป็นจุดแดงราบก่อน แล้วต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำตามมา ซึ่งจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.3-0.7 เซนติเมตร
  • อาการไข้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วันก็จะทุเลาลงไปเอง แผลในปากมักจะหายได้เองภายใน 7 วัน ส่วนตุ่มที่มือและเท้าจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน และมักจะไม่ทำให้เกิดแผลเป็น (หากไม่มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น)
  • ในรายที่เป็นรุนแรง (เป็นกรณีที่พบได้น้อย) อาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนรุนแรง ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบ
  • ผู้ใหญ่อาจติดเชื้อได้โดยไม่มีอาการแสดง แต่ยังสามารถแพร่เชื้อออกมาทางอุจจาระได้อยู่ ดังนั้น ควรป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดยการล้างมือด้วยสบู่หลังถ่ายอุจจาระและก่อนการเตรียมอาหาร

การวินิจฉัยโรคมือเท้าปาก

โรคนี้แพทย์มักจะวินิจฉัยได้จากลักษณะอาการที่แสดงและการตรวจร่างกายของผู้ป่วย* ดังนี้

  • พบว่าผู้ป่วยมีไข้ 38-39 องศาเซลเซียส
  • พบจุดนูนแดง ตุ่มน้ำใส หรือแผลที่เยื่อบุปาก ลิ้น และเหงือก
  • พบจุดแดงราบ ตุ่มนูน หรือตุ่มน้ำที่มือ เท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และแก้มก้น
  • ในรายที่จำเป็น หรือผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์อาจทำการตรวจเชื้อไวรัสจากสิ่งคัดหลั่งที่คอหอย อุจจาระ หรือน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำบนผิวหนังเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าเป็นการติดเชื้อในกลุ่มนี้ (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เพราะไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย เนื่องจากมีราคาแพง และในบางสถานการณ์อาจทำไม่ได้เนื่องจากอุปสรรคทางเทคนิคต่าง ๆ) ได้แก่ การตรวจหายีนของไวรัสด้วยวิธี Polymerase chain reaction (PCR) ซึ่งจะใช้เวลาในการตรวจและรายงานผลประมาณ 1-3 วัน, และการเพาะเชื้อไวรัส (Virus culture) ซึ่งจะใช้เวลาเป็นสัปดาห์สำหรับผลการเพาะเชื้อไวรัส (ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจที่จะให้ผลรวดเร็วภายใน 1-2 ชั่วโมง)

อาการโรคมือเท้าปาก

อาการมือเท้าปาก

มือเท้าปากเปื่อย

โรคมือเท้าปากเปื่อย

สาเหตุโรคมือเท้าปาก

หมายเหตุ : โรคนี้ต้องแยกออกจากโรคที่มีอาการคล้ายกัน เช่น โรคไข้รูมาติก (เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดไข้ออกผื่น), เฮอร์แปงไจน่า (เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดผื่นตามผิวหนังและตุ่มน้ำในปาก), เริม, อีสุกอีใส, แผลร้อนใน, แผลพุพอง ฯลฯ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปาก

  • ในรายที่มีอาการคัน อาจเกาจนเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จนกลายเป็นตุ่มหนอง พุพอง
  • อาจเกิดภาวะขาดน้ำเนื่องจากการเจ็บแผลในปากจนทำให้ดื่มน้ำได้น้อย
  • ในบางรายอาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งมักจะไม่รุนแรง และจะหายได้เองภายใน 10 วัน
  • ในรายที่เป็นรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71* (พบได้น้อย) มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักกว่าที่เกิดจากเชื้อไวรัสค็อกแซคกีเอชนิด 16 โดยมักจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท ระบบหัวใจ และปอดได้สูง ได้แก่ สมองอักเสบ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก ภาวะปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) หรือเลือดออกในปอด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) ซึ่งอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ (แต่การติดเชื้อจากเชื้อไวรัสค็อกแซคกีเอชนิด 16 ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และภาวะช็อกได้ แต่จะพบได้น้อยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71)

หมายเหตุ : อาการแทรกซ้อนจะไม่สัมพันธ์กับจำนวนแผลในปากหรือตุ่มที่พบตามฝ่ามือหรือฝ่าเท้า เพราะในรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงอาจมีแผลเพียงไม่กี่จุดในลำคอ หรืออาจมีตุ่มขึ้นเพียงไม่กี่ตุ่มตามฝ่ามือหรือฝ่าเท้าก็ได้ พ่อแม่หรือผู้ปกครองจึงควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แม้ว่าผื่นและแผลในปากจะหายไปแล้วก็ตาม โดยสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนที่พ่อแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที มีดังนี้

  • เด็กมีอาการซึมลง ไม่เล่น หรือไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม
  • บ่นว่าปวดศีรษะ ปวดแบบทนไม่ไหว
  • มีอาการพูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับมีอาการซึมลง หรือเห็นภาพแปลก ๆ
  • มีอาการปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรับรู้ที่สับสน ซึมลง และอาเจียน
  • เกิดอาการสะดุ้งผวา ตัวสั่น ๆ แขนหรือมือสั่นบ้าง
  • มีอาการไอ หายใจเร็ว ดูเหนื่อย ๆ หน้าซีด มีเสมหะมาก โดยอาจจะมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้

วิธีรักษาโรคมือเท้าปาก

เนื่องจากการรักษาโรคมือเท้าปากในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะหรือมียาที่สามารถทำลายเชื้อไวรัสนี้ได้ และยังไม่มีวัคซีนที่จะได้ผลในการป้องกันเชื้อไวรัสในกลุ่มนี้ ดังนั้นการรักษาโดยทั่วไปจึงเป็นการรักษาไปตามแต่อาการของผู้ป่วย ในกรณีที่ป่วยเพลียมากหรือมีอาการหนักมาก แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้ แก้ปวด และ/หรือหยอดยาชาในปากเพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก รวมถึงการเฝ้าสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจ แต่สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อาการไม่รุนแรง ก็ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

  • ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ให้รักษาไปตามอาการด้วยวิธีดังต่อไปนี้
    1. หากมีไข้ให้เช็ดตัวและให้กินยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดไข้
    2. ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ จนสังเกตเห็นว่ามีปัสสาวะออกมาและใส
    3. ในช่วงที่มีอาการเจ็บแผลในปาก ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเหลวหรือของน้ำ ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม แกงจืด นม น้ำเต้าหู้ น้ำหวาน ฯลฯ (สำหรับทารกให้ใช้ช้อนป้อนหรือใช้กระบอกฉีดยาค่อย ๆ หยอดเข้าปากแทนการดูดจากขวด) และให้อมน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ดื่มน้ำหรือนมเย็น ๆ กินไอศกรีม (ความเย็นจะช่วยทำให้ชา ไม่เจ็บแผล) หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นบ่อย ๆ (ใส่เกลือแกง 1/2 ช้อนชา ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผล (พ่อและแม่มักเป็นกังวลหรือกลัวว่าถ้าให้ลูกกินของเย็น ๆ แล้วไข้จะขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วแม้ลูกจะไม่ได้กินของเย็น ไข้ก็ขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเด็กเจ็บแผลในปากก็ลองให้ลูกกินอะไรเย็น ๆ ดูครับ เพราะปกติเขาจะกินอะไรไม่ค่อยได้และหิวกระหายอยู่แล้ว การที่เขากินอะไรได้บ้างก็จะช่วยทำให้ไม่เพลียและฟื้นไข้ได้เร็วยิ่งขึ้น)
    4. แม้ว่าโรคนี้มักจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน หรือเต็มที่ก็ไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่แนะนำว่าควรสังเกตภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ปอด และหัวใจอย่างใกล้ชิด หากสงสัยว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
  • ในรายที่แผลกลายเป็นตุ่มหนองหรือพุพองจากการเกา แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นต้น
  • ถ้าผู้ป่วยมีอาการเจ็บแผลในปากจนรับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และแพทย์อาจให้ยาชาทาแผลในปากเพื่อช่วยลดความเจ็บปวด เช่น ยาชาลิโดเคน (Lidociane), เบนโซเคน (Benzocaine)
  • ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนรุนแรง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเช่นกัน
  • ในปัจจุบันได้มีการรักษาโดยใช้ยาบางชนิดหรือสารที่ช่วยให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยดีขึ้น (Intravenous immunoglobulin – IVIG) ในกรณีที่มีการติดเชื้อชนิดรุนแรง เพราะมีรายงานว่าอาจช่วยลดการลุกลามของปัญหาแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้บ้าง แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ยังอยู่ในวงจำกัด และยังต้องการหลักฐานจากการศึกษาทางการแพทย์เพิ่มเติม เพื่อให้ได้ผลในการรักษาที่ดี มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นอันตรายจากยาที่ใช้รักษา

วิธีป้องกันโรคมือเท้าปาก

เนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อกันได้โดยการรับเชื้อไวรัสจากทางเดินอาหาร น้ำมูก น้ำลาย และจากการหายใจเอาเชื้อที่แพร่จากผู้ป่วยเข้าไป (ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้) ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้

  1. เมื่อเกิดการระบาดของโรคนี้ ไม่ควรนำบุตรหลานเข้าไปในพื้นที่แออัด หรือเข้าไปคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก
  2. ฝึกให้เด็กมีสุขนิสัยที่ดี ไม่นำนิ้วมือหรือของเล่นเข้าปาก ส่วนผู้เลี้ยงเด็กควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และให้เด็กรับประทานแต่อาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และให้ดื่มน้ำสะอาด
  3. ผู้เลี้ยงดูเด็กและเด็กควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่ (ทั้งหน้ามือ หลังมือ เล็บ ซอกนิ้วมือ รอบนิ้วมือ และข้อมือทั้งสองข้าง) หลังจากถ่ายอุจจาระเสร็จ หลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังจากเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็ก ก่อนการเตรียมอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร
  4. รีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็วและทิ้งน้ำลงในโถส้วมเท่านั้น (ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ)
  5. หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ขวดนม แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน จาน ชาม เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว รวมทั้งของเล่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้ ในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็กควรเน้นให้บุคลากรและเด็กดูแลตนเองในเบื้องต้น ตลอดจนแยกสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของเด็กแต่ละคนออกจากกัน อย่าให้ปะปนกัน เพราะของเล่นต่าง ๆ อาจปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือสิ่งขับถ่ายของเด็กได้ และควรหมั่นทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอก แล้วล้างน้ำให้สะอาดก่อนที่จะนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
  6. สำหรับการทำความสะอาดพื้นเพื่อฆ่าเชื้อโรคนั้น ควรทำความสะอาดโดยใช้สบู่หรือผงซักฟอกปกติก่อน 1 รอบ แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว คลอรอกซ์ หรือไฮเตอร์ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วค่อยเช็ดออกด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
  7. เมื่อพบว่าบุตรหลานเป็นโรคมือเท้าปาก ควรแยกให้อยู่แต่ในบ้าน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยไปคลุกคลีกับผู้อื่นประมาณ 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าตุ่มแผลต่าง ๆ จะหายดี เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกด้วย ไม่ควรให้เด็กไปโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก หรือที่ชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงการติดต่อไปยังเด็กอื่น
  8. ในช่วงที่มีการระบาดของโรค ในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก ควรมีการสอบถามถึงประวัติอาการของเด็กที่หน้าโรงเรียนเกี่ยวกับอาการเป็นไข้และตุ่มน้ำที่ปาก มือ และเท้า หากสงสัยว่าเด็กคนไหนเป็นโรคมือเท้าปาก ควรให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองมารับพาเด็กกลับบ้านและไปพบแพทย์ทันที อย่าให้เด็กอยู่ในโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก และควรให้ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าวและวิธีป้องกันให้ทราบโดยทั่วกันแก่ครูพี่เลี้ยง พ่อแม่หรือผู้ปกครอง
  9. หากพบว่ามีเด็กในห้องเรียนเดียวเป็นโรคมือเท้าปากตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จำเป็นต้องปิดห้องเรียนหรือโรงเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน
  10. ในกรณีที่มีการติดเชื้อชนิดรุนแรง (ไวรัสเอนเทอโรชนิด 71) โดยเฉพาะมีการเสียชีวิต โรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกันที่เข้มข้นมากขึ้น ดังนี้
    • ปิดโรงเรียนทั้งโรงเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่าง ๆ เพื่อรอจนกว่าจะไม่มีเด็กคนอื่น ๆ มีอาการป่วยด้วยโรคนี้ (การปิดโรงเรียนอาจได้ผลไม่ดีนัก เพราะเมื่อมีการเปิดเรียน ถ้ายังมีเด็กที่มีเชื้อไวรัสอยู่ก็อาจนำเชื้อกลับมาแพร่กระจายให้เด็กคนอื่น ๆ ได้อีก อีกทั้งเด็กบางคนเมื่อปิดเรียนไปแล้ว แต่อาจไปทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ ในสถานที่อื่น ๆ จึงอาจทำให้ได้รับเชื้อได้เช่นกัน บางโรงเรียนจึงใช้นโยบายปิดสลับกันไปทีละห้อง ซึ่งก็อาจจะได้ผลในการชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อไม่ให้กระจายไปเร็วกว่านี้ แม้อาจจะยังไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดโรคได้ดีนักก็ตาม)
    • ต้องมีการคัดแยกเด็กที่ป่วยออกตั้งแต่เดินเข้ามาที่หน้าประตูโรงเรียน โดยมีครูคอยยืนดูว่าในลำคอเด็กคนไหนมีแผลในปากหรือไม่ ถ้ามีก็จะรีบส่งตัวกลับบ้านไม่ให้เข้าเรียน แต่ก็เป็นวิธีที่ช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะเด็กหลายคนอาจมีเชื้อในลำคอและเริ่มแพร่เชื้อได้ก่อนที่ครูจะเห็นแผลในลำคอได้อย่างชัดเจน (สิ่งสำคัญที่สุดคือ พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะต้องหมั่นสังเกตอาการ หากลูกมีอาการป่วยที่ผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที)
    • หมั่นล้างมือให้สะอาด เช็ดถูทำความสะอาดห้องเรียน และของเล่นต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีสำคัญที่ควรปฏิบัติ แต่ก็ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ในระดับหนึ่งเช่นเดียวกัน
  11. หากเด็กหรือผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
    • เมื่อผู้ป่วยมีอาการไข้สูงซึ่งต้องหาสาเหตุของไข้ เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง
    • เมื่อมีแผลที่ริมฝีปาก มือ เท้า และ/หรือร่วมกับมีอาการเบื่ออาหาร กินไม่ได้ มีไข้สูง
    • มีอาการซึมหรือหงุดหงิด ไม่สบาย เหนื่อย หายใจเร็ว
    • มีอาการเขียวคล้ำที่ตัว มือ เท้า หรือชัก ซึ่งแสดงถึงอาการที่เป็นรุนแรง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โรคมือ-เท้า-ปาก (Hand-foot-and-mouth-disease)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1121-1123.
  2. หาหมอดอทคอม.  “โรคมือ เท้า ปาก (Hand-Foot-and-Mouth Disease)”.  (พญ.อรุณี เจตศรีสุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [10 มี.ค. 2016].
  3. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค.  “สถานการณ์โรค มือ เท้า ปาก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.boe.moph.go.th.  [10 มี.ค. 2016].
  4. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.  “โรคมือปากเท้าเปื่อย…สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้เพื่อลูกรัก”.  (นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bumrungrad.com.  [10 มี.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.nhsdirect.wales.nhs.uk, www.blogcdn.com, wikipedia.org (by Ngufra, MidgleyDJ), www.natural-health-news.com, babycenter.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด