โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) อาการ สาเหตุ การรักษาโรคพิษสุนัขบ้า 5 วิธี !!

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) อาการ สาเหตุ การรักษาโรคพิษสุนัขบ้า 5 วิธี !!

โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ (Rabies, Hydrophobia) หรือในภาษาอีสานเรียกว่า “โรคหมาว้อ” เป็นโรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) จัดเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงที่ยังไม่มีทางเยียวยารักษา ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการแสดงมักจะเสียชีวิตภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน และในปีหนึ่ง ๆ จะมีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้อยู่พอสมควร (แต่ในระยะหลัง ๆ นี้ในประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยที่เสียชีวิตลดลงเหลือปีละไม่ถึง 10 ราย) ซึ่งผู้ป่วยมักมีประวัติถูกสุนัขกัดแล้วไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่ถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัดใหม่ ๆ

องค์การอนามัยโลกรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณปีละ 35,000-50,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา โดยพบในประเทศอินเดียสูงสุดถึงประมาณปีละ 20,000 ราย ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นพบได้เพียงประมาณปีละ 2 ราย

ในปีหนึ่ง ๆ มีคนที่ถูกสุนัขบ้าหรือสัตว์อื่น ๆ ที่สงสัยว่ามีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วน ที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในเรื่องวัคซีนจำนวนมาก และนำความหวาดผวาหรือความวิตกกังวลมาสู่ครอบครัวของคนที่ถูกกัดมากมาย

สาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อพิษสุนัขบ้า หรือ เชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus ซึ่งเป็น Lyssavirus type 1 ในตระกูล Rhabdoviridae) ที่อยู่ในน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่พบได้บ่อยที่สุด คือ สัตว์ในตระกูลสุนัข* (ทั้งสุนัขบ้านและสุนัขป่า เช่น หมาป่า หมาจิ้งจอก หมาใน) และสัตว์ตระกูลแมว (ทั้งแมวบ้านและแมวป่า) นอกจากนี้ยังอาจพบได้ในค้างคาว หมู วัว ควาย แกะ แพะ ม้า ลา อูฐ กระรอก พังพอน สกั๊ง และสัตว์ในตระกูลหนู (ทั้งหนูบ้าน หนูนา หนูป่า)

เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า
IMAGE SOURCE : web.stanford.edu, www.timesofisrael.com

เชื้อพิษสุนัขบ้าจะเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลบนผิวหนังที่ถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเข้าผ่านทางรอยถลอกเล็ก ๆ น้อย ๆ ของแผลที่ถูกน้ำลายสัตว์ (แต่ถ้าผิวหนังเป็นปกติดี เชื้อจะเข้าไปไม่ได้) หรือเข้าผ่านทางเยื่อเมือกต่าง ๆ ได้แก่ เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก เยื่อบุช่องปาก

นอกจากนี้ เชื้อยังอาจเข้าสู่ร่างกายได้จากการที่คนหายใจเอาละอองไอน้ำที่มีเชื้อโรคอยู่ (แต่ก็พบได้น้อยมาก เช่น การเข้าไปในถ้ำที่มีค้างคาวอยู่กันเป็นล้าน ๆ ตัว หรือเป็นเจ้าหน้าที่ในห้องแล็บที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสชนิดนี้) และมีรายงานด้วยว่า มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจากการปลูกถ่ายกระจกตาประมาณ 8 รายจากทั่วโลก และจากการปลูกถ่ายอวัยวะอื่น ๆ ประมาณ 3 ราย ซึ่งอาจเกิดจากผู้ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าและไม่ได้รับการวินิจฉัยในตอนแรก

หมายเหตุ : ในบ้านเราสุนัขเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 96% รองลงมาคือแมว ประมาณ 3-4% แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วแทบจะไม่พบว่าสุนัขและสัตว์เลี้ยงในบ้านชนิดอื่น ๆ เป็นสาเหตุของการเกิดโรค เนื่องจากมีการควบคุมการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงอย่างเข้มงวดและไม่มีสัตว์จรจัด ซึ่งสัตว์ที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่มากกว่า 90% จะเป็นสัตว์ป่า เช่น สกั๊ง แรคคูน สุนัขจิ้งจอก

การก่อโรคของเชื้อพิษสุนัขบ้า

วิธีก่อโรคทั้งในคนและในสัตว์จะคล้ายคลึงกัน คือ เมื่อเชื้อพิษสุนัขบ้าจากน้ำลายสัตว์เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลแล้ว เชื้อจะอยู่บริเวณกล้ามเนื้อที่ใกล้บาดแผลนั้นแล้วแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วจึงเดินทางเข้าไปสู่เส้นประสาทส่วนปลายที่เลี้ยงกล้ามเนื้อนั้น ๆ จากเส้นประสาทส่วนปลาย เชื้อจะเดินทางต่อไปเพื่อไปยังไขสันหลัง (อัตราความเร็วในการเดินทางประมาณวันละ 12-24 มิลลิเมตร) เมื่อเชื้อเข้าสู่ไขสันหลังได้แล้ว ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการ (ระยะอาการนำของโรค) จากไขสันหลังเชื้อก็จะเดินทางเข้าสู่สมองอย่างรวดเร็วในอัตราความเร็วประมาณวันละ 200-400 มิลลิเมตร ดังนั้น ยิ่งแผลอยู่ใกล้สมองมากเท่าไร ระยะเวลาฟักตัวจะยิ่งสั้นเท่านั้น เช่น ผู้ที่ถูกกัดที่หน้าและศีรษะรุนแรงมักจะมีระยะเวลาฟักตัวสั้น

เมื่อเชื้อเข้าสู่สมองแล้วจะทำให้เกิดการอักเสบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาท หลังจากนั้นเชื้อโรคจะเดินทางกลับเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายอีกครั้ง และเข้าสู่เนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ทั้งกล้ามเนื้อ ผิวหนัง ดวงตา หัวใจ ตับ ต่อมหมวกไต และที่สำคัญคือ “ต่อมน้ำลาย” ที่เชื้อจะสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้มากมาย เมื่อถูกสัตว์กัดจึงติดเชื้อที่มีอยู่ในน้ำลายของสัตว์นั่นเอง (ในบางครั้งเชื้ออาจเดินทางเข้าสู่สมองโดยไม่ต้องรอให้มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนก็ได้ ซึ่งจะทำให้มีระยะเวลาฟักตัวของโรคสั้นกว่า 7 วัน หรือบางครั้งเชื้อก็อาจเข้าไปอาศัยอยู่ในเซลล์อื่น ๆ เช่น มาโครฟาจ (Macrophage) เป็นเวลานานก่อนที่จะออกมาสู่เซลล์ประสาทก็ได้ ซึ่งจะทำให้มีระยะเวลาฟักตัวของโรคยาว)

ระยะฟักตัวของโรคพิษสุนัขบ้า (ตั้งแต่ถูกกัดจนกระทั่งเกิดอาการ) คือ 5 วัน ถึง 8 ปี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในช่วง 20-90 วันหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อ และมีส่วนน้อยที่จะพบอาการหลังจากได้รับเชื้อมาแล้วมากกว่า 1 ปี (แต่เคยมีรายงานว่าผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลาถึง 19 ปีก็มี) ทั้งนี้ระยะเวลาฟักตัวของโรคจะสั้นหรือยาวก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คือ บริเวณที่ถูกกัด ความรุนแรงของบาดแผลที่ถูกกัด ชนิดของสัตว์ที่กัด ปริมาณของเชื้อที่เข้าไปในบาดแผล และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาหลังถูกสัตว์กัด

อาการของโรคพิษสุนัขบ้า

อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะอาการนำของโรค (Prodrome) ผู้ป่วยจะมีอาการต่าง ๆ ที่ไม่จำเพาะ เช่น มีไข้ต่ำ ๆ ประมาณ 38-38.5 องศาเซลเซียส หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน อาจมีอาการกระสับกระส่าย ลุกลี้ลุกลน วิตกกังวล มีความรู้สึกกลัว นอนไม่หลับ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย และอาการจำเพาะที่แพทย์สามารถใช้ในการวินิจฉัยโรคนี้ได้ คือ บริเวณบาดแผลที่ถูกกัดอาจมีอาการปวดเสียว คัน ชา เย็น หรือปวดแสบปวดร้อน (โดยที่แผลอาจจะหายสนิทแล้วก็ได้) โดยจะเริ่มจากบริเวณบาดแผลก่อนแล้วจึงลามไปทั่วทั้งแขนและขา
  2. ระยะปรากฏอาการทางระบบประสาท (Acute neurologic) เป็นอาการเฉพาะของโรคนี้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นภายหลังระยะอาการนำของโรคประมาณ 2-10 วัน ซึ่งในระยะนี้จะแบ่งอาการออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
    • แบบคลุ้มคลั่ง (Furious rabies) ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 80% ของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าทั้งหมด ในระยะแรก ๆ ผู้ป่วยอาจมีเพียงอาการไข้ สับสน เห็นภาพหลอน กระวนกระวาย ซึ่งจะเกิดบ่อยเมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้า เช่น แสง เสียง เป็นต้น ต่อมาจะมีการแกว่งของระดับความรู้สึกตัว คือ เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดีสลับกันไป ซึ่งในขณะที่ความรู้สึกตัวดี ผู้ป่วยจะพูดคุยตอบโต้ได้เป็นปกติ แต่ในขณะที่ความรู้สึกตัวไม่ดี ผู้ป่วยจะมีอาการกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง เดินเพ่นพ่าน อยู่นิ่งไม่ได้ คลุ้มคลั่ง เอะอะอาละวาด ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการกลัวน้ำ (Hydrophobia; ตอนดื่มน้ำจะปวดเกร็งกล้ามเนื้อคอหอยทำให้กลืนไม่ได้ แล้วไม่กล้าดื่มน้ำทั้ง ๆ ที่กระหายน้ำมาก หรือบางรายแม้แต่จะกล่าวถึงน้ำก็กลัวแล้ว) กลัวลม (Aerophobia; เพียงแค่เป่าลมเข้าที่หน้าหรือคอก็จะมีอาการผวา เมื่อผู้ป่วยหายใจเข้าหรือมีลมมากระทบหน้า กระทบกล้ามเนื้อกะบังลม และกล้ามเนื้อของกล่องเสียง ก็จะทำให้เกิดการแข็งเกร็งหดตัวผิดปกติและก่อให้เกิดความเจ็บปวด ทำให้ไม่อยากหายใจเข้า ดูคล้ายคนกำลังสำลักอากาศ) ซึ่งจะพบได้เกือบทุกราย แต่ไม่จำเป็นต้องพบร่วมกันทั้งสองอาการก็ได้ และอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อผู้ป่วยเริ่มเข้าสู่ระยะไม่รู้สึกตัว นอกจากนี้ ยังพบอาการถอนหายใจเป็นพัก ๆ (มักพบในระยะหลังของโรค) และอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น น้ำลายไหล น้ำตาไหล เหงื่อออกมาก ขนลุก และในผู้ชายอาจมีอาการแข็งตัวของอวัยวะเพศและหลั่งน้ำอสุจิบ่อย ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยไม่ตั้งใจ และในที่สุดผู้ป่วยจะเกิดอาการซึม หมดสติ หยุดหายใจ และเสียชีวิตภายใน 7 วัน (โดยเฉลี่ยคือ 5 วัน) หลังจากเริ่มแสดงอาการ
    • แบบอัมพาต (Paralytic rabies) ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบได้รองลงมาประมาณ 20% ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ร่วมกับกล้ามเนื้อแขนขาและทั่วร่างกายอ่อนแรง มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ พบอาการกลัวน้ำและกลัวลมประมาณ 50% ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะเสียชีวิตช้ากว่าแบบคลุ้มคลั่ง คือ เฉลี่ยประมาณ 13 วัน (ในบางครั้งผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์อาจแยกจากกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร (Guillain-Barré syndrome) ได้ยาก)
    • แบบแสดงอาการไม่ตรงต้นแบบ (Non-classic) ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ถูกค้างคาวกัด ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการปวดประสาทหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ต่อมาจะมีอาการแขนขาซีกหนึ่งเป็นอัมพาตหรือชา มีอาการชักและการเคลื่อนไหวผิดปกติ แต่มักไม่พบอาการกลัวน้ำ กลัวลม และอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติดังผู้ป่วยแบบคลุ้มคลั่ง
  3. ระยะไม่รู้สึกตัว หรือ ระยะสุดท้าย (Coma) ผู้ป่วยทุกรายไม่ว่าจะมีอาการแสดงแบบใดเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายนี้จะมีอาการหมดสติและเสียชีวิตจากระบบหายใจและไหลเวียนโลหิตล้มเหลว รวมทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภายใน 1-3 วันหลังมีอาการไม่รู้สึกตัว ถ้าผู้ป่วยมาโรงพยาบาลในระยะนี้แพทย์อาจวินิจฉัยโรคได้ยาก เพราะอาจเข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากโรคสมองอักเสบจากสาเหตุอื่นได้

อาการโรคพิษสุนัขบ้าในคน
IMAGE SOURCE : en.wikipedia.org (by Centers for Disease Control and Prevention)

อนึ่ง สำหรับในสัตว์ อาการจะคล้าย ๆ ในคน แต่การกำเนิดของโรคจะเร็วกว่าและเสียชีวิตเร็วกว่าในคน

อาการโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข/ในแมว

สุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะแบ่งอาการออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

  1. แบบดุร้าย ส่วนใหญ่สุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามักจะแสดงอาการแบบดุร้าย โดยในระยะแรกเริ่มสุนัขจะมีลักษณะผิดไปจากเดิม เช่น สุนัขที่เคยคลุกคลีกับเจ้าของจะแยกตัวและมีอารมณ์หงุดหงิด หรือสุนัขที่ไม่เคยคลุกคลีกับเจ้าของกลับมาคอยเคล้าเคลียเจ้าของ แล้วอีก 2-3 วันต่อมาจะเข้าสู่ระยะตื่นเต้น โดยสุนัขจะหมกตัวอยู่ตามมุมมืด ตอบสนองได้ไวต่อเสียงและสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ต่อมาสุนัขจะมีอาการกระวนกระวาย อาจแสดงอาการงับแมลงหรือวัตถุที่ขวางหน้า เช่น ก้อนหิน ดิน เศษไม้ แล้วจะเริ่มออกมาวิ่งพล่าน ดุร้าย กัดคน สัตว์ และทุกสิ่งที่ขวางหน้า สุนัขจะมีอาการเสียงเห่าหอนผิดปกติ ลิ้นห้อย น้ำลายไหลยืด ต่อมาจะมีอาการขาอ่อนเปลี้ยลง ลำตัวแข็งทื่อ ซึ่งสุนัขจะแสดงอาการในระยะตื่นเต้นนี้ประมาณ 1-7 วัน ในช่วงสุดท้ายอาจมีอาการชักแล้วตาย หรือเข้าสู่อาการระยะสุดท้ายคือ ระยะอัมพาต โดยสุนัขจะเกิดอาการอัมพาตทั้งตัว สุนัขจะล้มลงแล้วลุกขึ้นไม่ได้และมักจะตายภายใน 2-3 วัน
  2. แบบเซื่องซึม จะค่อนข้างสังเกตได้ยากเพราะจะแสดงอาการป่วยเหมือนสัตว์เป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคหวัด สุนัขที่แสดงอาการแบบเซื่องซึมจะมีไข้ ซึม นอนซม ไม่กินอาหารและน้ำ ชอบอยู่ในที่มืด ๆ เงียบ ๆ และไม่แสดงอาการดุร้าย แต่จะกัดหรืองับคนหรือสัตว์อื่นเมื่อถูกรบกวนหรือถูกบังคับหรือเมื่อผู้เลี้ยงเอาน้ำ อาหารหรือยาไปให้ หรืออาจแสดงอาการคล้ายกับมีก้างหรือกระดูกติดคอ เช่น ไอ ใช้ขาตะกุยคอ ต่อมาเมื่ออาการกำเริบมากขึ้นจะเดินโงนเงนเปะปะ เป็นอัมพาตทั้งตัว และมักตายภายใน 10 วันหลังแสดงอาการ (ส่วนใหญ่คือประมาณ 4-6 วัน) โดยไม่แสดงอาการกลัวน้ำแบบที่พบในคน

อาการโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข
IMAGE SOURCE : ricur.org, symptomstreatment.org, en.wikipedia.org (by Centers for Disease Control and Prevention)

อาการโรคพิษสุนัขบ้าในแมว
IMAGE SOURCE : www.petcarerx.com, www.youtube.com (by Sameer Ahamed), www.onlive1.com

ข้อสังเกตเพิ่มเติม : สุนัขตัวผู้จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าสุนัขตัวเมีย, สุนัขที่มีอายุน้อยจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าสุนัขที่มีอายุมาก และลูกสุนัขทุกอายุจะมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นเดียวกับสุนัขโต

การวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้า

เนื่องจากอาการของโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงระยะอาการนำของโรคจะเป็นอาการที่ไม่จำเพาะ และอาการแสดงในระยะปรากฏอาการทางระบบประสาทในช่วงแรกก็คล้ายกับโรคสมองอักเสบจากเชื้ออื่น ๆ รวมทั้งประวัติการถูกสัตว์กัดในผู้ป่วยที่อาจจะไม่ชัดเจน แพทย์จึงต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยว่าอาการที่ปรากฏนั้นจากโรคพิษสุนัขบ้าไม่ใช่จากเชื้ออื่น ๆ เพราะถ้าเป็นเชื้ออื่นบางชนิด เช่น เชื้อไวรัส แพทย์จะให้การรักษาโดยการให้ยาที่จำเพาะต่อไวรัสเริม เป็นต้น โดยวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าวนั้น ได้แก่

  1. Direct fluorescent antibody test เป็นการตัดชิ้นเนื้อผิวหนังบริเวณคอ แล้วนำมาตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธีการใช้สารเรืองแสง ซึ่งจะพบเชื้ออยู่บริเวณเส้นประสาทใต้ต่อมขน ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง
  2. RT-PCR เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัสจากน้ำลาย น้ำไขสันหลัง หรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ จากผู้ป่วย โดยเป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูงเช่นกัน แต่มีราคาแพง
  3. การตรวจหาสารภูมิต้านทานที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำไม่ดีนัก
  4. ในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว เมื่อนำศพไปผ่าพิสูจน์จะพบลักษณะของเซลล์ประสาทที่มีความจำเพาะกับโรคนี้มาก ที่เรียกว่า “เนกริบอดีส์” (Negri bodies) อยู่ภายในเซลล์

ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ที่ไม่จำเพาะต่อโรคพิษสุนัขบ้า อาจใช้ตรวจเพื่อช่วยแยกโรคอื่น ๆ ในเบื้องต้นได้ ได้แก่

  • การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ส่วนใหญ่จะพบว่าปกติ ซึ่งจะแตกต่างจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบที่เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยจะขึ้นสูง
  • การตรวจน้ำไขสันหลัง ซึ่งจะพบเม็ดเลือดขาวสูง เพราะโดยปกติในน้ำไขสันหลังจะไม่มีเซลล์เม็ดเลือดขาว
  • การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งจะไม่พบความผิดปกติ

สิ่งที่ตรวจพบในผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า

  • แพทย์มักตรวจพบว่า ผู้ป่วยมีไข้ สับสน กระวนกระวาย เอะอะอาละวาด และที่สำคัญคือ อาการกลัวน้ำและกลัวลม บางรายอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง อัมพาตครึ่งซีก ชัก หรือหมดสติ

การพิจารณาความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจากลักษณะการสัมผัสกับสัตว์

ในการจะพิจารณาว่าผู้ป่วยรายใดที่ถูกสัตว์สัมผัส กัด หรือข่วน จำเป็นต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าและอิมมูนโกลบูลินหรือไม่นั้น ในแต่ละประเทศจะมีแนวทางการรักษาที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เป็นเพราะการควบคุมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์มีความเข้มงวดแตกต่างกันและมีความชุกชุมของสัตว์ที่เป็นโรคไม่เท่ากัน สำหรับในประเทศไทยนั้นมีแนวทางปฏิบัติดังนี้

ระดับความเสี่ยงของการสัมผัสโรค|ลักษณะการสัมผัส|แนวทางการปฏิบัติ
ระดับที่ 1 (การสัมผัสที่ไม่ติดโรค)|1. ถูกตัวสัตว์ ป้อนอาหาร ป้อนน้ำ โดยที่ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก 2. ถูกสัตว์เลีย สัมผัสน้ำลายหรือเลือดของสัตว์ โดยที่ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก|1. ล้างบริเวณที่สัมผัส 2. ไม่ต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า
ระดับที่ 2 (การสัมผัสที่มีโอกาสติดโรค)|1. ถูกเลีย โดยน้ำลายถูกผิวหนังที่แผลหรือรอยถลอกหรือรอยขีดข่วน 2. ถูกงับเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง โดยไม่มีเลือดออกหรือเลือดออกซิบ ๆ 3. ถูกข่วนที่ผิวหนังเป็นรอยถลอก มีเลือดออกซิบ ๆ|1. ล้างและรักษาแผล 2. ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine)*
ระดับที่ 3 (การสัมผัสที่มีโอกาสติดโรคสูง)|1. ถูกเลีย หรือน้ำลายสิ่งคัดหลั่งถูกเยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือแผลลึก แผลที่มีเลือดออก 2. ถูกข่วน จนผิวหนังขาดและมีเลือดออก 3. ถูกกัด โดยฟันสัตว์แทงทะลุผ่านผิวหนัง เป็นแผลเดียวหรือหลายแผลและมีเลือดออก 4. มีแผลที่ผิวหนัง และสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากร่างกายสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสมองของสัตว์ รวมทั้งการชำแหละซากสัตว์ และลอกหนังสัตว์*** 5. กินอาหารที่ปรุงจากสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า|1. ล้างและรักษาแผล 2. ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine)* และอิมมูนโกลบูลิน (Rabies immune globulin)** โดยเร็วที่สุด

หมายเหตุ :
* จะหยุดฉีดเมื่อสัตว์ (เฉพาะสุนัขและแมว) เป็นปกติตลอดระยะเวลากักขังเพื่อดูอาการ 10 วัน
** กรณีที่ถูกกัดเป็นแผลที่บริเวณใบหน้า ศีรษะ คอ มือ และนิ้วมือ หรือเป็นแผลลึก แผลฉีกขาดมาก หรือถูกกัดมาหลายแผล ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงและมักมีระยะเวลาฟักตัวของโรคสั้น แพทย์จึงจำเป็นต้องฉีดอิมมูนโกลบูลินโดยเร็วที่สุด (แต่ถ้าฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเข็มแรกไปแล้ว 7 วัน ก็ไม่ต้องฉีดอิมมูนโกลบูลิน เนื่องจากผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแล้ว) และต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ เนื่องจากผู้ที่ถูกกัดและได้รับการรักษาแต่เสียชีวิตจะเป็นผู้ที่ถูกกัดที่ใบหน้า ศีรษะ คอ แทบทั้งสิ้น
*** พิจารณาความเสี่ยงมากน้อยตามลักษณะเป็นราย ๆ ไป

การปฐมพยาบาลและแนวทางปฏิบัติเมื่อสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า

ผู้ที่ถูกสุนัข แมว ค้างคาว สัตว์ป่า สัตว์แทะ หรือปศุสัตว์กัด ข่วน หรือเลีย ควรปฏิบัติดังนี้

  1. ให้รีบฟอกล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาด (เช่น น้ำขวด น้ำก๊อก หรือน้ำต้มสุก) กับสบู่ หรือล้างแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล Normal saline โดยเร็วที่สุด โดยควรล้างหลาย ๆ ครั้งเพื่อช่วยลดปริมาณของเชื้อพิษสุนัขบ้าที่บาดแผลและล้างให้ลึกถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที (ขั้นตอนนี้สามารถช่วยกำจัดเชื้อพิษสุนัขบ้าออกจากบริเวณบาดแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ) แล้วให้เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น สารละลายโพวิโดน-ไอโอดีน (Povidone-iodine) หรือฮิบิเทนในน้ำ (Hibitane in water) แต่ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ชนิด 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน โดยให้เช็ดจนกว่าแผลจะสะอาดไม่เหลือคราบ และอย่าใส่สิ่งอื่น ๆ เช่น ครีม เกลือ ขี้ผึ้งบาล์ม (ยาหม่อง) หรือยาฉุนลงในแผล และไม่ควรใช้รองเท้าตบแผล เพราะอาจทำให้เชื้อกระจายไปรอบบริเวณที่เกิดแผลได้ง่าย และอาจมีเชื้อโรคอื่นเข้าไปด้วยทำให้เกิดแผลอักเสบ
  2. ถ้ามีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นบาดแผล เพราะจะทำให้เชื้อกระจายไปยังส่วนอื่น
  3. รีบไปพบแพทย์/สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุดทันที อย่านิ่งนอนใจ เพราะอาจสายเกินไป เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินและทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป เช่น การทำความสะอาดบาดแผลและรักษาบาดแผล การให้ยาปฏิชีวนะหรือยาแก้ปวดตามอาการ การฉีดยาป้องกันบาดทะยัก รวมถึงการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าและอิมมูนโกลบูลินเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วย (แพทย์อาจพิจารณาไม่ฉีดวัคซีนให้ในกรณีไม่มีแผลหรือรอยถลอก เป็นเพียงการถูกเลียหรือสัมผัสน้ำลายสัตว์บริเวณผิวหนังปกติ) หากแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว หลังจากนั้นถ้ารู้สึกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ปวดแผลมากขึ้น มีอาการบวมขึ้น หรือมีไข้ตัวร้อน ควรรีบกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อน
  4. ควรกักขังและเฝ้าดูอาการสัตว์ที่ก่อเหตุเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน (ไม่ควรกำจัดสัตว์โดยไม่จำเป็น ควรปล่อยให้สัตว์ตายเอง เพราะจะทำให้ตรวจพบเชื้อได้ง่ายและแน่นอนกว่า) แต่ในกรณีที่สัตว์นั้นดุร้าย กัดคน หรือกัดสัตว์อื่น หรือสัตว์นั้นจับตัวหรือหาตัวได้ยาก เช่น สัตว์ป่า ค้างคาว หนู สุนัขหรือแมวจรจัดที่อาจหนีหายไป หรือไม่สามารถกักตัวสัตว์ไว้ได้ ถ้าเป็นไปได้ควรหาทางกำจัดแล้วนำซากสัตว์นั้นส่งตรวจ แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาฉีดยาป้องกัน
  5. หากสัตว์ตายแล้วให้นำซากส่งตรวจหาเชื้อที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล ซึ่งในการส่งซากตรวจควรส่งให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง (ในขณะเก็บซากสัตว์ควรสวมถุงมือยางและล้างมือหลังจากเก็บซากให้สะอาด) และควรส่งตรวจเฉพาะส่วนหัวของสัตว์ (เชื้อและลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อที่ชัดเจนที่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำจะอยู่ที่สมอง) หรือหากเป็นสัตว์ตัวเล็กก็สามารถส่งตรวจได้ทั้งตัว
    • สัตว์ที่ส่งตรวจจะต้องใส่ถุงพลาสติกให้มิดชิด ห่อด้วยกระดาษหลาย ๆ ชั้น แล้วใส่ถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่งและปิดปากถุงให้สนิทเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย จากนั้นให้ไปใส่ในภาชนะเก็บความเย็นที่บรรจุน้ำแข็งให้เย็นตลอดเวลา เช่น กระติก กล่องโฟม พร้อมกับปิดชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของผู้ส่งตรวจ วันเดือนปีที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจ ประวัติของสัตว์ ชนิด เพศ อายุ สี และอาการป่วย แล้วรีบนำส่งห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลทันที
    • สิ่งที่ต้องระวังให้มากคือ ผู้ที่ตัดหัวสัตว์จะต้องไม่มีแผลที่มือและต้องใส่ถุงมือยางหนา ส่วนซากสัตว์ที่เหลือให้ฝังลึกประมาณ 50 เซนติเมตร มีดที่ใช้หลังตัดหัวสัตว์และเครื่องมือที่ใช้ต้องนำไปต้มให้เดือดประมาณ 30 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อ และบริเวณที่ตัดหัวสัตว์จะต้องล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทันที

การปฐมพยาบาลโรคพิษสุนัขบ้า
IMAGE SOURCE : www.wikihow.com

วิธีรักษาผู้ที่สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า

เมื่อพบผู้ป่วยที่ถูกสัตว์ที่เป็นโรคหรือสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลีย ควรให้การดูแลรักษาดังนี้

  1. การรักษาบาดแผลตามลักษณะของแผลที่ถูกสัตว์กัด ถ้าผู้ป่วยยังไม่ได้ฟอกล้างบาดแผลมาหรือไม่มั่นใจว่าได้รับการปฐมพยาบาลมาอย่างดีแล้ว แพทย์/พยาบาลอาจล้างแผลซ้ำ ใส่ยาฆ่าเชื้อ ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ และอาจไม่เย็บแผลที่สัตว์กัดทันที เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้ออักเสบเป็นหนองได้ (ยกเว้นเพื่อห้ามเลือด หรือบาดแผลกะรุ่งกะริ่งมากหรือเป็นแผลใหญ่ ซึ่งจะเย็บไว้หลวม ๆ) แต่ถ้าจำเป็นต้องเย็บแผล ให้ทำแผลให้ดีสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยเย็บปิดในภายหลัง
  2. การให้รับประทานยาปฏิชีวนะ (เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย) เช่น อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) หรือโคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) เป็นเวลา 3-5 วัน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นบาดแผลขนาดใหญ่ เป็นบาดแผลบริเวณนิ้วมือ บาดแผลลึกถึงกระดูก ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไตวาย ตับแข็ง หรือผ่าตัดม้ามออกไปแล้ว หรือในกรณีที่บาดแผลมีลักษณะบวม แดง ร้อน มีหนอง (หากมีความรุนแรงแพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล)
  3. การฉีดยาป้องกันบาดทะยัก ในกรณีที่ผู้ป่วยเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง และได้เข็มสุดท้ายนานกว่า 5 ปีมาแล้ว แพทย์จะฉีดวัคซีนบาดทะยักเข้ากล้ามเนื้อให้ 1 เข็ม แต่ถ้าผู้ป่วยไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาก่อน แพทย์จะให้จำนวน 3 เข็ม คือ วันที่ 0 (วันแรก), เดือนที่ 1 และเดือนที่ 6
  4. การฉีดยาป้องกันแก่ผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า แพทย์จะพิจารณาถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า (ตามตารางการพิจารณาความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจากลักษณะการสัมผัสกับสัตว์) และให้การดูแลรักษาเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าดังนี้
    • ความเสี่ยงระดับที่ 1 ไม่ต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าและอิมมูนโกลบูลิน
    • ความเสี่ยงระดับที่ 2 และ 3 แพทย์จะพิจารณาจากสัตว์ที่ก่อเหตุดังนี้
      1. ถ้าเป็นสุนัขหรือแมวที่มีอาการผิดปกติหรือป่วย แพทย์จะฉีดยาป้องกันให้แก่ผู้สัมผัสโรคทันที และควรนำสัตว์ส่งตรวจ
      2. ถ้าเป็นสุนัขหรือแมวที่มีอาการปกติดี แพทย์จะทำการซักประวัติดังต่อไปนี้ คือ 1. การเลี้ยงดูสัตว์อยู่ในรั้วรอบขอบชิดและมีโอกาสสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ตัวอื่นน้อย, 2. สัตว์เลี้ยงได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และ 3. การกัดหรือข่วนเกิดจากมีเหตุจูงใจให้สัตว์กัด เช่น แหย่สัตว์ หรือเหยียบถูกสัตว์ เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยมีประวัติไม่ครบทั้ง 3 ข้อดังที่กล่าวมา แพทย์จะฉีดยาป้องกันให้ก่อนเสมอ และเฝ้าดูอาการสัตว์ 10 วัน เมื่อครบแล้วถ้าสัตว์ยังไม่ตายก็หยุดฉีดได้ แต่ถ้าสัตว์ตายหรือหายไปก่อนครบกำหนด ผู้ป่วยต้องได้รับยาฉีดจนครบ ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติครบทั้ง 3 ข้อ แพทย์จะเฝ้าดูอาการของสัตว์ 10 วัน ถ้าครบแล้วสัตว์ยังปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดยาป้องกัน แต่ถ้าสัตว์มีอาการผิดปกติ แพทย์จะฉีดยาป้องกันให้แก่ผู้สัมผัสโรคทันที และควรนำสัตว์ส่งตรวจ
      3. ถ้าเป็นค้างคาว สัตว์ป่า หนู สัตว์หนีหายหรือสัตว์ตาย (และส่งสัตว์ตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้า) แพทย์จะฉีดยาป้องกันให้แก่ผู้สัมผัสโรคทันทีตามแนวทางการฉีดยาป้องกันแก่ผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าในหัวข้อด้านล่าง

“หลักสำคัญของการรักษา (ผู้ที่สัมผัส) โรคพิษสุนัขบ้า คือ การล้างแผลให้สะอาด การให้อิมมูนโกลบูลินเพื่อไปทำลายเชื้อ และการให้วัคซีนพิษสุนัขบ้าเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานขึ้นมาทำลายเชื้อโรคเอง”

ฉีดยากันพิษสุนัขบ้า
IMAGE SOURCE : www.mirror.co.uk

วัคซีนพิษสุนัขบ้า

การให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine) มีจุดประสงค์เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานขึ้นมาทำลายเชื้อโรคเอง ซึ่งหลังการฉีดวัคซีนร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน จึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาพอที่จะทำลายเชื้อโรคได้

ในปัจจุบันแพทย์จะใช้วัคซีนบริสุทธิ์ที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงที่มีคุณภาพสูงและมีความปลอดภัยมากกว่าวัคซีนสมองสัตว์สมัยก่อน (ในประเทศไทยเลิกใช้ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2535)

  • ชนิดของวัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงที่มีใช้อยู่ในขณะนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด ดังนี้
    1. วัคซีนเอชดีซีวี (Human diploid cell rabies vaccine – HDCV) มีชื่อทางการค้า คือ SII Rabivax® เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในเนื้อเยื่อปอดคน (Human diploid cell) มีลักษณะเป็นผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย (Sterile water for injection) เมื่อละลายแล้วจะมีลักษณะใสสีชมพู ปริมาตรรวม 1 มิลลิลิตร แนะนำให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular) เท่านั้น
    2. วัคซีนพีซีอีซีวี (Purified chick embryo cell rabies vaccine – PCECV) มีชื่อทางการค้า คือ Rabipur® เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในไข่ (Primary chick embryo fibroblast cell) มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย เมื่อละลายแล้วจะมีลักษณะใส ไม่มีสี ปริมาตรรวม 1 มิลลิลิตร สามารถบริหารยาได้ทั้งแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular) และฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง (Intradermal)
    3. วัคซีนพีวีอาร์วี (Purified vero cell rabies vaccine – PVRV) มีชื่อทางการค้า คือ Verorab® เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในเซลล์เฉพาะชื่อ “เซลล์เวโร” (Vero cell) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากไตลิง มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย เมื่อละลายแล้วจะมีลักษณะเป็นสารแขวนตะกอนสีขาวขุ่นเล็กน้อย ปริมาตรรวม 1 มิลลิลิตร แนะนำให้ฉีดบริหารยาโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเท่านั้น
    4. วัคซีนพีดีอีวี (Purified duck embryo cell rabies vaccine – PDEV) มีชื่อทางการค้า คือ Lyssavac N® เป็นวัคซีนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในตัวอ่อนไข่เป็ดที่ฟักแล้ว (Embryonated duck eggs) มีลักษณะเป็นวัคซีนผงแห้งพร้อมน้ำสำหรับทำละลาย เมื่อละลายแล้วจะมีลักษณะเป็นสารแขวนตะกอนสีขาวขุ่นเล็กน้อย ปริมาตรรวม 1 มิลลิลิตร แนะนำให้บริหารยาโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเท่านั้น
  • ขนาดและวิธีฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ใช้สูตรการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบหลังสัมผัสโรคหรือสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า (Post-exposure prophylaxis) เพียง 4 สูตร* (ในเด็กและผู้ใหญ่ใช้ในขนาดเดียวกัน) ได้แก่
    1. ฉีด HDCV หรือ PCECV 1 มิลลิลิตร/เข็ม หรือฉีด PVRV 0.5 มิลลิลิตร/เข็ม เข้ากล้ามเนื้อต้นแขนในผู้ใหญ่หรือที่ต้นขาในเด็กเล็ก ครั้งละ 1 เข็ม ในวันที่ 0 (วันแรก), วันที่ 3 (ห่างจากวันแรก 3 วัน), วันที่ 7, วันที่ 14 และ 28 (หรือวันที่ 30) รวมทั้งหมด 5 เข็ม
    2. ฉีดวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งเข้ากล้ามเนื้อต้นแขนตามขนาดดังกล่าวรวม 4 เข็ม ในวันที่ 0 (วันแรก) 2 เข็ม, วันที่ 7 และวันที่ 21 (หรือวันที่ 28) วันละ 1 เข็ม
    3. HDCV หรือ PCECV 0.2 มิลลิลิตร/จุด หรือฉีด PVRV 0.1 มิลลิลิตร/จุด เข้าในชั้นผิวหนัง 2 จุดบริเวณต้นแขนซ้ายและขวาข้างละ 1 จุด ในวันที่ 0, 3, 7 และ 28 (หรือ 30)
    4. ฉีด HDCV หรือ PCECV 0.1 มิลลิลิตร/จุด เข้าในชั้นผิวหนัง ในวันที่ 0 (วันแรก) จำนวน 8 จุด โดยฉีดเข้าที่บริเวณต้นแขน ต้นขา บริเวณสะบักด้านหลัง 2 ข้าง และหน้าท้องด้านล่าง 2 ข้าง, ในวันที่ 7 โดยฉีดเข้าที่ต้นแขนและต้นขา 4 จุด, ในวันที่ 30 และ 90 วันละ 1 จุด (วิธีนี้จะให้ภูมิคุ้มกันได้ดีและรวดเร็ว และอาจนำมาใช้ในกรณีที่ไม่สามารถฉีดอิมมูนโกลบูลินให้กับผู้ป่วยได้)
  • การเปลี่ยนชนิดของวัคซีนและวิธีการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า โดยทั่วไปไม่แนะนำให้เปลี่ยนชนิดของวัคซีนหรือวิธีการฉีด แต่ถ้ามีสาเหตุที่จำเป็น เฉพาะในกรณีที่ฉีดเข้ากล้ามก็สามารถใช้วัคซีนต่างชนิดแทนกันได้
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยมารับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าไม่ครบ ให้ฉีดวัคซีนโดยนับต่อจากเข็มสุดท้ายที่ผู้ป่วยได้รับ โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด
  • ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า พบว่ามีน้อยมากและไม่รุนแรง ที่อาจพบได้ คือ
    ผลข้างเคียงเฉพาะที่ เช่น มีอาการปวด บวม แดง หรือคันตรงบริเวณที่ฉีด และอาจเป็นตุ่มนูนบริเวณที่ฉีด
    ผลข้างเคียงทั่วไป เช่น มีไข้ หนาวสั่น รู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดเมื่อย คลื่นไส้ ปวดท้อง ซึ่งมักจะหายไปได้เอง (ในกรณีที่มีไข้ไม่สบายตัว หรือรู้สึกปวดบริเวณที่ฉีด สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้)
    ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่พบเกิดได้น้อย เช่น ลมพิษ ผื่นคัน หรือภาวะแพ้วัคซีนพิษสุนัขบ้าชนิดรุนแรงที่เรียกว่า อะนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis)
  • ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนเหล่านี้ไม่มีข้อห้ามใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งการฉีดแบบป้องกันล่วงหน้าและแบบหลังสัมผัสโรค สามารถฉีดได้ทั้งในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยตับแข็ง และผู้ติดเชื้อเอดส์ แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาปฏิชีวนะ (เพราะวัคซีนอาจมียาปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลิน, นีโอมัยซิน ตกค้างจากกระบวนการผลิตยา) หรือแพ้โปรตีนสัตว์ปีก รวมถึงควรติดตามอาการภายหลังการได้รับวัคซีน เนื่องจากมีรายงานการเกิดภาวะแพ้วัคซีนพิษสุนัขบ้าที่เรียกว่า อะนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis) ซึ่งจะทำให้เกิดผื่นคันตามร่างกาย หายใจติดขัด/หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นควรรีบไปโรงพยาบาลทันที และหลีกเลี่ยงการได้รับวัคซีนในครั้งถัดไป แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้จะต้องได้รับการพิจารณาสั่งใช้จากแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้แล้วเท่านั้น
  • ข้อควรระวังในการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายภายหลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid), ยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ๆ (เช่น Cyclosporin), ยาต้านมาลาเรีย (เช่น Chloroquine) ซึ่งอาจทำให้เกิดความล้มเหลวในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถถูกกระตุ้นได้อย่างเต็มที่ เพราะผลจากยาดังกล่าวที่ใช้อยู่กดภูมิคุ้มกันเอาไว้ ดังนั้นอาจจำเป็นต้องตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อพิษสุนัขบ้าเพื่อให้มั่นใจว่าอยู่ในระดับที่ป้องกันโรคได้ (0.5 ยูนิต/มิลลิลิตรขึ้นไป) นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์แบบระยะยาว หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันอื่น ๆ หรือใช้ยาต้านมาลาเรีย, ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าแต่มารับการรักษาล่าช้า, ผู้ที่มีบาดแผลฉกรรจ์หรือมีแผลบาดเจ็บรุนแรงบริเวณศีรษะและคอ ไม่ควรได้รับการฉีดวัคซีนนี้เข้าในชั้นผิวหนัง เนื่องจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อพิษสุนัขบ้าอาจลดลงได้ จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อเท่านั้น

วัคซีนพิษสุนัขบ้า
IMAGE SOURCE : www.cmmediclinic.com

หมายเหตุ : ในประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ใช้เพียง 2 สูตร คือ สูตรที่ 1 ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (รวม 5 เข็ม) และสูตรที่ 3 ซึ่งเป็นวิธีการฉีดเข้าในชั้นผิวหนังตามสภากาชาดไทย (Thai Red Cross-ID) ซึ่งปริมาณวัคซีนที่ใช้ฉีดจะน้อยกว่าแบบที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า

อิมมูนโกลบูลินต้านพิษสุนัขบ้า

อิมมูนโกลบูลินต้านพิษสุนัขบ้า (Rabies immune globulin – RIG) เป็นสารภูมิคุ้มกันต้านทานที่สามารถต้านเชื้อพิษสุนัขบ้าได้โดยตรง เพราะเมื่อเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าสู่บาดแผล เชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นแล้วจะเดินทางเข้าไปสู่เส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งในช่วงนี้นี่เองถ้าให้การรักษาด้วยอิมมูนโกลบูลินได้ทัน สารภูมิต้านทานนี้ก็จะเข้าไปทำลายเชื้อไม่ให้เข้าสู่เส้นประสาทได้ ผู้ป่วยจึงไม่เกิดเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าให้ช้าเกินไปรวมทั้งไม่ได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าด้วย เชื้อก็จะเข้าสู่เส้นประสาทและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด

โดยแพทย์จะฉีดอิมมูนโกลบูลินให้กับผู้ป่วยทุกรายที่มีความเสี่ยงของการสัมผัสโรคในระดับที่ 3 ตั้งแต่ในวันแรกที่เริ่มฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า* (แต่ถ้าไม่สามารถจัดหามาได้ในวันแรก ก็อาจให้ในวันอื่นก็ได้ หรือถ้าฉีดวัคซีนเข็มแรกมาแล้วเกิน 7 วัน ก็ไม่จำเป็นต้องฉีด) โดยแพทย์จะฉีดอิมมูนโกลบูลินเข้าสู่รอบ ๆ แผลที่ถูกกัด แต่ถ้าไม่มีบาดแผล เช่น ถูกสัตว์เลียปากมาก็จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกใช้อิมมูนโกลบูลินที่ผลิตจากคน (Human rabies immune globulin – HRIG) ก่อน ในขนาด 20 หน่วยต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ถ้าไม่มีอาจใช้อิมมูนโกลบูลินที่ผลิตจากม้า (Equine rabies immune globulin – ERIG) ในขนาด 40 หน่วยต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแพทย์จะฉีดบริเวณแผลทุกแผลให้มากที่สุด (ฉีดทั้งในแผลและรอบแผล) และถ้ามีเหลือให้ฉีดเข้ากล้ามบริเวณต้นขาหรือสะโพก ไม่ควรฉีดตรงตำแหน่งเดียวกับวัคซีน (รวมถึงไม่ควรใช้กระบอกฉีดยาอันเดียวกับวัคซีน) และขนาดที่ฉีดไม่ควรใช้เกินกว่าที่กำหนดไว้ เพราะอาจไปกดการสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ฉีดได้ (อิมมูนโกลบูลินที่ผลิตจากคนสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย (แต่ก็มีราคาแพงมาก) ส่วนอิมมูนโกลบูลินที่ผลิตจากม้า อาจจำเป็นต้องทดสอบก่อนว่ามีโอกาสแพ้หรือไม่)

หมายเหตุ : สาเหตุที่ต้องฉีดอิมมูนโกลบูลินร่วมกับวัคซีนพิษสุนัขบ้านั้นเป็นเพราะว่า อิมมูนโกลบูลินที่ผู้ป่วยได้รับจะมีฤทธิ์เพียงชั่วคราว และหลังจากฉีดวัคซีนร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน ในการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายเชื้อโรคได้

แนวทางการฉีดยาป้องกันแก่ผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า

  1. ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือเคยฉีดมาน้อยกว่า 3 ครั้ง หรือวัคซีนที่เคยฉีดเป็นวัคซีนสมองสัตว์ แพทย์จะพิจารณาถึงความเสี่ยงของการสัมผัสโรคดังนี้
    • ถ้ามีความเสี่ยงระดับที่ 2 แพทย์จะฉีดให้เฉพาะวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า* โดยไม่ต้องฉีดอิมมูนโกลบูลิน
    • ถ้ามีความเสี่ยงระดับที่ 3 แพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า* และฉีดอิมมูนโกลบูลินให้
  2. ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า (Pre-exposure prophylaxis) ครบชุด หรือเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า (Post-exposure prophylaxis) อย่างน้อย 3 ครั้ง ไม่ต้องฉีดอิมมูนโกลบูลิน แต่ควรฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าดังนี้
    • ถ้าเคยได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาก่อนภายใน 6 เดือน แพทย์จะฉีดวัคซีนกระตุ้นเข้ากล้ามหรือเข้าในชั้นผิวหนังเพียง 1 ครั้ง
    • ถ้าเคยได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาแล้วเกิน 6 เดือน แพทย์จะฉีดวัคซีนกระตุ้นเข้ากล้ามหรือเข้าในชั้นผิวหนัง 2 ครั้ง ในวันที่ 0 (วันแรก) และ 3
  3. ผู้ที่มีการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าซ้ำในช่วงที่กำลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ ไม่จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก เพราะในขณะนั้นผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันเพียงพอในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว และไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูนโกลบูลินเช่นกัน

หมายเหตุ : จะหยุดฉีดเมื่อสัตว์ (เฉพาะสุนัขและแมว) เป็นปกติตลอดระยะเวลากักขังเพื่อดูอาการ 10 วัน

วิธีรักษาโรคพิษสุนัขบ้า

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคพิษสุนัขให้หายขาดได้ การรักษาจึงทำได้เพียงดูแลรักษาไปตามอาการเท่านั้น โดยหากพบผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

  1. ในรายที่มีประวัติและอาการชัดเจน เช่น ถูกสุนัขกัด และมีอาการกลัวน้ำ กลัวลม แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการ เช่น ให้ยานอนหลับ ยาแก้ชัก ให้สารอาหารแบบน้ำเข้าทางหลอดเลือด (เพราะผู้ป่วยจะรับประทานอาหารเองไม่ได้) และติดตามดูอาการไปจนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิต
  2. ในรายที่แพทย์ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน อาจต้องตรวจพิเศษ เช่น การเจาะหลัง การตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้า และการตรวจหาสารภูมิต้านทานโรคด้วยวิธีต่าง ๆ การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น และให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่ เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจในรายที่หยุดหายใจ การให้น้ำเกลือและปรับดุลอิเล็กโทรไลต์ จนกว่าจะพิสูจน์หาสาเหตุได้แน่ชัด เมื่อทราบสาเหตุแล้วแพทย์ก็จะให้การดูแลรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วร่างกาย ในที่สุดอาจพบว่าเป็นกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร (Guillain-Barré syndrome) ก็จะมีทางรักษาให้อาการดีขึ้นหรือรอดชีวิตได้
  3. คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
    • ควรแยกผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าออกจากสิ่งเร้าต่าง ๆ
    • ผู้ที่คอยดูแลผู้ป่วยควรใส่เสื้อผ้าอย่างมิดชิด ใส่แว่นตา และผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วย

วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

  1. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สุนัขหรือสัตว์ที่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า
  2. ระวังอย่าให้ถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วน และผู้ปกครองควรระวังอย่าให้เด็กเล่นกับสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิดจนเกินไป โดยเฉพาะการกอดจูบสุนัข
  3. เมื่อพบสุนัขควรอยู่นิ่ง ๆ ไม่ร้องเสียงดัง เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้สุนัขอยากไล่ล่าเพราะคิดว่าเป็นเหยื่อ (หากจำเป็นต้องเดินผ่านที่ที่มีสุนัขดุ ให้ถือไม้ยาว ๆ ไว้ในมือ หากสุนัขวิ่งมาหาอย่าวิ่งหนี แต่ให้ทำท่ายกไม้ปรามเอาไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีอำนาจเหนือกว่า แล้วมันจะวิ่งหนีไปเอง แต่ต้องคอยมองอย่าให้มันกลับมาเล่นทีเผลอไว้ด้วย)
  4. ไม่วิ่งหรือขี่จักรยานผ่านสุนัขอย่างรวดเร็ว เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้สุนัขวิ่งไล่กัด (สุนัขเป็นสัตว์ที่ชอบวิ่งไล่ตามวัตถุที่เคลื่อนที่ และสุนัขวิ่งได้เร็วกว่ามนุษย์ เราจึงไม่ควรให้สุนัขวิ่งไล่)
  5. ไม่แหย่หรือรบกวนสุนัขในขณะที่สุนัขกำลังกินอาหารหรือนอนหลับ
  6. ไม่เล่นแหย่หรือทำร้ายสุนัขเพื่อความสนุกสนาน
  7. ผู้ปกครองไม่ควรซื้อสุนัขให้เด็กเลี้ยง ถ้าเด็กยังไม่โตพอที่จะดูแลสุนัขได้ (ปกติเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มักจะยังไม่สามารถดูแลสุนัขได้อย่างปลอดภัย)
  8. ไม่ควรกักขังสุนัขไว้โดยการผูกเชือกหรือล่ามโซ่ตลอดเวลา เพราะจะทำให้สุนัขมีนิสัยดุร้าย
  9. ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว กระรอก กระต่าย หนู ลิง ฯลฯ ควรพาสัตว์เลี้ยงไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามที่สัตวแพทย์กำหนด
  10. อย่าปล่อยให้สัตว์เลี้ยงมีลูกมาก และผู้เลี้ยงควรทำหมันสุนัขทั้งตัวผู้และตัวเมีย
  11. สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู วัว ควาย แกะ แพะ ม้า แม้ว่าจะพบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เหล่านี้ได้บ้าง แต่ก็ไม่พบว่ามีความสำคัญในการนำโรคมาสู่คนได้ จึงไม่จำเป็นต้องพาสัตว์ไปฉีดวัคซีน แต่ถ้าคนถูกสัตว์เหล่านี้กัดก็ต้องไปรับการฉีดวัคซีน
  12. ผู้ที่เสี่ยงหรือทำงานที่เสี่ยงต่อการติดโรคนี้ เช่น ผู้ที่ดูแลสัตว์หรือสัมผัสสัตว์ เด็กที่ชอบเล่นกับสุนัข ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ ผู้ที่เพาะสัตว์เลี้ยงขาย ร้านขายสัตว์เลี้ยง บุรุษไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่กำจัดสุนัขและแมวจรจัด เจ้าหน้าที่บ้านสงเคราะห์สัตว์พิการเร่ร่อนต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ทำงานเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ แพทย์และพยาบาลที่พบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าบ่อย ๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้และเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด เป็นต้น ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า (Pre-exposure prophylaxis) ก่อนถูกกัด โดยการฉีดวัคซีน HDCV หรือ PCECV 1 มิลลิลิตร หรือ PVRV 0.5 มิลลิลิตร เข้ากล้ามเนื้อต้นแขนจำนวน 1 เข็ม หรือฉีดวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งขนาด 0.1 มิลลิลิตร เข้าในชั้นผิวหนัง 1 จุด บริเวณต้นแขน ในวันที่ 0, 7 และ 21 (หรือ 28) เมื่อฉีดครบ 3 เข็มแล้วให้ถือว่าครบวัคซีนชุดแรก (Primary vaccination) และภายหลังการได้รับวัคซีนชุดแรกครบ 1 ปีแล้ว ให้ทำการฉีดกระตุ้นซ้ำอีก 1 เข็ม จากนั้นให้กระตุ้นซ้ำทุก ๆ 5 ปี
    • คนกลุ่มนี้ถ้าถูกสัตว์ที่เป็นโรคหรือสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ควรฉีดวัคซีนกระตุ้น 2 ครั้ง ในวันที่ 0 และ 3
    • ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าสูง หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าครบ 3 เข็มแล้ว ควรตรวจเลือดดูระดับภูมิต้านทานทุก 6 เดือน หรือทุก 1-2 ปี ถ้าพบว่ามีระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปลอดภัย (ต่ำกว่า 0.5 ยูนิต/มิลลิลิตร) ก็ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ

ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
IMAGE SOURCE : www.startribune.com

หมายเหตุ : ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า (ถูกสัตว์กัดหรือข่วน) มาแล้ว 3 ครั้ง เช่น ได้รับการฉีดในวันที่ 0, 3, 7 และหยุดฉีดภายหลังสังเกตสุนัขหรือแมว 10 วันแล้วพบว่าเป็นปกติ ให้ถือเสมือนว่าเป็นการฉีดป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า

คำแนะนำและข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า

  • เมื่อถูกสัตว์ที่เป็นโรคหรือสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือสัมผัสใกล้ชิด ควรรีบฟอกล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที แล้วรีบไปที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันทีเพื่อรับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง รวมทั้งฉีดยาป้องกัน ผู้ป่วยไม่ควรรักษาด้วยตนเองโดยใช้วิธีพื้นบ้านหรือปล่อยปละละเลยไม่ไปรักษาเป็นอันขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกลูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน ก็ไม่ควรประมาทว่าจะไม่เป็นอะไร
  • ในบางครั้งพบว่าหลังจากถูกสัตว์กัดหรือข่วน แม้จะไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็ไม่เห็นเป็นอะไรหรือมีอันตรายใด ๆ ก็อาจทำให้เกิดความประมาทได้ แต่ความจริงแล้วผู้ที่ถูกสัตว์กัดหรือข่วน ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคนี้กันทุกราย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสัตว์ที่กัดไม่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า หรืออาจได้รับเชื้อเพียงจำนวนน้อย หรือบาดแผลมีความรุนแรงน้อยจนไม่ทำให้เกิดโรคก็เป็นได้
  • ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า (Pre-exposure prophylaxis) คือ หากถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกเพียง 1-2 เข็ม ร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานที่สูงพอในการป้องกันโรคอย่างได้ผล รวมทั้งไม่เสี่ยงต่อการแพ้หรือเจ็บปวดบริเวณแผลจากการฉีดอิมมูนโกลบูลิน
  • แม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าโรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างชัดเจน แต่ก็มีรายงานพบผู้ป่วยที่ติดโรคนี้จากการปลูกถ่ายกระจกตาหรืออวัยวะ ดังนั้น เมื่อมีการสัมผัสกับผู้ป่วย เช่น ถูกผู้ป่วยกัด เยื่อบุหรือบาดแผลไปสัมผัสถูกสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาฉีดยาป้องกันแบบเดียวกับการสัมผัสโรคจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
  • โรคนี้ถ้ามีอาการแสดงแล้ว (เชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายได้แล้ว) ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตทุกราย เพราะในปัจจุบันยังไม่มียาตัวไหนหรือวิธีรักษาใดที่จะฆ่าเชื้อไวรัสหรือรักษาให้หายได้ (แม้ว่าแพทย์จะให้การดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดีในห้องไอซียู (ICU) ก็ตาม และแม้จะเคยมีรายงานว่ามีผู้ป่วยที่รอดชีวิต แต่ที่ผ่านมาทั่วโลกก็มีผู้ป่วยที่รอดชีวิตเพียง 6 รายเท่านั้น โดยใน 5 รายนั้นมีประวัติว่าได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน ส่วนอีก 1 รายไม่เคยได้รับวัคซีน แต่ติดเชื้อมาจากค้างคาว ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า เชื้อพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ที่มีอยู่ในค้างคาวอาจก่อโรคได้ไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ในสุนัข) และประกอบกับการที่ผู้ป่วยในบ้านเรามักจะไม่ได้รับการฉีดยาป้องกันโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เป็นส่วนใหญ่ อัตราการเสียชีวิตจึงคิดเป็น 100%
  • หญิงตั้งครรภ์สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและอิมมูนโกลบูลินได้โดยไม่มีผลข้างเคียงกับทารกในครรภ์
  • วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี คือ “วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า” ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีการจัดงานและรณรงค์ให้ความรู้เรื่องพิษสุนัขบ้ากันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกและเป็นเกียรติแก่ หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2438
  • โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะหน้าร้อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เกิดจากความเครียดที่มาจากความร้อน
  • ผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ส่วนใหญ่เป็นเพราะถูกกัดโดยสุนัขจรจัดหรือสุนัขที่มีเจ้าของแต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
  • จากสถิติพบว่า ผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • กว่า 90% ของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ เป็นเพราะผู้ป่วยไม่ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนหลังจากถูกสัตว์กัด
  • โปรดทราบว่า “การช่วยเหลือสุนัขจรจัดโดยการให้อาหาร แต่ไม่นำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและคุมกำเนิด จะเป็นการเพิ่มจำนวนสุนัขจรจัดและแพร่กระจายโรคพิษสุนัขบ้า”
  • ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่พบบ่อย เช่น โรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะในสุนัขเท่านั้น, หลังถูกกัดให้รดน้ำมนต์จะช่วยรักษาโรคนี้ได้, เมื่อถูกสุนัขกัดให้ตัดหูตัดหางสุนัขจะช่วยให้สุนัขไม่เป็นโรคนี้, เมื่อถูกสุนัขกัดให้ฆ่าสุนัขให้ตายแล้วเอาตับสุนัขมากินจะไม่ป่วยเป็นโรคนี้, คนท้องห้ามฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า, วัคซีนพิษสุนัขบ้าที่ฉีดรอบสะดือ 14 เข็ม หรือ 21 เข็ม ถ้าหยุดฉีดต้องเริ่มใหม่ ฯลฯ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้จะทำให้ผู้ที่ถูกสุนัขที่มีเชื้อกัดไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาป้องกันและทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
  • หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ โทร 02-653-4444 ต่อ 4145

สถานที่บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า

  1. กรุงเทพมหานคร
    • ศูนย์โรคพิษสุนัขบ้า กรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท เขตราชเทวี
    • ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ถนนโยธี เขตราชเทวี
    • สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
    • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  2. ภาคกลาง
    • สถาบันวิจัยไวรัส กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นนทบุรี
    • สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 1 จังหวัดปทุมธานี
    • สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 7 จังหวัดนครปฐม
    • สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    • สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท
    • หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขต จังหวัดสระบุรี
    • โรงพยาบาลสระบุรี
  3. ภาคตะวันออก
    • ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดชลบุรี
    • ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
    • โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
    • หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขต จังหวัดจันทบุรี
    • สำนักสุขศาสตร์และสุขอนามัยที่ 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา
  4. ภาคเหนือ
    • ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดพิษณุโลก
    • ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
    • โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์
    • สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบูรณ์
    • สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชร
    • ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
    • โรงพยาบาลลำปาง จังหวัดลำปาง
    • ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดเชียงใหม่
    • สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 5 จังหวัดเชียงใหม่
    • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  5. ภาคอีสาน
    • ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนครราชสีมา
    • สำนักสุขศาสตร์และสุขอนามัยที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา
    • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
    • ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดขอนแก่น
    • ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น
    • ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ จังหวัดสุรินทร์
    • โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
    • โรงพยาบาลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
    • สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี
    • สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอำนาจเจริญ
    • สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ
    • สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์
    • สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์
    • สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร
    • สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ
  6. ภาคใต้
    • ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
    • โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
    • สำนักสุขศาสตร์และสุขอนามัยที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
    • สำนักสุขศาสตร์และสุขอนามัยที่ 9 จังหวัดสงขลา
    • ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดสงขลา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 573-579.
  2. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “โรคพิษสุนัขบ้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th.  [16 พ.ย. 2016].
  3. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “โรคพิษสุนัขบ้า ร้ายแรง แต่ป้องกันได้!”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [16 พ.ย. 2016]
  4. หาหมอดอทคอม.  “โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)”.  (พญ.สลิล ศิริอุดมภาส).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [16 ม.ค. 2017].
  5. หาหมอดอทคอม.  “วัคซีนพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine)”.  (ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [17 ม.ค. 2017].
  6. หาหมอดอทคอม.  “การปฐมพยาบาล การดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้า”.  (ศ.พญ.อรุณี เจตศรีสุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [17 ม.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด