โมกแดง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโมกแดง 4 ข้อ !

โมกแดง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโมกแดง 4 ข้อ !

โมกแดง

โมกแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia dubia (Sims) Spreng. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[3]

สมุนไพรโมกแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โมกป่า (จันทบุรี), โมกมัน (นครราชสีมา), มุ มูก (ตรัง), มูกมัน (ภูเก็ต), โมกราตรี เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของโมกแดง

  • ต้นโมกแดง จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 2-5 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มโปร่ง กิ่งก้านมีขนาดเล็ก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการแยกหน่อที่แตกจากรากให้ติด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยระบายน้ำดี มีความชื้นในดินและในอากาศค่อนข้างสูง ชอบแสงแดดแบบรำไร มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ตามป่าผลัดใบหรือป่าดิบที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 100-400 เมตร[1],[2],[3],[4]

ต้นโมกแดง

  • ใบโมกแดง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบสอบถึงมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-25 เซนติเมตร ผิวใบมันเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบและท้องใบเรียบ แผ่นใบด้านล่างมีขนบริเวณเส้นใบ ก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร[1],[3]

ใบโมกแดง

  • ดอกโมกแดง ออกดอกเป็นช่อห้อยลง ยาวประมาณ 2.5-4.2 เซนติเมตร โดยจะออกตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีส้มอมสีชมพูหรือสีแดง มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายกลีบแหลม ขอบกลีบบิดเบี้ยว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ และมีสีเข้มกว่า ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้านอยู่ภายในดอก ดอกเมื่อบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร ดอกจะบานในตอนกลางคืน และจะบานได้วันเดียวแล้วร่วง โดยจะออกดอกตลอดทั้งปี บ้างว่าจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[2],[3],[4]

รูปดอกโมกแดง

ดอกโมกแดง

  • ผลโมกแดง ออกผลเป็นฝักยาว โคนฝักติดกันเป็นคู่ ลักษณะของฝักค่อนข้างกลม ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 13-30 เซนติเมตร เมื่อฝักแห้งจะแตกออก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเป็นเส้น มีขนสีขาวเป็นพู่ที่ปลายติดอยู่และสามารถปลิวไปตามลมได้[1],[3]

ฝักโมกแดง

สรรพคุณของโมกแดง

  • เปลือกเนื้อไม้ใช้ผสมปรุงเป็นยาขับระบบหมุนเวียนเส้นโลหิตฝอยในร่างกาย โดยจะนำมาต้มกับน้ำดื่มโดยกะเอาจำนวนพอประมาณและใช้อย่างละเท่ากัน (เปลือกเนื้อไม้)[1],[2],[5]
  • รากใช้รับประทานเป็นยาแก้บิด (ราก)5]

ประโยชน์ของโมกแดง

  • ยอดโมกแดงใช้รับประทานเป็นผักสดหรือนำมาใส่แกงได้[4]
  • ต้นโมกแดงจัดเป็นไม้หายาก มีดอกที่มีรูปทรงสวยงามและมีกลิ่นหอม (ดอกมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยว หากจะนำมาปลูกควรดมกลิ่นของดอกดูก่อน เพราะคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยชอบกลิ่นของดอกโมกแดง) โดยดอกจะบานในตอนกลางคืน ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้[3],[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “โมกแดง (Mok Daeng)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 246.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “โมกแดง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 164.
  3. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5.  “โมกแดง”.
  4. หนังสือพรรณไม้ป่าชายหาด.  (มัณฑนา นวลเจริญ).  “โมกแดง”.  หน้า 129.
  5. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง.  “โมกแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/.  [19 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด