โมกหลวง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโมกหลวง 30 ข้อ ! (โมกใหญ่)

โมกหลวง

โมกหลวง ชื่อสามัญ Kurchi[4], Easter tree, Conessi bark, Tellicherry tree[10]

โมกหลวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Holarrhena pubescens Wall. ex G.Don[1] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Echites antidysentericus Roth[6], Holarrhena antidysenterica (Roth) Wall. ex A.DC.[1], Holarrhena antidysenterica Wall.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[3]

สมุนไพรโมกหลวง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยางพุด มูกขาว (เลย), พุด (กาญจนบุรี), พุทธรักษา (เพชรบุรี), มูกมันน้อย มูกมันหลวง มูกหลวง โมกเขา โมกทุ่ง (ภาคเหนือ), โมกใหญ่ (ภาคกลาง), หนามเนื้อ (เงี้ยว-ภาคเหนือ), ซอทึ พอแก พ้อแก ส่าตึ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2],[8]

ลักษณะของโมกหลวง

  • ต้นโมกหลวง จัดเป็นไม้พุ่มผลัดใบหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 3-15 เมตร ลำต้นกลม เปลือกต้นชั้นนอกเป็นสีเทาอ่อนถึงสีน้ำตาล หลุดลอกออกเป็นแผ่นกลม ๆ ขนาดไม่เท่ากัน ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีซีด ทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น ใบอ่อนจะมีขนปกคลุมมาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ทนต่อแสงแดดได้ดี พบได้ตามป่าเต็งรังทั่วไป ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ[1],[5],[6] มีเขตการกระจายพันธุ์จากแอฟริกาถึงอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[9]

ต้นโมกหลวง

โมกใหญ่

รูปโมกหลวง

  • ใบโมกหลวง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงเป็นคู่ตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ ปลายใบเรียวแหลมหรือมน โคนใบแหลมหรือป้าน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-12 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-27 เซนติเมตร แผ่นใบมีขน ใบแก่บาง มีเส้นใบข้างประมาณ 10-16 คู่ ส่วนเส้นกลางใบและเส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน โดยเส้นใบจะเป็นสีเหลือง ไม่มีต่อม ผิวใบด้านบนมีขนนุ่ม ส่วนด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่า ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.6 เซนติเมตร ใบร่วงได้ง่าย[6]

ใบโมกหลวง

  • ดอกโมกหลวง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก โดยจะออกใกล้กับปลายกิ่ง ในแต่ละช่อจะมีดอกหลายดอก ช่อดอกห้อยลง ช่อดอกยาวประมาณ 4-1 เซนติเมตร ดอกมีขนาดประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน บางครั้งอาจมีแต้มสีชมพู ดอกมีกลิ่นหอม ก้านช่อยาวประมาณ 0.6-1.7 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน เวียนซ้าย ผิวด้านนอกมีขนสีขาว โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 9-11.5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้านเชื่อมกับหลอดกลีบดอก ก้านชูเกสรสั้นและมีขนอยู่ที่ฐาน อับเรณูแคบแหลม ส่วนเกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ มี 2 ห้อง แยกจากกัน ยอดเกสรเชื่อมกัน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1.8-2.5 เซนติเมตร ไม่มีหมอนรองดอก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ขนาดประมาณ 2-4 มิลลิเมตร มีลักษณะแคบและแหลม มีต่อมประปราย ที่โคนเชื่อมกันเล็กน้อย ปลายแยก และมีขนสีขาว โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม[6] หรือออกดอกพร้อมกับติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน[9]

ดอกโมกใหญ่

ดอกโมกหลวง

  • ผลโมกหลวง ออกผลเป็นฝัก ห้อยลงเป็นคู่โค้ง ฝักเป็นฝักแห้ง ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระบอกแคบ ปลายฝักแหลม โคนฝักแบน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 18-43 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่เต็มที่จะแตกตามยาวเป็นตะเข็บเดียวอ้าออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดเรียงกันเป็นแถวอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดแบน เป็นสีน้ำตาล ขนาดประมาณ 1.3-1.7 เซนติเมตร เกลี้ยง แต่มีแผงขนยาวเป็น 2 เท่าของเมล็ด มีขนสีขาวเป็นพู่ติดอยู่ แผงขนจะชี้ไปทางยอดของฝัก โดยขนสีขาวที่ติดอยู่สามารถลอยไปตามลมได้[2],[5],[6]

ฝักโมกหลวง

สรรพคุณของโมกหลวง

  1. เปลือกต้นมีรสขมฝาดเมาร้อน เป็นยาทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น)[1],[5],[6]
  2. ช่วยบำรุงธาตุทั้งสี่ให้เจริญ ทำให้รู้ปิดธาตุ (เปลือกต้น)[6],[8]
  3. ทำให้ฝันเคลิ้ม (เมล็ด)[8]
  4. กระพี้ช่วยฟอกโลหิต (กระพี้)[7],[8]
  5. เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้เบาหวาน (เปลือกต้น)[1],[6]
  6. ผลมีรสฝาดขมร้อน เป็นยาแก้สันนิบาต หน้าเพลิง ช่วยแก้วัณโรคของสตรีอันอยู่ในเรือนไฟ (ผล)[8]
  7. เมล็ดมีรสฝาดขม สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ท้องเสีย แก้ไข้อันเกิดเพื่ออติสารโรค (เมล็ด)[1],[2],[3],[5],[8] ส่วนเปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้จับสั่น (เปลือกต้น)[1],[6],[8] ช่วยแก้ไข้อันเป็นเพื่อลม แก้ไข้อันเป็นเพื่อเลือด แก้ไข้อันเป็นเพื่อเสลด (เปลือกต้น)[8] ตำรับยาแก้ไข้พิษ ระบุให้ใช้เปลือกต้นโมกหลวงประมาณ 6-10 กรัม (ครึ่งกำมือ) ผสมกับผลมะตูมแห้ง (อย่างละเท่ากัน) รวมกับเปลือกรากทับทิมครึ่งส่วน นำมาตำให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นลูกกลอน ใช้รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม (ของยาที่ผสมแล้ว) ประมาณ 3-5 เมล็ดพุทรา หรือนำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานวันละ 2 ครั้งเป็นยาแก้ไข้พิษ (เปลือกต้น)[7],[8]
  8. เปลือกต้นแห้งมีสรรพคุณแก้เสมหะเป็นพิษ (เปลือกต้น)[1],[6],[8]
  9. ช่วยรักษาหลอดลมอักเสบ (ใบ)[6]
  10. ช่วยขับลม (เมล็ด)[3],[5],[6]
  1. ช่วยในการขับถ่าย (เมล็ด)[1]
  2. ช่วยแก้โรคลำไส้ (เปลือกต้น)[8]
  3. เมล็ดช่วยแก้ท้องเสีย ท้องเดิน (เมล็ด)[1],[2],[3],[5] ส่วนตำรายาพื้นบ้านอุบลราชธานีจะใช้ส่วนของรากนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้ท้องเสีย (ราก)[6]
  4. ช่วยรักษาท้องร่วง (เปลือกต้น, น้ำมันจากเมล็ด)[6]
  5. เมล็ดเป็นยาแก้บิด (เมล็ด)[1],[2],[3],[5] เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้บิดมูกเลือด ส่วนอีกตำรับให้ใช้เปลือกต้นโมกหลวงประมาณ 6-10 กรัม (ครึ่งกำมือ) ผสมกับผลมะตูมแห้ง (อย่างละเท่ากัน) รวมกับเปลือกรากทับทิมครึ่งส่วน นำมาตำให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นลูกกลอน ใช้รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม (ของยาที่ผสมแล้ว) ประมาณ 3-5 เมล็ดพุทรา หรือนำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานวันละ 2 ครั้งเป็นยาแก้บิด (เปลือกต้น)[1],[2],[4],[5],[7] ส่วนตำรายาพื้นบ้านอุบลราชธานีจะใช้ส่วนของรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด (ราก)[6]
  6. เปลือกต้นแห้งที่ป่นละเอียดแล้ว นำมาใช้ทาตัวแก้โรคท้องมานได้ (เปลือกต้น)[1],[5]
  7. ดอกมีรสฝาดเมา เป็นยาขับพยาธิ ถ่ายพยาธิ (ดอก)[1],[2],[3],[5] ใบช่วยขับพยาธิในท้อง (ใบ)[3],[6] ช่วยขับไส้เดือนในท้อง (ใบ)[7],[8] ส่วนเมล็ดเป็นยาถ่ายพยาธิในลำไส้เล็ก (เมล็ด)[1],[2],[3],[5]
  8. รากมีรสร้อน ช่วยขับโลหิต ขับโลหิตประจำเดือนของสตรี แก้โลหิตอันร้ายให้ตก (ราก)[1],[3],[7],[8] ส่วนผลก็ช่วยขับโลหิตเช่นกัน (ผล)[7],[8]
  9. ช่วยแก้ดีพิการ (เปลือกต้น)[8]
  10. ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (เปลือกต้น)[8]
  11. เมล็ดเป็นยาฝาดสมาน (เมล็ด)[1],[2],[3],[5] ช่วยสมานท้องลำไส้ (เมล็ด)[8]
  12. ช่วยรักษาแผลพุพอง (ใบ)[6]
  13. ช่วยแก้ไฟลามทุ่ง (เมล็ด)[8]
  14. ใช้รักษาโรคผิวหนัง (เมล็ด)[1],[2],[3],[5] ส่วนเนื้อไม้หรือแก่นมีรสฝาดเมา เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน (เนื้อไม้หรือแก่น)[3],[6],[7],[8]
  15. เปลือกหรือใบนำมาต้มผสมกับน้ำอาบรักษาโรคหิด (เปลือกหรือใบ)[6]
  16. ช่วยรักษาฝี (ใบ)[3],[6],[8]
  17. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยระงับอาการปวดกล้ามเนื้อ (หากใช้มากเกินไปจะทำให้นอนไม่หลับและมีอาการปั่นป่วนในท้อง[6]) ส่วนใบก็มีสรรพคุณระงับอาการปวดกล้ามเนื้อเช่นกัน (เปลือกต้น, ใบ)[1],[2],[3],[5]
  18. ใบมีรสฝาดเมา ช่วยขับน้ำนมของสตรี (ใบ)[1],[2],[3],[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโมกหลวง

  • สารสำคัญที่พบ คือ สารอัลคาลอยด์ประมาณ 4.5% ซึ่งประกอบไปด้วย Conessine, Kurchine, Kurchicine ฯลฯ ส่วนในใบโมกหลวงพบสาร kurchamine, kurchessine ฯลฯ[10]
  • เปลือกต้นมีสารอัลคาลอยด์ “โคเนสซีน” (Conessine) อยู่ประมาณ 0.4% ของอัลคาลอยด์ทั้งหมด ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบิด สามารถใช้แก้โรคบิดได้ และเคยนำมาใช้เป็นยารักษาโรคบิดอยู่ในระยะหนึ่ง แต่ในปัจจุบันมีการใช้น้อยลง เนื่องจากพบฤทธิ์ข้างเคียงต่อระบบประสาท[4],[6]
  • สาร kurchicine เป็นสารอัลคาลอยด์ที่ทำให้สัตว์ทดลองเป็นอัมพาต ถ้าให้ในขนาด lethal dose แต่ถ้าให้ในขนาดน้อยจะทำให้ความดันขึ้นสูง โดยเปลือกที่มีตัวยาสูงต้องลอกจากต้นที่มีอายุ 8-12 ปี[10]
  • สารสกัดน้ำและเมทานอลในอัตราส่วน 2:3 ของเมล็ดโมกหลวง (สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์และฟีนอล) เมื่อนำมาทดสอบในหนูแรทที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ พบว่าเมื่อนำมาทดสอบในหลอดทดลองสารสกัดด่างสามารถต้านการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase จากลำไส้เล็ก โดยที่ค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 0.52 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และสารสกัดจากเมล็ดโมกหลวงในขนาด 200, 400 และ 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารในหนูแรทได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่จะไม่มีความแตกต่างเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (acarbose 3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) จากการศึกษาด้านความปลอดภัยของสารสกัดนี้ พบว่าสามารถใช้ได้ในขนาดถึง 6.4 กรัม กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว จึงสรุปได้ว่าสารสกัดจากเมล็ดโมกหลวงสามารถต้านการดูดซึมแป้งในลำไส้เล็กได้ ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase ทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารในหนูแรทที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์เพื่อทำการศึกษาในคนต่อไป[12]

ประโยชน์ของโมกหลวง

  • เนื้อไม้สีขาวละเอียด มีความเหนียว ไสกบแต่งได้ง่าย นิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น หวี ตะเกียบ โต๊ะ ตู้ กรอบรูป ไม้เท้า ไม้บรรทัด ไม้ฉาก พัด หรือใช้ทำของเล่นสำหรับเด็ก ฯลฯ[9],[11]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ[11]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “โมกหลวง (Mok Luang)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 249.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “โมกหลวง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 128.
  3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “โมกหลวง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 166.
  4. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โมกหลวง Kurchi”.  หน้า 120.
  5. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “โมกใหญ่”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 652-653.
  6. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โมกหลวง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [20 พ.ค. 2014].
  7. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “โมกหลวง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [20 พ.ค. 2014].
  8. สมุนไพรไทย, มหาวิทยาลัยนเรศวร.  “สมุนไพรไทยโมกหลวง”.  (วชิราภรณ์ ทัพผา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/46313433/Thaiherb/.  [20 พ.ค. 2014].
  9. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4.  “โมกหลวง”.
  10. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ข้อมูลของโมกหลวง”.  อ้างอิงใน: ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com.  [20 พ.ค. 2014].
  11. โครงการสำรวจสวนร่มเกล้ากัลปพฤกษ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.  “โมกใหญ่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: orip.kku.ac.th/garden/.  [20 พ.ค. 2014].
  12. ย่อยข่าวงานวิจัย, หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์ของสารสกัดเมล็ดโมกหลวงในการต้านการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase และลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารในหนูแรทที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [20 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Warren McCleland)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด