โผงเผง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโผงเผง 8 ข้อ !

โผงเผง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโผงเผง 8 ข้อ !

โผงเผง

โผงเผง ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna hirsuta (L.) H.S.Irwin & Barneby (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia hirsuta L.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[2],[3]

โผงเผง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า รางจืดต้น (ปราจีนบุรี), ดับพิษ (นครศรีธรรมราช), ลำมึนหลวง (คนเมือง), อิเฉ่อะโชเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), สะหน่ำสะอี้ (ปะหล่อง) ส่วนเชียงใหม่เรียก โผงเผง เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของต้นโผงเผง

  • ต้นโผงเผง จัดเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 2.5-3 เมตร ลำต้นตั้งตรง มีขน และมีกลิ่นเหม็นเขียว โดยมักพบขึ้นทั่วไปในพื้นที่ริมป่า ตามป่าละเมาะ หรือในพื้นที่เสื่อมโทรม สภาพดินเหนียวปนดินลูกรัง เช่น ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นต้น[1],[2]

ต้นโผงเผง

  • ใบโผงเผง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 4-5 คู่ โดยคู่บนสุดจะมีใบขนาดใหญ่กว่า คู่ล่าง ๆ จะมีขนาดรองลงมา ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือเป็นรูปใบหอก มีขนาดกว้างประมาณ 1.7-4.3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3.3-10.8 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนละเอียดยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่นทั้งสองด้าน ก้านใบยาวประมาณ 1.7-4.3 เซนติเมตร[1],[2]

ใบโผงเผง

  • ดอกโผงเผง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกมีดอกย่อยประมาณ 2-4 ดอก กลีบดอกเป็นสีเหลืองสด อับเรณูเป็นสีน้ำตาลแกมสีเหลือง ส่วนยอดเกสรเพศเมียเป็นสีเขียวอ่อน ก้านชูเกสรเพศเมียมีปุยขนยาวสีขาว[1],[2]

ผลโผงเผง

ดอกโผงเผง

  • ผลโผงเผง ลักษณะของผลเป็นฝักโค้งเล็กน้อย มีขนละเอียดปกคลุมอยู่หนาแน่น ขอบเป็นสันเหลี่ยม ภายในผลมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีม่วงดำ มีรูปร่างแบนและมีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร[1]

ผลโผงเผง

สรรพคุณของโผงเผง

  1. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบโผงเผงผสมกับรากขางครั่ง นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ทำเป็นยาลูกกลอนกินเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[1]
  2. รากนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการนอนไม่หลับ ทำให้ง่วงนอน (ราก)[3]
  3. ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้รากโผงเผง นำมาฝนกับน้ำกินเป็นยาแก้เบื่อมา (ราก)[1]
  4. เมล็ดนำมาคั่วแช่ในน้ำหรือใช้รากนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปัสสาวะขัดหรือท้องผูก (ราก, เมล็ด)[3]
  5. ชาวเขาเผ่าลีซอจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มให้สตรีหลังคลอดบุตรดื่ม (ทั้งต้น)[1]

ประโยชน์ของโผงเผง

  • ยอดอ่อนนำมาลวกใช้กินเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก[3]
  • ส่วนของใบและยอดอ่อนเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติสำหรับสัตว์แทะเล็ม เช่น โค กระบือ[2]
  • คุณค่าทางโภชนาการของใบโผงเผงรวมก้านใบย่อยและยอดอ่อน ประกอบไปด้วย โปรตีน 15.95%, คาร์โบไฮเดรต 46.86%, ไขมัน 6.21%, ใยอาหาร 22.08%, เถ้า 8.9%, เยื่อในส่วน ADF 26.27%, NDF33.18% และลิกนิน 4.91%[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โผงเผง”.  หน้า 62.
  2. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา.  “โผงเผง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dld.go.th/ncna_nak/.  [29 เม.ย. 2014].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “โผงเผง, ดับพิษ”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [27 เม.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Lalithamba, Vijayasankar Raman, Hai Le)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด