โปลิโอ (Poliomyelitis) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคโปลิโอ !!

โปลิโอ (Poliomyelitis) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคโปลิโอ !!

โรคโปลิโอ

โปลิโอ (Polio หรือ Poliomyelitis หรือ Infantile paralysis) หรือบางครั้งเรียกว่า “โรคไขสันหลังอักเสบ” เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงของโรค ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการนั้นส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงเล็กน้อยอย่างไม่จำเพาะและจะหายได้เองเป็นปกติภายในเวลาไม่กี่วัน แต่จะมีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่จะมีอาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรงและเมื่อผ่านไปหลาย ๆ ปีหลังการรักษา ผู้ป่วยที่เคยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงนี้อาจจะเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงซ้ำขึ้นมาอีก รวมทั้งอาจเกิดกล้ามเนื้อฝ่อลีบและเกิดความพิการของข้อตามมาได้ ในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มียารักษา แต่จะมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันไม่ให้เป็นโรคได้

ในปี พ.ศ.2531 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ทุกประเทศร่วมมือช่วยกันกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไป จนเป็นผลทำให้อัตราการป่วยทั่วโลกลดลงมากถึง 99% โดยลดลงจาก 350,000 ราย ในปี พ.ศ.2531 (จาก 125 ประเทศทั่วโลก) เหลือเพียง 820 ราย ใน 11 ประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2550 ซึ่งประเทศที่ยังพบโรคได้มากอยู่ คือ อินเดีย (ประมาณ 400 กว่าราย), ปากีสถาน ไนจีเรีย และอัฟกานิสถาน ส่วนในประเทศไทยเรานั้น องค์การอนามัยโลกได้ประกาศรับรองให้เป็นประเทศที่ปลอดโรคโปลิโอแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2557 โดยไทยเป็น 1 ใน 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองในครั้งนี้ ทั้งนี้ ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคโปลิโอรายสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2540 ที่จังหวัดเลย แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขก็ยังคงทุกมาตรการในการควบคุมโรคนี้อย่างต่อเนื่องตลอดไป

สาเหตุของโรคโปลิโอ

เชื้อที่เป็นสาเหตุ : โรคโปลิโอเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ (Poliovirus) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) เช่นเดียวกับไวรัสที่ก่อโรคมือเท้าปาก โดยเชื้อไวรัสโปลิโอจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิดย่อย คือ ชนิดย่อย 1, 2 และ 3 และแต่ละชนิดย่อยจะแบ่งย่อยได้อีก 2 สายพันธุ์ คือ

เชื้อไวรัสโปลิโอ (Poriovirus)

  1. สายพันธุ์รุนแรงก่อโรค (Wild strain) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังและกวาดล้าง โดยปัจจุบันยังพบสายพันธุ์รุนแรงนี้ใน 2 ประเทศ คือ อัฟกานิสถานและปากีสถาน
  2. สายพันธุ์วัคซีน (Vaccine strain หรือ Sabin strain) เป็นการทำให้เชื้อไวรัสโปลิโอทั้ง 3 ชนิดย่อยอ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ แล้วนำมาใช้เป็นวัคซีนชนิดหยด หรือที่เรียกกันว่า OPV (Oral polio vaccine) เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม ไวรัสโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนอาจมีการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลจนสามารถทำให้เกิดสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ และก่อให้เกิดโรคโปลิโอได้ ซึ่งการเกิดนี้มักจะเกิดในชุมชนที่มีระดับความครอบคลุมของวัคซีนโปลิโอค่อนข้างต่ำเป็นระยะเวลานาน ส่วนในประเทศไทยเองก็ไม่พบสายพันธุ์รุนแรงก่อโรคมามากกว่า 10 ปีแล้ว อีกทั้งความครอบคลุมของการให้วัคซีนก็อยู่ในระดับสูง คือ มากกว่า 90% จึงทำให้ยังไม่พบสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ แต่ละชนิดย่อยสามารถทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ แต่ชนิดย่อยที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่พบบ่อยที่สุดคือชนิด 1 รองลงมาคือชนิด 3 ส่วนชนิด 2 นั้น พบได้ไม่บ่อย และเมื่อติดเชื้อย่อยชนิดหนึ่งแล้วร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดกับเชื้อชนิดย่อยนั้น ๆ (แม้จะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ตาม) แต่จะไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดย่อยอื่น ๆ ดังนั้น ตามทฤษฎีแล้วจึงมีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้ถึง 3 ครั้ง (จากเชื้อทั้ง 3 ชนิดย่อย) แต่ก็ยังพบได้น้อย

กลุ่มเสี่ยง : การติดเชื้อไวรัสโปลิโอมักพบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้เท่ากัน คนทั่วไปมีโอกาสติดเชื้อโปลิโอได้ง่าย แต่มีน้อยรายที่จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (อัตราการติดเชื้อและมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะเพิ่มมากขึ้นในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีอายุมากขึ้น) และเนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเจริญเติบโตอยู่ในลำไส้ เชื้อจึงถูกขับออกจากร่างกายมากับอุจจาระและแพร่ไปสู่ผู้อื่นผ่านการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งเกิดจากการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่ล้างก่อนกินอาหาร โรคนี้จึงมักพบในประเทศที่ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาที่ขาดการดูแลเรื่องสุขอนามัยที่ดี

การติดต่อ : เชื้อไวรัสโปลิโอมีแหล่งรังโรคอยู่ในลำไส้ของคน เชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ในลำไส้ของคนที่ไม่มีภูมิต้านทานและอยู่ภายในลำไส้ประมาณ 1-2 เดือน เมื่อถูกขับถ่ายออกมาภายนอกจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ และเชื้อจะอยู่ภายนอกร่างกายในสิ่งแวดล้อมได้ไม่นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อน (อายุครึ่งชีวิตของเชื้อไวรัสโปลิโอ (Half life) คือ ประมาณ 48 ชั่วโมง) เชื้อสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่ายมาก หากผู้ที่ได้รับเชื้อยังไม่มีภูมิคุ้มกันก็จะมีการติดเชื้อเกือบทุกราย โดยการติดเชื้อจะติดต่อได้จากการกลืนหรือสูดเอาเชื้อเข้าไปในร่างกาย (เชื้อจะออกมากับสารคัดหลั่งบริเวณลำคอในขณะที่ผู้ป่วยไอหรือจาม และออกมากับอุจจาระแล้วเข้าสู่ร่างกายผู้อื่นทางปาก แล้วแพร่สู่ผู้อื่นผ่านการกลืนเชื้อที่ติดอยู่ที่คอจากลมหายใจหรือจากการกลืนเข้าไปพร้อมกับน้ำ นม หรืออาหารที่มีเชื้อโรคนี้ปนเปื้อนอยู่ แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า สามารถติดต่อทางแมลง ขยะ หรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระ) ในพื้นที่ที่มีอนามัยส่วนบุคคลและการสุขาภิบาลไม่ดี จะพบโรคโปลิโอได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และจะเป็นการติดต่อทางอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเข้าสู่อีกคนหนึ่งโดยผ่านทางปาก (Fecal-oral route) ส่วนในประเทศที่มีระดับสุขาภิบาลและการอนามัยส่วนบุคคลที่ดี การติดต่อส่วนใหญ่จะเป็นการติดต่อทางน้ำลาย (Oral-oral route) โดยเชื้อที่เพิ่มจำนวนในลำคอหรือทางเดินอาหารส่วนบน และถูกขับออกมาพร้อมกับสารคัดหลั่งบริเวณลำคอออกมาทางปาก

ระยะฟักตัวของโรคโปลิโอ (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) : ประมาณ 7-14 วัน แต่อาจนานถึง 35 วัน หรือสั้นเพียง 3-4 วันก็ได้ และสามารถแพร่เชื้อทางเสมหะได้ตั้งแต่ประมาณ 7 วันก่อนมีอาการไปจนถึง 14 วันหลังป่วย ส่วนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระจะอยู่ได้นานประมาณ 1-2 เดือน หรืออาจนานถึง 4 เดือน

กลไกการเกิดโรคโปลิโอ : เมื่อเชื้อไวรัสโปลิโอเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่ไม่มีภูมิต้านทาน เชื้อไวรัสจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในบริเวณคอหอยและลำไส้ ในอีก 2-3 วันต่อมาก็จะกระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอที่ทอนซิลและที่ลำไส้ และเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ผู้ป่วยมีอาการ (ไข้) เกิดขึ้น ส่วนน้อยของเชื้อไวรัสจะผ่านจากกระแสเลือดเข้าสู่ไขสันหลังและสมองโดยตรง หรือบางส่วนอาจผ่านไปไขสันหลังโดยทางเส้นประสาท และเมื่อเชื้อไวรัสเข้าไปยังไขสันหลังแล้ว เชื้อก็จะเข้าไปทำลายเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor neuron) ที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ทั้งกล้ามเนื้อเรียบ (เป็นกล้ามเนื้อของอวัยวะภายในที่ทำงานได้เองโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของสมอง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อของลำไส้) และกล้ามเนื้อลาย (กล้ามเนื้อแขน ขา) ทำให้กล้ามเนื้อเหล่านี้เกิดอาการอ่อนแรงหรือเกิดอัมพาตในที่สุด

อาการของโรคโปลิโอ

สามารถแบ่งผู้ป่วยตามอาการออกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มที่ไม่มีอาการใด ๆ ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ประมาณ 90-95% จะอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ยังคงแพร่เชื้อให้ผู้อื่นทางอุจจาระได้อยู่
  2. กลุ่มที่มีอาการเพียงเล็กน้อย (Abortive poliomyelitis) เป็นกลุ่มที่พบได้ประมาณ 4-8% หรือ 5-10% (แล้วแต่แหล่งอ้างอิง) ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการที่ไม่จำเพาะ (มักมีอาการคล้ายไข้หวัด) ได้แก่ มีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเดิน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง เมื่อยล้า เป็นต้น โดยจะมีอาการอยู่ประมาณ 3-5 วัน  แล้วจะหายเป็นปกติ (ทำให้วินิจฉัยแยกจากโรคติดเชื้อไวรัสอื่นไม่ได้)
  3. กลุ่มที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Nonparalytic poliomyelitis) เป็นกลุ่มที่พบได้น้อยเพียง 1% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการเช่นเดียวกับที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่น ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการเพียงเล็กน้อย (Abortive poliomyelitis) แต่จะตรวจพบอาการคอแข็งอย่างชัดเจน มีอาการปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อ เมื่อตรวจน้ำไขสันหลังก็จะพบความผิดปกติแบบการติดเชื้อไวรัส มีเซลล์ขึ้นไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นลิมโฟไซต์ มีระดับน้ำตาลและโปรตีนปกติหรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะหายเป็นปกติได้เช่นกัน
  4. กลุ่มที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paralytic poliomyelitis) เป็นกลุ่มที่พบได้น้อยมาก (ประมาณ 1-2% ของผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ) โดยผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนกับผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Nonparalytic poliomyelitis) แต่หลังจากนั้นเป็นเวลาหลายวันผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อต่าง ๆ ทั่วร่างกายอย่างรุนแรง แล้วตามมาด้วยอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรืออาจเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที ในผู้ป่วยบางรายอาการของ Nonparalytic poliomyelitis จะหายสนิทก่อน หลังจากนั้นประมาณ 1-2 วัน อาการไข้ก็จะกลับมาอีก และตามด้วยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทั้งนี้ กล้ามเนื้อที่เกิดอาการอ่อนแรงจะเป็นแบบข้างขวาและซ้ายไม่สมมาตรกัน โดยกล้ามเนื้อที่พบเกิดอาการได้บ่อยที่สุดจะเป็นกล้ามเนื้อที่ขามากกว่าที่แขน และมักจะเป็นกล้ามเนื้อต้นขาหรือต้นแขนมากกว่าส่วนปลาย แต่ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็สามารถเกิดอาการขึ้นได้ทั้งนั้น เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถทำลายเซลล์ประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อเหล่านั้นได้ในหลาย ๆ ตำแหน่ง เช่น
    • อาจทำให้กล้ามเนื้อเกี่ยวกับการหายใจอ่อนแรง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก
    • อาจทำให้กล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่อ่อนแรง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการท้องผูก
    • อาจทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนแรง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะไม่ออก
    • เชื้อไวรัสอาจไปทำลายเซลล์ประสาทสั่งการบริเวณก้านสมอง (ควบคุมเกี่ยวกับการพูด การหายใจ การกลืนอาหาร และการไหลเวียนของเลือด) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก พูดไม่ชัด
    • ในรายที่เป็นรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการของระบบการไหลเวียนของเลือดล้มเหลว เช่น เกิดภาวะช็อก

รูปโรคโปลิโอ
IMAGE SOURCE : www.wikimedia.org (by CDC, USAID)

คนเป็นโปลิโอ
IMAGE SOURCE : www.who.int, vrachfree.ru

โปลิโอผู้ใหญ่
IMAGE SOURCE : www.getwellstaywellathome.com, www.rotarygbi.org, www.nigeriagalleria.com

อนึ่ง ผู้ป่วยไม่ว่าจะมีอาการอยู่ในกลุ่มใด เมื่อหายจากโรคแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดย่อยที่ทำให้เกิดโรคไปตลอดชีวิต แต่ยังคงมีโอกาสติดเชื้อชนิดย่อย ๆ อื่นของเชื้อโปลิโอได้อีก

ภาวะแทรกซ้อนของโรคโปลิโอ

  • ผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการเพียงเล็กน้อย (Abortive poliomyelitis) และผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Nonparalytic poliomyelitis) อาการจะหายเป็นปกติได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น แต่สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paralytic poliomyelitis) จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 60% ถ้าเซลล์สั่งการในก้านสมองถูกทำลายและทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการหายใจและการไหลเวียนของเลือดอ่อนแรง ผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลวและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว
  • ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อจะค่อย ๆ ฟื้นตัวภายในเวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ๆ โดยที่ผู้ป่วยประมาณ 2 ใน 3 อาจจะมีอาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรงเล็กน้อยหลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการหลงเหลืออยู่นี้จะมีโอกาสเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า “กลุ่มอาการหลังเกิดโรคโปลิโอ” (Post-polio syndrome – PPS) ได้ โดยอาการจะเกิดขึ้นเมื่อผ่านไปหลาย ๆ ปี (โดยทั่วไปคือ ประมาณ 15-40 ปีผ่านไป) ซึ่งอาการของกลุ่มอาการหลังเกิดโรคโปลิโอนั้นมีดังนี้
    1. อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่วนมากจะเกิดกับกล้ามเนื้อที่เคยอ่อนแรงมาก่อน (แต่บางครั้งอาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อที่ไม่เคยอ่อนแรงมาก่อนก็ได้) และจะเป็นแบบข้างขวาและซ้ายไม่สมมาตรกัน ซึ่งอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อนี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดกล้ามเนื้อฝ่อลีบ ทำให้ข้อต่อต่าง ๆ เกิดการเสื่อมและบิดผิดรูป ซึ่งเป็นลักษณะที่เรามักคุ้นเคยในผู้ป่วยที่เป็นโรคโปลิโอ คือ ขาฝ่อลีบ ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อสะโพกพิการผิดรูป หรือเดินไม่ได้นั่นเอง สำหรับอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง ได้แก่
      • เดินลำบากหรือเดินไม่ได้ ซึ่งเกิดจากการที่กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ข้อต่าง ๆ เกิดการเสื่อมและบิดผิดรูป หรือร่วมกับอาการปวดเจ็บกล้ามเนื้อ
      • เกิดภาวะ Flat back syndrome คือ ภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถยืนตรง ๆ ได้ ซึ่งเกิดจากการที่ลำตัวเอนโค้งไปข้างหน้า (เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณลำตัวอ่อนแรง) ร่วมกับมีอาการปวดกล้ามเนื้อเอวและขา
      • กลืนลำบากและอาจมีอาการพูดลำบากด้วย
      • หายใจได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเกิดจากการที่กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรงและฝ่อลีบ เมื่อเป็นนาน ๆ เข้าจะเกิดปอดแฟบจุดเล็ก ๆ เป็นหย่อม ๆ นอกจากนี้ยังทำให้การขับเสมหะและสิ่งแปลกปลอมที่หายใจเข้าไปทำได้ไม่มีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งอาจทำให้ปอดติดเชื้อได้บ่อย
      • การหยุดหายใจขณะหลับเป็นพัก ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการที่กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรงและฝ่อลีบ
    2. อาการปวดเจ็บกล้ามเนื้อ ที่พบได้บ่อยคือ กล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ ขา สะโพก และเอว แต่กล้ามเนื้อที่มักมีอาการปวดรุนแรง คือ กล้ามเนื้อบริเวณขา ศีรษะ ข้อมือ และเอว
    3. อาการอ่อนเพลียเมื่อยล้า เมื่อต้องออกแรงใช้กล้ามเนื้อทำงานต่าง ๆ จะรู้สึกเพลีย เมื่อยล้า ซึ่งจะเป็นมากในช่วงบ่าย ๆ และการนั่งพักหรือนอนพักจะช่วยลดอาการอ่อนเพลียเมื่อยล้าลงได้
      อนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้แบบค่อยเป็นค่อยไปและอาการจะปรากฏอยู่ได้นานตั้งแต่ 1-10 ปี ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายกล้ามเนื้ออาจฟื้นตัวได้ บางรายอาจมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง และบางรายอาจไม่หายหรือมีอาการไปตลอดชีวิต
  • นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดบวมน้ำ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคโปลิโอ

  • ผู้ป่วยในกลุ่มที่ไม่มีอาการใด ๆ หรือกลุ่มที่มีอาการเพียงเล็กน้อย (Abortive poliomyelitis) ซึ่งมีอาการไม่จำเพาะ ทั้งผู้ป่วยและแพทย์อาจไม่ได้นึกถึงว่า เกิดจากการติดเชื้อโปลิโอ และในประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาดเกิดขึ้น อาจต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเข้ามาช่วยในการวินิจฉัยเพราะเป็นประโยชน์ในการควบคุมโรค
  • ผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Nonparalytic poliomyelitis) จะมีอาการเหมือนผู้ป่วยที่เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อโรคอื่น ๆ ซึ่งแพทย์จะใช้การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาสาเหตุของเชื้ออื่น ๆ ก่อนที่จะนึกถึงสาเหตุจากเชื้อโปลิโอเสมอ เนื่องจากโรคอื่นนั้นมียาที่ใช้สำหรับการรักษา แต่โรคโปลิโอยังไม่มียารักษา และโรคสามารถหายได้เอง ยกเว้นในประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาดเกิดขึ้นเช่นกัน ที่อาจต้องใช้การตรวจหาเชื้อโปลิโอร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paralytic poliomyelitis) แพทย์จะใช้การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพื่อแยกจากโรคอื่น ๆ ที่อาจทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ เช่น โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuritis), กลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร (Guillain-Barré syndrome), อัมพาตครั้งคราวโดยกรรมพันธุ์ (Familial periodic paralysis), โรคพิษสุนัขบ้า, โรคบาดทะยัก, โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัสอื่น ๆ, โรคโบทูลิซึ่ม, มะเร็งระยะแพร่กระจาย, โรคฮิสทีเรีย (Histeria) เป็นต้น สำหรับการตรวจที่จะช่วยยืนยันได้ว่าเกิดจากเชื้อโปลิโอ คือ การเพาะเชื้อจากอุจจาระ เมือกที่คอ หรือจากน้ำไขสันหลัง ร่วมไปกับการตรวจเลือดหาสารภูมิต้านทานที่จำเพาะต่อเชื้อโปลิโอ หรืออาจใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยเทคนิค พีซีอาร์ (Polymerase chain reaction – PCR) แต่ส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยได้จากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของขาที่ไม่สมมาตรกัน โดยที่ผู้ป่วยยังคงรับความรู้สึกได้ปกติ

วิธีรักษาโรคโปลิโอ

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่จำเพาะต่อเชื้อโปลิโอ ซึ่งการรักษาหลักของโรคนี้เท่าที่ทำได้ก็คือ การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ได้แก่

  1. ในช่วง 2 สัปดาห์แรกต้องให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด (เพื่อลดอาการปวดของกล้ามเนื้อ) ยานอนหลับ และให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อนอย่างเต็มที่ ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบตามกล้ามเนื้อเพื่อช่วยลดอาการเจ็บ และภายหลังจาก 2 สัปดาห์ไปแล้วจึงค่อยประเมินความสูญเสียและจึงเริ่มทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กล้ามเนื้อส่วนที่เหลือทำงานชดเชยส่วนที่เสียไปได้
  2. หากกล้ามเนื้อแขนขาหรือลำตัวของผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงจนไม่สามารถขยับได้ ก็ให้จับพลิกตัวยกแขนขาบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ
  3. การใส่สายปัสสาวะ หากผู้ป่วยมีปัสสาวะมาก
  4. การให้ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกหรือสวนทวารหนัก หากผู้ป่วยอุจจาระไม่ออกหรือมีอาการท้องผูกมาก
  5. การใช้เครื่องช่วยหายใจ หากผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบากหรือระบบการหายใจล้มเหลว
  6. การให้สารน้ำและยากระตุ้นหลอดเลือด หากระบบการไหลเวียนเลือดของผู้ป่วยล้มเหลว
  7. สำหรับผู้ป่วยกลุ่มอาการหลังเกิดโรคโปลิโอ (Post-polio syndrome – PPS) การรักษาหลักจะเน้นไปที่การทำกายภาพบำบัด ได้แก่ การใส่อุปกรณ์ช่วยยึดลำตัว อุปกรณ์ช่วยในการเดิน อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันข้อบิดผิดรูปหรืออาจใช้การผ่าตัดช่วย การฝึกพูดและฝึกกลืนในผู้ป่วยที่มีปัญหา การออกกำลังกายที่เน้นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อภายใต้คำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด (การออกกำลังกายที่ผิดวิธีหรือการออกกำลังกายที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้ามากเกินไป จะส่งผลเสียมากกว่าเกิดผลดี) การใช้เครื่องช่วยหายใจในขณะหลับหากผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการหยุดหายใจในขณะหลับ รวมทั้งการดูแลทางด้านอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วยร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า ยาบางอย่างอาจช่วยลดอาการของผู้ป่วยที่เกิดกลุ่มอาการหลังเกิดโรคโปลิโอได้ เช่น ยาที่เป็นสารเพิ่มภูมิต้านทาน (Antibody หรือสาร Immunoglobulin), ยาไพริโดสติกมีน (Pyridostigmine) ซึ่งเป็นยากระตุ้นการทำงานของประสาทอัตโนมัติ และยาลาโมไตรจีน (Lamotrigine) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ควบคุมการชักในโรคลมชัก แต่ยังคงต้องรอการรับรองจากสถาบันการแพทย์ก่อนว่ายาเหล่านี้สามารถนำมาใช้แล้วได้ประโยชน์จริง ๆ ต่อไป

วิธีป้องกันโรคโปลิโอ

  1. โรคโปลิโอสามารถป้องกันได้โดยการใช้วัคซีนโปลิโอ ซึ่งวัคซีนโปลิโอที่มีใช้ในประเทศไทยจะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ
    • วัคซีนโปลิโอแบบหยด (OPV – Oral poliovirus vaccine) เป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่เตรียมจากเชื้อโปลิโอที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง (เป็นการเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะที่บริเวณเยื่อบุลำคอและลำไส้อย่างรวดเร็วและอยู่ได้นาน แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน) ถ้าเคยรับประทานวัคซีนแบบนี้มาแล้วและในอนาคตเกิดได้รับเชื้อโปลิโอ ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อเจริญเติบโตในลำไส้ได้ การใช้วัคซีนแบบรับประทานนี้จึงเหมาะสำหรับการใช้ป้องกันการแพร่กระจายของโรคโปลิโอ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีการระบาดของโรคหรือยังมีการรายงานว่ายังมีโรคเกิดขึ้นอยู่ และการดูแลเรื่องสุขอนามัยยังไม่ดีพอ อีกทั้งวัคซีนรูปแบบนี้ยังมีราคาถูกกว่าแบบฉีดและสะดวกในการให้กับเด็กมากกว่า แต่จะมีผลข้างเคียงที่น่ากลัวคือ อาจเป็นตัวทำให้เกิดโรคโปลิเองขึ้นมาเองได้ ซึ่งเรียกว่า Vaccine-associated paralytic poliomyelitis (VAPP) โดยจะทำให้เกิดอาการเหมือนผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paralytic poliomyelitis) แต่โอกาสที่วัคซีนจะทำให้เป็นโรคโปลิโอได้นั้นก็มีน้อยมาก ๆ คือ ประมาณ 1 ใน 2,500,000 คนที่ได้รับวัคซีน แต่ถ้าผู้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันต้านทานบกพร่องก็จะมีโอกาสเกิดได้มากกว่าผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติประมาณ 2,000 เท่า

      วัคซีนโปลิโอแบบหยด (OPV)
      IMAGE SOURCE : sphweb.bumc.bu.edu, www.un.org

    • วัคซีนโปลิโอแบบฉีด (IPV – Inactivated polio vaccine) เป็นวัคซีนเชื้อตาย (ภูมิคุ้มกันไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังฉีด จึงไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่ต้องการให้มีภูมิคุ้มกันเร่งด่วน) ถ้าเคยฉีดมาแล้วและในอนาคตเกิดได้รับเชื้อโปลิโอ เชื้อจะลงสู่ลำไส้และเจริญเติบโต แต่จะไม่สามารถลุกลามจากลำไส้เข้าสู่ร่างกายได้ จึงไม่ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ของโรคโปลิโอ แต่ผู้ติดเชื้อยังคงสามารถขับถ่ายเชื้อที่อยู่ในลำไส้แพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ต่อไป การใช้วัคซีนแบบฉีดนี้จึงไม่เหมาะกับประเทศที่ยังมีการระบาดของโรคโปลิโอ แต่จะเหมาะกับประเทศที่ปลอดโรคนี้มานานและมีการดูแลเรื่องสุขอนามัยได้ดี

      วัคซีนโปลิโอแบบฉีด (IPV)
      IMAGE SOURCE : makambaonline.com, newsatjama.jama.com

  2. สำหรับการให้วัคซีนโปลิโอแบบฉีด (IPV) ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งหมด 4 ครั้ง โดยให้เมื่ออายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6-12 เดือน และครั้งสุดท้ายให้เมื่ออายุ 4-6 ปี ส่วนการให้วัคซีนแบบหยด (OPV) ให้รับทั้งหมด 5 ครั้ง (ให้ด้วยการหยดใส่ปากครั้งละประมาณ 2-3 หยด) โดยให้เมื่ออายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 18 เดือน และครั้งสุดท้ายให้เมื่ออายุ 4-6 ปี
    • สำหรับวัคซีนแบบหยด ในกรณีที่เด็กไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด ให้เริ่มให้ทันทีที่มีโอกาส โดยให้จำนวน 3 ครั้ง ห่างกัน 6-8 สัปดาห์ และครั้งที่ 4 ต่อจากครั้งที่ 3 ในอีก 6-12 เดือน และหากครั้งที่ 4 ให้ก่อนอายุ 4 ปี ควรให้อีกเมื่ออายุ 4-6 ปี
    • ในเด็กอายุ 6-18 ปี หากยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ควรให้วัคซีนเพียง 3 ครั้ง (ทั้งแบบฉีดและแบบหยด) โดยให้ครั้งที่สองห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน และครั้งที่ 3 ให้ห่างจากครั้งที่ 2 ประมาณ 12 เดือน (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้ครั้งที่ 2 ตอน 2 เดือน และครั้งที่ 3 ตอน 12 เดือน) ส่วนในผู้ใหญ่ที่มีอายุเกิน 18 ปี อาจไม่มีความจำเป็นต้องรับวัคซีน เพราะโอกาสติดเชื้อมีน้อย ยกเว้นในรายที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคโปลิโอ ผู้ที่ต้องทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโปลิโอ ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคโปลิโอหรือประเทศที่ยังมีผู้ป่วยเป็นโรคโปลิโออยู่มาก หรือเป็นผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศที่ยังมีโรคโปลิโออยู่ โดยให้วัคซีน 3 ครั้งเช่นกัน และไม่จำเป็นต้องให้วัคซีนกระตุ้นอีก
    • สำหรับเด็กที่ไม่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่มีความประสงค์จะใช้วัคซีนแบบฉีด (IPV) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโปลิโอ ให้ฉีดวัคซีน IPV 2 ครั้งแรกเมื่ออายุ 2 และ 4 เดือน และให้วัคซีนแบบหยดอีก 2 ครั้ง เมื่ออายุ 6-18 เดือน และ 4-6 ปี
    • ในกรณีที่เคยได้รับวัคซีนรูปแบบรับประทานมาก่อนแล้วต้องการเปลี่ยนมารับวัคซีนแบบฉีดก็สามารถรับต่อไปได้เลยโดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ (แต่ต้องได้รับทั้งหมดอย่างน้อย 4 ครั้ง) หรือในทางกลับกัน ถ้าเคยได้รับวัคซีนแบบฉีดมาก่อนแล้วจะเปลี่ยนมารับวัคซีนแบบรับประทานก็สามารถทำได้เช่นกัน (ในปัจจุบันวัคซีนโปลิโอแบบฉีดจะมีอยู่ในรูปแบบของวัคซีนรวมกับวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ ด้วย)
    • หลังได้รับวัคซีนโปลิโอแบบหยด หากเด็กมีอาการไข้ อาเจียน คอแข็ง ไม่ค่อยดูดนม ไม่ค่อยขยับแขนขา หายใจมีเสียงดัง หายใจลำบาก ควรรีบพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงหรือฉุกเฉิน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และควรนำใบหลักฐานการได้รับวัคซีนโปลิโอไปด้วย
    • หลังได้รับวัคซีนโปลิโอแบบหยด หากมีบุคคลใดในบ้านมีอาการของโรคโปลิโอเกิดขึ้นดังที่กล่าวมาในหัวข้อที่แล้ว ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเช่นกัน

      โปลิโอวัคซีน
      IMAGE SOURCE : www.urnurse.net

  3. ผู้ที่จะรับวัคซีนโปลิโอ หากมีคนในบ้านเจ็บป่วย หรือมีบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง หรือมีเด็กทารกที่ยังได้รับวัคซีนโปลิโอไม่ครบ ควรได้รับวัคซีนรูปแบบฉีด ไม่ควรรับวัคซีนรูปแบบรับประทาน เนื่องจากวัคซีนรูปแบบรับประทานนี้เป็นเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อกินเข้าไปแล้วเชื้อจะอยู่ในลำไส้และอาจแพร่ไปสู่บุคคลดังกล่าวที่ไวต่อการติดเชื้อได้
  4. ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคโปลิโอแล้ว ไม่ว่าจะมีอาการอยู่ในกลุ่มใด ถ้าแพทย์ให้กลับไปอยู่บ้านจะต้องระมัดระวังการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลในบ้านด้วย เพราะผู้ป่วยจะสามารถขับเชื้อออกมาทางอุจจาระได้นานประมาณ 1-4 เดือนหลังการติดเชื้อ และถ้าหากผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องด้วยก็จะสามารถแพร่เชื้อได้นานถึง 1 ปี โดยผู้ป่วยควรดูแลเรื่องการขับถ่าย โดยการถ่ายให้ถูกสุขลักษณะ การล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก การล้างผักผลไม้ให้สะอาดและปอกเปลือกผลไม้ก่อนกิน การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ และหากมีบุคคลใดในบ้านที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโปลิโอมาก่อน ก็ควรให้ไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนให้ครบ
  5. นอกจากการรับวัคซีนป้องกันโรคแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ คือ การรักษาสุขอนามัยให้ดี ด้วยการล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการรับประทานอาหาร การดื่มน้ำที่สะอาด รวมทั้งการถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และล้างมือหลังจากถ่ายอุจจาระทุกครั้ง
  6. สำหรับหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ควรส่งเสริมให้ความรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับอันตรายและวิธีการติดต่อของโรคโปลิโอ รวมทั้งประโยชน์ของการได้รับวัคซีนป้องโปลิโอในเด็ก และส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักรักษาอนามัยส่วนบุคคล ตลอดทั้งการรับประทานอาหารที่สุกและสะอาด

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคโปลิโอ

  • วัคซีนสำหรับป้องกันโรคโปลิโอถูกผลิตขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2498 ซึ่งเป็นวัคซีนแบบฉีดที่ยังมีประสิทธิภาพไม่ดีนัก ต่อมาในปี พ.ศ.2504 ได้มีการค้นพบวัคซีนแบบรับประทานที่มีประสิทธิภาพดีกว่า จึงได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายและทำให้อุบัติการณ์การเกิดโรคโปลิโอลดลงอย่างมาก โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ก็ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่อีก จนกระทั่งในช่วงก่อนปี พ.ศ.2540 ได้พบผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 8-10 ราย ต่อปี ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอที่อยู่ในวัคซีนแบบรับประทาน ตั้งแต่นั้นมาทางสหรัฐอเมริกาจึงได้เปลี่ยนมาใช้วัคซีนแบบฉีดที่ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่ให้มีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนแบบฉีดรุ่นเดิม และนำมาใช้ทดแทนวัคซีนแบบรับประทานเป็นต้นมา จึงทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ก็ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในสหรัฐอเมริกาอีกเลย
  • จากเดิมการให้วัคซีนโปลิโอในบ้านเราจะเป็นการให้วัคซีนโปลิโอแบบหยด (OPV) ซึ่งเป็นวัคซีนรวมเชื้อทั้ง 3 ชนิดย่อย (ชนิดย่อยที่ 1, 2 และ 3) แต่ที่ผ่านมามีข้อมูลพบว่า เด็กที่ได้รับวัคซีนแบบหยดรวมเชื้อทั้ง 3 ชนิดย่อยนี้จะเกิดผลข้างเคียงได้ 2 แบบ คือ ทำให้เกิดอาการแบบโรคโปลิโอ (แต่ไม่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น และถือเป็นกรณีที่พบได้น้อยประมาณ 1 ในล้านคน) ส่วนผลข้างเคียงที่ 2 จะรุนแรงกว่า เพราะนอกจากจะเกิดอาการแบบโรคโปลิโอแล้ว เชื้อยังเกิดการกลายพันธุ์ เป็นสาเหตุทำให้เกิดการระบาดในอดีตอีกด้วย ซึ่งผลข้างเคียงทั้ง 2 แบบนี้จะพบได้ในวัคซีนโปลิโอชนิดย่อยที่ 2 มากกว่า 90% ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันประเทศไทยจึงได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้วัคซีนแบบใหม่ที่เรียกว่า bOPV (bivalent OPV) แทน โดยจะเป็นการให้วัคซีนแบบหยดรวมเชื้อ 2 ชนิด คือ ชนิดย่อยที่ 1 และ 3 ร่วมไปกับการให้วัคซีนแบบฉีด (IPV) ที่มีเชื้อชนิดย่อยที่ 2 เพราะวัคซีนแบบฉีดจะไม่ก่อให้เกิดอาการแบบโรคโปลิโอและไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ แทนการให้วัคซีนแบบหยดเดิมที่รวมเชื้อทั้ง 3 ชนิดย่อย ซึ่งเริ่มมีใช้มาตั้งแต่ต้นปี 2559 แล้ว
  • การเกิดโรคโปลิโอ (ก่อนมีโครงการใช้วัคซีนป้องกันอย่างกว้างขวาง) จะพบได้มากในบริเวณที่เป็นเขตอบอุ่นและประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยสามารถพบผู้ป่วยได้ทั้งแบบประปรายและแบบที่มีการระบาด และมักพบเกิดในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง แต่อาจจะได้พบแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละปีก็ได้
  • โปลิโอเป็นโรคที่พบในเด็กและวัยรุ่น แต่บางครั้งในพื้นที่ที่มีการพัฒนามาตรฐานการดำรงชีวิตแล้ว อาจพบโรคนี้ในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนในขณะเป็นเด็กก็เป็นได้
  • ภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสโปลิโอสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ทารกได้ในระยะสั้น ๆ
  • การฉีดวัคซีนอื่น ๆ ให้กับผู้ติดเชื้อโปลิโอที่กำลังอยู่ในระยะฟักตัว สามารถกระตุ้นให้เกิดการอัมพาตของกล้ามเนื้อในบริเวณที่ฉีดได้
  • ในปัจจุบันพบผู้ป่วยโปลิโอได้น้อยมาก ถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการแขนหรือขาอ่อนแรงเฉียบพลัน แพทย์จะนึกถึงสาเหตุอื่น ๆ ก่อนเสมอ

วัคซีนโปลิโอ (bOPV)
IMAGE SOURCE : hamodia.com

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โปลิโอ (Poliomyelitis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 571-572.
  2. หาหมอดอทคอม.  “โปลิโอ (Poliomyelitis)”.  (พญ.สลิล ศิริอุดมภาส).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [27 พ.ย. 2016].
  3. สำนักโรคติดต่อทั่วไป, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.  “โรคโปลิโอ (Poliomyelitis)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : thaigcd.ddc.moph.go.th.  [28 พ.ย. 2016].
  4. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ.  “โรคโปลิโอ (Polio)”.  (นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com.  [28 พ.ย. 2016].
  5. การควบคุมและป้องกันโรค, สถานบนการพลศึกษาวิทยาเขตสุพรรณบุรี.  “โรคโปลิโอ (Poliomyeitis)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.ipesp.ac.th.  [28 พ.ย. 2016].
  6. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.  “โรคโปลิโอและการเกิดโรคจากวัคซีนกลายพันธุ์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dmsc.moph.go.th.  [28 พ.ย. 2016].
  7. MutualSelfcare.  “โรคโปลิโอ (Poliomyelitis)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : mutualselfcare.org.  [28 พ.ย. 2016].
  8. urnurse.net.  “วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (OPV และ IPV)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.urnurse.net.  [28 พ.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด