โคลงเคลงขน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโคลงเคลงขน 8 ข้อ !

โคลงเคลงขน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโคลงเคลงขน 8 ข้อ !

โคลงเคลงขน

โคลงเคลงขน ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmoscelis villosa (Aubl.) Naudin (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Melastoma villosum Aubl.) จัดอยู่ในวงศ์โคลงเคลง (MELASTOMATACEAE)[1]

สมุนไพรโคลงเคลงขน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ม่ายะ (ตราด), เอ็นอ้า (อุบลราชธานี), พญารากขาว (ภาคกลาง), กะเร มะเร สาเหร่ เหมร เบร้ (ภาคใต้), โคลงเคลง เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของโคลงเคลงขน

  • ต้นโคลงเคลงขน จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งมาก ทรงพุ่มแน่นทึบ เปลือกลำต้นบางเรียบ ยอดอ่อนและกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาลแดง มีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนยาวขึ้นหนาแน่น พบขึ้นทั่วไปบริเวณป่าชายเลนที่เป็นที่ดอนหรือในบริเวณป่าชายเลนที่ถูกทำลาย[1],[2],[3]
  • ใบโคลงเคลงขน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปวงรีแกมใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-2.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนนุ่มละเอียดทั้งสองด้าน เมื่อจับแผ่นใบจะรู้สึกสากมือ ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มมีขนบาง ๆ ส่วนท้องใบสีซีด เส้นใบมี 3 หรือ 5 เส้น แตกออกจากโคนใบไปจรดปลายใบ ก้านใบยาวประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร มีขนปกคลุม[1],[2],[3]
  • ดอกโคลงเคลงขน ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ที่ปลายกิ่ง ช่อดอกมีขนาดใหญ่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกย่อยประมาณ 3-6 ดอก ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร วงกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร สีม่วงแดงและมีขนปุยขึ้นปกคลุม กลีบดอกมีขนาดใหญ่ 5 กลีบ แต่ละกลีบจะไม่ติดกัน กลีบเป็นสีชมพูหรือสีม่วงอมชมพูจนถึงสีม่วงแดงเข้ม ขนาดประมาณ 1.5-2.3 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน แบ่งเป็นขนาดใหญ่ 5 อัน มีก้านสีเหลืองและสีม่วง ส่วนบนโค้ง และขนาดเล็ก 5 อัน สีเหลืองและเหยียดตรง[3]
  • ผลโคลงเคลงขน ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผิวมีขน เนื้อในผลเป็นสีแดงม่วง ผลเมื่อแก่จะแตกออกตามขวางอย่างไม่เป็นระเบียบ ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ออกดอกและผลในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3]

สรรพคุณของโคลงเคลงขน

  1. รากมีรสขม มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย เพิ่มภูมิต้านทานโรค บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร (ราก)[2]
  2. ดอกใช้เป็นยาระงับประสาท (ดอก)[2]
  3. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ต้นและรากโคลงเคลงขน นำมาต้มกับข้าวสารเจ้า ใช้กินครั้งเดียวในวันเดือนดับ (วันข้างแรม) แก้คอพอก (ต้นและราก)[1]
  4. รากใช้เป็นยาดับพิษไข้ แก้ไข้ทุกชนิด (ราก)[1],[2]
  5. รากใช้เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ (ราก)[1]
  6. รากโคลงเคลงขน ใช้ผสมกับรากตับเต่าต้น และหญ้าชันกาดทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือดและถ่ายเป็นเลือด (ราก)[1]
  7. ดอกใช้เป็นยาห้ามเลือดในคนที่เป็นริดสีดวงทวาร (ดอก)[2]
  8. รากใช้เป็นยาบำรุงตับ ไตและดี (ราก)[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โคลงเคลงขน”.  หน้า 151.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “โคลงเคลง (Klong Khleng)”.  หน้า 87.
  3. ส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 4 (สุราษฎร์ธานี).  “ต้นโคลงเคลงขน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dmcr.go.th.  [10 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : arocaya.net

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด