โกฐชฎามังสี สรรพคุณและประโยชน์ของโกฐชฎามังสี 13 ข้อ !

โกฐชฎามังสี

โกฐชฎามังสี ชื่อสามัญ Jatamansi[2], Spikenard[1]

โกฐชฎามังสี ชื่อวิทยาศาสตร์ Nardostachys jatamansi (D.Don) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Fedia grandiflora Wall. ex DC., Patrinia jatamansi D.Don, Valeriana jatamansi D.Don)[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์สายน้ำผึ้ง (CAPRIFOLIACEAE)

สมุนไพรโกฐชฎามังสี หรือ โกฐชฎามังษี มีชื่อเรียกอื่นว่า “โกฐจุฬารส[1]

ลักษณะของโกฐชฎามังสี

  • ต้นโกฐชฎามังสี จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ในประเทศอินเดีย โดยจัดเป็นสมุนไพรนำเข้า และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทยหลายตำรับ[1]

ใบโกฐชฎามังสี

ต้นโกฐชฎามังสี

สมุนไพรโกฐชฎามังสี

ดอกโกฐชฎามังสี

  • รากโกฐชฎามังสี คือ ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาซึ่งมีลักษณะเป็นไม้เนื้อแข็ง มีรากย่อยปกคลุมเป็นเส้นยาว โดยรอบหนาแน่น รากนั้นมีรสสุขุม ขม มีกลิ่นหอม และเป็นกลิ่นแรงเฉพาะตัว[1]

โกฐชฎามังษี

โกฐชฎามังสี

สรรพคุณของโกฐชฎามังสี

  1. ตำรายาไทยจะใช้โกฐชฎามังสีเป็นยาแก้โลหิตอันเกิดแต่กองปิตตะสมุฏฐาน แก้รัตตะปิตตะโรค[1]
  2. ใช้เป็นยาแก้โรคในปากคอ[1]
  3. ใช้เป็นยาขับลม ช่วยย่อยอาหาร[1],[2]
  4. ช่วยขับพยาธิออกจากร่างกาย[1]
  5. ใช้เป็นยาแก้ไส้ด้วนไส้ลาม (แผลเนื้อร้ายกินแต่ปลายองคชาตเข้าไปและองค์กำเนิดบวม)[1]
  1. โกฐชฎามังสีมีสรรพคุณช่วยขับประจำเดือน ขับโลหิตระดูเน่าเสียของสตรี[1],[2]
  2. ช่วยแก้ดีพิการ[1]
  3. ช่วยแก้แผลเนื้อร้าย[1]
  4. ใช้เป็นยากระจายหนองที่ก้อนอยู่ในร่างกาย[1]
  5. ใช้เป็นยาแก้พิษทั้งปวง[1]
  6. ในการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย ระบุว่า เหง้าและรากโกฐชฎามังสีมีคุณสมบัติกระตุ้นและลดการเกร็ง จึงใช้ในการบำบัดโรคลมบ้าหมู โรคฮิสทีเรีย โรคที่มีอาการชักทุกชนิด รวมทั้งโรคตา โรคต่าง ๆ ที่เกิดในศีรษะ แก้อาการสะอึก และแผลพุพองปวดบวมที่ผิวหนัง[1]
  7. ในบัญชียาจากสมุนไพร ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีปรากฏการใช้โกฐชฎามังสีในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม โดยปรากฏในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งมีส่วนประกอบของโกฐชฎามังสีอยู่ในพิกัดโกฐทั้งเก้าร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน และแก้ลมจุกแน่นในท้อง[1]
  8. โกฐชฎามังสีเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” ซึ่งโกฐชฎามังสีนั้นจะจัดอยู่ใน โกฐทั้งเก้า (เนาวโกฐ) มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้ไข้เรื้อรัง แก้ไข้ในกองอติสาร แก้หืดไอ แก้หอบ อาการสะอึก แก้โรคในปากคอ แก้โรคปอด แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ช่วยขับระดูร้าย แก้ลมในกองธาตุ เป็นยาชูกำลัง ช่วยบำรุงโลหิต และบำรุงกระดูก[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโกฐชฎามังสี

  • องค์ประกอบทางเคมีที่พบได้ในสมุนไพรโกฐชฎามังสี ได้แก่ สาร angelicin, jatamansic acid, jatamansin, jatamansinol, jatamansone, jatamol A, jatamol B, patchouli alcohol[1]
  • จากการศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่าโกฐชฎามังสีมีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด ลดปริมาณของกรดยูริก เสริมฤทธิ์ยานอนหลับ กดประสาทส่วนกลาง เพิ่มการเรียนรู้และความจำ กล่อมประสาท ต้านการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ คลายมดลูก ทำให้หัวใจเต้นช้า ต้านการเต้นไม่เป็นจังหวะของหัวใจ ต้านหืด ต้านการชัก ต้านแบคทีเรีย ต้านการเกิดแผล ฆ่าอสุจิ และมีฤทธิ์ลดไข้[1]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดจากรากโกฐชฎามังสีด้วยแอลกอฮอล์-น้ำ (1:1) เข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง คือ ขนาดมากกว่า 1 กรัมต่อกิโลกรัม ส่วนการฉีดน้ำมันหอมระเหยเข้าช่องท้อง พบว่าในขนาดที่ทำให้สุนัขและหนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่งนั้น คือ ขนาด 93 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 80.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ส่วนในหนูตะเภาคือขนาด 2 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม และในหนูขาวคือขนาด 1.5 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โกฐชฎามังสี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [10 มิ.ย. 2015].
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โกฐชฎามังษี Jatamansi”.  หน้า 217.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Station alpine Joseph Fourier)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด