โกฐจุฬาลัมพา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโกฐจุฬาลำพา 22 ข้อ !

โกฐจุฬาลัมพา

โกฐจุฬาลัมพา ชนิดที่ในหนังสือใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia vulgaris L. จะจัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) มีชื่อสามัญว่า Common wormwood และมีชื่อเรียกอื่นว่า พิษนาศน์ พิษนาด (ราชบุรี), โกฐจุฬาลำพา (กรุงเทพฯ), ตอน่า (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), เหี่ย เหี่ยเฮี๊ยะ (จีนแต้จิ๋ว), ไอ้เย่ ไอ้ อ้าย (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[5]

โกฐจุฬาลัมพา อีกชนิดหรือที่มีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า “ชิงเฮา” จะมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia annua L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Artemisia chamomilla C.Winkl., Artemisia annua f. annua) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวันเช่นเดียวกัน ชนิดนี้มีชื่อสามัญว่า Sweet warm wood, Quinghao และมีชื่อเรียกอื่นว่า โกฐจุฬา โกฐจุฬาลัมพาจีน (ไทย), แชเฮา แชฮาว (จีนแต้จิ๋ว), ชิงเฮา ชิงฮาว (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของต้นโกฐจุฬาลัมพา

  • ต้นโกฐจุฬาลัมพา (ชนิดที่ในหนังสือระบุชื่อวิทยาศาสตร์ Artemisia vulgaris L.) นั้น จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 45-120 เซนติเมตร หรืออาจสูงได้ถึง 2 เมตร โคนต้นเป็นเหง้าติดพื้นดินหรืออยู่ใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะกลมและมีร่อง ตั้งตรง มีขนขึ้นปกคลุม แตกกิ่งก้านกลางต้น ใบออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นฝอยคล้ายผักชี ผิวใบเรียบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย หลังใบมีขนสีขาวเล็กน้อย สีเทาเขียว ส่วนหน้าใบเป็นสีเขียว ใบแตกเป็นแฉกแบบขนนก เป็นซี่ ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-10.5 เซนติเมตร ผิวใบเรียบเกลี้ยง ก้านใบสั้น ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว (เป็นพันธุ์ที่พบได้ในป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia vulgaris L.) หรือดอกเป็นสีแดง (เป็นพันธุ์ที่พบได้จากการเพาะปลูก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia argyi Levl. et Vant.) มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ ออกประมาณเดือน 9 ถึงเดือน 10 ออกเป็นช่อตามปลายต้น ตั้งตรง ดอกยาวประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร กลีบดอกมีต่อม ส่วนโคนดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังหรือหลอด ปลายกลีบดอกหยักเป็นแฉก 4-5 แฉก ส่วนผลหรือเมล็ดเป็นรูปไข่ มีลักษณะกลมรี พื้นผิวเกลี้ยงไม่มีขน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (ทั้งพันธุ์ดอกสีขาวและดอกสีแดงมีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ดอกสีเหลืองชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia princeps Pamp ด้วย แต่พันธุ์นี้จะมีพิษ ถ้าใช้เกินขนาดก็อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้)[3],[5]

ต้นโกฐจุฬาลำพา

ดอกโกฐจุฬาลำพา

  • ต้นโกฐจุฬาลัมพา หรือ ชิงเฮา (Artemisia annua L.) จะจัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุเพียงปีเดียว มีความสูงได้ประมาณ 0.7-2 เมตร แตกกิ่งมาก ทั้งต้นมีกลิ่นแรง มีขนขึ้นประปราย หลุดร่วงได้ง่าย ส่วนใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ช่องย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ลักษณะเป็นรูปกลมและมีจำนวนมาก มีสีเหลืองถึงสีเหลืองเข้ม ก้านช่อย่อยมีขนาดสั้น ดอกย่อยตรงกลางจะเป็นดอกสมบูรณ์ ส่วนผลจะเป็นผลแบบผลแห้ง เมล็ดล่อนรูปไข่แกมรี มีขนาดยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-3,650 เมตร มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน มีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ภาคเหนือของทวีปแอฟริกา และในทวีปเอเชีย ในประเทศจีนนั้นมักขึ้นทั่วไปตามเนินเขา ตามข้างทาง ตามที่รกร้าง หรือตามชายป่าทั่วไป เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทยก็พบว่าขึ้นได้ดี โดยแพทย์แผนจีนจะใช้ส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นนำมาใช้ทำยา[1],[2]

ต้นโกฐจุฬาลัมพา

ใบโกฐจุฬาลัมพา

ดอกโกฐจุฬาลัมพา

โกฐจุฬาลัมพา คือพืชชนิดใด ?

ในปี พ.ศ.2540 นายวิเชียร จีรวงส์ ได้กล่าวในการแสดงปาฐกถาชุดสิรินธรครั้งที่ 13 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเขียนอธิบายรายละเอียดในหนังสือ “คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์” โดยระบุว่า โกษฐ์จุฬาลัมพา (ตัวสะกดตามเอกสารอ้างอิง) คือ ส่วนของใบและเรือนยอดของ Artemisia annua ซึ่งเป็นเครื่องยาที่นำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งแต่เดิมเคยเข้าใจผิดว่าได้จาก Artemisia vulgaris ซึ่งเป็นเครื่องยาจีนชนิดอื่น

ต่อมา นายชยันต์ พิเชียรสุนทร และนายวิเชียร จีรวงส์ ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า Artemisia ชนิดอื่น คือ Artemisia pallens หรือ Artemisia vulgaris var. indica ก็ไม่ใช่พืชที่ให้เครื่องยาชนิดนี้เช่นกัน ในด้านพฤกษศาสตร์ก็ได้มีการจัดทำหนังสือ “ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม” โดยระบุว่า นอกจาก Artemisia pallens แล้ว ก็ได้เพิ่มเติมให้ Artemisia annua มีชื่อไทยเรียกว่าโกฐจุฬาลัมพาเช่นกัน

ส่วนในเอกสารอ้างอิงทางสมุนไพรที่เป็นปัจจุบันมากที่สุดคือ “ตำราอ้างอิงยาสมุนไพร เล่ม 1” (2552) ได้อธิบายว่า โกฐจุฬาลัมพา คือส่วนเหนือดินแห้งในระยะออกดอกของ Artemisia annua ในขณะที่เครื่องยาที่เรียกว่า โกฐจุฬาลัมพาไทย จะเป็นส่วนเหนือดินของ Artemisia pallens หรือ Artemisia vulgaris var. indica ส่วนเครื่องยาที่ใช้สำหรับการรักษาด้วยวิธีรมยา ที่มักมีผู้เรียกผิดว่าโกฐจุฬาลัมพา จะได้จากใบของ Artemisia argyi ด้วยอิทธิพลของเอกสารต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้แต่งเอกสารด้านสมุนไพรในระยะหลังจึงใช้ Artemisia annua แต่ก็ยังพบเอกสารทางวิชาการที่ยังใช้ชื่อเดิมอยู่ คือ Artemisia vulgaris จึงทำให้โกฐจุฬาลัมพาอาจเป็นเครื่องยาที่ได้จากพืชมากกว่า 1 ชนิด (ซึ่งความจริงแล้วต้องมีเพียงชนิดเดียว) หรือแหล่งที่มาอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา

แต่จากการพิสูจน์ชนิดของเครื่องยาหรือสมุนไพรในห้องปฏิบัติการล่าสุดด้วยการใช้วิธีการพิสูจน์เอกลักษณ์ ซึ่งวิธีที่นิยมก็คือการตรวจสอบลายพิมพ์ขององค์ประกอบทางเคมี ผลการตรวจสอบพบว่า เครื่องยาที่มีชื่อเรียกว่า โกฐจุฬาลัมพาในปัจจุบันนี้คือ ส่วนเหนือดินของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia pallens (ส่วนเครื่องยาที่ใช้ชื่อว่าโกฐจุฬาลัมพาอีกชนิดที่ใช้สำหรับต้มน้ำอาบ ซึ่งได้จากส่วนใบของพืชอีกชนิด พบว่าคือชนิด Artemisia argyi)[7]

ลักษณะของโกฐจุฬาลัมพา

  • โกฐจุฬาลัมพา เป็นชื่อที่แพทย์แผนไทยใช้เรียก “ใบและเรือนยอด (ที่มีดอก) แห้ง” หรือส่วนที่อยู่เหนือดิน[1] โดยใบนั้นจะมีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ เนื้อใบบาง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ส่วนขอบใบหยักลึกเป็นแบบขนนก 3 หรือ 4 ชั้น เป็น 5-8 คู่ เส้นกลางใบเห็นได้เด่นชัดบริเวณใกล้แกน ส่วนช่อดอกเป็นช่อแยกแขนงรูปพีระมิดกว้าง ช่อแขนงเป็นช่อกระจุกแน่น รูปทรงกลมและมีจำนวนมาก อยู่ห่าง ๆ กัน ดอกมีสีเหลืองอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยสั้น กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายเป็นซี่ฟัน 5 ซี่ มีกลิ่นเฉพาะและมีรสขม[2]

สมุนไพรโกฐจุฬาลำพา

สมุนไพรโกฐจุฬาลัมพา

รูปโกฐจุฬาลัมพา

สรรพคุณของโกฐจุฬาลัมพา

  • แพทย์แผนโบราณของจีนจะใช้โกฐจุฬาลัมพา (ในข้อมูลอ้างว่าเป็นชนิด Artemisia annua L.) เป็นยาแก้ไข้จับสั่น แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำ ๆ ที่ไม่มีเหงื่อ แก้ไข้อันเนื่องมาจากวัณโรค และใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร ส่วนตำรายาไทยจะใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้เจลียง (ไข้จับวันเว้นวัน ซึ่งเป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้เพื่อเสมหะ ช่วยลดเสมหะ แก้ไข้มาลาเรีย แก้หืด แก้หอบ แก้ไอ ช่วยขับเหงื่อ และใช้เป็นยาแก้ดีซ่าน[1],[2] คุณสามารถอ่านสรรพคุณและประโยชน์ของต้นชิงเฮาได้อย่างละเอียดที่บทความนี้ ชิงเฮา
  • ทั้งต้นแห้ง (ในหนังสืออ้างว่าเป็นชนิด Artemisia vulgaris L.) มีรสเผ็ดขม สุขุม เป็นพืชไม่มีพิษ ออกฤทธิ์ต่อธาตุ ตับ และไต ใช้เป็นยารักษาเลือดลมผิดปกติ แก้ไข้ที่มีเสมหะ แก้ไอ แก้หืด แก้ไข้เจรียง (ไข้ที่มีเม็ดผื่นคันขึ้นตามตัว เช่น เหือดหัด, สุกใส, ดำแดง, รากสาด, ประดง) ช่วยขับลม แก้ท้องขึ้นจุกเสียด ปวดแน่นท้อง ใช้แก้ประจำเดือนผิดปกติหรือประจำเดือนมาไม่ปกติ มีอาการปวดท้องน้อย แก้อาการปวดประจำเดือนเนื่องจากเลือดคั่งในมดลูก เป็นยาบำรุงครรภ์ของสตรี ใช้เป็นยาห้ามเลือด ห้ามเลือดกำเดาและตกเลือด แก้โรคบิดถ่ายเป็นเลือด ขับความเย็นชื้นของร่างกาย ชาตามมือตามเท้า ด้วยการใช้ต้นแห้งครั้งละ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนังผดผื่นคันก็ได้ (การนำมาใช้ภายนอก ให้ใช้ได้ตามความต้องการ)[3],[4]
    • ตำรับยาแก้ผื่นคันและมีอาการคันตามผิวหนัง จะใช้โกฐจุฬาลัมพา 35 กรัม, ตี้ฟูจื่อ 20 กรัม, แปะเสียงพ๊วย 20 กรัม และพริกหอมอีก 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำ แล้วใช้ไอน้ำอบตัว[3]
    • ตำรับยารักษาผู้มีอาการปวดมดลูก ตกเลือด จะใช้โกฐจุฬาลัมพา 6 กรัม นำมาเข้าตำรายากับหัวแห้วหมู 15 กรัม, แปะเจียก 15 กรัม, โกฐเชียง 10 กรัม และง่วนโอ๊ว 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[3]
    • ตำรับยารักษาอาการปวดเอ็น ปวดข้อ ปวดกระดูก จะใช้โกฐจุฬาลัมพาม้วนเป็นเส้นแล้วจุดไฟเผาแล้วนำไปลนที่หัวเข็มตอนฝังเข็ม จะทำให้ตัวยาซึมเข้าผิวหนัง[3]
  • ส่วนอีกข้อมูลนั้นระบุว่า โกฐจุฬาลัมพา (ในหนังสืออ้างว่าเป็นชนิด Artemisia vulgaris L.) ในส่วนของใบนั้นจะใช้เป็นยาขับเหงื่อ ขับลมในลำไส้ แก้ท้องร่วง ถ่ายพยาธิ ขับปัสสาวะ ช่วยบำรุงมดลูก ช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ระงับอาการปวดท้องและอาการเจ็บท้องคลอดลูก ถ่ายน้ำเหลืองเสีย แก้ไขข้ออักเสบ และช่วยระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม ส่วนการใช้ภายนอกจะใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วนำไปพอกแก้โรคปวดศีรษะ รักษาบาดแผลเรื้อรัง แก้อาการเคล็ดบวม และใช้สูบควันแก้โรคหืด ในส่วนใบและช่อดอก จะนำมาต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้ขับเสมหะ แก้หืด และอาหารไม่ย่อย[5]
  • ในบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้เดิม ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีปรากฏการใช้สมุนไพรโกฐจุฬาลัมพาในหลายตำรับ ได้แก่ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม ซึ่งมีปรากฏในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ที่มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาอยู่ในพิกัดโกฐทั้งเก้าร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน และแก้ลมจุกแน่นในท้อง และในยาแก้ไข้ก็มีปรากฏในตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” และตำรับ “ยาแก้ไข้ห้าราก” ที่มีส่วนประกอบของโกฐจุฬาลัมพาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู[2]
  • โกฐจุฬาลัมพาเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โดยโกฐจุฬาลัมพานั้นจัดอยู่ใน “โกฐทั้งห้า” (เบญจโกฐ), “โกฐทั้งเจ็ด” (สัตตโกฐ) และ “โกฐทั้งเก้า” (เนาวโกฐ) ซึ่งมีสรรพคุณโดยรวมคือเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้สะอึก แก้ลมในกองธาตุ ช่วยขับลม ใช้เป็นยาชูกำลัง บำรุงโลหิต และบำรุงกระดูก[1],[2]
  • อย่างไรก็ตาม โกฐจุฬาลัมพาที่ใช้เป็นเครื่องยานั้นแท้จริงแล้วมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia pallens โดยเป็นเครื่องยาที่มีรสสุขุม หอมร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เจลียง (ไข้จับวันเว้นวัน), ไข้เจรียง (ไข้ที่มีเม็ดผื่นขึ้นตามตัว เช่น เหือดหัด สุกใส ดำแดง รากสาด ประดง), แก้ไข้เพื่อเสมหะ, แก้ไข้จับ, แก้หืด, แก้ไอ, ใช้เป็นยาขับเหงื่อ, เป็นยาเจริญอาหาร, เป็นยาระบาย, เป็นยาเร่งประสาทส่วนกลางเหมือนการบูร, แก้ตกเลือด, ช่วยขับลม, ใช้ตำพอกแก้ลม แก้อาการช้ำใน แก้ปวดเมื่อยรูมาติก, แก้บิด, แก้อาการปวดท้องหลังคลอด และแก้ระดูที่มากเกินไปของสตรี ซึ่งโกฐจุฬาลัมพาชนิดนี้นั้นเป็นเครื่องยาที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในตำรับยาไทย เช่น ตามบัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ.2544 กลุ่มยาแผนไทยหรือยาแผนโบราณ 50 รายการ มีโกฐจุฬาลัมพาเป็นส่วนประกอบอยู่มากถึง 13 ตำรับ[7]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโกฐจุฬาลัมพา

  • สารสำคัญที่พบในโกฐจุฬาลัมพา (ในหนังสืออ้างว่าเป็นชนิด Artemisia vulgaris L.) ในส่วนของใบจะพบน้ำมันระเหย 0.02% ในน้ำมันจะมีสาร Cineoleathujone, Phellandrene, Potassium Chloride, Vitamin A, Vitamin B, Vitamin C, Vitamin D ส่วนทั้งต้นนั้นจะมีน้ำมันระเหยอยู่ประมาณ 0.2-0.33%[3]
  • น้ำมันระเหยของโกฐจุฬาลัมพา (ในหนังสืออ้างว่าเป็นชนิด Artemisia vulgaris L.) สามารถกระตุ้นผิวหนังได้เล็กน้อย โดยทำให้ผิวหนังมีความรู้สึกร้อนหรือมีอาการแดง หากนำมารับประทาน 2-5 กรัม พบว่าสามารถช่วยย่อยอาหารและเจริญอาหารได้ แต่หากรับประทานมากเกินอัตราส่วน จะทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบอย่างเฉียบพลัน นอกจากนี้น้ำมันระเหยยังสามารถรักษาโรคหอบหืด อาการไอ ขับเสมหะ ใช้แก้หลอดลมอักเสบในหนูทดลองได้ด้วย อีกทั้งยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้หลายชนิด เช่น เชื้อของโรคคอตีบ เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดบิด เป็นต้น[3]
  • สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ในชิงเฮาหรือโกฐจุฬาลัมพา (Artemisia annua L.) คือ สารอาร์เทมิซินิน (Artemisinin) หรือ ชิงเฮาซู (Quinghousu) สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อพลาสโมเดียมในระยะที่อยู่ในเม็ดเลือดได้ ซึ่งให้ผลดีในการรักษาผู้ป่วยมาลาเรียทั้งชนิดฟัลซิปารัม (Plasmodium falciparum) และชนิดไวแวกซ์ (Plasomdium vivax) โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ดื้อยา ซึ่งในปัจจุบันสารชนิดนี้และอนุพันธุ์กึ่งเคมีสังเคราะห์ถูกนำมาใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่นในหลายประเทศรวมทั้งจีน และเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก (WHO) และเป็นเครื่องยาที่ได้รับการรับรองในการแพทย์แผนจีน นอกจากนี้ยังพบว่าเครื่องยาชนิดนี้ยังมีสารกลุ่มฟลาวานอยด์หลายชนิด ซึ่งช่วยเสริมฤทธิ์ต้านเชื้อไข้จับสั่นกับสารอาร์เทมิซินิน เช่น casticin, cirsilineol, chysoplenol-D, chrysoplenetin เป็นต้น[1],[2]
  • มีรายงานโกฐจุฬาลัมพา (ชนิด Artemisia annua L.) มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย ต้านเชื้อแบคทีเรีย ปกป้อง DNA และป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ส่วนน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีฤทธิ์กดภูมิต้านทาน ต้านการอักเสบ และต้านเชื้อจุลชีพหลายชนิด[2]

ประโยชน์ของโกฐจุฬาลัมพา

  • สำหรับโกฐจุฬาลัมพาชนิด Artemisia argyi จีนจะนำมาใช้เป็นวัสดุบำบัดโรคด้วยการรมยา (moxibuston)[1],[7]
  • ใช้เป็นสมุนไพรไล่หนู ด้วยการใช้ต้นโกฐจุฬาลัมพา 2 ขีด, น้ำ 1 ลิตร และจุลินทรีย์หน่อกล้วยอีก 10 ซีซี นำมาผสมรวมกัน หมักทิ้งไว้ 1 คืน แล้วคั้นเอาแต่น้ำไปใช้ฉีดพ่นรอบแปลงนา (ใช้ในอัตราส่วนสารสกัด 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร) โดยใช้ฉีดพ่นรอบแปลงนาในระยะ 7-10 วัน อย่างต่อเนื่อง เพียงแค่นี้ก็จะช่วยป้องกันหนูมาทำลายต้นขาวในนาข้าวได้แล้ว แถมยังปลอดภัยไร้สารเคมี ดีต่อนาข้าว และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. บทที่ 3 ศักยภาพการปลูกพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย.  (สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร).  “โกฐจุฬาลําพา”.  หน้า 55-58.
  2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โกฐจุฬาลัมพา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [11 มิ.ย. 2015].
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “โกฐจุฬาลําพา”.  หน้า 104.
  4. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โกฐจุฬาลําพา Artemisia”.  หน้า 216.
  5. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “โกฐจุฬาลัมพา”.  หน้า 78-79.
  6. รักบ้านเกิด.  “โกฐจุฬาลัมพาสมุนไพรไล่หนู”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rakbankerd.com.  [11 มิ.ย. 2015].
  7. วารสารไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ.  (อุทัย โสธนะพันธุ์, ปนัดดา พัฒนวศนิ, จันคนา บูรณะโอสถ, สุนันทา ศรีโสภณ,  Ashok Praveen Kumar และ Baokang Huang).  “การพิสูจน์ชนิดทางพฤกษศาสตร์ของโกฐจุฬาลัมพาที่ใช้ในปัจจุบัน ด้วยเทคนิคโครมาโทกราฟีชนิดแผ่นบาง”.  หน้า 1-6.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Lloyd Crothers, WSSA Weeds), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด