แอหนัง
แอหนัง ชื่อสามัญ Roman iron wood
แอหนัง ชื่อวิทยาศาสตร์ Crossostephium chinense (A.Gray ex L.) Makino (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Artemisia chinensis L., Chrysanthemum artemisioides (Less.) Kitam., Crossostephium artemisioides Less. ex Cham. & Schltr., Tanacetum chinense L.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
สมุนไพรแอหนัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปากหลาน (กรุงเทพฯ), เล่านั่งฮวย (จีน), เหล่าหนั่งฮวย เฮียงเก็ก (แต้จิ๋ว), หล่าวเหยินฮวา เซียงจี๋ เชียนเหนียนไอ๋ ฝูหยงจวี๋ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[4],[5]
ลักษณะของแอหนัง
- ต้นแอหนัง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 10-60 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรงเรียบเป็นสีเขียว ลำต้นแตกกิ่งก้านได้มาก ใบดกหนาทึบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำกิ่งและการเพาะเมล็ด ชอบดินร่วน มีความชื้นและแสงแดดปานกลาง ชอบขึ้นในที่แจ้ง ชอบขึ้นตามหินปูน มักพบได้ตามหลุมบ่อใกล้กับชายทะเล[1],[3],[4]
- ใบแอหนัง มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันตามต้น แต่จะออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด ใบและก้านใบมีขนสีขาว ๆ อมเทาขึ้นปกคลุม ก้านใบมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ใบมีลักษณะไม่ค่อยแน่นอน มีปลายใบแหลม โคนใบมนลักษณะเป็นรูปไข่ ใบแยกออกเป็นแฉกประมาณ 3-5 แฉก แต่ใบที่ยอดต้นจะไม่แยกเป็นแฉก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5.5 เซนติเมตร อวบน้ำ และก้านใบสั้น[1],[3],[4]
- ดอกแอหนัง ออกดอกเป็นช่อที่ยอดต้นหรือตามง่ามใบปลายกิ่ง มีช่อดอกยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร ช่อดอกมีขนาดเล็ก แต่ละช่อมีดอกย่อยลักษณะทรงกลมสีเหลือง หรือเป็นรูปทรงกระบอกสีเหลืองอมสีเขียว โคนดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวลักษณะเป็นรูปถ้วย และเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ[1],[3]
- ผลแอหนัง ผลมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ลักษณะของผลเป็นรูปเหลี่ยมคล้ายห้าเหลี่ยม และมีรยางค์เป็นเกล็ดยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร เปลือกผลแข็ง ผลแห้งและแตกได้ ด้านในมีเมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงรีผิวมันสีน้ำตาล[1],[3],[4]
สรรพคุณของแอหนัง
- ใบและเมล็ดใช้เป็นยาบำรุง ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ, เมล็ด)[4]
- ใบและรากมีรสเผ็ดขม เป็นยาร้อนเล็กน้อยออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะ ใช้เป็นยาขับลม ขับลมชื้น (ใบ, ราก)[1],[2],[3],[4]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด แก้ไข้หวัดลมเย็น ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำ ใส่น้ำตาลเล็กน้อยแล้วใช้รับประทาน (เอากากทิ้ง) (ใบ)[1],[2],[3],[4],[5]
- ช่วยแก้ไอ แก้อาการไอเรื้อรัง (ใบ, ราก)[1]
- ช่วยละลายเสมหะ (ใบ, ราก)[1]
- ใบใช้ทำเป็นยาชงดื่มช่วยแก้เลือดคั่งในอวัยวะต่าง ๆ (ใบ)[3],[4]
- ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ (ใบ, ราก)[1]
- ช่วยรักษาเต้านมอักเสบ (ใบ, ราก)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะ (ใบ, ราก)[1]
- ใบนำมาตำใช้ทาสะดือของเด็กทารก ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ใบ)[4]
- ช่วยขับพยาธิ (ใบ, เมล็ด)[4]
- ช่วยขับระดูประจำเดือนของสตรี (ใบ)[4]
- หากออกหัด ให้ใช้ใบสดนำมาต้มเอาแต่น้ำมาอาบชะล้างร่างกาย (ใบ)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดข้ออันเนื่องมาจากลมชื้นเข้าข้อ (ใบ, ราก)[1]
- ช่วยแก้พิษ (ใบ, ราก)[1]
- ช่วยแก้บวม (ใบ, ราก)[1]
- ใบสดนำมาตำใช้พอกรักษาฝีฝักบัว แก้ฝีหนองภายนอก (ใบ, ราก)[1],[3],[4],[5]
- ใบสดนำมาตำใช้พอกรักษาแผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง (ใบ)[2],[3],[4],[5]
- ใช้แก้แผลฟกช้ำ แผลมีดบาด (ใบ)[4]
ปริมาณและวิธีการใช้ : ยาแห้งให้ใช้ครั้งละประมาณ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หากเป็นยาสดให้ใช้ครั้งละประมาณ 20-35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานหรือใช้ตำคั้นเอาแต่น้ำมารับประทาน ถ้าหากจะใช้เป็นยาภายนอกให้นำมาตำแล้วพอกบริเวณที่ต้องการ[1]
ประโยชน์ของแอหนัง
- ในปัจจุบันนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ หรือปลูกเป็นไม้กระถาง เนื่องจากใบและดอกมีความสวยงาม[2],[3],[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “แอหนัง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 654.
- สวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์. “แอหนัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th. [26 ม.ค. 2014].
- คมชัดลึกออนไลน์, คอลัมน์: ไม้ดีมีประโยชน์. “แอหนัง ไม้ประดับ เป็นยา”. (นายสวีสอง). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.komchadluek.net. [26 ม.ค. 2014].
- หนังสือสมุนไพรไทย ตอนที่ 4. “แอหนัง”. (ก่องกานดา ชยามฤต). มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
- สมุนไพรดอทคอม. “แอหนัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com. [26 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hung-Jou Chen, wenjihel, 10000hrs, kaiyanwong223)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)