แสยก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแสยก 10 ข้อ !

แสยก

แสยก ชื่อสามัญ Slipper flower, Redbird Cactus, Jew-Bush[3],[4]

แสยก ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia tithymaloides L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pedilanthus tithymaloides (L.) Poit.) จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]

สมุนไพรแสยก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นางกวัก, ว่านสลี (แม่ฮ่องสอน), ว่านจะเข็บ (คนเมือง), เคียะไก่ไห้ (ภาคเหนือ), กะแหยก แสยกสามสี มหาประสาน ย่าง (ภาคกลาง), แสยกลาย มหาประสาน (ทั่วไป), ตาสี่กะมอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หงเชี่ยซานหู ยวี่ใต้เกิน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของต้นแสยก

  • ต้นแสยก จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 60-100 เซนติเมตร ลำต้นกลมและคดงอ หรือหักงอไปมาทำให้เป็นรูปซิกแซก ลำต้นเป็นสีเขียว ผิวเรียบ เนื้ออ่อนนิ่มและฉ่ำน้ำ ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-12 มิลลิเมตร ภายในมียางสีขาวคล้ายกับน้ำนม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำต้น พบปลูกได้ทั่วไป เพราะเป็นพืชในเขตร้อน สามารถปลูกได้ในดินทุกสภาพ ทนความแล้งได้ดี และเจริญเติบโตได้ทั้งในที่มีแสงแดดจัดและในที่ร่มรำไร[1],[2]

ต้นแสยก

ภาพแสยก

รูปแสยก

  • ใบแสยก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับซ้ายขวาในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหอกหรือรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบเรียบหรือมีคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-7 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวมีลายสีขาว เนื้อใบหนา ด้านล่างมีขนอ่อน ๆ เส้นเล็ก ขึ้นปกคลุมอยู่บาง ๆ ทั่วไป เส้นกลางใบนูนขึ้น ส่วนเส้นใบมองเห็นได้ไม่ชัด ก้านใบยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร หูใบมีลักษณะเป็นตุ่มกลมเล็ก ๆ 2 ตุ่ม โดยจะอยู่ตรงสองข้างของโคนก้านใบ ร่วงได้ง่าย และต้นจะสลัดใบทิ้งหมดหรือเกือบหมดก่อนที่จะออกดอก[1],[2]

ใบแสยก

  • ดอกแสยก ออกดอกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ตามกิ่งแขนงสั้น ๆ ใกล้ยอด หรือตามลำต้น ดอกเป็นสีม่วงหรือสีแดง ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ก้านช่อยาวประมาณ 3-20 มิลลิเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ใบประดับด้านนอกมีขนสั้นขึ้นปกคลุมหนาแน่น แต่ก้านดอกไม่มีขน ดอกมีลักษณะคล้ายกับเรือหรือรองเท้า มีกลีบดอก 5 กลีบ เรียงกันเป็น 2 ชั้น โดยกลีบชั้นในจะมีกลีบ 3 กลีบ มีขนาดสั้นและแคบกว่ากลีบชั้นดอก มีขนละเอียด ที่ฐานดอกมีต่อมน้ำหวานลักษณะเป็นรูปกระทะคว่ำ 1 ต่อม ด้านในมีต่อม 2 ต่อม หรือ 4 ต่อม กันเป็นคู่ ที่ปลายมีแถบยาวหนึ่งแถบอยู่ตรงช่องระหว่างกลีบใหญ่ชั้นนอกสองกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ตรงใจกลางดอก เกสรเพศผู้สั้น ดอกที่กำลังบานอับเรณูจะหันหน้าออก มีรังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อนช่องละ 1 หน่วย ท่อรับไข่มี 1 อัน ปลายท่อแยกเป็น 3 แฉก แต่ละอันเป็น 2 แฉก[1],[2]

รูปดอกแสยก

ดอกต้นแสยก

ดอกแสยก

  • ผลแสยก ผลเป็นชนิดที่แห้งแล้วจะแตก[2]

สรรพคุณของแสยก

  1. ทั้งต้นมีรสเปรี้ยวฝาด มีพิษเล็กน้อย เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาภายนอก มีสรรพคุณช่วยขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้พิษ (ทั้งต้นสด)[1]
  2. ใบและยอดใช้เป็นยาสมานแผลห้ามเลือดได้เป็นอย่างดี โดยใช้ต้นสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้นสด)[1] ส่วนคนเมืองจะใช้น้ำยางจากต้นนำมาทาแผลที่โดนมีดบาด จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น (น้ำยาง)[2]
  3. ยอดสดใช้ตำพอกแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน (ยอด)[3]
  1. ยอดสดใช้ตำพอกเป็นยาแก้พิษแมลงกัดต่อย พิษตะขาบกัด แมงป่องต่อย (ยอด)[3]
  2. น้ำยางสดจากต้นใช้ทาช่วยกัดหูด โดยนำน้ำยางสีขาวไปทาโดยตรงบนหัวหูด และให้ทาบ่อย ๆ หูดก็จะค่อย ๆ หายไปเอง (แต่ถ้านำน้ำยางมากินจะทำให้อาเจียน) (น้ำยาง)[2],[3],[4]
  3. หากเป็นฝีหนองอักเสบภายใน ให้ใช้ต้นสด โถวหงู่ฉิก, หน่ำจั่วเต็ก อย่างละเท่า ๆ กัน นำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้นสด)[1]
  4. ต้นสดใช้ตำพอกแก้ปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว กระดูกร้าว (ทั้งต้นสด)[1]

หมายเหตุ : ใช้เป็นยาภายนอกเท่านั้น ห้ามนำรับประทานเนื่องจากพืชชนิดนี้มีพิษ โดยให้ใช้ต้นสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น ส่วนปริมาณให้กะใช้ได้ตามต้องการ[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นแสยก

  • พบสารจำพวก Flavonoid glycoside, Saponin, กรดอะมิโน และยังพบสาร Epifriedelanol acetate, 1-dotriacontanol เป็นต้น[1]

ประโยชน์ของแสยก

  • ใช้เป็นยาเบื่อปลา ชาวบ้านตามชนบทในสมัยก่อนจะนิยมเอาต้นแสยกสดทั้งต้น (กะจำนวนตามต้องการ) นำมาทุบให้พอแตก แล้วนำไปแช่น้ำตามหนองบึง หรือบ่อปลาที่มีปลาอาศัยอยู่ประมาณ 30 นาที ถ้าบ่อปลาไม่กว้างมากนัก ปลาที่อยู่ในบ่อก็จะเกิดอาการเมาหรือตาย ทำให้สามารถจับหรือช้อยขึ้นมาได้โดยง่าย ซึ่งมีฤทธิ์เหมือนกับต้นหาง-ไหล หรือต้นโล่ติ้นของชาวจีน ส่วนยางของต้นแสยกก็มีพิษแรงมาก ถ้าเอาทั้งต้นมาทุบให้พอแตก แล้วใส่ลงไปในวังน้ำหรือลำธารที่มีจระเข้อาศัยอยู่ มันจะหนีไปที่จนหมด[4]
  • น้ำยางสีขาวและเมล็ดของต้นแสยกจะมีฤทธิ์เป็นพิษต่อแมลงศัตรูพืชหลายชนิด (สารออกฤทธิ์ที่พบคือสาร Chemiebase) เพราะมีฤทธิ์ทำให้เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ของแมลงอักเสบ สามารถช่วยยับยั้งการเข้ามาวางไข่ของด้วงถั่วเขียวในรังเก็บและยับยั้งการฟักไข่ของด้วงทั่วไปได้ด้วย โดยสูตรน้ำหมักแสยกที่ใช้กันคือ ให้ใช้ลำต้นแสยกประมาณ 2 กิโลกรัม นำมาบดหรือทุบให้พอแตก และใช้ยาฉุน 1 กิโลกรัม จากนั้นนำมาแช่ในถังเทเหล้าขาวจนท่วม โดยใช้ประมาณ 4-6 ทวด ให้แช่ทิ้งไว้ประมาณ 7 คืน หลังจากนั้นให้นำมากรองเอาแต่น้ำหมัก แล้วนำไปใช้ฉีดพ่น (สูตรที่ใช้ก็คือ น้ำหนัก 2 ช้อนโต๊ะ น้ำ 20 ลิตร และสารจับใบ 5-10 ซีซี) ถ้านำไปใช้ฉีดพ่นในแปลงผัก จะช่วยป้องกันและกำจัดหนอนใบผักและหนอนกระทู้ได้ดี หรือจะนำไปฉีดพ่นในนาข้าวก็จะช่วยป้องกันและกำจัดหนอนชนิดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น หนอนกอ หนอนกระทู้ หนอนห่อใบข้าว เป็นต้น[4]
  • นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตกแต่งทั่วไป ปลูกบริเวณกำแพง ด้านข้างอาคาร หรือทำเป็นรั้ว โดยเป็นพืชเจริญเติบโตง่ายและทนแล้งได้ดี[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “แสยก”.  หน้า 564.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “Slipper flower”.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [15 มิ.ย. 2014].
  3. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “แสยก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [15 มิ.ย. 2014].
  4. นายยงยุทธ นิลรัตน์ (นวส.ชํานาญการ สนง. อําเภอลาดบัวหลวง).  “แสยก กําจัดศัตรูพืชในนาข้าว”.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Scamperdale, Tony Rodd, Rafy Rodriguez, Sh@ist@, Forest and Kim Starr, Joey Kincheloe, Karl Gercens, CANTIQ UNIQUE)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด