แสมสาร
แสมสาร ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna garrettiana (Craib) H.S.Irwin & Barneby (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia garrettiana Craib) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1]
สมุนไพรแสมสาร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้เหล็กสาร (นครราชสีมา, ปราจีนบุรี), ขี้เหล็กโคก ขี้เล็กแพะ (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กป่า (ภาคเหนือ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กราบัด กะบัด (ชาวบน-นครราชสีมา), ไงซาน (เขมร-สุรินทร์) เป็นต้น[1]
ลักษณะของแสมสาร
- ต้นแสมสาร จัดเป็นไม้ยืนต้น ที่มีความสูงของต้นประมาณ 10 เมตร ลำต้นตั้งตรง มีเนื้อไม้แข็ง กิ่งแขนงแตกเป็นเรือนยอดกลมทึบ เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลแก่เกือบดำ ลำต้นขรุขระแตกเป็นร่องลึก แตกเป็นสะเก็ดเหลี่ยม ตามกิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เพราะได้ผลดีที่สุด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบแสงแดดจัด ในประเทศไทยพบได้มาทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอื่น ๆ ยกเว้นภาคใต้ โดยมักขึ้นในบริเวณป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าที่ราบต่ำทั่วไป และป่าผลัดใบที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบขึ้นกระจายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[1],[2],[4],[5],[6]
- ใบแสมสาร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 6-9 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปหอก หรือรูปหอกถึงรูปไข่กว้าง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีอ่อนกว่า มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 10-15 เส้น ก้านใบย่อยยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ส่วนหูใบเรียวเล็กและหลุดร่วงได้ง่าย[1],[2]
- ดอกแสมสาร ออกดอกเป็นช่อใหญ่ โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือออกตามมุมก้านใบ แต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยจำนวนมากเบียดกันแน่นเป็นกระจุก ช่อดอกมีความยาวประมาณ 9-20 เซนติเมตร มีขนนุ่มอยู่ทั่วไป ดอกย่อยเป็นสีเหลือง สีเหลืองเข้ม หรือสีเหลืองทอง กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายกลีบดอกมน โคนกลีบดอกเรียว ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นรูปกลม เป็นสีเขียวออกเหลือง แต่ละดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และมีก้านดอกยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ติดอยู่กับผนังกลางดอก 10 อัน ก้านเกสรเป็นสีน้ำตาลมีขนาดยาวไม่เท่ากัน มีขนาดใหญ่ 2 อัน ขนาดเล็ก 5 อัน และอีก 3 อัน เป็นแบบลดรูป ส่วนรังไข่และหลอดเกสรเพศเมียเกลี้ยงหรือมีขนประปราย โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2],[4]
- ผลแสมสาร ออกผลเป็นฝักแบน ฝักมักจะบิด เปลือกฝักค่อนข้างบาง ผิวฝักเรียบเกลี้ยงไม่มีขน มีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-22 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่ฝักมักจะบิดและแตกออก และเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 10-20 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 9 มิลลิเมตร โดยจะติดฝักในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และผลจะแก่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[2],[4],[5]
สรรพคุณของแสมสาร
- แก่นมีรสขมเฝื่อน สรรพคุณเป็นยาแก้โลหิต แก้ลม (แก่น)[1],[2]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิต (ราก)[5] ช่วยบำรุงโลหิต ดับพิษโลหิต (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- ช่วยเจริญธาตุไฟ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- ยอดใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคเบาหวาน (ยอด)[6]
- ดอกใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้นอนไม่หลับ (ดอก)[6]
- ช่วยถ่ายกระษัย (แก่น)[1],[2]
- ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- ช่วยแก้โลหิตกำเดา (แก่น)[5]
- ตำรายาไทยใช้แก่นเป็นยาถ่ายเสมหะ ขับเสมหะ (แก่น)[1],[2],[3] ส่วนอีกข้อมูลระบุให้ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับเสมหะ (เปลือกต้น)[6]
- แก่นมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (แก่น)[1],[3]
- ใบใช้เป็นยาขับพยาธิ เป็นยาถ่าย (ใบ)[1],[5]
- ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นสีต่าง ๆ (แก่น)[2] แก้ปัสสาวะพิการ (แก่น)[5]
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (เปลือกต้น)[6]
- ช่วยฟอกถ่ายประจำเดือนของสตรี (แก่น)[1],[2],[3] แก้โลหิตประจำเดือนเสีย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- ช่วยแก้ไตพิการ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- ใช้บำบัดโรคงูสวัด (ใบ)[1],[5]
- ช่วยรักษาแผลสดและแผลแห้ง (ใบ)[5]
- แก่นมีสรรพคุณช่วยทำให้เส้นเอ็นอ่อนหรือหย่อน (แก้ปวดเมื่อย) (แก่น)[1],[2]
- ช่วยแกลมในกระดูก (แก่น)[5]
- ใบใช้บำบัดโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว (ใบ)[1],[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแสมสาร
- พบว่ามีสารในกลุ่มแอนทราควิโนนอยู่หลายชนิดได้แก่ Chrysophanol และ Cassialoin[3] นอกจากนี้ยังพบ aloe emodin, aloin, deoxy, benz-(D-E)-anthracen-7-one, 7-(H): 6,8-dihydroxy-4 methyl, betulic acid, bibenzyl, 3,3′-4-trihydroxy, bibenzyl, 3,3′-dihydroxy, cassialoin, cassigarol A,B,C,D,E,F,G, chrysophanic acid, chrysophanol dianthrone, quercetin, piceatannol, piceatanol, protocatechuic aldehyde, scirpusin B, rhamnetin, rhamnocitrin[5]
- แสมสารมีฤทธิ์ด้านฮีสตามีน ด้านการบีบตัวของลำไส้ เมื่อนำมาผสมในยาทำให้แท้ง ทำให้มดลูกคลายตัว และเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง เป็นพิษต่อตัวอ่อน กระตุ้นมดลูก ต้านมะเร็ง มีฤทธิ์เหมือน Lectin ยับยั้งเอนไซม์ H+,H+-ATPase และ lipoxygenase หยุดการขับน้ำย่อย[5]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อป้อนสารกสัดจากแก่นแสมาสารด้วยแอลกอฮอล์และน้ำ ในอัตรา 1:1 หรือฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังของหนูถีบจักรทดลองในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบพิษ[5]
ประโยชน์ของแสมสาร
- ดอกอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ แต่ต้องนำมาต้มเพื่อลดความขมลงก่อนจะนำไปแกง คล้ายกับแกงขี้เหล็ก[4],[5]
- เนื้อไม้แสมสารมีความทนทาน เหนียว เสี้ยนตรง ไม่หักง่าย และไม่แข็งมากจนเกินไป ในสมัยก่อนนิยมนำมาใช้ในการต่อเรือ แต่ในปัจจุบันนิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องมือช่าง ทำสลัก เขียง ฝักมีด ฯลฯ หรือนำมาใช้ทำเป็นถ่านไม้และฟืน ซึ่งจะเป็นถ่านที่ให้ความร้อนสูงถึง 6,477 แคลอรี่/กรัม ถ้าเป็นฟืนจะให้ความร้อน 4,418 แคลอรี่/กรัม (มีสถานภาพเป็นไม้หวงห้ามธรรมดาประเภท ก.)[4],[5]
- ในปัจจุบันนิยมนำต้นแสมสารมาปลูกเป็นไม้ประดับไว้ตามข้างทางทั่วไป โดยเป็นไม้ขนาดค่อนข้างเล็ก มีทรงพุ่มเป็นเรือดยอดสวยงาม เมื่อยามออกดอกจะมีดอกขาวโพลนหนาแน่น และหากนำมาปลูกในพื้นที่จำกัด (ขนาดกว้างยาว 3*3 เมตร) ก็จะช่วยเพิ่มความสวยงามได้มากยิ่งขึ้น[4],[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “แสมสาร (Samae San)”. หน้า 309.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “แสมสาร”. หน้า 145.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “แสมสาร”. หน้า 78.
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5. “แสมสาร”.
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “แสมสาร กะบัด ขี้เหล็กโคก ขี้เหล็ก คันชั่ง ขี้เหล็กแพะ ขี้เหล็กสาร ไงซาน กราบัด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [15 มิ.ย. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “แสมสาร”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [15 มิ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : khaodanherb.com, www.pharmacy.mahidol.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)