แย้มปีนัง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแย้มปีนัง 8 ข้อ !

แย้มปีนัง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแย้มปีนัง 8 ข้อ !

แย้มปีนัง

แย้มปีนัง ชื่อสามัญ Climbing Oleander, Cream Fruit[1], Poison Arrowvine, Spider-Tresses

แย้มปีนัง ชื่อวิทยาศาสตร์ Strophanthus gratus (Wall. & Hook.) Baill. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Strophanthus gratus Franch.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยส้มลม (APOCYNOIDEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรแย้มปีนัง มีชื่อเรียกอื่นว่า บานทน หอมปีนัง (กรุงเทพฯ)[3]

หมายเหตุ : ต้นแย้มปีนังที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นดาวประดับ (บานบุรีม่วง) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cryptostegia grandiflora Roxb. ex R.Br.

ลักษณะของแย้มปีนัง

  • ต้นแย้มปีนัง จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งก้านจำนวนมากเป็นพุ่มแน่นทึบ ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 3-4 เมตร ทุกส่วนของต้นมียางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง (การตอนเป็นวิธีที่นิยมและเหมาะสมกว่า แต่มีความจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนช่วย เนื่องจากการออกรากของพันธุ์ไม้หอมชนิดนี้จะค่อนข้างยาก[4]) มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาและเอเชีย มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วประเทศไทย มาเลเซีย เปอร์เซีย และศรีลังกา ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี ความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวันถึงปานกลาง[1],[2],[3]

ต้นบานทน

ต้นแย้มปีนัง

  • ใบแย้มปีนัง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมและมีติ่ง โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-13 เซนติเมตร แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวปนม่วง[1],[2]

ใบแย้มปีนัง

  • ดอกแย้มปีนัง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง ช่อละประมาณ 5-20 ดอก ดอกเป็นสีชาวอมม่วงชมพู มีกลิ่นหอม ดอกมีลักษณะเป็นรูปแตร โคนกลีบดอกเป็นหลอดคล้ายรูประฆัง ปลายแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก ขอบแฉกมีลักษณะบิดโค้ง เป็นรอยจีบ หรือหยักหว้า มีรยางค์เป็นเส้นสีม่วงเข้มออกมารอบปากหลอด เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ดอกย่อยจะทยอยบาน ดอกสามารถบานอยู่ได้หลายวัน ออกดอกมากในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[3]

ดอกแย้มปีนัง

ดอกบานทน

หอมปีนัง

  • ผลแย้มปีนัง ผลแห้งเป็นฝักคู่ติดกัน ลักษณะของผลเป็นรูปเรียวยาว มีความยาวประมาณ 40-45 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็นแนวเดียว ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก ซึ่งแต่ละเมล็ดจะมีขนกระจุกขาวติดอยู่ตรงส่วนปลายเมล็ดด้านหนึ่ง[1]

เมล็ดแย้มปีนัง

สรรพคุณของแย้มปีนัง

  • เมล็ดแย้มปีนังมีสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจชื่อว่า “ออเบน” (ouabain) ซึ่งในบางประเทศในยุโรปจะนำไปทำเป็นยาฉีดรักษาโรคหัวใจ (เมล็ด)[2]
  • ตำรายาพื้นบ้านจะใช้เมล็ดเป็นยารักษาโรคหนองใน (เมล็ด)[3]
  • หัวมีสรรพคุณเป็นยาขับลม แก้อาการจุกเสียด ภูมิแพ้ ลดความดันโลหิตสูง (หัว)[5]

ข้อควรระวัง : เมล็ดมีความเป็นพิษสูง (ต้องนำมาสกัดก่อนนำไปใช้) ห้ามนำมารับประทาน หากได้รับพิษจะมีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็วและแรง ต้องรีบทำให้อาเจียน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า เมล็ดและยางจากเปลือกมีความเป็นพิษ ห้ามรับประทาน หากเคี้ยวหรือกลืนส่วนที่เป็นพิษเข้าไปจะทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ มึนงง มองเห็นไม่ชัด หัวใจช้าหรือไม่สม่ำเสมอ ความดันโลหิตลดลง และอาจทำให้ถึงตายได้[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแย้มปีนัง

  • ฤทธิ์ที่พบได้แก่ ฤทธิ์ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ต้านเชื้อรา กระตุ้นให้กล้ามเนื้อลายหดตัว[4]
  • จากรายงานผลการทดลองเมื่อปี ค.ศ.2001 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าแย้มปีนังมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตสูงได้ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของประเทศจีนที่พบว่าแย้มปีนังมีสารที่ช่วยทำให้เกิดฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตสูง[4]

ประโยชน์ของแย้มปีนัง

  • ชาวพื้นเมืองในแอฟริกาจะใช้หัวลูกศรจุ่มยางพิษของต้นแย้มปีนังแล้วนำไปใช้ยิงสัตว์หรือคน[4]
  • ในการใช้งานด้านภูมิทัศน์ นิยมปลูกต้นแย้มปีนังเป็นไม้ประดับสวน ปลูกเพื่อเป็นฉากบังสายตา ปลูกไว้ริมถนน ทางเดิน ลานจอดรถ ฯลฯ เนื่องจากดอกสวยมีกลิ่นหอมเย็น ออกดอกหมุนเวียนตลอดทั้งปี ปลูกเลี้ยงได้ง่าย เจริญเติบโตเร็ว ตัดแต่งเป็นทรงพุ่มได้ดี และทนความแล้ง (แต่ยางมีความเป็นพิษ)[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “แย้มปีนัง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th.  [15 ก.ย. 2015].
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “บานทน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [15 ก.ย. 2015].
  3. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “แย้มปีนัง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm.  [15 ก.ย. 2015].
  4. หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 590, วันที่ 01 มกราคม พ.ศ. 2558.  “แย้มปีนัง? แค่แย้มยังแจ่มพริ้ม…ถ้าหากยิ้มคงเพริดแพร้ว”.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Sophie Leguil, Vee Satayamas, tanetahi, Nelindah, Cerlin Ng, Alex Feleppa)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด