ร้อนใน (Aphthous Ulcer) อาการ, สาเหตุ, การรักษาแผลร้อนใน ฯลฯ

ร้อนใน (Aphthous Ulcer) อาการ, สาเหตุ, การรักษาแผลร้อนใน ฯลฯ

แผลร้อนใน

โรคแผลร้อนใน หรือ แผลแอฟทัส (Aphthous ulcer, Aphthous stomatitis, Canker sore, Recurrent aphthous ulcer – RAU, Ulcerative stomatitis) คือ โรคจากการมีแผลเปื่อยในช่องปากที่พบได้บ่อย อาจเกิดบริเวณส่วนใดของช่องปากก็ได้ อาจจะมีเพียงแผลเดียวหรือหลายแผล แผลอาจมีขนาดเล็กไม่ถึงเซนติเมตรหรืออาจใหญ่เป็นหลายเซนติเมตรก็ได้ ส่วนความเจ็บจะขึ้นอยู่กับขนาดของแผลและความรุนแรงของโรค โรคนี้มักจะเป็นครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว มักเป็น ๆ หาย ๆ อยู่เป็นประจำ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง นอกจากสร้างความรำคาญ

แผลร้อนในเป็นโรคที่พบได้บ่อยตั้งแต่ในเด็กเล็กไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ แต่มักจะพบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะในผู้หญิงจะพบได้บ่อยกว่าผู้ชาย เมื่ออายุมากขึ้นจะเป็นห่างออกไปเรื่อย ๆ และบางรายอาจหายขาดเมื่อมีอายุมาก จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าประมาณ 15-30% ของประชากรทั่วโลกจะเป็นโรคนี้ บางคนอาจเกิดได้ประมาณน้อยกว่า 4 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้บ่อยประมาณ 80-90% ของผู้ป่วย แต่บางคนก็อาจเกิดบ่อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้น้อยประมาณ 10% ของผู้ป่วย

สาเหตุของแผลร้อนใน

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคนี้อย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมกัน และอาจมีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาภูมิต้านทานของร่างกายด้วย โดยพบว่าประมาณ 30-40% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้บ่อย ๆ จะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย (สาเหตุจากพันธุกรรม) จึงทำให้เชื่อได้ว่าโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และโดยส่วนใหญ่จะเกิดอาการขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีสิ่งมากระตุ้น แต่ในส่วนน้อยก็พบว่ามีสิ่งกระตุ้นให้อาการกำเริบขึ้นมาได้เช่นกัน ได้แก่

  • ความเครียด ความกังวล ความเหนื่อยล้า อารมณ์โมโหฉุนเฉียว เช่น เครียดจากการทำงาน การอ่านหนังสือสอบมาก ๆ หรือเครียดจากปัญหาภายในครอบครัว (เพราะจากการศึกษาพบว่า การเกิดแผลร้อนในมีความสัมพันธ์กับอาชีพและระดับความวิตกกังวล)
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึก นอนน้อย (เชื่อว่าเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของสิ่งที่มากระตุ้น)
  • การได้รับบาดเจ็บในช่องปาก เช่น เยื่อบุปากหรือลิ้นถูกกัดในขณะเคี้ยวอาหาร หรือถูกแปรงสีฟัน ฟันปลอม หรือจากอาหารแข็ง ๆ เข้าไปกระทบกระแทกในช่องปาก
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาอะเลนโดรเนตที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน (Alendronate) เป็นต้น
  • การรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ของทอด ของมัน เนื้อติดมัน เหล้า เบียร์ ขนมปังเบเกอรี่ ของหวาน ไอศกรีม ผลไม้ที่มีรสหวานมาก ๆ
  • การรับประทานอาหารที่มีรสจัดมากเกินไป เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด
  • การแพ้อาหารบางอย่าง เช่น นมวัว เนยแข็ง กาแฟ โคล่า ช็อกโกแลต แป้งข้าวสาลี ของเผ็ด ผลไม้จำพวกส้ม ฯลฯ รวมไปถึงสารเคมีในอาหารหรือในสิ่งที่บริโภคบ่อย ๆ เช่น น้ำยาบ้วนปาก
  • การแพ้สารบางอย่างในยาสีฟัน เช่น จากการใช้ยาสีฟันที่เจือปนสาร Sodium lauryl sulfate หรือ Sodium lauroyl sarcosinate
  • ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเอดส์ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (เนื่องจากพบเซลล์เม็ดเลือดขาวได้สูงในผู้เป็นแผลร้อนใน)
  • การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น Helicobacter pylori
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคเริม
  • ร่างกายขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิด โดยเฉพาะขาดธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก วิตามินบี (โดยเฉพาะวิตามินบี 12)
  • การมีประจำเดือนของสตรี บางครั้งโรคนี้อาจสัมพันธ์กับการเปลี่ยนของฮอร์โมน เนื่องจากพบโรคนี้ได้บ่อยในผู้หญิง โดยเฉพาะในช่วงใกล้หรือมีประจำเดือน แต่จากการศึกษาในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุถึงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนได้
  • การเลิกบุหรี่ เนื่องจากโรคนี้จะพบได้น้อยในคนที่สูบบุหรี่
  • ในทางการแพทย์แผนตะวันออกเชื่อว่า “อาการร้อนในเกิดจากการขาดสมดุลของหยินและหยาง” โดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ 2 ปัจจัย ได้แก่
    1. อาหารและร่างกาย : ร่างกายของคนเราจะมีลักษณะเป็นหยินเป็นหยางต่างกัน ถ้าคนที่มีลักษณะเป็นหยาง (ร้อน) มากกว่าหยิน (เย็น) ไปกินอาหารที่เป็นหยางเข้าไปมาก ๆ ก็จะทำให้หยางในร่างกายเพิ่มขึ้น เมื่อร่างกายขาดสมดุลมากก็ทำให้เกิดอาการร้อนในตามมา (อาหารที่เป็นหยิน (เย็น) คืออาหารชนิดที่กินเข้าไปแล้วทำให้รู้สึกชุ่มคอ รู้สึกสบาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารจำพวกผักและผลไม้ชนิดต่าง ๆ ส่วนอาหารที่เป็นหยาง (ร้อน) จะเป็นอาหารที่มีรสเผ็ด รสที่ค่อนข้างจัด หรือว่าเข้มข้น (เช่น แกงเผ็ด ส้มตำ ข้าวเหนียว) รวมถึงอาหารทอดทุกประเภท ถ้าเป็นผลไม้ก็เช่น ขนุน ทุเรียน เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง ฯลฯ)
    2. อากาศ : มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสาเหตุแรก กล่าวคือฤดูกาลที่เปลี่ยนไปมักจะมีแนวโน้มทำให้เกิดหยินกับหยางในลักษณะที่ต่างกัน เช่น ในฤดูร้อน ความเป็นหยาง (ร้อน) ก็จะสูงขึ้น เนื่องจากอากาศที่ร้อน เป็นต้น

อาการของแผลร้อนใน

อาการสำคัญของแผลร้อนในคือ มีแผลเปื่อยเจ็บในช่องปากแบบเป็น ๆ หาย ๆ อยู่เป็นประจำเมื่อมีสิ่งที่มากระตุ้น (เช่น ความเครียด การแพ้อาหารบางชนิด กัดถูกปากตัวเอง การใช้ยาบางชนิด การมีประจำเดือน ฯลฯ) หรืออาจจะเป็นขึ้นมาเองเฉย ๆ โดยไม่ทราบว่ามีอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นก็ได้

โดยแรกเริ่มผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บตรงตำแหน่งที่จะเกิดแผลเปื่อย ตามมาด้วยรอยแดง ๆ ลักษณะกลม ๆ หรือเป็นรูปไข่ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นก่อนมีแผลเปื่อยประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นจึงเกิดแผลเปื่อยขึ้นตรงรอยแดงนั้น ส่วนของขนาดแผลนั้นก็มีตั้งแต่ขนาดไม่กี่มิลลิเมตรไปจนถึงหลายเซนติเมตร โดยอาจเป็นเพียงแผลเดียวหรือมีหลายแผลก็ได้

อาการเจ็บแผลจะเป็นมากในช่วง 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดแสบมากขึ้นเวลากินอาหารที่มีรสเผ็ดหรือรสเปรี้ยวจัด ถ้าแผลมีขนาดใหญ่ อาจทำให้เจ็บมากจนกลืนหรือพูดจาไม่ถนัดได้ เมื่อแผลเริ่มหายอาการเจ็บแผลจะลดน้อยลง (โดยปกติแล้วผู้ป่วยมักไม่มีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่ถ้ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด)

แผลร้อนในสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะตามความรุนแรงของโรค ดังนี้

  • แผลร้อนในเล็ก (Minor aphthous ulcers) เป็นแผลร้อนในที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 80% ของแผลร้อนในทั้งหมด จะเป็นแผลตื้นลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่ มีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร หรือไม่เกิน 1 เซนติเมตร พื้นแผลจะเป็นสีขาวหรือเหลือง และมีคราบไฟบริน (Fibrin) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัวปกคลุมอยู่ มีวงสีแดงเป็นขอบอยู่โดยรอบแผล มักเป็นแผลเรียบ ไม่นูน หรือขอบอาจบวมเล็กน้อย และเมื่อใกล้หายพื้นแผลจะกลายเป็นสีเทา ๆ ส่วนตำแหน่งที่เกิดของแผลนั้นมักขึ้นบริเวณริมฝีปาก กระพุ้งแก้มและลิ้น (ด้านข้างและด้านใต้) นอกจากนี้ยังอาจพบได้ที่เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย พื้นปาก (เนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ลิ้นและเหงือก) แต่มักจะไม่พบได้ที่เหงือก เพดานแข็ง และลิ้นด้านบนเหมือนชนิดที่ 2 โดยอาจจะเป็นเพียงแผลเดียวหรือเป็นหลายแผล (2-5 แผล) พร้อมกันก็ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดไม่รุนแรง และแผลมักจะหายไปได้เองภายใน 7-14 วัน โดยส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เป็นแผลเป็น และอาจกำเริบเป็นซ้ำได้ทุก 1-4 เดือน
  • แผลร้อนในใหญ่ (Major aphthous ulcers) เป็นแผลร้อนในที่พบได้ประมาณ 10-15% ของแผลร้อนในทั้งหมด พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่เลยช่วงวัยรุ่นไปแล้ว แผลจะมีลักษณะแบบเดียวกับแผลร้อนในเล็ก แต่แผลจะมีขนาดใหญ่มากกว่า 1 เซนติเมตรขึ้นไป และมักเป็นแผลลึก ขอบแผลบวม มีอาการเจ็บปวดรุนแรงกว่า นอกจากจะพบในตำแหน่งเดียวกับแผลร้อนในเล็กแล้ว ยังอาจพบแผลได้ที่เพดานแข็งและลิ้น (ด้านบน) ได้ด้วย แผลชนิดนี้มักจะหายได้ช้านานเป็นเดือน ๆ (ปกติจะใช้เวลาประมาณ 10-40 วัน) และเมื่อหายแล้วอาจเป็นแผลเป็น (ก่อให้เกิดพังผืดของเนื้อเยื่อที่เกิดแผล) และมักกำเริบเกิดซ้ำได้บ่อยมาก ในบางครั้งอาจพบได้ในผู้ป่วยเอดส์ ถ้าหลังจากดูแลตนเองแล้วแผลร้อนในไม่ดีขึ้นภายใน 2 อาทิตย์ ควรรีบไปพบแพทย์เสมอ เพื่อแยกจากแผลอักเสบติดเชื้อหรือแผลมะเร็ง โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • แผลร้อนในชนิดคล้ายเริม (Herpetiform ulceration) เป็นแผลร้อนในที่พบได้ประมาณ 5-10% มีความรุนแรงกว่าทั้งสองชนิดที่กล่าวมา ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเริม มักเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่หรือในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 2 ชนิดดังกล่าว และมักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในช่วงแรกจะขึ้นเป็นตุ่มใสขนาดเล็ก ๆ (ขนาดประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร) หลายตุ่ม แล้วแตกแผ่รวมเป็นแผลเดียวขนาดใหญ่ (คล้ายแผลร้อนในใหญ่) ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดค่อนข้างรุนแรง พบได้ในตำแหน่งต่าง ๆ ในช่องปากแบบเดียวกับแผลร้อนในใหญ่ แผลชนิดนี้สามารถหายได้เอง แต่จะใช้เวลานานกว่า 10 วันขึ้นไปจนถึง 2 เดือน ส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วมักต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ เพราะผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแผลมากจนกระทบต่อการกินอาหารและการดื่มน้ำ เมื่อได้รับการรักษาแล้วแผลมักจะหายไปภายใน 1 เดือน และมักจะไม่เกิดเป็นพังผืดหรือแผลเป็น

หมายเหตุ : อาการร้อนใน มิได้หมายถึงอุณหภูมิของร่างกายที่สูงขึ้นแต่อย่างใด เพราะอาการตัวร้อนอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับร้อนในก็เป็นได้

ผลข้างเคียงของแผลร้อนใน

โดยปกติแล้วแผลร้อนในเป็นโรคที่ไม่รุนแรง มักหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์หลังการดูแลตนเอง และมักจะไม่ก่อให้เกิดแผลเป็น (ยกเว้นในกรณีที่แผลเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่จะทำให้แผลหายช้าลง หรือในกรณีที่เป็นแผลร้อนในใหญ่และแผลร้อนในชนิดคล้ายเริม) โดยทั่วไปจึงไม่พบผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้

อนึ่ง ยังไม่เคยมีรายงานว่าแผลร้อนในจะกลายเป็นโรคมะเร็งได้ (แต่แผลโรคมะเร็งอาจทำให้มีแผลเหมือนแผลร้อนในได้) แต่ทางที่ดีเมื่อเป็นแผลในช่องปากทุกชนิดรวมทั้งแผลร้อนใน ถ้ารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือไม่หายภายใน 2-3 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดเสมอ เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้น ซึ่งเป็นช่วงอายุที่พบโรคมะเร็งช่องปากได้สูงขึ้น

การวินิจฉัยโรคแผลร้อนใน

โดยปกติแล้วแพทย์สามารถวินิจฉัยแผลร้อนในได้จากการดูประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจดูแผลในช่องปาก ซึ่งก็เพียงพอที่จะสามารถสรุปได้ว่าเป็นโรคแผลร้อนในหรือไม่ แต่ในบางครั้งลักษณะของแผลอาจไม่แน่ชัด แพทย์อาจป้ายสารคัดหลั่งจากแผลเพื่อการย้อมสี และ/หรือตรวจเพาะเชื้อ หรือขูดเอาเซลล์จากแผลเพื่อไปตรวจทางเซลล์วิทยา หรือตัดเอาชิ้นเนื้อจากแผลเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา โดยเฉพาะเมื่อสงสัยว่าอาจเป็นแผลจากโรคมะเร็งช่องปาก

วิธีรักษาแผลร้อนใน

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคนี้ที่แน่ชัด แนวทางในการรักษาแผลร้อนในในปัจจุบันที่สามารถทำได้ก็คือ การรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการที่เป็น ได้แก่

  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง (ผสมเกลือ 1 ช้อนชาในน้ำ 1 แก้ว) ซึ่งน้ำเกลือนอกจากจะช่วยรักษาแผลได้แล้ว ยังช่วยทำให้ปากสะอาด แบคทีเรียลดลงอีกด้วย
  • ในกรณีที่มีอาการปวดให้อมน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ หรือดื่มน้ำเย็น ๆ ถ้ามีอาการปวดมากให้กินยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการ (ส่วนใหญ่โรคนี้จะค่อย ๆ หายได้เองตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่น ๆ นอกจากยาแก้ปวดเป็นครั้งคราว)
  • ถ้าอาการปวดรุนแรงหรือต้องการให้แผลหายโดยเร็ว ให้ป้ายแผลด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้ วันละ 2-4 ครั้ง จนกว่าแผลจะหาย
    • สเตียรอยด์ เช่น ครีมป้ายปากไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ (Triamcinolone acetonide) ชนิดขี้ผึ้ง 1% ใช้ทาวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร, ฟลูโอซิโนโลน อะเซโทไนด์ (Fluocinolone acetonide) 0.1% ชนิดสารละลายหรือชนิดขี้ผึ้ง ใช้ทาวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร, คลอร์เฮกซิดีน กลูโคเนต (Chlorhexidine gluconate) 0.2%-1% ใช้อมบ้วนปาก 10 มิลลิลิตร อม 1 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือหลังอาหาร
    • ยาชา เช่น เจลลิโดเคน (Lidocaine) ชนิด 2%
  • อาจให้ยาปฏิชีวนะเมื่อสงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
  • ให้สารอาหารและน้ำทางหลอดเลือดดำในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บแผลมากจนรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ หรือได้น้อย
  • ในผู้หญิง แผลร้อนในอาจกำเริบในขณะที่มีประจำเดือน ซึ่งอาจป้องกันได้ด้วยการกินยาเม็ดคุมกำเนิด และเมื่อตั้งครรภ์ก็มักจะไม่มีอาการกำเริบจนกว่าจะคลอด
  • ในรายที่ใช้วิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล หรือเป็นแผลร้อนในชนิดคล้ายเริม ให้รักษาด้วยการใช้ยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) ขนาด 250 มิลลิกรัม ผสมกับน้ำ 180 มิลลิลิตร หรือยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ขนาด 100 มิลลิกรัม ผสมกับน้ำ 10 มิลลิลิตร ใช้กลั้วคอประมาณ 3 นาที วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดอาการปวดและช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้นได้
  • นอกจากนี้แพทย์บางท่านอาจแนะนำให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์)
    1. ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดการดื่มน้ำ
    2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ในทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะโฮลเกรน นม ถั่ว ไข่ ตับ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา และอาหารทะเล เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายจะได้รับวิตามินบี กรดโฟลิก ธาตุเหล็ก และสังกะสี (อาหารนึ่งเป็นวิธีการง่าย ๆ ที่สามารถช่วยรักษาระดับโฟเลตหรือกรดโฟลิกไว้ได้)
    3. หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดการระคายแผล เช่น อาหารแข็ง อาหารทอด อาหารเผ็ด อาหารเปรี้ยวจัด และอาหารรสจัดอื่น ๆ เครื่องดื่มร้อน ๆ และผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น มะนาว ส้ม รวมไปถึงเครื่องดื่มรสซาบซ่าทั้งหลาย แล้วหันไปรับประทานอาหารอ่อนที่มีรสจืดหรือรสเย็น เพื่อลดการระคายเคืองในช่องปากและลดอาการเจ็บช่องปาก (อาหารที่มีฤทธิ์เย็น ได้แก่ ผักกาดขาว, แตงกวา, แตงไทย, ตำลึง, ฟักเขียว, หัวไชเท้า, มะระ, มะเฟือง, ชะอม, ปวยเล้ง, ถั่วเขียว, กระเจี๊ยบ, เก๊กฮวย, อ้อย, ส้มโอ, ลองกอง, มังคุด, มะตูม, รากบัว, หล่อฮั้งก้วย, ใบบัวบก เป็นต้น)
    4. รับประทานอาหารเย็น ๆ เช่น ไอศกรีม ดื่มน้ำเย็น ๆ เพราะความเย็นจะช่วยทำให้ช่องปากชุ่มชื่นมากขึ้น
    5. ผ่อนคลายความเครียดด้วยการออกกำลังกายกลางแจ้งในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์เป็นประจำ
    6. พักผ่อนให้เพียงพอ
    7. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แพ้ การใช้ยา และยาสีฟันที่เป็นสิ่งกระตุ้น (เปลี่ยนชนิดยาสีฟันที่เคยใช้อยู่)
    8. รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี แปรงฟันทุกครั้งหลังจากรับประทานอาหารไปแล้วอย่างน้อย 30 นาที ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งก่อนแปรงฟันเข้านอน
    9. ใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กและมีขนนุ่มเพื่อไม่ให้ปากถูกกระทบกระแทก
    10. หยุดใช้น้ำยาบ้วนปากชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วปากหรือเข้าไปในแผล แต่ถ้าอยากจะบ้วนปากจริง ๆ แนะนำให้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันจากใบชาแทนจะดีที่สุด เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคและแบคทีเรีย หรืออาจใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งแบคทีเรียเพื่อช่วยคลายความเจ็บปวดแทนก็ได้
    11. หลีกเลี่ยงการตากแดดจัด ๆ เพราะจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น (แม้ว่าอาการร้อนในจะไม่สัมพันธ์กับอุณหภูมิในร่างกายก็ตาม)
    12. แนะนำให้กินวิตามินหรือเกลือแร่เสริมอาหาร เช่น ให้กรดโฟลิกหรือวิตามินบีในรายที่ขาด, ให้ยาบำรุงเลือดในรายที่เลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก เป็นต้น
    13. ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อผู้ป่วยมีอาการเจ็บแผลมากขึ้น หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น, รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย, แผลไม่หายภายใน 2-3 สัปดาห์ (เพื่อแยกจากแผลมะเร็งช่องปาก), มีไข้ (เพราะแผลอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน), ในรายที่เป็นร้อนในเป็น ๆ หาย ๆ อยู่บ่อย ๆ หรือเพิ่งเป็นร้อนในครั้งแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปี ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ เพิ่มเติม

หมายเหตุ : สำหรับแผลเปื่อยที่เกิดจากการบาดเจ็บทั่วไป เช่น ถูกฟันกัด ถูกแปรงสีฟันครูดหรือกระแทก รากฟันปลอมเสียดสี ฯลฯ มักจะทำให้เกิดเป็นแผลเพียง 1-2 แผลที่ริมฝีปาก ลิ้น หรือเหงือก ซึ่งแผลเปื่อยชนิดนี้ไม่มีอันตรายและมักหายไปได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนการรักษานั้นให้ใช้วิธีบ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง หรือกินยาแก้ปวดเมื่อรู้สึกปวด หรือถ้าอักเสบเป็นหนองให้ป้ายด้วยเจนเชียนไวโอเลต แต่ถ้าแผลเกิดลุกลามหรือไม่หายภายใน 3 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ส่วนในรายที่เกิดจากฟันปลอมไม่กระชับ เสียดสีจนเป็นแผลอยู่บ่อย ๆ ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขฟันปลอมให้กระชับขึ้น เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากได้ครับ

สมุนไพรแก้ร้อนใน

สมุนไพรที่มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนในมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายชนิด (มากกว่าร้อยชนิด) แต่ในบทความนี้จะขอกล่าวถึง “ยาสมุนไพรแก้ร้อนในแผนโบราณที่จัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น” ได้แก่

  1. ยาบัวบก (Centella asiatica (L.) Urb.) เป็นผงสกัดที่ได้จากส่วนเหนือดินของต้นบัวบก ซึ่งตัวยาจะอยู่ในรูปแบบของยาชงและยาแคปซูล ชนิดชงให้รับประทานครั้งละ 2-4 กรัม โดยใช้ชงกับน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร ส่วนชนิดแคปซูลใช้รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร ซึ่งจะมีคำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยาดังนี้
    • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้สมุนไพรในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE) เช่น ผักชี ผักชีล้อม แคร์รอต
    • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากฤทธิ์ของยาอาจไปบดบังอาการของไข้เลือดออก
    • ยานี้สามารถใช้ได้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
    • หลังการใช้ยานี้อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ง่วงนอน คลื่นไส้ อาเจียน แสบท้อง มวนท้อง ท้องอืด ปัสสาวะบ่อย
    • หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 2-3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้แล้วไปพบแพทย์
    • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันการเกิดพิษต่อตับ (อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบางราย)
    • ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาที่มีผลต่อตับ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาขับปัสสาวะ, ยาที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงนอน เช่น ยานอนหลับ เพราะตัวยาอาจเสริมฤทธิ์กัน, ยาที่มีกระบวนการเมตาบอลิซึมผ่าน Cytochrome P450 (CYP 450) เช่น ยาต้านไวรัสบางชนิด เนื่องจากยาบัวบกนั้นมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP 2C9 และ CYP 2C19
    • สมุนไพรชนิดนี้อาจเพิ่มระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือดได้ และทำให้ประสิทธิภาพของยาลดน้ำตาลและยาลดคอเลสเตอรอลลดลง
  2. ยารางจืด (Thunbergia laurifolia Lindl.) เป็นผงสกัดที่ได้จากใบรางจืดที่โตเต็มที่ ซึ่งตัวยาจะอยู่ในรูปแบบของยาชงและยาแคปซูล ชนิดชงให้รับประทานครั้งละ 2-3 กรัม โดยใช้ชงกับน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้งก่อนอาหารหรือเมื่อมีอาการ ส่วนชนิดแคปซูล ให้รับประทานครั้งละ 500-1,000 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ซึ่งจะมีคำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยาดังนี้
    • ยานี้สามารถใช้ได้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
    • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากฤทธิ์ของยาอาจไปบดบังอาการของไข้เลือดออก
    • หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 2-3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้แล้วไปพบแพทย์
    • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
    • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาอื่น ๆ เพราะยารางจืดอาจเร่งการขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกาย ทำให้ประสิทธิภาพของยาเหล่านั้นลดลงได้
  3. ยามะระขี้นก (Momordica charantia L.) เป็นผงสกัดจากเนื้อผลแก่ที่ยังไม่สุกของผลมะระขี้นก ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ ได้แก่ ยาชง ยาแคปซูล และยาเม็ด ชนิดชงให้ใช้ครั้งละ 1-2 กรัม ชงกับน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ส่วนแบบแคปซูลและยาเม็ด ให้รับประทานครั้งละ 500-1,000 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ซึ่งจะมีคำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยาดังนี้
    • ห้ามใช้ยานี้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมากจนเกิดอาการชักได้
    • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากฤทธิ์ของยาอาจไปบดบังอาการของไข้เลือดออก
    • ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทานหรือร่วมกับการฉีดอินซูลิน เพราะตัวยาอาจเสริมฤทธิ์กันได้
    • ควรระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ เพราะเคยมีรายงานว่าทำให้ตับเกิดการอักเสบได้
    • หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 2-3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้แล้วไปพบแพทย์
    • หลังการใช้ยานี้อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ วิงเวียน ชาปลายมือปลายเท้า เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำจนช็อก เกิดอาการชักในเด็ก ท้องเดิน ท้องอืด ปวดศีรษะ และอาจเพิ่มระดับเอนไซม์ตับในเลือดได้
  4. ยาหญ้าปักกิ่ง (Murdannia loriformis (Hassk.) R.S.Rao & Kammathy) เป็นผงสกัดที่ได้จากหญ้าปักกิ่ง ซึ่งตัวยาจะอยู่ในรูปแบบของยาชงและยาแคปซูล ชนิดชงให้รับประทานครั้งละ 2-3 กรัม โดยใช้ชงกับน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ส่วนชนิดแคปซูล ให้รับประทานครั้งละ 400-500 มิลลิกรัม จนถึงขนาด 1,000 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งก่อนอาหารเช่นกัน ซึ่งจะมีคำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยาดังนี้
    • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากฤทธิ์ของยาอาจไปบดบังอาการของไข้เลือดออก
    • หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 2-3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้แล้วไปพบแพทย์
    • สามารถใช้ยานี้ในเด็กได้ (แต่ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี) หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร (แต่ทั้งหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันก่อนใช้ยานี้เสมอ)

คำแนะนำเกี่ยวกับแผลร้อนใน

  • โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ
  • แผลร้อนในไม่เพียงแต่ทำให้เจ็บเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดกลิ่นปากตามมาอีกด้วย ผู้ป่วยจึงควรใส่ใจรักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้ดีมากขึ้น
  • โรคนี้ต้องแยกให้ออกจากเริมในช่องปากชนิดกำเริบซ้ำ ซึ่งมักจะขึ้นเป็นแผลเดียวที่เหงือกหรือที่เพดานแข็ง และอาจมีไข้ร่วมด้วย แม้ว่าทั้งสองโรคนี้จะสามารถให้การรักษาไปตามอาการก็หายได้เองก็ตาม แต่ถ้าไม่แน่ใจก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้สเตียรอยด์ป้ายปาก เพราะถ้าเป็นเริมอาจทำให้โรคลุกลามได้
  • ผู้ป่วยที่เป็นแผลร้อนในขนาดใหญ่มากกว่า 1 เซนติเมตร หรือเป็นรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด เพราะในบางรายอาจพบว่าเป็นแผลร้อนในร่วมกับการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ส่วนในผู้ป่วยที่เป็นแผลร้อนในนานเกิน 3 สัปดาห์ อาจเป็นอาการแสดงของโรคมะเร็งช่องปากในระยะแรกก็ได้
  • ผู้ป่วยแผลร้อนในมักจะไม่มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีความผิดปกตินอกช่องปากร่วมด้วย แต่ถ้ามีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติม
  • โรคนี้มักจะเริ่มเป็นครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว ซึ่งจะเป็นแบบเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย จนเมื่ออายุมากขึ้นก็จะค่อย ๆ ห่างขึ้น จนอาจหายขาดไปในที่สุด แต่ถ้าเพิ่งพบว่าเป็นครั้งแรกในตอนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสาเหตุที่แน่ชัด เพราะบางรายอาจพบว่าเป็นแผลร้อนในร่วมกับมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้

วิธีป้องกันแผลร้อนใน

การป้องกันการเกิดแผลร้อนในให้ได้ 100% ยังไม่สามารถทำได้ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดแผลร้อนในให้ลดน้อยลงได้ เช่น

  1. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ในทุกมื้ออาหาร เพื่อช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านการติดเชื้อให้กับร่างกาย
  2. ค่อยเคี้ยว ๆ อาหาร มีสมาธิในการกินให้มาก และไม่รีบกินอาหารมากจนเกินไป เพื่อป้องกันการกัดลิ้นหรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ ในช่องปาก
  3. พักผ่อนร่ให้เพียงพอ
  4. รักษาสุขภาพจิตให้ดี ไม่เครียดหรือเป็นกังวลมากจนเกินไป
  5. หมั่นออกกำลังกายกลางแจ้งในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์เป็นประจำ
  6. ไม่ใช้ยาสีฟันชนิดเดียวซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน
  7. รักษาความสะอาดของช่องปากและฟันด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเมื่อตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งก่อนแปรงฟันเข้านอน รวมถึงการบ้วนปากให้สะอาดหลังรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มต่าง ๆ
  8. หมั่นสังเกตอาการแพ้โดยดูจากความสัมพันธ์ของโรคกับอาหาร เครื่องดื่ม ยา และของใช้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับช่องปาก เช่น ชนิดของน้ำยาบ้วนปากและยาสีฟัน หรืออาหารบางชนิด ว่าแบบไหนใช้แล้วหรือกินแล้วมักก่อให้เกิดโรคร้อนใน หากเจอก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจเป็นต้นเหตุเหล่านั้น
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “แผลแอฟทัส (Aphthous ulcer)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 556-558.
  2. หาหมอดอทคอม.  “แผลร้อนใน (Aphthous ulcer)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [13 มี.ค. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ยาแก้ร้อนใน (Cure heat drugs)”.  (ภก.กรชัย ฉันทจิรธรรม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [13 มี.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.medgadget.com, www.wikimedia.org (by Pfiffner Pascal), www.globalskinatlas.com, www.rareconnect.org, www.wikihow.com, www.minepharmacy.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด