แผลติดเชื้อ (แผลอักเสบ/แผลเป็นหนอง) สาเหตุ, อาการ, การรักษา ฯลฯ

แผลติดเชื้อ (แผลอักเสบ/แผลเป็นหนอง) สาเหตุ, อาการ, การรักษา ฯลฯ

แผลติดเชื้อ

แผลติดเชื้อ หรือแผลอักเสบ (ภาษาอังกฤษ : Infected wound) คือ แผลที่มีการอักเสบลุกลามเป็นบริเวณกว้างซึ่งเกิดจากการติดเชื้อที่มีสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งปนเปื้อนมากในแผล ทำให้มีอาการปวด บวม แดง ร้อน หลังจากนั้นจะเกิดเป็นหนองหรือช้ำเลือดช้ำหนอง ซึ่งจะส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเริ่มตาย ส่วนใหญ่มักเป็นแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุ

สาเหตุของแผลติดเชื้อ

เกิดจากการมีบาดแผลอยู่ก่อน (มักเป็นบาดแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุเช่นแผลถลอกมีดบาดหนามเกี่ยวตะปูตำสัตว์กัดเป็นต้น) แล้วมีเชื้อแบคทีเรีย (สเตรปโตค็อกคัสหรือสแตฟฟีโลค็อกคัส) เข้าไปทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนอง

แผลติดเชื้อเกือบทั้งหมดมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ก็พบเกิดจากการติดเชื้อราได้บ้าง เช่น แผลในโรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot) หรือในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น แผลในผู้ป่วยโรคเอดส์ แต่ที่พบได้น้อยมาก ๆ คือ แผลติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว เช่น แผลบิดลำไส้ใหญ่จากการติดเชื้ออะมีบา (Amoeba)

อาการแผลติดเชื้อ

  • บาดแผลมักมีลักษณะเป็นแผลเปื่อย มีน้ำเหลืองหรือหนอง มีอาการบวม แดง ร้อน และมักก่อให้เกิดอาการปวดหรือเจ็บแผล
  • บางรายอาจมีไข้หรือต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงโตร่วมด้วย
  • ถ้ามีการอักเสบรุนแรง เชื้ออาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดทำให้เป็นโลหิตเป็นพิษได้

การวินิจฉัยแผลติดเชื้อ

แพทย์สามารถวินิจฉัยแผลติดเชื้อได้จากการตรวจดูลักษณะของบาดแผลและอาจร่วมกับการนำสารคัดหลั่งจากแผลไปตรวจเพื่อย้อมดูเชื้อและ/หรือเพื่อการตรวจเพาะเชื้อ

โดยมากแล้วบาดแผลส่วนใหญ่มักจะหายได้เองโดยไม่ยากเย็นอะไร แต่บางครั้งเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียอาจเข้าสู่บาดแผลและทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อจนเป็นอันตรายได้ หากตรวจพบการติดเชื้อตั้งแต่ระยะเริ่มต้นก็จะช่วยให้รักษาได้ไวและได้ผลกว่า โดยอาการบ่งชี้หลัก ๆ ว่าเกิดการติดเชื้อแล้วและคุณควรรีบไปโรงพยาบาล คือ แผลมีอาการบวม แดง ร้อน มีหนอง และมีอาการปวดไม่ยอมหาย

วิธีรักษาแผลติดเชื้อ

โดยทั่วไปการรักษาแผลติดเชื้อ คือ การทำแผลอย่างถูกวิธีร่วมกับการให้ยาฆ่าเชื้อชนิดนั้น ๆ ซึ่งมักเป็นยาปฏิชีวนะ เพราะแผลติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

  1. ให้ชะล้างแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล (0.9% Normal saline solution) หรือน้ำเกลือที่ผสมเอง (ใช้เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมในน้ำ 1 ลิตร แล้วต้มให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ทิ้งให้เย็นก่อนแล้วจึงนำไปใช้ล้างแผล ควรใช้ให้หมดภายใน 7 วัน และทำฉลากระบุวันที่เราเตรียมไว้ด้วย) ถ้าเป็นหนองเฟะ ควรชะล้างด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) แล้วล้างด้วยน้ำเกลือ ใช้น้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมเข้มข้น (น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม ผสมในน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวบนเตาไฟ) ใส่แผล แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซสะอาด ควรทำแผลอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง เมื่อเนื้อแผลแดงไม่มีหนองแล้วควรชะล้างแผลด้วยน้ำเกลือเพียงอย่างเดียว ไม่ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรวมทั้งไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ชะตรงเนื้อแผล
  2. ถ้ามีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือแผลอักเสบมาก แพทย์จะให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น แอสไพริน (Aspirin) และยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือโคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) ติดต่อกันประมาณ 5-7 วัน หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  3. ถ้าไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน มีอาการซีดเหลือง หรือสงสัยว่าเป็นโลหิตเป็นพิษ หรือบาดแผลมีลักษณะอักเสบรุนแรงในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่ก่อน ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์มักจะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล
  4. หากทำแผลและทานยาตามที่แพทย์สั่งแล้วอาการจะต้องดีขึ้น แต่ถ้าทานยาจนหมดแล้วยังไม่หายขาดหรือแผลยังไม่ดีขึ้น แสดงว่าการทานยาอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ก็ควรกลับไปโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มระดับการทานยามาเป็นการฉีดยาฆ่าเชื้อ หรืออาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อระบายเอาหนองออก โดยเฉพาะแผลที่ถูกเสี้ยนตำจนค้างอยู่ข้างใน หรือคนที่เป็นแผลที่เท้าจะอันตรายมาก เพราะบริเวณนี้เลือดจะไหลเวียนไม่ค่อยดีเท่าบริเวณมือ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแผลของผู้ป่วยแต่ละราย
  5. คำแนะนำและการดูแลแผลติดเชื้อ
    • ไม่ควรทาแผลด้วยซัลฟาทั้งชนิดขี้ผึ้งหรือยาผง หรือเพนิซิลลินทั้งชนิดขี้ผึ้งหรือยาฉีดที่เรียกว่า “โปรเคน” เพราะถึงแม้ในระยะแรก ๆ ยาเหล่านี้อาจทำให้แผลแห้ง แต่เมื่อทาต่อไปจะทำให้เกิดการแพ้ มีอาการคัน และแผลกลับเฟะได้ แต่ถ้าจะใช้ยาทาควรเลือกใช้ขี้ผึ้งเตตราไซคลีน (Tetracycline ointment) หรือครีมเจนตามัยซิน (Gentamicin cream) หรือน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมแทน
    • ควรพักส่วนที่เกิดบาดแผลให้มาก ๆ เช่น การพักแขนขาส่วนที่มีบาดแผลโดยการอย่าเดินหรือใช้งานมาก และยกส่วนนั้นให้สูง (ถ้ามีบาดแผลที่มือควรใช้ผ้าคล้องแขนกับลำคอให้บาดแผลอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ หรือถ้ามีบาดแผลที่เท้า ควรนอนพักและใช้หมอนรองเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอก)
    • อย่าให้แผลโดนน้ำ และอย่าใช้น้ำลาย น้ำหมาก หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ พอกที่แผล
    • ไม่มีอาหารใด ๆ ที่แสลงต่อบาดแผลดังที่ชาวบ้านมักเข้าใจกันแบบผิด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ไข่ ส้ม ฯลฯ หรืออะไรก็ตาม แต่ตรงกันข้ามผู้ที่มีบาดแผลควรบำรุงด้วยอาหารจำพวกโปรตีนให้มาก ๆ เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ เป็นต้น เพราะจะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น นอกจากนี้ควรบำรุงด้วยอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ฝรั่ง มะละกอ ส้มต่างๆ บร็อคโคลี่ พริกหวานสีแดง เป็นต้น เพราะวิตามินซีมีหน้าที่สร้างผนังของเซลล์ ทำให้เส้นเลือดฝอยมีความแข็งแรงและไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ อีกทั้งยังช่วยในการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้นด้วย จึงทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น รวมถึงอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุสังกะสี เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ตับ ชีส ถั่วเหลือง เป็นต้น เพราะธาตุสังกะสีจะช่วยให้เซลล์สามารถจับกับวิตามินได้มากขึ้น จึงกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น
    • ผู้ที่เป็นแผลเรื้อรังไม่หายขาด อาจเนื่องมาจากโรคเบาหวาน จึงควรตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดหรือในปัสสาวะ ถ้าสงสัยว่าเป็นโรคเบาหวานควรไปพบแพทย์ นอกจากนี้อาจมีสาเหตุมาจากการมีภาวะซีดหรือขาดอาหาร จึงควรบำรุงด้วยอาหารจำพวกโปรตีนให้มาก ๆ

วิธีป้องกันแผลติดเชื้อ

  1. ทำแผลอย่างถูกวิธี แผลติดเชื้อเป็นหนองส่วนใหญ่มักเกิดจากการดูแลบาดแผลสดที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อมีบาดแผลสดเกิดขึ้น เช่น แผลถลอก แผลมีดบาด ฯลฯ ให้ปฏิบัติดังนี้
    • ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่หรือใช้น้ำเกลือล้างแผล (0.9% Normal saline solution) ทันที เพื่อช่วยชะล้างเอาสิ่งสกปรกออกไป (ก่อนทำแผลควรล้างมือให้สะอาดก่อนเพื่อช่วยลดจำนวนเชื้อโรคที่มือ และหลังล้างแผลเสร็จให้ซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด)
    • เช็ดรอบ ๆ แผลด้วยสำลีสะอาดชุบน้ำยาแอลกอฮอล์ 70% เพื่อช่วยลดจำนวนเชื้อโรค (ในท้องตลาดจะมี 2 ชนิดคือเอธิลแอลกอฮอล์ 70% (Ethyl alcohol) และไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ 70% (Isopropyl alcohol) ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไม่ต่างกัน) โดยให้เช็ดจากข้างในวนมาข้างนอกทางเดียว และไม่ต้องเช็ดลงบนแผลโดยตรง เพราะจะทำให้แสบระคายเคืองและแผลหายช้า
    • ใส่ยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ โดยยาฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสำหรับแผลสดที่นิยมใช้กันมาก คือ ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล (Thimerosal) หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า “ทิงเจอร์เมอไทโอเลต” (Tincture merthiolate) หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด (แต่เนื่องจากยานี้มีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กโตควรเป็นคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร ส่วนการใช้ยาในเด็กเล็กโดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ควรแพทย์เป็นผู้สั่งใช้ยาเท่านั้น), โพวิโดนไอโอดีน (Povidone iodine) หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า “เบตาดีน” (Betadine) เป็นต้น ส่วนวิธีการใช้ยาฆ่าเชื้อนั้นให้ทายาในบริเวณบาดแผลโดยใช้ในปริมาณและความถี่ของการทายาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาหรือตามคำสั่งแพทย์/พยาบาล (อย่าใช้ยาฆ่าเชื้อโรครวมทั้งไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ทาหรือฟอกตรงเนื้อแผล เนื่องจากยาฆ่าเชื้อโรคอาจทำลายเนื้อเยื่อและทำให้แผลหายช้าได้)
    • ปิดแผลด้วยปลาสเตอร์หรือผ้าก๊อซสะอาด ไม่ควรใช้สำลี เพราะเมื่อแผลแห้งแล้วจะติดกับสำลีทำให้ดึงออกยากเกิดความเจ็บปวดและอาจทำให้มีเลือดไหลได้อีก
    • ให้ทำความสะอาดแผลเป็นประจำทุกวัน หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสกปรกหรือเปียกน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองหรือหายช้า
    • ให้สังเกตอาการอักเสบของแผล เช่น อาการปวด บวม แดงร้อน สีผิวของบาดแผลเปลี่ยนไป มีหนอง หรือยังไม่เห็นสัญญาณบ่งชี้ว่าแผลเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เช่น เริ่มมีการตกสะเก็ด แผลอาจเกิดการติดเชื้อ ดังนั้นถ้ามีอาการหรือสัญญาณบ่งชี้ดังกล่าวควรรีบไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อรับการรักษาต่อไป
    • หากบาดแผลสกปรก ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะภายใต้การดูแลของแพทย์ (อย่าใช้ยาปฏิชีวนะจนกว่าจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะแบบครีม)
    • ถ้าแผลกว้าง (ขอบแผลห่างกันจนไม่สามารถใช้ปลาสเตอร์ปิดถึงให้ชิดกันได้) ควรให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำการเย็บแผล
    • บางรายอาจจำเป็นต้องฉีดยาป้องกันโรคบาดทะยักหรือโรคพิษสุนัขบ้า

       

      ป้องกันแผลติดเชื้อ

       

      IMAGE SOURCE : medthai.com, twitter.com (@HYNG&N)
  2. ไปโรงพยาบาลคือทางเลือกที่ดีที่สุด เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้นให้รีบล้างแผลให้สะอาดตามวิธีข้างต้นและรีบไปโรงพยาบาล ไม่ว่าแผลนั้นจะเป็นแผลมีดบาด แผลที่ถูกทิ่มแทง หรือแผลจากสัตว์กัด อย่าคิดว่าเป็นไม่ไร หรือแค่ทำความสะอาดก็เพียงพอแล้ว เพราะแผลเหล่านั้นอาจก่อให้เกิดการอักเสบรุนแรงและทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เพราะเชื้อโรคมีมากมายไม่ทราบชนิดที่ติดเข้าไปอาจไม่เล็กน้อยอย่างที่คิด เนื่องจากผิวหนังของร่างกายเราเต็มไปด้วยจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
  3. อย่าปล่อยให้เป็นแผลเรื้อรังจนไม่สามารถรักษาได้ เมื่อเป็นแผลจากอะไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะแผลติดเชื้อบางทีก็น่ากลัวกว่ามะเร็ง เนื่องจากเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดทำให้เป็นโลหิตเป็นพิษและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เพราะเชื้อพวกนี้คาดเดาได้ยากและลุกลามได้เร็ว ฉะนั้นอย่ารอให้สายเกินกว่าจะรักษาได้
  4. ควรตรวจสุขภาพเป็นระยะเพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไรหรือไม่ เมื่อเกิดบาดแผลจะได้ทำการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะบางครั้งคนที่เป็นแผลแต่ไม่รู้ว่าตัวเองมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต อาจทำให้สายเกินไปที่จะรักษานอกจากต้องตัดทิ้งเท่านั้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “แผลอักเสบ (Infected wound)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 989-990.
  2. กองบรรณาธิการภูเก็ตบูลเลทิน.  “แผลติดเชื้อ”.  (นพ.ฐากูร พูนธนานิวัฒน์กุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phuketbulletin.co.th.  [07 มิ.ย. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด