แคหิน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแคหิน 5 ข้อ ! (แคฝอย)

แคหิน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแคหิน 5 ข้อ ! (แคฝอย)

แคหิน

แคหิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Stereospermum tetragonum DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Stereospermum colais (Buch.-Ham. ex Dillwyn) Mabb.) จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)[1]

สมุนไพรแคหิน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แคฝอย แคหันแห้ (ลำปาง), แคนา แคทราย แคสัก (ราชบุรี), แคเขา (สุราษฎร์ธานี), แคขาว เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของแคหิน

  • ต้นแคหิน จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงได้ประมาณ 25 เมตร แตกกิ่งก้านมาก เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลและแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ หลุดล่อนออก มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา ทางตอนใต้ของจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ใกล้ลำธาร ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร[1],[2]
  • ใบแคหิน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายใบคี่ ยาวประมาณ 25-45 เซนติเมตร ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 3-5 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมเรียวเป็นติ่งแหลมสั้น โคนใบสอบมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-13 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ ผิวใบด้านท้องใบมีต่อมสีคล้ำกระจายอยู่[1],[2]
  • ดอกแคหิน ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวปนเหลืองและมีกลิ่นหอม กลีบดอกเป็นรูประฆังโค้งสีขาว มีแต้มสีเหลืองกลางดอก ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบตั้งและกลีบปากแผ่ขยาย ขอบกลีบย่น ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกสั้น 3-5 แฉก สีม่วงแดงหรือสีน้ำตาลแกมม่วง ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน แบ่งเป็นอันสั้น 2 อัน และยาว 2 อัน ติดที่โคนกลีบดอก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]
  • ผลแคหิน ผลมีลักษณะเป็นฝักยาว โค้งและบิด เป็นสัน 4 สัน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-55 เซนติเมตร เมื่อแห้งจะแตกออกได้ ภายในมีเมล็ดมีปีก[1],[2]

แคฝอย

สรรพคุณของแคหิน

  • ราก ใบและดอก ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ราก, ใบและดอก)[1]
  • เปลือกเนื้อไม้ ใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดท้อง (เปลือกเนื้อไม้)[1]
  • กิ่งและเนื้อไม้ ใช้เป็นยาบรรเทาอาการแผลไฟไหม้ (กิ่งและเนื้อไม้)[1]
  • ดอกและผล ใช้เป็นยาแก้พิษแมงป่องต่อย (ดอกและผล)[1]

ประโยชน์ของแคหิน

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปเพื่อความสวยงาม
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “แคหิน”.  หน้า 104.
  2. หนังสือไม้ต้นในสวนพฤกษศาสตร์.  “แคหิน”.

ภาพประกอบ : www.qsbg.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด