ต้นแก้ว
แก้ว ชื่อสามัญ Andaman satinwood, Chanese box tree, Cosmetic bark tree, Orange jasmine, Orange jessamine, Satin wood[1],[2],[3],[4],[5]
แก้ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Murraya paniculata (L.) Jack (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Murraya exotica L.) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1],[2],[3],[4],[5]
สมุนไพรแก้ว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จ๊าพริก (ลำปาง), แก้วลาย (สระบุรี), แก้วขี้ไก่ (ยะลา), แก้วพริก ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ), แก้วขาว (ภาคกลาง), กะมูนิง (มลายู-ปัตตานี), จิ๋วหลี่เซียง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3],[4]
ลักษณะของต้นแก้ว
- ต้นแก้ว เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน และในออสเตรเลีย[7] ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคในป่าดิบแล้งจากที่ราบสูงจนถึงที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร[8] โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแตกเป็นร่อง ๆ เนื้อไม้สีขาวนวล เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดเต็มวัน-รำไร และความชื้นปานกลาง-ต่ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอน[1],[2],[3],[4],[5]
- ใบแก้ว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายใบคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 5-9 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นหรือหยักมนเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร แผ่นใบคล้ายแผ่นหนังบาง ๆ หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบมีสีอ่อนกว่า ใบมีต่อมน้ำมัน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นฉุนคล้ายผิวส้มเป็นน้ำมันติดมือ[1],[2],[3],[5]
- ดอกแก้ว ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอมจัด กลีบดอกมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 7-9 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกติดกัน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2],[3]
- ผลแก้ว ลักษณะของผลเป็นกลมรีหรือเป็นรูปไข่ ปลายสอบเล็กน้อย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดงอมส้ม ผิวผลมีต่อมน้ำมันเห็นได้ชัดเจน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะรีหรือเป็นรูปไข่ ปลายสอบ มีขนหนาและเหนียวหุ้มโดยรอบเมล็ด สีขาวขุ่น เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-9 มิลลิเมตร[1],[2],[3],[4]
สรรพคุณของต้นแก้ว
- ใบมีรสร้อนเผ็ดและขม ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)[3],[5]
- ช่วยคลายการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมเป็นไปได้ดีขึ้น (ราก)[3]
- ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ดอก, ใบ)[4]
- ช่วยแก้อาการไอ (ดอก, ใบ)[4]
- ราก ก้าน และใบสดสามารถนำมาใช้เป็นยาชาระงับอาการปวดได้ จึงมีการนำมาใช้เป็นยาแก้อาการปวดฟันและปวดกระเพาะ (ราก, ก้าน, ใบสด)[3],[4] บ้างก็ว่าก้านและใบสดมีรสเผ็ดร้อนขม นำมาต้มใช้เป็นยาอมบ้วนปากแก้อาการปวดฟันได้เช่นกัน (ก้านใบ, ใบสด)[1],[2],[4]
- รากใช้เป็นยาแก้ฝีฝักบัวที่เต้านม (ราก)[3]
- รากใช้เป็นยาช่วยขับลมชื้นในร่างกาย แต่ต้องนำไปใช้ร่วมกับตำราแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนจีน (ราก)[3]
- ใบช่วยแก้ท้องเสีย (ใบ)[4]
- ช่วยแก้บิด (ใบ)[4]
- ใบช่วยขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ (ใบ)[3],[5]
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก, ใบ)[4]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดกระเพาะ ด้วยการใช้ใบแก้วแห้ง, กานพลู, เจตพังคี, และเปลือกอบเชย นำมาบดเป็นผงใช้ชงกับน้ำร้อนเป็นยารับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง หรือจะนำผงที่ได้มาบดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลืองก็ได้ โดยใช้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง (ใบแห้ง)[3]
- ใบใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด (ใบ)[4]
- ใบใช้เป็นยาขับประจำเดือนหรือระดูของสตรี (ใบ)[3],[5] หรือจะใช้รากแห้งประมาณ 10-15 กรัม (สดให้ใช้ 30-60 กรัม) นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (รากแห้ง)[4]
- รากและต้นแห้งนำมาหั่นและต้มเคี่ยวแล้วกรองเอาแต่น้ำมาใช้ ช่วยเร่งการคลอดบุตรของสตรี โดยใช้ผ้าพันแผลจุ่มกับน้ำยาสอดเข้าไปที่ปากมดลูก (ราก, ต้นแห้ง)[1],[2]
- รากใช้เป็นยาแก้ฝีในมดลูก (ราก)[3]
- รากสดใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นแผล (รากสด)[1],[2] ใช้เป็นยาแก้แผลคัน (ราก)[3]
- ใช้เป็นยาแก้ผดผื่นคันที่เกิดจากความชื้นและที่เกิดจากแมลงกัดต่อย (ราก, ก้าน, ใบสด)[1],[3],[4] แก้อาการคันที่ผิวหนัง (ราก)[3]
- แก้แมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการใช้รากและใบสดนำมาต้มใช้ชะล้างบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย (ราก, ใบสด)[1] แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก)[3]
- รากสดมีรสเผ็ดสุขุม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้แผลฟกช้ำได้ (รากสด)[1],[2] แก้ฟกช้ำดำเขียว (ราก)[3] แก้แผลเจ็บปวดที่เกิดจากการกระทบกระแทก (ใบ)[4]
- ช่วยแก้ฟกช้ำ ด้วยการใช้ใบแก้วสด, ขมิ้น, ขิง และไพร นำมาตำให้ละเอียดและผสมกับเหล้า แล้วนำไปคั่วให้ร้อน นำผ้าสะอาดห่อ ใช้เป็นยาประคบบริเวณที่มีอาการฟกช้ำประมาณ 20-30 นาที โดยให้ทำวันละ 2-3 ครั้ง (ใบสด)[3]
- รากใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย บรรเทาอาการปวดบวม แต่ต้องนำไปใช้ร่วมกับตำราแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนจีน (ราก)[3] บ้างว่าใช้รากแห้งนำมาหั่นเป็นฝอยใช้ตุ๋นกับหางหมูเจือกับสุราใช้กินเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยเอว (รากแห้ง)[1],[2],[4]
- ก้านและใบสดเมื่อนำมาบดแช่กับแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง สามารถนำมาใช้ทาหรือฉีดเป็นยาระงับอาการปวดได้ (ก้านใบ, ใบสด)[1],[2]
- ดอกและใบใช้เป็นยาแก้ไขข้ออักเสบ (ดอก, ใบ)[4]
วิธีและปริมาณที่ใช้ของสมุนไพรแก้ว
- รากและใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-18 กรัม แต่หากเป็นยาสดให้ใช้ครั้งละ 20-35 กรัม[3]
- ใช้เป็นยารักษาภายใน เพื่อแก้อาการท้องเสีย แก้บิด และขับพยาธิ ให้ใช้ก้านและใบสดประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วย แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือจะนำมาดองกับเหล้าแล้วใช้ดื่มแต่เหล้าครั้งละ 1 ถ้วยตะไลก็ได้[4]
- ใช้เป็นยาภายนอก ให้ใช้ก้านและใบสดนำมาตำแล้วพอกหรือจะคั้นเอาแต่น้ำมาทาบริเวณที่เป็น หรืออีกวิธีให้ใช้ใบแห้งนำมาบดเป็นผงใช้โรยใส่แผลก็ได้ หากใช้เป็นยาแก้ปวดหรือเป็นยาชาเฉพาะที่ก็ให้ใช้ใบและก้านสดที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50% ถ้าเป็นในส่วนของรากแห้งหรือรากสดก็ให้นำมาตำแล้วพอก หรือจะนำไปต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นก็ได้[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นแก้ว
- ในใบมีน้ำมันหอมระเหย 0.25 โดยประกอบไปด้วยสาร Bisabolene, Carene, Citronellol, Eugenol, Geraniol, I-Candinenem, Paniculatin, Phebalosin, Methyl Anthranilate, Scopoletin, Scopolin[3]
- ในกิ่ง เปลือกก้าน และผลของต้นแก้วมีสาร Mexoticin I, Hibiscetin, Heptamethyleeher I[3]
- สารสกัดจาก Petroleum ether ของต้นแก้ว เมื่อนำมาทดลองกับลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กของหนูขาวที่ทำการผ่าออกจากร่าง พบว่าสารดังกล่าวมีประสิทธิภาพทำให้การเกร็งตึงที่กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้มีการหย่อนคลาย[3]
- จากการทดลองกับหัวใจที่ออกจากร่างของกบพบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งการเต้นของหัวใจของกบด้วย[3]
- สารจากต้นแก้วที่ทำการสกัดด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อหรือช่วยยับยั้งเชื้อ Bacullus Inuza และเชื้อ Btaphylo Coccus ได้[3]
ประโยชน์แก้ว
- ก้านใบสามารถนำมาใช้ทำความสะอาดฟันได้[1],[2]
- ผลสุกสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นอาหารได้[4]
- ต้นแก้วเป็นไม้ประดับที่มีทรงพุ่มสวยงาม ตัดแต่งเป็นพุ่มได้ง่าย เป็นไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีและไม่ต้องการการบำรุงรักษามากนัก เพียงแต่รดน้ำเพียงครั้งคราวเท่านั้น จึงนิยมนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ประธานตามสวนหย่อม ริมทะเล ฯลฯ โดยจะปลูกเป็นต้นเดี่ยว ๆ หรือใช้ปลูกแบบเป็นกลุ่ม ๆ ก็ได้ หรือใช้ปลูกเป็นรั้วบังสายตา ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาก็ได้ อีกทั้งยังออกดอกดก ดอกมีความสวยงามและมีกลิ่นหอม (การปลูกจากกิ่งตอนจะเป็นไม้พุ่ม แต่การปลูกในที่ร่มใบจะเขียวเข้ม มีกิ่งยืดยาว และให้ดอกน้อย)[5]
- คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นแก้วไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้คนในบ้านมีแต่ความดีและมีคุณค่า เนื่องจากคำว่า “แก้ว” นั้นมีความหมายว่า สิ่งที่ดีและมีคุณค่า เป็นที่นับถือของคนทั่วไป เพราะคนโบราณได้เปรียบเทียบของที่มีค่าสูงนี้เหมือนดั่งดวงแก้ว นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่าบ้านที่ปลูกต้นแก้วไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้คนในบ้านเป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ มีความเบิกบาน เปรียบเสมือนแก้วที่มีความสดใสและมีความใสสะอาด และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นแก้วไว้ทางทิศตะวันตกและควรปลูกในวันพุธ เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้ดอกเพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันพุธ[6]
- ดอกแก้วยังถูกนำมาใช้บูชาพระในพิธีทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งอีกด้วย[6]
- ในต่างประเทศ เช่น ชาวเกาะชวามีความเชื่อว่าต้นแก้วสามารถช่วยขับไล่วิญญาณร้าย แม่มด หรือปีศาจ และช่วยในการปัดเป่าโชคร้ายต่าง ๆ และยังนำความสุขสมหวังมาให้ จึงมีการปลูกเป็นไม้ดับกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งต้นแก้วยังถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ โดยมีตำนานเล่าว่าสุลต่านแห่งยอกยาการ์ต้า มักจะหาที่พักสงบจิตใจและรวบรวมสมาธิใกล้ ๆ กับต้นแก้วก่อนที่จะเสด็จเพื่อเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านเมือง ต้นแก้วจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความมีสมาธิและสติปัญญาไปโดยปริยาย นอกจากนี้ในพิธีแต่งงาน ดอกแก้วยังเปรียบเสมือนคำอวยพรถึงคู่บ่าวสาวที่ขอพรให้ใช้ชีวิตคู่กันอย่างสุขสมหวังและหอมหวานเสมือนกลิ่นของดอกแก้วนั่นเอง อีกทั้งใบของต้นแก้วก็นำมาใช้ในพิธีศพด้วย โดยมักจะใช้โรยบนพื้นก่อนนำศพลงไปวาง เพราะใบแก้วมีกลิ่นหอมที่สดชื่น จึงช่วยดับกลิ่นเหม็นคลุ้งของศพได้นั่นเอง[9]
- เนื้อไม้ของต้นแก้วเมื่อนำมาแปรรูปใหม่ ๆ จะเป็นสีเหลืองอ่อน พอนานเข้าจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมสีเทา เนื้อไม้มีเสี้ยนตรงหรือสน มีความละเอียดอย่างสม่ำเสมอ และมักมีลายพื้นหรือลายกาบในบางต้น สามารถเลื่อย ผ่า ไส ขัด หรือนำมาตบแต่งได้ดี อีกทั้งยังมีลายไม้ที่สวยงาม โดยเนื้อไม้นั้นจะนิยมนำมาใช้ในการทำเครื่องเรือน เครื่องตกแต่งภายในบ้าน ภาชนะต่าง ๆ หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือ ด้ามปากกา ไม้บรรทัด ไม้เท้า ไม้ตะพด กรอบรูป เครื่องดนตรี ซออู้ ซอด้วง เครื่องกลึง ฯลฯ[6],[8]
- มีข้อมูลระบุว่าสารสกัดจากต้นแก้วใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ยาลดน้ำหนักในประเทศมาเลเซีย ซึ่งในโฆษณาระบุว่ามันเป็นสูตรยาสมุนไพรเก่าแก่ โดยมีสรรพคุณในการช่วยลดความอยากอาหารได้โดยไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย[9]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “แก้ว”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 95.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “แก้ว (Kaew)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 55.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “แก้ว”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 92.
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “แก้ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [06 ก.พ. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “แก้ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [06 ก.พ. 2014].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ต้นแก้ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [06 ก.พ. 2014].
- GRIN (Germplasm Resources Information Network) Taxonomy for Plants. “Murraya paniculata (L.) Jack”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ars-grin.gov. [06 ก.พ. 2014].
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1.
- Sangkae’s Blog. “Murraya paniculata”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: sangkae.wordpress.com. [06 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Oriolus84, pellaea, Vietnam Plants & The USA. plants, CANTIQ UNIQUE, barryaceae, Duy-Thuong, Lucypassos, the1andtheonly1, majikthise_)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)