เอื้องเข็มแสด ประโยชน์ของกล้วยไม้เอื้องเข็มแสด ! (พุ่มสุวรรณ)

เอื้องเข็มแสด ประโยชน์ของกล้วยไม้เอื้องเข็มแสด ! (พุ่มสุวรรณ)

เอื้องเข็มแสด

เอื้องเข็มแสด ชื่อวิทยาศาสตร์ Ascocentrum miniatum (Lindl.) Schltr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ascocentrum miniatum (Lindl.) Schltr. ex J.J. Sm., Gastrochilus miniatus (Lindl.) Kuntze, Saccolabium miniatum Lindl.) จัดอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (ORCHIDACEAE)[1]

สมุนไพรเอื้องเข็มแสด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พุ่มสุวรรณ เอื้องไข่เหลือง เอื้องมันปู เอื้องฮางคาง (เชียงใหม่), เอื้องฮ่องคำ (ลำปาง), เอื้องเหลืองพระฝาง (กรุงเทพฯ)[1], เข็มเหลือง, เข็มแสด[2], สุขสำราญ เป็นต้น

ลักษณะของเอื้องเข็มแสด

  • ต้นเอื้องเข็มแสด จัดเป็นกล้วยไม้อิงอาศัยที่อยู่ในสกุลเข็ม มีความสูงได้ประมาณ 10-20 เซนติเมตร ลำต้นเรียว รากเป็นแบบรากอากาศ มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค ยกเว้นทางภาคตะวันออก โดยมักขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้ง และตามป่าเบญจพรรณ ทั้งในลักษณะภูมิประเทศที่ราบและที่เป็นภูเขา จึงสามารถปลูกเลี้ยงได้ดีในทุกภาคของประเทศ[1]

ต้นเอื้องเข็มแสด

เอื้องเหลืองพระฝาง

พุ่มสุวรรณ

  • ใบเอื้องเข็มแสด ใบออกเรียงสลับในระนาบเดียวกันและซ้อนกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบตัดเป็นจักแหลม ด้านล่างเป็นสันเหลี่ยม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร แผ่นใบหนาแข็งเป็นสีเขียวแก่ ใบพับเป็นร่อง และอาจมีสีม่วงบ้างเล็กน้อยเมื่ออยู่ในสภาพอากาศแห้งแล้ง[1]

ใบเอื้องเข็มแสด

  • ดอกเอื้องเข็มแสด ออกดอกเป็นช่อตั้งตามซอกใบ ยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร มีดอกประมาณ 20-50 ดอกต่อช่อ ช่อดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก กลีบดอกหนา กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเป็นมันสีส้มหรือสีเหลืองอมส้ม กลีบปากเป็นสีแสด ฝาปิดกลุ่มเรณูเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1]

เข็มแสด

ดอกเอื้องเข็มแสด

สรรพคุณของเอื้องเข็มแสด

  • ในหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ระบุว่า รากของพรรณไม้ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ascocentrum miniatum (Lindl.) (ตามตำราเรียกต้น “เข็มเหลือง“) มีสรรพคุณใช้ปรุงเป็นยารักษาฝีกาฬจับหัวใจ (ราก)[2]

ประโยชน์ของเอื้องเข็มแสด

  • ใช้ปลูกเป็นไม้กล้วยไม้ประดับทั่วไปเพื่อความสวยงาม เป็นกล้วยไม้ชนิดที่ให้ดอกสีจัดจ้านและแทงดอกเก่ง ปลูกเลี้ยงง่าย ขอแค่อย่าลืมรดน้ำ และเนื่องจากเข็มแสดเป็นกล้วยไม้ที่ชอบแสงมาก การปลูกเลี้ยงจึงต้องให้ได้รับปริมาณแสงมาก ๆ ต่อวัน ไม่ควรปลูกร่มหรือใต้ชายคาเพราะจะไม่ยอมออกดอก สามารถปลูกได้แบบ ทั้งปลูกเป็นกล้วยไม้ออกขวด ปลูกติดขอนไม้ หรือปลูกลงในกระเช้าก็ได้[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. พันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองในอุบลฯ, โครงการรวบรวมข้อมูลพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองในจังหวัดอุบลราชธานี.  “เอื้องเข็มแสด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.agri.ubu.ac.th.  [28 ม.ค. 2015].
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “เข็มเหลือง”.  หน้า 152-153.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by kentucky4, orchid dude, my nk, jeymartina, Tamara Potočnik, jaguarxk120cab)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด