เลี่ยน
เลี่ยน ชื่อสามัญ Bastard cedar, Bead tree, Chaina tree, Chinaball tree, Persian lilac, White cedar[2],[3]
เลี่ยน ชื่อวิทยาศาสตร์ Melia azedarach L. จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)[1]
สมุนไพรเลี่ยน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เกรียน เคี่ยน เฮี่ยน (ภาคเหนือ), เลี่ยนใบใหญ่ เคี่ยน เลี่ยน เกษมณี (ภาคกลาง), เลี่ยนดอกม่วง (ทั่วไป), ลำเลี่ยน (ลั้วะ), โขวหนาย (จีนแต้จิ๋ว), ขู่เลี่ยน ขู่เลี่ยนซู่ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[6],[8]
ลักษณะของต้นเลี่ยน
- ต้นเลี่ยน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กผลัดใบ มีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เลี่ยนเล็กมีความสูงได้ประมาณ 10-15 เมตร ส่วนเลี่ยนใหญ่จะมีความสูงของต้นได้ถึง 25 เมตร (มีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน) แตกกิ่งก้านโปร่งบางและแผ่กว้าง โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่องตามยาวตื้น ๆ เปลือกต้นมีรูขนาดเล็กอยู่ทั่วไป กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนกิ่งแก่เป็นสีม่วง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และวิธีการปักชำ จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและชอบความชุ่มชื้นเล็กน้อย พบขึ้นได้ตามชายป่าดิบและป่าเบญจพรรณ[1],[2],[3],[4]
- ใบเลี่ยน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงเวียนสลับ มักทิ้งใบเหลืออยู่ที่ปลายกิ่ง หรือช่อใบออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ช่อใบยาวได้ประมาณ 8 นิ้ว ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปรีกึ่งขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเกลี้ยง ด้านบนใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน และตามเส้นใบจะมีขนอ่อน ๆ ปกคลุมอยู่ เลี่ยนเล็กใบจะมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร ส่วนเลี่ยนใหญ่ ใบจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร[1],[2],[3]
- ดอกเลี่ยน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวอมม่วง มีกลิ่นหอมเย็นอ่อน ๆ กลีบดอกมี 5-6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ดอกยาวประมาณ 0.5 นิ้ว ก้านเกสรเพศผู้มีสีม่วงเข้มติดกันเป็นหลอด ซึ่งจะตัดกับกลีบดอกน่าดูมาก ส่วนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5-6 แฉก และดอกที่โคนก้านช่อจะบานก่อน แล้วจะค่อย ๆ บานขึ้นไปตามลำดับ[1],[2],[3]
- ผลเลี่ยน ผลมีลักษณะกลมรี เลี่ยนเล็กผลยาวได้ประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร ส่วนเลี่ยนใหญ่ ผลจะยาวได้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลสุกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลเหลือง ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยวสีน้ำตาล[1],[2] บ้างว่าในผลจะแบ่งออกเป็น 4-5 ห้อง และในแต่ละห้องจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด และเมล็ดเป็นรูปเหลี่ยมสีดำ[3],[4]
สรรพคุณของเลี่ยน
- ต้นเลี่ยนมีรสขมเมา สรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ และบำรุงร่างกายให้แข็งแรง (ต้น[1], ทั้งต้น[5],[7])
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ต้น)[1]
- ช่วยบำรุงธาตุไฟในร่างกาย (ใบ)[3]
- ใบและดอกมีรสขมเมา ใช้ตำพอกศีรษะ แก้อาการปวดศีรษะ ปวดประสาท (ใบและดอก)[1],[5],[7]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำแล้วใช้บ้วนปาก (เปลือกต้น)[3]
- เปลือกต้นหรือเปลือกราก เป็นยาทำให้อาเจียน (เปลือกต้น,เปลือกราก)[3]
- เปลือกต้นและเปลือกราก มีรสขม เป็นยาเย็นจัด มีพิษ ออกฤทธิ์ต่อลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ พยาธิตัวแบน ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ถ้าเป็นเปลือกต้นสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม (เปลือกต้น,เปลือกราก)[4] ตำรับยาแก้พยาธิตัวกลมในเด็ก ให้ใช้เปลือกรากหรือเปลือกต้นจำนวน 3 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกต้น,เปลือกราก)[3] ส่วนใบมีรสขมเมา น้ำคั้นจากใบเป็นยาขับพยาธิ หรือนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับพยาธิ ขับพยาธิตัวกลม (ใบ,น้ำคั้นจากใบ)[1],[2],[3],[5]
- ตำรับยาแก้พยาธิปากขอ ระบุให้ใช้เปลือกต้นจำนวน 600 กรัม และน้ำ 3,000 มิลลิลิตร นำมาต้มให้เหลือเพียง 600 มิลลิลิตร และให้เอาทับทิมจำนวน 25 กรัม และน้ำ 300 มิลลิลิตร นำมาต้มให้เหลือเพียง 120 มิลลิลิตร แล้วเอาส่วนที่เหลือทั้งสองชนิดมาผสมกัน ผู้ใหญ่ใช้รับประทานครั้งละ 30 มิลลิลิตร สวนอีกวิธีให้ใช้ยาแห้ง (จากเปลือก) 500 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 3,000 มิลลิลิตร ต้มจนเหลือน้ำประมาณ 200 มิลลิลิตร จึงนำเอากากยาออก แล้วใส่น้ำเพิ่มเข้าไป เติมน้ำตาลแดง 50 กรัม ต้มต่อไปจนเหลือน้ำ 200 มิลลิลิตร ใช้แบ่งรับประทานครั้งละ 35-40 มิลลิลิตร (ถ้าเป็นเด็กให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง) รับประทานขณะท้องว่างวันละ 1 ครั้ง (เปลือกต้น)[3],[4]
- น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว (น้ำคั้นจากใบ)[1],[5]
- ช่วยขับระดูของสตรี (ใบ)[3]
- น้ำคั้นจากใบมีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต ประจำเดือนของสตรี (น้ำคั้นจากใบ)[1],[5]
- ยางมีสรรพคุณช่วยแก้ม้ามโต (ยาง)[5]
- ใบมีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน (ใบ)[3]
- ดอกใช้เป็นยาแก้แผลพุพองที่หัว ใช้ทาแผลพุพองจากไฟไหม้หรือน้ำจากน้ำร้อนลวก (ดอก)[3]
- เปลือกต้นและเปลือกราก ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน เชื้อราบนหนังศีรษะ และน้ำกัดเท้า โยตำรับยาแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน ให้ใช้ยาแห้ง (จากเปลือก) นำมาบดให้เป็นผงผสมกับน้ำส้มสายชู ใช้ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง หรือจะใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เหลือง บดให้เป็นผง ผสมกับน้ำมันมะพร้าวในอัตราส่วน 1:1 ใช้ทาบริเวณที่เป็น (เปลือกต้น,เปลือกราก,เมล็ด)[4] บ้างใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำอาบแก้โรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ ได้ดีมาก (เปลือกต้น)[7] ส่วนทั้งต้นมีรสชม ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้โรคผิวหนัง ส่วนต้น ดอก และผลก็มีสรรพคุณแก้โรคผิวหนังได้เช่นกัน (ต้น,ดอก,ผล,ทั้งต้น)[1],[2],[3],[5] ใช้ทำเป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง โรคเรื้อน กุดถึง ให้ใช้ดอก 1 ช่อเล็ก หรือผลประมาณ 5-7 ผล แล้วเอาดอกหรือผลนำมาตำให้ละเอียด เติมน้ำมันพืช แล้วนำมาใช้ทาบริเวณเป็นวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย (ดอก,ผล)[5]
- ต้นมีสรรพคุณทำให้ผิวหนังดำเกรียมแล้วลอกเป็นขุย (ต้น[1], ทั้งต้น[5])
- ผลมีรสเมา สรรพคุณเป็นยาแก้ฝีคัณฑมาลา (ผล)[1],[5]
- ช่วยแก้โรคเรื้อน (ต้น,ผล)[1],[5] ส่วนทั้งต้นมีสรรพคุณแก้โรคเรื้อนและกุดถัง (ทั้งต้น)[5]
- ใช้แก้หิด ด้วยการใช้กิ่งหรือเปลือกต้นนำมาเผาให้เป็นเถ้า แล้วนำไปคุกผสมกับน้ำมันหมู แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น (กิ่ง,เปลือกต้น)[3]
- ใช้แก้ผดผื่นคัน ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำแล้วใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น (เปลือกต้น)[3] ส่วนดอกก็มีสรรพคุณแก้โรคผิวหนังผื่นคันได้เช่นกัน (ดอก)[7]
- ดอกและผลมีสรรพคุณเป็นยาฆ่าเหา (ดอก,ผล)[3] ส่วนเปลือกต้นก็ใช้เป็นยารักษาเหาได้เช่นกัน (เปลือกต้น)[5]
- เมล็ดให้น้ำมันใช้เป็นยาทาแก้ปวดข้อ ปวดในกระดูก (เมล็ด)[1],[5],[7]
- ในหนังสือไม้ประดับ (วินิจ, 2483) หน้า 50 เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2489 ได้บันทึกไว้ว่า คนไทยจะใช้ใบเลี่ยนนำมาชงกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวด แก้เมื่อย เข้าใจว่าคงมีสารอะไรในนั้นเหมือนสะเดาที่ใช้กินแก้ไข้ได้ และมีลักษณะคล้ายกับต้นซิงโกที่ให้ควินิน ที่ใช้กินแก้ไข้จับสั่น (ใบ)[3]
หมายเหตุ : เปลือกต้นหรือรากที่จะนำมาทำเป็นยาได้จะต้องเก็บในช่วงฤดูหนาว และให้เอาเฉพาะเปลอกชั้นในสีเทาเท่านั้น โดยการขูดเอาผิวชั้นนอกทิ้ง ซึ่งเปลือกรากจะมีฤทธิ์แรงกว่าเปลือกต้นเป็นเท่าตัว และเปลือกใกล้กับรากหรือเปลือกที่อยู่เหนือดินประมาณ 5 นิ้ว จะมีฤทธิ์ในการขับพยาธิใกล้เคียงกับราก โดยเฉพาะการเก็บในช่วงฤดูหนาวจะมีฤทธิ์ดีกว่าฤดูอื่น ๆ และสารที่ออกฤทธิ์จะละลายน้ำได้ยาก ต้องใช้ไฟอ่อนต้ม จึงจะมีผลในการรักษา เพราะจากการเปรียบเมื่อใช้ในขนาด 60 และ 180 กรัม นำมาต้มด้วยไฟอ่อน ๆ ประมาณ 11 ชั่วโมง พบว่าได้ผลดีกว่าใช้ในขนาด 240 กรัม นำมาต้มด้วยไฟแรงเป็นเวลา 4 ชั่วโมง[3],[11] ส่วนวิธีการใช้ให้กินเพียงครั้งเดียวก่อนนอนหรือตื่นเช้าตอนท้องว่าง หรือแบ่งครึ่งกินก่อนนอนและตอนเช้า โดยยาต้มจะเติมน้ำตาลเพื่อช่วยปรุงรสด้วยก็ได้ แต่ไม่ต้องเติมยาถ่ายใด ๆ ลงไป และอาจจะกินอาหารมันก่อนกินยาเพื่อช่วยลดการกระตุ้นของยาที่มีต่อเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารให้น้อยลงและยังเป็นการป้องกันผลที่จะเกิดแก่กระเพาะอาหารและลำไส้[11]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นเลี่ยน
- ต้นเลี่ยนมีสารขมอยู่หลายชนิด ซึ่งเป็นพวก Triterpenoids, ส่วนเปลือกต้นมี Triacontane, B-sitosterol, Glucose ส่วนใบมี Carotenoid, Meliantin ส่วนในผลมี Bakayanin, Neo-bakayanin, Steroid สารขมชื่อ Margosine, Fixed oil และกำมะถัน ในเมล็ดมี Tetranortriterpenoids (สารชนิดนี้มีฤทธิ์ฆ่าแมลง) และในน้ำมันที่ได้จากเมล็ดจะมีสารจำพวก Fatty acid (Oleic acid, Palmitic acid, Myristic acid, Linoleic acid) เป็นต้น[3],[5]
- ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเปลือกต้นและเปลือกรากมีสาร Toosendanin ซึ่งมีฤทธิ์ถ่ายพยาธิตัวกลม, Kulinone และพบ Alkaloids อีกหลายชนิด เช่น Ajaridine, Margosine ส่วนในเมล็ดพบสาร Melianone, Melianol, Melianetriol อีกทั้งในเมล็ดยังพบน้ำมัน มีสาร Salanine เป็นต้น[4]
- สาร Toosendanin ที่สกัดได้จากเปลือกด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวกลมของหนูที่อยู่นอกร่าง จากการทดลองพบว่า สารที่สกัดในความเข้มข้น 1 ต่อ 1,000 สามารถทำให้ส่วนหัวของพยาธิมึนชา และสารที่สกัดในความเข้มข้น 1 ต่อ 5,000-9,000 จะทำให้พยาธิมีอาการมึนชาทั้งตัว ทำให้พยาธิไม่สามารถยึดเกาะภายในลำไส้ได้[4]
- สารมาร์โกซีน (margosine) ที่ได้จากการสกัดเปลือกต้นและเปลือกรากด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการขับพยาธิตัวกลม ทำให้พยาธิตัวกลมของหมูซึ่งทดลองนอกร่างกายเป็นอัมพาต โดยฤทธิ์ในการขับพยาธิขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้กล่าวคือ ที่เข้มข้นตั้งแต่ 1 ต่อ 1,000 ขึ้นไป จะมีผลทำให้พยาธิตัวกลมของหมูเป็นอัมพาต แต่ถ้าใช้ที่มีความเข้มข้นน้อยลงระหว่าง 1 : 5,000 -1 : 9,000 จะมีฤทธิ์กระตุ้นบริเวณหัวและกลางลำตัวของพยาธิอย่างเห็นได้ชัด การกระตุ้นแสดงให้เห็นโดยพยาธิเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น และมีการบีบตัวอย่างรุนแรงเป็นระยะ ๆ เป็นเวลา 10-24 ชม. และยังมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อลำไส้ของกระต่ายทั้งนอกและในร่างกาย ทำให้การบีบตัวของลำไส้แรงและเร็วขึ้น[11]
- จากการทดลองผลในการขับพยาธิตัวกลม ด้วยการใช้เปลือกต้นแห้ง 5-10 กรัม สำหรับผู้ใหญ่ และในขนาด 3-6 กรัม สำหรับเด็ก โดยให้ผู้ใหญ่กินครั้งละ 6-8 เม็ด ส่วนเด็กอายุ 1 ขวบ ให้กินครั้งละ 2 เม็ด, อายุ 2-4 ขวบ ให้กินครั้งละ 2-3 เม็ด, อายุ 4-6 ขวบ ให้กินครั้งละ 3-4 เม็ด, อายุ 6-8 ขวบ ให้กินครั้งละ 4 เม็ด, และอายุ 9-12 ขวบ ให้กินครั้งละ 5 เม็ด โดยการกินวันละ 2 ครั้ง พบว่าได้ผลอยู่ที่ประมาณ 20.2-100% ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพยาธิจะถูกขับออกมาภายใน 1-2 วัน[3]
- นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลมที่อุดตันในลำไส้ ซึ่งจากการทดลองกับเด็กจำนวน 50 ราย โดยใช้เปลือกต้นสด 50 กรัม นำมาต้มกับน้ำให้ได้น้ำสกัด 200 มิลลิลิตร ใช้สวนทวาร หลังจากนั้น 30 นาที ใช้น้ำสกัดจำนวน 300-500 มิลลิลิตร สวนทวารอีกเป็นครั้งที่สอง และหลังจากนั้น 60 นาที ก็ให้ใช้น้ำสกัด 300-500 มิลลิลิตร สวนทวารอีกรอบเป็นครั้งที่สาม นับเป็นการรักษาช่วงแรก และภายหลัง 24 ชั่วโมง ถ้าพยาธิยังไม่ขับออกมาให้เริ่มช่วงที่สอง พบว่าได้ผลดีมาก (ในรายที่เสียน้ำมากต้องให้น้ำเกลือก่อน)[11]
- ส่วนพยาธิตัวกลมในถุงน้ำดี ให้ใช้รากรวมเปลือก 120-180 กรัม นำมาต้มให้ได้ 100 มิลลิลิตร เด็กอายุน้อยกว่า 12 ขวบ ให้แบ่งกินเป็น 3 ครั้งต่อวัน ถ้าเด็กมีอายุมากกว่านั้นให้แบ่งกินเป็น 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 2-3 วัน โดยทั่วไปหลังการยาไปแล้วประมาณ 2-3 ชั่วโมง อาการปวดท้องจะลดลงทันที และจะถ่ายพยาธิตัวกลมออกมาตั้งแต่การถ่ายครั้งแรก หลังการรักษาในช่วงแรกหากมีอาการปวดท้องเล็กน้อยให้เว้นระยะไว้ประมาณ 1-2 วัน แล้วจึงเริ่มช่วงที่สอง นอกจากนี้เปลือกรากยังช่วยขับพยาธิเส้นด้าย พยาธิแส้ม้า และพยาธิตัวติดได้อีกด้วย[11]
- สารสกัดจากเมล็ดด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราบนผิวหนังได้[4]
- สารสกัดจากผลด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราได้อย่างชัดเจน โดยสารละลายที่ได้จากสารสกัดด้วยน้ำร้อนจะมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อราเช่นกัน แต่จะมีฤทธิ์น้อยกว่า[11]
- สารสกัดจากเปลือกต้นด้วยแอลกอฮอล์และปิโตรเลียมอีเทอร์ สามารถใช้ฆ่าตัวอ่อนของแมลงได้[11]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าการออกฤทธิ์ต่อสัตว์ทดลองจะไม่เท่ากัน กล่าวคือ สารสกัดในปริมาณ 3-4 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม สามารถทำให้แมวตายได้ และในสุนัขทดลองจะต้องใช้สารสกัด 30-32 มิลลิกรัมต่อ 1กิโลกรัม จึงจะทำให้สุนัขตาย[4]
- สาร Toosendanin จะมีฤทธิ์ต่อสัตว์ชนิดต่าง ๆ แตกต่างกันไป โดยลำดับของสัตว์ที่มีความไวต่อการรับพิษเริ่มจากแมว สุนัข กระต่าย หนูขาว และหนูถีบจักร[11]
- จากการทดสอบฤทธิ์ในการกระตุ้นกระเพาะอาหาร หากใช้ในปริมาณมาก ในขนาด 20-40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว กรอกเข้าไปในกระเพาะของหนูขาว จะทำให้เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหารเกิดการบวมน้ำ อักเสบ บวมเป็นหนอง และเป็นแผล ดังนั้นผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารจึงต้องระมัดระวังในการใช้ให้มาก[11]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรเลี่ยน
- สำหรับผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ ห้ามใช้ยาจากสมุนไพรชนิดนี้เป็นอันขาด ได้แก่ ผู้ที่มีอาการแขนขาเย็น ไม่กระหายน้ำ มีอาการกลัวหนาว ท้องร่วง ปวดท้อง ปัสสาวะมากและใส ชอบดื่มของร้อน เป็นชันฝ้าบนลิ้นขาว (อาการพร่อง)[3]
- ไม่ควรรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนดให้ เนื่องจากยามีพิษอันจะทำให้ตับเกิดอาการเป็นพิษได้[4]
- อาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้เปลือกต้นเป็นยาขับพยาธิ โดยทั่วไปแล้วจะเกิดหลังจากใช้ยาไปแล้วประมาณ 16 ชั่วโมง ก่อนมจะมีการขับพยาธิออกมา ซึ่งจะมีอาการมีนศีรษะ ปวดศีรษะ อยากอาเจียน ปวดท้อง เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการดังกล่าวไม่กี่นาทีหรือ 1-3 ชั่วโมง (นานที่สุด 16 ชั่วโมง) แล้วอาการดังกล่าวจะหายไปเอง[11]
- พิษอย่างรุนแรงที่พบได้คือ ฤทธิ์กดศูนย์การหายใจส่วนกลาง (เหมือนพิษจากลำโพง) ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดผิดปกติ การตกเลือดของอวัยวะภายใน (เนื่องมาจากผนังหลอดเลือดเปราะแตก) ความดันโลหิตลดลงต่ำมาก ตับอักเสบ ประสาทและสายตาผิดปกติ และในรายที่รุนแรงจะทำให้หยุดการหายใจและเสียชีวิตได้ ซึ่งอาการดังกล่าวจะเกิดมาจากการใช้ยาในปริมาณมากเกินไป หรือเป็นเพราะร่างกายของผู้ป่วยมีความไวต่อยาเป็นพิเศษ ดังนั้นควรระมัดระวังในการใช้ยานี้เป็นพิเศษ[4],[11]
- ผลเลี่ยนมีพิษทำให้ท้องเสีย อาเจียน อัมพาต และทำให้เสพติดได้ และเคยมีรายงานว่ามีเด็กเสียชีวิตเนื่องจากกินผลเลี่ยนเพียง 6-8 ผล[11]
- สำหรับวิธีการแก้พิษเบื้องต้น ให้ทำให้อาเจียนและรีบนำส่งโรงพยาบาล[11]
ประโยชน์ของเลี่ยน
- ยอดและใบอ่อนนำมายางไฟพอสลดเพื่อลดความขม ใช้รับประทานเป็นผักแกล้มกับน้ำพริกชนิดต่าง ๆ เช่น ลาบ ก้อย จะเพิ่มความเข้มข้นให้อร่อยมาก[7]
- ใบมีประโยชน์ในการไล่แมลง หากนำใบเลี่ยนมาสอดไว้ในหนังสือ จะช่วยป้องกันแมลงไม่ให้มากัดกินหนังสือได้[9]
- ใบ เปลือกต้น และเปลือกรากมีฤทธิ์ช่วยไล่แมลง ส่วนผลเป็นยาฆ่าแมลง[3] การใช้เป็นยาฆ่าแมลงและไล่แมลง ให้ใช้ใบและเปลือกแห้งนำมาต้มกับน้ำ แล้วใช้ฉีดไล่ตั๊กแตน (grasshopper) และตั๊กแตนห่า (locusts)[5],[9]
- ผลใช้เป็นยาเบื่อปลา ด้วยการใช้ผลนำมาตำ แล้วเทลงในบ่อปลา จะฆ่าปลาได้ และยังเป็นพิษต่อตัวมวน (ตัวทำอันตรายต่อผลส้ม) และเป็นพิษต่อคน (ถ้ารับประทานถึงขนาดหนึ่งจะทำให้อาเจียนและท้องเดิน)[5]
- ใบให้สีเขียวที่สามารถนำมาใช้ย้อมสีผ้าได้[7]
- เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้ในการสร้างบ้าน ใช้ทำโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เช่น ฝาบ้าน ไม้กระดาน เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ หรือใช้ทำไม้อัด เยื่อกระดาษ ทำฟืน เป็นต้น[3],[8]
- นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับบริเวณบ้านและสวน เพราะออกดอกเป็นช่อบานพร้อมกันดูสวยงาม ในด้านนิเวศน์มีประโยชน์ในด้านการให้ร่มเงา ป้องกันลม ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ฯลฯ[8],[10]
- ในด้านของความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นเลี่ยนไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้เกิดความสวยงาม ความสะอาด เรียบร้อย เพราะคำว่าเลี่ยน คือ “เลี่ยนเตียน” ที่มีความหมายว่า ราบเรียบ ปลอดโปร่ง และสดใส และยังมีความเชื่ออีกว่าจะช่วยทำให้เกิดความสามัคคี เพราะเลี่ยน คือ การผสมผสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้คนโบราณบางคนยังเชื่อว่าต้นเลี่ยนเป็นของสูงที่มีค่า ทำให้บางเรียกต้นเลี่ยนว่า “ต้นเกษมณี” และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัยควรปลูกต้นเลี่ยนไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพื่อเอาคุณ[10]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “เลี่ยน”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 170.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เลี่ยน (Lian)”. หน้า 272.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เลี่ยน”. หน้า 703-705.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เลี่ยน”. หน้า 504.
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เลี่ยน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [01 มิ.ย. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Bastard cedar, Bead Tree, Bastard Cedar, China Tree, Chinaball Tree, Persian Lilac”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์,). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [01 มิ.ย. 2014].
- ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “เลี่ยน ดอกหอมยอดอร่อยสรรพคุณดี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [01 มิ.ย. 2014].
- ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เลี่ยน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [01 มิ.ย. 2014].
- สมุนไพรไทยภูมิปัญญาชาวบ้านวิถีชีวิตชนบทไทย. “เลี่ยน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sopon.ac.th/sopon/lms/science52/herb2/www.thai.net/thaibarn/. [01 มิ.ย. 2014].
- วิทยาลัยสารพัดช่างสกลนคร. “เลี่ยน (เกษมณี)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sknk-ptc.ac.th. [01 มิ.ย. 2014].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “เลี่ยนตำรับยาและวิธีใช้” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [01 มิ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, Steve & Alison1, 石川 Shihchuan, Wendy Cutler, Shigeyama, Kata Tölgyesi, Ramón Sobrino Torrens)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)