โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ภาษาอังกฤษ : Meningitis) คือ โรคที่เยื่อหุ้มสมองเกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา แล้วทำให้บริเวณดังกล่าวอักเสบบวม ส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง ฯลฯ โรคนี้จัดเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นโรคที่พบได้เรื่อย ๆ แต่ไม่ถึงกับบ่อยมาก สามารถพบได้ในคนทุกวัยตั้งแต่เด็กอ่อนไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนโอกาสในการเกิดโรคในผู้ชายและผู้หญิงมีเท่ากัน ในประเทศตะวันตกพบโรคนี้จากการติดเชื้อไวรัสประมาณ 10.9 คนต่อประชากร 100,000 คน และจากการติดเชื้อแบคทีเรียประมาณ 3 คนต่อประชากร 100,000 คน แต่โอกาสพบโรคจะสูงขึ้นกว่านี้มากในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา
หมายเหตุ : เยื่อหุ้มสมอง (Meninges) คือ เนื้อเยื่อบาง ๆ (แต่แข็งแรง) ที่ห่อหุ้มเนื้อสมองทุกส่วนไว้เพื่อทำหน้าที่ปกป้องสมอง
สาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งเชื้อที่พบได้บ่อยที่สุด คือ จากเชื้อไวรัส รองลงมาคือจากเชื้อแบคทีเรีย และที่พบได้บ้างคือ จากเชื้อรา ส่วนสาเหตุอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้จะพบได้น้อยมาก (บางครั้งแพทย์อาจตรวจไม่พบเชื้อเลยก็ได้) ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่เยื่อหุ้มสมองผ่านทางกระแสเลือดซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด นอกจากนั้นที่พบได้น้อยกว่ามากคือ เชื้อลุกลามจากเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับเยื่อหุ้มสมองที่มีการอักเสบติดเชื้อ แล้วลุกลามเข้าเยื่อหุ้มสมองร่วมด้วย (เช่น จากหูชั้นกลางอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ) และจากเยื่อหุ้มสมองได้รับเชื้อโดยตรงจากอุบัติเหตุทางสมองที่ก่อให้เกิดบาดแผล (เช่น กะโหลกศีรษะแตก)
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้โดยผ่านการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วย การไอ จาม หายใจรดกัน เสมหะ น้ำมูกอุจจาระ ปัสสาวะ และตุ่มแผลที่มีเชื้อโรคเจือปนอยู่ เช่น ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียก็ติดต่อกันผ่านการไอ จาม หรือหายใจรดกัน ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัสก็มักติดต่อกันผ่านทางเสมหะและน้ำมูก (แต่คนที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะไม่เกิดโรค) เป็นต้น
โรคนี้สามารถแบ่งออกได้หลายชนิดตามสาเหตุที่เกิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไป เช่น
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส (Viral meningitis) อาจเกิดจากเชื้อไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus) ที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก และไข้หวัดทั่วไป, เชื้อไวรัสคอกแซคกี (Coxsackievirus) ที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก, เชื้อไวรัสคางทูม (Mumps virus) ที่ทำให้เกิดโรคคางทูม, เชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella zoster virus) ที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส, เชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ (Herpes virus) ที่ทำให้เกิดโรคเริม, เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) เป็นต้น ซึ่งเชื้อมักแพร่กระจายผ่านทางกระแสเลือด ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง และบางกรณีอาจเกิดการอักเสบของเนื้อสมองร่วมด้วย เยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดนี้เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดและมีความรุนแรงน้อยที่สุด (แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะเชื้อไวรัสบางตัวอาจทำให้เกิดอาการได้ เช่น ท้องเสีย เป็นต้น) และมีโอกาสน้อยมากที่จะทำอันตรายต่อสมองอย่างถาวรหลังจากอาการติดเชื้อบรรเทาลงแล้ว เพราะสามารถหายเองได้
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันชนิดมีหนองจากเชื้อแบคทีเรีย (Acute purulent meningitis) อาจเกิดจากเชื้อสเตรปโตคอกคัส (Streptococcus), สแตฟฟิโลคอกคัส (Staphylococcus), นิวโมคอกคัส (Pneumococcus) ที่พบได้ในภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ, อีโคไล (Escherichia coli), เมนิงโกคอกคัส (Meningococcus) ซึ่งทำให้เกิดโรคไข้กาฬหลังแอ่น, เคล็บซิลลา (Klebsiella), ฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี ชนิดบี (Haemophilus influenzae Type B) ที่ทำให้เกิดโรคฮิบ (HIB) เป็นต้น ซึ่งเชื้อโรคอาจแพร่กระจายจากแหล่งติดเชื้อที่ส่วนอื่นของร่างกาย (เช่น คออักเสบ ปอดอักเสบ กระดูกอักเสบเป็นหนอง ฝีที่ผิวหนัง โรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ) แล้วผ่านทางกระแสเลือดไปที่เยื่อหุ้มสมอง หรือไม่เชื้อก็อาจลุกลามจากบริใกล้สมองซึ่งพบได้น้อย (เช่น ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อของหูชั้นกลาง (หูชั้นกลางอักเสบหรือหูน้ำหนวก) หรือไซนัส (ไซนัสอักเสบ) เมื่อเป็นเรื้อรัง ก็อาจมีเชื้อโรคจากบริเวณดังกล่าวลุกลามไปถึงเยื่อหุ้มสมองได้ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีกะโหลกศีรษะแตกจากการบาดเจ็บ เชื้อโรคจากภายนอกก็อาจลุกลามเข้าไปในสมองได้โดยตรงจนเกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น) ผู้ป่วยมักมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีและมีความรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็วการติดเชื้อชนิดนี้จะร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือส่งผลกระทบต่อสมองและร่างกายส่วนอื่น ๆ อย่างถารได้
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค (Tuberculous meningitis) ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “มัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คุโลสิส” (Mycobacterium tuberculosis) สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่พบได้มากในเด็กอายุ 1-5 ปี โดย เกิดจากเชื้อดังกล่าวซึ่งแพร่กระจายมาจากปอดหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายไปที่เยื่อหุ้มสมองโดยผ่านทางกระแสเลือด ผู้ป่วยมักจะมีอาการค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งอาจกินเวลาเป็นสัปดาห์ แต่ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว จึงทำให้มีอัตราการเสียชีวิตหรือพิการค่อนข้างสูง
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอกคัส” (Cryptococcal meningitis) เพราะเชื้อราคริปโตคอกคัส (Cryptococcus) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในบ้านเรา ซึ่งเชื้อชนิดนี้จะพบได้ในอุจจาระของไก่ นกพิราบ และตามดิน เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเข้าทางปอด ผ่านกระแสเลือดแล้วไปที่เยื่อหุ้มสมอง อาการของผู้ป่วยจะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ มักพบในผู้สูงอายุและผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอเนื่องจากเป็นโรคเอดส์ โรคมะเร็ง หรือโรคเรื้อรังต่าง ๆ (เช่น เบาหวาน ไตวาย ตับแข็ง เอสแอลอี เป็นต้น) หรือมีประวัติกินยากดภูมิคุ้มกันหรือยาสเตียรอยด์มานาน ส่วนในเด็กหรือผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงจะพบได้น้อย
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา (Primary amebic meningoencephalitis) เกิดจากเชื้ออะมีบานีกลีเรียฟาวเลอรี (Naegleria fowleri) ซึ่งอาศัยอยู่ในบ่อน้ำหรือในที่ที่มีน้ำไหลช้า ๆ หรือดินโคลน เชื้อชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกจากการเล่นน้ำในบึง คู คลอง หรือสระน้ำที่มีเชื้อชนิดอยู่ หรืออาจเข้าสู่ร่างกายจากการถูกสาดน้ำหรือจากการสูดน้ำที่มีเชื้อเข้าจมูก ตัวเชื้ออะมีบาจะไชผ่านเยื่อบุของจมูกและเส้นประสาทการรู้กลิ่น (Olfactory nerve) เข้าสู่บริเวณฐานสมอง แล้วแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมองและเยื่อหุ้มสมอง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดนี้มีความร้ายแรงมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิต (มีระยะเวลาการฟักตัวของโรคประมาณ 3-7 วัน แต่บางรายอาจนานถึง 2 สัปดาห์)
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิ (Eosinophilic meningitis) ที่พบได้บ่อยในบ้านเรา ได้แก่ พยาธิตัวจี๊ด และพยาธิหอยโข่ง (Angiostrongylus cantonensis) ซึ่งเป็นพยาธิที่พบได้มากทางภาคกลางและภาคอีสาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีประวัติกินหอยโข่งดิบมาก่อนมีอาการได้ประมาณ 1-2 เดือน พยาธิจะเข้าไปในกระเพาะลำไส้และไชเข้าสู่กระแสเลือดแล้วขึ้นไปที่สมอง มักพบโรคนี้ในช่วงปลายฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่หอยโข่งตัวโตเต็มที่และชาวบ้านมักจับมากิน ส่วนความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมอง ถ้าเป็นไม่รุนแรงจะหายได้เอง แต่ถ้ามีเลือดคั่งในสมองหรือสมองส่วนสำคัญถูกทำลายก็อาจทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever), สครับไทฟัส (Scrub typhus), โรคฉี่หนู (Leptospirosis), โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis), โรคบรูเซลโลสิส (Brucellosis) เป็นต้น
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งบางชนิด, โรคเอสแอลอี, ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด (เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), ยาโค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) เป็นต้น)
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- เป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็ก (โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี), ผู้สูงอายุ (โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป), ผู้ติดสุรา, ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว (เช่น เบาหวาน ไตวาย ตับแข็ง เอสแอลอี มะเร็ง โรคเอดส์) เป็นต้น
- เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดม้าม เช่น การผ่าตัดม้ามเพื่อรักษาโรคธาลัสซีเมีย เพราะม้ามเป็นอวัยวะสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับร่างกาย
- เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางเดินน้ำไขสันหลัง เช่น ในผู้ป่วยทางเดินน้ำไขสันหลังอุดตันจากมะเร็งที่ต้องผ่าตัดระบายน้ำไขสันหลังเข้าสู่ช่องท้อง จึงทำให้เชื้อโรคจากช่องท้องเข้าสู่เยื่อหุ้มสมองและสมองจากทางระบายนี้ได้ง่าย
- เป็นผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อของหูชั้นกลาง (หูชั้นกลางอักเสบหรือหูน้ำหนวก) หรือไซนัส (ไซนัสอักเสบ) เรื้อรัง
- การอยู่ร่วมกันอย่างแออัด เช่น ในชุมชนแออัดและในค่ายทหาร ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเป็นโรคติดต่อต่าง ๆ
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
อาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
อาการที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนมาก และคอแข็ง (ก้มคอไม่ลงและคอแอ่นไปข้างหลัง)
ผู้ป่วยส่วนมากที่มาพบแพทย์จะบ่นว่ามีอาการปวดทั่วศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะ (เช่น ตอนก้มศีรษะลง) ซึ่งมักจะมีอาการปวดติดต่อกันหลายวัน และอาจรู้สึกปวดมากจนศีรษะแทบจะระเบิด กินยาแก้ปวดอาการก็ไม่ทุเลาลงส่วนอาการไข้นั้น ผู้ป่วยอาจมีไข้สูงอยู่ตลอดเวลาหรือมีไข้ต่ำ ๆ ก็ได้ ซึ่งก็แล้วแต่สาเหตุที่เกิด หรือถ้ามีสาเหตุมาจากพยาธิก็อาจมีเพียงไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้เลยก็ได้
หากไม่ได้รับการรักษา ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการกลัวแสง (ตาสู้แสงไม่ได้) กระสับกระส่าย สับสน มึมงง ไม่ค่อยรู้ตัว ซึมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดสติ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการมองเห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก แขนขาเป็นอัมพาตหรือชักติด ๆ กันนาน ๆ
ในเด็กเล็กแรกเกิดจนกระทั่งอายุไม่เกิน 1 เดือน อาการที่พบได้บ่อย คือ มักมีไข้สูง (อาจมีไข้ต่ำได้) กระสับกระส่าย ร้องไห้ตลอดเวลา ร้องไห้เสียงแหลม กินนมได้น้อยลงมากหรือไม่ยอมดูดนม อาจมีอาเจียน ชัก ตัวและลำคอแข็ง (สามารถยกศีรษะให้ลุกนั่งได้เลยเพราะคอแข็งทื่อ) และบริเวณกระหม่อมโป่งนูนจากการเพิ่มขึ้นของความดันในสมอง
ส่วนในผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ อาการที่พบได้บ่อย ๆ คือ ไม่ค่อยมีไข้ อาจมีเพียงอาการสับสน มึนงง และง่วงซึม
- ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันชนิดเป็นหนองจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือเจ็บคอนำมาก่อนประมาณ 12-14 ชั่วโมง แล้วจึงเกิดอาการปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง
- ถ้ามีสาเหตุมาจากเชื้อเมนิงโกคอกคัส (Meningococcal meningitis) หรือที่เรียกว่า “ไข้กาฬหลังแอ่น” ผู้ป่วยอาจมีผื่นแดงจ้ำเขียวขึ้นตามผิวหนังร่วมด้วย และอาจเกิดภาวะช็อกอย่างรวดเร็ว
- ถ้ามีสาเหตุมาจากวัณโรคหรือเชื้อรา ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนนำมาก่อนประมาณ 2-3 สัปดาห์ ต่อมาจึงมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนรุนแรง คอแข็ง และอาจมีอาการชักร่วมด้วย
- ถ้ามีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยมักมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันด้วยอาการไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง ซึม หรือชีก ส่วนมากจะมีอาการอยู่ประมาณ 2-14 วัน แล้วจะค่อย ๆ หายจนเป็นปกติ มีส่วนน้อยอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้
- ถ้ามีสาเหตุมาจากเชื้ออะมีบา แรกเริ่มผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก เสียการรับรู้กลิ่น ต่อมาจะมีอาการปวดศีรษะมาก โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ซึม ชัก
- ถ้ามีสาเหตุมาจากพยาธิ ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียน คอแข็ง บางรายอาจมีอาการอัมพาตของใบหน้าหรือแขนขา
- ถ้ามีสาเหตุมาจากพยาธิตัวจี๊ด ผู้ป่วยอาจมีประวัติอาการของโรคพยาธิตัวจี๊ดนำมาก่อน
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจัดเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง เพราะเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ (ยิ่งได้รับรักษาล่าช้าเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้นเท่านั้น) ทั้งนี้ความรุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะสูงกว่าการติดเชื้อไวรัสมาก เพราะประมาณ 25-30% ของผู้ติดเชื้อแบคทีเรียมักจะเสียชีวิต แต่ไม่ค่อยพบการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส ดังนั้น ถ้ามีไข้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนมาก หรือมีอาการคอแข็งซึ่งชวนให้สงสัยว่าเป็นโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์/โรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงหรือเป็นการฉุกเฉิน (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการชัก ซึม หรือหมดสติร่วมด้วย) เพื่อการตรวจวินิจโรคและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หลังจากนั้นก็ให้ดูแลตนเองตามที่แพทย์หรือพยาบาลแนะนำ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ภาวะแทรกซ้อนมักพบในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือได้รับการรักษาล่าช้าไป ซึ่งมักจะพบได้ในผู้ป่วยที่โรคมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย (โดยเฉพาะเชื้อวัณโรคและเชื้อเมนิงโกคอกคัสที่ทำให้เกิดโรคไข้กาฬหลังแอ่น) เชื้อรา และพยาธิ
โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้จากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ มีผลต่อการหายใจ หยุดหายใจ และทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวตลอดชีวิต เช่น อาการชัก, ตาบอด, ตาแหล่, หูหนวก, ปากเบี้ยว, มีปัญหาในการพูด (พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้), มีปัญหาทางด้านสมอง ความคิด ความจำ สมาธิ การเรียนรู้ การเคลื่อนไหว การประสานงาน ความสมดุลของร่างกาย และพฤติกรรม (เช่น มีอารมณ์แปรปรวน สมองพิการ ปัญญาอ่อน โดยเฉพาะเมื่อเป็นเด็กเล็กเมื่อโตขึ้นสติปัญญามักด้อยกว่าเกณฑ์), มีปัญหาเรื่องการนอน (เช่น นอนไม่หลับ), มีปัญหาเกี่ยวกับไต, มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่อ (เช่น ข้ออักเสบ), เป็นอัมพฤกษ์/อัมพาต, สูญเสียแขนขา (จากการตัดแขนขาเพื่อป้องกันการติดเชื้อไปสู่ร่างกาย), ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ, ฝีสมอง เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
แพทย์มักวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการประวัติอาการต่าง ๆ ประวัติการติดเชื้อหรืออุบัติเหตุ การตรวจร่างกายดูอาการของการติดเชื้อรอบ ๆ ศีรษะ ใบหู ลำคอ และผิวหนังตามแนวกระดูกสันหลัง รวมถึงการตรวจดูอาการทางระบบประสาทต่าง ๆ เช่น อาการคอแข็ง หรือระดับสติสัมปชัญญะ แต่การตรวจที่สำคัญ คือ การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) ซึ่งเป็นวิธีที่แน่นอนและแม่นยำในการวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เพราะช่วยให้พบความผิดปกติต่าง ๆ ของน้ำไขสันหลัง เช่น ความดันน้ำไขสันหลังสูงกว่าปกติ น้ำไขสันหลังขุ่น (ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดเป็นหนอง) มีการเปลี่ยนแปลงชองระดับน้ำตาลและโปรตีน มีการเปลี่ยนแปลงของชนิดและปริมาณของเม็ดเลือดขาว ตรวจพบเชื้อก่อโรคจากการนำน้ำไขสันหลังไปตรวจย้อมสีหรือเพาะเชื้อ เป็นต้น ซึ่งความผิดปกติของน้ำไขสันหลังนี้จะมีลักษณะจำเพาะตามสาเหตุของโรค จึงนำมาใช้ในการแยกแยะสาเหตุได้อย่างแม่นยำ
นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมตามอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุและประเมินความรุนแรงของโรค เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การตรวจอุจจาระ การถ่ายภาพสมองที่อาจมีอาการบวมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การถ่ายภาพรังสีบริเวณปอดหรือไซนัสเพื่อตรวจดูการติดเชื้อในบริเวณอื่นที่อาจเกี่ยวเนื่องกับเนื่อหุ้มสมองอักเสบ การทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส เป็นต้น
การแยกโรค
- ไข้สมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ซึม หมดสติ บางรายอาจมีอาการชักติด ๆ กันนาน ๆ แต่ไม่มีอาการขอแค็งแบบโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- มาลาเรียขึ้นสมอง ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ซึม หมดสติหรือชักแบบไข้สมองอักเสบ และผู้ป่วยมักมีประวัติเดินทางไปในเขตป่าเขามาก่อน
- ภาวะชักจากไข้ พบได้มากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ขวบ เด็กจะมีอาการไข้สูงจากโรคติดเชื้อ (เช่น ไข้หวัด ปอดอักเสบ คออักเสบ) แล้วมีอาการชักเกร็งของแขนขา ตาค้าง น้ำลายฟูมมาก อาจกัดลิ้นตัวเอง ในขณะชักผู้ป่วยจะไม่ค่อยรู้สึกตัว มักเป็นอยู่เพียงไม่กี่นาทีก็หยุดชัก แล้วค่อย ๆ ฟื้นคืนสติได้เอง ผู้ป่วยอาจเคยมีประวัติชักจากไข้มาก่อน หรืออาจมีญาติสายตรงที่มีประวัติชักจากไข้คล้าย ๆ กัน
- โรคลมชัก (ลมบ้าหมู) ผู้ป่วยมักจะมีอาการที่อยู่ ๆ จะชักกระตุก หมดสติ น้ำลายฟูมปาก อาจกัดลิ้นตัวเอง ซึ่งจะเป็นอยู่พักหนึ่งก็หยุดชัก แล้วค่อย ๆ ฟื้นคืนสติได้เอง ผู้ป่วยมักมีประวัติชักแบบนี้เป็นครั้งคราวเวลาที่ร่างกายเหนื่อยล้า อดนอน หิวข้าว ได้ยินเสียงดัง ถูกแสงสว่าง เป็นต้น
- บาดทะยัก ผู้ป่วยจะมีบาดแผลตามผิวหนังที่เกิดจากตะปูตำ หนามเกี่ยว หรือบาดแผลที่สกปรก ต่อมาจะมีไข้ ปากแข็ง (อ้าปากไม่ได้) ต่อมาจะมีอาการชักกระตุกเป็นพัก ๆ เวลาสัมผัสถูก ได้ยินเสียงดัง ๆ หรือเห็นแสงสว่าง แต่ผู้ป่วยมักจะยังมีความรู้สึกตัวดี
- โรคพิษสุนัขบ้า ผู้ป่วยมักมีประวัติถูกสุนัข แมว หรือสัตว์ป่ากัดมาก่อนประมาณ 1-3 เดือน ต่อมาจะมีไข้ ปวดศีรษะ กลัวน้ำ กลัวลม กระสับกระส่าย ชักเกร็ง ซึม และหมดสติ
การรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล แล้วให้การรักษาไปตามอาการและให้ยารักษาเฉพาะตามสาเหตุ ได้แก่
- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้และบรรเทาอาการปวด ยากันชัก การให้น้ำเกลือในรายที่อาเจียนมากหรือกินไม่ได้ การให้อาหารทางสายยางในรายที่กินไม่ได้ การเจาะคอช่วยหายใจในรายที่หมดสติ การเจาะหลังเพื่อลดความดันน้ำไขสันหลัง เป็นต้น
- ในรายที่มีโรคลมชักแทรกซ้อน จำเป็นต้องให้ยากันชัก เช่น ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), เฟนิโทอิน (Phenytoin) รักษาอย่างต่อเนื่อง
- การให้ยารักษาเฉพาะตามสาเหตุ ได้แก่
- ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ แพทย์จึงให้การรักษาประคับประคองตามอาการเป็นหลัก แล้วอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นเองภายใน 2-3 สัปดาห์ โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบใด ๆ ต่อร่างกาย ผู้ป่วยอาจรักษาด้วยตนเองได้โดยการนอนพักผ่อน ดื่มน้ำให้มาก ๆ และกินยาลดไข้และบรรเทาอาการปวด ทั้งนี้แพทย์อาจสั่งจ่ายยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อลดการบวมในสมอง ยากันชัก (Anticonvulsant) เพื่อควบคุมการชักของผู้ป่วย หรือยาต้านไวรัสถ้าเกิดจากการติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสเฮอร์ปีส์ (Herpes virus)
- ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ (เข้าเส้นเลือดดำ ) และหลังจากหายแล้วยังต้องเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนด้วย เช่น ตาบอด หูหนวก หรือชัก
- ถ้าเกิดจากเชื้อวัณโรค แพทย์จะให้การรักษาด้วยยารักษาวัณโรคนาน 6-9 เดือน
- ถ้าเกิดจากเชื้อรา แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา ได้แก่ แอมโฟเทอริซินบี (Amphotericin B), ฟลูโคนาโซล (Fluconazole), ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
- ถ้าเกิดจากเชื้ออะมีบา แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาแอมโฟเทอริซินบี (Amphotericin B) ร่วมกับยาอื่น ๆ เช่น ไมโคนาโซล (Miconazole), ไรแฟมพิซิน (Rifampicin), เตตราไซคลีน (Tetracycline)
- ถ้าเกิดจากพยาธิ ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการและทำการเจาะหลังซ้ำบ่อย ๆ เพื่อลดความดันน้ำไขสันหลังให้กลับลงสู่ปกติ ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) เพื่อช่วยลดระยะเวลาของการปวดศีรษะ และลดจำนวนครั้งของการเจาะหลังลง
ในส่วนของผลการรักษานั้น ถ้าอาการของผู้ป่วยไม่รุนแรงและได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ มักจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน และหายเป็นปกติภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น หมดสติ ความดันโลหิตต่ำ หรือได้รับการรักษาที่ล่าช้าเกินไป หรือพบโรคนี้ในทารกแรกเกิดหรือในผู้สูงอายุ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือเกิดความพิการทางสมองตามมาได้ และบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคลมชัก ซึ่งจำเป็นต้องให้ยากันชักรักษาอย่างต่อเนื่อง
การป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เนื่องจากโรคนี้สามารถแพร่กระจายได้ทางการไอ จาม และการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน ดังนั้น การป้องกันที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันการติดเชื้อโดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (ตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ) นอกจากนั้นคือ
- หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคและการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการดื่มหรือกินอาหารจากภาชนะเดียวกันกับผู้อื่น
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน และพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย และรู้จักการใช้หน้ากากอนามัย
- รักษาหรือควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ดี เช่น ถ้าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ (หูน้ำหนวก) หรือไซนัสอักเสบ ควรรีบรักษาให้หายขาด อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรังจนเข้าสมอง
- ป้องกันไม่ให้เป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดและพยาธิหอยโข่ง โดยการไม่กินกุ้ง ปลา หรือหอยโข่งแบบดิบ ๆ
- ผู้ที่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่น แพทย์จะแนะนำให้กินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
- หากมีการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นการติดเชื้อชนิดที่ร้ายแรง แพทย์จะแนะนำให้กินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการเกิดโรค
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคหรือเชื้อที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (แต่เชื้อส่วนใหญ่จะยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้) ซึ่งได้แก่
- การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) แก่เด็กทุกคน ซึ่งในบ้านเราจะแนะนำให้ฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 12 เดือน และให้ฉีดเข็มที่ 2 เมื่ออายุได้ประมาณ 4-6 ปี และไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคไปตลอดชีวิต
- การฉีดวัคซีนอีสุกอีใส (Varicella vaccine) ซึ่งเป็นวัคซีนเสริม โดยจะแนะนำให้ฉีดทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 12-18 เดือน และอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี (แต่ในกรณีที่ผู้รับวัคซีนมีอายุมากกว่า 13 ปี ให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน) หรืออีกทางเลือกหนึ่งจะฉีดเป็นวัคซีนรวม 4 โรค (MMRV) เลยก็ได้ครับ ซึ่งตัวนี้จะไปแทนวัคซีน MMR ที่เคย
- การฉีดวัคซีน IPD (Pneumococcal vaccine) เพื่อป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอกคัส (Pneumococcus) ที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยวัคซีนนี้จะมีอยู่ 2 ชนิด คือ PVC13 ที่ครอบคลุมการติดเชื้อ 13 สายพันธุ์ และชนิด PPSV23 ที่ครอบคุลมการติดเชื้อได้ 23 สายพันธุ์ ซึ่งแพทย์จะเลือกฉีดให้ตามความเหมาะสม (หลังฉีดอาจทำให้มีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดหรือมีไข้ต่ำ ๆ และจะค่อย ๆ บรรเทาลงเมื่อผ่านไปได้ประมาณ 2-3 วัน) อย่างไรก็ตามก็ต้องคำนึงถึงความค่าของการฉีดวัคซีนชนิดนี้ด้วย เพราะแม้วัคซีนจะมีประสิทธิภาพป้องกันโรคดังกล่าวได้ดี แต่ก็มีราคาแพงและมีระยะเวลาป้องกันโรคได้เพียง 2-3 ปี อีกทั้งยังไม่ได้ครอบคลุมเชื้อได้ทุกสายพันธุ์และอุบัติการณ์ของโรคเหล่านี้ในไทยก็น้อย ดังนั้น โดยทั่วไปแพทย์จึงพิจารณาฉีดให้ในผู้สูงอายุและเด็กที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าคนปกติทั่วไป (เช่น เด็กที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ติดเชื้อเอชไอวี มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ม้ามทำงานไม่ดีหรือไม่มีม้าม อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือภาวะที่เสี่ยง รวมถึงเด็กที่ได้รับการผ่าตัดใส่วัสดุเทียมของหูชั้นในหรือมีการเปลี่ยนอวัยวะ)
- การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal ACWY vaccine) เป็นวัคซีนที่ป้องกันเชื้อโรคได้ 4 สายพันธุ์ คือ A, C, Y, W-135 ภูมิคุ้มกันจะขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 7-10 วัน และฉีด 1 ครั้งภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นาน 3-5 ปี อย่างไรก็ตามวัคซีนชนิดก็นี้ยังไม่มีการฉีดอย่างแพร่หลายมากนักในบ้านเรา เพราะแพทย์มักจะแนะนำให้ฉีดในผู้ที่ต้องเดินทางเดินไปในประเทศที่เสี่ยง (โดยเฉพาะในเขต Meningitis belt ในแอฟริกา) รวมถึงนักเรียนนักศึกษาที่จะไปเรียนต่อในบางประเทศที่มีข้อกำหนดว่าจะต้องได้รับวัคซีนดังกล่าวก่อนเข้าไป เช่น ในสหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ
- การฉีดวัคซีนโรคฮิบ (HIB vaccine) เพื่อป้องกันการติดเชื้อฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี ชนิดบี (Haemophilus influenzae Type B) ที่ทำให้เกิดโรคฮิบ (HIB) รวมถึงโรคอื่น ๆ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด รวมทั้งเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยทั่วไปวัคซีนชนิดนี้จะเหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่เนื่องจากอุบัติการณ์การติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคฮิบไม่สูงมากนักประกอบการที่วัคซีนยังมีราคาแพง สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยจึงจัดให้วัคซีนฮิบเป็นวัคซีนทางเลือก (แนะนำให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 24 เดือนฉีดวัคซีนชนิดนี้ โดยเฉพาะในเด็กที่มีความเสี่ยง เช่น ต้องไปอยู่ในสถานที่ที่แออัด หรืออยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 2 ปี แนะนำให้ฉีดเมื่อมีระบบภูมิคุ้มกันไม่ปกติ เช่น ภาวะไม่มีม้าม หรือมีการทำงานของม้ามผิดปกติ เป็นต้น)
- การฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ตั้งแต่แรกเกิด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นวัณโรค และถ้าเป็นวัณโรคก็ต้องรักษาให้หายขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่น
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 583-587
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 309 คอลัมน์ : สารานุกรมทันโรค. “เยื่อหุ้มสมองอักเสบ”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [22 ส.ค. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [23 ส.ค. 2017].
- Siamhealth. “โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ meningitis”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [24 ส.ค. 2017].
- พบแพทย์. “เยื่อหุ้มสมองอักเสบ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com. [27 ส.ค. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)