เมื่อย สรรพคุณและประโยชน์ของเถาเมื่อย 14 ข้อ ! (มะเมื่อย)

เมื่อย

เมื่อย หรือ มะเมื่อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Gnetum montanum Markgr. จัดอยู่ในวงศ์ GNETACEAE[1],[2]

มะเมื่อย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะม่วย (เชียงใหม่), ม่วย (เชียงราย, อุบลราชธานี), ม่วยขาว เมื่อยขาว (อุบลราชธานี), แฮนม่วย (เลย), เถาเมื่อย (สุโขทัย), เมื่อย (ตราด), แฮนเครือ, มะเมื่อย, ม่วยเครือ เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของมะเมื่อย

  • ต้นมะเมื่อย มีถิ่นกำเนิดในราชอาณาจักรเนปาล โดยจัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง หรือเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยขนาดใหญ่ เลื้อยพันไปตามต้นไม้ใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 5-10 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก เปลือกนอกแตกเป็นสะเก็ด เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลปนดำ กิ่งเป็นข้อต่อกันและตามข้อพองบวม ลักษณะเป็นข้อปล้อง มักพบขึ้นได้ตามป่าดิบแล้ง[1],[3]

ต้นมะเมื่อย


ต้นเมื่อยเถามะเมื่อย
  • ใบมะเมื่อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับกับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีขนาดแตกต่างกันมาก ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบกลม มน หรือแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 13-16 เซนติเมตร แผ่นใบหนาและเหนียว เมื่อแห้งจะเป็นสีออกดำ เส้นใบมีลักษณะโค้ง มีเส้นใบประมาณ 6-8 คู่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร[3]

ใบเมื่อย

  • ดอกมะเมื่อย ออกดอกเป็นช่อเชิงลดที่ปลายยอดและตามลำต้น ช่อดอกแตกแขนงมากและมีดอกย่อยอยู่เป็นจำนวนมาก ช่อดอกแยกเป็นช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมีย แต่อยู่บนต้นเดียว สร้างโคนหรือสตรอบิลัสออกเป็นช่อแกน มีลักษณะเป็นกลุ่ม โดยจะออกเรียงกันเป็นชั้น ๆ ตามซอกใบ มีสีเขียวปนเหลือง โคนเพศผู้เป็นช่อเชิงลด แตกแขนง และออกตามลำต้นหรือปลายยอด มีขนาดกว้างประมาณ 0.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ก้านโคนยาวประมาณ 0.5-2.4 เซนติเมตร ก้านโคนย่อยยาว 0.5-1 เซนติเมตร โดยโคนย่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-4.2 เซนติเมตร ปลายมน โคนมน สีเขียว และมีขนสั้นจำนวนมากและหนาแน่น แต่ละโคนมีชั้น 8-15 ชั้น และในแต่ละชั้นมีเกสรเพศผู้ 8-25 อัน เรียงเป็นวงรอบ ๆ ข้อ ยาวประมาณ 0.5-1.5 มิลลิเมตร เป็นสีเหลืองหรือขาวอมเหลือง ส่วนอับเรณูเป็นสีขาว มีก้านชูเกสรเพศผู้เป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนโคนเพศเมียแตกแขนง ก้านโคนยาวประมาณ 1.7-4.9 เซนติเมตร ในแต่ละโคนจะมีชั้น 6-14 ชั้น และในแต่ละชั้นจะมีเมล็ด 1-8 เมล็ด มีขนเล็กน้อย และก้านของโคนย่อยยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร ช่วงการออกดอกเพศผู้คือช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ส่วนช่วงการออกดอกเพศเมียและติดเมล็ดจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม[3]

ดอกมะเมื่อย

ดอกเมื่อย

  • เมล็ดมะเมื่อย (ผลมะเมื่อย) มีลักษณะเป็นรูปกระสวย โคนและปลายมน ผิวเกลี้ยง มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมล็ดไม่มีผลห่อหุ้ม แต่จะมีกลีบนุ่มคล้ายหนังหุ้มอยู่ เมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดงหรือสีแดง ก้านเมล็ดสั้นและเกลี้ยง ยาวได้ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร[1],[3]

เมล็ดมะเมื่อยผลเมื่อย
ผลเมื่อย

สรรพคุณของมะเมื่อย

  1. ตำรายาไทย เถาหรือลำต้นมีรสขื่นเฝื่อน มีสรรพคุณทำให้จิตใจชุ่มชื่น และทำให้แข็งแรง (ลำต้น)[4]
  2. ชาวเขาเผ่าอีก้อจะใช้ใบเมื่อยขาวนำมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น (ใบ)[1],[2]
  3. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก)[3],[5]
  1. ยาพื้นบ้านอีสานจะใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยในการอยู่ไฟของสตรี บำรุงร่างกายของสตรีหลังการคลอดบุตร (ลำต้น)[3]
  2. ใบนำมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างแผลสด แผลเปื่อยอักเสบ ฝี หนอง และตุ่ม (ใบ)[1],[2]
  3. น้ำต้มรากใช้กินเป็นยาแก้พิษได้บางชนิด (ราก)[3],[5]
  4. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บวมพอง (เปลือกต้น)[1],[2]
  5. ตำรายาไทยจะใช้เถาหรือลำต้นเป็นยาแก้เมื่อย ทำให้เส้นเอ็นหย่อน ส่วนตำรับยาพื้นบ้านอีสานจะใช้ลำต้นผสมกับลำต้นของเถาเอ็นอ่อน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อย (ลำต้น)[1],[2],[3],[4]

ประโยชน์ของมะเมื่อย

  1. เมล็ดหรือผล นำมาทำให้สุกหรือต้มใช้รับประทานได้[3],[5]
  2. ใบใช้รับประทานเป็นผัก[6]
  3. เมล็ดให้น้ำมัน หรือนำมารับประทาน หรือใช้ทำไวน์ได้[6]
  4. เปลือกต้นมีความเหนียวมาก สามารถนำมาใช้ทำเชือกได้[3]
  5. เส้นใยจากเปลือกสามารถนำมาใช้ทำกระสอบหรือแหจับปลาได้[6]
  6. ส่วนชาวขมุและชาวเมี่ยนจะใช้เครือนำมาทำสายหน้าไม้ เพราะมีความเหนียวมาก[5]

เถาเมื่อย

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “เมื่อย”.  หน้า 127.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เมื่อย”.  หน้า 119.
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เมื่อยขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [27 พ.ค. 2014].
  4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เมื่อยขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [27 พ.ค. 2014].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เมื่อย, มะเมื่อย”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [27 พ.ค. 2014].
  6. ฐานข้อมูลพืชอนุรักษ์ ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518.  “วงศ์นีเทซีอี GNETACEAE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.narm.buu.ac.th/Forest/cites.php?.  [27 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด