เพี้ยกระทิง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเพี้ยกระทิง 9 ข้อ !

เพี้ยกระทิง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเพี้ยกระทิง 9 ข้อ !

เพี้ยกระทิง

เพี้ยกระทิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Melicope pteleifolia (Champ. ex Benth.) T.G. Hartley (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Euodia gracilis Kurz, Euodia lepta (Spreng.) Merr.)[1] จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1],[2]

สมุนไพรเพี้ยกระทิง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เพี้ยกระทิง ผักส้มเสี้ยนผี (ภาคเหนือ), ขมสามดอย แสงกลางวัน (ไทใหญ่), มะโหกโตน (คนเมือง), ตะคะโดะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), สะเลียมดง (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[2]

ลักษณะของเพี้ยกระทิง

  • ต้นเพี้ยกระทิง จัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 1-2 เมตร[1]

ต้นเพี้ยกระทิง

  • ใบเพี้ยกระทิง ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร เนื้อใบมีต่อมน้ำมันเป็นจุด ๆ กระจายอยู่ทั่วไป[1]

ใบเพี้ยกระทิง

  • ดอกเพี้ยกระทิง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวขนาดเล็ก มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศ[1]

รูปเพี้ยกระทิง

ดอกเพี้ยกระทิง

  • ผลเพี้ยกระทิง ผลเป็นแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลม เป็นพู 2 พู มีเพียงเมล็ดเดียว รูปทรงกลมสีดำ[1]

ผลเพี้ยกระทิง

เมล็ดเพี้ยกระทิง

สรรพคุณของเพี้ยกระทิง

  1. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากเพี้ยกระทิงผสมกับรากพลับพลา นำมาต้มกับน้ำให้ข้น ใช้ดื่มก่อนอาหารวันละ 3-4 ครั้ง เป็นยาแก้ไข้หนาว (ราก)[1],[2]
  2. รากใช้เป็นยารักษาโรคริดสีดวง (ราก)[2]
  3. ทั้งต้นใช้ผสมกับสมุนไพรอีก 2 ชนิด นำมาต้มกับน้ำล้างช่องคลอดรักษาอาการมดลูกอักเสบ (ทั้งต้น)[1],[2]
  4. หัวนำมาต้มกิน ทำให้มดลูกของผู้หญิงเข้าอู่ (หัว)[2]
  5. ใบนำมารับประทานสดเป็นยาแก้ตุ่มคัน (ใบ)[2]
  6. ใช้กากที่กลั่นเหล้าแล้วหรือต้นสด ปูนอน แก้อาการปวดเอว เคล็ด ปวดตามตัว (ทั้งต้น)[1],[2]

ประโยชน์ของเพี้ยกระทิง

  • ชาวไทใหญ่จะใช้ใบและยอดอ่อนรับประทานร่วมกับลาบ หรือจะใช้ใบและดอกนำมาลวกรับประทานกับน้ำพริก ส่วนชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้ยอดอ่อนและดอกรับประทานสด หรือนำไปผึ่งแดดให้แห้ง แล้วใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก และใส่ข้าวเบือน[2]
  • ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ใบเพี้ยกระทิง นำมาย่างกับไฟอ่อน ๆ แล้วขยี้เป็นแผ่นเล็ก ๆ หรือจะใส่ทั้งใบลงในแกงเพื่อเพิ่มรสขม[2]
  • ใบนำมาขยี้ทาตัวเพื่อป้องกันยุงกัดเวลาเข้าป่า[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เพี้ยกระทิง”.  หน้า 108.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เพี้ยกระทิง, สะเลียมดง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [08 พ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Foggy Forest, 翁明毅, Phuong Tran)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด