เปราะป่า
เปราะป่า ชื่อสามัญ Peacock ginger, Resurrection lily
เปราะป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia marginata Carey ex Roscoe จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1]
สมุนไพรเปราะป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตูบหมูบ ว่านตูบหมูบ (อุบลราชธานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เปราะเถื่อน (ปราจีนบุรี, ชุมพร), เปราะ หัวหญิง (กระบี่), เปราะเขา เปราะป่า เป็นต้น[1],[2],[5]
ลักษณะของเปราะป่า
- ต้นเปราะป่า จัดเป็นพืชลงหัวขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีเหง้าสั้น และรากเป็นกระจุก หัวเปราะป่า หรือเหง้าสั้น และมีขนาดเล็ก ลักษณะของเหง้าเป็นรูปทรงกลม สีน้ำตาล ที่ผิวมีรอยข้อปล้องอย่างชัดเจน ออกรากจากเหง้าหลักเป็นเส้นกลมยาว เหง้ามีกลิ่นหอม รสร้อนเผ็ดและขมจัด สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ต้นเปราะป่ามักขึ้นตามพื้นดินหรือเกาะอยู่ตามโขดหิน โดยเกิดตามที่ลุ่มชื้นแฉะในป่าเบญจพรรณทั่ว ๆ ไป[1],[2]
- ใบเปราะป่า มีใบเป็นใบเดี่ยว ใบอ่อนจะม้วนเป็นกระบอกตั้งขึ้น เมื่อแก่จะแผ่ราบบนหน้าดิน ใบไม่มีก้านใบ ในหนึ่งต้นจะมีใบเพียง 2 ใบ ใบมีสีเขียวเข้ม ขอบใบมีสีม่วงแดง ลักษณะของเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม หลังใบเรียบ ด้านล่างมีขน มีขนาดความกว้างประมาณ 8-14 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-11.5 เซนติเมตร มีกาบใบยาวประมาณ 5 เซนติเมตร กาบใบที่ไม่มีใบจะยาวประมาณ 3 เซนติเมตร มีลิ้นใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร[1]
- ดอกเปราะป่า ช่อดอกแทงออกมาจากตรงกลางระหว่างกาบใบทั้งสอง มีกลีบดอกเป็นหลอดยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นกลีบรูปแถบ กลีบหลังยาว และมีขนาดกว้างกว่ากลีบข้าง โดยกลีบหลังจะมีความยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบข้างจะกว้างประมาณ 0.3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.4 เซนติเมตร ดอกเปราะป่ามีสีขาว กลีบดอกมีลักษณะบอบบาง มีดอกย่อยประมาณ 6-8 ดอก มีใบประดับสีขาวอมเขียว ลักษณะเป็นรูปใบหอก กว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3.2 เซนติเมตร โดยเกสรตัวผู้ที่เป็นหมันจะมีสีขาว ลักษณะเป็นรูปไข่กลับแกมรูปลิ่ม มีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ที่กลีบปากมีสีม่วง มีแถบสีขาวอยู่ระหว่างเส้นกลางกลีบกับขอบกลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลีบแกมรูปลิ่ม กว้างประมาณ 1.8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.2 เซนติเมตร มีปลายหยักและลึกมาก เกสตัวผู้นั้นเกือบไม่มีก้านหรืออาจมีก้านยาวเพียง 1 มิลลิเมตร ส่วนอับเรณูจะยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีรังไข่ขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นหลอดยาว ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตรและส่วนปลายแยกเป็น 2 แฉก[1]
- ผลเปราะเป่า ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีสีขาว แตกเป็น 3 พู ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่ มีสีน้ำตาล[1]
สรรพคุณของเปราะป่า
- หัวหรือเหง้าใต้ดินใช้ผสมกับตัวยาอื่นเพื่อเข้าตำรับยา ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (หัว)[1],[2]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ (หัว)[1],[2]
- ช่วยแก้หวัด โดยใช้หัวตำผสมกับหัวหอม ใช้สุมกระหม่อมเด็กจะช่วยบรรเทาอาการได้ (หัว)[1],[2],[6]
- ช่วยแก้อาการไอ (หัว)[5]
- ช่วยแก้กำเดา โดยใช้หัวตำผสมกับหัวหอม ใช้สุมกระหม่อมเด็ก (หัว)[1],[2]
- ดอกเปราะป่าช่วยแก้อาการอักเสบตาแฉะ (ดอก)[5]
- ใช้รักษาเด็กที่ชอบนอนผวาตาเหลือกช้อนดูหลังคา (ดอก)[6]
- น้ำคั้นจากใบและเหง้านำมาใช้ป้ายคอ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้ (หัว, ใบ)[3]
- หัวมีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะ (หัว)[5]
- ช่วยขับลมในลำไส้ (หัว)[1],[2],[6]
- ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ต้น)[5]
- ใช้เป็นยาขับโลหิตที่เน่าเสียของสตรี (ต้น)[6]
- ใช้เป็นยากระทุ้งพิษต่าง ๆ (หัว)[4]
- ช่วยแก้ลมพิษ ผดผื่นคัน (หัว)[5] ช่วยรักษาเลือดที่เจือด้วยลมพิษ (หัว)[6]
- ใบเปราะป่าช่วยแก้เกลื้อนช้าง (ใบ)[5]
- หัวหรือเหง้าใต้ดินนำมาตำพอกแก้อาการอักเสบอันเนื่องมาจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย (หัว)[1],[2]
- หัวมีกลิ่นหอม ให้รสร้อนและขมจัด ใช้สำหรับทำเป็นลูกประคบ เพื่อช่วยแก้อาการฟกช้ำได้ (หัว)[1],[2]
- หัวใช้ผสมกับใบหนาดใหญ่ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อัมพาต (หัว)[1],[2]
ประโยชน์ของเปราะป่า
- ประโยชน์เปราะป่า เปราะป่าสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศและเป็นเครื่องยาสมุนไพร[3]
- ใบอ่อนสดที่ม้วนอยู่ใช้รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกได้[3],[5] หรือนำมาใช้ทำเป็นผักเครื่องเคียงกับขนมจีนหรือข้าวยำ ให้รสชาติร้อนซ่าเล็กน้อย[6]
- ปัจจุบันพบว่ามีการนิยมปลูกทั่วไปตามบริเวณบ้าน โดยการนำมาปลูกในกะละมัง[5],[6]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เปราะป่า“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [18 พ.ย. 2013].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เปราะป่า“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [18 พ.ย. 2013].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Kaempferia marginata Carey“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [18 พ.ย. 2013].
- โปงลางดอตคอม. “ว่านเปราะป่า“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pongrang.com. [18 พ.ย. 2013].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักพื้นบ้าน เปราะป่า“. อ้างอิงใน: หนังสือผักพื้นบ้านภาคใต้ (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [18 พ.ย. 2013].
- บล็อกโอเคเนชั่น. “เปราะ ผักพื้นบ้าน เมนูสุขภาพ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.oknation.net. [18 พ.ย. 2013].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)