โรคเบาจืด
เบาจืด (Diabetes insipidus – DI) เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถเก็บรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายได้ จึงทำให้มีอาการถ่ายปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะออกครั้งละมาก ๆ ร่วมกับมีอาการกระหายน้ำมากคล้ายโรคเบาหวาน
โรคนี้เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดทางสมองมากกว่า โดยจะพบได้ประมาณ 1 ราย ต่อประชากร 25,000 คน หรือประมาณ 3 ราย ต่อประชากร 100,00 คน สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน ส่วนมากมักพบเกิดในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอาจพบได้บ้าง ซึ่งมักเป็นเด็กโต
สาเหตุของโรคเบาจืด
การควบคุมปริมาณของปัสสาวะในภาวะปกติจะขึ้นอยู่กับฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะที่มีชื่อว่า “เอดีเอช” (Antidiuretic hormone – ADH) หรือมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “เวโซเพรสซิน” (Vasopressin) ซึ่งปกติแล้วฮอร์โมนเอดีเอชนี้จะสร้างจากสมองส่วนลึกในชั้น “ไฮโปทาลามัส” (Hypothalamus) และถูกนำมาเก็บไว้ที่กลีบหลังของต่อมใต้สมองส่วนหลัง (Posterior lobe of the pituitary gland) เพื่อหลั่งออกมาควบคุมการทำงานของไตให้ดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายให้อยู่ในระดับสมดุล ไม่ปล่อยออกมาเป็นปัสสาวะทั้งหมด แต่ทั้งนี้การทำงานของกระบวนการนี้จะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อไตมีสภาพเป็นปกติด้วย เพื่อที่จะสามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนเอดีเอชได้
จะเห็นได้ว่ากลไกการกักเก็บน้ำของร่างกายจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของไตและฮอร์โมนเอดีเอชจากต่อมใต้สมอง แต่เมื่อสมดุลในกระบวนการนี้เกิดเสียไป โดยที่ตัวใดตัวหนึ่งเกิดบกพร่องในหน้าที่หรือทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนเอดีเอชได้น้อยกว่าปกติ (เกิดจากความผิดปกติในสมอง ซึ่งพบได้เป็นส่วนมาก) หรือเกิดจากเซลล์ไตไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเอดีเอช (เกิดจากความผิดปกติในไต ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย) ไตก็จะไม่สามารถดูดซึมน้ำเข้ากลับเข้าสู่ร่างกายได้ ปริมาณของปัสสาวะจึงเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ ส่วนปริมาณของปัสสาวะจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
โดยสาเหตุของโรคเบาจืดเกือบทั้งหมดจะมาจากความผิดปกติทางสมอง ซึ่งในกลุ่มนี้
- ประมาณ 30% จะไม่ทราบสาเหตุ
- ประมาณ 25-30% จะเกิดจากโรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง (รวมทั้งของต่อมใต้สมอง)
- ประมาณ 20% จะเกิดจากการผ่าตัดสมองบริเวณใกล้ต่อมใต้สมองเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ
- ประมาณ 15% จะเกิดจากอุบัติเหตุทางสมอง
- และที่เหลืออีกประมาณ 5-10% จะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ
ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้บ้าง (พบได้น้อย) เช่น
- เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม (พบได้ทั้งเบาจืดชนิดที่เกิดจากความผิดปกติทางสมองหรือความผิดปกติทางไต)
- โรคไตอักเสบชนิดเรื้อรัง เช่น กรวยไตอักเสบ โรคถุงน้ำในไตชนิดหลายถุง (Polycystic kidney disease)
- โรคมะเร็งบางชนิดที่แพร่กระจายมาสมอง เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งปอด
- สมองอักเสบติดเชื้อ เช่น จากวัณโรค โรคสมองอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลิเทียม (Lithium) ซึ่งเป็นยารักษาโรคทางจิตประสาท, ยาเมทิซิลลิน (Meticillin) ซึ่งเป็นยารักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย, ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) ซึ่งเป็นยากันชัก, ยาเคมีบำบัดบางชนิด เป็นต้น
- การขาดสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย เช่น ร่างกายมีแคลเซียม (Calcium) ในเลือดสูง หรือมีโพแทสเซียม (Potassium) ในเลือดต่ำ
- การตั้งครรภ์ ดังที่จะกล่าวในหัวข้อถัดไป
ชนิดของโรคเบาจืด
เบาจืดสามารถแบ่งตามกลไกการเกิดออกได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้
- ชนิดที่เกิดจากความผิดปกติในสมอง (Central/Neurogenic diabetes insipidus) เป็นชนิดที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากพยาธิสภาพหรือโรคในสมองที่ส่งผลให้การสร้างฮอร์โมนเอดีเอชลดน้อยลง เช่น การผ่าตัดบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือจากอุบัติเหตุทางสมอง มีเนื้องอกในบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง โรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น (ชนิดนี้ในบางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้)
- ชนิดที่เกิดจากความผิดปกติในไต (Nephrogenic diabetes insipidus) เป็นชนิดที่พบได้น้อยและสำคัญรองมา ทำให้ไตไม่ตอบสนองหรือตอบสนองได้น้อยต่อฤทธิ์ของฮอร์โมนเอดีเอช (ทั้ง ๆ ที่ต่อมใต้สมองยังสร้างได้เป็นปกติ) จึงทำให้มีการขับปัสสาวะออกมามาก เช่น เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม (ไตผิดปกติมาแต่กำเนิด โดยที่แพทย์เองก็ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และพบว่าบ่อยครั้งที่คนในครอบครัวเดียวกันมีอาการไตผิดปกติ ส่วนมากผู้ป่วยกลุ่มนี้ตอนแรกเกิดมักจะไม่แสดงอาการของเบาจืดเท่าใดนัก โดยมากมักจะมาแสดงอาการตอนเมื่ออายุได้ประมาณ 1-3 ขวบ หรือบางรายก็มาแสดงเอาตอนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็มี), กรวยไตอักเสบเรื้อรัง, ภาวะไตวายเรื้อรัง, โรคถุงน้ำในไตชนิดหลายถุง (Polycystic kidney disease) หรือจากผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นต้น
- ชนิดที่เกิดจากความผิดปกติในการกระหายน้ำ (Dipsogenic diabetes insipidus) เป็นชนิดที่พบได้น้อยมาก ๆ โดยเกิดจากความผิดปกติของสมองไฮโปทาลามัส ซึ่งนอกจากจะสร้างฮอร์โมนเอดีเอชและฮอร์โมนอีกหลายชนิดแล้ว ยังมีหน้าที่ควบคุมอารมณ์และจิตใจด้วย ซึ่งเมื่อเกิดความผิดปกติทางอารมณ์หรือจิตใจที่ก่อให้เกิดการกระหายน้ำอย่างมาก ผู้ป่วยก็จะดื่มน้ำในปริมาณมหาศาล จึงส่งผลให้ปริมาณปัสสาวะเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำที่ดื่มเข้าไป
- ชนิดที่เกิดจากการตั้งครรภ์ (Gestational diabetes insipidus) เป็นชนิดที่พบได้น้อยมากเช่นกัน โดยเกิดจากในขณะตั้งครรภ์รกจะสร้างเอนไซม์ชื่อ Vasopressinase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายฮอร์โมนเอดีเอช ซึ่งหากร่างกายมีการสร้างเอนไซม์ชนิดนี้ในปริมาณมาก ๆ ก็จะส่งผลให้ปริมาณฮอร์โมนเอดีเอชลดลงด้วย จึงทำให้ไตดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายน้อยลง ปัสสาวะจึงมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งโรคเบาจืดจากสาเหตุนี้จะหายได้เองภายหลังการคลอดบุตรแล้ว
อาการของโรคเบาจืด
ผู้ป่วยเบาจืด (ไม่ว่าจะเกิดจากเบาจืดชนิดใดก็ตาม) จะมีอาการปัสสาวะปริมาณมากและบ่อยครั้ง ร่วมกับกระหายน้ำมากและดื่มน้ำมาก ชอบดื่มน้ำเย็นเป็นพิเศษ และปากมักแห้งอยู่เสมอ โดยจะมีอาการอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน แม้ในช่วงนอนหลับตอนกลางคืนก็มักจะลุกขึ้นมาปัสสาวะและดื่มน้ำอยู่หลายครั้ง ผู้ป่วยมักถ่ายปัสสาวะวันละเกิน 5 ลิตร ถ้าเป็นรุนแรงมากอาจถึงวันละ 20 ลิตร (ซึ่งคนปกติจะปัสสาวะเพียงวันละประมาณ 1-2 ลิตร) โดยปัสสาวะที่ออกมาจะไม่มีกลิ่น ไม่มีสี และมีรสจืด จึงเรียกโรคนี้กันว่า “โรคเบาจืด” (สาเหตุมาจากการดื่มน้ำในปริมาณมากจนส่งผลให้สารต่าง ๆ ที่ก่อสีและกลิ่นในปัสสาวะเจือจางลงมากจนปัสสาวะเกือบมีลักษณะเหมือนน้ำแท้ ๆ)
นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ คือ
- อ่อนเพลีย เพราะต้องตื่นมาปัสสาวะบ่อยครั้ง ทำให้ขาดการพักผ่อน และมาจากการเสียเกลือแร่ไปในน้ำปัสสาวะ (ถึงแม้ปัสสาวะจะเจือจางลง แต่ผลรวมทั้งหมดจะมีปริมาณเกลือแร่ในปัสสาวะสูง)
- ปัสสาวะรดที่นอน เนื่องจากกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จากการมีปัสสาวะในปริมาณมาก
- อาการปวดบริเวณเอวและท้องน้อย บางครั้งเมื่อปัสสาวะที่รอการขับถ่ายออกจากร่างกายมีปริมาณมาก ๆ จะไปคั่งอยู่ในระบบขับถ่ายปัสสาวะแถวบริเวณท่อไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ ทำให้อวัยวะเหล่านี้ถ่างและโตขึ้น ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดบริเวณเอว ท้องน้อย ร่วมด้วยก็ได้
- อาการที่เกิดจากภาวะขาดน้ำ เพราะสูญเสียน้ำมากจากการปัสสาวะ ทำให้ตาลึกโหล ปากคอแห้ง ผิวแห้ง มึนงง วิงเวียนศีรษะ อาจสับสน ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
- อาการที่เกิดจากภาวะร่างกายขาดสมดุลของเกลือแร่ คือ วิงเวียนศีรษะ สับสน ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว
- อาการที่เกิดจากสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาจืด โดยอาการจะขึ้นอยู่กับแต่ละสาเหตุที่เป็น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายตามสาเหตุนั้น ๆ เช่น อาการจากโรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง, อาการจากโรคมะเร็งต่าง ๆ ที่แพร่กระจายมายังสมองดังที่กล่าวไปแล้ว, อาการจากโรคกรวยไตอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
ความรุนแรงของโรคเบาจืดนั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น อาการจะหายได้เมื่อเกิดจากการแพ้ยา หรือถ้าไม่ทราบสาเหตุก็เพียงแต่จะทำให้คุณภาพชีวิตด้อยลงโดยไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ถ้าเกิดจากเนื้องอกและมะเร็งสมอง หรือโรคมะเร็งต่าง ๆ ที่แพร่กระจายมายังสมอง ความรุนแรงของโรคก็จะสูงมากขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาจืด
- ผู้ป่วยที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงจนภาวะช็อกหรือหมดสติ หรือทำให้เกิดภาวะโซเดียมในเลือดสูง (Hypernatremia) ได้
- ตราบใดที่ผู้ป่วยยังคงสามารถดื่มน้ำทดแทนได้เพียงพอก็จะไม่มีอันตรายเกิดขึ้น เว้นแต่จะทำให้เกิดความไม่สะดวกหรือเกิดความรำคาญบ้างที่ต้องดื่มน้ำ และปัสสาวะบ่อย ๆ
เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำไปมาก ผลที่ตามมาคือ ผู้ป่วยจะมีอาการกระหายน้ำมาก และถ้าดื่มน้ำทดแทนส่วนที่เสียไปไม่ทัน ร่างกายก็จะเกิดภาวะขาดน้ำ อาจจะมีอาการซึม ไม่รู้สึกตัว ช็อกหรือหมดสติไปในที่สุด แต่โดยธรรมชาติแล้วร่างกายสามารถทดแทนได้ด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น ผู้ป่วยจึงมักไม่มีภาวะขาดน้ำมากจนถึงขั้นช็อกหรือหมดสติ ส่วนในรายที่สลบไปด้วยสาเหตุอื่น เช่น การวางยาสลบในขณะผ่าตัดหรือเกิดจากอุบัติเหตุทางสมองโดยไม่รู้ตัว โดยที่แพทย์ผู้ดูแลก็ไม่ทราบมาก่อนว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาจืด ผู้ป่วยรายนั้นอาจจะขาดน้ำไปมากทางปัสสาวะ จนความดันโลหิตต่ำ และช็อกไปก็ได้
การวินิจฉัยโรคเบาจืด
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการสอบถามประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาโรคต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการรับประทานยาต่าง ๆ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือด (เพื่อแยกจากโรคเบาหวาน ดูค่าเกลือแร่ต่าง ๆ และดูค่าฮอร์โมนเอดีเอช) และจากการตรวจปัสสาวะ (เพื่อดูค่าความถ่วงจำเพาะ ซึ่งมักจะพบว่ามีความถ่วงจำเพาะต่ำ (< 1.010) ในภาวะเบาจืด)
นอกจากนั้น อาจต้องตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อแยกชนิดของเบาจืด เช่น การการตรวจเลือดและปัสสาวะในภาวะอดน้ำ (Water deprivation test) หรือฉีดฮอร์โมนเอดีเอช (Vasopressin test) กระตุ้นเพื่อดูการตอบสนองของไต ส่วนในรายที่สงสัยว่ามีสาเหตุเกี่ยวกับสมอง อาจต้องตรวจสมองด้วยการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อดูรอยโรคหรือก้อนเนื้องอกในสมอง ทั้งนี้การตรวจด้วยวิธีเฉพาะเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลยพินิจของแพทย์ สำหรับการทดสอบ Water deprivation test นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องพักในโรงพยาบาล โดยให้อดน้ำแล้วตรวจดูออสโมลาริตี (Osmolarity) ของเลือดและปัสสาวะ รวมทั้งความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะเป็นช่วง ๆ แล้วทำการฉีดฮอร์โมนเอดีเอช หลังจากนั้นตรวจเลือดและปัสสาวะซ้ำเพื่อดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงของผลการตรวจเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยเบาจืดโดยส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ นอกจากในรายที่ดื่มน้ำน้อย ที่อาจมีภาวะขาดน้ำรุนแรงหรือมีไข้ได้ ส่วนในรายที่เป็นเบาจืดที่มีสาเหตุมาจากเนื้องอกในสมอง อาจมีอาการแสดงของการขาดฮอร์โมนตัวอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนต่อมหมวกไต หรือฮอร์โมนเพศ เป็นต้น
เบาจืดกับเบาหวานต่างกันอย่างไร ?
เบาจืด (Diabetes insipidus) เป็นคนละโรคกับเบาหวาน (Diabetes mellitus) เพียงแต่มีชื่อพ้องกันเพราะมีความผิดปกติในปัสสาวะด้วยกันทั้งคู่ แต่โดยทั่วไปแล้วอาการปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำ ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีสาเหตุมาจากโรคเบาจืด ซึ่งการแยกโรคทั้ง 2 นี้ ในเบื้องต้นสามารถกระทำได้โดยการตรวจปัสสาวะ ซึ่งจะพบลักษณะจำเพาะของโรคแต่ละโรค ถ้าเป็นเบาจืดจะตรวจไม่พบน้ำตาลในปัสสาวะและปัสสาวะจะมีความถ่วงจำเพาะอยู่ระหว่าง 1.001-1.005 (ซึ่งคนปกติทั่วไปจะมีความถ่วงจำเพาะมากกว่า 1.015) ปัสสาวะไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่ได้มีเกลือแร่ และมีรสจืด ส่วนผู้ที่เป็นเบาหวานนั้นจะตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ (ซึ่งคนปกติจะไม่มีน้ำตาลในปัสสาวะ) และตรวจเลือดพบระดับน้ำตาลในเลือดสูง
วิธีรักษาโรคเบาจืด
- หากสงสัยว่าเป็นโรคเบาจืด (มีอาการปัสสาวะมากและบ่อย ร่วมกับกระหายน้ำมาก) ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
- หากตรวจพบว่าเป็นโรคเบาจืด ถ้าแพทย์ทราบสาเหตุการเกิดที่ชัดเจนและสามารถแก้ไขได้ แพทย์ก็ให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น การรักษาเนื้องอกและมะเร็งสมอง การรักษากรวยไตอักเสบเรื้อรัง การรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การหยุดยาหรือเปลี่ยนยาเมื่อเบาจืดเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น
- การรักษาไปตามชนิดของเบาจืด เช่น
- การให้ยาที่ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับฮอร์โมนเอดีเอช ซึ่งมีทั้งชนิดรับประทาน ฉีด และพ่นจมูก เมื่อเบาจืดมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางสมองและมีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์ที่ส่งผลให้ฮอร์โมนเอดีเอชมีปริมาณลดลง
- การให้ยาขับน้ำเมื่อเป็นเบาจืดชนิดที่เกิดจากความผิดปกติในไต โดยตัวยาจะมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นให้เซลล์ไตตอบสนองต่อฮอร์โมนเอดีเอชได้ดีขึ้น
- การจำกัดน้ำดื่มร่วมกับการรักษาทางจิตเวชเมื่อเป็นเบาจืดชนิดที่เกิดจากการกระหายน้ำมาก ๆ
- การรักษาภาวะเสียสมดุลของเกลือแร่ เมื่อเบาจืดมีสาเหตุมาจากการเสียสมดุลของเกลือแร่
- ในกรณีที่แพทย์ตรวจหาสาเหตุไม่พบ การรักษาจะเป็นเพียงการรักษาไปตามอาการ
- ในรายที่มีอาการปัสสาวะไม่บ่อยมาก คือประมาณวันละ 2-3 ลิตร แนะนำให้ดื่มน้ำทดแทนให้เพียงพอก็พอแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา
- ถ้ามีอาการรุนแรง ปัสสาวะบ่อยมาก กระหายน้ำบ่อย กรณีนี้จำเป็นต้องใช้ยาช่วยเพื่อลดปริมาณและจำนวนครั้งของการถ่ายปัสสาวะ โดยอาจให้ยาชนิดรับประทาน เช่น คลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide), โคลไฟเบรต (Clofibrate), ยาขับปัสสาวะไทอะไซด์ (Thiazide diuretics), อินโดเมทาซิน (Indomethacin) เป็นต้น หรือใช้ยาในกลุ่มฮอร์โมนเอดีเอชหรือเวโซเพรสซิน (Vasopressin) ชนิดฉีดเข้ากล้ามหรือพ่นจมูก ซึ่งต้องใช้เป็นประจำทุกวันตลอดไป ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
- การดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาจืด ควรปฏิบัติดังนี้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- รับประทานยาหรือใช้ยาต่าง ๆ ตามที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ครบถ้วน และตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ ้ามหยุดยาหรืองดยาเองเมื่ออาการหายไป เพราะโรคนี้แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้เลยถ้ายังไม่แก้ที่สาเหตุ ผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาควบคู่อยู่เสมอ
- ผู้ป่วยควรสอบถามถึงผลข้างเคียงของยาจากแพทย์ด้วย เพราะยาที่ใช้รับประทานควบคุมอาการเบาจืดหลายตัวอาจมีผลแทรกซ้อนบางอย่าง ถ้าเรารู้ผลแทรกซ้อนเหล่านี้ก็จะได้เตรียมปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เช่น ยาบางตัวมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ อย่างนี้แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และอาหารที่รับประทานควรมีแป้งและน้ำตาลอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นจะทำให้ร่างกายขาดน้ำตาลได้ หรือยาบางตัวมีผลทำให้ร่างกายขาดเกลือแร่ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
- ผู้ป่วยจำเป็นต้องดื่มน้ำสะอาดบริสุทธิ์ให้เพียงพอ ไม่มากไปหรือน้อยไป และพกน้ำเอาไว้ติดตัวอยู่เสมอ โดยให้ดื่มในช่วงเช้าและกลางวันให้มากกว่าช่วงเย็นและช่วงกลางคืน และถ้าเมื่อใดก็ตามที่ต้องออกไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด (ร่างกายต้องสูญเสียน้ำไปทางผิวหนังมาก) หรือผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย ท้องเดิน ก็ต้องพยายามดื่มน้ำทดแทนให้มากพอ ซึ่งคำว่ามากพอในที่นี้หมายถึง ดื่มน้ำจนหายกระหายน้ำ หรืออาจจะให้แพทย์แนะนำว่าในผู้ป่วยแต่ละรายควรดื่มน้ำมากน้อยเพียงใดจึงจะพอ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะอาหารที่เค็มจัดจะมีเกลือมาก ร่างกายจะขับเกลือออกทางไตและออกมากับปัสสาวะ เป็นเหตุให้ร่างกายถูกดึงน้ำออกไปมาก ทำให้ขาดน้ำมากขึ้นไปอีก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้อาการของเบาจืดก็จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
- พักผ่อนให้เพียงพอ ด้วยการดื่มน้ำให้น้อยลงหรืองดดื่มน้ำก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดจำนวนครั้งในการตื่นมาปัสสาวะ
- ผู้ป่วยควรพกบัตร ข้อความ หรือเอกสารที่ระบุว่าตัวเองเป็นใคร เป็นโรคอะไร รับประทานยาอะไร และรักษาอยู่ที่ไหนติดตัวไว้อยู่เสมอ เผื่อเกิดภาวะฉุกเฉินจากการขาดน้ำจะได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
- รับประทานผักผลไม้ให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้เกลือแร่ที่เพียงพอ
- ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหรืออาการต่าง ๆ เลวลง หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่
โรคนี้เมื่อได้รับการรักษาแล้ว อาการมักจะทุเลาได้ดีและสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ ส่วนการรักษาจะนานเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลาไม่นานและรักษาจนหายขาดได้ แต่บางรายก็อาจต้องใช้ยารักษาไปตลอดชีวิต
วิธีป้องกันโรคเบาจืด
เมื่อรู้ถึงสาเหตุของการเกิดโรคเบาจืดแล้วก็จะทราบว่าโรคนี้ค่อนข้างจะป้องกันได้ยาก เพราะจะเกิดจากความผิดปกติทางสมองเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่เราทำได้ในเบื้องต้นก็คือ การป้องกันที่สาเหตุดังกล่าวที่เราสามารถป้องกันได้ เช่น การระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางสมองหรือที่ศีรษะ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง การป้องกันการติดเชื้อในสมองและในไต การป้องกันการเกิดโรคนิ่วในไต เป็นต้น ร่วมไปกับการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและรักษาสุขภาพจิตให้ดี
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “เบาจืด (Diabetes insipidus/DI)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 791-792.
- หาหมอดอทคอม. “เบาจืด (Diabetes insipidus)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [22 ส.ค. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 131 คอลัมน์: โรคน่ารู้. “โรคเบาจืด”. (นพ.กอบชัย พัววิไล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [23 ส.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)