เบอะคะปุ่ย
เบอะคะปุ่ย ชื่อวิทยาศาสตร์ Myosoton aquaticum (L.) Moench (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Stellaria aquatica (L.) Scop.) จัดอยู่ในวงศ์ CARYOPHYLLACEAE (สมุนไพรเบอะคะปุ่ย เป็นชื่อเรียกของชาวกะเหรี่ยง-กำแพงเพชร)[1]
ลักษณะของเบอะคะปุ่ย
- ต้นเบอะคะปุ่ย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มักขึ้นเป็นกอ ๆ ลำต้นมีลักษณะทอดนอนไปตามพื้นดิน ลำต้นเป็นร่องและมีจุดแต้มเป็นสีม่วงเข้ม มีต่อมขน ส่วนปลายมีลักษณะชูขึ้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของทวีปยุโรปและเอเชีย มักพบขึ้นทั่วไปตามป่าชื้น[1]
- ใบเบอะคะปุ่ย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมีลักษณะเป็นรูปคล้ายหัวใจ ส่วนขอบใบเป็นคลื่น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-6 เซนติเมตร ใบตอนบนจะไม่มีก้านใบ ส่วนใบตอนล่างจะมีก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และมีขน[1]
- ดอกเบอะคะปุ่ย ออกดอกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ กลีบรองกลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปหอก มีความยาวประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร และมีขน ส่วนกลีบดอกจะเป็นสีขาวและมีความยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร จักเป็นแฉกลึก 2 แฉก ก้านดอกยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร มีต่อมขนหนาแน่นมาก ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 10 อัน ส่วนท่อเกสรเพศเมียจะมีประมาณ 5 แฉก มีอับเรณูเป็นสีแดงอมส้ม ส่วนรังไข่มีลักษณะเป็นรูปไข่มีอยู่หนึ่งช่อง[1]
- ผลเบอะคะปุ่ย ผลที่แห้งจะมีลักษะเป็นรูปไข่กว้าง มีขนาดยาวกว่ากลีบดอกเล็กน้อย ผลจะมีพูประมาณ 5 พู แต่ละพูนั้นตรงปลายจักจะเป็น 2 พูเล็ก ๆ ภายในมีเมล็ดลักษณะกลม และมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายหัวนม เมล็ดเป็นสีสนิม[1]
สรรพคุณของเบอะคะปุ่ย
- ในประเทศจีนและญี่ปุ่นจะนำลำต้นและใบเบอะคะปุ่ยมากินเป็นยารักษาโรคไส้ติ่งอักเสบ (ลำต้นและใบ)[1]
- ลำต้นและใบใช้กินเป็นยาแก้โรคปัสสาวะไม่ออก (ลำต้นและใบ)[1]
- ใบมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคตกขาวของสตรี (ใบ)[1]
- ลำต้นและใบใช้กินเป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร (ลำต้นและใบ)[1]
- ใช้เป็นยารักษาแผลเรื้อรัง (ลำต้นและใบ)[1]
- ใบนำมาแช่กับน้ำร้อนใช้ภายนอกเป็นยารักษาอาการฟกช้ำ ปวดกระดูก (ใบ)[1]
- ช่วยรักษาโรคเหน็บชา ด้วยการใช้ลำต้นและใบนำมากินเป็นยา (ลำต้นและใบ)[1]
- น้ำต้มจากลำต้นและใบมีสรรพคุณเป็นยาขับน้ำนม (ลำต้นและใบ)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เบอะคะปุ่ย”. หน้า 438-439.
ภาพประกอบ : www.erbe.altervista.org, www.actaplantarum.org (by Gianluca Nicolella)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)