เนื้องอกสมอง / มะเร็งสมอง อาการ สาเหตุ การรักษาโรคเนื้องอกในสมอง 5 วิธี !

เนื้องอกในสมอง

เนื้องอกสมอง หรือ เนื้องอกในสมอง หรือ มะเร็งสมอง (Brain tumor) คือ เนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่มหลายชนิด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะแบบเรื้อรังเป็นสำคัญ โดยพบว่าผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ 100,000 คน มีสาเหตุมาจากเนื้องอกในสมองประมาณ 10 คน ส่วนวิธีการรักษาและผลการรักษาย่อมแตกต่างกันไปตามชนิด ขนาด และตำแหน่งของก้อนเนื้องอก

โรคเนื้องอกในสมอง เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก (ประมาณ 1.67% ของโรคมะเร็งทั้งหมด) สามารถพบได้ในคนทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนกลุ่มอายุที่พบได้บ่อยนั้นจะขึ้นอยู่กับเนื้องอกในสมองแต่ละชนิด เช่น Medulloblastoma เป็นเนื้องอกชนิดที่มักพบในผู้ป่วยเด็ก ส่วน Glioblastoma multiforme (GMB) เป็นเนื้องอกชนิดที่มักพบในผู้ใหญ่ เป็นต้น แต่กล่าวโดยรวมแล้วส่วนใหญ่จะพบได้มากใน 2 ช่วงอายุ คือ กลุ่มอายุ 40-70 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเนื้องอกชนิดทุติยภูมิที่มะเร็งแพร่กระจายมาจากส่วนอื่น และกลุ่มอายุ 3-12 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกชนิดปฐมภูมิที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะเอง (เนื้องอกในสมองถือเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก)

ชนิดของเนื้องอกในสมอง

เนื้องอกในสมองมีอยู่หลายชนิด โดยตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกจะแบ่งชนิดของเนื้องอกในสมองออกคร่าว ๆ ได้ประมาณ 120 ชนิด อย่างไรก็ตาม เราสามารถแบ่งเนื้องอกในสมองได้ออกเป็น 2 ชนิด หรือ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. เนื้องอกในสมองชนิดปฐมภูมิ เป็นเนื้องอกที่มีต้นกำเนิดมาจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะ (เช่น กะโหลกศีรษะ เยื่อหุ้มสมอง เซลล์สมอง เส้นประสาทสมอง ต่อมใต้สมอง ต่อมไพเนียล หลอดเลือด เป็นต้น) และสามารถแบ่งออกได้เป็นชนิดไม่ร้ายหรือเนื้องอกธรรมดา (Benign) กับชนิดร้ายหรือมะเร็ง (Malignancy) หรือที่เรียกว่า “โรคมะเร็งสมอง” ซึ่งโดยส่วนใหญ่ประมาณ 80% จะเป็นชนิดไม่ร้ายหรือเนื้องอกธรรมดา ไม่ใช่ชนิดร้ายหรือมะเร็ง และเป็นเนื้องอกแบบโตช้า
    • เนื้องอกธรรมดาจะมีการเจริญเติบโตช้า ไม่สามารถลุกลามเข้าต่อมน้ำหรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ แต่ถ้าก้อนเนื้องอกมีขนาดโตมากขึ้น อาจไปกดเบียดทับตัวเนื้อสมองข้างเคียงได้ อย่างไรก็ตามเนื้องอกในสมองไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็จัดเป็นโรคที่มีความรุนแรงมากกว่าเนื้องอกของอวัยวะอื่น ๆ เพราะสมองเป็นอวัยวะที่สำคัญซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เนื้องอกในสมองจึงส่งผลต่อการดำรงชีวิตได้สูงกว่า
    • เนื้องอกประสาทหู (Acoustic neuroma) ก็เป็นเนื้องอกสมองชนิดปฐมภูมิที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความถัดไป
  2. เนื้องอกในสมองชนิดทุติยภูมิ เป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากส่วนอื่นของร่างกายหรือนอกกะโหลกศีรษะและลุกลามมาที่สมอง ที่พบได้บ่อย ๆ คือ มะเร็งเต้านมกับมะเร็งปอด นอกจากนี้ยังอาจแพร่มาจากมะเร็งของทางเดินอาหาร ไต ต่อมไทรอยด์ ต่อมน้ำเหลือง เม็ดเลือดขาว เป็นต้น เนื้องอกในกลุ่มจะพบได้บ่อยในวัยกลางคนขึ้นไป บางครั้งผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของเนื้องอกในสมองมากกว่าอาการของมะเร็งที่เป็นต้นกำเนิด

เนื้องอกในสมองอาการ
IMAGE SOURCE : radiopaedia.org, openi.nlm.nih.gov, www.wikimedia.org (by Marvin 101), www.intechopen.com, www.radiologyassistant.nl, www.brain-surgery.com

สำหรับในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะโรคเนื้องอกในสมองชนิดปฐมภูมิทั้งเนื้องอกธรรมดา (Benign) และมะเร็ง (Malignancy) ซึ่งในภาษาทางการแพทย์จะเรียกรวมกันว่า “Brain tumor” เพราะโดยธรรมชาติแล้ว โรคทั้งสองจะมีความเกี่ยวพันกันทั้งอาการ สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง วิธีการวินิจฉัย และการรักษาในรูปแบบเดียวกัน ส่วนโรคเนื้องอกในสมองชนิดทุติยภูมิที่ไม่ได้กล่าวถึงนั้น ก็คือโรคมะเร็งจากเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่นที่แพร่กระจายเข้ามาในสมอง ซึ่งจัดเป็นโรคมะเร็งนั้น ๆ ในระยะที่ 4 (เป็นระยะที่มีการแพร่กระจายของโรคไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย) ดังนั้น จึงมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใด ซึ่งผู้อ่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์

สาเหตุของเนื้องอกในสมอง

  1. เนื้องอกในสมองชนิดปฐมภูมิ ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด (มีสมมติฐานว่าเป็นเรื่องของยีนบางตัวที่ทำหน้าที่กดเนื้องอกไม่ให้มันโตขึ้นมา แต่ยีนเหล่านั้นมีข้อบกพร่อง จึงทำให้เกิดโรคเนื้องอกในสมองขึ้นมา) ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเอง และมีการศึกษาพบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
    • ปัจจัยทางพันธุกรรม เนื้องอกในสมองบางชนิด พบว่าเป็นพร้อมกันได้หลายคนในครอบครัวเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามเนื้องอกในสมองชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมนั้นก็พบได้น้อยมาก ๆ และเป็นเพียงโอกาสของการเป็นเนื้องอกในสมองสูงกว่าคนปกติเท่านั้น ไม่ใช่ว่าญาติพี่น้องจะต้องเป็นโรคนี้ด้วยกันทุกคน และก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคเนื้องอกในสมองจะทำให้ญาติพี่น้องต้องเป็นโรคนี้ไปด้วย เพราะยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ (โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางโรคก็อาจทำให้เกิดเนื้องอกในหลาย ๆ เนื้อเยื่อหรืออวัยวะรวมทั้งสมอง เช่น von Hippel-Lindau syndrome)
    • ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับสารเคมีต่าง ๆ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การฉายรังสีที่สมองในวัยเด็ก สารพิษจากโรงงานกลั่นน้ำมัน สารพิษจากโรงงานผลิตยาง เป็นต้น
    • ปัจจัยด้านอายุ พบว่าผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งสมองชนิดปฐมภูมิและชนิดทุติยภูมิมากกว่าคนอายุน้อย
    • ปัจจัยอื่น ๆ คือ ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในอวัยวะอื่น ๆ ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มโอกาสให้มีโรคมะเร็งแพร่กระจายมาที่สมองเพิ่มขึ้น
  2. เนื้องอกในสมองชนิดทุติยภูมิ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านมและมะเร็งปอด

อาการของเนื้องอกในสมอง

อาการที่พบในผู้ป่วยเนื้องอกในสมองจะมีกลุ่มอาการที่สำคัญ คือ

  • อาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นโรคทางสมองประมาณ 60-70% จะมีอาการปวดศีรษะอยู่แล้ว แต่สำหรับโรคเนื้องอกในสมองนี้จะมีลักษณะอาการที่เฉพาะเจาะจง คือ จะปวดศีรษะมากในตอนเช้าหลังตื่นนอน พอสาย ๆ ค่อยยังชั่ว หรืออาจปวดศีรษะมากเวลาล้มตัวลงนอน หรือเวลาไอ จาม หรือเบ่งอุจจาระ อาการปวดศีรษะจะรุนแรงมากขึ้นทุกวันจนผู้ป่วยต้องสะดุ้งตื่นตอนเช้ามืด หรือต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะอาการปวดศีรษะ และจะปวดนานขึ้นทุกทีจนในที่สุดจะปวดตลอดเวลา ซึ่งกินยาแก้ปวดอาการก็ไม่ทุเลา ในระยะต่อมาเมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนร่วมกับอาการปวดศีรษะด้วย ซึ่งอาจมีลักษณะอาเจียนพุ่งรุนแรง โดยไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน และบางรายอาจมีอาการมองเห็นผิดปกติ หรือสูญเสียการมองเห็นแบบฉับพลันร่วมกับอาการปวดศีรษะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อนเนื้องอก
  • การเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรมต่าง ๆ ก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นในตำแหน่งต่าง ๆ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการได้หลายแบบสุดแท้แต่ว่าก้อนเนื้องอกจะเกิดขึ้นอยู่ในตำแหน่งใด เช่น มีจิตใจผิดปกติ (ถ้าเกิดที่ข้างร่องกลางสมอง), มีอาการเสียการมองเห็นแบบแหว่งครึ่ง (ถ้าเกิดที่ท้ายทอย), มีอาการจมูกด้าน ไม่ได้กลิ่น (ถ้าเกิดที่ร่องประสาทจมูก), มีอาการหูหลึ่ง หูดับ ไม่ได้ยินเสียง หรือหน้าเบี้ยว (ถ้าเกิดที่ซอกระหว่างก้านสมองกับสมองเล็ก), มีอาการชาและเป็นอัมพาตครึ่งซีก (ถ้าเกิดที่แกนประสาทสันหลัง), มีอาการชาขาในข้างตรงข้ามกับเนื้องอก (ถ้าเกิดที่โหนกหน้าผาก), มีอาการเป็นอัมพาต ลิ้นเหี่ยว หรือลิ้นกระตุก (ถ้าเกิดที่รูเชื่อมระหว่างสมองกับคอ และก้อนเนื้อดันก้านสมองให้ผลุบลงไปในคอ), มีอาการชัก (ถ้าเกิดที่ปีกข้างสมอง) ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบได้ คือ การสูญเสียความสามารถในการรับรู้ การพูดคุย หรือการอ่านเขียน มีอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ ความจำเสื่อมหรือมีบุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม ตามัวลงเรื่อย ๆ ลานสายตาแคบ (ทำให้มองด้านข้างไม่เห็น ทำให้เดินชนโต๊ะหรือเกิดอุบัติเหตุในขณะเดินหรือขับรถ) มองเห็นภาพซ้อน หรือตาเหล่ ตากระตุก ตาบอด ตาโปน หูอื้อ บ้านหมุน มีอาการเดินเซ (พบมากในผู้ป่วยเด็ก) มือเท้าทำงานไม่ถนัด กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งอ่อนแรง (โดยเฉพาะแขนขาซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป และจะมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลา เช่น แขนอ่อนแรง อาจเริ่มจากอ่อนแรงเพียงเล็กน้อย และเมื่อเวลาผ่านไปก็จะอ่อนแรงมากขึ้น) เป็นต้น
  • อาการชัก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ อาการชักทั้งร่างกาย ซึ่งอาจพบมีการหมดสติหลังการชัก และ/หรืออาจมีปัสสาวะ อุจจาระโดยไม่รู้ตัว และอาการชักเฉพาะบางส่วนของร่างกายที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งจะมีการสั่นหรือกระตุกผิดปกติโดยไม่สามารถควบคุมได้ เช่น นิ้วใดนิ้วหนึ่งหรือหลายนิ้วสั่นกระตุก ชักเฉพาะแขน หรือชักเฉพาะขา หรือมีหน้ากระตุกอย่างเดียว เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโรค ซึ่งอาการชักเฉพาะบางส่วนนี้ อาจนำไปสู่อาการชักทั้งร่างกายได้เมื่อเนื้องอกมีขนาดโตขึ้น (อาการชักในผู้สูงอายุที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน ก็อาจมีสาเหตุมาจากเนื้องอกในสมองได้เช่นกัน)
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหมดสติแบบเฉียบพลัน และอาจร่วมกับมีอาการอื่น ๆ คล้ายกับอาการของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น แขนขาอ่อนแรง หน้าชา พูดไม่ชัด ปัสสาวะหรืออุจจาระเองไม่ได้ เป็นต้น
  • ในรายที่เป็นเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง (Pituitary tumors) นอกจากจะมีอาการดังกล่าวแล้ว ยังอาจมีอาการของโรคคุงชิง เบาจืด หรือรูปร่างสูงใหญ่ผิดปกติ (Gigantism หรือ Acromegaly) และถ้าพบในผู้หญิงอาจทำให้ประจำเดือนไม่มา หรือมีน้ำนมออกผิดธรรมชาติ

อาการเนื้องอกในสมอง
IMAGE SOURCE : www.cityhosp-kumamoto.jp

ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอกในสมอง

หากปล่อยไว้ไม่รักษา ก้อนเนื้องอกจะโตขึ้นจนกดเบียดเนื้อสมองหรือแพร่กระจาย และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น

  • ผู้ป่วยอาจมีภาวะพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาได้
  • อาจมีเลือดออกเฉียบพลันในก้อนเนื้องอกในสมอง ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแบบเดียวกับโรคหลอดเลือดสมองแตก (ปวดศีรษะรุนแรง หมดสติ แขนขาเป็นอัมพาตซีกหนึ่ง)
  • เนื้องอกที่อยู่ใกล้โพรงสมอง อาจโตจนอุดกั้นทางเดินน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid) ทำให้เกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง (ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียน เดินเซ เป็นลม) และภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) ซึ่งถ้าหากความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้นอย่างฉับพลัน จะทำให้เกิดการเลื่อนไหลของสมอง ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแขนขาเป็นอัมพาต หมดสติ และอาจเสียชีวิตแบบกะทันหันได้
  • ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการรักษา การรักษาทุกวิธีไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การฉายรังสี หรือการใช้ยาเคมีบำบัด ก็ล้วนทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงจากการรักษาจะต่ำกว่าการปล่อยเนื้องอกเอาไว้โดยไม่รับการรักษา

เนื้องอกในสมองมีกี่ระยะ

ในการดูแลรักษาผู้ป่วยเนื้องอกในสมองนั้น มักไม่แบ่งโรคออกเป็นระยะเหมือนในโรคมะเร็งของอวัยวะอื่น ๆ แต่จะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มเนื้องอกในสมอง ที่สามารถให้การรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
  2. กลุ่มเนื้องอกในสมอง ที่ไม่สามารถให้การรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
  3. กลุ่มเนื้องอกในสมองที่รักษาไปแล้ว และมีโรคย้อนกลับมาใหม่

ความรุนแรงของโรคเนื้องอกในสมอง

เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่สำคัญ ดังนั้น เนื้องอกในสมองไม่ว่าจะเป็นชนิดไม่ร้าย (เนื้องอกธรรมดา) หรือชนิดร้าย (มะเร็ง) ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ก็จะทำให้เสียชีวิตได้ โรคนี้จึงถือว่าเป็นโรคที่อันตรายโรคหนึ่ง โดยความรุนแรงของโรคเนื้องอกในสมองขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ

  1. ปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเอง ได้แก่
    • อายุของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีอายุน้อย มักให้ผลการรักษาที่ดีและทนต่อการรักษาได้ดีกว่าผู้ป่วยสูงอายุ
    • สุขภาพร่างกายของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายทั่วไปแข็งแรงสมบูรณ์ มักให้ผลการรักษาที่ดีและทนต่อการรักษาได้ดีกว่าผู้ป่วยที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง
    • โรคร่วมต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อาจเป็นอุปสรรคต่อการรักษาและเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้มากกว่าคนปกติที่ไม่มีโรคร่วมต่าง ๆ
    • ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี ก็มักจะแสดงถึงก้อนเนื้องอกในสมองที่น้อยหรืออยู่ในบริเวณที่ไม่เป็นอันตราย ดังนั้น จึงมีผลการรักษาที่ดีกว่าผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย
  2. ปัจจัยจากตัวโรค ได้แก่
    • ชนิดของเนื้องอก เนื้องอกชนิดที่มีความรุนแรงน้อยจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าชนิดที่มีความรุนแรงมาก และการรักษาโรคเนื้องอกในสมองชนิดไม่ร้าย (เนื้องอกธรรมดา) จะให้ผลการรักษาดีกว่าการรักษาโรคเนื้องอกในสมองชนิดร้าย (มะเร็ง) ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเนื้องอกชนิดใด ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ก็จะทำให้เสียชีวิตได้ โรคนี้จึงถือว่าเป็นโรคที่อันตรายโรคหนึ่ง
    • ตำแหน่งของก้อนเนื้องอก ก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นในบริเวณที่สำคัญและส่งผลอันตรายต่อร่างกายจะมีผลการรักษาที่ไม่ดี เนื่องจากจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมาก รวมไปถึงการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือการฉายรังสีก็อาจจะมีข้อจำกัดมากกว่าก้อนเนื้องอกที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่สำคัญ เช่น รอยโรคในตำแหน่งก้านสมอง เป็นต้น
    • การรักษาด้วยการผ่าตัด เนื้องอกในสมองที่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด มักจะมีผลการรักษาที่ดีกว่าเนื้องอกในสมองที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดรักษาได้

การวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมอง

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเนื้องอกหรือมะเร็งในสมองได้จาก

  • การซักประวัติอาการและการตรวจร่างกาย ซึ่งในระยะแรกแพทย์อาจตรวจไม่พบความผิดปกติอะไร แต่เมื่อผู้ป่วยเป็นมากขึ้นอาจพบอาการเดินเซ ตากระตุก แขนขาอ่อนแรงหรือชัก
  • การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ซึ่งจะช่วยทำให้มองเห็นภาพในสมอง ช่วยให้แพทย์สามารถบอกชนิดของเนื้องอกและการลุกลามของโรคไปยังบริเวณอื่น ๆ หรือช่วยคาดการณ์ได้มากขึ้นว่าเนื้องอกนั้นน่าจะเป็นอะไร รวมถึงช่วยวางแผนในการรักษาได้ด้วย นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการตรวจภาพไขสันหลังร่วมด้วย หากโรคที่ป่วยเป็นนั้นมีโอกาสแพร่กระจายมาที่ไขสันหลังได้สูง
  • การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อให้ทราบการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีรอยโรคอยู่ในบริเวณที่มีอันตรายต่อการตัดชิ้นเนื้อ เช่น บริเวณก้านสมอง และลักษณะที่พบจากการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บ่งชี้ว่า เป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในสมอง แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยไม่ต้องตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยาก่อนตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินสุขภาพทั่วไป
  • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยประเมินสภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษา เช่น การตรวจซีบีซี (CBC) เพื่อดูการทำงานของไขกระดูก, ตรวจระดับน้ำตาลเพื่อดูว่าเป็นเบาหวานหรือไม่, ตรวจดูการทำงานของไต, ดูการทำงานของตับ และดูระดับเกลือแร่ เป็นต้น
  • เอกซเรย์ปอด ตรวจเพื่อดูความผิดปกติในช่องอก ในปอด และดูการแพร่กระจายของโรคมะเร็งสู่ปอด (พบได้น้อยมากในโรคเนื้องอกหรือมะเร็งในสมอง)

เนื้องอกในสมองเกิดจากอะไร
IMAGE SOURCE : medind.nic.in

การแยกโรค 

ในระยะเริ่มแรกซึ่งมีอาการปวดศีรษะเพียงอย่างเดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นเพียงสาเหตุธรรมดาได้ เช่น

  • อาการปวดศีรษะจากความเครียด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ ที่ขมับหรือหน้าผากทั้ง 2 ข้าง หรือปวดทั่วศีรษะ ติดต่อกันนาน 30 นาที ถึง 1 สัปดาห์ อาการปวดจะเป็นอย่างคงที่ ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งอาจเริ่มเป็นตั้งแต่หลังตื่นนอนหรือในช่วงเช้า ๆ บางรายอาจปวดตอนช่วงบ่าย ๆ หรือเย็น ๆ หรือหลังจากทำงานที่เคร่งเครียด หรือในขณะที่มีเรื่องวิตกกังวล คิดมาก ซึมเศร้า นอนไม่หลับ โดยมักจะมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ เป็นครั้งคราว
  • อาการปวดศีรษะไมเกรน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตุบ ๆ ที่ขมับข้างเดียว (มีส่วนน้อยที่ปวดพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง) คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่านาน 4-72 ชั่วโมง โดยมักจะเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อถูกสิ่งกระตุ้น เช่น เสียง แสง อากาศร้อนหรือเย็นจัด การอดนอน กลิ่น การหิวข้าว อาหารบางชนิด เป็นต้น

นอกจากนี้ในระยะที่เป็นมาก ๆ คือ มีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน เดินเซ หรือชัก อาจต้องแยกจากสาเหตุที่ร้ายแรงอื่น ๆ ด้วย เช่น

  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือฝีในสมอง ซึ่งผู้ป่วยมักมีไข้ร่วมด้วย และเกิดขึ้นอย่างฉับพลันภายในไม่กี่วัน
  • เลือดออกในสมอง ผู้ป่วยมักมีประวัติได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะในระยะใกล้ ๆ หรือนานเป็นเดือน ๆ มาแล้วก็ได้

วิธีรักษาเนื้องอกในสมอง

เนื้อในงอกสมองอาจพบได้ในเด็กหรือคนอายุน้อยได้ ซึ่งผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ถ้ามีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นเนื้องอกในสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีอาการปวดศีรษะตอนเช้ามืดทุกวัน ปวดแรงและปวดถี่ขึ้นทุกวันนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือกินยาแก้ปวดแล้วอาการไม่ทุเลา หรือมีอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการชัก (คล้ายโรคลมชัก) ที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในคนอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

สำหรับการดูแลรักษาเนื้องอกในสมองของผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอก สภาพร่างกายของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา โดยในปัจจุบันจะมีแนวทางการรักษาเนื้องอกในสมองอยู่ 3 วิธีหลัก ๆ คือ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด (ไม่รวมยารักษาตรงเป้า ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา)

  1. การผ่าตัดเนื้องอกในสมอง เป็นการรักษาหลักของโรคนี้ โดยส่วนใหญ่หากก้อนเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดออกได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อความพิการและชีวิตของผู้ป่วย แพทย์มักพิจารณาให้การผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกไปให้หมด หรือผ่าตัดออกให้มากที่สุด เพื่อลดขนาดของเนื้องอก ลดการใช้ยาสเตียรอยด์ (ซึ่งใช้ในผู้ป่วยบางรายเพื่อรักษาภาวะสมองบวม)
    • หากผู้ป่วยมีเนื้องอกที่ไม่ได้ทำให้เกิดอาการ เนื้องอกมีขนาดเล็กมาก และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตราย แพทย์อาจเพียงแค่ติดตามอาการเพื่อดูว่าก้อนเนื้องอกของผู้ป่วยมีขนาดโตมากขึ้นหรือไม่ ถ้ามีจึงค่อยให้การรักษา
    • ถ้าเนื้องอกมีขนาดโตพอสมควรและทำให้เกิดอาการ เช่น มีอาการอ่อนแรงหรือปวดศีรษะมาก แพทย์มักจะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกไป
    • ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้ เพราะก้อนเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่ผ่าตัดออกได้ยากตั้งแต่ต้น เช่น มีสมองส่วนที่สำคัญอยู่ใกล้เคียงและการผ่าตัดจะเสี่ยงต่อการทำลายเนื้อสมองมากขึ้น แพทย์จะทำเพียงตัดเอาชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา หรือการตรวจทางเซลล์วิทยา (Cytology) เท่านั้น แล้วส่งผู้ป่วยมารับการฉายรังสี
    • ในกรณีที่ผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกไปแล้ว และพบว่าเป็นชนิดร้ายหรือมะเร็ง (มะเร็งสมอง) ก็อาจต้องทำการฉายรังสีหรือให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด คือ การมีเลือดออก การติดเชื้อ อาการปวดแผล และการบาดเจ็บจากการผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียง
  2. การฉายรังสี (รังสีรักษา) มักใช้เป็นการรักษาเพิ่มเติมจากการผ่าตัด หรือใช้ในกรณีที่เป็นก้อนเนื้องอกที่ไม่สามารถผ่าตัดเอาออกมาได้หมด หรือใช้เป็นการรักษาหลักแบบประคับประคองในผู้ป่วยที่ไม่เหมาะสมที่จะเข้ารับการผ่าตัด
    • ในรายที่เป็นมะเร็ง เช่น Medulloblastoma, Malignant gliomas อาจต้องให้การรักษาด้วยการฉายรังสี (รังสีรักษา) ซึ่งอาจใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับการผ่าตัด และบางกรณีอาจต้องรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
    • การฉายรังสีเพื่อรักษาเนื้องอกในสมองในปัจจุบันมีการพัฒนาไปมาก โดยในรายที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กกว่า 3-4 เซนติเมตร และการรักษามุ่งหวังให้หายขาด หรือในรายที่มีก้อนเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือเป็นมะเร็งที่ลุกลามไปมากแล้ว แพทย์อาจให้การรักษาด้วยเทคนิค การผ่าตัดด้วยการฉายรังสีนำวิถี (Stereotactic Radiosurgery) ด้วยเครื่องแกมมาไนฟ์ (Gamma knife) ซึ่งจะเป็นการผ่าตัดโดยไม่ต้องเปิดแผลและไร้แผลผ่าตัด โดยใช้หลักการง่าย ๆ เหมือนการใช้แว่นขยายรับแสงแดดเพื่อรวมแสงส่องลงมาในจุด ๆ เดียวและเผากระดาษได้ ฉันใดฉันนั้นการใส่พลังงานอ่อน ๆ จากทุกทิศทางก็สามารถที่จะทำให้จุดรวมพลังงานมีความเข้มมากพอที่จะทำลายเซลล์ที่ผิดปกติได้ (ข้อดีคือ มีความแม่นยำในการผ่าตัดสูง ตัวแกมมาไนฟ์จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงน้อยกว่าการผ่าตัดด้วยมีด เช่น การติดเชื้อ หรือเลือดออกน้อยกว่า แต่ก็มีข้อด้อยกว่าตรงที่หากเนื้องอกมีขนาดโตกว่า 3 เซนติเมตร แกมมาไนฟ์มักจะทำลายเนื้องอกได้น้อยกว่าการใช้มีดผ่าตัดออกโดยตรง และการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ค่อนข้างมีราคาแพง โดยมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งอยู่ที่ประมาณ 3 แสนบาท)
  3. ยาเคมีบำบัด หรือ ยาคีโม (Cancer chemotherapy) มักใช้ในผู้ป่วยเนื้องอกในสมองเฉพาะชนิดที่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด ซึ่งมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น และราคายาค่อนข้างสูงเกินกว่าผู้ป่วยทั่วไปจะเข้าถึงได้
    • ผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัด คือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน กดการทำงานของไขกระดูก ทำให้มีภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และมีเม็ดเลือดขาวต่ำ
  4. ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา

หมายเหตุ : สำหรับแนวทางการรักษาแพทย์อาจเลือกใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้ทั้ง 3 วิธีหลักข้างต้นร่วมกันก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับชนิด ตำแหน่ง และขนาดของก้อนเนื้องอก อาการ อายุ และสภาพร่างกายของผู้ป่วย ส่วนผลข้างเคียงจากการรักษาในแต่ละวิธีจะแตกต่างกันไปดังที่กล่าวมา และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาร่วมกันหลาย ๆ วิธี

นอกจากการรักษาหลักดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมไปตามอาการและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์และแพทย์สงสัยว่าจะมีเนื้องอกอยู่ในสมอง ก่อนที่จะเริ่มให้การรักษาใด ๆ สิ่งที่แพทย์จะต้องกระทำก่อนก็คือ การตรวจหาอาการแสดงของการมีความดันในกะโหลกศีรษะสูง เนื่องจากเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้เร็ว การรักษาเพื่อลดความดันลง ได้แก่ การฉีดยาลดความดันในสมองเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยลดอาการบวมรอบ ๆ เนื้องอก จำกัดน้ำ ให้ผู้ป่วยนอนในท่าศีรษะสูง และถ้าผู้ป่วยมีอาการชักจะต้องให้ยาเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดอาการชักอีก หลังจากนั้นจึงพิจารณาให้การตรวจรักษาที่เหมาะสมต่อไป เช่น การตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ และมักส่งไปตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) อีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาตำแหน่งและประเมินการลุกลามของเนื้องอก
  • ควบคุมอาการชัก แพทย์มักให้ยาป้องกันการชักกับผู้ป่วยที่เคยมีประวัติชักมาก่อน ซึ่งในระหว่างที่ผู้ป่วยใช้ยากันชักอยู่นั้น จะต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการชักขึ้นมาอีก
  • ในรายที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid) อาจต้องทำการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (Shunt operation)
  • ทำกายภาพบำบัด หากก้อนเนื้องอกอยู่ในบริเวณที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยใช้งานอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลงหรือผิดปกติไปจากเดิม หรือทำให้เกิดความพิกลพิการ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากญาติหรือคนในครอบครัว ทั้งการสนับสนุนทางด้านกำลังใจ ทางด้านกายภาพต่าง ๆ การพาผู้ป่วยไปตรวจเป็นระยะ ๆ หรือการพาผู้ป่วยไปทำกายภาพบำบัด ซึ่งการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องนี้ จะช่วยฟื้นฟูการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติได้ดังเดิม โดยเฉพาะอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อ แขน ขา
  • ภายหลังรับการรักษา แพทย์จะนัดมาตรวจเป็นระยะ ๆ เพราะเนื้องอกบางชนิดที่ผ่าตัดไป อาจมีโอกาสที่จะงอกขึ้นมาใหม่ได้อีก
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จัดการเกี่ยวกับกระบวนการคิด รวมถึงการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยนี้ อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น บุคคลในครอบครัว เพื่อน และผู้มีส่วนเกี่ยว (เช่น นายจ้าง) ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย และให้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำกิจกรรมบำบัด และโปรแกรมการฟื้นฟูอาชีพ
  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งสมอง ได้แก่ การดูแลตนเองในเรื่องทั่วไป (เช่น การรักษาสุขอนามัยพื้นฐานอย่างเคร่งครัด, พักผ่อนให้เต็มที่, รักษาสุขภาพจิตให้ดี, งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์, พบแพทย์ตามนัดเสมอ ฯลฯ), การดูแลตนเองในเรื่องอาหารการกิน (เช่น การเน้นรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, พยายามกินในจำนวนมื้อที่บ่อยขึ้น กินครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ, จำกัดอาหารหวานและอาหารเค็ม เป็นต้น), การดูแลตนเองในเรื่องของการออกกำลังกาย (ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเท่าที่พอทำได้ ไม่หักโหม) เป็นต้น

ผลการรักษาเนื้องอกในสมองจะขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และตำแหน่งของก้อนเนื้องอก อายุ และสภาพร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งถ้าเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายขนาดเล็กและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง (Meningioma) เนื้องอกประสาทหู (Acoustic neuroma) เป็นต้น การรักษาก็มักจะได้ผลดีหรือช่วยให้หายขาดได้ แต่ถ้าเป็นชนิดร้ายหรือมะเร็งที่ลุกลามเร็ว เช่น มะเร็งไกลโอบลาสโตมา มัลติฟอร์เม (Glioblastoma multiforme) หรือเป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากส่วนอื่นก็มักจะไม่หายขาด ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาประคับประคองเพื่อช่วยลดความทุกข์ทรมาน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน

วิธีป้องกันเนื้องอกในสมอง

  • เนื่องจากเนื้องอกที่เกิดขึ้นในสมองโดยตรง ส่วนใหญ่เราจะไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ดังนั้น ในปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เกิดเนื้องอกในสมองได้ แต่มีคำแนะนำที่อาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ได้บ้างคือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น หลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษจากโรงงานกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตยาง รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในอวัยวะอื่น ๆ เพื่อช่วยลดโอกาสการเป็นมะเร็งในส่วนอื่นแล้วแพร่กระจายมาที่สมอง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมกับมะเร็งปอด เช่น งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองเนื้องอกหรือมะเร็งในสมองตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ อยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวไปแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “เนื้องอกสมอง (Brain tumor)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 652-653.
  2. ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เนื้องอกสมอง”.  (อ.นพ.ศรัณย์  นันทอารี).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [04 ก.ย. 2016].
  3. ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “โรคเนื้องอกสมอง”.  (รศ.พญ.วุฒิศิริ วีรสาร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [04 ก.ย. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “เนื้องอกสมอง และมะเร็งสมอง (Brain tumor)”.  (พญ.ชลศณีย์ คล้ายทอง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [05 ก.ย. 2016].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 335 คอลัมน์ : สารานุกรมทันโรค.  “เนื้องอกสมอง”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [05 ก.ย. 2016].
  6. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.  “อาการและการรักษาเนื้องอกในสมอง”.  (นพ.วีระศักดิ์ ธีระพันธ์เจริญ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bumrungrad.com.  [06 ก.ย. 2016].
  7. โรงพยาบาลกรุงเทพ.  “การผ่าตัดเนื้องอกในสมองด้วยวิธีบอบช้ำน้อย ด้วย Gamma Knife”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhospital.com.  [06 ก.ย. 2016].
  8. DrSant บทความสุขภาพ.  “เนื้องอกสมองชนิด Meningioma”.  (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : visitdrsant.blogspot.com.  [07 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด